Focus
- บทความนี้นำเสนอประวัติชีวิตและผลงานสำคัญทางสังคมการเมืองของนายแพทย์ เจริญ สืบแสง ที่เป็นทั้งนายแพทย์ผู้เสียสละรักษาผู้ป่วยยากไร้แล้วยังเป็น สส. จ.ปัตตานี หลายสมัย เป็นผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และเคยถูกจับกุมในกรณีกบฏสันติภาพ
นายแพทย์ เจริญ สืบแสง เป็นทั้งแพทย์ผู้เสียสละ เป็นนักการเมือง สส. จ. ปัตตานี หลายสมัย และเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในฐานะขบถสันติภาพ ในวาระ 122 ปี ชาตกาล 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ นำเสนอบทบาททางสังคมและการเมืองสำคัญของนายแพทย์ เจริญ ไว้ ณ โอกาสนี้
ชีวประวัติย่อของนายแพทย์ เจริญ สืบแสง

นายแพทย์เจริญ สืบแสง เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445 ที่ตําบลอาเนาะรู อําเภอสะบารัง อําเภอเมืองปัตตานี ในปัจจุบัน) จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนที่ 2 ของแพทย์ประจํา มณฑลปัตตานีคือ ขุนวรเวชวิชกิจ (ชัย สืบแสง) กับนางวรเวชวิชกิจ (อุ่น สืบแสง) สําเร็จการศึกษาหลักสูตรประโยค ครูมูลจากโรงเรียนประจํามณฑลปัตตานี (ปัจจุบันคือโรงเรียน เบญจมราชูทิศ) ในปี 2460


เมื่อ พ.ศ. 2466 นายแพทย์ เจริญ ได้ไปศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สําเร็จการศึกษาเป็นแพทย์ประกาศนียบัตร
บทบาทและการทำงานเพื่อสังคมการเมือง
พ.ศ. 2468 เป็นแพทย์หลวงประจําจังหวัดปัตตานี
พ.ศ. 2473 เป็นสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นขุนเจริญวรเวช
พ.ศ. 2477 ย้ายไปรับราชการในกรมสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2479 ลาออกจากราชการ กลับมาเปิดคลินิกส่วนตัวที่ปัตตานี และเริ่มเป็นนักการเมืองท้องถิ่นโดยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานี
พ.ศ. 2483-2489 เป็นนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี
พ.ศ. 2489 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี (ในสมัยนั้นปัตตานีมี ส.ส. ได้เพียง 1 คนเท่านั้น)

นับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 ถึงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492 มีการรัฐประหารและยุบสภาเป็นประจํา ภายในเวลา 3 ปี จึงมีการเลือกตั้งถึง 4 ครั้ง และทุกครั้งนายแพทย์ เจริญ สืบแสง จะได้รับเลือกตั้งเสมอ จากการอาสาหาเสียงโดยเพื่อนฝูงและคนไข้ทั้งไทยพุทธไทยมุสลิมที่ท่านเคยให้ความช่วยเหลือ

และฮัจยีสุหลงก็คือ ผู้หนึ่งที่ได้ช่วยเหลือนายแพทย์ เจริญ สืบแสง
“ท่านเจ้าคุณ ครั้งนี้ผมรับปาก นายเจริญ สืบแสงไว้แล้ว ผมขอช่วย นายเจริญตามสัญญาก่อน ครั้งต่อไป ผมจะช่วยท่านเจ้าคุณ ผมเป็นครูบาอาจารย์ พูดกลับไปกลับมา ลูกศิษย์จะไม่นับถือ เมื่อไม่มีคนนับถือแล้ว ผมจะมีพลังอะไรช่วยท่านเจ้าคุณได้ ขอไว้ช่วยท่านเจ้าคุณครั้งต่อไป...”
นี่คือคําสนทนาระหว่างท่านอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา กับท่านเจ้าคุณพระยาผู้หนึ่ง ซึ่งเคยมีอํานาจใหญ่โตในปัตตานีและกําลังถูกพักราชการ ต้องการมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรปัตตานี




พ.ศ. 2492 นายแพทย์เจริญ สืบแสง ร่วมกับเหล่าปัญญาชน ก่อตั้งขบวนการสันติภาพ โดยท่านได้รับเลือกให้เป็นประธาน ต่อมา จึงถูกตํารวจสันติบาลจับกุมในฐานะขบถสันติภาพ ด้วยข้อหา มีการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกคุมขังในเรือนจําลาดยาวนาน ถึง 5 ปี ต่อมาจึงได้รับการนิรโทษกรรมในปี 2500


พ.ศ. 2500 เดือนธันวาคม นายแพทย์เจริญ ได้รับเลือก ตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี แต่ก็เกิดการยุบสภาฯ อีก
พ.ศ. 2501 นายแพทย์เจริญ ถูกคณะปฏิวัติจับกุมอีกครั้ง ในข้อหาเดิม ถูกคุมขัง 5 ปี ต่อมาได้รับอิสรภาพเมื่อ พ.ศ. 2506 และได้เป็นประธานสภาเทศบาลเมืองปัตตานี ติดต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. 2506-พ.ศ. 2512 ท่านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ด้วยโรคมะเร็งในช่องจมูก
พระเทพญาณโมลี เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร ได้เขียน บทความเรื่อง “เมื่อจังหวัดปัตตานีต้องสูญเสียคนดีไปอีกคนหนึ่ง”ไว้ ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ รองอํามาตย์โท ขุนเจริญวรเวช ปี 2513 ความว่า นายแพทย์เจริญ เป็นผู้ที่ยอม เสี่ยงภัยเพื่อยึดมั่นในอุดมคติทางการเมือง
ส่วนนายพูนสวัสดิ์ กําลังงาม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในสมัยนั้นได้นิยามความเอื้อ อารีที่นายแพทย์เจริญ มีต่อคนไข้ไว้ว่า ช่วยเหลือคนไข้โดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา ส่วนนายแพทย์มงคล สืบแสง ผู้เป็นน้องชายเขียนไว้ว่า นายแพทย์เจริญ สืบแสง มักเผาบิลค่ายาและค่ารักษาพยาบาลคนไข้ยากจนทิ้งเป็นปึก ๆ คนไข้ยิ่งเพิ่มขึ้น รายได้ กลับยิ่งลดลง

เมื่ออยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายแพทย์เจริญ ไม่เคยฉกฉวยโอกาสค้ากําไรกับคนไข้ แม้ว่าในสมัยนั้น ทั่วทั้งจังหวัดจังหวัดปัตตานีมีแพทย์เพียง 10 คน
จากการสัมภาษณ์คุณอนุชิต งามขจรวิวัฒน์ ชาวจังหวัดปัตตานี ที่เป็นคนร่วมสมัยกับนายแพทย์เจริญ ได้ข้อมูลว่า ใน กรณีที่คนไข้ไม่มีเงินค่ารถเดินทางกลับบ้าน นายแพทย์เจริญ ยังช่วยออกเงินค่าพาหนะให้คนไข้จึงปรากฏว่า เมื่อท่านเสียชีวิตลงเป็นค่ายาจํานวนมหาศาล
นายสงวน ตุลารักษ์ นักการเมือง และผู้นําขบวนการเสรีไทย อดีตเอกอัครราชทูตประจําสาธารณรัฐจีน เขียนถึงความเสียสละของนายแพทย์เจริญว่า สมัยที่ถูกคุมขังในเรือนจําลาดยาวท่านพยายามบําเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยการทําสวนครัว และปลูกกุหลาบไว้ให้เพื่อนผู้ต้องขังได้ใช้ประโยชน์
ปัจจุบันชาวจังหวัดปัตตานี ได้ตั้งชื่อถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า “ถนนเจริญประดิษฐ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์รําลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อจังหวัดปัตตานี ทุกวันนี้ชาวปัตตานี ได้จัดงานรําลึกถึงนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประจําทุกปี ในวันที่ 27 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันถึงแก่มรณกรรมของนายแพทย์ผู้เป็นประธานองค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย
หมายเหตุ
- ข้อมูลและภาพจากเพจนายแพทย์ เจริญ สืบแสง
เอกสารอ้างอิง
- จ่อย ใบลาน, แนะนําบุคคล: ขุนเจริญวรเวช (เจริญ สืบแสง) รูสมิแล 10 (ก.ย.-ธ.ค.29) : 30-35.
- สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย (กรุงเทพฯ : โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาองค์การลูกจ้าง สมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบรค (ประเทศไทย), 2529)