Focus
- ประวัติชีวิต และบทบาททางสังคมของ ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ในวาระ 120 ปี ชาตกาล 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2567 และสะท้อนความสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์ ผ่านจดหมายที่ช่วยเหลืองานและตอบคำถามบางประการให้แก่นายปรีดี รวมทั้งชี้ให้เห็นสายสัมพันธ์กับนายปาล พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ไว้อีกด้วย


ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ตอนทรงพระเยาว์
ที่มา: หนังสือที่ระลึกอนุสรณ์งานศพ ม.จ.ชิดชนก กฤดากร
พระประวัติ พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร
พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร เป็นพระโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอม มารดากลิ่น ประสูติเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2447 ณ วังถนนพระอาทิตย์ หม่อมแช่ม เป็นหม่อมมารดา มีเจ้าพี่เจ้าน้องได้แก่
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร
- พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
- พลโท หม่อมเจ้าเสรษฐศิริ กฤดากร
- หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
- พลโท หม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร
- หม่อมเจ้าเขจรจรัสฤทธิ์ กฤดากร
- หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย เพ็ญพัฒน์
- หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร
- หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
- หม่อมเจ้าปุ๋ย กฤดากร
- หม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร
- หม่อมเจ้าหญิงเพิ่มผล กฤดากร
- หม่อมเจ้าหญิงลีลาศหงษ์ เทวกุล
- หม่อมเจ้าหญิงผจงรจิตร กฤดากร
- พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร
- หม่อมเจ้าดิลกฤทธิ์ กฤดากร
พลโท หม่อมเจ้าชิดชนกทรงได้รับการศึกษาที่โรงเรียนกล่อมวิทยาในบริเวณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โรงเรียนราชินี และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แผนกประถม ต่อมาทรงรับทุนของกองทัพบก และเสด็จไปรับการศึกษาที่โรงเรียนเฮลเบอรี่ และโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิรสท์ที่สหราชอาณาจักร โดยต่อมาทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพุทธศักราช 2460 และประทับจําพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนครบไตรมาส
ในระหว่างพรรษา ทรงศึกษาพระธรรมวินัย และได้เคยรับสั่งว่า “หลังจากการบวชเรียนแล้ว สอบไล่ภาษาไทยเป็นที่ 1 ของชั้นเสมอไป”
จึงทรงเคร่งครัดในพระบวรพุทธศาสนาและมีความเคารพในระเบียบ ประเพณี เฉกเช่นเจ้าจอมมารดากลิ่นผู้เป็นย่า ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าพระยาเจ่ง ผู้คุมสมัครพรรคพวกชาวมอญอพยพจาก ประเทศพม่า ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

กรมทหารม้า






ม.จ.ชิดชนก ในหน้าที่การงาน และการทูต
ทรงมีหน้าที่ราชการที่สําคัญต่อชาติบ้านเมืองอันได้แก่
- ประจํากรมทหารม้ากรุงเทพรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ราชองครักษ์ประจําพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
- ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจําสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน
- เจ้ากรมทหารม้า (จเรทหารม้า)
- กรรมการในคณะกรรมการสงบศึกเกาหลี กองทัพสหประชาชาติที่ประเทศเกาหลี
- เจ้ากรมข่าวทหารบก
- ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
- เอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศญี่ปุ่น
- เอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศเอธิโอเปีย



ม.จ.ชิดชนก กับหม่อมหลวงต่อ ชุมสาย
ม.จ.ชิดชนก สมรสกับหม่อมหลวงต่อ ชุมสาย ธิดาพระยาสีหศักดิ์ สนิทวงศ์ (หม่อมราชวงค์ถัด ชุมสาย) และคุณหญิง ชุมสาย ณ อยุธยา มีบุตรและธิดา ดังนี้
- พลโท หม่อมราชวงศ์สมชนก กฤดากร เป็นข้าราชการบํานาญ สังกัดกระทรวงกลาโหม
- ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เป็นเลขาธิการองคมนตรี
- พลตรี หม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร เป็นนายทหารประสานภารกิจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพบก



ชีวิตในยามบั้นปลาย
ท้ายที่สุด พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันอังคารที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2541
จดหมายของ ม.จ.ชิดชนก ถึงนายปรีดี พนมยงค์



จดหมาย ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ถึงนายปรีดี พนมยงค์
ม.จ.ชิดชนกได้มีลายพระหัตถ์ถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ทรงเป็นทูตทหารประจําสถานเอก อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ทรงเรียกนายปรีดีว่า 'รัฐบุรุษอาวุโส' ซึ่งเนื้อหาในจดหมายกล่าวถึงระเบียบการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยทหารบกอังกฤษ และจดหมายฉบับนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของนายปรีดี พนมยงค์ กับ ม.จ.ชิดชนก อย่างที่น้อยคนนักจะทราบไว้ดังนี้
“หากท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีกิจธุระที่กระผมจะทําให้ได้ ขอเรียนว่ายินดีให้ใช้เสมอ กระผมและแม่ต่อขอฝากความระลึกถึงมายังคุณพูนศุขด้วย แม่ต่อให้เรียนว่าหากบุตรชายของท่านจะไปอังกฤษ แน่จะยินดีที่สุด ถ้าไม่รังเกียจที่จะให้อยู่กับเรา ถ้าไม่สะดวกทางอื่น เราได้ที่พักในตําบลที่ดีพอใช้ แต่เป็นบ้านเล็กพออยู่กันได้ ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด”
ม.จ.ชิดชนก ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าทางชายาของท่านคือ ม.ล. ต่อ ชุมสาย เป็นเพื่อนรักของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มาตั้งแต่เรียนหนังสือด้วยกันที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และยังเสนอให้นายปาล พนมยงค์ บุตรชายของนายปรีดีสามารถเข้าพักในบ้านของครอบครัวตนเองได้ แม้ในเวลาต่อมานายปาลจะไม่ได้ไปเรียนที่อังกฤษ หากต่อมานายปาลต้องเข้ารับราชการทหารในประเทศไทย โดยได้เป็นทหารเกณฑ์ในสังกัดของ ม.จ.ชิดชนก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมการทหารม้า ณ ขณะนั้นทั้งมีข้อมูลว่า ม.ล.ต่อ ได้ทําอาหารพิเศษมาให้อยู่เสมอแสดงถึงมิตรภาพและความใส่ใจนายปาลที่เป็นเสมือน 'หลาน' ของเพื่อนสนิทอย่างเห็นได้ชัดเจน ข้อมูลในคราวที่นายปาลถูกเกณฑ์ทหารช่วงเวลานี้ และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวของ ม.จ.ชิดชนก และนายปาลสามารถอ่านอย่างละเอียดได้ในบทความ ชีวิตของปาล พนมยงค์
“4, Balfour News, Aldford Street, London, W.1
๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๐
เรียน ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ทราบ
ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งคําถามเกี่ยวแก่โรงเรียนนายร้อยทหารบกอังกฤษ เพิ่มเติมมานั้นกระผมได้รับทราบแล้ว กระผมได้ไปสืบถามกระทรวงกลาโหมอังกฤษแล้ว คงได้ขอความซึ่งขอเรียน ดังต่อไปนี้.-
๑. กําหนดอายุ ผู้สมัคสอบเข้า (สําหรับชาวอังกฤษ) ต้องมีอายุระหว่าง ๑๗ ปี ครึ่ง ถึง ๑๘ ปี ครึ่ง สําหรับนักเรียนต่างประเทศ ทางฝ่ายอังกฤษเขาผ่อนผันให้มีอายุมากกว่ากฎเกณฑ์บ้างเล็กน้อยก็ได้ แต่สมควรที่จะส่งนักเรียนที่มีอายุไล่เสียตามที่เข้าตั้งไว้
๒. คั่นของการศึกษาก่อนเข้าสอบ ผู้ที่จะสมัคสอบเข้า ต้องได้รับใบสุทธิของโรงเรียนว่ามีความรู้สอบได้ตามหลักสูตร ของ School Certificate of Oxford and Cambridge Examination Board. หรือมีใบรับรองจากอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนว่ามีความรู้เท่ากับหลักสูตรที่กล่าวแล้ว แต่สําหรับนักเรียนต่างประ เทศไม่ต้องมีการสอบเข้า ก็ควรมีความรู้เท่ากับหลักสูตรที่กล่าวแล้วได้ก็จะสะดวกมาก
๓. หลักสูตรในการสอบเข้า เนื่องด้วยนักเรียนจากต่างประเทศไม่ต้องมีการสอบเข้า จึงไม่จําเป็นที่ต้องทราบหลักสูตรในการเข้าสอบ แต่ทางราชการทหารอังกฤษต้องขอร้องให้นักเรียนที่จะเข้าโรงเรียนนายร้อย ได้เข้าประจําหน่วยฝึกนักเรียนทหารประจําหน่วย (ซึ่งอังกฤษเรียกว่า Officer Cadets Train in unit.) ในประเทศอังกฤษ ก่อนที่นักเรียนนั้น ๆ จะเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาทหารชั้นต้นเพื่อสะดวกที่จะได้คุ้นเคยกับศัพท์ของทหารในเวลาที่รับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อย
๔. อัตราค่าเล่าเรียน กําหนดเวลาศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ใช้เวลา ๑๘ เดือน (แบ่งเป็น ๓ ภาค ๆ ละ ๖ เดือน) เริ่มภาคในต้นเดือนมกราคมและสิงหาคมของทุก ๆ ปี อัตราค่าเล่าเรียน คนหนึ่ง ประมาณ ๓๐๐ ปอนด์ ต่อ ๑ ปี (รวมทั้งค่าเล่าเรียน, อาหาร, ที่หลับนอน ฯลฯ) ส่วนค่าเครื่องนุ่งห่มและค่าเบี้ยเลี้ยง ทางผู้ปกครองเป็นผู้เสียเพิ่มเติม (ทางราชการ ทหารอังกฤษไม่สามารถที่จะกําหนดจํานวนเงินได้ เนื่องด้วยการขึ้นลงของการครองชีพ) เมื่อสรุปแล้วตลอดเวลาศึกษา จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ ๔๕๐ ถึง ๕๐๐ ปอนด์ ตลอดเวลา ๓ ภาค (๑๘ เดือน)
นอกจากนี้ ทางราชการทหารอังกฤษยังได้กําหนด :-
ก. นักเรียนต่างประเทศจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลของตน ว่าจะให้ผู้นั้นเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยอังกฤษ
ข. เมื่อทางรัฐบาลต่างประเทศตกลงใจที่จะส่งนักเรียนเข้าศึกษารัฐบาลนั้น ๆ จะต้องส่งหนังสือขอร้องต่อทางราชการทหารอังกฤษ อย่างน้อย ๖ เดือนก่อนวันเริ่มภาคของการศึกษา
ค. นักเรียนต่างประเทศทุกคนจะต้องแต่งเครื่องแบบเช่นเดียวอย่างนักเรียนนายร้อยอังกฤษ ขณะที่เข้าประจําศึกษาอยู่ในโรงเรียน
ง. สําหรับนักเรียนนายร้อยชาวหรือบังคับอังกฤษ ทางราชการทหารอังกฤษเขาจ่ายเงินให้นักเรียนนั้น ๆ หลังจากได้เข้าประจําการแล้ว ๑ ปี โดยจ่ายเงินให้คนละ ๕ ถึง ๖ ชิลลิง ต่อ ๑ วัน
จ. ขณะที่นักเรียนพักในเวลาหยุดภาค (ทางราชการทหารอังกฤษไม่จ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้) ผู้ปกครองจะต้องจ่ายค่าอยู่หลับนอนนอกโรงเรียนเอง
หากท่านรัฐบุรุษอาวุโสมีกิจธุระที่กระผมจะทําให้ได้ ขอเรียนว่ายินดีให้ใช้เสมอ กระผมและแม่ต่อ ขอฝากความระลึกถึงมายังคุณพูนศุขด้วย แม่ต่อให้เรียนว่าหากบุตร์ชายของท่านจะไปอังกฤษแน่ จะยินดีที่สุด ถ้าไม่รังเกียจที่จะให้อยู่กับเรา ถ้าไม่สะดวกทางอื่น เราได้ที่พักในตําบลที่ดีพอใช้ แต่เป็นบ้านเล็กพออยู่กันได้
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พันเอก ชิดชนก กฤดากร”
120 ปี ชาตกาลรำลึกถึง ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ได้แสดงทั้งพระประวัติ และบทบาททางสังคมโดยเฉพาะด้านการงานในราชการกรมทหารม้าและด้านการทูตรวมทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ยากคือ จดหมายของ ม.จ.ชิดชนก ถึงนายปรีดี พนมยงค์ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระชายาของท่านคือ ม.ล.ต่อ ชุมสายที่เป็นเพื่อนรักกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของนายปรีดี พนมยงค์ไว้อีกด้วย
หมายเหตุ
- คงอักขร ตัวสะกด เลขไทย และการเว้นวรรคตามหนังสืออนุสรณ์งานศพ ม.จ.ชิดชนก กฤดากร
บรรณานุกรม :
- กษิดิศ อนันทนาธร, จดหมายกับความหมายต่อบางเรื่องในประวัติศาสตร์ ในจุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24 มิถุนายน 2563-พฤษภาคม 2564, น.119-120.
- พูนศุข พนมยงค์, ชีวิตของลูกปาล ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น, (กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525)
- อนุสรณ์ในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2541, ม.ป.พ..
สื่ออิเล็กทรอนิกส์
-
พูนศุข พนมยงค์, (9 กันยายน 2563), ชีวิตของปาล พนมยงค์ , สืบค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2567.