Focus
- แนวคิดการขุดคลองกระมีมาตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2470 เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลสมัยคณะราษฎร แต่ถูกตีตกไปเนื่องจากความกังวลเรื่องอธิปไตยและการแบ่งแยกดินแดน ต่อมาโครงการนี้ถูกนำมาศึกษาอีกหลายครั้งโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเห็นว่าคลองกระสามารถเป็นเส้นทางเดินเรือทางเลือกแทนช่องแคบมะละกา ซึ่งมีปัญหาความแออัดสูง และนายปรีดีได้นำกลับมาเสนอต่อสังคมไทยผ่านจดหมายในหน้าสื่อหนังสือพิมพ์อีกครั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2501
- การขุดคลองกระจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและอาเซียน สร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และเขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดการณ์ว่าการพัฒนาโครงการจะช่วยให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นเป็นสองเท่าของสิงคโปร์ภายใน 10-15 ปี อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมสำคัญของระบบโลจิสติกส์ระดับโลก เชื่อมเศรษฐกิจดิจิทัล และส่งเสริม E-commerce ระหว่างจีน อินเดีย และอาเซียน
- คณะกรรมการวิสามัญมีความเห็นว่า เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดคือ “เส้นทาง 9A" ซึ่งเชื่อมจังหวัดกระบี่ (ฝั่งทะเลอันดามัน) กับนครศรีธรรมราช (ฝั่งอ่าวไทย) โดยคลองจะมีความยาวประมาณ 120-125 กิโลเมตร กว้าง 350 เมตร และลึก 30 เมตร เส้นทางนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชากรน้อยที่สุด อีกทั้งยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดย 93.5% สนับสนุนให้มีการขุดคลอง ขณะที่ยืนยันว่าโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land bridge) นั้น ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน
วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2551 หรือที่รู้จักกันในนามวิกฤตการณ์หนี้สินด้อยคุณภาพ (Subprime Crisis) ซึ่งทำให้ตลาดทุน Wall Street ตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในสภาวะล้มละลาย ในสมัยนั้นคือปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) รัฐมนตรีคลังของสหรัฐอเมริกา นายเฮนรี่ พอลสัน (Henry Paulson) ได้ใช้เงินประมาณ 1 ล้าน ๆ US$ เข้าพยุงตลาดโดยทันที กระนั้นก็ตามสถาบันการเงินและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในตลาด Wall Street นครนิวยอร์ก จำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต้องล้มครืนลงอย่างช่วยไม่ได้
บัดนี้เราเข้าสู่ปลายสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า พ.ศ. 2559 หลังจากดำรงตำแหน่งได้ 7 ปี สหรัฐอเมริกาโดยธนาคาร (FED) ได้ใช้นโยบาย QE (Quantitative Easing) พิมพ์ธนบัตรเข้าไปสนับสนุนด้วยการซื้อพันธบัตรของสถาบันการเงินในตลาด Wall Street คิดเป็นเงินรวมกันไม่น้อยกว่า 15 ล้าน ๆ US$ เงินจำนวนนี้ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 5 ล้าน ๆ US$ ในการทำสงครามในตะวันออกกลาง นั่นเป็นเงินสูญเปล่าในระบบการเงินในประเทศตะวันตก ถึงกระนั้นก็ดี องค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก สถาบันการเงินซึ่งถูกครอบงำโดยสหรัฐฯ และประเทศในอียู มักจะคัดค้านโครงการพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (Mega Project) โดยให้เหตุผลว่า “โครงการแพงเกินไป ลงทุนไปคุ้มค่า” โครงการ “เป็นภัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อม” บุคคลเหล่านั้นไม่เคยสำนึกแม้แต่น้อยเลยหรือว่า เงินจำนวน 15 ล้าน ๆ US$ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) พิมพ์ออกมาให้ฟรี ๆ เพื่ออุ้มสถาบันการเงินอเมริกันเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าที่สุด หรือการโจมตีทางอากาศของสหรัฐอเมริกา ในตะวันออกกลาง จนราบเป็นหน้ากลอง ทำลายชีวิตคนหลายล้านคนและทำให้คนอีกหลายสิบล้านคนปราศจากที่อยู่อาศัย ไม่ “เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” เลยหรืออย่างไร ? นาย Angus Deaton ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด สําหรับ พ.ศ. 2558 เห็นว่านโยบายเศรษฐกิจของนายบารัค โอบาม่า เป็นผลดีต่อโลกและสหรัฐอเมริกา และโอบาม่าน่าจะเป็นประธานาธิบดีต่ออีกหนึ่งสมัย เป็นสมัยที่ 3 นี่หรือ ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลสูงสุด
โลกตะวันตกทำอะไรตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอที่ฟ้องสังคมโลกในตัวของมันเอง ในทางตรงข้ามข้อเสนอของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจตลอดเส้นทางสายไหมทางทะเลตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) เป็นการใช้ทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนา การกระจายรายได้บนพื้นฐานของความเจริญอย่างแท้จริง ในโอกาสนี้เอง โครงการขุดคลองกระจะเป็นแบบอย่างของการพัฒนาสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศบนพื้นฐานของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-01.jpg)
การรวมกลุ่มประเทศ BRICS-Brazil, Rasia, India, South Africa เพื่อขึ้นมาแทน IMF การรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อต่อต้านอิทธิพลทางการเงินของ IMF
เมื่อ พ.ศ. 2478 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รื้อฟื้นโครงการขุดคลองกระขึ้นมาพิจารณาและเสนอความเห็นว่าหากมีการขุดคลองขึ้นแล้ว ไทยควรจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือคลอง[1] ท่านปรีดีได้เสนอให้ใช้ทองสำรองเป็นทุนเพื่อใช้ในการขุด แผนงานของท่านปรีดีถูกตีตกไปโดยถูกกล่าวหาว่า การขุดคลองจะเป็นการแบ่งแยกประเทศ เช่นเดียวกับปานามา ฝ่ายคัดค้านท่านปรีดีจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามได้บิดเบือนข้อเท็จจริง คลองปานามาเกิดขึ้นเพราะประเทศโคลัมเบียในสมัยนั้นไม่ยอมขุดคลอง รัฐบาลสหรัฐจึงส่งเสริมให้แยกประเทศออกเป็นประเทศปานามาแล้วดำเนินการขุดโดยทันที
เป็นที่น่าเสียดายว่าเราพลาดโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินการขุดคลองกระ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐบุรุษอีกท่านหนึ่งซึ่งมีความประสงค์แรงกล้าอยากให้ประเทศไทยพัฒนา เพราะคิดว่าโครงการขุดคลองกระกระตุ้นทุนมากกว่า นำเงินไปใช้ในทางอื่น
ในการสร้างคลองกระ นักลงทุนทราบดีว่าโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเช่นคลอง ไม่สามารถใช้คืนได้ในระยะเวลาอันสั้น จากการศึกษาของ อชวท. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ดี การศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญของวุฒิสภาในปีก็ดี หรือการศึกษาโดยบริษัท FUGRO บริษัทวิศวกรชั้นนำอันดับห้าของโลกก็ดี ต่างเห็นตรงกันว่าการลงทุนสร้างคลองกระจะสามารถคืนทุนได้ระยะยาวนานประมาณ 50-70 ปี อย่างไรก็ตามผล ประโยชน์ที่จะตามมาจากการสร้างคลองนั้นมีมหาศาล ดังที่รายงานของบริษัท FUGRO ของประเทศฮอลแลนด์ และ HEJUN VANGUARD GROUP ของจีนได้ทำรายงานไว้ใน พ.ศ. 2558 ซึ่งอาจจะนำมาเสนอโดยสังเขปได้ดังนี้[2]
ในการศึกษาโครงการขุดคลองกระ หลายท่านกังวลว่าคลองกระสามารถร่นระยะทางได้เพียง 1,200 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางในช่องแคบมะละกา การประหยัดระยะทางแม้นว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่หาได้เป็นปัจจัยหลักแต่อย่างใด
ตัวอย่างของคลองคีล ขุดผ่านประเทศเยอรมนีประหยัดระยะทางได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร ใน การเชื่อมทะเลเหนือและทะเลบัลติก มีเรือผ่านคลองคีลปีละ 30,000 ลำ ทำรายได้จากค่าผ่านทางได้ถึง 2,000 ล้าน US$ (ตัวเลขใน ค.ศ. 1994) ในขณะที่คลองปานามา ขุดเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิค มีเรือผ่านปีละ 14,600 ลำ ประหยัดระยะทางได้ถึง 8,000 กิโลเมตร แต่ทำรายได้ปีละ 2,000 ล้าน US$ เท่ากับคลองศีลของประเทศเยอรมนี
ตารางศึกษาเปรียบเทียบระหว่างคลองและเส้นทางทะเลสำหรับเรือเดินสมุทร
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-02.jpg)
*คาดการณ์จากการศึกษาเบื้องต้นโดย FUGRO / HEJUN VANGUARD
จากการเปรียบเทียบคลองกระกับคลองต่าง ๆ และเส้นทางเดินเรือสำคัญอื่น ๆ ของโลกจะเห็นได้ว่า คลองกระมีลักษณะพิเศษคือ
1. เป็นเส้นทางทดแทนช่องแคบมะละกา ซึ่งกำลังประสบปัญหากับความแน่นขนัด มีผู้พยายามคิดขุดลอกช่องแคบมะละกาโดยเฉพาะในส่วนที่มีร่องน้ำตื้นเขินระหว่างท่าเรือ Port Klang ของมาเลเซียและเกาะสิงคโปร์เป็นระยะทาง 400 กิโลเมตร แต่วิธีการนี้ไม่น่าเป็นไปได้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก และต้องเผชิญอุปสรรคทางวิศวกรรมซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ คลองกระจึงเป็นเส้นทางทดแทน (Alternative) ของความแออัดของช่องแคบมะละกาในอนาคต
2. โครงการคลองกระมีลักษณะของการขยายการลงทุน (Expansion) ของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และประชาคมอาเซียนโดยตรง
3. ความสำคัญทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ศูนย์กลางของอาเซียน จะทำให้คลองกระเป็นจุดบูรณาการการขนส่งทางบกและทางทะเล (Integration of Sea and Land Transport) เชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางบกในประเทศจีน โดยรถไฟความเร็วสูงจาก Eastern Seaboard ของประเทศไทย ผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ประเทศลาวและเชื่อมต่อจังหวัดคุนหมิงในประเทศจีน
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-03.jpg)
จำลองภาพโดย ภักดี ธนะปุระ จากข้อเขียน Natali Fau “The Straits of Malaca an Inland Sea” lecture at Unversity PARIS VII
คลองกระกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในการวางแผนการขุดคลองกระ บริษัทที่ปรึกษาหลายบริษัทได้วางแผนเกี่ยวกับการเชื่อมพื้นที่คลองกระกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Mass Industries) ซึ่งจะได้รับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) และเขตการค้าเสรี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเหรียญ US$
การศึกษาของบริษัท Fugro และ Hejun Vanguard group รายได้โดยรวมจากโครงการคลองกระพิจารณาได้ดังนี้
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-04.jpg)
*คาดการณ์จากการศึกษาเบื้องต้นโดย FUGRO / HEJUN VANGUARD
ทั้งนี้ ด้วยการลงทุนทั้งหมด 150,000 ล้าน US$ การก่อสร้างคลองด้วยเงิน 28,000 ล้าน USS การสร้างความสะดวกเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมทั้งท่าเรืออีกประมาณ 22,000 ล้านเหรียญ US$ และมีนิคมอุตสาหกรรมอีกประมาณ 100,000 ล้านเหรียญ US$ แม้ว่าจะไม่ได้มีการศึกษาของผลดีของโครงการคลองกระต่อเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนโดยรวม แต่สำหรับประเทศไทย การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จะช่วยผลักดันให้จีดีพีของประเทศไทยเจริญเติบโตเป็น 2 เท่า ของจีดีพี ของประเทศสิงคโปร์ ภายในระยะเวลาเพียง 10-15 ปี
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-05.jpg)
คลองกระจะเป็นตัวเชื่อม (Linkage) สําคัญที่จะนําไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิตอล(Digital Economy)
ในยุคของ E-commerce แจ็คหม่า มหาเศรษฐีของจีนได้แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถใช้การตลาดสมัยใหม่และระบบการขนส่งแบบรางที่รวดเร็ว (รถไฟความเร็วสูง) เชื่อมต่อ (Linkage) ตลาดผู้บริโภคของคนจีน 300 ล้าน ความสามารถของการเชื่อมต่อเช่นนี้ ได้เปลี่ยนโฉมระบบการตลาดอย่างสิ้นเชิง ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี แจ๊คหม่ากลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก บริษัทต่าง ๆ ของเขาในตลาด (Market Cap) มีมูลค่ารวมกันถึง 130,0000 ล้าน US$
คลองกระจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ สามารถรวมเอาตลาดของประชากรกว่า 3000 ล้าน คนเข้าด้วยกัน และด้วยระบบโลจีสติกที่ทันสมัย บูรณาการของการขนส่ง
ทางบกและทางทะเล (Integration of Land and Sea Communication) เราสามารถเชื่อมมหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจทางด้านแปซิฟิคและมหานครมุมไบ ศูนย์กลางเศรษฐกิจทางด้านทวีปอินเดีย เข้าด้วยกันโดยใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมง
หากทำได้ คลองกระจะสร้างศักยภาพที่ยิ่งใหญ่สำหรับการค้าสมัยใหม่ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิตอล (Digital Economy) สำหรับศตวรรษที่ 21
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-06.jpg)
การเลือกเส้นทาง
ใน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1973) บริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษา TAMs Engineering ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นของความเป็นไปได้ในการขุดคลองกระ และได้นำเสนอเส้นทางต่าง ๆ หลายเส้นทาง[3]
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-07.jpg)
บริษัทได้เสนอว่าเส้นทาง 5A ผ่านจังหวัดสงขลาทางด้านอ่าวไทยไปออกจังหวัดสตูลเป็นเส้นทางเหมาะสมที่สุด ด้วยเหตุผลดังนี้
ตารางเปรียบเทียบเส้นทางต่าง ๆ
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-08.jpg)
เรือขนาด 500,000 เดทเวทตัน 2 เส้นทาง เรือแล่นสวนทางกันได้
เรือขนาด 250,000 เดทเวทตัน
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-09.jpg)
ภาพตัดและภาพมุมสูงของเส้นทาง A5
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ได้เสนอให้ศึกษาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ผ่านบนเส้นทาง 3A คือ เส้นทางระหว่างกระบี่และสุราษฎร์ธานี ได้มีการสร้างถนนเชื่อมเรียบร้อยแล้ว ในรูปของสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) แต่ไม่มีการลงทุนสร้างท่อน้ํามัน เชื่อมระหว่างสองฝั่งทะเลของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคลองกระ ขอวุฒิสภาซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 โดยวุฒิสภา และแต่งตั้งให้นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ เป็นประธานกรรมการ ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ของโครงการขุดคลองกระ ใช้เวลา 3 ปี และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 คณะกรรมการวิสามัญได้สรุปรายงานการศึกษาเสนอต่อวุฒิสภาและคณะกรรมการแห่งชาติฯ พร้อมกัน[4]
คณะกรรมการวิสามัญของวุฒิสภาได้แสดงความเห็นว่า
1. ประเทศไทยควรจัดให้มีการขุดคลองกระเพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
2. เห็นว่าสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน
3. เสนอให้ใช้เส้นทาง 9A ผ่านหลายจังหวัดทางภาคใต้ คือ จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช คลองมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร
4. เสนอให้มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ตลอดแนวคลอง จังหวัดซึ่งอยู่ตลอดแนวคลอง 5 จังหวัดจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
5. จัดให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกทางด้านอ่าวไทย คือ เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชทางด้านอ่าวไทยและจังหวัดกระบี่ทางฝั่งทะเลอันดามัน
6. จัดให้มีการสำรวจพื้นที่แนวคลอง 9A มีการเดินทางชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนทราบติดต่อกันเป็นจำนวน 10 ครั้ง
7. ได้พิจารณาเบื้องต้นปรับแนวเส้นทาง 9A ให้เหมาะสมโดยใช้วิธีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) นำมาทับซ้อนลงบนแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 (ดูแผนที่)
รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคลองกระ วุฒิสภา พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เสนอให้ใช้เส้นทาง 9A เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดกระบี่ทางฝั่งทะเลอันดามันและจังหวัดนครศรีธรรมราชทางด้านอ่าวไทย
8. จากการสำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุม 5 จังหวัด และประชุมสัมมนาในจังหวัดต่าง ๆ
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-16-002-10.jpg)
คณะกรรมการวิสามัญพบว่า จากผู้แสดงความคิดเห็น 155 คน ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นทราบเกี่ยวกับโครงการคลองกระมาก่อน 78.1% มีความต้องการให้ขุดคลอง 93.5% (145 คน / 155 คน) เหตุผลคือจะได้เส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก 81.9%
9. คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและความหนาแน่นของประชากร และสรุปว่า เส้นทาง 9A จะผ่านพื้นที่มีปัญหาน้อยที่สุด คลองลึก 30 เมตร มีความ ยาวประมาณ 120 – 125 กิโลเมตร กว้าง 350 เมตร
เอกสารอ้างอิง :
- ภักดี ธนะปุระ, “คลองกระ เส้นทางเดินเรือนานาชาติเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล”, คลองกระ-ไทย: มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand (กรุงเทพฯ: ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, 2560), 85-95.
[1] ศาสตราจารย์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล ในหนังสือ “คลองกระกับอนาคตของประเทศไทย จัดพิมพ์โดย อชวท. สังกัดสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เสนอในการประชุมสัมมนาทางวิชาการ “คลองกระกับการพัฒนาประเทศ” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 30-31 มีนาคม 2532, หน้า 10.
[2] FUGRO / HEJUN VANGUARD GROUP “The Mega Complex of a Canal in Kra Isthumus in Thailand”
[3] TAMs Engineering USA ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นใน พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973)
[4] รายการศึกษาเบื้องต้น ความเป็นไปได้ของโครงการขุดคลองกระ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา พ.ศ. 2547