Focus
- บทความนี้ เสนอบทเรียนจากอดีตกรณีเขาพระวิหาร พรมแดนความรู้ของสนธิสัญญา และแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา และพรมแดนความ(ไม่)รู้เรื่องเขตแดน และ MOU 44 : นับ 1 ถึง 44 เขตทางทะเล ไทย-กัมพูชา ที่เป็นข้อสงสัย รวมทั้งมีการถกเถียงในสังคมไทยมานานกว่า 40 ปี และยังเชื่อมโยงกับการปลุกกระแสชาตินิยมในปัจจุบัน
“เราไม่ควรมีความคิดเรื่องถือผิวหรือเชื้อชาติ แต่ควรยึดมั่นในความคิดที่ชนทุกชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกได้”
ปรีดี พนมยงค์
ผู้ริเริ่มแนวคิด “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asia League)
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490/ค.ศ. 1947
‘เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักสันติวิธี’ : บทเรียนจากอดีตกรณีเขาพระวิหาร
บทความนี้ผู้เขียนมีจุดประสงค์ที่จะสื่อสารกับ “สังคมแห่งภูมิปัญญา” มิได้เฉพาะเจาะจงเพื่อ “ตอบโต้” ตัวบุคคลหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่ต้องการตอกย้ำเจตนารมณ์เริ่มแรกของผู้เขียนที่มุ่งพยายามฉายภาพอีกด้านหนึ่งของบรรดาวาทกรรม “หลุมดำ - จุดดับ” ที่กำลังวนเวียน “หลอกหลอน” กลายเป็น “อาณาจักรแห่งความหวาดระแวง และ มืดบอดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน” ในสังคมปัจจุบัน
ประการแรก ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องดินแดนและอธิปไตยของชาติ เกิดวาทกรรมประเภท “ทางขึ้นเขาพระวิหารอยู่ฝั่งประเทศไทย” ทำให้ “ผู้รู้อิสระ” บางคน ถึงกับเสนอแนวคิดว่า “ปิดทางขึ้นไปเลย อีกไม่นานเดี๋ยวเขมรก็อดตายไปเอง” แต่เมื่อมีปัญหาระหว่างประเทศ ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุดมการณ์ “ความหวงแหนผืนแผ่นดิน” กลับกลายเป็นพี่น้องทหาร ที่ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุปะทะกันตามแนวชายแดน พร้อมกับราษฎรในพื้นที่ซึ่งมีชีวิตอยู่อย่าง “ไร้ความมั่นคง” และนับจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของพวกเขาและครอบครัว
ยังคงมีแต่บรรดากลุ่ม “ผู้รักชาติ"”ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองอันห่างไกลจากชายแดน รวมทั้งผู้เขียนเอง และบรรดา “ผู้รู้อิสระ” ที่ต่างออกมาโพนทะนาถึงความรักชาติของตน ผ่านสื่อมวลชนสาธารณะแขนงต่างๆ เพราะรู้ดีแก่ใจว่านี่คือ “โอกาสทอง” ที่จะได้สร้างชื่อและเป็นลู่ทางต่อยอดไปสู่จุดหมายบางอย่างที่ตนคาดหวัง
ประการที่สอง กลุ่มรณรงค์มณฑลบูรพาที่เรียกร้องให้ “ยึดถือเอาอนุสัญญาโตเกียว ไม่ยึดถือสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส หรือ การยื่นให้ศาลโลกพิจารณาตัดสิน” ได้ กล่าวหา” ผู้เขียนว่า “ยอมรับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 ซึ่งเป็นการเมืองรุกรานและการล่าเมืองขึ้นที่มาจากลัทธิล่าอาณานิคม หรือจักรพรรดินิยม นั่นคือยอมรับลัทธิล่าอาณานิคมและจักรพรรดินิยมว่าถูกต้องแล้ว”
แต่ในกรณีที่กำลังรณรงค์ “ทวงคืนมณฑลบูรพา” ก็สะท้อนว่ากำลัง “ดำเนินรอยตาม” นักล่าเมืองขึ้นเหล่านั้น เพราะสนับสนุนให้ประเทศไทยไปรุกรานดินแดนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เต็มไปด้วยวัฒนธรรมกัมพูชา” หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ ส่งเสริมให้ “มหาอำนาจไทย” มีอุดมการณ์แบบ “ลัทธิล่าอาณานิคม” นั่นเอง
ประการที่สาม ในโลกใบเล็กอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ประเทศของเราปรากฏตัวในเวทีนานาชาติอย่างเป็นทางการด้วยการใช้นามประเทศว่า “ไทย - Thailand” เมื่อ พ.ศ.2482 และนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา “ชาติไทย” ก็ค่อยๆ คลี่คลายอุดมการณ์และอัตลักษณ์ของตน ไปตาม “กาละเทศะ” ของเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงระดับโลก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “เวนิสวาณิช” ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ตอนที่ ไชล็อก พูดกับ สะละรีโน ว่า "...ดูถูกกระทั่งชาติ, กลางตลาดแย่งกำไร, ยุสหายให้แหนงจิต, แหย่อมิตร์ให้ขัดใจ; ทั้งนี้เพราะเหตุใด ? เพราะเหตุที่ข้าเปนยิวนั่นแล. นี่แน่ยิวไม่มีตารือ? ยิวไม่มีมือ, ไม่มีอวัยวะ, ไม่มีกายหรือเจ้าคะ, หรือไม่มีสัมผัส, ตัดฉันทะและโทษะได้สิ้นหรือไฉน ? ไม่กินอาหารเหมือนกันหรือไร, หรือถูกสาตราไม่เจ็บไม่บาด, หรือไม่มีโรคาพาธ, ไม่รักษาด้วยยาเหมือนท่าน, ไม่ร้อนไม่หนาวเพราะฤดูกาล เหมือนพวกท่านคริสตังละฤาไฉน ? ถ้าแทงเราเข้าไซร้, หรือเลือดไม่มี ? ถ้าแม้ว่าจี้, หรือเราจะไม่หัวเราะ ?...”
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน มีกำเนิดในฐานันดร ภายใต้อธิปไตยของรัฐชาติใด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ย่อมมีอยู่อย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกันเป็นสากล ดังคำกล่าวที่ว่า “Shylock is a man first and a Jew second. -ไชล็อกเป็นมนุษย์ก่อน แล้วจึงเป็นยิว”
ขอจบด้วยคำกล่าวของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “เราไม่ควรมีความคิดเรื่องถือผิวหรือเชื้อชาติ แต่ควรยึดมั่นในความคิดที่ชนทุกชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกได้”
พรมแดนความรู้ของสนธิสัญญา และ แผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา
สำหรับผมแล้ว พรมแดนความรับรู้เกี่ยวกับ สนธิสัญญา พรมแดน และแผนที่ ไทย-กัมพูชา ค่อนข้างแตกต่างมาก จากสิ่งที่ปรากฏในการนำเสนอของบรรดาสื่อสารมวลชนไทยในปัจจุบัน รวมทั้งบรรดา “ผู้รู้อิสระ” ทั้งหลายที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอโอกาสนำเสนอ พรมแดนความไม่รับรู้หรือไม่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับ สนธิสัญญา และแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา
ประการแรก สนธิสัญญา พ.ศ. 2447 (ค.ศ.1904) และ สนธิสัญญา พ.ศ. 2450 (ค.ศ.1907) และแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 กล่าวคือ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในสนธิสัญญาระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 กับฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447(ค.ศ. 1904) นั้น มาตรา 1 กำหนดให้ “เส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ” ซึ่งคำว่า "เส้นสันปันน้ำ" นี่เอง ได้ถูกนำมาเป็นข้อถกเถียง เรื่องดินแดนและอธิปไตยของไทยเหนือเขาพระวิหารบนเทือกเขาพนมดงรัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ใน มาตรา 3 ของสนธิสัญญาฉบับเดียวกันนี้ ก็ได้ระบุเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า “ให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนที่ประกอบเป็นอินโดจีนฝรั่งเศส การปักปันนี้ให้กระทำโดยคณะกรรมการผสมประกอบด้วยพนักงานซึ่งประเทศภาคีทั้งสองแต่งตั้ง” หมายความว่า แม้สนธิสัญญาจะกำหนดให้ “เส้นเขตแดน คือ สันปันน้ำ” แต่ “แนวเขตแดนที่แน่นอนจะได้กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม” โดยมี พลเอก หม่อมชาติเดชอุดม เป็นประธานฝ่ายสยาม และ พันตรี แบร์นารด์ เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส
ต่อมา สนธิสัญญาครั้งหลังสุดในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปลงสัตยาบันกับฝรั่งเศสด้วยพระองค์เอง โดยตกลงยกพระตะบอง เสียมเรียบ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับด่านซ้ายและตราด รวมทั้งหมู่เกาะต่างๆ ของอำเภอแหลมงอบในปัจจุบัน เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ และสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนี้เอง ทำให้เกิดแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชาขึ้น และพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรกใน 1 ปี ต่อมาคือ พ.ศ.2451(ค.ศ.1908) และหนึ่งในแผนที่จำนวน 11 ระวาง ที่ถูกพิมพ์ขึ้นในชุดเดียวกันนี้ ก็ปรากฏเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางชื่อ “Dangrek” มีสัญลักษณ์ระบุอย่างชัดเจนว่าที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร “Preas Vihear” อยู่ในเขตแดนของกัมพูชา[1]
ประการที่สอง กรณี “ศาสตราจารย์” ผู้รู้ทางกฎหมายของไทยท่านหนึ่ง ให้ “คำอธิบาย” ว่า แผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา “เป็นการทำของฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานและสนธิสัญญา” แต่ “คำอธิบาย” ของผู้รู้ท่านนี้ ขัดแย้งต่อหลักฐานและข้อเท็จจริง กล่าวคือ แม้ว่า คณะกรรมการผสมสองฝ่ายไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการปักปันเขตแดนส่วนใหญ่กระทำขึ้น โดยฝ่ายฝรั่งเศส แต่ในที่สุดเมื่อตีพิมพ์แผนที่แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2451(ค.ศ.1908) ฝ่ายสยามก็ยอมรับแผนที่ดังกล่าวไว้ และเอาเข้าจริงแล้ว แผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 ที่กัมพูชาใช้แนบคำฟ้องเพื่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2502-2505(ค.ศ. 1959-1962) ก็คือแผนที่แผ่นเดียวกันกับ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางชื่อ "Dangrek" หนึ่งในแผนที่ ทั้งหมด 11 ระวาง ระวางละ 50 แผ่น ได้แก่ 1.Maekhop and Chianglom 2.rivers in the north 3.Muang Nan 4.Paklai 5.Huang River 6.Pasak 7.Mekong 8.Dangrek 9.Phnom Kulen 10.Lake และ 11.Muang Trat
จากเอกสารราชการสถานทูตสยามในปารีส เลขที่ 89/525 ลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2451(1908) หม่อมเจ้า จรูญศักดิ์ กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำฝรั่งเศส ทรงกล่าวถึง “คณะกรรมการผสม - Mixed Commission of Delimitation” ว่า “ได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว” และทรงรับแผนที่ชุดนี้มาจาก “Captain Tixier” เพื่อส่งมาถวาย สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ของสยามขณะนั้น ซึ่งส่งมายังประเทศสยามทั้งหมด 11 ระวาง ระวางละ 44 แผ่น โดย ทรงเก็บไว้ที่สถานทูตในฝรั่งเศสระวางละ 2 แผ่น และส่งไปยังสถานทูตสยามแห่งอื่นๆ ได้แก่ ลอนดอน เบอร์ลิน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา แห่งละ 1 ชุด (ทั้ง 11 ระวางๆ ละ 1 แผ่น)
ดังนั้น แผนที่ภาคผนวก 1 หรือ MAP ANNEX 1 จึงเป็นที่รับรู้ของฝ่ายสยามมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) หากจะมี “ผู้รู้อิสระ”" บางท่านกล่าวว่า “เป็นแผนที่ซึ่งฝรั่งเศสทำปลอมขึ้นทีหลัง เพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาเอาไปใช้สู้คดีในศาลโลก” จำต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนในถ่อยคำดังกล่าว เพราะแผนที่นี้ ปัจจุบันก็มีอยู่ที่กระทรวงต่างประเทศของไทย พิมพ์โดย H.BARRÈRE, Edituer Geographe.21 Rue du Bac, PARIS.
ประการที่สาม การรณรงค์ดินแดนที่เรียกว่า “มณฑลบูรพา” โดยอ้างอิง อนุสัญญาโตเกียว พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยได้เข้าไปครอบครองดินแดนกัมพูชาที่ จังหวัดพระตะบอง และ เสียมเรียบที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “จังหวัดพิบูลสงคราม” รวมทั้งดินแดนลาวที่ “จังหวัดลานช้าง” และ “จังหวัดจำปาศักดิ์” แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาอีกหนึ่งฉบับคือ สนธิสัญญาวอชิงตัน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับรัฐบาลไทย ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายไทย ต้องถอนกำลังทหารออกจากดินแดนทั้งหมดที่ไทยเคยบุกเข้าไปครอบครองในช่วงสงคราม เนื่องจากรัฐบาลไทยนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมือกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เพราะมีขบวนการเสรีไทยที่นำโดย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะประเทศแพ้สงครามในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น หากจะอ้างอิง อนุสัญญาโตเกียว พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ก็จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับสาธารณชนว่ายังมี สนธิสัญญาวอชิงตัน พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่า “รัฐบาลมิได้ขอสัตยาบันจากรัฐสภา"”แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า รัฐบาลในขณะนั้น ก็คือ ขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศชาติของเรารอดพ้นจากสถานะ “ประเทศผู้แพ้สงคราม” สามารถดำรงความเป็นเอกราชและอธิปไตยมาได้จนถึงปัจจุบัน
ประการสุดท้าย กรณีที่ “ผู้รู้อิสระ” ท่านหนึ่งออกมาโพนทะนาว่า “ค้นพบแผนที่ลับ” ของฝรั่งเศส นั้น แท้จริงแล้ว แผนที่ดังกล่าว เป็นเพียงแผนที่ประกอบบทความซึ่งปรากฏอยู่ใน “Les relations de la France et du Siam 1860-1907” ซึ่งตัดตอนมาจากบทความในวารสารแห่งกองทหารฝรั่งเศสในอาณานิคม เขียนโดย ร้อยเอกโซฟ (le capitaine SEAUVE) อดีตสมาชิกในคณะสำรวจปาวี (Mission Pavie) ซึ่งเดินทางเข้ามาสำรวจทำแผนที่ใน พ.ศ. 2426 เพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาและลาวอันเป็นดินแดนที่อยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส ปัจจุบันบทความดังกล่าว กรมศิลปากรได้ทำการแปลเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ "สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม พ.ศ.2223-2450" เมื่อ พ.ศ.2544 โดยแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส โดย อาจารย์นันทพร บรรลือสินธุ์
แผนที่ดังกล่าว ปรากฏในหนังสือหน้าที่ 178 ซึ่งวาดขึ้นเพื่อประกอบบทความ ว่าด้วยอาณาบริเวณที่สยามกับฝรั่งเศสนำมาแลกกันตามสนธิสัญญาลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2450 (ค.ศ.1907) ระบุไว้ว่า "CONVENTION DU 23 MARS 1907" ซึ่งวาดขึ้นโดยไม่ระบุพิกัดองศาเส้นรุ้งและเส้นแวง รวมทั้งไม่ปรากฏสัญลักษณ์หรือระบุที่ตั้งของปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด และด้านล่างของแผนที่ มีภาษาฝรั่งเศสระบุว่า “Revue des troupes colonials n°65” โดยมี Henri Charles-Lavauzelle เป็นผู้พิมพ์[2]
ดังนั้น หากพิจารณาโดยหลักวิชาการพื้นฐาน "ประวัติศาสตร์” ว่าด้วย “ลำดับชั้นของหลักฐาน” ที่แบ่งเป็น หลักฐานชั้นต้น หลักฐานชั้นรอง หรือ หลักฐานชั้นปลาย แล้ว จึงสรุปได้อย่างไม่มีข้อสงสัยว่า สถานะของการ “ค้นพบแผนที่ลับ” ของ “ผู้รู้อิสระ” รายนี้ เป็นเพียงหลักฐานชั้นปลายแถว ในการศึกษาเหตุการณ์เกี่ยวกับ สนธิสัญญา และแผนที่ไทย(สยาม)-กัมพูชา ซึ่งมีการลงนามและทำขึ้นระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ช่วงปี พ.ศ.2447-2451 (ค.ศ.1904-1908)
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้รู้ นักวิชาการ ทั้งที่มีและไม่มีสังกัด อาจจะต้องทบทวนสิ่งที่ตนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น อย่างเป็น “อิสระ” โดยบางครั้ง ขาดความรับผิดชอบทางวิชาการ ต่อข้อเท็จจริงและข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น เพราะ บรรดา “ความอิสระ” ทั้งหลายนั้น อาจไม่ต้องคำนึงมากนักถึงผลที่ตามมาต่อความรับรู้และความรู้สึกสาธารณะของประชาชน รวมทั้ง เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวที่กำลังทำงานกันอย่างสุดความสามารถ แต่สิ่งที่ “ผู้รู้อิสระ” ทั้งหลาย พูดออกไปนั้น บัดนี้ได้กลายเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกนำไปขยายผล “เล่าสู่กันฟัง” กลายเป็น “อาณาจักรแห่งความหวาดระแวง และ มืดบอดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน” ทั้งในมิติด้านกว้างและด้านลึก
เท่าที่จำได้ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอุษาคเนย์ เคยกล่าวไว้ว่า “เรียนแล้วไม่คิด เสียเวลา แต่ถ้าคิดโดยไม่เรียน อันตราย!” และในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาต้องเพิ่มเติมด้วยว่า “เรียนมาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี แต่กลับเอามาคิดเข้าข้างแต่ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของกันและกันแล้ว ก็ยิ่งอันตราย”
ขอจบท้ายด้วยคำขวัญรณรงค์เพื่อ “สมานฉันท์อุษาคเนย์” ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ว่า “Make Love Not War”
พรมแดนความ(ไม่)รู้เรื่องเขตแดน และ MOU 44 : นับ 1 ถึง 44 เขตทางทะเล ไทย-กัมพูชา
ท่านเคยฉุกคิดไหมครับว่า ทำไมเขตทางทะเลมันถึงมีหลายเส้น ทำไมไม่ขีดเส้นเดียวให้มันจบๆ ไป เหมือนเส้นเขตแดนทางบก ???
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล กำหนดเอาไว้ว่า เขตทางทะเล Maritime Zone มีทั้งหมด 6 เส้น/ลักษณะ มันไม่ได้มีแต่เฉพาะเส้น ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea)
เนื่องจากพื้นที่ในทะเล นั้น “อำนาจอธิปไตยของรัฐจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามระยะทางที่ไกลออกไปจากชายฝั่ง” หรือ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ รัฐไม่ได้มีอำนาจเต็มร้อยในแต่ละเส้นของเขตทางทะเล
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่แล่นเรือในทะเลเขารู้กันทั่วทั้งนั้นแหละครับว่า เส้นไหนเป็นเส้นไหน เขาจะไปไหนมาไหน เขาระแวดระวังกันอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงครับ
คำว่า เขตทางทะเล Maritime Zone ไม่ใช่ เส้นเขตแดนทางทะเล Sea Boundary Line เพราะเราจะไม่เดินลงไปปักปันเส้นเขตแดน หรือ เราจะไม่ขีดเส้นอาณาเขตในท้องทะเล ไม่เหมือนกับเขตแดนทางบก Land Boundary แต่ในทางกฎหมายทะเลทั้ง ฉบับปี 1958 และ UNCLOS 1982 กำหนดให้ รัฐต้องกำหนดเส้น/ขีดเส้น “ฐาน Baseline” ซึ่งคนเดินเรือเขาก็รู้ด้วยว่าอยู่ตรงๆ ไหน เกือบทุกประเทศในโลกมีการประกาศเส้นฐาน จะเป็นเส้นฐานปรกติ เส้นฐานตรง หรือ เส้นฐานตรงหมู่เกาะ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ของชายฝั่งและหมู่เกาะที่จะเอื้ออำนวยให้ขีดได้ และส่วนมากก็ขีดให้ตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะขีดได้
ดังนั้น ถ้านับ 1 ด้วยความเข้าใจแบบนี้ก่อน เส้นอื่นค่อยว่ากันต่อไป
เมื่อเรารู้จักกันไปแล้ว 1 เส้น คือ เส้นฐาน ดังนั้น ขอให้ทุกท่านนับ 1 จากเส้นนี้ วัดเข้ามาจาก เส้นฐาน ถึงฝั่งแผ่นดินเรียกว่า 1.น่านน้ำภายใน (Internal Water) แต่ถ้าวัดห่างออกไปจากเส้นฐานเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล เรียกว่า 2.ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) เขตทางทะเลใน 2 ส่วนนี้ เรามีอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) สมบูรณ์เต็มที่ ใครบุกรุกล้ำก้ำเกินเข้ามาโดยไม่สุจริต ไม่ว่าจะลอยมาบนผิวน้ำ จะถลามาบนอากาศ หรือ จะดำน้ำมุดเข้ามา ฝ่ายเราก็สามารถยิงได้เลย เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ โลกไม่ติเตียน ไม่ต้องกลัวหากต้องไปขึ้นศาล จบนะ
เส้นต่อมา คือ วัดต่อไปจากจุดสุดท้ายของทะเลอาณาเขตออกไปอีก 12 ไมล์ทะเล เรียกว่า 3.เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) ซึ่งตามกฎหมายทะเลกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า รัฐชายฝั่งมีเฉพาะสิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) หมายถึง ทำได้แค่ป้องกันและลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง หรือ การสุขาภิบาล เท่านั้น ย้ำว่า ทำได้เพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสงสัยว่ามีเรือลำหนึ่งขนแรงงานเถื่อนหรือขนของหนีภาษีเข้ามาในน่านน้ำไทย เราจะไปจับเรือลำนั้นสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ เราต้องเช็ค GPS ให้แน่ใจก่อนว่า เรือลำนี้อยู่ภายในระยะ 24 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานของประเทศไทยหรือไม่ เพราะถ้าเกิดไปจับเขาแล้วส่งเรื่องขึ้นฟ้องศาล สุดท้ายปรากฏว่า มีหลักฐานแน่ชัดพิสูจน์ได้ว่าเรือลำนี้ไม่ได้อยู่ภายในระยะ 24 ไมล์ทะเลตามที่กฎหมายทะเลกำหนดเอาไว้ ฝ่ายเราจะต้องปล่อยเขาไปและยังอาจจะถูกฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วย
เส้นต่อมาคือ 4. เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ให้วัดจากเส้นฐานออกไปได้ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล (เส้นนี้ไม่มีในกฎหมายทะเลปี 1958) แต่ในกฎหมายทะเลค.ศ. 1982 ยิ่งลดความสำคัญของอำนาจรัฐลงอีก เพราะทำได้แค่ สำรวจ (Exploration) แสวงประโยชน์ (Exploitation) อนุรักษ์ (Conservation) จัดการ (Management) ทรัพยากรในพื้นดินท้องทะเล (seabed) ดินใต้ผิวดิน (subsoil) ห้วงน้ำ (water) และแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พัฒนาพลังงานน้ำ/ลม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สามารถสร้าง/อนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้าง/เกาะ(เทียม) ทำการวิจัยค้นคว้าคุ้มครอง สงวนรักษาสิ่งแวดล้อม และออกกฎหมายควบคุมได้ ลองอ่านรายละเอียดดูในกฎหมาย ผมแปะลิงค์ไว้ให้แล้ว เราทำได้เท่านั้นจริงๆ จะไปยิงหรือจะไปจมเรือเขานี่ โดนฟ้องแน่ๆ อันนี้โลกติเตียน
เส้นต่อมา คือ 5. เส้นไหล่ทวีป (Continental Shelf) ซึ่งเป็นเรื่องของพื้นดินท้องทะเล (seabed) และดินใต้ผิวดิน (subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล กฎหมายกำหนดไว้ว่า เราทำได้แต่เพียงแสวงประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นดิน/ดินใต้ผิวดิน และเราต้องยินยอมให้มีการวาง/บำรุงรักษาสายหรือท่อใต้น้ำของรัฐชายฝั่งอื่นด้วย แค่นั้นเลย ไม่ได้ให้ทำอย่างอื่นเลย เราไม่มีอำนาจเหมือน 4 เส้นแรก ครับ และยิ่งเส้นสุดท้ายคือ 6.ทะเลหลวง (High Sea) อันนี้ไม่ต้องพูดถึง ตัวใครตัวมัน
อ่านมาถึงตอนนี้ คงจะพอเข้าใจแล้วว่าทำไม ทะเล ถึงมีเส้นเยอะจัง มีตั้ง 6 เส้น/ลักษณะ และอาณาเขตของแต่ละเส้นก็มีอำนาจหน้าที่ต่างกันตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายทะเล ซึ่งในปัจจุบัน ถ้าเกิดข้อพิพาทถึงขนาดต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเราก็จะใช้ UNCLOS 1982 เป็นหลัก
ทีนี้มานับต่อไปให้ถึง 44 กัน
MOU 44 หรือชื่อเต็มๆ ในภาษาอังกฤษ คือ Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน โปรดอ่านใหม่อีก 3 รอบ เขาคุยกันเรื่องอะไรครับ??? ใช่แล้ว ไหล่ทวีป ไหล่ทวีป ไหล่ทวีป ครับ แล้วทีนี้กลับไปอ่านตั้งแต่เริ่มบทความนี้ คำว่า ไหล่ทวีป ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เขาอนุญาตให้รัฐชายฝั่งทำอะไรได้บ้างครับ
บันทึกความเข้าใจนี้ ลงนามกันไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 โดยมีเนื้อหาว่า ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงบนพื้นฐานที่ยอมรับได้ร่วมกันในการแสวงประโยชน์ทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน โดยให้จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมตามเอกสารแนบท้าย และยังกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งเขตร่วมกันในทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในข้อ 5 ก็ได้กำหนดไว้ชัดว่า “ภายใต้เงื่อนไขการมีผลใช้บังคับของการแบ่งเขตสำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้และการดำเนินการทั้งหลายตามบันทึกนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้สำสัญญา” หมายความว่า ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงระหว่างนี้ ก็ให้ถือว่า MOU 44 นี้จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย
คำถาม คือ แล้วตัวเอกสารแนบท้ายที่หลายคนกังวลว่า มีการขีดเส้นไปคร่อม/อ้อมเกาะกูด จะทำให้เราเสียดินแดนหรือไม่
ขอตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกัน
เพราะเส้นนั้น คือ เส้นไหล่ทวีป ของกัมพูชาที่ขีดขึ้นใน พ.ศ.2515(ค.ศ.1972) (No.439-72/PRK) ซึ่งมีสิทธิ์ทำได้แค่ไม่กี่อย่าง ส่วนฝ่ายไทยเอง เราก็มีการประกาศเส้นฐานที่ชัดเจนตั้งแต่ พ.ศ.2513(ค.ศ.1970) (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 87 ตอนที่ 52/12 มิถุนายน 2513) ซึ่งการประกาศ เส้นฐาน มีความหมายว่า วัดจากจุดนี้ออกไปเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล นั่นคืออำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในพื้นที่ทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) ทั้งบนผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ ล้วนเป็นอำนาจเต็มของเรา ในทำนองเดียวกัน เส้นไหล่ทวีปที่เราประกาศใน พ.ศ. 2516 (ค.ศ.1973) (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 90 ตอนที่ 60/1 มิถุนายน 2516) ก็ทำได้แค่ไม่กี่อย่าง จะไปยิงกันก็ไม่ได้ครับ
สรุปว่า รัฐมีอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ ทะเลอาณาเขต มากกว่าในพื้นที่ ไหล่ทวีป ถ้าอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปทับซ้อน แต่มาทับซ้อนกับทะเลอาณาเขตของเรา เราก็ทำหน้าที่ไปตามกฎหมายระหว่างประเทศครับ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนเดินเรือ คนทะเลเขารู้ว่าอะไรเป็นอะไรครับ ที่สำคัญ ใน MOU 44 เขาไม่ได้ให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันว่าจะขุดเจาะหาปิโตรเลียมในพื้นที่บริเวณนี้เลย เขาแยกพื้นที่บริเวณนี้เอาไว้สำหรับตกลงกันเรื่อง เขตทางทะเล
[1] แผนที่ฉบับนี้หาได้จาก Google โดยพิมพ์คำว่า Dangrek แล้วเลือกรูปภาพขนาดใหญ่พิเศษ
[2] ในเอกสารใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า éditeur แต่ภาษาอังกฤษแปลว่า publisher แปลว่า ผู้พิมพ์