ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

คลองกระ เส้นทางเดินเรือนานาชาติเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล (ตอนที่ 3)

18
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • คลองกระไม่ใช่เส้นทางน้ำระหว่างประเทศ แต่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของไทยดังนั้นการขุดคลองกระจะไม่ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ หากแต่จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ
  • กองทัพเรือไทยมีข้อจำกัดในการปกป้องชายฝั่งทะเลอันดามัน ขาดแคลนอู่ซ่อมเรือและฐานทัพที่เพียงพอ คลองกระจะช่วยเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์ ลดการพึ่งพาช่องแคบมะละกา เพิ่มศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ และจะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมประมงและผลประโยชน์ทางทะเลของไทยในฝั่งอันดามัน
  • คลองกระอยู่ในเส้นทางการค้าโลก การขุดคลองกระจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย ช่วยลดระยะเวลาการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทย การพัฒนาภูมิศาสตร์ของไทยจากประเทศ “ปิด” ไปสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลก

 

ข้อมูลเบื้องต้นของจังหวัดที่คลองตัดผ่าน 5 จังหวัดที่คลองผ่าน

จังหวัด ประชากร พื้นที่ตารางกิโลเมตร จำนวนตำบล หลังคาเรือน รายได้
บาท/หัว
นครศรีธรรมราช 15,525,557 9,942.50 168 361,983 39,615
สงขลา 1,223,833 7,393.80 124 305,980 64,168
พัทลุง 502,662 3,424.40 65 123,651 29,442
ตรัง 587,930 4,917.50 87 140,184 44,518
กระบี่ 358,383 4,708.50 51 85,438 54,947

 

คลองกระกับความมั่นคงของชาติ

การแบ่งแยกดินแดนไม่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทางกายภาพเสมอไป ประเทศหลายประเทศมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ เช่น อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะหลายพันเกาะ แต่นานาชาติต่างถือว่าเป็นประเทศเดียวกัน

การขุดคลองไม่ถือว่าเป็นการแบ่งแยกประเทศ หรือทำให้ประเทศสูญเสียอำนาจอธิปไตยในอดีต คลองคีล ขุดผ่านด้านเหนือของประเทศเยอรมนี สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1887 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ค.ศ. 1918 เยอรมนีแพ้สงคราม อังกฤษและฝรั่งเศส ประเทศชนะสงครามคิดจะตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศขึ้น เพื่อสอดส่องดูแลการปฏิบัติการ... แต่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วย อ้างว่า คลองคีลอยู่ภายใต้ดินแดนของเยอรมันโดยเฉพาะ มิใช่ทางน้ำระหว่างประเทศที่ผ่านหลายประเทศ

 


ภาพที่ 1 : คลองคีล ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนีใกล้กับชายแดนประเทศเดนมาร์ก ขุดเชื่อมทะเลเหนือ และทะเลบัลติก (ใส่รูป)

 

เช่นเดียวกัน คลองกระจุดผ่านประเทศไทย มิใช่ทางน้ำระหว่างประเทศ จึงอยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทยแต่ผู้เดียว

การแบ่งแยกประเทศเป็นปัญหาทางการเมือง เช่น เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, เวียดนามเหนือ, เวียดนามใต้, ซูดานเหนือ, ซูดานใต้ ฯลฯ หาใช่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกทางกายภาพไม่ ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่เกี่ยวข้องกับการขุดคลองกระ ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาทางการเมือง เกิดขึ้นมายาวนานตามประวัติศาสตร์ภาคใต้ของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจผลพวงจากการขุดคลองกระ ในทางตรงกันข้าม จะทำให้ประเทศไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น

ในการศึกษาเรื่อง “The Kra Canal and Thai Security” โดยเรือโท อมรเทพ ทองสิน ร.น. (ยศในขณะนั้น) วิทยานิพนธ์ปริญญาโท นำเสนอต่อโรงเรียนนายเรือสหรัฐอเมริกา ณ เมือง มองเตเรย์ รัฐคาลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

และได้รับการรับรองเมื่อ พ.ศ. 2545 ในวิทยานิพนธ์ เรือโท อมรเทพ ได้นำเสนอว่า นายทหารในประเทศไทยต่างมีความเห็นว่า โครงการขุดคลองกระ มิได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

“อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือหลายท่านได้แสดงทัศนะสนับสนุนโครงการนี้ (ขุดคลองคอดกระ-ผู้เขียน) ด้วยเหตุผลว่า จะเป็นการสนับสนุน สมุททานุภาพด้วยเหตุนี้เอง จึงมีส่วนช่วยความมั่นคงของชาติ”

 

Logistics ในการป้องกันชายฝั่งทะเลของประเทศไทย

 

 


ที่มา : บทความคลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand

 

ในปัจจุบันประเทศไทยมีฐานทัพเรือ 4 แห่ง คือ กรุงเทพฯ สัตหีบ สงขลา และพังงา แนวชายฝั่งมีความยาวรวมกันถึง 3,219 ก.ม. มีเรือปฏิบัติการชนิดต่าง ๆ รวมกัน 160 ลำ (ตัวเลข พ.ศ. 2545) ไม่เพียงพอต่อการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง กองทัพเรือมีอู่ซ่อมเรือกรุงเทพฯ และสัตหีบ ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในอ่าวไทย ฐานทัพเรือพังงาทางฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วยเรือจากกองเรือ ฟรีเกต 1 (Frigate Squadron One) และกองเรือลาดตะเวนชายฝั่ง (Coastal at Patrol Squadron) เรือเหล่านี้ออกปฏิบัติการเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนกลับเข้ากองเรือ ฐานทัพเรือพังงาอยู่ในฐานะค่อนข้างลำบาก หากเรือมีความจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุง เรือเหล่านี้จะต้องเดินทางกลับอ่าวไทยมาซ่อมที่กรุงเทพ

 

ชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทวีความสำคัญทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

1.จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เมื่อเกิดภัยพิบัติ คลื่นยักษ์ สึนามิ พัดเข้าถล่ม ชายฝั่งอันดามัน เมื่อ พ.ศ. 2547 ฐานทัพพังงาได้รับความเสียหายหนัก เรือรบไทยต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันผ่านช่องแคบมะละกา จึงสามารถเดินทางมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงที

2.การประมงของประเทศไทย มีจำนวนเรือจัดอยู่เป็นอันดับสามของโลก เรือประมงไทยมักประสบปัญหา เมื่อเดินทางผ่านน่านน้ำของประเทศต่าง ๆ การประมงทางฝั่งทะเลอันดามัน มีความสมบูรณ์ไม่แพ้ทางอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ กองเรือประเทศพม่ามีจำนวนมากกว่า กองเรือไทย ทางฝั่งทะเลอันดามัน การป้องกันผลประโยชน์ทางฝั่งอันดามันในเรื่องของการประมงจึงทำได้ไม่สมบูรณ์

3.ประเทศพม่ากำลังเปิดประเทศ ประเทศไทยมีความประสงค์จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอนาคตไทย-พม่า คงจะมีการสำรวจผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันดังที่ไทยทำกับประเทศมาเลเซีย กองทัพเรือไทยทางฝั่งทะเลอันดามันจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นในการป้องกันผลประโยชน์ของไทยอย่างแน่นอน

การขุดคลองกระจะทำให้ประเทศไทยสามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางฝั่งทะเลตะวันตกได้สะดวกมากขึ้น เป็นการเปิดวงล้อมของอ่าวไทย ขยายโอกาสเศรษฐกิจโดยอาศัยพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กระจายผลประโยชน์ของชาติให้ได้กว้างไกลสู่ระดับโลก ตามหลัก สมุททานุภาพ ของ Alfred Thayer Mahan

 

ในความคิด Alfred T. Mahan สมุททานุภาพหรืออานุภาพทางทะเล ประกอบด้วยปัจจัย 6 ประการ

1. พื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (Geographic Position)

2. ลักษณะของพื้นที่ (Physical Conformation)

3. ความกว้างของดินแดน (Extension of Territory)

4. จำนวนประชากร (Number of Population)

5. คุณลักษณะของประชากร (National Character)

6. คุณลักษณะของรัฐบาล (Character of The Government)

การขุดคลองกระเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ จากประเทศปิดไปสู่ทางออกทะเลกว้าง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพความมั่งคงให้แก่ประเทศไทย เรือโท อมรเทพ ได้สรุปในวิทยานิพนธ์ว่า

1. การขุดคลองกระจะตั้งอยู่บนเส้นทางหลักของการคมนาคมทางเรือ Alfred T. Mahan ให้เหตุผลว่าประเทศซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือมหาสมุทร ได้รับประโยชน์มากมายเหนือประเทศอื่น

2. พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของคลองกระ อยู่บนเส้นทางเดินสมุทรระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก แม้ว่าจะสามารถประหยัดเวลาได้เพียงประมาณ 44 ชั่วโมง เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินเรือในช่องแคบมะละกา แต่คลองกระจะสร้างความเป็นต่อ ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย

 

เอกสารอ้างอิง :

  • ภักดี ธนะปุระ, “คลองกระ เส้นทางเดินเรือนานาชาติเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล”, คลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand (กรุงเทพฯ: ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, 2560), 96-100.