ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์ และ หะยีสุหลง กับ สถานการณ์ความไม่สงบและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

13
สิงหาคม
2566

Focus

  • ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในพื้นที่ส่วนใดของรัฐ อาจมิได้เกิดขึ้นเองโดยความประสงค์ของประชาชนที่มีเชื้อสายและหรือศาสนาเดียวกันเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐที่ปกครองดินแดนแห่งนั้นว่าเป็นเช่นไรด้วย ดังที่มีปรากฎการณ์จากความประสงค์ของการจัดการตนเองและความพยายามแบ่งแยกดินแดน และการโต้ตอบด้วยการใช้อำนาจรัฐเพื่อจัดการกับผู้นำประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ในอดีต
  • แม้ว่าในสมัย รัชกาลี่ 5 และ 6 ผู้นำชาวมุสลิมในบางจังหวัดชายแดนใต้จะแสดงออกถึงความต้องการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย จนทางรัฐบาลต้องส่งกำลังไปปราบปรามก็ตาม แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎร โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นกำลังสำคัญ ได้ปรับแนวนโยบายรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาวมุสลิม โดยให้โอกาสการดำรงเอกลักษณ์ของตนในการอยู่ภายใต้รัฐบาลไทย
  • การหายสาบสูญของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา พร้อมบุตรชาย และผู้ติดตามรวม 4 คน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 เกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่ใช้อำนาจปกครองแบบเผด็จการ โดยละเลยการรักษาเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งๆที่หะยีสุหลงมิใช่กบฎแบ่งแยกดินแดน เขาเพียงแต่เรียกร้องต้องการให้ชาวมุสลิมสามารถจัดการตนเองได้มากขึ้นโดยอิงหลักศาสนาอิสลามอย่างสันติวิธีและตามหลักการประชาธิปไตย

 

 

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกขานติดปากกันว่า “หะยีสุหลง” ครูสอนศาสนาคนสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย พร้อม อาห์หมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโต และคนสนิทรวม 4 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มตัวไปสังหารโหดในบังกะโล ก่อนอำพรางศพด้วยการนำร่างไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ถ่วงลงทะเลสงขลา

พ.ศ. 2566 นี้ ครบรอบ 69 ปีที่พวกเขาทั้งหมดถูกบังคับให้สูญหาย ควรเหลือเกินที่เราจะต้องหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวซึ่งรัฐไทยได้กระทำต่อประชาชนอย่างเลวร้ายที่สุด โดยหมายใจจะเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ ด้วย

 

หะยีสุหลง เป็นใครกัน?

ชายมุสลิมผู้นี้เกิดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปลายทศวรรษ 2430 (ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) ในครอบครัวของครูสอนศาสนาแห่งกำปงอาเนาะรู ปัตตานี ซึ่งยังเป็นหัวเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาลที่รัฐบาลสยามส่งข้าราชการจากกรุงเทพมหานครมาปกครอง บิดาของเขาคือหะยีอับดุลกอเดร์ ส่วนมารดาของเขาเป็นภรรยาคนแรกสุด เขาเริ่มต้นเรียนหนังสือกับโต๊ะครูแวมูซอประจำปอเนาะละแวกย่านบ้านกรือเซะ ครั้นอายุได้ 12 ปีถูกส่งตัวไปศึกษาทางด้านศาสนาอิสลาม ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ใช้ชีวิตที่นั่นยาวนานถึงสองทศวรรษ บ่มเพาะความรู้จนกลายเป็นครูสอนศาสนาผู้มีชื่อเสียง ก่อนหวนย้อนคืนสู่ปัตตานี มีเรื่องเล่าว่า ตอนแรกเขาตั้งใจมาปัตตานีเพื่อบรรเทาความโศกเศร้าหลังจากภรรยาสูญเสียบุตรคนแรก แล้วจะย้อนกลับไปนครมักกะฮ์ต่อ ท้ายสุดกลายเป็นว่าเขามิได้กลับไปซาอุดิอาระเบียอีก แต่เลือกตั้งหลักแหล่งอยู่ปัตตานี ซึ่งตอนนั้นผู้ปกครองมณฑลคือ พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (หม่อมราชวงศ์ประยูร อิศรศักดิ์)

ต้นทศวรรษ 2470 หะยีสุหลง เล็งเห็นและตระหนักว่าที่บ้านเกิดเมืองนอนของเขา แม้จะเป็นดินแดนแห่งศาสนาอิสลามอันเก่าแก่แห่งคาบสมุทรมลายู แต่ไม่มีโรงเรียนที่สอนให้ชาวบ้านเข้าใจหลักศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง มีเพียงปอเนาะหรือสำนักสอนศาสนาที่นักเรียนไปพักอยู่กับโต๊ะครู ซึ่งอาจจะเป็นกระท่อมเล็กๆ จึงทำให้เขาพยายามรณรงค์เพื่อให้มีการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขึ้นแห่งแรก อาศัยความร่วมมือและการระดมทุนจากชาวมลายูมุสลิมตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกคนร่วมแรงร่วมใจแข็งขันแม้ช่วงเวลานั้นจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง หากงบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ ความเคลื่อนไหวของ หะยีสุหลง ทำให้ พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ ไม่ค่อยสบายใจ เกรงจะเป็นการก่อความไม่สงบ เลยเรียกตัวไปพบ พอเขาอธิบายจุดประสงค์ให้ผู้ปกครองมณฑลฟังก็ได้รับการสนับสนุน ดังบุตรชายคือ เด่น โต๊ะมีนา ส่งเสียงเล่าว่า

 

“พ่อไปมักกะฮ์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ พ.ศ. 2450 เป็นเวลา 20 ปี กลับมาตอนนั้น พ.ศ. 2470 ปัตตานียังปกครองโดยสมุหเทศาภิบาล เป็นมณฑลปัตตานีอยู่ ต้องเท้าความก่อนหน้านั้น คนอื่นเรียนศาสนากลับมาแล้วจะเปิดปอเนาะ แต่หะยีสุหลงกลับมาไม่เปิดปอเนาะ แต่เปิดโรงเรียน คิดค่าจ้างสร้างโรงเรียน 7,200 บาท ได้รับบริจาคจากประชาชนมาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเจ้าเมืองยะหริ่งรับปากว่าจะช่วย คือประมาณ 3,500 บาท แต่พอถึงเวลานั้นกลับตระบัดสัตย์ไม่จ่าย เหตุนี้หะยีสุหลงจำเป็นต้องหาเงินอีกครึ่งที่เหลือ”

         

พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่งนั้น เดิมทีรับปากจะช่วยเหลือเรื่องเงินพร้อมขอให้ตั้งชื่อโรงเรียนด้วยนามของท่านเจ้าคุณ หะยีสุหลง ตกลงด้วยยินดี จากนั้นก็หมั่นหาเงินทุนมาก่อสร้างโรงเรียนจนก่อรูปก่อร่างโดยมีชาวจีนเป็นผู้รับเหมา สั่งให้ช่างทำป้ายชื่อโรงเรียนแกะสลักเป็นภาษามลายูบนแผ่นไม้ว่า “พระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่ง ปัตตานี ฮ.ศ.[1] 1350 (พ.ศ. 2474)”

ทว่าพอติดป้ายไปได้ราว 2 เดือน พระพิพิธภักดี (มุกดา อับดุลบุตร) นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นบุตรชายของ พระยาพิพิธเสนามาตย์ ทำหนังสือร้องเรียนต่อ พระวิเทศปัตตนาทร (แจ้ง สุวรรณจินดา) ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวหาว่าหะยีสุหลง นำนามบิดาของตนไปเป็นชื่อโรงเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาตและขอให้ปลดป้ายออก ทั้งยังจะไม่มอบเงินสมทบอีกครึ่งหนึ่งตามที่ พระยาพิพิธฯ เคยสัญญาไว้ นั่นทำให้ หะยีสุหลง ไม่มีเงินไปจ่ายค่าแรงกรรมกร ต้องนำเครื่องประดับของภรรยาไปขายเพื่อนำเงินบางส่วนไปสร้างโรงเรียน ขณะเดียวกันเขาหาเงินบริจาคจากราษฎรเพิ่มเติม คราวนี้จะตั้งชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “มัดราเซาะห์ อัลมูอาริฟ อัลวาฏอนียะฮ์ ปัตตานี”

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรก้าวขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ หะยีสุหลง พยายามติดต่อกับรัฐบาลใหม่เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องการสร้างโรงเรียนสอนศาสนา

 

“เมื่อประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี หะยีสุหลงก็เดินทางไปหานายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ขอให้ท่านบริจาคเงิน ท่านนายกก็ควักเงินให้ 3,200 บาท หะยีสุหลงก็กลับมาสร้างโรงเรียนจนเสร็จ พอเสร็จท่านแรกที่มาเยี่ยมก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงนั้น ก็เดินทางไปเยี่ยมและมีรูปถ่าย”

 

ตามปากคำข้างต้นของบุตรชายสะท้อนให้เห็นว่า หะยีสุหลง มีความคาดหวังกับรัฐบาลแห่งระบอบประชาธิปไตยยิ่งนัก และดูเหมือนคณะราษฎรก็แสดงการตอบกลับที่ดี โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี ภาพถ่ายที่ นายปรีดี ไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามของหะยีสุหลงเมื่อปี พ.ศ. 2478 ย่อมเป็นหลักฐานชัดเจน

 

 

ช่วงทศวรรษ 2480 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนี้ออกนโยบายรัฐนิยม (อันมีทั้งสิ้น 12 ฉบับ) ซึ่งส่งเสริมความเป็นชาติไทย แต่กลับมีรายละเอียดต่างๆ ที่ไปกีดกันวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะรัฐนิยมฉบับที่ 3 ที่กำหนดให้เรียกชื่อชาวไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว ชาวมุสลิมจึงกลายเป็นชาวไทยด้วย รัฐนิยมฉบับที่ 9 ที่กำหนดให้พลเมืองต้องรู้ภาษาไทย และรัฐนิยมฉบับที่ 10 ที่กำหนดให้ชาวไทยต้องแต่งกายตามแบบที่รัฐบาลวางรูปแบบไว้ ยิ่งชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้ถูกอำนาจรัฐเข้ามากดขี่ข่มเหง มีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนมาแต่งกายแบบตะวันตกมิเว้นกระทั่งผู้นำทางศาสนา ห้ามนุ่งโสร่ง ห้ามสวมผ้าคลุมหรือผ้าโพกศีรษะ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม

มิเพียงแค่นั้น ยังเกิดปรากฏการณ์ใช้ความรุนแรงต่างๆ นานาเช่นซ้อมทำร้ายร่างกาย ทุบตีด้วยพานท้ายปืน หรือเมื่อพบเห็นใครสวมผ้าคลุมศีรษะ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดึงออก ถือเป็นการเหยียบย่ำหยาบหยามน้ำใจอย่างมาก พอชาวมุสลิมตอบสนองนโยบายเชิงวัฒนธรรมของรัฐบาลน้อย ข้าราชการในพื้นที่ก็เน้นการบังคับและลงโทษ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง ท้ายที่สุดจึงส่งผลให้ชาวมุสลิมรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมโดยเชิญให้ หะยีสุหลง มาเป็นแกนนำ ทว่าแทนที่ทางรัฐบาลไทยจะประนีประนอม กลับใช้กำลังกดปราบกำราบเนืองๆ ทั้งในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. ยังออกคำสั่งให้ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกสมทบเข้าอีก โดยให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แทน จึงเหมือนเป็นการยิ่งสุมฟืนของความขัดแย้งให้ขยายลุกลาม

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองไทยปิดฉากลงเมื่อกลางปี พ.ศ. 2488 และ จอมพล ป. หมดสิ้นอำนาจไปแล้ว พอปี พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจความขัดแย้งและเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายปรีดี สนับสนุนการแต่งตั้ง นายแช่ม พรหมยงค์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี เพราะก่อนหน้านั้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จุฬาราชมนตรีล้วนเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ รัฐบาลพลเรือนของ นายปรีดี ผลักดันให้มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติหลายฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม ทั้งยังประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นผู้นำท้องถิ่นที่สามารถเจรจากันได้ แน่นอนว่า บุคคลในพื้นที่ซึ่งจะต้องมาทำงานประสานร่วมมือกับ นายแช่ม คงมิแคล้ว หะยีสุหลง ในฐานะประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีผู้ทรงภูมิความรู้และเป็นที่ยอมรับนับถือของชาวมุสลิมทั้งหลาย

หะยีสุหลง มีบทบาทในการยกร่างหนังสือว่าด้วยความต้องการและบันทึกการร้องเรียนของชาวมุสลิมในพื้นที่ ทั้งยังนำเสนอหนทางช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างบริสุทธิ์ใจส่งผ่าน นายแช่ม ไปยัง นายปรีดี แต่ในแฟ้มบันทึกของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐกลับบิดเบือนข้อเท็จจริงพร้อมกล่าวหาว่า หะยีสุหลง ได้วางแผนการแบ่งแยกดินแดนเฉกเช่นเดียวกับบุตรชายของ ตนกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดิน เจ้าเมืองปัตตานีคนสุดท้ายผู้ลี้ภัยไปพำนักในรัฐกลันตัน นั่นคือ ตนกูมะไฮยิดดิน ซึ่งกำลังเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพของปัตตานี

ความปรารถนาแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ นายปรีดี ยังมิทันสำเร็จ ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเกิดเหตุการณ์กรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งต่อมา พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน ส่งผลให้ นายปรีดี ต้องลี้ภัยทางการเมืองไประหกระเหินในต่างประเทศ และต่อมารัฐบาลพลเรือนของ นายควง อภัยวงศ์ ที่บริหารประเทศจากการมอบหมายของคณะรัฐประหารก็ได้ประกาศปลด นายแช่ม ออกจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งต่อมา นายแช่ม ก็เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ นายควง ยังกำหนดให้ พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐมนตรีผู้นี้มีนโยบายที่จะกำจัดตัวการเคลื่อนไหวในพื้นที่ กลุ่มของ หะยีสุหลง จึงถูกเพ่งเล็งจับตามองจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในสมัยรัฐบาลพลเรือนของ นายปรีดี และ พลเรือตรีถวัลย์ ได้ผ่อนปรนให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถใช้กฎหมายอิสลาม โดยฟื้นฟูให้มีการเลือกตั้งดะโต๊ะยุติธรรม ผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายชารีอะห์ขึ้นใหม่หลังจากเคยยกเลิกตำแหน่งนี้ไปในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่ง หะยีสุหลง ปรารถนาจะดำรงตำแหน่งนี้ นายแช่ม จุฬาราชมนตรีเองก็สนับสนุนเขา แต่พอสมัยรัฐบาลภายหลังการรัฐประหาร ได้มีความพยายามจะเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม ส่งผลให้ หะยีสุหลง ถูกคัดค้านว่าขาดคุณสมบัติ เพราะไม่สามารถเขียนภาษาไทยได้ จนนำไปสู่การรวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของชาวมุสลิมมลายู โดย หะยีสุหลง เป็นแกนนำในการคัดค้านเรื่องนี้และเรียกร้องให้แยกศาลศาสนา รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 7 ข้อซึ่งเป็นมติจากการประชุมร่วมกันของชาวมุสลิม อันได้แก่

  1. ขอทางรัฐบาลไทยจัดให้มีบุคคลผู้มีอำนาจเต็มในการปกครองพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับเลือกจากประชาชนในพื้นที่ เพราะน่าจะเข้าใจคนท้องถิ่นมากกว่าข้าราชการที่รัฐไทยส่งมาปกครอง
  2. ภาษีรายได้ต่างๆ ของพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ใช้บำรุงเฉพาะท้องที่นี้เท่านั้น
  3. รัฐบาลไทยจะต้องจัดให้มีการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนประชาบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
  4. ข้าราชการในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะต้องเป็นชาวมุสลิมโดยส่วนมากถึง 80%
  5. รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดให้ใช้ภาษามลายูในสถานที่ราชการร่วมกับภาษาไทยได้ด้วย
  6. รัฐบาลไทยต้องให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและขนบประเพณีได้ด้วย
  7. รัฐบาลไทยจะต้องแยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด ให้ศาลศาสนามีอำนาจในการพิจารณาคดี

ข้อเรียกร้องทั้ง 7 นี้ ก่อนที่จะยื่นเสนอนั้น หะยีสุหลง ได้ไปปรึกษากับ พระยารัตนภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ท่านเจ้าคุณบอกว่าสามารถยื่นได้ ไม่เป็นความผิด แต่ต่อมาผลของการเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับทำให้เขาถูกจับกุมเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยตำรวจได้รับคำสั่งจาก พระยารัตนภักดี นั่นเพราะท่านเจ้าคุณผูกใจเจ็บที่เคยขอให้ หะยีสุหลง ช่วยสนับสนุนตนให้เป็นผู้แทนราษฎร แต่เขากลับไปสนับสนุน นายแพทย์เจริญ สืบแสง ผู้เป็นเพื่อนสนิทแทน

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีโอกาสกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหน คราวนี้ครองอำนาจเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารเต็มที่ อีกทั้งใช้มาตรการปกครองชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเข้มงวด แต่ก็ยอมผ่อนปรนลง ทั้งยังแต่งตั้ง นายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูลให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นับเป็นรัฐมนตรีที่เป็นชาวมุสลิมมลายูคนแรกสุด แต่การที่ หะยีสุหลง ถูกควบคุมตัวในคุกก็ยังสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิมมลายูทั้งหลาย สถานการณ์ตึงเครียดจนกระทั่งช่วงวันอาทิตย์ที่ 25 ถึงวันพุธที่ 28 เดือนเมษายน ปีเดียวกัน ได้มีเหตุจลาจลปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาวมุสลิมที่ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ภายหลังการปราบปราม รัฐบาลเรียกชาวมุสลิมที่มาเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า “กบฏดุซงญอ”

หลังจาก หะยีสุหลง ถูกส่งฟ้องต่อศาลด้วยข้อหากบฏก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน และมีการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน เขาจึงถูกพิพากษาลงโทษให้จำคุก 4 ปี 8 เดือน เด่น โต๊ะมีนา เล่าว่า

 

“หะยีสุหลงถูกจับปี พ.ศ. 2491 ผมกำลังจบชั้น ป.4 อายุประมาณ 13 ขวบ พ่อถูกส่งไปพิจารณาคดีที่ศาลนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นคุณแม่ย้ายครอบครัวไปเช่าบ้าน แต่พี่น้องประชาชนอิสลามให้อยู่ฟรีไม่เก็บค่าเช่า เราก็ทุ่นค่าใช้จ่ายตรงนั้น ต้องใช้ทนายตั้งห้าหกคน ทรัพย์สินหะยีสุหลงมีเท่าไหร่ขายหมดไม่เหลือเลยเพื่อต่อสู้คดีนี้

เราไปอยู่ที่นั่นเพื่อหุงหาอาหารส่งไปในเรือนจำ ผมนั่งรถเกือบทุกวันไปส่งอาหาร สุดท้ายศาลตัดสินจำคุกคนละ 3 ปี แต่ไม่ใช่ข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้ตัดสินตามประมวลกฎหมายอาญาปัจจุบัน ตอนนั้นใช้กฎหมายลักษณะอาญาเดิม ลักษณะ ร.ศ. 157 ตอนนั้น พ.ศ. 2451 กฎหมายฉบับนี้มาตรา 104 บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาทรัฐบาลถือว่ากบฏ หะยีสุหลงถูกตัดสินข้อหากบฏโดยตัวหนังสือ ไม่ใช่กบฏโดยอาวุธ”

 

แม้จะเป็นกบฏโดยตัวหนังสือ แต่ก็โดนรัฐเล่นงานมิใช่เบาเลย

 

“ตอนนั้นที่หะยีสุหลงโดนข้อหากบฏ ไม่ใช่ว่าเป็นกบฏธรรมดา แต่เป็นกบฏโดยหนังสือหมิ่นประมาทรัฐบาล เพราะโจทก์จ้างฟ้องข้อหาแบ่งแยกดินแดน โทษคือประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลชั้นต้นไม่เชื่อ ไม่มีหลักฐานอะไรเลยที่แสดงว่าหะยีสุหลงคิดกบฏต่อราชอาณาจักรไทย เป็นคดีหมิ่นประมาทอย่างเดียว ไปเจอศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นแต่โทษอาจจะหนักกว่านั้น เพราะว่าในมาตรา 104 โทษหมิ่นประมาทไม่เกิน 7 ปี แต่ว่าศาลนครศรีธรรมราช ศาลชั้นต้นนั้นตัดสิน 3 ปี พอถึงศาลอุทธรณ์เพิ่มเฉพาะหะยีสุหลงคนเดียว 7 ปีเต็ม แต่ลดเหลือ 4 ปี 8 เดือน

หะยีสุหลงคนเดียวถูกส่งไปอยู่บางขวาง ตอนนั้น หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีสนิทกับหะยีสุหลง เลยช่วยหะยีสุหลงให้รัฐบาลปล่อยตัวก่อนครบกำหนด 3-4 เดือน กลับบ้านมาประชาชนขอร้องให้สอนหนังสือ สอนสักพักหนึ่ง พระยารัตนภักดี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ตอนนั้นเป็นผู้ว่าราชการภาคสงขลาก็มีคำสั่งให้หะยีสุหลงหยุดสอน ไม่ให้สอนศาสนา เพราะไม่อยากให้ประชาชนไปชุมนุมหรือไปฟังสอนหนังสือ หะยีสุหลงร้องเรียนไปยังสำนักงานกระทรวงมหาดไทย มีทั้งจดหมาย มีทั้งโทรเลข ขอร้องให้ยกเลิกคำสั่งห้ามสอนหนังสือ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ก็ตอบมาบอกว่าตอนนี้แกราชการยุ่ง ขอรอสักพักหนึ่งให้หยุดไว้ก่อน ถ้าอย่างไรแกจะพิจารณาเรื่องนี้”

 

ระหว่างที่ หะยีสุหลง ติดคุก ครอบครัวของครูสอนศาสนาผู้นี้ตกระกำลำบากยิ่งยวด แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือเจือจุนจากชาวมุสลิมที่เลื่อมใสศรัทธา

 

“ในตอนที่คุณพ่อโดนจับครั้งแรก ตอนนั้นลำบากมาก ผมต้องตื่นตีสี่ทุกวันช่วยคุณแม่ทำขนมเข่งขาย เป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุด ชาวบ้านคนอิสลามเขาช่วยเรี่ยไรเงินตามตำบลต่างๆ มาให้ทุกๆ เดือน เป็นค่าอาหารที่ต้องทำเพื่อไปส่งให้คุณพ่อที่เรือนจำ จนป่านนี้ผมเป็นหนี้บุญคุณชาวนครศรีธรรมราช ผมเรียกตัวเองว่า “ขอทานบรรดาศักดิ์” เพราะตอนนั้นเหมือนผมไปขอทานเขาจริงๆ คนนครศรีธรรมราชต้องพาแม่กับผมไปหมู่บ้านนั้น ไปตำบลนี้ บางทีนั่งเรือไปไกลๆ ไปถึงเหมือนขอทาน พอถึงบ้านหัวหน้าหมู่บ้านที่นั่น เข้าไปก็เอาผ้าสะบัดกางมาผืนหนึ่ง ชาวบ้านมาเรี่ยไรให้สิบบาทยี่สิบบาท ก็ขอทานนั่นแหละ ผมก็เลยเขียนบทความลงในนิตยสารแพรวว่าเป็น “ขอทานบรรดาศักดิ์” ไม่อย่างนั้นมันอยู่ไม่ได้ ก็ต้องให้ชาวบ้านช่วย

ชาวบ้านส่วนใหญ่เขารู้ว่าเรากำลังเจอกับอะไร ตอนนั้นผมจบแค่ ป.4 อยากจะสอบ ม.3 ก็ต้องจ้างครูเดือนละ 500 บาท เราไม่มีเงิน ก็มีชาวบ้านมาหาผมบอกว่าช่วยสอนภาษามาเลย์ได้ไหม เขาเลยส่งลูกหลานมาให้ผมสอนตอนเช้าชั่วโมงหนึ่ง เย็นชั่วโมงหนึ่งก็ได้คนละ 10 บาท เดือนหนึ่งเพิ่งได้ 300 บาท แล้วผมก็ใช้เงินที่ได้นั่นจ้างครูมาสอนหนังสือจนผมเรียนจบชั้นม.3 ต้องบอกอีกครั้งว่า เป็นช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุดเลย”

 

จวบจนปี พ.ศ. 2497 หลังพ้นโทษได้รับอิสรภาพแล้ว ครูสอนศาสนานักสู้เดินทางกลับมายังจังหวัดปัตตานี โดยมิได้คาดนึกว่าในปีเดียวกันนี้ตนจะถูกทำให้กลายเป็นบุคคลผู้หายสาบสูญ

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 หะยีสุหลง พร้อมด้วยบุตรชายคนโต และคนสนิทรวม 4 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอุ้มตัวไปสังหารอย่างโหดเหี้ยมในบังกะโล ก่อนอำพรางศพด้วยการนำร่างไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ถ่วงลงทะเลสงขลา แม้ตอนแรกจะไม่มีใครรับทราบเลยว่าพวกเขาทุกคนหายไปไหนกัน

 

เด่น โต๊ะมีนา แจกแจงว่า

ช่วงนั้นผมเรียนอยู่มาเลเซีย คุณแม่ให้คนไปตามเพื่อกลับมาอยู่บ้าน วันที่ 13 สิงหาคม 2497 วันที่คุณพ่อลงจากบ้านไป ผมอยู่ที่บ้านวันนั้นด้วย เพราะโรงเรียนปิดเทอม พ่อบอกว่า “พ่อจะไปหาตำรวจ ตำรวจเรียกพ่อไปสงขลา” ผมออกไปส่งพ่อกับพี่ชายที่หน้าบ้านตอนหกโมงเช้า มีรถแท็กซี่มารับไป”

 

เป็นเวลานานโขที่บิดาและพี่ชายไม่กลับมาบ้านอีกเลย ทางครอบครัวจึงรู้สึกว่าคงจะต้องทำอะไรสักอย่าง

 

“ช่วงนั้นคุณแม่ให้ผมพาไปพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผ่านการติดต่อของ หลวงสุนาวินวิวัฒน์ ผมกับคุณแม่ไปที่บ้านจอมพล ป. แถวชิดลม เมื่อไปถึงจอมพล ป. ออกมาพอดี บอกว่ากำลังจะไปประชุมครม. ให้คุยกับเมียผมก็แล้วกัน ก็บอกคร่าวๆ ว่าคุณแม่มาหาท่านนายกฯ เรื่องหะยีสุหลงหาย ท่านไปสักครู่คุณหญิงละเอียดก็เข้ามา คุณแม่ก็พูดให้ผมแปลให้ฟัง พอท่านผู้หญิงฟังจบก็บอกว่า “ไม่ต้องหาแล้ว คงตายแล้วแหละ คุณเผ่าฆ่าคนตายเยอะจริงๆ” เมียนายกพูดอย่างนี้เลย ก็ไม่ต้องไปหาหรอก

ท่านผู้หญิงละเอียดถามถึงเรื่องเรียนของผม ผมตอบท่านไปว่าไม่ได้เรียน เพราะไม่มีเงิน จบแค่ชั้นม.3 น้องๆ ที่บ้านก็ไม่ได้เรียนเหมือนกัน เพราะพวกเราไม่มีเงิน ท่านผู้หญิงละเอียดจึงบอกให้ผมเรียนที่กรุงเทพฯ ท่านจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ ส่วนน้องๆ ที่อยู่ที่บ้าน ท่านจะส่งเสียให้ปีละ 5,000 บาท

“ให้เธอเรียนสูงๆ นะ คนจะได้ทำอะไรเธอไม่ได้” ท่านผู้หญิงละเอียดว่าอย่างนั้น

ผมบอกท่านว่าขอกลับไปปรึกษาครอบครัวก่อน เดี๋ยวจะโดนหาว่า เขาฆ่าพ่อแล้วให้เราเรียนหนังสือ เดี๋ยวคนไม่ชอบ ผมก็ถามทุกคนยอมให้ไปเรียน….”

 

กว่าจะได้สอบสวนสืบคดีการหายตัวไปของ หะยีสุหลง พร้อมบุตรชายคนโตและคนสนิท กาลเวลาก็ล่วงผ่านจวบจนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามหมดสิ้นอำนาจด้วยการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่อง หะยีสุหลง โดยแต่งตั้งให้ พลตำรวจจัตวาฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน มีคณะกรรมการทั้งหมด 5 คน หนึ่งในนั้นมี นายอรุณ พงษ์ประเสริฐ ปลัดอำเภอและน้องชายของหะยีสุหลงร่วมเป็นกรรมการด้วย ความจริงจึงเปิดเผยกระจ่างดังเสียงเล่าของนายเด่น โต๊ะมีนา

 

“จากกรรมการสืบสวน สืบมาว่าหะยีสุหลงตายวันนั้น คือวันที่พันตำรวจบุญเลิศ เลิศปรีชา เรียกพ่อจากปัตตานีไปสำนักงานสันติบาลที่สงขลา พี่ชายคนโตของผมไปเป็นล่าม สอบสวนเสร็จก็ให้เซ็นชื่อ ทุกคนก็ดีใจนึกว่าจะกลับบ้านได้ พอเดินไปข้างนอกเพชฌฆาตรออยู่ข้างหน้าแล้ว ตำรวจกลุ่มใหญ่รออยู่และลากตัวไปขึ้นบังกะโลที่ริมหาดสงขลา เอาขึ้นไปฆ่าบนนั้นด้วยวิธีรัดคอ รัดคอตายทีละคนๆ เมื่อฆ่าเสร็จแล้วปัญหาคือว่าจะเอาศพไปไว้ที่ไหนก็คือต้องทำลายศพ เลยคิดว่าต้องถ่วงทะเล ถ้าถ่วงเดี๋ยวลอยเลยต้องผ่าศพก่อนจึงเอาเสาซีเมนต์มามัด มัดเสร็จจ้างเรือประมงให้ทิ้งที่เกาะหนู เกาะแมว กรรมการเลยให้ตำรวจน้ำลงไปงมศพ

ถ่วงน้ำวันที่ 13 สิงหาคม 2497 จอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ผ่านมา 4 ปีแล้วจะงมหาอะไร ตำรวจน้ำเขารู้ เขาบอกไม่ได้งมหาศพหรอกแต่งมหาเสาที่มัดเผื่อจะเจอ”

         

เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มที่สังหารล้วนเป็นทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาและได้รับสั่งฆ่ามาจาก พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

ขณะเกิดเหตุการณ์ หะยีสุหลง พร้อมบุตรชายคนโตและคนสนิทถูกอุ้มฆ่านั้น นายปรีดี กำลังลี้ภัยในต่างประเทศ พำนักอยู่ประเทศจีน ผมคาดว่า นายปรีดี คงมิได้ล่วงรู้ข่าวทันทีเลย แต่น่าจะมาทราบภายหลัง หรือบางทีอาจจะเป็นตอนที่มีการสอบสวนสืบคดีจนนำเสนอข่าวแล้วสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ แต่ นายปรีดี เคยได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ผ่านข้อเขียนของเขาในทศวรรษ 2510 ชื่อ ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย” ดังมีความตอนหนึ่งว่า “แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย...”

แม้จะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานหลายสิบปี นายปรีดี ยังคงสนใจเรื่องราวของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รวมทั้งมักเสนอแนวทางการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น เฉกเช่นในปี พ.ศ. 2514 ขณะพำนักอยู่ประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ เครื่องยืนยันคืองานเขียนเรื่อง ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย” นั่นแหละ ซึ่งนอกเหนือจากการกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกทั้งทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาแล้ว ก็อธิบายถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนด้วย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

“ในประเทศไทยเรานั้น ข่าวสารทางราชการที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำลงเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอาวุธในประเทศไทยนั้น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่ปรากฏว่าต้องการแยกดินแดนไทย และมีฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดนไทยออกเป็นอีกรัฐหนึ่ง เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ ทางราชการแถลงแจ้งความว่ามีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบเชื้อสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆ แห่งมลายูตะวันออก

ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทยปี ค.ศ. ๑๙๔๗ (๘ พ.ย. ๒๔๙๐) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอิสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริงจึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเวลา ๑๕๐ ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุแห่งเวียงจันทร์ซึ่งสืบสายจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตนาคณหุตได้ทำการยึดดินแดนอิสาน เพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาว ฟื้นอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตขึ้นมาอีก

ในรัชกาลที่ ๕ ก็มีกรณี “ผีบุญผีบ้า” ในภาคอิสาน กรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่พิษณุโลก แต่เมื่อได้โปรดเกล้าให้กลับไปปัตตานี แล้วก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาทนั้น ตวนกู โมหะ ยิดดินนั้น ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดียของอังกฤษ....”

         

เกี่ยวกับกรณีของ “อับดุลกาเด” และ “ตวนกู โมหะ ยิดดิน” ซึ่ง นายปรีดี พาดพิงถึงนั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ผมกล่าวไปแล้วว่า ช่วงปลายทศวรรษ 2480 และต้นทศวรรษ 2490 ในแฟ้มบันทึกของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐได้พยายามโยงให้ หะยีสุหลง เข้าไปพัวพันแผนการแบ่งแยกดินแดนของ ตนกูมะไฮยิดดิน บุตรชายของ ตนกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดิน แม้จะมีข้อมูลหลักฐานระบุว่า ตนกูมะไฮยิดดิน สนับสนุนความเคลื่อนไหวในปัตตานีของ หะยีสุหลง และทั้งสองเคยติดต่อสื่อสารกัน แต่นั่นมิอาจยัดเยียดข้อกล่าวหาว่า หะยีสุหลง ต้องการแบ่งแยกดินแดนมิใช่หรือ

ควรเล่าด้วยว่า ตนกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดิน หรือ พระยาพิชิตภักดี อดีตเจ้าเมืองปัตตานี ได้แสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจของสยามซึ่งปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถูกถอดยศและจับกุมตัวไปควบคุมไว้ที่พิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2445 ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ตนกูอับดุลกอเดร์ พยายามก่อความกระด้างกระเดื่องอีกหน แล้วหลบหนีรัฐบาลสยามเข้าไปพำนักอยู่รัฐกลันตันซึ่งขณะนั้นปกครองโดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของ ตนกูอับดุลกอเดร์ จนทางรัฐบาลสยามสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต้องส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบปรามนั้น แม้กระทั่งในหนังสืออ่านเล่นบันเทิงคดียังนำมาถ่ายทอดอย่างสนุกสนาน เฉกเช่นเรื่อง เลือดเสือป่า ผลงานของ ล.ร. ซึ่ง อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ เคยศึกษาวิเคราะห์ไว้ว่าเป็นงานเขียนสะท้อนบรรยากาศและสร้างภาพลักษณ์ความน่ากลัวของชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในสายตาของชาวสยาม

ตนกูมะไฮยิดดิน บุตรชายคนสุดท้องของ ตนกูอับดุลกอเดร์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปีนัง เข้ารับราชการประจำแผนกศึกษาธิการในรัฐกลันตัน (บางข้อมูลระบุว่า ช่วงทศวรรษ 2450 ตนกูมะไฮยิดดิน เคยได้รับการอุปถัมภ์จากในหลวงรัชกาลที่ 6 ให้เข้าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในฐานะมหาดเล็กหลวง) พอทราบว่าผู้เป็นบิดาตัดสินใจลี้ภัยมาอยู่กลันตัน ก็ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทย ก่อนจะกลับเข้ามาบ้างในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตนกูมะไฮยิดดิน สมัครเข้าเป็นทหารช่วยเหลือกองทัพอังกฤษ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดครองดินแดนมลายูได้ จึงติดตามกองทัพอังกฤษไปอยู่อินเดีย ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้าส่วนมลายาในกรมประชาสัมพันธ์ของวิทยุใต้ดินอังกฤษที่กรุงนิวเดลี เรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านญี่ปุ่น ครั้น ตนกูอับดุลกอเดร์ ถึงแก่มรณกรรม ตนกูมะไฮยิดดิน สวมบทบาทนักต่อสู้เรียกร้องเอกราชของปัตตานี รับเงินทุนก้อนใหญ่จากอังกฤษเพื่อนำไปอุปการะชาวมุสลิมไทยราว 3,000 คนผู้ตกค้างอยู่ในนครมักกะฮ์และไม่สามารถติดต่อทางบ้าน ชาวมุสลิมเหล่านี้เมื่อสงครามโลกสงบลง ได้มาเป็นครูสอนศาสนาประจำปอเนาะต่างๆ ในปัตตานี กลายเป็นแนวร่วมขบวนการเรียกร้องอิสรภาพของ ตนกูมะไฮยิดดิน ซึ่งกลับมาอยู่รัฐกลันตันและวางแผนแบ่งแยกดินแดนจังหวัดภาคใต้ออกจากรัฐไทย

บุคคลที่ ตนกูมะไฮยิดดิน ปรารถนาจะดึงตัวมาเป็นแนวร่วมแบ่งแยกดินแดนมากที่สุดย่อมมิพ้น หะยีสุหลง

ข้อเขียนของ นายปรีดี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ ตนกูมะไฮยิดดิน อีกว่า

 

“เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลฮีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง เลี้ยงเป็นเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า “Long Live King of Pattani” ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนกูผู้นี้ก็แสดงภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไป โดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน

แม้ว่ารัฐบาลของตวนกูอับดุลราห์มันและอับดุลราซักแห่งมาเลเซีย จะได้แถลงว่าไม่ต้องการเอาดินแดนไทย มีชนเชื้อชาติมลายูเป็นส่วนมาก ไปรวมกับมาเลเซียซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่า ท่านทั้งสองมีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนั้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตสำหรับทายาทแห่งอดีตราชาบางคนได้ไปอาศัยอยู่ในรัฐตะวันออกแห่งมาเลเซีย บางคนอยู่อย่างสงบแต่บางคนเคลื่อนไหว โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าสุลต่านหรือราชาแห่งรัฐต่างๆ ที่เคยรวมอยู่กับไทยในอดีต เช่น เคดาห์ (ไทรบุรี) ปลิส กลันตัน ตรังกานู นั้นได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ละ ๕ ปีมาแล้ว ตามระบอบปกครองของสหพันธรัฐมาเลเซีย”

 

นายปรีดี มีทัศนะอย่างเข้าอกเข้าใจว่า “การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่ายๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกันหรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง” ดังนั้น สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะบรรเทาลงได้ก็ด้วยการสร้างสันติภาพ หาใช่วิธีการใช้อำนาจและความรุนแรงเข้าไปกดปราบดังที่เคยใช้กันมา

น่าเสียดายที่ นายปรีดี พนมยงค์ มีอันต้องหมดสิ้นทั้งอำนาจและบทบาทในทางการเมืองของไทยไปในทศวรรษ 2490 เขาจึงไม่มีโอกาสได้ร่วมมือกับ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เพื่อสานต่อภารกิจที่จะปรับแก้และผสมผสานความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาให้ราบรื่นลงตัว จนทั้งชาวไทยและชาวมุสลิมมลายูสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ด้วยมิตรภาพและสันติสุข นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรายังคงมองเห็นปัญหาน่าเศร้าสะเทือนขวัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตราบปัจจุบันนี้

 

เอกสารอ้างอิง

  • ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. ชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2519
  • เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. 2482-2497. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.
  • ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
  • ปรีดี พนมยงค์. “ข้อสังเกตเกี่ยวกับ“เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย”” ใน ปรีดีสาร ทัศนะของรัฐบุรุษอาวุโสต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548. หน้า 5-20.
  • ปิยนาถ บุนนาค. นโยบายการปกครองของรัฐต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546.
  • พรรณงาม เง่าธรรมสาร. “วิกฤติมณฑลปัตตานี 2465: บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6”. จุลสารความมั่นคงศึกษา. ฉบับที่ 41, (มิถุนายน 2551).
  • รัตนภักดี, พระยา. ประวัติเมืองปัตตานี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.,2509
  • ล.ร.. เลือดเสือป่า. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรศรีสวัสดิ์, 2467.
  • ศิริวุฒิ วรรณทอง. ผู้นำชุมชนมุสลิมในจังหวัดปัตตานีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2. วิทยานิพนธ์อักษร ศาสตรมหาบัณฑิต วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.
  • สุรินทร์ พิศสุวรรณ. นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2525.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “เลือดเสือป่า ภาพฉายความชุลมุนที่มณฑลปัตตานีในนิยายเริงรมย์ ปลายทศวรรษ 2460 (ตอน 1)”. รูสมิแล. ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2563). 
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “เลือดเสือป่า ภาพฉายความชุลมุนที่มณฑลปัตตานีในนิยายเริงรมย์ ปลายทศวรรษ 2460 (ตอน 2)”. รูสมิแล. ปีที่ 41 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2563). หน้า 87-92.
  • อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย: กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ: อิสลามมิคอะคาเดมี, 2537.

[1] ฮ.ศ. = ฮิจเราะห์ศักราช