ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ข้อคิดและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

11
ธันวาคม
2567

Focus

  • ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ ธรรมนูญการปกครองที่ร่างขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระนามและให้เป็นฉบับชั่วคราว หลังจากนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงมีการประกาศใช้ฉบับถาวรที่สภาผู้แทนราษฎรได้จัดทำขึ้น
  • ในระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยคณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ 9 คน ที่มีนายปรีดี พนมยงค์ จากคณะราษฎรเพียงคนเดียวร่วมอยู่ด้วยนั้น โดยสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้เปิดเผยแก่สาธารณะได้ไม่ถือเป็นความลับ มีการถกเถียง ต่อรอง และประนีประนอมกัน ในประเด็นสำคัญได้แก่ (1) อำนาจอธิปไตย (2) พระราชอำนาจ (3) การสืบราชสมบัติ (4) การใช้คำเรียกคณะกรรมการราษฎร (5) การกำหนดบทบาททางการเมืองของพระบรมวงศานุวงศ์ และ (6) ข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 


ประชาชนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชพิธีทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญของรัฐบาลคณะราษฎร
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 

ประวัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับ 10 ธันวาคม 2475

ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เพียงสองวันถัดมา ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทางนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรได้ทูลเกล้าถวายธรรมนูญการปกครองแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงรับไว้พิจารณาและได้ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ให้ประกาศใช้บังคับและทรงเติมคำว่าชั่วคราวต่อท้ายเพื่อมีจุดมุ่งหมายให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

กระทั่ง ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการประชุมสภาฯ นัดแรกประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง 70 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการราษฎร และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของสยาม

ต่อมาทางเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีจึงขอให้สมาชิกสภาฯ เลือกอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินจำนวน 7 ราย ได้แก่

  1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการฯ
  2. นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ
  3. พระยาเทพวิฑุร ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  4. พระยามานวราชเสวี ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  5. พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  6. พระยาปรีดานฤเบศร์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ
  7. หลวงสินาดโยธารักษ์ ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฯ

และพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตั้งอนุกรรมการฯ เพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน ได้แก่ พระยาศรีวิสารวาจา และนายพลเรือโทพระยาราชวังสันด้วยเหตุผลว่าจะได้ช่วยกันร่างธรรมนูญการปกครองฯ ให้สำเร็จเร็วยิ่งขึ้น

ในงานศึกษาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ที่ผ่านมามักจะสรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรกำเนิดขึ้นจากการประนีประนอมระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อาจเปิดกว้างให้ผู้อ่านวิเคราะห์ หรือค้นพบมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไปจากงานศึกษาที่ผ่านมาเองได้เพราะการอ่านประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและตัวบทมีความสำคัญด้วยประชาชนคือกลไกหลักที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงและดำรงซึ่งประชาธิปไตย

 

ข้อคิดและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

 


นายปรีดี พนมยงค์ อนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ในทศวรรษ 2475

 

นายปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสอดรับกันว่าควรจะได้ตั้งผู้มีความรู้ความชำนาญเพื่อตรวจแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองฯ ดังนี้

ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉะบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว เพราะว่าเราได้สร้างขึ้นด้วยเวลาฉุกละหุกกระทันหัน อาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึ่งควรที่จะได้ผู้มีความรู้ความชำนาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

คณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองฯ ก็พิจารณายกร่างฯ แล้วเสร็จและเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างธรรมนูญการปกครองฯ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 จนถึงวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จสมบูรณ์ และจารึกลงสมุดไทยแล้ว เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ขณะนั้นจึงนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามฤกษ์ที่กำหนดขึ้นในวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

 


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แต่เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก และเป็นฉบับเดียวที่ใช้คำว่าราชอาณาจักรสยามและไม่ระบุพุทธศักราชไว้ท้ายฉบับ

 

การประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นไปจะพบว่ามีการถกเถียงในประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. เรื่องอำนาจอธิปไตย
  2. เรื่องพระราชอำนาจ
  3. เรื่องการสืบราชสมบัติ
  4. เรื่องการใช้คำเรียกคณะกรรมการราษฎร
  5. เรื่องการกำหนดบทบาททางการเมืองของพระบรมวงศานุวงศ์
  6. เรื่องข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เรื่องพระราชอำนาจได้ระบุไว้ใน 3 มาตรา คือ

  1. มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดย คำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
  2. มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
  3. มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำว่า พระราชอำนาจการบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการโดยพระยามโนฯ ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า “พระราช” ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (Sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (Fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า

นายปรีดีกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารหากมีความสุภาพนุ่มนวลและไม่ขัดกับความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวนเพราะว่าไม่ต้องการให้ชอกช้ำ แต่ที่ประชุมสภาฯ ก็เห็นชอบให้ตัดคำว่า “พระราช” ออกเหลือเพียงคำว่า อำนาจการบริหาร

ส่วนในเรื่องการสืบราชสมบัติ นายปรีดีอธิบายว่าการที่ไม่บัญญัติหรือเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นไม่ได้เป็นการยกเว้นว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณเพราะถือเป็นพระราชประเพณีของการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และพระยามโนฯ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเสริมว่า ตนได้เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทรงมีรับสั่งว่าพระองค์ได้ทรงปฏิญาณเพื่อเสวยราชสมบัติและในช่วงเวลาที่รับเป็นองค์รัชทายาทก็ต้องทรงปฏิญาณเสียก่อน ดังนั้นจึงถือเป็นพระราชประเพณีมาแต่เดิมหากนายจรูญยังยืนยันจะให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนี้ทางพระยามโนฯ จึงขอให้ลงมติในที่ประชุมฯ มีผลออกมาว่าให้ยืนยันตามร่างเดิมด้วยเสียงข้างมากมี 48 คะแนน และเสียงที่ยืนยันให้เติมมีเพียง 7 คะแนน

จากการประชุมเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกทางนายปรีดีได้เสนอให้ พิจารณาในหลักการเสียก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องกลุ่มคำกรรมการราษฎร โดยนายปรีดีเสนอให้นำไปพิจารณาในหมวด 4 คณะกรรมการราษฎร ต่อมาเมื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้งทางนายปรีดีอธิบายว่าคำว่า “กรรมการราษฎร” นั้นเป็นคำธรรมดาสามัญที่เข้าใจง่ายและการที่นายปรีดีขอสงวนการพิจารณาเรื่องถ้อยคำกรรมการราษฎรนี้ในการประชุมสภาฯ เนื่องมาจากการที่พระยามโนฯ แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงทักท้วง และมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าตนจะนำลัทธิบางประเทศมาเผยแผ่ และคำว่า รัฐมนตรีในทัศนะของนายปรีดียังเชื่อมโยงให้ตนนึกถึงรัฐมนตรีสภาฯ ที่ไม่เคยทำงาน และต้องแก้ไขพระราชบัญญัติรัฐมนตรีในกาลที่ผ่านมา

ท้ายที่สุด ในการประชุมสภาฯ พิจารณาเรื่องคำว่า คณะกรรมการราษฎร ครั้งถัดมาก็ได้มีการลงมติเสียงข้างมากจำนวน 28 เสียง ให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” โดยงดออกเสียงมากถึงจำนวน 24 เสียง และเห็นควรใช้คำอื่นจำนวน 7 เสียง สรุปจึงใช้คำว่า รัฐมนตรี แทนกรรมการราษฎร และเปลี่ยนแปลงกลุ่มคำนี้ทั้งชุดโดยให้ใช้คำว่าคณะรัฐมนตรี แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” และให้ใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทนคำว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” นับตั้งแต่นี้ จากการอภิปรายเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐมนตรีในอดีตที่ไม่เหมาะสมของนายปรีดีจึงมีการกำหนดความหมายของคำว่ารัฐมนตรีขึ้นใหม่ว่าหมายถึงข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดินมิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินตามความหมายเก่า

ในการประชุมสภาฯ ทางนายปรีดีจึงมีท่าทีไกล่เกลี่ยโดยกล่าวว่า เคยเสนอต่อประธานคณะกรรมการราษฎรแล้วแต่ได้รับความเห็นว่าไม่ควรทำเพราะจะกระทบกระเทือนพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การขอเวนคืนบรรดาศักดิ์ควรใช้วิธีทางอ้อมโดยการไม่ตั้งบรรดาศักดิ์ใหม่และส่งเสริมให้เห็นว่าบรรดาศักดิ์ไม่สร้างความแตกต่างจากคนสามัญและให้ถือว่าเป็นคำนำหน้าชื่อชนิดหนึ่ง

และเรื่องข้อกำหนดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นั้นนายปรีดีเห็นว่า ข้อเสนอเรื่องการกำหนดสมัยประชุมสมัยสามัญอาจแก้ไขให้มีหลายสมัยได้แล้วแต่สภาผู้แทนราษฎรจะกำหนดและยืดหยุ่นได้ตามภาระงานของสภาฯ ส่วนการขยายเวลาประชุมตามวิธีการต้องให้กรรมการราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและทั้งสภาฯ หรือคณะกรรมการราษฎรอาจเสนอให้ขยายเวลาได้ตามแต่ฝ่ายใดจะเห็นสมควร

ต่อมาใน “สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เรื่อง คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน” เมื่อ พ.ศ. 2525 ไว้ในประการสำคัญโดยเฉพาะทัศนะต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม นายปรีดีได้เสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เรื่องอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองไว้ว่า จากรายชื่ออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คนนั้นมีสมาชิกคณะราษฎรคนเดียวคือนายปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม นามในเวลานั้น ส่วนอีก 8 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สมาชิกคณะราษฎร นายปรีดีจึงชี้แจงไว้ว่า

“...ฉะนั้น การที่ผู้สอนบางคนได้สอนให้สานุศิษย์ของตนหลงเข้าใจว่าการร่างธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”(ฉบับ พ.ศ. 2475) ได้เป็นไปตามความประสงค์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นั้น จึงเป็นการบิดเบือนความจริง คือประการที่หนึ่งในทางปฏิบัตินั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคนเดียวไม่สามารถที่จะบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน ให้ต้องยอมตามความเห็นของหลวงประดิษฐ์ฯ คนเดียวได้ ประการที่สอง พระยามโนปกรณ์ฯ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ก็ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2475 ว่าธรรมนูญฯ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2475” นั้นได้มีการติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (ตลอดเวลา-คำแถลงของพระยามโนปกรณ์ฯ)”

ในเรื่องที่มาของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร  นายปรีดียังอธิบายไว้ในสุนทรพจน์ด้วยว่า

“ท่านที่สอนและท่านที่ศึกษาตัวบทรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ย่อมพบว่า มาตรา 16 อันเป็นบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นบัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น

ทั้งนี้ แสดงว่าบทถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เป็นไปตามระบบประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้ว คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา มิใช่โดยการแต่งตั้ง”

สุดท้ายเรื่องหมวด 7 บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม นายปรีดีเสนอข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นเบื้องหลังของการร่างฯ บทเฉพาะกาลนี้ว่า

“อนึ่ง ก่อนแถลงต่อสภาฯ พระยามโนฯ ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงเห็นชอบด้วยที่ให้มีบทเฉพาะกาลดังกล่าว โดยรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาฯ มาเป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฯ นั้นเป็นการ “เปลี่ยนหลักมูลสำคัญ” ของระบบปกครองแผ่นดิน ฉะนั้นจึงต้องมีเวลาพอสมควรที่ระบบใหม่จะรับช่วงต่อไปโดยเรียบร้อยได้”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามมีจำนวน 68 มาตรา โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้บังคับยาวนานที่สุดคือ 13 ปี 4 เดือน 29 วัน  

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม จำนวน 3 ครั้ง[1]

ครั้งที่ 1  รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482
วันที่ประกาศใช้บังคับ : 6 ตุลาคม พ.ศ. 2482
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นคำว่า “ประเทศไทย” และบทแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นใดซึ่งใช้คำว่า “สยาม” ให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ไทย”

ครั้งที่ 2 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483
วันที่ประกาศใช้บังคับ : 4 ตุลาคม พ.ศ. 2483
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการขยายระยะเวลาให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท จากเวลา 10 ปี เป็น 20 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งประเภทเดียว

ครั้งที่ 3 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2485
วันที่ประกาศใช้บังคับ :  3 ธันวาคม พ.ศ. 2485
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม : มีการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ไม่อาจจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้จึงขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปจำนวน 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2485 และ พ.ศ.  2487

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ภาพประกอบ: สถาบันปรีดี พนมยงค์ พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ราชกิจจานุเบกษา และคลังสารสนเทศบัญญัติ

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 ธันวาคม 2475, เล่ม 49, หน้า 529-551.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 253-277.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34/2475 (สมัยสามัญ) วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 346-368.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 370-395.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 396-449.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 37/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 450-488.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 38/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 489-521.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 39/2475 (สมัยสามัญ) วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 522-543.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 40/2475 (สมัยสามัญ) วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 544-558.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 41/2475 (สมัยสามัญ) วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 559-570.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 42/2475 (สมัยสามัญ) วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 577-585.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 43/2475 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม  พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 586-591.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 44/2475 (สมัยสามัญ) วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 592-621.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ส.ค.ก. 1.1/127 เรื่อง รัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475.

 

หนังสือ :

  • ปรีดี พนมยงค์. แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (พิมพ์ครั้งที่ 2) (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2552)

 


[1] ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์รัฐสภา