เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ‘สถาบันปรีดี พนมยงค์’ ได้ร่วมกับ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ จัดงานเสวนาทางวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ 2568 : PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากผู้ร่วมการเสวนา ได้แก่ กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน อ.ดร. ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุธรรม แสงประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมี ผู้ดำเนินรายการเสวนา อัครพงษ์ ค่ำคูณ กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์

ช่วงเปิดเวทีเสวนาได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล แสงอรุณ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์กล่าวให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านและกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล กล่าวถึงที่มาของวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกจัดขึ้นในทุก ๆ ปี เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “รัฐบุรุษอาวุโส” ในหลายแง่มุมโดยเฉพาะการเป็น”ผู้ประศาสน์การ” คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความสำคัญของงานเสวนา PRIDI Talks #30 “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” ถือเป็นโอกาสอันดีที่สังคมไทยจะได้แลกเปลี่ยนทางปัญญากันถึงคำถามที่ว่า “หากประชาธิปไตยไร้สันติภาพ เรายังเรียกว่าประชาธิปไตยได้หรือไม่”

ช่วงกล่าวนำ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวต้อนรับผู้รักชาติรักประชาธิปไตย และครอบครัวพนมยงค์ โดยกล่าวเปิดว่า “ประชาธิปไตยไร้สันติภาพ “ไม่ใช่” ประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยกล่าวย้อนไปถึงฐานรากของการพัฒนาประชาธิปไตยคือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร และ “แนวคิดภราดรภาพนิยม” ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สาระสำคัญของการกล่าวนำชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่เพียงโครงสร้างหรือกระบวนการ แต่ต้องมี “สันติธรรม” หรือความสงบภายในที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่าง การลดอคติ ความเกลียดชัง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม โดยนำแนวคิดภราดรภาพนิยมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่เน้นความเสมอภาค เมตตา และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ถูกยกขึ้นเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยเชิงคุณค่าและมีเนื้อหาสาระที่แท้จริง ทั้งนี้ยังยกตัวอย่าง “ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก” ที่ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้อำนวยการสร้าง ว่าเป็นการสื่อสาส์นสันติภาพในช่วงเวลาของความขัดแย้ง ได้นำกรณีความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นตัวอย่างของปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขโดยอาศัยแนวทางสันติ ไม่ใช่เพียงมาตรการความมั่นคงทางทหาร แต่ควรดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการเจรจา การเคารพสิทธิและอัตลักษณ์ของชุมชน และการกระจายความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง รัฐจะต้องมีเอกภาพในการบริหารจัดการและต้องยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงรองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ยังได้ยกตัวอย่างของผู้นำโลกอย่าง เนลสัน แมนเดลา เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้ในบริบทที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง การให้อภัยและสันติวิธียังสามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศหนึ่งได้ เช่นเดียวกับที่นายปรีดี พนมยงค์พยายามเผยแพร่แนวคิดสันติภาพผ่านสื่ออย่างภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของท่านในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ยังเตือนถึงภัยของสงครามและความรุนแรงในระดับโลกและภายในประเทศที่ยังไม่จบสิ้น แม้โลกจะก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีและสวัสดิภาพแล้วก็ตาม สงครามเย็นระลอกใหม่ ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และแนวโน้มของอำนาจนิยมกำลังท้าทายหลักประชาธิปไตยและสันติภาพในศตวรรษที่ 21 และย้ำว่า ผู้นำหรือรัฐบุรุษไม่สามารถสร้างสันติธรรมและประชาธิปไตยได้โดยลำพัง หากปราศจากพลังสนับสนุนจากมวลชนดังคำกล่าวของผู้อภิปรายที่ว่า “ไม่มีรัฐบุรุษคนใด สามารถสร้างสันติธรรมประชาธิปไตยได้ หากมวลชนไม่ตระหนัก ไม่สนับสนุนและไม่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังให้เกิดขึ้น”

นิคม สิงห์ทอง ผู้ชนะเลิศ รางวัลทุนปาล พนมยงค์ ได้ขึ้นนำเสนอบทความในหัวข้อ “ประชาธิปไตยที่ไร้สันติภาพ : เมื่อความรุนแรงไม่ได้อยู่แค่ในสงคราม” โดยกล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังอยู่ในสังคมไทย และวาทกรรมความขัดแย้งที่ผู้มีอำนาจปลุกระดมให้ผู้คนแบ่งฝักฝ่าย และขัดแย้งกันในที่สุด สุดท้ายผู้มีอำนาจก็ได้ฉวยใช้ความขัดแย้งนี้ปราบปรามผู้คนด้วยความรุนแรง ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่รวดเร็ว ก็ทำให้เกิดการสร้างความเกลียดชังอย่างเป็นปฏิบัติการ ทำให้เกิดความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ยากจะแก้ไข
นิคม ได้นำแนวคิดของนายปรีดี เรื่องสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย มาปรับใช้ในบทความ เพื่อเสนอให้สร้างโครงสร้างที่ให้โอกาสกับราษฎร และการใช้เหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืน ทั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหานั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงของการเสวนา อัครพงษ์ ค่ำคูณ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวเปิดประเด็นนำเข้าสู่การเสวนา ถึงสถานการณ์ทั่วโลกถึงความรุนแรงทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ยังย้ำให้เห็นอีกว่าความรุนแรงยังมีด้านที่ซับซ้อน

โดยคำถามไปที่ อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ช่วยอธิบายมิติต่าง ๆ ของความรุนแรงเพื่อปูทฤษฎีเข้าสู่ประเด็นเสวนาต่าง ๆ

อ.ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ได้อธิบายความหมายตามแนวคิด “สันติภาพ” ของนายปรีดี พนมยงค์ คือ ทั้งยังเชื่อมโยงเข้ากับ ทฤษฎีว่าด้วยความรุนแรงของโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ว่าด้วยสามเหลี่ยมของความรุนแรง กลัวความรุนแรงไม่ได้มีเพียงความรุนแรงทางตรง ที่หมายถึงการทำร้ายต่อชีวิต เนื้อตัว ร่างกายที่มองเห็นได้ แต่ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันรวมถึงความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ ความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงโครงสร้างความรุนแรงไว้ ดังนั้นการสร้างสันติภาพจึงต้องคำนึงถึงการลบความรุนแรงทั้งสามด้านให้ได้มากที่สุดจึงจะได้สันติภาพที่ยั่งยืน หรือสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace)
อ.ดร.ฟูอาดี้ ยังได้กล่าวต่อถึงสถานการณ์โลก คือ (1) การเสื่อมถอยและความโดดเดี่ยวนิยมชิงอำนาจเดิม (2) อำนาจเดิมกำลังถูกท้าทาย อำนาจใหม่กำลังขึ้นมา (3) อำนาจใหม่กำลังถูกคว่ำบาตรและถูกสกัดกั้น และอาจจะใช้กำลัง ที่นำไปสู่ “สงครามร้อน (4) ระเบียบโลกเสรีนิยมกำลังล่มสลาย เหตุผลในการพึ่งพากัน และกันลดลง และเชื่อมโยงสถานการณ์โลกนี้ไปถึงแนวคิดสันติภาพ ของปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ใช่การสร้างสันติภาพโดยไม่ใช่การไม่ยอมรับสงครามโดยสิ้นเชิง แต่คือ “สันติภาพตราบใดที่….” มีภัยคุกคามจนต้องทำสงคราม ทั้งนี้จึงยกตัวอย่างสารในพระเจ้าช้างเผือก ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีใช้ ทฤษฎีสงครามที่ชอบธรรม (Just War Theory) สงครามสามารถมีความชอบธรรมทางศีลธรรมได้ หากมีเหตุผลอันชอบธรรมและดำเนินการตามหลักจริยธรรมอย่างเข้มงวด โดยทำไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและมนุษย์ทั้งหลาย ต้องเป็นสงครามตั้งใจจำกัดความรุนแรง และมุ่งสู่สันติภาพในท้ายที่สุด

กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม ได้กล่าวต่อยอดว่า “สันติภาพ” เป็นสิ่งหลายล้านคนรอคอย อย่างผู้ลี้ภัย, ผู้อพยพ, และคนกลุ่มเปราะบางทั้งหลาย และการเชื่อมโยง (Nexus) ระหว่าง มนุษยธรรม (Humanitarian) และ การพัฒนา (Development) ซึ่งแค่นี้ไม่เพียงพอ ต้องรวม “สันติภาพ” (Peace) เข้าไป กล่าวคือการสร้างสันติภาพเข้ามาเป็นประเด็นด้วย ทั้งนี้ยังเชื่อมโยงกับการปฏิบัติของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ใน 2 ประเด็นคือสันติภาพ กับ รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ผลงานการอภิวัฒน์สยาม 2475 กับการผลักดันรัฐธรรมนูญให้เป็นกฏหมายสูงสุด แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีได้สนใจแนวคิดสันติภาพ ที่หมายถึงการยกระดับความคิดเรื่องสันติภาพให้เป็นเรื่องสากล และปัจจุบันต้องกลับมาสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) เช่นเดียวกับที่ อ.ดร.ฟูอาดี้ แต่ถึงอย่างไร ตนเองก็ยังใฝ่ฝันถึงสันติภาพอันไร้สงครามอย่างสิ้นเชิง

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ประธานมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวถึงมุมมองจากล่างขึ้นบนจากประสบการภาคสนามและงานมูลนิธิที่ทำกับชุมชนในปัญหาชายแดนไทย-เมียนมาร์ ที่หลังการรัฐประหาร เมียนมาร์ไม่มีทั้ง “ประชาธิปไตย” และ “สันติภาพ” เลย โดยมีการทำสงครามกันอย่างต่อเนื่องระหว่ารัฐบาลทหาร ประชาชน, และกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบในฐานะชายแดน ถึงอย่างไร ชลิดาเน้นว่ามีผลอย่างหนักกับ “คนตัวเล็กตัวน้อย” ที่เป็นสามัญชนคนธรรมดาทั้งในไทย และเมียนมาร์ ซึ่งรัฐไทยก็ไม่ได้วางตัวเป็นกลาง โดยเข้าข้างฝ่ายรัฐ แม้แต่ข้าราชการระดับสูงบางคนก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในเมืองชเวโก๊กโก รัฐบาลไทยจึงควรรับรู้ถึงผลกระทบต่อราษฎรตัวเล็ก ๆ ในสงครามนี้
สำหรับกลไกสิทธิมนุษยชน อันต้องเริ่มจากกลไกในประเทศ ที่เกี่ยวโยงไปถึงกลไกระดับสากล ซึ่งไทยกำลังถูกลดระดับ จากระดับ a เป็นระดับ b แต่กลไกสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในความเป็นจริงไม่สูงนัก แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนควรรู้ไว้ว่ามีการกลไกเหล่านี้ ซึ่งภาคประชาสังคมอย่างมูลนิธิศักยภาพชุมชนจะร่วมทำหน้าที่ทำให้กลไกสิทธิมนุษยชนเข้มแข็ง

สุธรรม แสงประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง เกร็ดประวัติศาสตร์ของสันติภาพในชายแดนภาคใต้ การร่วมมือกันระหว่างศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี และ นายแช่ม พรหมยงค์ ที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมและสันติภาพ ในชายแดนใต้ ทำให้เห็นว่า ปัญหาการเจรจาในภาคใต้ยังแก้ปัญหาได้ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นทางการ ในการพูดคุยสันติภาพ โดยการรัฐประหารเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ชะงักงัน และ “การเจรจา” สันติภาพเป็นสิ่งที่ต้องทำ ตัวอย่างคือการเจรจาในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ถ้าอาจารย์ปรีดี ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะได้เห็นการเจรจา และความรุนแรงจะบรรเทาลงไปอีกมาก ทั้งนี้ยังกล่าวถึงปัญหาการตั้งรัฐบาลในลักษณะนี้ก็แก้ปัญหาได้ยากเพราะความขัดแย้งภายใน
ในประเด็นประสบการณ์ส่วนตัว การผ่าน เหตุการณ์ 6 ตุลาที่สะท้อนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอันนำไปสู่การสังหารหมู่ที่เป็นความรุนแรงทางตรง สุธรรม ชี้ให้เห็นว่า การกลับมาย้อนเล่าคุณูปการต่าง ๆ ของรัฐบุรุษอาวุโสอีกครั้ง แนวคิดเหล่านี้ยังทันสมัย และนำมาผลักดันสันติธรรมประชาธิปไตยได้ และยังมีอีกคนที่สำคัญคือ “สุลักษณ์ ศิวลักษณ์” ที่เผยแพร่ผลงานแนงคิดของนายปรีดีมาอย่างยาวนาน

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า การผลักดันสันติภาพไม่ใช่แนวทางของคนแพ้ การต่อสู้ขับเคลื่อนของผู้ถูกใช้ความรุนแรงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องใช้สันติภาพในการเปลี่ยนโครงสร้าง ดูผิวเผินคนเหล่านี้อาจแพ้ แต่ต้องดูว่ามีแรงกระแทกในการเปลี่ยนแปลง อังคนาย้ำให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ได้มีเพียงความรุนแรงทางกายภาพ และต้องนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
สำหรับประเด็น ผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง ผู้หญิงเป็นแนวหน้าของการต่อสู้เรียกร้องเสมอ แต่หลายครั้งในกระบวนการออกนโยบายกลับมีแต่ผู้ชาย จึงควรผลักดันให้ผู้หญิงได้มีพื้นที่เท่าเทียมกับผู้ชายในการสร้างสันติภาพ เช่น ผู้หญิงในชายแดนภาคใต้มีศักยภาพมาก จึงต้องหาทางทำให้ผู้หญิงมีอำนาจมากขึ้น ต้องเข้าถึงโอกาสในกระบวนการกำหนดนโยบายได้เท่าเทียมกัน
สุดท้ายอังคณา เสนอในประเด็น “ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกไม่ได้ แต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์” เป็นสิ่งที่ต้องระบุให้ชัดเจนซึ่งเป็นความจำเป็นที่จะทำให้ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ต้องก้าวข้ามวัฒนธรรมการยกเว้นโทษ ต้องสร้างระบอบประชาธิปไตยต้องมีอิสระถ่วงดุลกันได้ และสุดท้าคือมียุทธศาสตร์สันติวิธี โดยประเทศในอาเซียนต้องมีบทบาทนี้ที่จะต้องดูแลประชากรอาเซียนร่วมกัน
ในช่วงท้ายเป็นการมอบของที่ระลึกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้ร่วมการเสวนาและผู้ดำเนินรายการเสวนา งานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ทายาทปรีดี - พูนศุข พนมยงค์, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย กรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, คุณสันติสุข โสภณศิริ กรรมการกลางมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, คุณกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, รองศาสตราจารย์ มารค ตามไท อาจารย์ด้านปรัชญาสันติภาพ และอดีตหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ อาจารย์ และอดีตนักกิจกรรม เป็นต้น









รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/share/v/1G6caabDHz/
- PRIDI Talks
- PRIDI Talks 30
- 125 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- วันปรีดี พนมยงค์
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กัณวีร์ สืบแสง
- ชลิดา ทาเจริญศักดิ์
- ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
- สุธรรม แสงประทุม
- อังคณา นีละไพจิตร
- อัครพงษ์ ค่ำคูณ
- ณัฐพล แสงอรุณ
- .อนุสรณ์ ธรรมใจ
- ประชาธิปไตย
- สงคราม
- สันติภาพ
- พระเจ้าช้างเผือก