ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดี พนมยงค์: สามัญชนที่ไม่ธรรมดา

5
กันยายน
2563

มีผู้ไต่ถามผมอยู่เสมอ ๆ ว่าผมเป็นอะไรกับท่านปรีดี พนมยงค์ เพราะเห็นผมเขียนเรื่องอันเกี่ยวกับท่านรัฐบุรุษอาวุโส ทั้งที่เป็นหนังสือและที่เป็นบทความ อีกทั้งก็ได้ยินผมเล่าอะไรต่ออะไรที่พาดพิงถึงท่านอยู่บ่อย ๆ 

ความจริงผมก็เขียนเรื่องของท่านปรีดีฯ เพียงไม่กี่ชิ้นนัก เช่น “ปรีดี พนมยงค์ คนดีศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นชีวประวัติย่อ เมื่อก่อตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ขึ้นใหม่ ๆ ภายหลังท่านปรีดีฯ ถึงอสัญกรรม  “แนวความคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ซึ่งเป็นปาฐกถาไสว สุทธิพิทักษ์ ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2536 และข้อเขียนที่กล่าวถึงบทบาทของท่านปรีดีฯ ในขบวนการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่าง ๆ หลายเล่ม 

แต่ที่ดูจะเป็นหลักเป็นฐานที่สุดก็คงจะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษหนา 291 หน้า ปกแข็งที่ชื่อว่า PRIDI BANOMYONG AND THE MAKING OF THAILAND'S MODERN HISTORY  หนังสือเล่มนี้ผมเขียนเมื่อปี 2522 ขณะที่เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาของสิงคโปร์ แต่พิมพ์ออกมาเมื่อ 4 ปีภายหลัง  และในโอกาส 100 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ปี 2543 นี้ สํานักพิมพ์มูลนิธิเด็กได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 

ส่วนที่ว่าผมกล่าวพาดพิงถึงท่านปรีดีฯ อยู่บ่อย ๆ ก็เป็นการพูดในรายการวิทยุ “รุ้งหลายสี” ซึ่งผมดําเนินการต่อเนื่องทุกวันมาตั้งแต่ปี 2525 และขณะนี้ [2548] ออกอากาศทางวิทยุ อสมท. ภาคเอเอ็ม 1494 เวลาเช้า 8.00 - 9.00 น. วันจันทร์-เสาร์ 

ผมไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวถึงท่าน แต่เนื่องจากจะพูดอะไรเกี่ยวกับเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง, การศึกษา ฯลฯ ผู้ที่มี “จิตสํานึกทางประวัติศาสตร์” ก็มักจะอดนึกถึงท่านปรีดีฯ ไม่ได้ เพราะท่านได้เคยคิด และเคยทําในแบบฉบับที่คนไทยรุ่นหลัง ๆ พึ่งจะต้องเรียนรู้ไปเสียแทบทั้งหมด ผมจึงต้องพูดถึงท่านอยู่เนือง ๆ บางทีก็สรรเสริญ แต่บางทีก็วิจารณ์ 

อย่างไรก็ตาม ผมจะต้องบอกว่าสิ่งที่ผมเขียนและพูดเกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์ ตามที่กล่าวมานั้น ไม่เกี่ยวกับว่าผมเป็นอะไรกับท่านปรีดีฯ มากนัก ผมเขียนและพูดจากข้อมูล ข้อวิเคราะห์ ตลอดจนจากวิจารณญาณของผมเอง 

ผมได้รู้เห็นและได้ยินได้ฟังเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับท่านปรีดีฯ มาช้านาน  เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ประทับใจในแนวความคิดและกรณียกิจของท่าน ผมเพิ่งจะมีเวลาศึกษาค้นคว้าเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เมื่อตอนที่แต่งชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ขณะที่ผมอยู่ที่สิงคโปร์ 

ผมเคยแวะไปเยี่ยมท่าน 2-3 ครั้ง ที่ปารีส ระหว่างปี 2513-2517 ซึ่งในขณะนั้นยังมิได้คิดจะเรียบเรียงชีวประวัติของท่าน เพราะผมยังรับราชการ ไม่มีเวลาพอสําหรับงานแบบนั้น 

ระหว่างที่ผมกําลังเขียนเรื่องดังกล่าว ได้เคยส่งต้นฉบับไปให้ท่านตรวจสอบความถูกต้องในบางเรื่องบ้าง ซึ่งท่านก็ได้กรุณาชี้ประเด็นบางอย่างให้แจ่มชัดขึ้น และเมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ได้ส่งไปให้ท่านดู ซึ่งท่านได้ตอบมาว่าได้ดูคร่าว ๆ แล้ว และจะชี้ข้อมูลและประเด็นเฉพาะมาให้ผมในภายหลัง 

ท่านปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ก่อนที่ท่านจะมีโอกาสอ่านต้นฉบับหนังสือชีวประวัติของท่านที่ผมเรียบเรียงอย่างละเอียดตามที่ท่านบอกว่าท่านจะได้ทํา 

ดังนั้น ผมจึงไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ความคิดและข้อมูลจากท่านปรีดีฯ โดยตรงมากนัก และผมก็ติดต่อกับท่านน้อยเต็มที ซึ่งบางทีผมก็ยังรู้สึกอิจฉาบรรดานักเรียนไทยที่อยู่ในยุโรประหว่างที่ท่านพํานักอยู่ที่ปารีสระหว่างปี 2513-2526 ที่มีโอกาสได้ขอความรู้ต่าง ๆ จากท่านโดยตรง 

แต่สําหรับในแง่วงศาคณาญาตินั้น ผมมีความใกล้ชิดกับท่านมาก และท่านก็คงจะเห็นผมมาตั้งแต่ผมลืมตามองดูโลก เพราะถึงอย่างไร ท่านกับท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ก็คงจะต้องไปเยี่ยมหลานที่เกิดใหม่แน่นอน 

เมื่อผมมีอายุได้สัก 5 เดือน ได้มีการถ่ายรูปหมู่ลูกหลานที่บ้านป้อมเพชร ถนนสีลม โดยมีคุณปู่และคุณย่าผมเป็นประธาน แม่ผมอุ้มผมซึ่งอายุน้อยที่สุด นั่งอยู่ข้างคุณปู่ ถัดไปก็ท่านผู้หญิงฯ กําลังอุ้มธิดาคนโตของท่านซึ่งแก่กว่าผม 9 เดือน พ่อผมเป็นบุตรชายคนโตของคุณปู่ คุณย่าก็ยืนอยู่เบื้องหลังท่านทั้งสอง ส่วนท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 31 ปี เป็นคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ยืนอยู่ข้างหลังแม่ที่กําลังอุ้มผม 

รูปหมู่รูปนี้ถ่ายเมื่อพฤษภาคม 2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปีเศษ

รูปหมู่รูปนี้ถ่ายเมื่อพฤษภาคม 2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปีเศษ คนที่ปรากฏอยู่ในรูป 26 คนเวลานั้น ในปี 2548 เหลือที่มีชีวิตอยู่เพียง 6 คนเท่านั้น 

เมื่อผมโตขึ้น ท่านปรีดี พนมยงค์ก็กําลังมีภารกิจความรับผิดชอบที่สําคัญในคณะรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา จนถึงรัฐบาลท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในตอนที่เป็นรัฐมนตรี (พ.ศ. 2477-2484) ท่านพํานักอยู่ที่บ้านริมคลองสีลมที่เรียกว่า “ป้อมเพชรนิคม” ซึ่งคุณปู่คุณย่าสร้างบ้านเป็นตึกทันสมัยหลังย่อม ๆ หลายหลังให้คนเช่า แต่บ้านที่ท่านปรีดีฯ อยู่ท่านปลูกอยู่เอง ผมเคยไปที่นั่นหลายครั้งอยู่เหมือนกัน จําได้ว่าที่หน้าบ้านมีป้อมยามตํารวจคอยอารักขา เพราะในช่วงนั้นบุคคลสําคัญในคณะรัฐบาลมีผู้ปองร้ายอยู่ 

เท่าที่ผมจําได้ ท่านปรีดีฯ ใช้รถพลีมัธเก๋งสองตอนสีฟ้า ซึ่งมีคนขับและมีนายตํารวจนั่งหน้ารถ ภายหลังสงคราม ท่านนั่งรถบิวอิคสีเทาแก่ และฟอร์ด ลินคอล์นสีดํา 

ท่านดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งล้วนเป็นตําแหน่งที่สําคัญ ๆ ทั้งสิ้น 

ปี 2482 ได้มีการถ่ายรูปหมู่ที่บ้านป้อมเพชรอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปี 2482 ได้มีการถ่ายรูปหมู่ที่บ้านป้อมเพชรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกหลานชุดเดิมมีพ่อผมเท่านั้นที่หายไป เพราะถึงแก่กรรม และมีหลานเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นอีก 4 คน และลูกเขยลูกสะใภ้ 2 คน ผมแต่งฟอร์มนักเรียนวชิราวุธนั่งอยู่กับพื้นสนามหน้าเก้าอี้ที่แม่ผมนั่งและมีน้องชายนั่งอยู่ข้างๆ 

ท่านปรีดีฯ และท่านผู้หญิงพูนศุข ก็ยืนและนั่งประจําที่ของท่านในรูปหมู่ดังกล่าว ขณะนั้นคุณอาหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านเป็น “ขุนคลัง” ในคณะรัฐบาล 

ภายหลังญี่ปุ่นบุกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ไม่นาน ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็พ้นจากตําแหน่งรัฐมนตรี ขึ้นไปดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วก็ย้ายที่พํานักไปอยู่ที่บ้านท่าช้างวังหน้า ที่เรียกกันว่า “ทําเนียบท่าช้าง” 

ผมได้ไปเยี่ยมคุณอาที่นั้นเป็นครั้งคราว แต่ไม่บ่อยนัก เพราะผมอยู่โรงเรียนกินนอน และจําได้ว่าเวลาไปที่บ้านท่าช้าง ก็จะไปนั่งอยู่กันที่ระเบียงริมแม่น้ําที่เป็นครัวด้านหนึ่ง และเป็นศาลาอีกด้านหนึ่ง ท่านปรีดีฯ จะรับแขกแบบเป็นกันเองที่ศาลาแห่งนั้น 

บ้านท่าช้างมีตึก 2 หลัง เป็นตึกโบราณหลังหนึ่ง และตึกเฟโรคอนกรีตแบบทันสมัยทาสีเขียวอ่อนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ บริเวณภายในบ้านไม่ใหญ่และไม่เล็กนัก มีสนามหญ้าตรงนั้นตรงนี้ พอให้สบายตา 

เสน่ห์ของทําเนียบท่าช้างฯ คงจะอยู่ที่ริมแม่น้ําเจ้าพระยา แต่ตอนบ่าย ๆ ก็ค่อนข้างจะร้อนเพราะแสงอาทิตย์ก่อนอัสดงยังกล้าอยู่ 

 

ทำเนียบท่าช้าง
ทำเนียบท่าช้าง

 

ผมจําได้ว่าเมื่อแม่ผมอายุครบ 3 รอบในปี 2485 คุณอาทั้งสองได้กรุณาให้แม่ผมไปทําสปาเก็ตตี้เลี้ยงกันที่นั่น ผมเข้าใจว่าแม่ผมจะไปที่บ้านท่าช้างบ่อย ๆ ในโอกาสต่าง ๆ แต่ผมไม่ได้ไปด้วย 

ผมโตและเกิดที่บ้านสี่แยกราชวัตร ซึ่งเป็นบ้านของคุณตาและคุณยาย และก่อสร้างเสร็จขึ้นบ้านใหม่พร้อมกับงานแต่งงานของพ่อและแม่ผม ในระหว่างที่พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ ก่อนผมเกิดและเมื่อผมยังเล็ก ๆ นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ท่านปรีดีฯ กับท่านผู้หญิงจะมาที่บ้านราชวัตรหลายครั้ง แต่ที่ผมจําได้แม่นยําพร้อมทั้งมีรูปถ่ายยืนยัน ก็คือ ท่านทั้งสองมาในงานสมรสระหว่าง ม.ล.ดวงแข สนิทวงศ์ กับคุณโพยม เลขยานนท์ เมื่อปี 2482 ในงานนั้นพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เสด็จพร้อมกับหม่อมกอบแก้ว อาภากร และก็มีรัฐมนตรี ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นหลายท่าน 

ตอนปลายสงครามปี 2488 ท่านปรีดีฯ ในฐานะผู้สําเร็จราชการฯ ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน ซึ่งมีความปลอดภัยจากการทิ้งระเบิดของฝูงบินสัมพันธมิตรมากกว่ากรุงเทพฯ 

สําหรับผู้สําเร็จราชการฯ และครอบครัวก็ได้อาศัยตึกริมแม่น้ําในเขตพระราชฐานชั้นนอกที่ชื่อว่า สภาคารราชประยูร เป็นที่พัก โดยท่านปรีดีฯ จะเดินทางมาที่นั่นเป็นครั้งคราว เช่น ในวันสุดสัปดาห์ที่ไม่มีราชการหรืองานสําคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ 

ในตอนนั้นคุณปู่ผมได้สิ้นบุญไปแล้ว คุณย่าผมจึงอพยพมาอยู่ที่บางปะอินกับลูกหลานที่ตึกสภาคารราชประยูรหลังนี้ ซึ่งคราวหนึ่งผมก็ได้เดินทางโดยรถไฟไปเยี่ยมและพักอยู่กับคุณย่าที่นั่นเป็นเวลา 2-3 วัน 

เมื่อสงครามสงบลงใหม่ ๆ ผมไปอยู่กับคุณย่าที่บ้านป้อมเพชร ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างปี 2489-90 นั้น เหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวายพอดู มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีพรรคการเมือง และก็มีกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 

ท่านปรีดีฯ มีภารกิจรับใช้ชาติมากมายอย่างเหลือเชื่อ ตลอดเวลาเกือบ 4 ปี ระหว่างสงครามฯ ท่านต้องใช้สติปัญญาและความอุตสาหะ วิริยะ ภายใต้ความเสี่ยงอันตรายอย่างสูงสุด ดําเนินงาน “เสรีไทย” ด้วยความกล้าหาญอย่างเอกอุ ด้วยความมุ่งหมายเพียงประการเดียว คือ การกู้เกียรติศักดิ์และเกียรติภูมิของชาติไทย มิให้ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ไม่ต้องยอมจํานน ไม่ต้องวางอาวุธ และไม่ต้องถูกยึดครอง ท่านปรีดีฯ ทําได้เป็นผลสําเร็จ 

ภายหลังประกาศสันติภาพซึ่งท่านได้กระทําในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ท่านต้องอยู่ในความเครียดต่อเนื่องอีกถึง 4 เดือนกว่าที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษจะลงนามในข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน สงครามที่รัฐบาลไทยประกาศต่ออังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 และอังกฤษได้ประกาศตอบ 

การยืดเยื้อของการลงนามในข้อตกลงทําให้รัฐบาลไทยต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสําหรับทหารอังกฤษและเครือจักรภพจํานวน 17,000 นาย ที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นจํานวน 120,000 นายในประเทศไทย ซึ่งควรจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน 

ทําให้ประเทศไทยไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ ซึ่งนอกจากจะต้องโดดเดี่ยวอยู่นอกชุมชนโลกเสรีแล้ว ยังขาดโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือที่จําเป็นในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศด้วย 

นอกจากนั้นก็ยังไม่สามารถใช้เงินจํานวน 23 ล้านปอนด์ที่ฝากไว้ในอังกฤษมาก่อร่างสร้างระบบการเงินไทยขึ้นมาใหม่ได้ 

ในระหว่างการยืดเยื้อดังกล่าว ท่านปรีดีฯ ได้สร้างศัตรูทางการเมืองขึ้นโดยไม่รู้ตัว และจากจุดนั้นในเวลาเพียงอีก 2 ปีต่อมา ได้นําไปสู่การต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างแดนจนกระทั่งสิ้นอายุขัย 

ผมได้เห็นท่านปรีดีฯ ขึ้นสู่จุดสุดยอดในชีวิตการทํางานเพื่อชาติของท่าน ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายปี 2488 ในช่วงเวลานั้น ในเมืองไทยไม่มีผู้ใดจะมีตําแหน่งหน้าที่และบารมีเหนือกว่าท่านปรีดี พนมยงค์ 

ท่านอยู่ที่ทําเนียบท่าช้าง แต่ผมได้เห็นท่านมาบ้านป้อมเพชรเสมอ ๆ  คุณย่าผมเรียกท่านว่า “หลวงประดิษฐ์ฯ” แต่ผมจําไม่ได้ว่าท่านปรีดีฯ เรียกคุณย่าผมว่าอย่างไร  คุณย่าเคยให้ผมกราบท่าน บอกว่า รู้ไหมว่าเป็นผู้สําเร็จฯ 

ท่านปรีดีฯ มีเสียงกังวานน่าฟัง และท่านจะพูดช้า ๆ อย่างผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ  ท่านเคยถามผมว่าอยากจะเป็นอะไร ซึ่งผมเรียนท่านว่า ผมอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ ท่านพยักหน้ารับรู้ แต่ไม่ว่ากระไร 

แม่ผมเคยเล่าว่าท่านปรีดีฯ มักจะให้กําลังใจแก่แม่ผมเสมอในการเลี้ยงลูก 2 คน ที่กําพร้าพ่อตั้งแต่ยังเล็ก ๆ 

เท่าที่จําได้ ผมเห็นท่านมีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลาที่รับแขก และมักจะมีอารมณ์ขันในการพูดจา ท่านสูบบุหรี่อย่างเคยชินเหมือนกับผู้ชายไทยรุ่นเดียวกับท่านโดยทั่วไปในสมัยนั้น 

ท่านพ้นจากตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร ตามที่ท่านกราบบังคมทูลอัญเชิญ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 และก็ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์และปฐมจุลจอมเกล้าฯ เป็นการตอบแทนความดีความชอบในการรักษาบ้านเมืองและราชบัลลังก์ไว้ได้ระหว่างสงคราม 

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2489 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นอยู่ 4 เดือนกับ 22 วัน จึงได้ลาออก กลับไปอยู่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสตามเดิม ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสท่านได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นหัวหน้าคณะทูตสันทวไมตรีเดินทางไปเยี่ยมหลายประเทศรอบโลก และได้ให้ลูก ๆ ของท่านมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร 

ขณะนั้น ผมเริ่มคลุกคลีอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่สันติภาพ จึงทําให้สนใจติดตามเรื่องการบ้านการเมืองค่อนข้างใกล้ชิด แต่ก็ยังขาดพื้นฐานความรู้ ไม่สามารถจะวิเคราะห์เหตุการณ์อะไรได้ กระนั้นผมรู้สึกว่า ศัตรูทางการเมืองกําลังจ้องทําลายชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน อันเนื่องมาจากความอิจฉาริษยาอย่างหนึ่ง และเนื่องจากเห็นท่านถูกห้อมล้อมด้วยบุคคลและนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน หรือไม่ก็เพราะท่านปรีดีฯ ไม่ให้ความสนับสนุนพวกเขา 

กรณีสวรรคตเปิดโอกาสให้ศัตรูทางการเมืองของท่านเล่นงานท่านอย่างเต็มเหนี่ยวในลักษณะของคนที่มีความเกลียดชังกันถึงขั้นใช้ให้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ผมเคยไปยืนฟังคําปราศรัยของพรรคการเมืองที่เกลียดชังท่านและประสงค์ร้ายต่อท่านด้วยความรู้สึกขมขื่นใจมากกว่า นี่คือสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นตอบแทนแก่ผู้ที่รับใช้บ้านเมืองจนพ้นความวิบัติมาได้ 

แม้นเวลาจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ผมก็ยังลืมเหตุการณ์นั้นไม่ลง 

แล้วก็มาถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ศัตรูทางการเมืองของท่านปรีดีฯ ได้เกลี้ยกล่อมชักจูงให้นายทหารกลุ่มหนึ่งกระทํารัฐประหาร โดยให้ร้ายแก่ท่านปรีดีฯ เรื่องกรณีสวรรคตและยุยงว่า ท่านปรีดีฯ กดขี่ทหาร ซึ่งเป็นเท็จทั้งสิ้น นายทหารเหล่านั้นอยู่ไกลเหตุการณ์ก็หลงเชื่อคํายุยงและก่อรัฐประหารขึ้น เป็นผลให้ท่านปรีดีฯ ต้องลี้ภัยออกไปนอกประเทศ 

ต่อมาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ท่านหวนกลับมาเมืองไทยเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ท่านเห็นว่าได้อํานาจมาจากการรัฐประหารรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 พระราชทาน ท่านพ่ายแพ้ยับเยิน และต้องหลบซ่อนอยู่ฝั่งธนฯ เป็นเวลาถึง 6 เดือนกว่าที่จะเล็ดลอดออกไปจากประเทศไทยได้ 

แม้จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง แต่ผมในฐานะคนหนังสือพิมพ์ ก็ติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ มาโดยตลอด 

ผมไม่ทราบเรื่องการหลบซ่อนอยู่ในเมืองไทยของท่านปรีดีฯ เพราะมีแต่ท่านผู้หญิง และอีกคนสองคนเท่านั้นที่ทราบ อย่างไรก็ตาม ผมได้ทราบว่า บุคคลผู้ใกล้ชิดท่านปรีดีฯ มาแต่เก่าก่อนหลายต่อหลายคนถูกจับและถูกฆ่าตาย ขณะที่อีกหลาย ๆ คนได้หลบหนีออกไปนอกประเทศ 

ในช่วงนั้นแม่ผมและผู้หลักผู้ใหญ่ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ได้เวลาที่ผมควรจะไปเรียนหนังสือเมืองนอกแล้ว วงศาคณาญาติของผมเป็น “นักเรียนนอก” กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และพ่อผมก็ถูกส่งไปอเมริกาตั้งแต่อายุได้ 12 ปีเศษ ก็ไปเรือลําเดียวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อปี 2460 

หลังสงครามเพื่อนผมที่มีสตางค์แยะ ๆ หลายคนก็ไปอเมริกากัน บางคนก็ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนที่อังกฤษ สําหรับผมจะเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ ก็ถูกส่งไปออสเตรเลีย 

เมื่อผมเดินทางถึงสิงคโปร์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2492 ก็ได้ไปพักอยู่กับอาจารย์ไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช และอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์  พี่ไหวเช่าห้องเล็ก ๆ อยู่กับคุณกระจ่าง ตุลารักษ์ นอนกันคนละเตียง ซึ่งผมก็อาศัยนอนเตียงเดียว กับพี่ไหว ได้คุยเรื่องการเมืองที่ผมไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อนอยู่หลายคืน 

พี่ไหวบอกผมว่า “อาจารย์” เพิ่งออกเดินทางไปเมืองจีนเมื่อไม่กี่วัน ก่อนที่ผมจะถึงสิงคโปร์นั่นเอง พี่ไหวเรียกท่านปรีดีฯ ว่า “อาจารย์” เพราะพี่ไหวเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต และเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์ตอนปลายสงคราม ในระหว่างที่ “อาจารย์” เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย 

ผมไม่ทราบเรื่องนี้เลย และก็ไม่ควรที่จะทราบด้วย ในตอนเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 2492 นั้นท่านผู้หญิงพูนศุขฯ พร้อมทั้งญาติผู้ใหญ่และเพื่อนสนิทของผม ตลอดจนคุณย่า คุณตา คุณยาย ฯลฯ ก็ได้ไปส่งผมขึ้นเครื่องบินกันอย่างครบครัน 

จากปลายปี 2492 จนกระทั่งต้น ๆ ปี 2513 ผมไม่เคยได้พบท่านปรีดีฯ และคุณอาพูนศุขฯ เลย รู้แต่ว่าอยู่เมืองจีน ในปี 2513 ก็ได้ทราบว่า ท่านทั้งสองย้ายมาพํานักอยู่ที่กรุงปารีส 

บังเอิญในปีนั้น ผมมีราชการต้องไปประชุมที่กรุงเวียนนา และรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ถือโอกาสเชิญให้ผมไปดูงานอุตสาหกรรมเครื่องมือกลที่ปารีสและเมืองรอบ ๆ ผมจึงตรงไปปารีสก่อน ถึงที่นั่นดูเหมือนจะเป็นวันเมย์เดย์พอดี 

ท่านปรีดีฯ และท่านผู้หญิงฯ ได้กรุณามารับผมและครอบครัวที่สนามบิน จึงเป็นโอกาสแรกใน 21 ปีที่ได้กราบท่านผู้ใหญ่ทั้งสอง และการเยือนปารีสของผมคราวนั้นก็เป็นโอกาสเดียวที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดีฯ เป็นเวลานาน ๆ 

ท่านกําลังมีอายุครบ 70 ปี ยังกระฉับกระเฉงตามวัย และยังจิบไวน์ได้ 

ผมไม่ได้เตรียมเรื่องที่จะขอความรู้จากท่าน เพียงแต่นึกอะไรได้ก็ถามไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าเป็นตอนนี้และมีโอกาสอย่างนั้น ผมก็คงได้ความรู้จากท่านมากมายนัก

 ปรีดี - พูนศุข พนมยงค์

เมื่อผมศึกษาบทบาทของท่านปรีดีฯ ในอีก 10 ปีต่อมาเพื่อเขียนชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ผมได้พบสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน เช่น บทบาทอันโดดเด่นและเด็ดเดี่ยวของท่านทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และในการพิทักษ์เอกราชและอธิปไตยของชาติไทย โดยผ่านปฏิบัติการเสรีไทย 

ท่านปรีดีฯ ได้นํามาสู่เมืองไทย การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือที่ท่านชอบเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ซึ่งตรงความหมายในภาษาอังกฤษ 

ท่านปรีดี พนมยงค์ เน้นความสําคัญของราชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ในฐานะสถาบันที่จะต้องสถิตสถาพรอยู่คู่ชาติไทยชั่วกัลปาวสาน 

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยยุคปัจจุบัน “เล่น” กันอยู่ในทุกวันนี้ ท่านปรีดีฯ เป็นผู้สร้างกติกาไว้ให้ 

ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และมีบทบาทสําคัญมาก ๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับต่อมา 

ในส่วนของงานเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ท่านปรีดีฯ เป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจและกําหนดแผนการต่าง ๆ ตลอดจนออกคําสั่งให้การณ์ดําเนินไปสู่จุดหมาย สําหรับบุคคลอื่น ๆ นั้นเป็นผู้รับคําสั่งจากท่านและนําไปปฏิบัติ 

ท่านปรีดีฯ ได้ทําให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นรอยมลทินว่า “กรุงแตก” ครั้งที่ 3 ท่านจัดการไม่ต้องให้รัฐบาลไทยต้องทําการยอมจํานน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง 

ความจริงดังกล่าวนี้ต้องการการเน้นแล้วเน้นอีก ให้จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยอย่างที่จะบิดเบือนและลบล้างไม่ได้ 

นี่คือบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเห็นว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง 

สําหรับบทบาทอื่น ๆ ของท่าน เช่น การตั้งธนาคารชาติ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ราชบัณฑิตยสถาน ฯลฯ แม้จะมีความสําคัญ ก็ยังเป็นรอง 2 ประการข้างต้น 

นอกจากนั้นก็ยังมีแนวความคิดทางเศรษฐกิจของท่านอีกที่จะต้องนําไปขยายผลต่อไปในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ชอบธรรมและมีอธิปไตยบริบูรณ์ 

อย่างไรก็ตาม ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นปุถุชนในแง่ที่ว่าจะต้องมีข้อบกพร่องบ้างในบางเรื่อง 

ผมคิดว่า ข้อบกพร่องของท่านซึ่งได้นําไปสู่ความผิดพลาดในบางกรณี เนื่องมาจากเหตุ 2 ประการ 

ประการแรก ท่านมีความรักชาติอยู่ในวิญญาณและสายเลือด และยึดถือเอาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ตรงนี้จะทําให้คนเถียงกับท่านยาก และจะหักล้างเหตุผลของท่านก็ไม่ได้ นอกจากนั้นท่านปรีดีฯ ก็ไม่เชื่อใครเสียด้วย หากเหตุผลของผู้นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของชาติ 

ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรีดีฯ ตัดสินใจที่จะตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างสงคราม ผู้ซึ่งมีบทบาทสําคัญในการจัดตั้งเสรีไทยในอเมริกาขึ้น ให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสันติภาพ ท่านปรีดีฯ พิจารณาเห็นว่า ภายหลังสงครามรัฐบาลไทยจะต้องมีเรื่องติดต่อร่วมมือและทําความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก ดังนั้น จึงจะต้องได้บุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้จักและเชื่อถือเป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งท่านเห็นว่าในขณะนั้นไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 

บรรดาบุคคลชั้นหัวหน้าในขบวนการเสรีไทยไม่เป็นที่รู้จักกันนอกประเทศ และหลายคนก็อาจจะเคยใกล้ชิดกับรัฐบาลก่อน ๆ ที่สัมพันธมิตรเข้าใจว่าร่วมมือกับญี่ปุ่น 

กล่าวกันว่า การตัดสินใจของท่านปรีดีฯ ในกรณีดังกล่าวนี้ได้มีผู้ทัดทานกันมาก เพราะ ม.ร.ว. เสนีย์ฯ ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ และก็ไม่มีผู้ใดทราบความคิดความอ่านของท่านผู้นั้นท่านปรีดีฯ เองก็เกือบจะไม่รู้จักท่านทูตเสนีย์ฯ รู้แต่เพียงว่าเป็นคนมีความรู้ดีทางกฎหมาย และเป็นผู้รักชาติที่กล้าหาญ 

เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ฯ ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ปรากฏว่า ได้มีปัญหาในด้านแนวความคิดและอื่น ๆ หลายเรื่องที่ความเห็นไม่ค่อยจะตรงกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหลายคน และแม้กระทั่งกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่ค่อยจะราบรื่น ไป ๆ มา ๆ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็มีความรู้สึกว่าท่านปรีดีฯ หักหลัง และหลังจากนั้นก็มีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อท่านปรีดีฯ มาโดยตลอด 

อีกประการหนึ่ง ท่านปรีดีฯ เป็นผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง ที่เรียกกันว่า “อวิโรธนะ” คือ ไม่ประพฤติผิดธรรม ด้วยหลักการนี้ ท่านจึงสามารถทําอะไรหรือไม่ทําอะไรที่ขัดใจผู้คนได้เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ท่านเห็นว่า คนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเป็นบ้าง ซึ่งส่งผลทําให้มิตรกลายเป็นศัตรูไป นอกจากนั้นท่านปรีดีฯ ก็ยังไม่เป็นที่พึ่งต่อบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริง ๆ แล้ว ท่านช่วยอะไรได้ก็เป็นช่วยเสมอไป ตรงนี้ก็ทําให้มีทั้งผู้ที่โกรธเคือง และผู้ที่เคารพนับถือ 

กล่าวกันว่า จุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคําพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมีได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้นแต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตําแหน่งสูงๆ แทบทุกคนก็มักจะมีปัญหาอย่างนี้ 

สําหรับที่ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทําสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สําคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคําอธิบายที่ทําให้เข้าใจว่า เหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น 

เรื่องแรก เป็นความผิดพลาดที่ท่านปรีดีฯ มิได้มีความอดทนพยายามอธิบาย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ท่านปรีดีฯ ในวัยหนุ่ม 32 ปี ขาดความอดทนและความรอบคอบ ผลจากการนั้นก็คือ ท่านปรีดีฯ ต้องถูกส่งไปฝรั่งเศสเสียหลายเดือนอีกทั้งถูกให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย

เรื่องที่ 2 เป็นความผิดพลาดที่ท่านเจาะจงแต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังสันติภาพ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น 

เรื่องที่ 3 เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีฯ ที่สนับสนุนการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งท่านเองเป็นคนสําคัญในการยกร่าง และได้ประกาศไว้แล้วว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” การจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม ได้ทําลาย "ความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง จากนั้นไทยเราก็มีรัฐธรรมนูญอีก 14-15 ฉบับ ซึ่งยกเลิกและร่างกันใหม่เป็นว่าเล่น 

เรื่องที่ 4 เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีฯ ที่ไม่ได้พยายามประนีประนอมกับท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้เริ่มคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน ความแตกแยกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ได้ทําให้เกิดความอ่อนแอและเป็นจุดอ่อนให้ปรปักษ์ของ “คณะราษฎร” สามารถทําลายทั้งท่านปรีดีฯ และท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ย่อยยับได้ 

เรื่องที่ 5 เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีฯ ที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ 2 ขัดจังหวะ ท่านปรีดีฯ เกรงคําครหาว่า ท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยกเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคําครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนาย ซึ่งมีฐานกําลังได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีฯ ในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา 

เรื่องที่ 6 เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีฯ ที่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับการขอร้องและวิงวอนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพท่าน แม้ว่าจะเป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม การที่ท่านปรีดีฯ ลดตัวลงมาในระดับการเมืองในสภาฯ เช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปรปักษ์ของท่านถือว่าท่านปรีดีฯ เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งท่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู และต้องบอบช้ําเป็นอย่างมาก 

เรื่องสุดท้ายก็คือ การที่ท่านกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใต้ “ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ 2492” ซึ่งท่านปรีดีฯ ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยมุ่งหวังที่จะเอาชนะอย่างเดียว ต่อเมื่อท่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็บังเกิดขึ้นมิตรสหายของท่านจํานวนมากต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น และตัวท่านเองก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านปรีดีฯ จะได้เคยผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง หากกรณียกิจที่ท่านได้บําเพ็ญต่อชาติบ้านเมืองก็ยังมีความสําคัญอย่างเอกอุที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ การที่ท่านปรีดีฯ ต้องออกไปจากประเทศไทยเป็นเวลาถึง 36 ปี จนกระทั่งอสัญกรรม อีกทั้งก็ได้มีความพยายามในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องที่จะ “ลบ” เกียรติคุณและคุณูปการของท่านออกไปจากความทรงจําของคนไทย ได้ทําให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจท่านปรีดี และคนรุ่นหลังก็ไม่รู้จักท่านเลย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่สังคมไทยอาจจะไม่ค่อยเห็นความสําคัญของท่านรัฐบุรุษผู้นี้ 

ผมเชื่อว่า เมื่อสังคมไทยในยุคนี้และในยุคต่อไปได้รู้จักผลงานของท่านดีขึ้น ก็คงจะเพิ่มความสําคัญให้แก่ท่านปรีดีฯ มากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย 

ทั้งหมดนี้ ก็คือ เรื่องต่าง ๆ ของท่านปรีดี พนมยงค์ ในส่วนที่เกี่ยวกับผม และที่ผมมองเห็น แต่กระนั้นผมก็ดูเหมือนจะยังมิได้ตอบคําถามว่า ผมเป็นอะไรกับท่านปรีดีฯ 

กล่าวอย่างสรุปที่สุด ก็คือ สกุลพนมยงค์กับสกุล ณ ป้อมเพชร มีความเกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่อยุธยาถึง 6-7 ชั่วคนมาแล้วจนถึงปัจจุบัน 

เริ่มด้วยนายกองคนหนึ่งแห่งกองทัพไทยที่เสียชีวิตในการรบกับพม่า ข้าศึกที่ค่ายสีกุก ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 นายทหารไทยท่านนั้นมีบุตรชายซึ่งมีชีวิตรอดมาจนกระทั่งโตขึ้นได้อุปสมบทที่วัดพนมยงค์จนกระทั่งได้สมภารแล้ว จึงลาสิกขาบทเป็นฆราวาส มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน

ท่านผู้นี้มีธิดา 2 คน คนหนึ่งสมรสกับนายก๊ก แซ่ตั้ง ซึ่งจากเมืองจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจนมีหลักฐาน  ท่านก๊ก แซ่ตั้ง ผู้นี้ คือ ทวดของท่านปรีดี พนมยงค์  ส่วนธิดาคนหนึ่งสมรสกับพระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) ผู้ช่วยผู้รักษากรุงเก่า ซึ่งเป็นทวดของพ่อผม และถือว่าเป็นต้นสกุล ณ ป้อมเพชร

นอกจากนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังสมรสกับท่านผู้หญิงพูนศุข (ณ ป้อมเพชร) ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวของพ่อผม

… ผมจึงเรียกท่านปรีดีฯ ว่า “คุณอาหลวงประดิษฐ์” และเรียกท่านผู้หญิงว่า “คุณอาพูนศุข”

 

ที่มา: วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, “รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สามัญชนที่ไม่ธรรมดา,” ใน บุคคลในตำนานสังคมไทย (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), น. 8-22.