ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ชีวิตของปาล พนมยงค์

9
กันยายน
2563

ปาลเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2474 ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม ซึ่งเป็นบ้านของคุณตาคุณยาย  ขณะที่ปาลเกิด พ่อรับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและเป็นผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม  การที่ลูกเกิดในบ้านคุณตาคุณยายจึงมีความใกล้ชิดกับญาติทางแม่ นอกจากจะเป็นที่รักของคุณตาคุณยายแล้ว บรรดาคุณลุงคุณป้าคุณน้าทุกคนก็ให้ความรักและความเอ็นดูเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่เกิดมาลูกเป็นเด็กที่มีรูปร่างน่ารักและเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย 

พออายุได้ 6 เดือน พ่อก็จากบ้านไปทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นการจากกับลูกครั้งแรก เนื่องจากพ่อได้จากบ้านไปตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายน 

ในวันที่พ่อจากไป ลูกซึ่งเป็นเด็กไม่เคยกวนเลย แต่ในตอนดึกคืนนั้นได้ส่งเสียงร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่มีสาเหตุ จนคุณตาคุณยายซึ่งอยู่บนตึกใหญ่ได้ยินและได้มาถามว่าเป็นอะไร  แม่เองใจไม่ดี เป็นห่วงพ่อ เพราะพ่อไม่ได้บอกความจริง เพียงแต่บอกว่าจะไปหาคุณปู่ที่นา อําเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

เมื่อพ่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วไม่ได้กลับบ้าน ทํางานอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และต่อมาในเดือนกรกฎาคมได้ย้ายมาอยู่ที่วังปารุสกวัน ผู้ใหญ่ทางทหารได้จัดบ้านหลังหนึ่งในบริเวณนั้น ให้นําครอบครัวมาอยู่ด้วย แม่ได้ไปอยู่รวมกับพ่อ โดยทิ้งลูกให้อยู่ในความดูแลของน้าเพียงแข [1] และมีแม่จาบ ซึ่งเคยเลี้ยงแม่มาแต่แรกเกิด เป็นผู้ช่วย อีกทั้งมีคุณตาคุณยายคอยควบคุมด้วย นับว่าเป็นการจากกับพ่อแม่เป็นครั้งแรก 

 

ปาล กับลลิตา พี่สาว
ปาล กับลลิตา พี่สาว

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 ได้มีการยุบสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ พ่อต้องถูกเนรเทศไปประเทศฝรั่งเศส แม่ได้ติดตามพ่อไปด้วย พ่อแม่ได้ออกเดินทางจากลูกอีกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476 ขณะนั้นลูกอายุได้ขวบเศษ กําลังน่ารักน่าเอ็นดูและพูดได้เป็นคํา ๆ ลูกอยู่กับคุณตาคุณยายจนพ่อแม่กลับมาในปลายเดือนกันยายนปีนั้นเอง 

เมื่อลูกอายุได้ 3 ขวบถึงกําหนดที่จะเข้าโรงเรียนอนุบาล แต่ในสมัยนั้น ร.ร.อนุบาลมีไม่กี่แห่งและอยู่ไกลบ้าน จึงได้ส่งลูกไปเข้าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน และเป็นโรงเรียนที่แม่เคยเรียน ต่อมาคุณยายได้ย้ายให้ไปเรียนที่โรงเรียนผดุงดรุณี ซึ่งขณะนั้นแม่ไม่อยู่ ไปต่างประเทศ แต่อยู่ไม่นาน พอถึงเวลาอายุเข้าเกณฑ์เรียนจึงได้ไปเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนปิด จึงได้ออกมาเรียนที่บ้าน ต่อมาได้เข้าไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล 

เมื่อเกิดสงคราม แม่กับลูก ๆ อพยพไปอยู่ที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แม่จึงส่งลูกไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ ตอนปลายสงคราม แม่อพยพไปอาศัยอยู่ในเขตพระราชวังบางปะอิน แม่ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสําหรับบุตรหลานผู้ที่อพยพอยู่ใกล้เคียง ตั้งเป็นสาขาของโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ และลูกก็ได้เรียนจนเสร็จสงคราม แล้วกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนจบมัธยม 6 จึงเข้าศึกษาเป็นนักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ รุ่น 8 หรือที่เรียกกันว่า รุ่น 500 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของเตรียมธรรมศาสตร์ 

ในปีพุทธศักราช 2490 เกิดรัฐประหาร คือ ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนั้น คณะประหารได้นํารถถังเข้ามาบุกทําลายที่พัก (ทําเนียบท่าช้าง) โดยไม่ได้คํานึงผู้หญิงและเด็กที่อาศัยอยู่ ได้ยิงปืนกลกราดใส่ที่พักอย่างนับไม่ถ้วน ขณะนั้นลูกอายุเพียง 16 ปี มีความห่วงใยแม่ ได้บอกให้แม่และน้อง ๆ หลบไปรวมอยู่ในห้องด้านแม่น้ําและสั่งให้นอนราบกับพื้น อีกทั้งยังคอยถามว่า แม่เป็นอย่างไรบ้าง เพราะเราปิดไฟอยู่ในความมืด จนรุ่งเช้าปรากฏว่า กระสุนได้ยิงตรงมายังห้องนอนพ่อแม่ เจาะกําแพงแต่ไม่ทะลุ เพราะกําแพงหนา หรือจะเป็นเพราะเดชะบุญกุศลที่ช่วยให้ครอบครัวเรามีชีวิตรอดมาได้จากการกระทําอันเหี้ยมโหดของคณะรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 

ต่อมาพ่อได้ออกเดินทางไปนอกประเทศ ส่วนแม่และลูก ๆ ได้หลบภัยไปอยู่สัตหีบชั่วระยะหนึ่ง เพราะในขณะนั้นคณะรัฐประหารได้ทําการจับกุมฝ่ายที่ถูกยึดอํานาจ จับตัวไม่ได้ก็จับเอาเมียไปขังแทน นับว่าเป็นการกระทําอันป่าเถื่อนที่สุด ในเดือนเมษายน 2491 ขณะที่พ่อลี้ภัยอยู่ที่สิงคโปร์ แม่ได้พาลูก ๆ ไปเยี่ยมพ่อ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ลูกได้ไปต่างประเทศ 

เมื่อลูกได้สําเร็จเตรียม ม.ธ.ก. แล้วก็เข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในขณะที่กําลังเรียนอยู่ ทางกระทรวงการต่างประเทศประกาศรับสมัครคนเข้าทํางาน ลูกได้ไปสมัครสอบพร้อมกับเพื่อน ๆ หลายคน ปรากฏว่าสอบได้และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตําแหน่งเสมียนจัตวาอันดับ 7 ต่อมาพอความทราบถึงผู้มีอํานาจในสมัยนั้นได้ประท้วงมายังกระทรวงฯ ว่า ทําไมรับลูกชายหลวงประดิษฐ์ฯ เข้าทํางาน ซึ่งทางกระทรวงเจ้าสังกัดก็ตอบไปว่า เขาเข้ามาได้ด้วยการสอบแข่งขัน ถ้าหากจะ ไม่ให้รับเข้าทํางานก็ต้องห้ามไม่ให้เขาสมัครสอบ คณะกรรมการชุดที่สอบยังคงมีชีวิต อยู่ในขณะนี้บางท่านคงจําเรื่องนี้ได้ดี 

การที่ลูกต้องทํางานด้วยเรียนด้วย ก็เพราะต้องการจะแบ่งเบาภาระแม่ คือ ภายหลังรัฐประหาร แม่ยังคงรับบํานาญของพ่ออยู่ แต่พออัยการยื่นฟ้องคดีสวรรคตในปลายเดือนสิงหาคม 2491 ทั้ง ๆ ที่ไม่มีชื่อพ่อเป็นจําเลย แต่ทางตํารวจมีหนังสือถึง กระทรวงการคลังขอให้งดจ่ายบํานาญพ่อตั้งแต่วันยื่นฟ้องเป็นต้นไป แม่ไม่มีรายได้อะไร จึงเอาบ้านให้เช่าและกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ แม่ทําขนมขายเป็นการหารายได้เพิ่มเติม  ลูกพูดชมเชยแม่ว่า การกระทําของคุณแม่เป็นการดี แต่ขอให้ขายในราคาที่ทุกคนอาจซื้อได้ แม่บอกว่า แม่ใช้ของดีทั้งนั้น ไม่มีกําไรอะไรถ้าคิดถึงแรงงาน แม่ได้อาศัยแรงงานจากนักศึกษาที่อยู่ร่วมบ้านเป็นผู้ช่วย 

ในเดือนเมษายน 2495 ลูกถูกเกณฑ์ทหาร จึงต้องออกจากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อไปรับราชการทหาร ในวันเกณฑ์นั้นแม่ได้ไปคอยฟังผลที่วัดหัวลําโพงซึ่งเป็นสถานที่คัดเลือก มีเพื่อนลูกคนหนึ่งเข้ามาหาแม่ และถามว่าปาลโดนไหม ถ้าโดนเป็นทหาร เขาจะขอให้ไปอยู่กับคุณพ่อของเขาซึ่งเป็นนายทหาร แต่เนื่องจากแม่ไม่ประมาท ก่อนที่ลูกจะถูกคัดเลือก แม่ได้ไปเฝ้า ม.จ.ชิดชนก กฤดากร ซึ่งเป็นที่เคารพคุ้นเคยของแม่ ทูลท่านว่า ถ้าลูกถูกเกณฑ์ ก็ขอให้ท่านช่วยรับไว้ในสังกัดของท่านด้วย เพราะลูกอยากเป็นทหารม้า ฉะนั้น ในวันเกณฑ์ ม.จ.ชิดชนกฯ ทรงมอบหมายให้พันโทผู้หนึ่งไปดูตัวที่วัดหัวลําโพง และในตอนเย็นเกือบพลบเมื่อคัดเลือก แล้วก็มีนายสิบพาลูกและผู้ถูกเกณฑ์ไปที่กรมทหารริมคลองหลอด แล้วจึงแยกไปเหล่าทหารม้า

 

ม.จ.ชิดชนก กฤดากร กับ ม.ล.ต่อ ผู้เป็นชายา โดยที่ ม.ล.ต่อ เป็นเพื่อนรักของท่านผู้หญิงพูนศุข ตั้งแต่ในโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ
ม.จ.ชิดชนก กฤดากร กับ ม.ล.ต่อ ผู้เป็นชายา
โดยที่ ม.ล.ต่อ เป็นเพื่อนรักของท่านผู้หญิงพูนศุข ตั้งแต่ในโรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ

 

เป็นอันว่า ลูกเข้ารับราชการเป็นพลทหารสังกัดจเรทหารม้า อยู่แผนกม้าป่วย วันอาทิตย์ใดที่ลูกอยู่เวร ไม่ได้กลับมาบ้าน แม่จะไปเยี่ยมลูกที่กรมทหาร ที่อยู่ของลูกเป็นโรงไม่มีฝา มีเสาและพื้นไม้สําหรับนอน และม้าป่วยก็ยืนอยู่ที่ดินข้าง ๆ ที่นอน ทุกครั้งที่แม่ไปเยี่ยม จะเห็นลูกทําความสะอาดม้า เช่น อาบน้ํา แปรงเล็บเท้า ฯลฯ กลิ่นมูลม้าคลุ้ง บางครั้งก็ต้องไปเกี่ยวหญ้าให้ม้าบริเวณถนนเศรษฐศิริ ได้เคยพบเพื่อนบางคน แต่เขาจําลูกไม่ได้ เพราะลูกอยู่ในเครื่องแต่งกายที่มีกางเกงขาสั้นสีเขียวและใส่เสื้อคอกลมกับถือเคียว ผู้บังคับบัญชาทุกระดับให้ความเมตตา ตลอดจนนายสิบและครอบครัวก็เอื้อเฟื้อหาอาหารให้รับประทาน 

ทั้ง ๆ ที่มีสภาพเช่นนี้ก็ไม่วายที่ผู้มีอํานาจในสมัยนั้นจะรังเกียจ ถึงกับถาม ม.จ.ชิดชนกฯ ว่า ทําไมรับลูกหลวงประดิษฐ์ฯ มาเป็นทหาร ซึ่งท่านตอบไปว่า เขามาเป็นทหารตามกฎหมาย และที่ท่านรับมาไว้ในสังกัดท่าน ก็เพราะท่านชอบพอคุ้นเคยกับแม่มาช้านาน 

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ได้มีการจับกุมกันใหญ่ แรกก็จับพวกที่เป็นนักสันติภาพ นักศึกษา ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลาเช้าตรู่ ระหว่างที่ลูกลาป่วยพักอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ตํารวจได้มาล้อมบ้านสาธร เข้าค้นบ้านและจับลูกซึ่งกําลังหลับอยู่ นําไปขังไว้ที่สถานีตํารวจสามยอดในข้อหากบฏ ลูกไม่ได้แสดงอาการหวาดกลัวแต่ประการใด 

วันที่ตํารวจจับลูกไป แม่ต้องทําใจเข้มแข็งเมื่อผจญหน้ากับศัตรู แต่แล้วแม่ขึ้นไปบนห้องและร้องไห้อยู่คนเดียว โดยไม่อยากให้ใครเห็นว่าแม่อ่อนแอ  ในเย็นวันนั้น แม่ได้ไปเยี่ยมลูกและนําอาหารไปส่งลูกซึ่งถูกขังรวมกับคนอื่น ๆ อีก 2-3 คน แต่แม่จําไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง 

 

บัตรผู้ต้องหา “น.ช. พลฯ ปาน พนมยงค์ อายุ 21 ปี”
บัตรผู้ต้องหา “ข.ช. พลฯ ปาน พนมยงค์ อายุ 21 ปี”

 

ก่อนที่ลูกถูกจับแม่ได้รับเป็นเถ้าแก่ให้คุณศักดิ์ชัย บํารุงพงศ์ ไปหมั้นเครือพันธุ์ ปทุมรส เมื่อลูกถูกจับ ทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงได้มาหาแม่ว่าจะไปตามกําหนดได้ไหม เพราะกําหนดหมั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน แม่ตอบไปว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครั้นถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน แม่พร้อมด้วยคุณศักดิ์ชัยฯ ได้ไปทําพิธีหมั้นเครือพันธุ์ฯ ที่บ้านคุณเฉลียว ปทุมรส โดยมีเจ้าคุณนลราชสุวัจน์เป็นเถ้าแก่ฝ่ายหญิง 

เมื่อทําพิธีเสร็จแล้ว ก็มีการสนทนาถามทุกข์สุขกัน ในขณะนั้นได้มีตํารวจ 2 คันรถโดยการนําของ พ.ต.อ. อัศนีย์ (อู๋) ยิ่งกมล ได้ตรูกันมาค้นบ้านและขอจับคุณเฉลียวฯ นายอู๋ได้เหลือบมาทางแม่ และถามว่าเป็นใคร ทั้ง ๆ ที่เขาเคยรู้จัก  ท่านเจ้าคุณนลฯ ตอบเขาว่า “ท่านผู้หญิงพูนศุข” เขาจึงพูดว่าขอเชิญตัวไปด้วย ท่านเจ้าคุณนลฯ จึง บอกเขาว่าไม่มีหมายสั่งจับ จะจับได้อย่างไร เขาตอบว่า เขาได้เห็นหมายแล้ว แม่จึงพูดขึ้นว่า ท่านเจ้าคุณฯ ท่านเป็นอดีต ร.ม.ต.ยุติธรรม ท่านย่อมรู้กฎหมายดี แต่เขาพูดว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจส่วนหนึ่งซึ่งมี พ.ต.อ.ประชา บูรณธนิต กําลังไปค้นบ้านแม่ และเขาไม่ฟังเสียง จับตัวแม่ไปจนได้ แต่ให้นั่งรถส่วนตัวโดยให้ตํารวจนั่งหน้ารถ 

ก่อนที่เขาจะจับแม่ไป แม่ได้ให้คุณศักดิ์ชัยฯ โทรศัพท์ถึงคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ว่าขอให้รีบไปบ้านสาธรเดี๋ยวนี้ ขณะนั้นคุณฉลบฯ กําลังเลี้ยงเพลคุณพ่อคุณฉลบฯ ซึ่ง อุปสมบท ตอบว่ายังไปไม่ได้ แม่จึงให้โทรศัพท์ไปอีกครั้งบอกว่าแม่ถูกจับ คุณฉลบฯ จึงรีบไปบ้านสาธรทันที ในขณะเดียวที่ไปค้นบ้านแม่ ตํารวจอีกชุดหนึ่งก็ไปค้นบ้านคุณยายด้วย เมื่อเขาจับแม่ เขาพาตรงไปที่ทําการสันติบาลก่อน โดยให้แม่ยืนรอหน้าห้องผู้บังคับการสันติบาล 

ผู้ที่จับเข้าไปรายงานอธิบดีกรมตํารวจเพื่อจะเอาหน้า เสียงอธิบดีฯ ตะเพิด ออกมาว่า “จับเอามาทําไม” เขาเลยพาแม่ไปบ้านเพื่อให้เตรียมตัวเข้าห้องขัง ขณะนั้นดุษฎีกับวาณียังเล็กอยู่ กําลังเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เมื่อขาดหัวหน้าครอบครัวคือแม่ ไม่มีใครดูแล แม่จึงเอาลูกหญิง 2 คนไปนอนกับแม่ที่สันติบาลด้วย จนกว่าญาติจะติดต่อขอฝากเข้าเป็นนักเรียนประจํา 

การจับได้ดําเนินต่อไป โดยเรียกว่า “กบฏสันติภาพ” หรือ “กบฏ 10 พฤศจิกายน” และแยกการสอบสวนออกเป็นกลุ่ม ๆ มีกลุ่มสันติภาพ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มกู้ชาติ  ลูกอยู่ในกลุ่มกู้ชาติ ส่วนแม่ไม่ปรากฏว่าอยู่ในกลุ่มใด และการสอบสวน แม่ลูกไม่มีการเกี่ยวพันกัน จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดว่าแม่ลูกถูกจับในข้อหาเดียวกัน แต่ในสํานวนการสอบสวนไม่เกี่ยวกันเลย ไม่ทราบว่าคิดกบฏกันอย่างไร 

ในระหว่างสอบสวนแม่ถูกคุมขังเป็นเวลา 84 วัน เมื่อถึงเวลาอัยการยื่นฟ้อง ตํารวจเสนอสํานวนไปยังกรมอัยการเพื่อให้ฟ้องแม่ฐานกบฏ กรมอัยการพิจารณาแล้วว่าไม่มีหลักฐานที่จะฟ้องแม่ฐานกบฏ แม่จึงได้รับการปล่อยตัว แต่ลูกถูกฟ้อง ตลอดเวลาที่แม่ถูกคุมขัง แม่มีอาการป่วยเนื่องจากจิตใจถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง น้ําหนักลดลงเหลือเพียง 42 กิโล เมื่อแม่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แม่จึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะอยู่ในเมืองไทยต่อไป ทั้ง ๆ ที่สงสารลูกต้องเข้าไปถูกคุมขังอยู่ในคุก แต่ก็จําใจจากลูก พาน้องเล็ก ๆ 2 คนไปอาศัยอยู่ในประเทศจีน ก่อนขึ้นเครื่องบินแม่ได้ไปลาลูกที่ศาล 

เหตุการณ์ในวันนั้นได้มีท่านผู้หนึ่งซึ่งใช้นามปากกาว่า “ผู้สื่อข่าวน้อย” บรรยายความใต้ชื่อเรื่องว่า “ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24” ซึ่งบทความนี้ได้ตีพิมพ์ในหนังสือธรรมศาสตร์มา 2 ครั้งแล้ว 

แม่จําต้องจากลูกไปเป็นเวลา 4 ปีเศษ จึงได้กลับมากรุงเทพฯ เมื่อพุทธศักราช 2500 เนื่องจากคุณยายป่วยหนัก และเพื่อต้อนรับลูกที่ได้รับอิสรภาพหลังจากถูกตัดสินจําคุก 20 ปี และได้การลดหย่อนเหลือเพียง 13 ปี 4 เดือน และในโอกาสกึ่งพุทธกาล ก็ได้รับนิรโทษกรรมในเดือนมีนาคมนั้นเอง รวมเวลาที่อยู่ในที่คุมขังทั้งหมด 4 ปีเศษ แม่จึงได้รีบกลับจากประเทศจีน เพื่อมารับใช้ตอบแทนพระคุณคุณยาย ซึ่งท่านดีใจมากที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เห็นหลานได้รับอิสรภาพก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม ตลอดเวลาที่ลูกถูกคุมขังอยู่ที่ลหุโทษและที่บางขวางได้มีญาติมิตรสนิทเยี่ยมเยียนและส่งเสียอาหารการกินเป็นประจํา ทั้งนี้แม่ระลึกถึงพระคุณท่านเหล่านี้เป็นอย่างสูง 

 

วันที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทางกลับจากประเทศจีน ณ สนามบินดอนเมือง เมษายน 2500
วันที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเดินทางกลับจากประเทศจีน ณ สนามบินดอนเมือง เมษายน 2500

 

อนึ่ง ระหว่างที่ลูกต้องย้ายไปคุมขังที่เรือนจําบางขวางนั้น ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ได้ขออนุญาตทางการเข้าไปในเรือนจําเพื่อโปรดแสดงธรรมกถาและฝึกฝนผู้ต้องหารวมทั้งลูกด้วยที่สมัครใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อได้รับแสงสว่างจากการปฏิบัติตามธรรมะของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นพระคุณอย่างยิ่งของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม 

ครั้นถึงเดือนพฤษภาคม คุณยายก็ถึงแก่กรรม ลูกมีศรัทธาที่จะอุปสมบท ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ก็ได้มีเมตตาโปรดรับเป็นอุปัชฌาย์ ลูกได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2500 ณ พัทธสีมา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ก่อนที่จะอุปสมบทได้ไปรายงานตัวที่สัสดี เขาตอบว่าได้ปลดลูกเป็นพลทหารกองหนุนแล้ว ระหว่างบวช ท่านเจ้าคุณได้กรุณาจัดให้อยู่กฏิเดียวกับท่าน นับว่าเป็นพระเดชพระคุณยิ่ง 

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาส อาสภมหาเถระ) แต่เมื่อเป็นพระพิมลธรรม กับพระปาล และโยมมารดา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาส อาสภมหาเถระ) แต่เมื่อเป็นพระพิมลธรรม กับพระปาล และโยมมารดา

 

เมื่อทําการฌาปนกิจศพคุณยายแล้ว แม่ได้พาลูกไปเยี่ยมพ่อ ซึ่งจากกันนับสิบปีที่ ประเทศจีน แล้วลูกกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนสําเร็จได้นิติศาสตร์บัณฑิต ตอนเรียนที่เมืองไทยได้พักอยู่บ้านสาธรและดูแลลลิตา พี่สาวคนโตซึ่งมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งลูกออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส น้าอัมพา [2] จึงได้รับลลิตาไปอยู่ในความดูแลที่บ้านซอยสวนพลู 

 

ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2506
ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2506

 

ระหว่างศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ลูกได้ทําการสมรสครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 กับงามชื่น นีลวัฒนานนท์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชัยวัฒน์ (วิคตอร์) และนางสาวตุลยา (ตุลย์) ต่อมาลูกกลับจากฝรั่งเศสแล้วเมื่อ พ.ศ. 2519 ลูกได้ทําการสมรสครั้งที่สองกับเลิศศรี จตุรพฤกษ์ มีบุตร 1 คน คือ นายปรีดิวิชญ์ (ป็อม) 

 

เลิศศรี ปาล ปรีดิวิชญ์ และปรีดี พนมยงค์
เลิศศรี ปาล ปรีดิวิชญ์ และปรีดี พนมยงค์

 

ในปี 2520 แม่และแป๋ว (สุดา) ได้ออกจากประเทศจีนมาพํานักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แม่และลูกจึงได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกัน แม่เช่าห้อง (Studio) อยู่ที่ปารีสเขต 14 ส่วนลูกพักอยู่ที่ Résidence Universitaire เขต Antony 

ปกติเวลาลูกเข้ามาเรียนในปารีส ขากลับจะต้องแวะมาเยี่ยมแม่ทุกครั้ง ส่วนแม่นั้นถึงวันอาทิตย์ก็จะไปเยี่ยมลูกและอยู่กินข้าวเย็นกับลูก บางทีลูกก็พาแม่ไปทัศนาจรในปารีสและต่างจังหวัด ระยะนั้นมีญาติมิตรไปเที่ยวฝรั่งเศสกันเป็นจํานวนไม่น้อย ลูกก็ทําหน้าที่ต้อนรับและอํานวยความสะดวกให้ 

เมื่อลูกสอบข้อเขียนและสอบปากเปล่าได้แล้วก็เตรียมทําวิทยานิพนธ์ต่อไป ในวันสอบปากเปล่า แม่ได้ไปนั่งฟังลูกสอบด้วย ต่อมาลูกเปลี่ยนจากทําวิทยานิพนธ์ Doctorat d’ Université เป็น Doctorat de 3 ème Cycle จึงทําให้เสียเวลาต่อไปอีก 

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2513 พ่อมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ได้ออกจากประเทศจีน มาพํานักอยู่ประเทศฝรั่งเศส และได้พบลูก  ในปี 2515 พ่อมีอายุครบ 6 รอบ (72 ปี) ได้รวมครอบครัวเกือบครบ เว้นลลิตาลูกคนโตซึ่งพิการ ที่ฝรั่งเศสลูกได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้พ่อ เช่น การหาซื้อบ้าน หาซื้อหนังสือตําราที่พ่อจะค้นคว้า และเบ็ดเตล็ดจิปาถะ นับว่าได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อขณะหนึ่ง 

 

ปาล กับบิดามารดา ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2514
ปาล กับบิดามารดา ที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2514

 

ในปี 2515 นั้น ลูกได้กลับเมืองไทยเพื่อมาประกอบอาชีพอิสระและทํางานเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือของพ่อจําหน่ายจ่ายแจก ในระยะก่อนที่ลูกรับการผ่าตัด ลูกได้รับมอบอํานาจจากพ่อให้ฟ้องร้องผู้ที่ละเมิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ลูกได้ร่วมมือกับทนายความหลายท่านฟ้องจําเลยคดีต่าง ๆ ซึ่งได้รับความเป็นธรรมจากศาลจนชนะเด็ดขาด 

โดยปกติลูกได้ไปเยี่ยมพ่อแม่ที่ประเทศฝรั่งเศสทุกปี และเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสมัยนั้นทําการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด ลูกเห็นว่าถ้าขืนอยู่ในเมืองไทยอาจไม่ปลอดภัย จึงเดินทางไปพักกับพ่อแม่เป็นเวลาปีเศษ จนสถานการณ์คลี่คลายลูกจึงเดินทางกลับ ในระหว่างที่พักอยู่ในฝรั่งเศส ลูกมีอาการป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Hapital International de l’ Université de Paris) ถึง 2 เดือนเต็ม 

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2522 ขณะที่แม่อยู่ที่ฝรั่งเศสได้รับโทรศัพท์ทางไกลจากกรุงเทพฯ ว่า ลูกป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายแพทย์จะทําการผ่าตัดด่วนในวันที่ 27 เมื่อแม่รับทราบก็รีบเดินทางมากรุงเทพฯ ถึงในวันผ่าตัดพอดี แพทย์ที่ทําการผ่าตัดได้พบว่าลูกเป็นมะเร็งในลําไส้ใหญ่ 

ลูกมีอาการป่วยมาก่อนและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่ลูกเป็นคนอดทนและมีนิสัยเกรงใจจึงมิได้คิดว่าเป็นโรคร้าย มัวไปเข้าใจว่าเป็นโรคริดสีดวงเรื้อรัง แต่เมื่อแพทย์ได้ตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้วปรากฏว่ายังเป็นโรคฝีคัณฑสูตรอีกด้วย เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยและย้ายลําไส้ให้ถ่ายออกทางใหม่ (Colostomy) ลูกมีอาการดีขึ้นเป็นลําดับและกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ 

ภายหลังที่ผ่าตัดได้ 5 เดือน ลูกได้เดินทางไปฝรั่งเศสเนื่องในวันคล้ายวันเกิดพ่ออายุครบ 80 ปีบริบูรณ์ ร่างกายลูกแข็งแรงเกือบเป็นคนปกติ ลูกพักอยู่ในฝรั่งเศสเดือนเศษจึงเดินทางกลับ 

ภายหลังที่ลูกผ่าตัด พ่อมีความจําเป็นต้องดําเนินคดีฟ้องร้องผู้ที่เขียนบิดเบือนประวัติศาสตร์อีก พ่อไม่ได้มอบให้ลูกเป็นตัวแทน เพราะเห็นว่าลูกยังอยู่ในระยะพักฟื้น พ่อจึงขอให้ช่วยเพียงร่วมมือกับทนายความอย่างใกล้ชิด 

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2524 ลูกได้เดินทางมาฝรั่งเศสอีกเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของพ่อครบ 81 ปี ไปครั้งนี้ลูกมีอาการไม่สบาย แต่ด้วยความเกรงใจประกอบกับพ่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ลูกจึงมิได้บอกให้ใครทราบ เพราะเกรงว่าจะเพิ่มภาระ จนกระทั่งมีอาการอืด แน่น ปวดท้อง และมีโลหิตออกทาง Stoma จึงได้ไปให้แพทย์ประจําครอบครัวตรวจ แพทย์มีความเห็นว่าควรจะกลับมารักษากับเพทย์ที่เคยรักษามาก่อนแล้ว แม่จึงเดินทางกลับมาพร้อมลูก ระหว่างเดินทางลูกมีอาการปวดท้องอย่างแสนสาหัส เมื่อถึง Delhi ต้องเรียกหมอมาฉีดยาระงับปวด พอถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ตรงไปเข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ทันที

ลูกมีนิสัยเกรงใจคน ถึงแม้จะป่วยมากก็ไม่ปริปากเพียงแค่ร้องครางเบา ๆ บางทีถึงเวลาฉีดยาแก้ปวดก็บอกว่ารอไว้ก่อน โดยลูกทำสมาธิจนทนไม่ไหวจริง ๆ จึงยอมฉีด หรือญาติที่เฝ้าไข้ทนไม่ไหวที่จะปล่อยให้ลูกทรมาน จึงขอให้พยาบาลฉีดยา เมื่ออาการปวดทุเลาลูกก็ทำงานเกี่ยวกับการพิมพ์หนังสือของพ่อเพื่อเป็นการเผยแพร่ต่อไป

ลูกมีความเป็นห่วงใยในสุขภาพของพ่อมาก คือใ นระหว่างที่ลูกพำนักอยู่ในฝรั่งเศสครั้งหลังนี้ ลูกได้เห็นพ่อป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลด่วนในกลางดึก และลูกตามไปช่วยดูแล ฉะนั้น ในขณะที่ลูกป่วยอยู่ จึงนึกถึงพ่อตลอดเวลา ส่วนแม่นั้นมีความวิตกมาก แต่เมื่อแม่เข้าไปอยู่ใกล้ลูก ก็อดกลั้นไม่แสดงให้ลูกเห็นว่ามีความวิตก ลูกจึงพูดกับแม่ว่าแม่มีกำลังใจดี

นอกจากลูกมีนิสัยเกรงใจคนแล้ว ลูกยังเป็นคนมีกิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อม รู้จักเคารพคารวะผู้อาวุโส ถึงแม้นายแพทย์และพยาบาลซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าเข้ามาตรวจหรือช่วยเหลือตามหน้าที่ ลูกก็จะยกมือไหว้ และกล่าวขอบคุณทุกครั้ง

ลูกเกิดมาอาภัพต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ถึงเวลาที่จะหาความสุขสบายได้บ้าง ลูกก็งดเว้น เพราะนึกถึงผู้ที่มีความลำบากกว่าอีกจำนวนมาก มีความเสียสละอุทิศ ตนเพื่อส่วนรวมของสังคมตลอดชีวิต จนกระทั่งเมื่อก่อนจากไปก็ได้แสดงเจตนาอุทิศดวงตาให้ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย และบริจาคร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการค้นคว้าให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เคราะห์ร้ายด้วยโรคมะเร็ง

ลูกถึงแก่กรรมเมื่อ 9 กันยายน 2524 แล้ว ได้มีท่านที่เคารพและญาติมิตรนำเงินมาช่วยในการบำเพ็ญกุศล แม่จึงได้นำเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทบริจาคให้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตั้งเป็นทุนค้นคว้าวิจัยโรคมะเร็ง ซึ่งถ้าหากลูกมีญาณวิถีใด ๆ คงจะอนุโมทนาที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของลูก

ตลอดเวลาที่ลูกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ลูกได้รับเมตตาจิตจากนายแพทย์และพยาบาลทุกท่าน อีกทั้งท่านที่เคารพ อาทิ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช และญาติมิตร มีความห่วงใยในอาการป่วยของลูก ได้กรุณาเยี่ยมให้กำลังใจ วัตถุและปัจจัยตราบจนถึงวาระสุดท้าย ทั้งนี้แม่รู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาและพระคุณของท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ แต่เมื่อเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเยี่ยม นายปาล พนมยงค์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเดือนกันยายน 2524 โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุขเฝ้ารับ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ แต่เมื่อเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เสด็จเยี่ยม นายปาล พนมยงค์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในเดือนกันยายน 2524 โดยมีท่านผู้หญิงพูนศุขเฝ้ารับ 

ต่อไปนี้คือความบางตอนที่คุณพยาบาลผู้หนึ่งซึ่งช่วยดูแลลูกตั้งแต่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขียนถึงแม่ภายหลังที่ลูกจากไปแล้ว

“หนูและพี่ ๆ น้อง ๆ พยาบาลที่ได้รู้จักคุณปาลรู้สึกเสียใจมาก และเสียดายที่คนดี ๆ อย่างคุณปาลได้จากพวกเราไป ช่วงระยะเวลาไม่นานนักที่ได้รู้จัก ทําให้พยาบาลทุกคนรู้สึกว่าคุณปาลเป็นคนดีมาก ตั้งแต่หนูทํางานมา คุณปาลเป็นคนไข้รายแรกที่ทําให้หนูร้องไห้และเสียดายในการจากไป มีความรู้สึกว่าเศร้าและเสียดายเสมือนว่า คุณปาลเป็นญาติสนิท ตลอดเวลาที่คุณปาลอยู่โรงพยาบาล ได้สร้างแต่ความรู้สึกที่ดีงามจนพยาบาลทุกคนที่ได้รู้จักคุณปาลรู้สึกประทับใจและกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ ถ้าหนูเป็นเทวดาอยากจะเอานิ้วชี้ให้คุณปาลหายจากโรคนี้ เพราะหนูพบเห็นคนไข้โรคนี้มามากและรู้ดีว่าโรคนี้ทรมานแค่ไหน แต่หนูก็ทําได้แค่เพียงช่วยเหลือนิดหน่อย ๆ ตามหน้าที่ของพยาบาลเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามธรรมชาติซึ่งจะฝืนอย่างไรก็ไม่ได้ และคุณปาลก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้เช่นเดียวกัน คุณปาลคงฝังอยู่ในความทรงจําของพยาบาลทุกคนไปอีกนาน คุณปาลจากไปแล้ว แต่คุณงามความดี อุปนิสัยซึ่งสุภาพอ่อนโยนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมาก ใจดีมีเมตตา ได้ถูกสรรเสริญถึงอยู่เสมอค่ะ คนดี ๆ จากไปรู้สึกว่าโลกทั้งโลกกําลังเศร้าสร้อยไปด้วย” 

เนื่องจากปาลเป็นลูกชายคนโตของพ่อแม่ซึ่งพ่อแม่หวังจะฝากผีฝากไข้ลูกในบั้นปลายของชีวิต แต่ลูกก็ได้ด่วนจากพ่อแม่ไปก่อนตามกฎแห่งธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอํานาจหรือสิ่งใดที่จะเหนี่ยวรั้งได้ ยังความเศร้าโศกอาลัยให้พ่อแม่ลูกเมียและญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลังอย่างสุดที่จะพรรณนา ลูกจากไปด้วยจิตใจและร่างกายที่สะอาดหมดจด 

ก่อนที่จะส่งร่างของลูกเข้าสู่ตึกกายวิภาค แม่ได้จูบลาลูกเป็นครั้งสุดท้ายและบอกลูกว่า “ชาตินี้ลูกมีกรรม เกิดมาอาภัพและลําบาก ถ้าชาติหน้ามี ขอให้ลูกมีชีวิตที่สบายกว่านี้” 

แม่ขอตั้งจิตอธิษฐาน ด้วยเดชะคุณพระศรีรัตนตรัยและอานิสงส์ทั้งหลายที่ลูกบําเพ็ญเพื่อส่วนรวม เพื่อความกตัญญูกตเวที ได้โปรดดลบันดาลให้ลูกประสบความสงบสุขในสัมปรายภพทุกประการเทอญ

 

ที่มา: ปรับปรุงจากที่เผยแพร่ครั้งแรกในชื่อ “ชีวิตของลูกปาล” ลงพิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525

 


[1]  นางเพียงแขเป็นน้องสาวท่านผู้หญิงพูนศุข และเป็นภรรยาของศาสตราจารย์เย็น สุนทร-วิจารณ์

[2]  นางอัมพาเป็นน้องสาวท่านผู้หญิงพูนศุข และเป็นภรรยาของศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร