ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ เคยอยากลี้ภัยไปสวีเดน

27
ธันวาคม
2567

Focus

  • บทความนี้ เสนอเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องการลี้ภัยทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 โดยนายปรีดีมีความคิดที่อยากจะลี้ภัยไปประเทศสวีเดน และเหตุการณ์การจัดฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก เมื่อครั้งนายปรีดี และคณะเดินทางไปเจริญสันถวไมตรี กับหลายประเทศช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2

 


[บุคคลทางด้านขวา] นายปรีดี พนมยงค์  ในกรุงลอนดอนขณะเตรียมเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2490
ที่มา : วิกิพีเดีย

 

รับปากกับ ปรีดี หงษ์สต้น มาตั้งแต่เดือนแรกๆของปี พ.ศ. 2567 ว่าจะลงมือเขียนเรื่องราวต่อไปนี้ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว แต่กว่าที่ผมจะร่ายเรียงให้สำเร็จลุล่วงและผลงานได้รับการเผยแพร่สู่สายตาคุณผู้อ่าน กาลเวลาก็ทยอยปลิดปลิวมาจนแทบจะถึงวันสิ้นปี

เหตุที่ผมเอ่ยถึง ปรีดี หงษ์สต้น ก็เพราะเขายังคงพำนักและสนใจศึกษาประเด็นต่างๆเกี่ยวกับประเทศสวีเดน ซึ่งผมและเขาได้สนทนากันถึงข้อมูลที่ครั้งหนึ่ง นายปรีดี พนมยงค์ ก็เคยอยากจะลี้ภัยไปพำนักอยู่ที่สวีเดนเช่นกัน และนั่นจึงนำไปสู่การรับปากของผมดังกล่าวแล้วข้างต้น

แท้จริง ความสนใจของผมว่าด้วยเรื่องราวที่ นายปรีดี พนมยงค์ ปรารถนาจะเดินทางไปยังสวีเดนเพื่อลี้ภัยทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2490 นั้น มีอันผุดพรายขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 สืบเนื่องจากผมได้อ่านเอกสารชิ้นหนึ่งที่ นายปรีดี ส่งมาสื่อสารกับลูก ๆของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรชายตนโตเยี่ยง ปาล พนมยงค์ ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2520 ขณะพำนักอยู่ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เอกสารฉบับนั้นคือ “ความชำนาญของพ่อเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่ง”

ผมมิวายสะดุดตาเข้ากับถ้อยความตอนหนึ่งที่ นายปรีดี พาดพิงถึงสวีเดน และนั่นจึงจุดประกายให้ต้องพยายามสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม

ผมเคยทราบมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 2550 แล้วว่า ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายนต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน และเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย แม้ นายปรีดี จะสามารถหลบหนีออกไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ต่อมาเขาก็ต้องลี้ภัยทางการเมืองระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศ

ตอนนั้น นายปรีดี เกิดความคิดที่จะลี้ภัยไปพำนักอยู่ในประเทศเม็กซิโก กล่าวคือช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 เขาเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง แล้วก็เดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้จากนั้นวางแผนว่าจะเดินทางผ่านซานฟรานซิสโกในสหรัฐอเมริกาเพื่อไปขอลี้ภัยที่เม็กซิโก แต่ นอร์แมน ฮันนาห์ (Norman Hannah) รองกงสุลสหรัฐฯประจำเซี่ยงไฮ้ขณะนั้นได้เข้ามาขีดฆ่าวีซ่าอเมริกันโดยพลการที่สนามบินเซี่ยงไฮ้ นายปรีดี จึงไม่สามารถเดินทางต่อได้

ทว่าผมรู้สึกตื่นเต้นครามครัน เมื่อได้ทราบอีกว่าสวีเดนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ นายปรีดี อยากเดินทางไปพำนักเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง ดังที่เขาบอกเล่าไว้ใน “ความชำนาญของพ่อเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่ง” ว่า

 “ลูกๆ ยังจำกรณีที่พ่อต้องออกจากสิงคโปร์ซึ่งในระหว่างสงครามนั้นพ่อช่วยเหลืออังกฤษไว้มากแต่เมื่อฝ่ายเขาจะต้องเอาใจรัฐบาลไทยแล้ว เขาก็หาทางที่จะให้พ่อออกจากสิงคโปร์ แต่ด้วยความเกรงใจเขาจึงใช้อุบายทางอ้อมก่อน คือในชั้นแรกบอกให้วิซ่าเพื่อไปอยู่อังกฤษแต่เมื่อเราไม่ไปเขาก็ใช้วิธีจับคุณเฉียบอันเป็นการเตือนเราทางอ้อม กรณีอเมริกันที่ขีดฆ่าวิซ่าของเราที่สนามบินทั้ง ๆ ที่เรามีวิซ่าถูกต้อง กรณีสวีเดนที่เสร็จสงครามแล้วยกย่องเราถึงกับให้ตราสูงสุด   แต่เมื่อเราจะไปสวีเดนก็ขีดฆ่าวิซ่าของเราอีก...”

ที่ นายปรีดี กล่าวว่าตนเคยได้รับการยกย่องจากสวีเดนนั้น ก็เพราะในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีบทบาทสำคัญในการตั้งขบวนการเสรีไทยและประสานกับนานาชาติเพื่อหาหนทางยุติการสู้รบได้ ครั้นสงครามสิ้นสุดลง นายปรีดี จึงได้รับเกียรติยศจากนานาชาติเป็นอย่างมาก

อีกทั้งในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 นายปรีดี และคณะยังได้เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ถึง 9 ประเทศเพื่อเจริญสันถวไมตรีตามคำเชิญของรัฐบาลแต่ละประเทศเหล่านั้น เริ่มจากประเทศจีนแล้วไปยังฟิลิปปินส์ ไปต่อยังสหรัฐอเมริกา ข้ามมหาสมุทรมายังทวีปยุโรป เยือนประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นเหนือไปยังเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์

คราวนั้น นายปรีดี ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากนานาประเทศ

 


สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 5 แห่งสวีเดน

 

ขณะเยือนสวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ 8 สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 5 (Gustaf V) หรือ ออสการ์ กุสตาฟ อดอล์ฟ (Oscar Gustaf Adolf) ได้พระราชทานเลี้ยง นายปรีดี และคณะ รวมถึงได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดน Order of Vasa (Commander Grand Cross) ให้แก่ นายปรีดี ด้วย

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1950 (ตรงกับ พ.ศ. 2493) สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 5 ได้สิ้นพระชนม์ ตอนนั้น นายปรีดี กำลังลี้ภัยระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศภายหลังขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ซึ่งพยายามทวงคืนอำนาจจากคณะรัฐประหาร 2490 ประสบความพ่ายแพ้ ส่วนทางเมืองไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามมีคำสั่งให้สถานที่ราชการต่างๆ ลดธงชาติไทยลงครึ่งเสาเพื่อไว้ทุกข์ โดยกำหนดเวลาไว้ 3 วัน นับแต่วันอังคารที่ 31 ตุลาคมเป็นต้นไป

ล่วงผ่านไปเนิ่นนานหลายปี นายปรีดี ได้พยายามติดต่อกับทางประเทศสวีเดนอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2513 ซึ่งเขาได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านั้น เคยลี้ภัยด้วยการพำนักอยู่ในประเทศจีนถึง 21 ปี นายปรีดี ออกเดินทางจากมณฑลกวางตุ้งมาถึงกรุงปารีสเมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) โดยสายการบินแห่งชาติปากีสถาน

การเดินทางมาพำนักในฝรั่งเศสทำให้ นายปรีดี สามารถเขียนจดหมายติดต่อกับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มากขึ้นแตกต่างจากตอนที่พำนักอยู่เมืองจีนซึ่งไม่สามารถติดต่อใครได้สักเท่าใดนัก

ถัดมาอีกราวเกือบ 4 เดือน นายปรีดี ได้เขียนจดหมายลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2513ส่งจากกรุงปารีสไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน เพื่อทวงถามถึงฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก หรือ The King of the White Elephant ซึ่งตนเป็นผู้จัดสร้างและเคยนำมาจัดฉายที่สวีเดนเมื่อครั้งที่เคยมาเยือนเพื่อเจริญสันถวไมตรีเมื่อปีค.ศ.1947(ตรงกับ พ.ศ. 2490) และมอบให้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยที่นั่นจัดเก็บรักษาไว้ ดังเนื้อความว่า

 

เรียน ท่านเอกอรรคราชทูตไทยประจำกรุงสต๊อกโฮลม์

เมื่อ ค.ศ. 1947 ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากรัฐบาลสวีเดนให้มาเยือนสวีเดนเพื่อสันถวไมตรีระหว่างประเทศไทยกับสวีเดน ระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้จัดการสั่งภาพยนต์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก (The King of the White Elephant) ซึ่งข้าพเจ้าเปนเจ้าของนั้นนำมาออกฉายในการรับรอง เสร็จแล้ว ได้มอบให้สถานอรรคราชทูตไทยรักษาภาพยนต์นั้นไว้ ต่อมานายอังกาบ กนิษฐเสน พนักงานสถานทูตได้นำภาพยนต์นั้นที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วของข้าพเจ้าอีกชุดหนึ่งจากกรุงเทพฯมายังสวีเดนเพื่อฉายในโอกาศที่มีการรับรองทางการทูตโดยตกลงว่าจะเก็บรักษาภาพยนต์นั้นไว้เปนอย่างดีที่สถานทูตและจะฉายได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากข้าพเจ้า

บัดนี้ข้าพเจ้าต้องการภาพยนต์ของข้าพเจ้าดังกล่าวนั้นที่เก็บรักษาไว้ ณ สถานทูตดังกล่าว จึงขอร้องมายังท่านโปรดส่งภาพยนต์นั้นมายังนายปรีชา พหิทธานุกร เลขานุการโทแห่งสถานเอกอรรคราชทูตไทยประจำกรุงปารีศเพื่อมอบแก่ข้าพเจ้าด้วย จะขอบคุณมาก

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
(นายปรีดี พนมยงค์)

 

แล้วเหตุใด นายปรีดี จึงพยายามทวงถามถึงฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก

 

อาจเป็นไปได้ว่า ช่วงแรกๆที่ นายปรีดี และครอบครัวมาพำนักในกรุงปารีสนั้น คงมีความจำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากเขาเลยเกิดความคิดที่จะนำฟิล์มภาพยนตร์ที่ตนเคยจัดสร้างมาออกฉายในประเทศฝรั่งเศสเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่งครั้นนึกได้ว่าเคยมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้กับทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดน จึงส่งจดหมายไปที่นั่น

นายปรีดี ยังเอ่ยถึง อังกาบ กนิษฐะเสน ซึ่งต่อมาได้นำฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือกที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วมาจากกรุงเทพฯเพื่อเก็บรักษาไว้ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มอีกชุด หมายความว่าที่นั่นควรจะต้องมีฟิล์มภาพยนตร์อยู่ถึง 2 ชุดเลย

 


นายอังกาบ กนิษฐะเสน

 

อังกาบ ลืมตายลโลกหนแรกสุดเมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2460 เป็นบุตรชายของ พระธราทรพิทักษ์ (อั๋น กนิษฐะเสน) เกษตรมณฑลนครราชสีมา และนางเก็บ พี่สาวคนโตของนายปรีดีพนมยงค์เขาสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพาณิชยการวัดสามพระยาเมื่อพ.ศ.2477จากนั้นเข้ารับราชการตำแหน่งเสมียนพนักงานในกระทรวงการต่างประเทศ ครั้นได้ย้ายไปรับราชการในประเทศต่าง ๆ ดังที่ปีพ.ศ.2480 ย้ายไปเป็นเสมียนพนักงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เขาก็หมั่นหาเวลาไปศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน (University of Berlin) พอปี พ.ศ. 2485 ย้ายไปรับตำแหน่งนายเวรที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) ด้วย จนกระทั่งต่อมาสามารถสำเร็จปริญญาเอกทางด้านกฎหมายหรือDr.Jur.จากมหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ. 2500

        

ในปีพ.ศ.2487อังกาบได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขานุการตรีที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มประเทศสวีเดนที่นั่นเขายังเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และ นายปรีดี เดินทางไปเยือนสวีเดนเมื่อปี ค.ศ. 1947 ทั้งสองคนจึงได้พบเจอกัน รวมถึงยังได้ประสานกันเรื่องฟิล์มภาพยนตร์ด้วย

ช่วงปี พ.ศ. 2493-2503 อังกาบ ดำรงตำแหน่งเลขานุการโทที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงบอนน์ ความที่คราวนี้มาประจำการอยู่ยาวนาน จึงสามารถเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกเลย

เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้เป็นหัวหน้ากองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่ช่วงปี พ.ศ. 2504-2508จะเดินทางไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แล้วจึงกลับมารับตำแหน่งหัวหน้ากองเศรษฐกิจระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2509

น่าเสียดายที่ อังกาบ เป็นคนอายุไม่ยืนยาวนัก เขาล้มป่วยด้วยมะเร็งกระเพาะอาหารและถึงแก่กรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2511 อายุเพียง 51 ปีเศษ

ดังนั้นตอนที่ นายปรีดี เดินทางมาพำนักในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513)  อังกาบ ผู้น่าจะทราบดีเกี่ยวกับฟิล์มภาพยนตร์ในสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม ก็ไม่ได้อยู่ตอบคำถามให้กระจ่างเสียแล้ว

อีกคนหนึ่งที่นายปรีดีได้ให้ช่วยเป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก คือ ปรีชา พหิทธานุกร ซึ่งในปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) ดำรงตำแหน่งเลขานุการโทที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส

 


ปรีชา พหิทธานุกร

 

ปรีชา ลืมตายลโลกหนแรกสุดเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2472 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายของ พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) และคุณหญิงนวลแข ซึ่งขณะนั้นบิดารับราชการตำแหน่งเลขานุการเอกที่สถานอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน

ปรีชา ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในอังกฤษเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 จึงได้กลับมาเมืองไทย แต่พอปี พ.ศ. 2480 ก็ย้ายตามบิดาไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีชา ย้ายตามบิดาไปอยู่ที่ประเทศโปรตุเกส และประเทศอิตาลี

ความที่ต้องย้ายตามบิดาไปยังประเทศต่างๆ ทำให้ ปรีชา ต้องเปลี่ยนสถานศึกษาบ่อยหน  แต่เขาก็สำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์แผนกการทูตและการกงสุลที่มหาวิทยาลัยโลซานน์  (University of Lausanne)

ครั้นเดินทางกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2496 ปรีชา ก็เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ สังกัดในกรมสหประชาชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ได้ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการตรีที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้นปี พ.ศ. 2508 จึงได้เป็นเลขานุการโทที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียและในปี พ.ศ. 2510 ก็ข้ามทวีปไปเป็นเลขานุการโทที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ช่วงที่ประจำอยู่ในฝรั่งเศสนี้เองที่ปรีชาได้ช่วยติดต่อประสานงานเกี่ยวกับฟิล์มภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มให้กับ นายปรีดี

ปรีชาก็เป็นนักการทูตอีกคนหนึ่งที่อายุไม่ยืนยาว เขาเผชิญเข้ากับโรคมะเร็งลำไส้และถึงแก่กรรมลงในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2521 อายุเพียงแค่ 49 ปี

ความสัมพันธ์ระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ กับประเทศสวีเดน ถือเป็นเรื่องราวที่คนทั่วไปยังมิค่อยรับทราบกันเท่าใดนัก แต่ก็มีแง่มุมที่ชวนให้น่าหลงใหลและน่าศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมอย่างยิ่ง

 

 หมายเหตุ :

  • คงรูปแบบการสะกดและการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

ภาคผนวก

จดหมายปรีดีถึงลูกๆ...เรื่องความชำนาญของพ่อเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่ง

 

 

เอกสารอ้างอิง :

เอกสารที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่

  • จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 1 กันยายน 2513 ปรีดี พนมยงค์. “ความชำนาญของพ่อเกี่ยวกับเพื่อนฝรั่ง”
  • หจช.ศธ. 0701.9.5.1/26 สมเด็จพระเจ้ากรุงสวีเดนสิ้นพระชนม์ (พ.ศ. 2493)

เอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา,  และ ราโชทัย (กระต่าย), หม่อม. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 29 อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป กับ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย) เรื่อง ราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษในรัชกาลที่ 4 เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2400. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2507. (พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2507).
  • นราธิปพงศ์ประพันธ์, พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ศัพท์การเมือง และการทูต. เจ้าภาพพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายปรีชา พหิทธานุกร ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 31 ตุลาคม 2521. (ม.ป.ท.: สุวรรณการพิมพ์, 2521).
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529)
  • พูนศุข พนมยงค์. “ชีวิตของข้าพเจ้าในยามสงครามและสันติภาพ.” ใน หนังสือที่ระลึกในวาระ ๗๒ ปี วันสันติภาพไทย, (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2560), หน้า 38-63.
  • อนุสรณ์ นายอังกาบ กนิษฐะเสน. เจ้าภาพพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายอังกาบ กนิษฐะเสน ณ เมนุวัดเทพศิรินทราวาส วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2514, (พระนคร: การศาสนา, 2514)