ถัดจาก “บ้านศาลาแดง” เป็นบ้านลูก ๆ เจ้าพระยายมราช ข้ามซอยศาลาแดงมาเป็นตึกแถว ๑๐ กว่าคูหา โรงพิมพ์นิติสาส์นเช่าอยู่ ๒ คูหา
หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดี พนมยงค์ สอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์น ออกวารสาร นิติสาส์นรายเดือน สำหรับผู้สนใจกฎหมายบ้านเมือง นอกจากนั้นได้พิมพ์หนังสือ ประชุมกฎหมายไทย เล่มที่ ๑ - เล่มที่ ๑๒ อัตราค่าสั่งจองชุดละ ๖๐ บาท ข้าพเจ้าทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟหรือพิสูจน์อักษร และทำบัญชีการสั่งจอง รวมทั้งการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งไปทางไปรษณีย์ให้ผู้สั่งจอง ปรากฏว่าหนังสือชุดนี้เป็นที่ต้องการมาก ทำให้นายปรีดีกับข้าพเจ้ามีเงินสะสมในการสร้าง “บ้านพูนศุข” ในเวลาต่อมา
โรงพิมพ์นิติสาส์นยังมีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕
เช้าวันที่ ๒๕ มิถุนายน คนงานที่โรงพิมพ์วิ่งมาบอกข้าพเจ้าที่ “บ้านป้อมเพชร์” ว่า มีทหารหมู่หนึ่งให้พิมพ์ใบปลิว
ให้พิมพ์หรือไม่ให้พิมพ์ ข้าพเจ้าตะลึงงันไม่รู้จะปรึกษากับใครดี นายปรีดีก็ไม่อยู่ เสียด้วย ก่อนหน้านี้ ๒ วัน นายปรีดีบอกข้าพเจ้าว่าจะไปเยี่ยมบิดามารดาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจริง ๆ แล้วไปเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องปิดเป็นความลับ แม้แต่ข้าพเจ้าผู้เป็นภรรยาก็ยังมิได้ล่วงรู้ข้าพเจ้าเกรงว่าจะมีปัญหากับทหารกลุ่มนั้น จึงตอบตกลงให้พิมพ์ได้
ใบปลิวที่โรงพิมพ์นิติสาส์นพิมพ์ ที่แท้เป็นคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร ซึ่งได้แจกจ่ายทั่วกรุงในบ่ายวันนั้น
โรงพิมพ์นิติสาส์นคงดำเนินกิจการต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก่อตั้งเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ นายปรีดีได้มอบแท่นพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งหมดให้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ใช้สำหรับพิมพ์ตำราเรียนของนักศึกษา
ถัดจากโรงพิมพ์นิติสาส์นเป็นบ้านเจ้าสัวยู่เซ่งหลง เจ้าของโรงเลื่อยที่อยู่ใกล้กับวัดสระเกศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ บนหลังคาตึกบ้านเจ้าสัว ติดตั้งเครื่องไซเรนไว้เตือนภัยเมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินเข้ามาทิ้งระเบิดเหนือน่านฟ้าพระนคร
ริมถนนสีลมในช่วงต่อมา เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว แล้วก็บ้านพระยาเวหาสยาน รับราชการเป็นทหารอากาศ ติดกันเป็นบ้านพระยาราชานุกูล (รื่น ศยามานนท์) อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
จากนั้นเป็นถนนคอนแวนต์ เลี้ยวถนนเข้าไป บ้านแรกคือบ้านศิวดล เป็นบ้านของนายเคงเหลียง สีบุญเรือง มีบุตรชายชื่อ จรูญ เคยเป็นรัฐมนตรี และบุตรีเป็นราชบัณฑิต คือ ดร.จิตรเกษม สีบุญเรือง
ถัดมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์และสำนักคาร์เมลิต (Carmélite) ศาสนสถานสำหรับนักบวชหญิงคาทอลิกที่บำเพ็ญศาสนกิจอย่างเข้มงวด ตัดขาดจากโลกภายนอก คนทั่วไปเรียกนักบวชหญิงเหล่านี้ว่า “ชีมืด”
ข้าพเจ้าเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ ตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ เรียนชั้นตรียม Preparatory จนถึงชั้น Standard 7 แล้วข้าพเจ้าได้ลาออกมาแต่งงานกับนายปรีดี
บ้านต่อจากถนนคอนแวนต์ คือบ้านพระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) อดีตอัครราชทูตหลายประเทศ คุณหญิงรื่นภริยาท่านเจ้าคุณมีความงามสง่าคล้ายสุภาพสตรีชาวตะวันตก
พระยาอภิบาลราชไมตรี เป็นปู่ของคุณเดช บุนนาค อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
ต่อจากบ้านเจ้าคุณอภิบาลฯ เป็น Vila Flora ของสกุล เดอ เยซู ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส เชื้อสายโปรตุกีส-มาเก๊า ครอบครัวนี้เป็นเจ้าของกิจการ Oriental Bakery ร้านขนมนมเนยแบบตะวันตก เมื่อข้าพเจ้าอยู่บ้านคลองสาน ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือแจวสีเขียวของ Oriental Bakery เร่ขายขนมปังปอนด์สด ๆ ลูกอมแท่งยาว ๆ สีรุ้งน่าชวนชิม บิสกิตและช็อกโกแลตในกล่องโลหะสวยงาม ฯลฯ ผ่านหน้าบ้านทุกวันเป็นการสะดวกกับผู้ที่อยู่ริมน้ำ
ติดกับ Vila Flora เป็นบ้านพระศรีภักดี ข้าราชการกระทรวงการคลังและบ้านนาย
บุญศรี จันทรอุไร คหบดี แล้วจึงเป็นบ้านพระยาเทพวิทุรพหุลศรุตบดี (บุญช่วย วณิกกุล) เนติบัณฑิตอังกฤษ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคุณหญิงเอื้อม (สกุลเดิม “โชติกเสถียร”)
จากนั้น คั่นกลางด้วยซอยพิพัฒน์ ในซอยมีบ้านของนายแสง (ติ๊ดเส็ง) กรองทอง บิดาของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา กวีหญิงนามอุโฆษ - “อุชเชนี” แล้วจึงเป็นบ้านของ พล.ต. พระยาสุรเสนา (ม.ร.ว. ชิต กำภู) มีบุตรธิดาชื่อ ชูชาติ ชิดเชื้อ ชวนชื่น ชดช้อย เอกชัย ฯลฯ เรียงกันมา และเมื่อบุตรชายคนโตของท่านสอบชิงทุนได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ท่านเจ้าคุณจัดมหรสพ ๓ วัน ๓ คืน เสียงดีดสีตีเป่าแว่วมาถึง “บ้านป้อมเพชร์” ซึ่งอยู่เยื้อง ๆ กัน
บ้านพระยาสุรเสนาในปัจจุบันคือ สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ส่วนซอยสุรเสนานั้น นักช็อปปิงปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ซอยละลายทรัพย์”
บ้านพระยาทัพภยุทธพิจารณ์อยู่ถัดต่อมา มารดาข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคุณหญิงเวียน ส่วนเลิศวงศ์กับจงรัก บุตรสาวสองคนของคุณหญิงเวียนรุ่นเดียวกับอัมพาน้องสาวข้าพเจ้า
เมื่อก่อนนี้ กรุงเทพฯ มีร้านดอกไม้เพียงไม่กี่ร้าน ร้านดอกไม้คุณหญิงเวียนที่เปิดอยู่หน้าบ้านท่านชื่อร้านออร์คิดสีลม สั่งดอกไม้จากต่างประเทศมาขาย คัทลียาสีม่วงดอกใหญ่ สวยงามมาก
มีบ้านที่ให้ฝรั่งเช่าอยู่ติดกับบ้านเจ้าคุณทัพภยุทธฯ แล้วจึงเป็นซอยศิริจุลเสวก ตามชื่อของพระยาศิริจุลเสวก นายทหารคนสนิททูลกระหม่อมจักรพงษ์ฯ ฤดูกาลข้าวเหนียวมะม่วง คุณหญิงเชื้อจะทำมาให้ครอบครัวบิดามารดาข้าพเจ้าเสมอ
วังของ ม.จ. วัลภากร วรวรรณ อยู่ตรงข้าม “บ้านป้อมเพชร์” ช่วงเย็น ๆ แม่รอดพี่เลี้ยงคุณชายคุณหญิงมักพาบุตรธิดาของท่านวัลภากรมาเล่นที่ “บ้านป้อมเพชร์”
ติดกับวังเป็นลำรางสาธารณะ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการขยายถนนสีลมให้กว้างขึ้น การตัดถนนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น บ้านเรือนบริเวณข้างเคียงลำรางสาธารณะถูกเวนคืน “บ้านป้อมเพชร์” ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามก็ถูกเวนคืนด้วยเช่นกัน กลายเป็นถนนตัดใหม่ ซึ่งต่อมาคือ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
คลองสีลมถูกถมเป็นพื้นผิวจราจรสำหรับยวดยาน ถนนราดยางและถนนคอนกรีตเข้ามาแทนที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเคยได้สมญานามว่า “เวนิสตะวันออก” หมดสภาพไปโดยปริยาย เมื่อคูคลองหลงเหลือน้อยมาก สิ่งที่ตามมาก็คือ คราใดที่ฝนกระหน่ำตกลงมา กรุงเทพจะกลายเป็นเมืองบาดาลในชั่วพริบตา รถราติดขัดจากถนนหนึ่งสู่อีกถนนหนึ่งโดยอัตโนมัติ
จากนั้น เป็นบ้านของพระยาประชากิจกรจักร์ (ชุบ โอสถานนท์) บิดาของคุณวิลาศ โอสถานนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร
มีบ้านเช่าอยู่สองสามหลัง ก็ถึงป่าช้าคาทอลิก จากนั้นเป็นซอยสุสาน ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า ซอยศึกษาวิทยา
ริมถนนสีลมยังเรียงรายด้วยป่าช้าซาเวียร์ ซึ่งเป็นป่าช้าของตระกูลพระยาพิพัฒน์ โกษากร อดีตทูตไทย เชื้อสายโปรตุเกส ป่าช้าสารสินของสกุลสารสิน และป่าช้ากวางตุ้ง
ข้าพเจ้ามีความคุ้นเคยกับป่าช้าเหล่านี้ตั้งแต่เยาว์วัย ย้อนรอยไปเมื่อ ๘๐ ปีก่อน ในคืนอันมืดสนิท บิดาข้าพเจ้าชักแถวนำลูก ๆ เดินเข้าไปในซอยสุสานที่รกชัฏและเงียบสงัด สองข้างทางเป็นป่าช้า มีป่าช้าฮกเกี้ยน ป่าช้าแต้จิ๋ว และป่าช้าไวตี ไป “บ้านสามภูมิ” ที่ถนนสาทรเหนือ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นกับอำภา พยัคฆาภรณ์ (คุณหญิงสุรการบัญชา) ลูกสาวนายตันลูเซ็ง โดยมีข้าพเจ้าเดินรั้งท้าย
คนทั่วไปอาจเห็นว่าเป็นการกระทำที่แปลก แต่ความแปลกนี้แฝงด้วยการอบรมสั่งสอน บิดาข้าพเจ้าเป็นผู้ที่มีความคิดทันสมัย ไม่หลงงมงายในสิ่งที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ แล้วการฝึกฝนเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าไม่กลัวเกรงในอิทธิพลมืด แข็งแกร่งที่จะเผชิญกับมรสุมทางการเมืองในเวลาต่อมา
ขบวนการประชาธิบไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ หรือที่เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” ประสบความล้มเหลว นายปรีดีต้องหลบซ่อนอยู่ ณ บ้านสวนฉางเกลือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี (บริเวณอาคารศุภาคารในปัจจุบัน)
คืนหนึ่งใกล้ฟ้าสาง รถรางขบวนแรกบนถนนสีลมเริ่มออกเดินรถและผู้คนเริ่มออกมาทำกิจวัตรประจำวันแต่เช้ามืด หลังจากที่ข้าพเจ้าลอบไปพบนายปรีดีที่บ้านสวนฉางเกลือ ข้าพเจ้ากลับมา “บ้านป้อมเพชร์” เพียงคนเดียว จากท่าเรือตลาดบางรัก ผ่านป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าสารสิน ป่าช้าซาเวียร์ และป่าช้าคาทอลิก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้พบคนรู้จักหรือจำได้ และเลี่ยงจากการติดตามของสายลับตำรวจ
ข้าพเจ้านึกถึงการฝึกฝนเดินผ่านป่าช้าเมื่อเด็ก ๆ นึกถึงพระคุณของบิดาข้าพเจ้า ถ้าไม่มีการฝึกฝนในครั้งกระโน้น ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่าตนเองจะรวบรวมความกล้าที่จะเดินผ่านป่าช้าในความมืดในวันนั้นได้อย่างไร
ซอยแยกจากถนนสีลมต่อจากป่าช้ากวางตุ้งเป็นตรอกตำบีซา
“ตำบีซา” เป็นชื่อของชาวภารตะคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนั้น ปากซอยมีบ้านที่นายยิ้ม พึ่งพระคุณ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เช่าอยู่กับภรรยาชาวต่างประเทศ ถัดต่อมาเป็นบ้านเช่าที่หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา) อยู่กับภรรยาชาวฝรั่งเศส
หลวงวิจิตรฯ รู้จักกับนายปรีดีตั้งแต่สมัยที่นายปรีดีเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย
เดิมข้าพเจ้าเรียนเปียโนกับ Soeur Renée (เซอร์ เรอเน) ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ต่อมามารดาข้าพเจ้าให้ข้าพเจ้ามาเรียนเปียโนกับมาดามวิจิตร โดยยินดีจ่ายค่าเรียนเปียโนจากเดือนละ ๑๐ บาทที่โรงเรียนมาเป็น ๑๕ บาทกับมาดามวิจิตร และมาดามวิจิตรเดินมาสอนข้าพเจ้าที่ “บ้านป้อมเพชร์”
ในตรอกตำบีซามีชุมชนมุสลิม
ต่อจากตรอกตำบีซามาเป็นตรอกไวตี
“ไวตี” เป็นชื่อของนายไวตี ปะดัยยาจี ชาวภารตะที่เข้ามาตั้งรกรากที่เมืองสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นผู้ชักชวนชาวฮินดูที่ถนนสีลมร่วมกันสร้างวัดพระศรีมหาอุมาเทวี นายไวตีมีที่ดินอยู่ที่ถนนสีลม จึงได้ตัดตรอกขึ้นตรอกหนึ่งในบริเวณที่ดินของตน เรียกกันว่า “ตรอกไวตี”
ขนานกับตรอกไวตีเป็นถนนปั้น มีวัดแขกหรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวีอยู่มุมตัดถนนสีลมกับถนนปั้น
ก่อนจะเลี้ยวเข้าถนนประมวญ มีอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต
ส่วนบริเวณปากทางถนนประมวญมีวังของ ม.จ. ปฏิพัทธ์เกษมศรี เกษมศรี ลึกเข้าไปมีวังกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ปลายถนนประมวญด้านถนนสาทรมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน น้องชายรุ่นเล็กของข้าพเจ้าสองคนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนี้
ตรอกเวชอยู่ถัดจากถนนประมวญ มีบ้านของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (สกุล ณ สงขลา) และบ้านของสกุลจารุจินดา และบ้านของสกุลจารุรัตนและสกุลยุกตะนันทน์
ถัดต่อมาเป็นถนนสุรศักดิ์ มีบ้านของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (ฮี้ สารสิน)
แล้วก็มาถึงสุขศาลาบางรัก ซึ่งเดิมเป็นโรงพยาบาลหมอเฮส์ สถานพยาบาลเก่าแก่ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ บนที่ดิน “บ้านหลวง”
ครอบครัวข้าพเจ้าไปรักษากันที่สุขศาลาบางรัก เพราะเป็นสถานพยาบาลใกล้บ้านที่สุด ที่นี่มีแพทย์ปริญญา และข้าพเจ้ายังเป็นญาติกับแพทย์ประจำสุขศาลา คือ นายแพทย์บุญ (ช่วย) สุวรรณศร โดยมี น.พ. วิเชียร เสรีบุตร เป็นหัวหน้า
ตอนนั้นแพทย์ประจำสุขศาลามีอยู่ ๔-๕ คน พยาบาลที่จำได้มีอยู่ ๒ คน คือ พยาบาลละออ สวัสดิชูโต และพยาบาลกระจ่างจิต บุณยเกียรติ ในเวลาต่อมามี พ.ญ. เพียร เวชชบุล หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอเพียร” หมอแม่พระเด็กกำพร้า พ.ญ. กัลยา เจริญศิลป์ หรือวิเศษ แพทยาตามบรรดาศักดิ์ของบิดา และ พ.ญ. ม.ร.ว. ส่งศรี เกษมศรี ภรรยา น.พ. อวย เกตุสิงห์ เป็นแพทย์ประจำอยู่ที่นี่
สุขศาลาบางรัก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ร.พ.บางรัก และเมื่อคุณหญิงภักดีนรเศรษฐ์ (สิน เศรษฐบุตร) ได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งสร้างอาคารหลังหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาภักดีนรเศรษฐ์ (เลิด เศรษฐบุตร) ในพ.ศ. ๒๔๙๑ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเลิดสิน” นับตั้งแต่นั้นมา
บ้านเรือน “ฝั่งถนน” สิ้นสุดลงตรงสุขศาลาบางรัก และเป็นที่กลับรถของรถเมล์ขาว นายเลิด รถโดยสารประจำทางสายเดียวบนถนนสีลม
ข้าพเจ้าขอพาท่านผู้อ่าน U-Turn ตามรถเมล์ขาวมารู้จักบ้านเรือน “ฝั่งคลอง”
เริ่มด้วยบ้านของพระยาพิจารณาปรีชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย) อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กระทรวงยุติธรรม ท่านผู้นี้ครอบครองที่ดิน สองฝั่งถนนสีลม ตรอกเวชตั้งตามชื่อบิดาท่าน ถนนปั้นตั้งตามชื่อมารดาท่าน
ถัดมาเป็นบ้านเช่าฝรั่ง และโรงพิมพ์สยามนิกร ซึ่งก่อตั้งหลัง สงครามโลกครั้งที่ ๒
“บ้านไชยา” อยู่ถัดต่อมา เป็นบ้านของคุณชื่น ศรียาภัย สตรีสูงวัย ครองตัวเป็นโสด น้องชายของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา
บ้านของพระยาศรีสหเทพเป็นบ้านต่อมา ท่านมีบุตรีคนหนึ่งชื่อ กุหลาบ เป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลายมือสวยมาก เมื่อ ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล และ ม.จ.หญิงพัฒนายุ ดิศกุล จัด หอสมุดดํารงราชานุภาพ น.ส.กุหลาบได้ไปทําหน้าที่เขียนคําอธิบายเป็น ภาษาอังกฤษ
ต่อมาเป็นบ้านพระยาประมวลวิชาพูล (วงศ์ บุญ-หลง) แล้วก็บ้าน พระยาสวัสดิคีรี (สกุล สุวรรณปัทม) ตามด้วยบ้านของพระยาวิสุทธากร (สกุล ทรรทรานนท์)
เยื้อง ๆ กับถนนประมวญเป็นบ้านของ Monsieur René Guyon อยู่ตรงปากซอยตันง่วนส่วย ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชื่อซอยประดิษฐ์ เมอร์ซิเออร์ กียอง เป็นชาวฝรั่งเศส มีตําแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย กรมร่างกฎหมาย ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตั้งชื่อไทยว่า “พิชาญ บุลยง”
อีกมุมหนึ่งของตรอกต้นง่วนส่วยเป็นบ้านของสกุลเยาหรี
บ้านคุณนายเครื่อง สีบุญเรือง อยู่ต่อมา มีอาณาบริเวณกว้างขวางปัจจุบันคือ Silom Village
แล้วก็บ้านพระยามโหสถศรีพิพัฒน์ (เชิญ ปริชญานนท์)
มีสะพานเล็ก ๆ อยู่ถัดมา ข้ามสะพานเข้าไปเป็นบ้านของครอบครัว หลวงวิจารณ์ศุขเกษม (ติ๊ด ลุลิตานนท์) คุณวิจิตร ลุลิตานนท์ บุตรชายคนโตเป็นอดีตเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ส่วนคุณประสิทธิ์ บุตรชายอีกคนหนึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Bangkok Post
จากนั้นเป็นบ้าน Mazza ชาวอิตาเลียน ลูกสาวครอบครัวนี้เป็น เพื่อนรุ่นเดียวกับพี่น้องข้าพเจ้า Catherine เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับพี่สาวคนโตของข้าพเจ้า Lucy เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับข้าพเจ้า ซึ่งต่อมา Lucy แต่งงานกับหลวงรักษนาเวทย์ (สกุล คุณะดิลก) ส่วน Lily เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับอัมพา น้องสาวของข้าพเจ้า
สโมสรอังกฤษอยู่ถัดต่อมา เป็นที่ชุมนุมของชาวอังกฤษในสยาม
ถนนสีลมด้านฝั่งคลองไม่ค่อยจะมีถนนหรือตรอกซอยแยกเหมือนกับฝั่งถนน ถนนเดโชนับว่าเป็นถนนแยกที่สําคัญของฝั่งคลอง มีสะพานคอนกรีตเชื่อมต่อหัวมุมถนนเป็นบ้านของ คุณย่าเชื้อ มารดา คุณติดต่อ บุนนาค มีศาลาน้ํายื่นเข้าไปในลําคลอง เวลาข้าพเจ้าผ่านไปผ่านมา มักจะเห็นคนในบ้านมานั่งโขลกน้ําพริกที่ศาลาน้ํา
ก่อนถึงลํารางสาธารณะ เป็นบ้านเช่า มิสเตอร์ Gotche ผู้จัดการ รถไฟสายพระนคร-ปากน้ํา ชาวเดนมาร์ก ผู้มีภรรยาเป็นคนไทย มีบุตรคนหนึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” และได้นามสกุลพระราชทานว่า “คเชสนันท์”
อีกฝั่งหนึ่งของลํารางสาธารณะ คือ “บ้านป้อมเพชร์” ซึ่งข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในตอนต้นแล้ว
ขณะนั่งรถผ่านบริเวณที่ตั้งของ “บ้านป้อมเพชร์” ภาพวันเก่า ๆ ผุดเข้ามาในความทรงจําของข้าพเจ้ามากมาย
“เจ๊กเก๊า” เป็นคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าจําได้
หลังจากบิดาข้าพเจ้าถึงแก่กรรมแล้วหลายปี มี “เจ๊กขายก๋วย เตี๋ยว” ที่ชื่อ “เก๊า” ลูกค้าต่างเรียกว่า “เจ๊กเก๊า” ฝากหาบก๋วยเตี๋ยวไว้ตรงโรงรถ ซึ่งมารดาข้าพเจ้าอนุญาต
เช้า ๆ “เจ๊กเก๊า” เตรียมเครื่องก๋วยเตี๋ยว ต้มกระดูกหมูซี่โครงไก่ น้ําซุปในหม้อใหญ่เดือดปุด ๆ ส่งกลิ่นหอมมาแต่ไกล
“เจ๊กเก๊า” ได้ลูก ๆ หลาน ๆ บ้านป้อมเพชร์เป็นลูกค้ารายแรก ๆ ไม่กินฟรี ไม่ติดเงินเชื่อ
สาย ๆ “เจ๊กเก๊า” จะหาบก๋วยเตี๋ยวไปขายตามบ้านเรือนริมถนน สีลม คล้อยเที่ยงไปหน่อยก็ขายหมดเกลี้ยง “เจ๊กเก๊า” นําหาบก๋วยเตี๋ยว มาเก็บไว้ที่บ้านป้อมเพชร์ตามเดิม
ชาวสีลมคงจะจําก๋วยเตี๋ยวแสนอร่อยและราคาย่อมเยาชามละ ๕๐ สตางค์ของ “เจ๊กเก๊า” ได้
ติดกับ “บ้านป้อมเพชร์” เป็นบ้าน มิสเตอร์ Johnson ชาวอังกฤษ ที่ทํางานธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
ถัดมาเป็น “บ้านโชติกเสถียร” ของพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี โชติกเสถียร)
บ้าน Sandrezki ชาวโปแลนด์ มีภรรยาเป็นรามัญ มีลูกชายหญิงหลายคน
ต่อจากบ้าน Sandrezski เป็น “ป้อมเพชร์นิคม”
บิดาข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินประมาณ ๒ ไร่ แบ่งที่ดินพร้อมปลูกบ้านให้ ลูก ๆ สารี อัมพา เพียงแข และนวลจันทร์ ทําเป็นบ้านเช่าราคาเดือนละ ๖๐-๘๐ บาท ผู้เช่ามีชาวไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาเลียน เยอรมนี ยิว ฯลฯ
ต้นทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ชาวยิวจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปลี้ภัย การคุกคามของนาซีเยอรมัน อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยาม จึงไม่เป็นการแปลกที่มีชาวยิวเช่าบ้าน “ป้อมเพชร์นิคม”
สําหรับข้าพเจ้าได้ที่ดิน ๓๐๐ กว่าตารางวา ด้านหน้าติดคลองสีลม ส่วนตัวตึก “บ้านพูนศุข” นั้น สร้างจากน้ําพักน้ําแรงที่ข้าพเจ้ากับนาย ปรีดี ได้เก็บออมมาจากการดําเนินกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์น และข้าพเจ้า เป็นผู้คิดสร้างสะพานข้ามคลอง กลางสะพานมีส่วนเว้าเล็ก ๆ สําหรับคนเดินหลบรถยนต์ ที่ข้าพเจ้าให้สร้างสะพานเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเกือบจะถูกรถยนต์ที่คนขับรถ “บ้านป้อมเพชร์” ขับเบียดกับขอบสะพานมาแล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ข้าพเจ้ากับนายปรีดีย้ายจาก “บ้านป้อมเพชร์” มาอยู่ “บ้านพูนศุข” ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี บุตร ๓ คนหลังของข้าพเจ้าเกิดที่ “บ้านพูนศุข”
ครอบครัวข้าพเจ้าอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วยความสงบสุข จนกระทั่งวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่นบุกดินแดนประเทศไทย ตามจุดยุทธศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันออก และเคลื่อนทัพจากพระตะบองเข้าสู่พระนคร
วันนั้น ครอบครัวข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหูใจเช่นเดียวกับราษฎรไทยทั้งปวง
หนังสือพิมพ์ Washington Times Herald ได้รายงานข่าวว่า
“ชาวไทยได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง” (“The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.”)
ในบ่ายวันเดียวกัน เมื่อนายปรีดีกลับจากการประชุม ค.ร.ม. ถึงบ้าน มีมิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนมาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก)
สงวน ตุลารักษ์ จำกัด พลางกูร วิจิตร ลุลิตานนท์ เตียง ศิริขันธ์ ถวิล อุดล
ม.ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัตน์) ทอง กันทาธรรม ฯลฯ ทุกคนแสดงความรู้สึกเจ็บใจและแค้นใจที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศโดยที่รัฐบาลไทยขณะ
นั้นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ผู้มาประชุมในวันนั้น ได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ในการนี้ได้ตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบตัวยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป
ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย
หลังจากนั้นหลายปี “บ้านพูนศุข" ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจําของข้าพเจ้า
วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะทหารกลุ่มหนึ่งบุกทําเนียบ ท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ทํารัฐประหารเลิกล้มรัฐธรรมนูญฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นเหตุให้นายปรีดี ลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ
ครั้นแล้ว นายปรีดีได้ลักลอบกลับประเทศ ชักชวนมิตรสหาย ร่วมก่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
การก่อการครั้งนี้ถูกรัฐบาลคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ ปราบปรามอย่างหนัก
กลางดึกของคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ นาวาตรีมนัส จารุภา ร.น. ได้นํานายปรีดีไปหลบซ่อนที่บ้านหลานสาวข้าพเจ้า (วิสวาท บุนนาค อัศวนนท์) ที่ถนนสุรวงศ์ ครั้นจะอยู่ที่นั่นนาน ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จากการติดตามค้นหาของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง วันต่อมา นายปรีดีได้ย้าย มาอยู่ “บ้านพูนศุข” ซึ่งว่างจากการให้เช่า
ภายในตึก ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ไม่มีแสงสว่าง พรางเสมือนว่าไม่มีผู้อยู่อาศัย
และในที่สุด ข้าพเจ้าดําเนินการให้นายปรีดีขยับขยายไปหลบซ่อน ที่บ้านสวนฉางเกลือ
ขณะนั้นประกาศนําจับนายปรีดีให้รางวัลงามติดทั่วบ้านทั่วเมืองแต่แล้วนายปรีดีก็คลาดแคล้วจากภยันตรายทั้งปวง ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนอีกคราหนึ่ง เป็นเวลายาวนานถึง ๓๔ ปี
ข้าพเจ้าพาลูก ๆ มาอยู่ที่ “บ้านพูนศุข” อีก ๕ ปี ก่อนย้ายไป บ้านสาทร ถนนสาทรเหนือ
จากนั้น ข้าพเจ้าปล่อยให้ “บ้านพูนศุข” มีคนเช่าบ้างไม่มีคนเช่าบ้าง จนกระทั่งนายปรีดีลี้ภัยไปพํานักที่ประเทศฝรั่งเศส จึงได้ขาย “บ้านพูนศุข” เพื่อนําเงินไปซื้อบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส โดยได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้แลกเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศ
สิ้นสุดตํานาน “บ้านพูนศุข” เพียงแค่นี้
เรือนไม้หลังใหญ่ใต้ถุนโล่งของครอบครัว Lamache อยู่ถัดต่อไป จาก “บ้านพูนศุข” ครอบครัว Lamache สืบเชื้อสายฝรั่งเศส มีความสนิทสนมกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี Marie-Louise (มารี-หลุยส์) บุตรสาวคนโต ของครอบครัวนี้เป็นคนที่น่านับถือ เธอป่วยเป็นโรคโปลิโอในวัยเด็ก แต่มิได้ย่อท้อกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ฝึกซ้อมเปียโนจนชํานาญและเป็นครูสอนเปียโนที่เก่งคนหนึ่ง สุดาบุตรสาวข้าพเจ้าก็เป็นศิษย์ของเธอ
มิตรภาพระหว่างข้าพเจ้ากับลูก ๆ และครอบครัว Lamache ยั่งยืนจวบจนปัจจุบันนี้
ติดกับบ้าน Lamache เป็นบ้านเช่าชื่อ “บ้านพูนสุข พูนทรัพย์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเจ้าของกลายเป็นถนนพัฒน์พงศ์ในปัจจุบัน
ก่อนถึงบ้าน De Campos ชาวโปรตุเกส เป็นบ้านขุนเลิศดําริการ อดีตนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ (ตามชื่อเรียกสมัยนั้น) ท่านขุนเป็น บิดาของคุณหญิงละมุนศรี โกสิน
ถัดไปเป็นตึก ๒ หลังของพระคลังข้างที่ พระสารสาสพลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์ - สารสาส) เช่าอยู่
หัวมุมถนนสีลมฝั่งคลอง ด้านเหนือจรดคลองเตย เป็นบ้านของ พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะสิริ) เจ้าของโรงพิมพ์โสภณอักษรกิจ ถนนตีทอง ตึกสีเหลืองไข่ไก่ มีบันไดขึ้นด้านหน้า หลายสิบปีต่อมาเป็น ที่ตั้งโรงเรียนจีน และในปัจจุบันหลังจากตึกนี้ถูกทุบทิ้งได้สร้างเป็นห้างสรรพสินค้า
ในการย้อนรอยถนนสีลม ถ้าจะไม่กล่าวถึงรถรางสายถนนสีลม ในความทรงจําของข้าพเจ้าแล้ว ก็จะขาดความสมบูรณ์
โดยปกติแล้ว ข้าพเจ้ามิค่อยได้ใช้บริการรถรางบ่อยนัก ครั้นเมื่อ ย้ายมาอยู่ “บ้านพูนศุข” แล้ว ข้าพเจ้าก็จะนั่งรถรางไป “บ้านป้อมเพชร์”
รถรางแบ่งเป็น ๒ ชั้น ๒ ราคา ชั้นที่ ๑ อยู่ด้านหน้าของรถ ที่นั่งเบาะหุ้มหนัง ส่วนชั้นที่ ๒ เป็นม้าไม้ นั่งแถวละ ๒ คน รถแล่นไปตามรางอย่างสบาย ๆ หน้าต่างรถเปิดโล่งสองด้าน ลมโกรกเย็นสบาย ไม่ร้อน ไม่มีมลพิษ นั่งชั้นไหนก็เรียบร้อยปลอดภัยทั้งนั้น
พนักงานขายตั๋วมารยาทดี สุภาพต่อผู้โดยสารทุกคน ในระหว่างสงคราม น้ํามันเบนซินขาดแคลน ผู้คนนิยมนั่งรถรางกันทั้งนั้น
มีอยู่เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นบนรถรางสายถนนสีลม
อานนท์ (จอฟฟร์) น้องชายข้าพเจ้าที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อสงครามเกิดขึ้นได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย แล้วถูกส่งตัวมายังเมืองซือเหมาในมณฑลยูนานของประเทศจีน จากนั้นเดินเท้าเข้ามาประเทศไทย ขณะนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ทราบข่าวบิดาถึงแก่กรรมจาก หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงแม้ว่าอยากจะกลับบ้านมาเคารพศพบิดา ก็ไม่อาจทําได้ เพราะการกลับมาเมืองไทยเป็นความลับ และการรักษาความลับเป็นวินัยสูงสุดของพลพรรคเสรีไทย
อานนท์จึงได้แต่นั่งรถรางผ่านหน้าบ้านป้อมเพชร์ และมีอยู่ครั้งหนึ่งอานนท์ได้พบวิสวาทซึ่งเป็นหลานสาวบนรถราง ต่างคนต่างก็จํากันได้ แต่ไม่ได้ทักกัน
หลังสงครามสิ้นสุด น้าหลานจึงได้นําเรื่องนี้มาเล่าสู่ญาติมิตร
ข้าพเจ้าได้ย้อนรอยถนนสีลมมาพอสมควรแล้ว จากศตวรรษที่ ๒๐ มาวันนี้ศตวรรษที่ ๒๑ เวลาผ่านไป ๗๐-๘๐ ปี ถ้าหากมีข้อความใด หรือเอ่ยนามท่านเจ้าของบ้านเหล่านั้นคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ขออภัยด้วย และหวังว่าลูกหลานของท่านเหล่านั้นหรือผู้รู้เรื่องถนนสีลมจะช่วยท้วงติงให้ถูกต้องในโอกาสต่อไป
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ารําลึกชีวิตที่ “บ้านป้อมเพชร์” ก็ดี “บ้านพูนศุข” ก็ดี เป็นความทรงจําที่ประทับใจมิรู้ลืม อบอวลด้วยความอบอุ่นฉันครอบครัวใหญ่ของคนถนนสีลม ไม่ว่าจะผู้สูงศักดิ์หรือสามัญชน ชาวไทยหรือชาวต่างชาติ พุทธศาสนิกชน คริสตศาสนิกชน อิสลามิกชน ผู้นับถือศาสนาฮินดู ฯลฯ ต่างใช้ชีวิตบนถนนสายนี้อย่างสมานฉันท์กลมเกลียว สะท้อนถึงลักษณะสังคมเปิดของเมืองไทย ในโลกนี้จะหาที่ใดเหมือนได้ไม่ แม้แต่สังคมไทยในปัจจุบันก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว แล้วจะไม่ให้ข้าพเจ้าถวิลหาถนนสีลมในวันวานได้กระไร
ธันวาคม ๒๕๔๖
เอกสารอ้างอิง :
- พูนศุข พนมยงค์. ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2551), 286–306.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :