ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ

6
กรกฎาคม
2565

“งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่” เป็นกิจกรรมสำคัญที่ถูกจัดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุคสมัยรัฐบาลคณะราษฎรนับตั้งแต่หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงทศวรรษ 2480 ก่อนที่จะซบเซาไปในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490  และร่วงโรยไปนับตั้งแต่ พ.ศ. 2500

หลังการยึดอำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำหรับงานรื่นเริงในระบอบใหม่ที่กล่าวถึงนี้ คือ งานมหกรรมสาธารณะอันเป็นผลผลิตของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 โดยงานมหกรรมสาธารณะต่างๆ ที่ถูกจัดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2475 ล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามที่จะสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่พลเมือง ว่าด้วยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ แนวคิดหลัก 6 ประการ และหลักการชาติในสำนึกใหม่มาเผยแพร่ ผ่านรูปแบบการจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ

 

 

“งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่” เป็นงานที่จัดในพื้นที่สาธารณะโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พลเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมสนุกสนานในงานรื่นเริงเหล่านี้ได้ ตลอดจนทำให้ราษฎรได้มีปฏิสัมพันธ์กับความคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับระบอบใหม่ได้ นับตั้งแต่สาระสำคัญของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องชาติในสำนึกใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ที่หมายถึงประชาชนที่มีประสบการณ์ร่วมกัน โดยผ่านพิธีกรรม งานเฉลิมฉลอง ปาฐกถา และกิจกรรมสนุกสนานต่างๆ ของงานรื่นเริง

นอกจากนี้ งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ยังมีความน่าสนใจ คือ การเปิดพื้นที่ให้พลเมืองจำนวนมากได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานมิได้ถูกผูกขาดโดยรัฐ ประชาชนจำนวนมากหลากหลายอาชีพสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ร่วมบริจาคสิ่งของ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ และร่วมเปิดร้านรวงต่างๆ ดังนั้นการพิจารณางานรื่นเริงของพลเมืองระบอบใหม่จึงสามารถช่วยให้เห็นภาพ การสื่อสารปฏิสัมพันธ์ และการแพร่กระจายของความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบใหม่

ในบทความนี้ จะกล่าวถึงงานรื่นเริงของพลเมืองที่ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในยุคสมัยคณะราษฎร 3 งาน ได้แก่ งานฉลองรัฐธรรมนูญ งานรื่นเริงปีใหม่ และ งานฉลองวันชาติ

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ

 

 

“งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 - 2490 ก่อนที่จะร่วงโรยไปหลังจากเกิดรัฐประหาร 2490 ทว่าหลังจากนั้นงานฉลองรัฐธรรมนูญยังคงมีการขึ้นจัดอยู่เรื่อยๆ จนถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2500

ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกนั้น สัมพันธ์กับพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หลังจบการประกอบพิธีกรรมในช่วงเช้าแล้ว ทางราชการได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองสมโภชนับตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ จากนั้นทางรัฐบาลได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งช่วงปลายทศวรรษ 2470 จนถึงต้นทศวรรษ 2480

งานฉลองรัฐธรรมนูญถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้ช่วงเวลาของการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญคือ วันที่ 9 - 11 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย

งานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในสมัยคณะราษฎรนั้น จุดมุ่งหมายหลัก คือ เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนได้รู้จักและเข้าใจการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ แนวคิดหลัก 6 ประการ และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่าตอนนี้รัฐธรรมนูญได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสูงสุดแทนที่สถาบันกษัตริย์แบบเดิมแล้ว อันเป็นความพยายามของคณะราษฎรในการยกระดับรัฐธรรมนูญเทียบเท่ากับสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ

งานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะมีการจัดแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนของพิธีกรรม กล่าวคือ เป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญที่มีทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีพุทธ ตามด้วยการแสดงปาฐกถาของผู้แทนราษฎรและตัวแทนของหน่วยราชการต่างๆ  ส่วนที่สอง คือ งานเฉลิมฉลอง อันเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนพลเมืองในระบอบใหม่ได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ หลัก 6 ประการ และการแสดงออกถึงแนวคิดเรื่องการปกครองในระบอบใหม่อย่างไรบ้าง ผ่านทางงานรื่นเริงสนุกสนาน

ตัวอย่างเช่นการจัดขบวนแห่ ที่มีการสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับระบอบใหม่ และรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการขายสินค้าของเอกชน การประกวดต่างๆ อาทิ การประกวดพืชผักผลไม้ ประกวดสัตว์เลี้ยง มีการแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ

นอกจากนั้นยังให้หน่วยงานราชการประกาศเผยแพร่ผลงานในรอบ 1 ปี ที่แสดงให้เห็นว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หน่วยงานราชการต่างๆ มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรบ้าง อันสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของระบอบใหม่ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2475

เป็นที่น่าสังเกตว่าตามบูธต่างๆ ได้มีการสอดแทรกสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับระบอบใหม่ไว้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ผ่านการออกแบบตกแต่งร้านรวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ชาตรี ประกิตนนทการ ได้อธิบายไว้ว่า บรรดาร้านรวงจะนำสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบให้ผู้คนที่เข้าชมงานรู้จัก ตื่นเต้น และสร้างความประทับใจให้กับสัญลักษณ์การปกครองระบอบใหม่นี้ ขณะที่การโฆษณาหลัก 6 ประการจะสื่อด้วยการออกแบบองค์ประกอบของร้านรวงด้วยเสา 6 ต้น ธงชาติ 6 ผืน หรือผังร้านเป็นรูป 6 เหลี่ยม[3]

ยุคที่งานฉลองรัฐธรรมนูญรุ่งเรืองเฟื่องฟูและถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง คือ ใน พ.ศ. 2476 ทั้งในแง่ขนาดของพื้นที่จัดงานที่ใช้พื้นที่สวนสราญรมย์ไปถึงบริเวณท้องสนามหลวง และในแง่ของการเผยแพร่แนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับคณะราษฎร อันสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองหลังจากรัฐบาลสามารถปราบกบฏบวรเดชสำเร็จในเดือนตุลาคม งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเสมือนเป็นงานเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายคณะราษฎรเหนือฝ่ายกบฏ รวมถึงสะท้อนบรรยากาศของยุคสมัยที่คณะราษฎรเริ่มมีอำนาจเด่นชัดเหนือฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ

ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2476 ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก “เทอดรัฐธรรมนูญ” อีกด้วย ซึ่งเนื้อหาด้านในมีตั้งแต่คำอธิบายรัฐธรรมนูญ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น บทความ “สละชีพเพื่อชาติ” ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงทหารตำรวจจำนวน 17 นายที่ยอมสละชีพตัวเองเพื่อจะพิทักษ์การปฏิวัติ 2475 ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม 2476 บทกวีเรื่อง “ทหารหาญสดุดี” ของพระราชธรรมนิเทศ รวมถึงมีเรื่องสั้นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ” ที่เป็นเรื่องราวความรักและการอุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญของชายคนหนึ่งที่สละชีพในเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช

 

ปกหนังสือเทอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 และภาพถ่ายขบวนรถในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชปราบกบฏมีข้อความหน้ารถว่า “ปราบอะธรรม” อันสะท้อนบรรยากาศของยุคสมัยหลังคณะราษฎรมีชัยชนะเหนือกบฏบวรเดช
ปกหนังสือเทอดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 และภาพถ่ายขบวนรถในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476
เป็นรูปพระสยามเทวาธิราชปราบกบฏมีข้อความหน้ารถว่า “ปราบอะธรรม”
อันสะท้อนบรรยากาศของยุคสมัยหลังคณะราษฎรมีชัยชนะเหนือกบฏบวรเดช

 

นอกจากนี้ในงานฉลองรัฐธรรมนูญยังมีการจัดงานประกวด “นางสาวสยาม” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเวทีประกวดเป็น “นางสาวไทย” หลังจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทย โดยการประกวดนางสาวสยามอันเป็นผลผลิตของการปฏิวัติ 2475 ที่ต้องการให้นางสาวสยามช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องการปกครองระบอบใหม่ แนวคิดรัฐธรรมนูญ

“การประกวดนางสาวสยาม” ครั้งแรกจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2477 การประกวดในที่นี้ไม่ใช่เรื่องความงามเพียงอย่างเดียว แต่เน้นไปที่การมีสุขพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ โดยสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลสุขภาพในระบอบใหม่ที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับพลเมือง

 

ภาพบรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงปลายทศวรรษ 2470 ที่มา : เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร”
ภาพบรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงปลายทศวรรษ 2470
ที่มา : เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร”

 

ยุครุ่งเรืองของงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกช่วงหนึ่ง คือ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2483 อันเป็นปีเดียวที่มีการเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นอย่างใหญ่กินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณสวนสัตว์เขาดิน ตลอดจนลานพระราชวังดุสิตไปจรดสวนอัมพร มีการสร้างอาคารแบบสมัยใหม่ขนาดใหญ่อยู่บริเวณหน้าทางเข้าลานพระราชวังดุสิต มีฉากหลังเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งในขณะนั้นได้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสื่อสารแนวคิดและอุดมการณ์การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมของงานฉลองรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงปาฐกถาต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ

นอกเหนือจากการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีการจัดงานในต่างจังหวัดนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นการจัดงานเล็กๆ ต่อเนื่องกันมาทุกปี จนกระทั่งถึงปี 2477 งานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดจึงเริ่มจัดอย่างยิ่งใหญ่มากขึ้น เนื่องมาจากทางรัฐบาลได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองส่งไปประดิษฐานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองไปประกอบพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่นับตั้งแต่นั้นมาเช่นเดียวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ

นอกจากนี้เป็นที่น่าสนใจว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดมีความแตกต่างที่สำคัญอย่างเห็นได้ชัดกับงานในกรุงเทพฯ โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ นั้น รัฐจะมีบทบาทสูงมากโดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณในการจัดงานและการระดมทรัพยากร ทว่าในต่างจังหวัดนั้นรัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงบางส่วน ดังนั้นประชาชนในท้องถิ่นจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมทุนเพื่อใช้จัดงานดังกล่าวนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่างานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดนั้นเป็นงานรื่นเริงของประชาชนอย่างแท้จริง

 

แผนผังงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483 บริเวณลานพระราชวังดุสิต เขาดินวนา และสวนอัมพร โดยมีซุ้มประตูแบบทันสมัยบริเวณทางเข้างานมีข้อความว่า “รัฐธรรมนูญจงถาวร”
แผนผังงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483 บริเวณลานพระราชวังดุสิต เขาดินวนา และสวนอัมพร
โดยมีซุ้มประตูแบบทันสมัยบริเวณทางเข้างานมีข้อความว่า “รัฐธรรมนูญจงถาวร”

 

ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่บรรดาคหบดี ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนร่วมใจกันในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญให้มีความยิ่งใหญ่ และจัดให้มีกิจกรรมคล้ายคลึงกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของพิธีกรรม โดยนำรัฐธรรมนูญมาประดิษฐาน และประกอบพิธีกรรมทั้งแบบพุทธและพราหมณ์ จัดขบวนพาเหรด จัดมหกรรมงานเฉลิมฉลอง

ทั้งนี้ได้มีการนำรูปแบบของการจัดงานมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับท้องถิ่น เช่น ในพื้นที่ภาคอีสานใช้กิจกรรมประกวดกลอนลำในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการด้วยภาษาถิ่น ขณะที่ภาคใต้จัดการแสดงเกี่ยวกับเรื่องมโนราห์ การแสดงพื้นบ้านโดยสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ เพื่อให้คนในท้องถิ่นที่แต่เดิมอาจจะไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้น

นอกจากการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้วนั้น ในบางพื้นที่ยังมีการสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญในแต่ละจังหวัดเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมโยงผู้คนในท้องถิ่นเข้ากับการปกครองในระบอบใหม่ อันสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ของคนท้องถิ่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากส่วนกลางที่มีต่อรัฐธรรมนูญและแนวคิดหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ดังปรากฏอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในจังหวัดสมุทรสาคร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และนครราชสีมา[4]

 

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด อาทิ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ขวาบน) และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.สมุทรสาคร (ขวาล่าง)
อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด อาทิ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ อ.มุกดาหาร จ.นครพนม (ขวาบน) และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.สมุทรสาคร (ขวาล่าง)

 

“งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ในภาคใต้เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความน่าสนใจ เนื่องด้วยเป็นภูมิภาคที่มีฝนตกชุกในเดือนธันวาคมนั้นก็เป็นช่วงมรสุม การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญตามวันที่รัฐบาลจัดในกรุงเทพฯ หรือที่ต่างจังหวัดจัดอย่างยิ่งใหญ่จึงไม่สามารถทำได้อย่างสะดวก

เมื่อถึงช่วงวันที่ 10 ธันวาคม จึงมีการจัดงานเล็กๆ เพียง 3 วัน คือ 9, 10, 11 โดยงานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่จริงๆ นั้นได้กำหนดมาจัดในวันที่ 24 - 27 มิถุนายน หรือในบางพื้นที่ก็มีการจัดงานอย่างยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน

ยกตัวอย่างเช่น ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ จ.นราธิวาส ปี 2479 ที่มีการจัดงานขึ้น 2 ครั้งแต่งานใหญ่จะอยู่ในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งในส่วนของพิธีกรรมนั้นจะมีการอัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจำลองมาประดิษฐาน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งพุทธ พราหมณ์ รวมถึงอิสลามด้วย ขณะเดียวกันก็ได้มีงานมหรสพเพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญ โดยจัดหนังกลางแปลง การแสดงโนราห์ การแสดงรองเง็ง มีการละเล่นกีฬามวย จัดโคชน ไก่ชน การประกวดกีฬาของนักเรียนลูกเสือ การประกวดพืชผลอุตสาหกรรม หัตถกรรม ปศุสัตว์ต่างๆ มีการประกวดนางงามท้องถิ่น[5]

สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจที่สุดในงานฉลองรัฐธรรมนูญจังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ. 2479 คือการแสดงปาฐกถาของดาโต๊ะยุติธรรมจากศาลจังหวัดนราธิวาส เรื่อง “ลุดังลุดังตูโบ๊ะส์” ซึ่งเป็นคำเรียกรัฐธรรมนูญในภาษามลายู ในปาฐกถาชิ้นนี้ได้มีการกล่าวถึงว่ารัฐธรรมนูญนั้นให้เสรีภาพแก่ชาวสยามทั่วไปได้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางชาติตระกูลหรือศาสนาก็ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้มีสิทธิเสรีภาพแตกต่างกันได้เลย[6] ซึ่งหากพิจารณาในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ จะพบว่า ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องของสิทธิ เสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนับถือศาสนา กล่าวคือ รัฐธรรมนูญย่อมให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจตามลัทธิศาสนาของตน

นอกจากนี้แล้วหลักบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังมีบทบัญญัติบางประการที่ตรงกับหลักการของศาสนาอิสลาม ได้แก่  เรื่องการปรึกษาหารือกันด้วยความเห็นคนส่วนใหญ่

เรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ตรงกับหลักของศาสนาอิสลามที่ดาโต๊ะยุติธรรมท่านนี้มีการแสดงปาฐกถาไว้ โดยรัฐธรรมนูญตามทรรศนะของผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างกรณีของดาโต๊ะยุติธรรม มองว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นหลักการปกครอง ไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องไปกราบไหว้บูชา

มุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่างานฉลองรัฐธรรมนูญหรือแนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นมีความหลากหลายมาก  อีกทั้งในแต่ละแง่มุมของความหลากหลายยังปรากฏให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่ให้กับคนในระบอบใหม่ที่สามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดกว้างโดยไม่ต้องถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว การปาฐกถาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดนั้น พลเมืองแต่ละพื้นที่ได้มีการนำแนวคิดของรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ มาปรับให้สอดคล้องกับแนวคิด ความเชื่อและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

 

บรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญในภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี (1,2) พังงา (3) และกระบี่ (4) ที่มา : ประวิทย์ สังข์มี
บรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญในภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี (1,2) พังงา (3) และกระบี่ (4)
ที่มา : ประวิทย์ สังข์มี

 

งานรื่นเริงปีใหม่และงานเทศกาลประจำปีของจังหวัด

“งานรื่นเริงปีใหม่” ถือเป็นมรดกสำคัญของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ริเริ่มโดย หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร ก่อนหน้านี้แม้จะมีการจัดงานปีใหม่ ทว่าเป็นการจัดในลักษณะของพระราชพิธีและพิธีตรุษโดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยงานรื่นเริงปีใหม่นี้จัดขึ้นครั้งแรกที่ ณ บริเวณสนามหลวง จังหวัดพระนคร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2476 - 2 เมษายน 2477 รวมเวลา 3 วัน[7]

จุดมุ่งหมายสำคัญที่หลวงธำรงฯ จัดงานนี้ขึ้น คือ เพื่อฟื้นฟูบำรุงประเพณีดั้งเดิมของชาติไทยเกี่ยวกับเรื่องพิธีตรุษ และต้องการที่จะเชิดชูความเป็นเอกราชของชาติ สร้างความสามัคคีในชาติดังนั้นกิจกรรมต่างๆ จึงเน้นสร้างความสามัคคี เช่น การเล่นกีฬาพื้นบ้าน อันเป็นการฟื้นฟูกีฬาพื้นบ้านต่างๆ โดยนำกีฬาแต่ละชนิดมาประชันแข่งขันกัน พร้อมๆ กันนั้นยังพยายามที่จะพัฒนากีฬาให้มีความทัดเทียมกับสากล[8]

นอกเหนือจากกิจกรรมเล่นกีฬายังมีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ ต่อด้วยงานมหรสพและงานประกวดพันธุ์พืช อาจกล่าวได้ว่า การจัดงานรื่นเริงปีใหม่นี้เป็นงานขนาดย่อมที่ย่อส่วนมาจากงานฉลองรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ คือ มีการเชิญพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของประเทศสยามจากวังหน้า มาประดิษฐานที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงให้ประชาชนสักการะบูชา ต่อมาจึงกลายเป็นธรรมเนียมของเทศกาลสงกรานต์ที่ทุกปีนั้น ทางราชการจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาประดิษฐานที่สนามหลวง และจัดทำบุญตักบาตร

 

ภาพกิจกรรมของงานรื่นเริงปีใหม่ที่กรุงเทพฯ อาทิ การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่สนามหลวง, การทำบุญตักบาตรวันปีใหม่ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพกิจกรรมของงานรื่นเริงปีใหม่ที่กรุงเทพฯ อาทิ การอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่สนามหลวง, การทำบุญตักบาตรวันปีใหม่
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

ภาพกิจกรรมของงานรื่นเริงปีใหม่ที่กรุงเทพฯ การเคารพธงชาติของประชาชนที่สนามหลวง ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ภาพกิจกรรมของงานรื่นเริงปีใหม่ที่กรุงเทพฯ การเคารพธงชาติของประชาชนที่สนามหลวง
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

จากหนังสือ ปาฐกถาเรื่องประโยชน์ของการมีงานขึ้นปีใหม่ ของ หลวงอรรถกัลยาณวินิจ ข้าหลวงประจำจังหวัดยะลาได้กล่าวถึงประโยชน์ของงานปีใหม่ไว้ 2 ส่วน ประโยชน์ส่วนใหญ่ คือ เป็นสิ่งที่ระลึกให้คนในชนชาติเดียวกันได้เห็นว่าชาติก้าวหน้าเป็นเอกราชขึ้นอีก 1 ปีแล้ว เป็นเครื่องหมายความสำเร็จประโยชน์ของนโยบายตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้  และประโยชน์ส่วนน้อย

โดยหลวงอรรถกัลยาณวินิจมองว่าเป็นการระลึกถึงตัวบุคคลเพื่อพบปะสังสรรค์ต่างๆ เพื่อสร้างความสามัคคี อีกทั้งยังเพื่อตั้งมั่นว่าปีใหม่นี้จะได้ทำความดีให้กับชาติและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับเป็นการช่วยวินิจฉัยตัวเองว่าในปีที่ผ่านมามีข้อบกพร่องที่จะแก้ไข และจะสามารถสร้างความดีเพิ่มให้กับตัวเองและหมู่คณะได้[9] อันสะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องงานปีใหม่สัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องชาติที่เริ่มก่อตัวขึ้นโดยมีมุมมองว่าชาตินั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์สูงสุดที่จะต้องทำ เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต ขณะเดียวกันจะพบว่า ตั้งแต่คณะราษฎรมีบทบาททางการเมือง อุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องชาตินิยมเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในฐานะที่ชาติเท่ากับประชาชน

 

หนังสือ ปาฐกถาเรื่องประโยชน์ของการมีงานปีใหม่ ของหลวงอรรถกัลยาณวินิจ
หนังสือ ปาฐกถาเรื่องประโยชน์ของการมีงานปีใหม่ ของหลวงอรรถกัลยาณวินิจ

 

ของที่ระลึกในงานรื่นเริงปีใหม่ เป็นเหรียญและแหนบ ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญและตรานักษัตรต่างๆ ที่มา : ผู้เขียน
ของที่ระลึกในงานรื่นเริงปีใหม่ เป็นเหรียญและแหนบ ที่มีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญและตรานักษัตรต่างๆ
ที่มา : ผู้เขียน

 

“งานฉลองรื่นเริงปีใหม่” ช่วงแรกเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และต่อมาขยายไปพื้นที่ตามต่างจังหวัดด้วย ตัวอย่างเช่น การจัดงานปีใหม่ในจังหวัดพัทลุง จากหนังสือ พัทลุงวิทยา ในปี พ.ศ. 2479 กล่าวว่า งานปีใหม่ที่พัทลุงจัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระหว่างวันที่ 5 - 7 เมษายน ด้วยความริเริ่มของ นายร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง จุดมุ่งหมายของจัดงานรื่นเริงปีใหม่เพื่อหารายได้สำหรับการบำรุงเทศบาล โดยรูปแบบกิจกรรมนั้นจะสัมพันธ์กับวัฒนธรรมในท้องถิ่น ได้แก่ มหรสพ (ภาพยนตร์, ละคร, หนังตะลุง, โนรา) กีฬาพื้นบ้าน การพนัน (ชกมวย, ชนโค, ชนไก่, บิงโก) แข่งปาฐกถา (การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ/เทศบาล) และการประกวด (พืช, สัตว์, งานฝีมือ, เด็ก, สตรี, ร้าน, แต่งกลอน, เครื่องแต่งกาย)[10]

ขณะที่งานเทศกาลประจำปีจังหวัดปัตตานี เดิมถูกจัดในลักษณะที่เป็นงานสมาคมนักเรียนเก่าของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ ปัตตานี แต่ต่อมาถูกขยายใหญ่โตในปี พ.ศ. 2478 โดยสมาคมนักเรียนเก่าร่วมมือกับคณะกรรมการจังหวัด ผู้แทนราษฎร และประชาชน จัดงานใหญ่ขึ้นในระหว่างวันที่ 14 - 20 เมษายน มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้ประชาชนในจังหวัดปัตตานีไม่ว่าจะเป็นคนไทยพุทธ มุสลิม และบรรดาคนจีน มีความ

สมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ และมีการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยนำรายได้ส่วนใหญ่มอบให้โรงเรียนในระดับท้องถิ่น และส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนสามารถนำสินค้ามาขายในงานนี้ได้ ถือว่าเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่จะจัดในทุกๆ ปี

 

ปกหนังสือที่ระลึกในงานรื่นเริงปีใหม่ประจำจังหวัดพัทลุงและปัตตานี คือ พัทลุงวิทยา พ.ศ. 2479 (ซ้าย) และ ปัตตานีสาร พ.ศ. 2478 (ขวา) ที่มา : นริศ จรรยาวงศ์ และผู้เขียน
ปกหนังสือที่ระลึกในงานรื่นเริงปีใหม่ประจำจังหวัดพัทลุงและปัตตานี คือ พัทลุงวิทยา พ.ศ. 2479 (ซ้าย) และ ปัตตานีสาร พ.ศ. 2478 (ขวา)
ที่มา : นริศ จรัสจรรยาวงศ์ และผู้เขียน

 

หนังสือที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ
หนังสือที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482
ที่มา : หอสมุดแห่งชาติ

 

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันปีใหม่แบบเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นวันที่ 1 มกราคมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน พ.ศ. 2484 พบว่า มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเป็นงานพระราชพิธีที่จัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังส่วนหนึ่ง และจะมีการจัดพิธีสงฆ์อีกส่วนหนึ่งที่บริเวณท้องสนามหลวง และจะมีการจัดงานรื่นเริงของประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา

การจัดงานรื่นเริงปีใหม่ในกรุงเทพฯ จึงพบว่า มีลักษณะเป็นทางการอันสัมพันธ์กับที่จอมพล ป. ที่เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้นในฐานะท่านผู้นำ กิจกรรมต่างๆ ในงานปีใหม่จึงถูกเชื่อมโยงกับตัวจอมพล ป. มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 จะมีการกระจายเสียงเป็นพิเศษในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2484 โดยจอมพล ป. เป็นการพูดถึงกิจกรรมในรอบปีและการสร้างชาติ และในวันที่ 1 มกราคม 2485 ทางรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและหน่วยงานราชการต่างๆ จะมีการส่งการ์ดไปอวยพรนายกรัฐมนตรีตลอดจนจัดให้มีการเดินทางไปลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมมหาราชวัง[11]

 

งานฉลองวันชาติ

“งานฉลองวันชาติ” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2482 อันเป็นผลมาจากการที่พระยาพหลฯ กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2481 ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปลายปี 2481 ได้ริเริ่มความคิดที่จะจัดงานเฉลิมฉลองงานวันชาติต่อมาจึงได้มีการจัดงานวันชาติขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2482 โดยงานครั้งแรกเรียกว่า “งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา” ซึ่งงานครั้งนั้นเป็นงานฉลองที่นึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตลอดจนรำลึกถึงการได้รับเอกราชสมบูรณ์หลังจากที่มีการแก้ไขสนธิสัญญากับต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว และได้รับเอกราชสมบูรณ์ทางการศาลและการเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นในพิธีการที่สำคัญสำหรับงานวันชาติครั้งแรกได้มีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หลังจากนั้น “งานวันชาติ” จึงเป็นงานที่มีการจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 - 2503 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของงานวันชาติก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงวันชาติมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม การจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมีการจัดงานวันชาติรวมเวลา 3 วัน โดยในวันที่ 23 มิถุนายน ส่วนใหญ่จะจัดเป็นขบวนแห่ ไม่ว่าจะเป็นขบวนแห่รถยนต์ที่สะท้อนถึงการสร้างชาติรวมถึงการได้รับเอกราชสมบูรณ์มหรสพ งานดอกไม้ไฟต่างๆ  มีการแสดงปาฐกถาของผู้แทนราษฎร และที่น่าสนใจ คือ ในปฏิทินของภาครัฐได้กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันสำคัญเมื่อจะมีการเปิดสถานที่สำคัญของรัฐ ไม่ว่าจะเปิดถนนสะพาน รวมถึงสถานที่ราชการ

ตัวอย่างเช่น ในวันชาติ 24 มิถุนายน 2483 รัฐบาลได้เปิดสถานที่สำคัญมากมาย อาทิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมืองใหม่ลพบุรี ที่ทำการกรมรถไฟ สำนักงานธนาคารชาติไทย และนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จ.สระบุรี อันสะท้อนถึงความพยายามที่จะทำให้ผู้คนมีการระลึกและผูกพันกับวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันชาติและวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จากนั้นวันที่ 25 มิถุนายน กิจกรรมจะเป็นการทำบุญตามวัดต่างๆ และเปิดโอกาสให้ข้าราชการ เยาวชน ทหารมาเล่นกีฬาร่วมกัน และมีการจัดมหรสพช่วงกลางคืน นอกจากนี้ยังมีการใช้รูปคบเพลิงเป็นสัญลักษณ์ของงานอันสะท้อนถึงความเป็นเอกราช และความรุ่งเรืองของชาติ

 

ขบวนแห่ในงานฉลองวันชาติที่กรุงเทพฯ (ซ้าย) และหนองคาย (ขวาบน-ล่าง) ที่มา : ผู้เขียน
ขบวนแห่ในงานฉลองวันชาติที่กรุงเทพฯ (ซ้าย) และหนองคาย (ขวาบน-ล่าง)
ที่มา : ผู้เขียน

 

“การจัดงานวันชาติ” ในต่างจังหวัดนั้นมักจะมีกิจกรรมที่ใกล้เคียงกัน แต่งบประมาณในการจัดงานส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนกันและประเด็นสำคัญ คือ นับตั้งแต่ปี 2483 จะพบว่าตามจังหวัดต่างๆ พยายามที่จะสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ การจัดงานวันชาติตามต่างจังหวัดที่น่าสนใจคืองานฉลองวันชาติที่จังหวัดหนองคายซึ่งยังมีชาวไทยซิกข์ด้วยที่สนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชาติของจอมพล ป. อันสะท้อนให้เห็นว่า “ชาติ” ประกอบด้วยคนหลากหลายที่สามารถเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับอุดมการณ์ชาติในความหมายใหม่ของคณะราษฎรที่ชาติหมายถึงประชาชน

 

ส่วนส่งท้าย

“งานรื่นเริงของพลเมืองในยุคคณะราษฎร” ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือ งานเฉลิมฉลองวีรกรรมท้าวสุรนารี ซึ่งถือว่าเป็นงานรื่นเริงประจำจังหวัดนครราชสีมา อันสัมพันธ์กับอนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารีซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนแห่งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยอนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ด้วยความริเริ่มของ พระเริงรุกปัจจามิตร นายทหารฝ่ายระบอบใหม่ที่ต้องการสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชนชาวโคราช หลังจากเมืองนี้เป็นที่มั่นสำคัญของฝ่ายกบฏบวรเดช

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีประกอบพิธีเปิดในวันที่ พ.ศ. 2477 จากนั้นจึงมีการจัดงานเฉลิมฉลองระหว่างปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ในงานจะมีกิจกรรมคล้ายคลึงกับงานรื่นเริงประจำจังหวัด อาทิ การจัดนิทรรศการของหน่วยราชการและเอกชน การออกร้าน และกิจกรรมบันเทิงต่างๆ

 

ภาพถ่ายอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเมื่อแรกสร้าง และหนังสือที่ระลึกในงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2500 ที่มา : ผู้เขียน

 

ภาพถ่ายอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเมื่อแรกสร้าง และหนังสือที่ระลึกในงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2500 ที่มา : ผู้เขียน
ภาพถ่ายอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเมื่อแรกสร้าง
และหนังสือที่ระลึกในงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2500
ที่มา : ผู้เขียน

 

“งานฉลองรัฐธรรมนูญ” อันเป็นงานรื่นเริงของพลเมืองที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในสมัยคณะราษฎร ได้ถูกยกเลิกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 เหลือเพียงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรำลึกรัชกาลที่ 7 กับรัฐธรรมนูญถาวร 10 ธันวาคม 2475 เท่านั้น

งานฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดที่เคยสร้างความคึกคักยุคสมัยคณะราษฎรได้ ส่งผลให้อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญหลายๆ แห่งในต่างจังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนท้องถิ่นเข้ากับระบอบใหม่ ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญค่อยๆ หมดพลังทางการเมืองไป จนถูกลดคุณค่าและความสำคัญไปจากความทรงจำของผู้คนในท้องถิ่นอันนำไปสู่รื้อถอนอนุสาวรีย์เหล่านี้ในหลายพื้นที่ อาทิ นครราชสีมา มุกดาหาร และในกรณีไม่นานมานี้ คือ บุรีรัมย์ ซึ่งเดิมนั้นอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเป็นวงเวียนตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ และเป็นฉากในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญยุคสมัยคณะราษฎร แต่ในปี 2557 อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ถูกรื้อถอนและสร้างเป็นสี่แยกไฟแดงจากนั้นทางราชการได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า

จากนั้นในปี 2560 เมื่อทางจังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างพระเมรุมาศจำลองในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่เพิ่งสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้ตัวรัฐธรรมนูญและพานแว่นฟ้าถูกเก็บรักษาอย่างไร้คุณค่าในโกดังของเทศบาล

ถึงแม้ว่าการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในปัจจุบันจะหลงเหลือเพียงแค่การจัดงานในจังหวัดตรังเพียงจังหวัดเดียวภายใต้ชื่อว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดประจำจังหวัดตรัง” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “งานหลองรัฐ” แม้ว่าการจัดงานในบางปีจะนำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองสมัยคณะราษฎรที่ส่งมาให้จังหวัดตรังเมื่อ พ.ศ. 2477 มาจัดแสดง แต่งานหลองรัฐมีลักษณะเป็นงานรื่นเริงมิได้มีความหมายในเชิงนัยทางการเมืองแบบเดียวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร

 

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ ปรับปรุงจากการนำเสนอในงานเสวนาวิชาการ “ไทยใหม่ - ฉลองรัฐธรรมนูญ” ในโอกาสเปิดตัว “ปฏิทินป๋วย 2563” วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา : ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2564). “งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ”,ใน, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 24 (24), น.34 - 47.

 


 

[3] ชาตรี ประกิตนนทการ, คณะราษฎรฉลองรัฐธรรมนูญ : ประวัติศาสตร์การเมืองหลัง 2475 ผ่านสถาปัตยกรรม “อำนาจ” (กรุงเทพฯ: มติชน, 2548), น. 131 - 135.

[4] ดูเพิ่มเติมใน “ภาคหนึ่ง สำนึกใหม่หลังการปฏิวัติสยาม” ใน ศรัญญ เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย: การเมืองอำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562).

[5] หจช. มท.2.2.13/2 เรื่องรายงานการทำพิธีฉลองรัฐธรรมนูญประจำ พ.ศ. 2479 (พ.ศ. 2479).

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] เนตร์ พูนวิวัฒน์, “เรื่องงานปีใหม่,” ใน คณะกรรมการทำหนังสือที่ระลึก, พัทลุงวิทยา พ.ศ.2479 (พระนคร : โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, 2478), น. 92 - 94.

[8] วิธีการเล่นกีฬาพื้นเมืองตามประเพณีนิยมแสดงที่ท้องสนามหลวง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2478 (พระนคร : โรงพิมพ์กรุงเทพบรรณาคาร, 2477).

[9] หลวงอรรถกัลยาณวินิจ, ปาฐกถาเรื่องประโยชน์ของการมีงานขึ้นปีใหม่ (พระนคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, 2478), น. 3-10.

[10] คณะกรรมการทำหนังสือที่ระลึก, พัทลุงวิทยา พ.ศ. 2479 (พระนคร : โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร, 2478).

[11] ศุภราพร ฤกษ์ดิกุล และภาวิดา สมวงศ์, “รื่นเริงดิถีว้นปีใหม่สมัยประชาธิปไตย,” นิตยสารศิลปากร 60, 1 (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2560): 87 - 88.