Focus
- บทความนี้วิเคราะห์ว่าการสร้างคลองกระจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลโดยภายใน 10-20 ปี จะสร้างงานได้ถึง 3 ล้านตำแหน่ง เปลี่ยนแรงงานไทยจากไร้คุณภาพเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง ประเทศไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน ทำให้งบประมาณประเทศสามารถนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น
- คลองกระจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์จาก 20% เหลือ 8% ของ GDP ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางเส้นทางเดินเรือโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตและภาคอุตสาหกรรมขยายตัว
- คลองกระจะนำไปสู่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ซึ่งจะเป็นต้นแบบการปฏิรูปการบริหารประเทศ (หนึ่งประเทศสองระบบ) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจและแรงงานที่มีคุณภาพ จะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไทยในระยะยา
อาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาประเทศไทยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ประสบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ( ค.ศ. 1961) จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 11 ฉบับ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้กล่าวคือ
1. คนไทยจำนวนมากยังอยู่ในสภาพยากจน
2. เศรษฐกิจไทยไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้
3. ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : หนังสือคลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand
4. การพัฒนากองทุนสังคม อาทิ ระบบการศึกษา การบริหารราชการ ฯลฯ ล้าหลังขาดประสิทธิภาพ
กว่า 50 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยย่ำอยู่กับที่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย ฯลฯ
ประสิทธิภาพของการทำงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ําในหลายด้านกล่าวคือ
1. ภาคเกษตรของประเทศไทยใช้แรงงานถึง 14.88 ล้านคน หรือ ร้อยละ 38.7 ของจํานวนแรงงานทั้งหมด แต่ภาคเกษตรมีมูลค่าเพียง 18% ของจีดีพี ภาคบริหารและการค้าใช้แรงงาน 15.67 ล้านคน หรือ 40.7% ส่วนมากอุตสาหกรรมใช้แรงงานเพียง 7.91 ล้านคน หรือ 20.6% ของแรงงานทั้งหมด ถ้าพิจารณาจากรายได้จากการส่งออกของประเทศ ภาคอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่ง ฯลฯ ภาคอุตสาหกรรมจึงน่าจะเป็นภาคที่ทำรายได้สูงสุดแต่กลับใช้คนน้อยที่สุด ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมรวมกันมีมูลค่า 82% ของจีดีพี ภาคเกษตรของไทยจึงขาดทุนอยู่ตลอดเวลา คลองกระและการพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้คนงานในภาคเกษตรลดน้อยลง ในขณะที่ผลผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูง มีการจัดการอย่างมีระบบมากขึ้น
2. งบประมาณของประเทศ 70% ถูกนำมาจ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการ การลงทุนภาครัฐเพื่อการกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเหลือเพียง 30% โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การคมนาคมทางราง การขนส่งมวลชน จึงถูกปล่อยปะละเลย ตลอดระยะเวลา 50 ปี การพัฒนาการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ระยะทางเพียง 26 กิโลเมตร จากแผนที่วางไว้ 360 กิโลเมตร ในระยะเวลา 20 ปี รถไฟไทยไร้มาตรฐาน ไร้ประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นมาก่อนประเทศอื่นกว่าหนึ่งร้อยปี
3. ค่าใช้จ่าย โลจิสติกส์ของประเทศไทยสูงประมาณ 20% ของจีดีพี ต้นทุนของสินค้าไทยมีราคาสูง เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันกับต่างประเทศ
จากการสำรวจในอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 27 ในจำนวน 59 ประเทศ ที่สำคัญคือความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 48
4. การศึกษาของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ แรงงานส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานไร้คุณภาพเศรษฐกิจของไทยจึงยังอยู่ในสภาพ Labor Intensive แทนที่จะเป็น Capital Intensive

แรงงานที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษามีถึง 11.62 ล้านคน หรือ 30.2%
ที่มา : หนังสือคลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand
ผู้จบการศึกษาระดับประถมศึกษา 8.71 ล้านคน หรือ 22.6% มัธยมศึกษาตอนต้น 6.15 ล้านคน หรือ 16.0% ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.42 ล้านคน หรือ 14.1% ระดับอุดมศึกษามีเพียง 6.44 ล้านคน หรือ 16% การศึกษาของแรงงานไทยอยู่ในระดับต่ำ แรงงานไร้คุณภาพ
ในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบระดับจีดีพีของประเทศไทยกับอีก 216 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับค่อนข้างสูง คือลำดับ 24 แต่ถ้าเปรียบเทียบจีดีพีต่อประชากร ประเทศไทยจัดอยู่ในดับ 114 ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 6 ฮ่องกงอยู่ในลำดับที่ 11 เวียดนามอยู่ในลำดับที่ 166 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับ 194 กล่าวคือเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตเพียง 0.1% ลาวอยู่ในลำดับ 17 อินเดียลำดับ 27 และมาเลเซียในลำดับ 66
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดเหลือเพียง 0.1% อยู่ในลําดับที่ 194/216 ประเทศ
เปรียบเทียบ จีดีพี ประเทศในเอเชีย (เฉพาะบางประเทศ)

เปรียบเทียบกับจำนวน 216 ประเทศ
ที่มา : หนังสือคลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand
อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพประเทศไทยจึงมีความจําเป็นต้องปรับวิกฤตเป็นโอกาส รีบเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญอย่างมั่นคงและต่อเนื่องอย่างถาวร
ด้วยเหตุนี้ โครงการพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจของประเทศไทยดังนี้
1. โครงการคลองกระ ภายในระยะเวลา 10 ปีแรก หลังจากการสร้างคลอง จะสร้างงานได้ประมาณ 3 ล้านคน 30,000 คน เกิดขึ้นจากการสร้างงานถาวรในการบริหารคลอง 150,000 คน เพื่อปฏิบัติงานและพัฒนาโครงการอุตสาหกรรม จะมีคนงานระดับกลางและระดับสูงเพิ่มขึ้นภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 400,000 คน ภายใน 10 ปี และเมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมพิเศษ (Special Economic Zone) จะต้องใช้แรงงานรวมกันเป็น 1,000,000 คน หากรวม Multiple Effect สามารถสร้างงานได้รวมกัน 3,000,000 คน ในระยะเวลา 10-20 ปี หลังจากเปิดใช้คลอง คนงานภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพแรงงานไทย จากแรงงานไร้คุณภาพ ล้าหลังไปเป็นแรงงานคุณภาพสูง จากแรงงานไร้การศึกษา ไปเป็นผู้ได้รับการศึกษาสูง
2. รายได้ของประเทศจะสูงขึ้น จากการเก็บภาษีภาคอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษของการลงทุน รายได้ภาครัฐจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สัดส่วนปัจจุบันของเงินเดือน 70% ของงบประมาณของประเทศนำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนของข้าราชการ จะลดลงมาเป็น 30% อีก 70% เป็นส่วนของการนำงบประมาณมาใช้พัฒนาประเทศ
3. ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจะสูงขึ้นเนื่องจากการขนส่งคมนาคมทางทะเล ประเทศไทยกลายเป็นจุดเชื่อมโยงของเส้นทางเดินเรือโลก ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์จะลดลงเหลือเพียง 8% ของจีดีพี ตามแบบประเทศพัฒนาแล้ว
4. จะมีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของชาติ (National Competitiveness) ทั้ง 4 ด้าน คือ
- 4.1 ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
- 4.2 ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
- 4.3 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
- 4.4 ประสิทธิภาพของโครงสร้าง (Infrastructure Efficiency)
5. การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษ (Special Economic Zone) ในเขตคลองกระ จะเกิดการปฏิรูปการบริหารงานแบบใหม่ในกรณีหนึ่งประเทศสองระบบ เมื่อการบริหารแบบใหม่ใช้ได้ผล จะนำระบบใหม่มาใช้ทั่วประเทศเป็นการปฏิรูปภาคปฏิบัติ ซึ่งจะนำความเจริญมาสู่การบริหารประเทศอย่างถาวร เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีเหตุผลปราศจากความรุนแรง
6. การปฏิรูปให้ประเทศไทยทันสมัยขึ้นโดยลงทุนคลองกระ จะช่วยยกระดับการศึกษา ของคนไทย ในรูปแบบของ Generation Change เกิดคนไทยรุ่นใหม่ ทันสมัยเป็นประชากรของ ชาติและสมาชิกของสมาคมโลกอย่างสมบูรณ์
เอกสารอ้างอิง :
- ภักดี ธนะปุระ, “คลองกระ เส้นทางเดินเรือนานาชาติเพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมทางทะเล”, คลองกระ-ไทย : มรดกทางยุทธศาสตร์ของชาติ Kra Canal : Strategic Heritage of Thailand (กรุงเทพฯ: ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, 2560), 100-105.