ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การเมืองไทยในชีวิตพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ “ประกายเพ็ชร์” โดย "กระดูกสันหลัง" และริดสีดวงทวารของเจ้าชายพระภิกษุชาวสยาม

23
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • บทความนี้เสนอเรื่องชีวประวัติและผลงานของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเป็นนักการทูตคนแรกของสยามประจำยุโรปและสหรัฐอเมริกา 12 ประเทศ มีผลงานเจรจาสำคัญ เช่น สนธิสัญญาโทรเลขสากล และแก้ไขวิกฤตทางการเมืองระหว่างสยามกับอังกฤษในคดีพระปรีชากลการ 
  • ใน พ.ศ. 2428 ทรงเป็นแกนนำเสนอ "คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน" ต่อรัชกาลที่ 5 ขอให้จัดตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสยาม แต่ถูกมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ส่งผลให้ทรงถูกถอดจากตำแหน่งและเริ่มชีวิตการลี้ภัย 

 


พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

 

 


ที่มา: https://thailand.kinokuniya.com/Bones_around_My_Neck_:_The_Life_and_Exile_of_a_Prince_Provocateur/bw/9781501704635

 


ที่มา : https://readjournal.org/product/prisdang/

 

เรื่องราวของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ดูเหมือนจะได้รับการหันกลับมาสนใจเป็นอย่างมาก เพราะพบเห็นใครต่อใครมักกล่าวขานและพาดพิงถึงบุคคลในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยผู้นี้ค่อนข้างถี่บ่อย คงปฏิเสธมิได้ว่าเมื่อหนังสือ Bones Around My Neck : The Life and Exile of a Prince Provocateur ผลงานของ ทามารา ลูส (Tamara Loos) ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย ไอดา อรุณวงศ์ ในชื่อ ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ และจัดพิมพ์ออกมาช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ก็ยิ่งปลุกเร้าให้นักอ่านจำนวนไม่น้อยพยายามศึกษาชีวประวัติของเจ้าชายชาวสยามผู้นี้กันอย่างแข็งขัน

หวนนึกช่วงกลาง พ.ศ. 2560  ผมได้อ่านหนังสือของทามารา ลูสฉบับภาษาอังกฤษ แล้วใช้อ้างอิงประกอบการเขียนหนังสือของตนเองเรื่อง ผจญไทยในแดนเทศ ในตอนที่แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ซึ่ง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เคยครองสมณเพศอยู่ที่นั่น

ตามที่บอกแหละครับ มีผู้เขียนถ่ายทอดถึง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ไว้เป็นจำนวนมากราย แต่หากจะถามว่าโดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบงานเขียนชิ้นใด ก็คงตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าคืองานของทามารา ลูส เนื่องจากอัดแน่นด้วยข้อมูลและรายละเอียด รวมทั้งยังส่งเสียงเล่าผ่านสำนวนภาษาที่อ่านสนุกเพลิดเพลิน คุณผู้อ่านท่านใดที่สนใจเรื่องราวของเจ้าชายชาวสยามผู้นี้ ผมขอแนะนำให้ลองหามาอ่านกันเถอะ

สำหรับขบวนตัวอักษรที่คุณผู้อ่านจะได้ยลต่อไปนี้ ผมคงไม่สาธยายชีวประวัติของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อันจะสามารถหาค้นจากงานเขียนอื่น ๆ แต่จะนำเสนอเรื่องราวที่คุณผู้อ่านอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นสักเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ย่อมจำเป็นที่ผมจะต้องบ่งชี้ให้ทุกท่านพอจะเห็นภาพว่า ในชั่วชีวิตของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ นั้น ช่างดกดื่นไปด้วยประเด็นสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย

เสน่ห์อันน่าหลงใหลในงานเขียนของทามารา ลูสคือการเชื่อมโยงชีวิตของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เข้ากับเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เดินทางไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หาดหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ซึ่งได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2394 เป็นบุตรชายของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม ผู้เป็นพระโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับหญิงสามัญชน จึงกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ เป็นหลานปู่ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม พอสิ้นแผ่นดินที่สาม แผ่นดินที่สี่เป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่หน่อเนื้อเชื้อไขสายรัชกาลที่ 3 ก็เป็นเจ้านายชั้นที่ลดหลั่นลงมา แต่กระนั้น ตลอดช่วงวัยเยาว์ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ได้คลุกคลีอยู่กับ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งต่อไปในภายหน้าจะเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยาม

ครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 เดินทางไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้ตามเสด็จด้วย รวมถึงพระองค์เจ้าชุมสายก็ตามเสด็จเช่นกัน ซึ่งแน่นอนหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ย่อมติดตามไป บริเวณหาดหว้ากอเป็นแหล่งไข้ป่าเพราะยุงชุกชุม ภายหลังขบวนเสด็จหวนกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร ในหลวงรัชกาลที่ 4 ก็เสด็จสวรรคต พร้อมทั้งพระองค์เจ้าชุมสายก็สิ้นพระชนม์

เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งๆที่ยังเยาว์วัย แต่พระองค์ก็พยายามสร้างกลุ่มคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันให้มีความรู้ความสามารถเพื่อจะได้เป็นกำลังคอยช่วยเหลือในการบริหารบ้านเมือง

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ เป็นหนึ่งในคนหนุ่มกลุ่มนั้น โดยถูกส่งตัวให้ไปเรียนภาษาอังกฤษที่สถาบันราฟเฟิลส์ (Raffles Institution)ในสิงคโปร์ ซึ่งก่อนเดินทางก็เพิ่งจะแต่งงานได้มิทันถึงเดือน ครั้นหวนกลับมายังประเทศสยามจึงเข้าเรียนภาษาอังกฤษต่อ ในโรงเรียนหลวงก่อนจะได้รับการคัดเลือกส่งให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดย หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ เข้าเรียนด้านวิศวกรรมโยธา ณ สำนักคิงส์คอลเลจ (King's College)  มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) และเป็นผู้ที่เรียนเก่งจนเหมารางวัลต่าง ๆ ไปหมดเลย กระทั่ง วิลเลียม เอวาร์ท แกลดสตัน (William Ewart Gladstone) นายกรัฐมนตรีอังกฤษยุคนั้นซึ่งเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลถึงกับเอ่ยปากชมเชย อีกทั้งยังได้รับการกล่าวขวัญผ่านหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ที่ออกเผยแพร่ในกรุงลอนดอน

ภายหลังสำเร็จการศึกษาและกลับคืนสู่ประเทศสยามใน พ.ศ. 2419  แม้ตอนแรกรัชกาลที่ 5 จะมอบหมายให้ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ดูแลงานด้านการโยธา แต่แล้วชะตาชีวิตกลับชักนำให้ต้องเข้าไปทำงานด้านการทูต โดยเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาเพื่อหาหนทางรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งด้วยความสามารถทางด้านการทูตส่งผลให้ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  เมื่อ พ.ศ. 2426

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ครองตำแหน่งอัครราชทูตสยามคนแรกประจำทั้งทวีปยุโรปแลสหรัฐอเมริกา รวมแล้ว 12 ประเทศ ได้สร้างผลงานการเจรจาทำสนธิสัญญาต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับภาษีสุรา เกี่ยวกับไปรษณีย์สากล และเกี่ยวกับโทรเลขสากล

 


หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

 

ช่วงที่เป็นนักการทูตในทวีปยุโรป พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ยังมีบทบาทโดดเด่นคือ ได้ร่วมกับเจ้านายหลายพระองค์ทูลเกล้าฯ ถวาย “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103” เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2427 (หากเทียบศักราชแบบปัจจุบันคือ มกราคม พ.ศ. 2428) สืบเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์มายัง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งราชทูต ณ กรุงปารีส เพื่อปรึกษาขอความเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประเทศรอบข้างสยามตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคม รวมถึงสยามเองก็กำลังถูกคุกคาม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หารือกับพระเจ้าน้องยาเธอสามพระองค์ที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต แล้วจึงช่วยกันร่างหนังสือ “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103” เสนอให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดินให้ทันสมัยกว่าเดิม โดยเฉพาะการให้มี “คอนสติตูชั่น” หรือรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่เจ้านายทั้ง 4 พระองค์ที่ลงนามท้ายเอกสารนี้ ทว่ายังมีข้าราชการประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนและกรุงปารีสร่วมลงนามด้วย อันได้แก่ พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี)  หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย)  นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล)  ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น)  นายร้อยเอกเปลี่ยน หัสดิเสวี หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร) และ สับเลฟ ติแนนต์ สอาด สิงหเสนี

ครั้นทางในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้รับทราบคำกราบบังคมทูลแล้ว ก็แสดงความเห็นว่าแม้จะทรงเห็นชอบด้วยในหลักการและเจตจำนง แต่ข้อเสนอบางประการยังไม่สมควรที่จะนำมาปฏิบัติในประเทศสยาม เพราะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อีกทั้งต่อมาในปีเดียวกันมีการเรียกตัวพระเจ้าน้องยาเธอทั้งสามพระองค์และ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ให้เดินทางกลับคืนมายังประเทศสยาม

นั่นเป็นเหตุให้ปรากฏผู้วิเคราะห์กันว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงไม่พอพระราชหฤทัยต่อผู้เสนอ “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103”  โดยเฉพาะ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ความจริง เพราะหลังเจ้านายทั้งสี่พระองค์กลับถึงสยาม ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งไดเรกเตอเยเนราล (Director-General) ประจำกรมไปรสนีย์แลโทรเลข รวมถึงเป็นปรีวิเคาน์ซิลเลอ และยังพระราชทานตึกภูมนิเทศทหารหน้าบริเวณท่าพระให้เป็นที่ประทับด้วย เนื่องจากพอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กลับจากทวีปยุโรปแล้วก็ไม่มีเคหสถานพำนัก ต้องไปอาศัยอยู่เรือนแพหน้าบ้านพระยาราชมนตรี ใกล้ ๆ วังท่าพระ

กรณีของการเสนอ “คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103”  นั้น มักจะถูกอ้างว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของทั้งคณะ ร.ศ. 130 และคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2475 ซึ่งแท้แล้วก็ยังไม่ชัดเจนนักว่าส่งทอดอิทธิพลกันจริง ๆ หรือไม่

 


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
Paramindr Maha Chulalong Korn, King of Siam, / Rotary Photo., E.C. .Bain News Service, publisher.
ที่มา: LIBRARY OF CONGRESS

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีสิ่งใดที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่พอพระราชหฤทัยจนรู้สึกว่าเกินจะให้อภัยต่อ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ น่าจะเป็นกรณีฝากงานให้หม่อมเจ้าปานที่กรมโยธาธิการในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2430 เพื่อทดแทนที่เคยเป็นหนี้หม่อมเจ้าสายแต่ยังมิได้ชดใช้ เพราะหม่อมเจ้าปานเป็นพี่ชายต่างมารดาของหม่อมเจ้าสายซึ่งเป็นหม่อมห้ามของในหลวงรัชกาลที่ 5 จนทำให้ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เจ้านายเก่าของหม่อมเจ้าปานเข้าใจว่า การเปลี่ยนงานนั้นเป็นคำสั่งของรัชกาลที่ 5 เอง

ในหลวงรัชกาลที่5 มีพระบัญชาให้กรมพระคลังตัดเงินเดือนพิเศษที่เคยพระราชทานแก่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ รวมทั้งยกเลิกการพระราชทานตึกภูมนิเทศทหารหน้าด้วย นับแต่นั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเคยเป็นคนสนิทก็มิได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยอีกต่อไป

มิหนำซ้ำ ในปีเดียวกัน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับ คุณหญิงศรี ภริยาหม้ายของ พระยาสุนทรสงคราม (จัน-แสงชูโต)  ผู้เป็นพี่ชายของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  (เจิม-แสงชูโต) ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้มีพระบัญชาให้ คุณหญิงศรี เข้าไปอยู่ในวังหลวง แต่เธอปฏิเสธและหลบหนีไปจากสยาม แว่วว่าจะไปฮ่องกง

ทั้งสองกรณีสร้างความทุกข์ใจท่วมท้นให้แก่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จนถึงกับเคยซื้อปืนโคลต์มาเพื่อหมายปลิดชีพตนเอง แต่มีผู้อ้อนวอนห้ามไว้ทันท่วงที

กระทั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2433 ระหว่างการเดินทางกลับสู่ประเทศสยาม ภายหลังที่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ร่วมคณะของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ก็ได้เขียนหนังสือถวายกราบบังคมลาออกจากราชการฝากไว้ แล้วหายตัวไปจากเรือในช่วงเส้นทางระหว่างฮ่องกงมายังไซ่ง่อน จนมีเสียงลือเซ็งแซ่ว่าถ้า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ไม่ได้หลบหนีหนี้สินรุงรัง ก็คงจะหนีไปพบเจอกับ คุณหญิงศรี

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เดินทางตระเวนไปในหลายเมือง แต่ที่สุด ก็ตัดสินใจจะยุติวิถีชีวิตแบบฆราวาส แล้วผนวชเป็นพระภิกษุที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยเจ้าชายชาวสยามเข้าพบ พระราชครูศรีสุภูติ (High Preist Sri Subhuti) สังฆนายกประจำนครหลวงโคลัมโบ ณ วัดวัสกาดูวา (Waskaduwa temple) เพื่อขอให้เป็นพระอุปัชฌาย์ประกอบพิธีอุปสมบท

นับจากนั้น เจ้าชายชาวสยามก็ครองจีวรมายาวนานถึงสิบห้าปี ในฐานะ “พระชินวรวงศ์” หรือที่ได้รับการเรียกขานว่า “เดอะ ปริ๊นซ์ พรัสท์” (The Prince Priest)

จวบกระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระชินวรวงศ์ จึงเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ที่ประเทศสยาม พระชินวรวงศ์ ต้องยอมลาสิกขาเพื่อจะเข้าร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วก็มิได้กลับไปผนวชเป็นพระภิกษุอีกเลย

ต่อจากนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ดำรงชีวิตด้วยการเป็นบรรณาธิการแผนกภาษาไทยของหนังสือพิมพ์ สยามออบเซิร์ฟเวอร์ ในช่วงระยะสั้น ๆ และหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างสอนภาษาอังกฤษ จวบจนปี พ.ศ. 2466  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งในกระทรวงการต่างประเทศทั้ง ๆ ที่ล่วงวัยชราแล้ว แต่รับราชการได้ไม่นานก็ “ถูกดุล” หรือให้ออกจากราชการ เพราะรัฐบาลสยามจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับเรื่องราวของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ที่ยังมิค่อยเป็นที่รับรู้และผมตั้งใจจะนำเสนอ นั่นคือในช่วงระหว่างที่รับจ้างสอนภาษาอังกฤษก่อนหน้าจะกลับเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศนั้น เจ้าชายชาวสยามเคยมีผลงานเขียนธรรมบรรยายทางพระพุทธศาสนาออกตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ชิ้นหนึ่งเรื่อง  “ภาคพิเศษแห่งประกายเพ็ชร์”

 


หนังสือประกายเพ็ชร์

 

สืบเนื่องจากใน พ.ศ. 2465 จะมีการจัดพิธีปลงศพของ ขุนพิทักษ์อาวุธ (รื่น) ทางทายาทซึ่งนำโดย พระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) อธิบดีกรมพระคลังข้างที่ จึงร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมงานเขียนธรรมบรรยายทางพุทธศาสนาของบุคคลต่างๆ โดยให้ชื่อเล่มว่า ประกายเพ็ชร์ ทั้งนี้เพราะท่านขุนผู้วายชนม์เมื่อครั้งยังดำรงลมหายใจก็นับว่าเป็นผู้เลื่อมใสและนิยมหมั่นศึกษาหลักธรรมของศาสนาพุทธอยู่เสมอ ๆ ดังปรากฏเนื้อความตามบท “ปรารภกถา”  ในหนังสือว่า

ข้าพเจ้าบุตรหลานเหลนขุนพิทักษ์อาวุธ (รื่น) มีพระยาศุภกรณ์บรรณสารเปนต้น  เมื่อปรารภจะทำการปลงศพท่านบุรพการีชนผู้กล่าวนามมาแล้วซึ่งได้มรณกาลล่วงปีมา คิดถึงหนังสือที่จะพิมพ์เพื่อประโยชน์แก่การศพจะควรเปนหนังสือเรื่องชนิดใดดี เมื่อคิดถึงว่าท่านผู้มรณภาพนั้น เมื่อยังดำรงชีพอยู่ ได้เปนผู้เลื่อมใสศึกษาในทางพระพุทธศาสนา (ตามที่ได้ทราบ) มาตั้งแต่มีอายุอยู่ในชั้นปฐมวัย และ (ปรากฏแก่บุตรหลาน) ต่อมาจนปัจฉิมวัย ตลอดอายุขัยนับด้วยปีได้ ๘๔ เปนที่สุดแห่งสังขาร ได้เปนผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมเชื่อผลแห่งกรรมตามพระพุทธศาสโนวาท ปฏิบัติตนมั่นในธรรมสัมมาปฏิบัติตลอดมา และเมื่อถึงเวลาหัวต่อแห่งกาลมรณะก็มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ วางกิริยาอาการเปนปรกติเรียบร้อยเปนที่น่าเลื่อมใส ไม่เสียทีที่ปฏิบัติอบรมมา นับว่าเปนกัลยาณชนผู้หนึ่ง จึงเรื่องที่จะพิมพ์ขึ้นนั้นควรแท้ที่จะให้เปนเรื่องแสดงธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อสมด้วยจรรยาของท่านผู้ล่วงลับไปแต่จะได้เรื่องธัมมะประเภทใด ซึ่งพิมพ์ขึ้นแล้วจะเปนประโยชน์ตลอดไปถึงผู้ใคร่ศึกษาอันจะได้พบอ่านโดยมาก เมื่อคิดต่อไปก็เห็นว่าธรรมดาบุคคลผู้ได้ถือเอากำเนิดมาแล้วณอัตตภาพนี้  ใครจะเปนอยู่ได้ด้วยความสวัสดีพอสมควรแก่ฐานะ ก็จำต้องอาศรัยการบริหารในส่วน ๒ คือกายและใจ กายอาศรัยปัจจัย ๔  ที่ปราศจากโทษเปนเครื่องบำรุงพอควรแก่ภาวะมีอาหารเปนต้น ข้อนี้ย่อมจะเห็นฤารู้ศึกอยู่ได้ด้วยกันแทบทุกคน แต่ใจต้องอาศรัยธัมมะเป็นเครื่องบริหาร ใครจะรู้ศึกฤามิรู้โดยปรกติทุกคนก็ย่อมมีธัมมะ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ทรงอยู่ จะต่างกันก็แต่ความเคลื่อนคลอนอ่อนกล้าและมากน้อย แต่ฝ่ายผู้รู้และปฏิบัติด้วยย่อมได้รับประโยชน์ศุขมั่นคงยิ่งยาวกว่าผู้ที่ไม่รู้ ฤารู้แต่ไม่ปฏิบัติ

อาหารเครื่องบำรุงกายนั้นเล่า เมื่อจะกล่าวถึงความจำเปนอันต้องการที่สุด ก็เพียงระงับความหิวโหยกระวนกระวาย แต่ที่พ่อครัวประดิษฐ์ปรุงขึ้นต่าง ๆ รศก็สำหรับผู้บริโภคได้เลือกถือเอาโอซะตามที่ชอบอัทธยาศรัย เพื่อยังกำลังความอิ่มเอิบของร่างกายให้สมบูรณ์ในระหว่าง ๆ ซึ่งแท้จริงความประสงค์รวมลงก็คงคือ เพื่อให้ดำรงความเปนอยู่แห่งร่างกายนั่นเอง

ธัมมะที่ชอบอันเปนเครื่องประคองใจตามคำสอนของนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเปนต้นซึ่งแสดงไว้ แม้ชื่อว่ามีมากอย่างต่างประการ ก็ยักเยื้องไปเพื่อประสงค์ให้ประสบอัทธยาศรัยของผู้ใคร่ศึกษาซึ่งตามธรรมดาย่อมมีต่าง ๆ กัน ได้เลือกปฏิบัติเพื่อบรรลุศุขเปนเหตุผลแห่งคำสอนนั้น ๆ (ในเบื้องต้น แม้จะต่างกันด้วยอุปเท่ห์และวิธี) รวมลงในที่สุดก็อันเดียวกัน คือความสิ้นทุกข์

อาหารที่ปรุงรศโดยชอบลิ้นของท่านผู้บริโภคเปนอุปการแก่ร่างกายให้พ่วงพี เพื่อยังความ เปนอยู่ด้วยดีตลอดกาลอันสามารถเปนไปได้ถึงที่สุดแห่งสังขารฉันใด ศาสนธรรมซึ่งมีอรรถปริยายต่างไป ก็เพื่อสำหรับเลือกได้ตามที่ชอบอัทธยาศรัยแก่ผู้ใคร่ศึกษาและปฏิบัติ ให้ดำเนินไปในความศุขตามสมควรแก่ธัมมานุธัมมปฏิบัติของตน ๆ กว่าจะบรรลุผลแห่งความสิ้นทุกข์เปนที่สุดฉันนั้น

โดยนัยแห่งอุธาหรณ์นี้ จึงคิดเห็นว่าเรื่องธัมมะที่จะพิมพ์ในการปลงศพ ถ้าได้ข้อธรรมบรรยายอันท่านผู้มีความเลื่อมใส่ในพระพุทธศาสนาซึ่งต่างท่านได้ใฝ่ใจคิดค้นประสบผลอันเปนที่พึงใจและปฏิบัติอยู่ตามคติของตน ๆ ได้รับผลคือความศุขใจซึ่งบังเกิดมีและเปนไปในท่านนั้น ๆ ด้วยกันแล้วคนละหมวด ฤๅคนละข้อมารวบรวมพิมพ์ขึ้น ก็จะเปนมรรคาให้ท่านผู้ริเริ่มแสวงหาธรรมสัมมาปฏิบัติซึ่งย่อมมีนิสัยต่างกัน อันจะได้พบอ่านได้เลือกเฟ้นตริตรองโดยแยบคายในวิถีธรรมบรรยายนั้น ๆ อาจจะมีที่ต้องอัทธยาศรัยของตน ๆ บ้างได้ เทียบโดยนัยแห่งอาหารที่ปรุงขึ้นต่างรศเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่การที่กล่าวเช่นนี้ฟังดูเผิน ๆ ก็เหมือนว่ากล่าวแต่ทางข้างดีฝ่ายเดียว ซึ่งความจริงขึ้นชื่อว่าสิ่งที่ยังต้องคิดต้องทำด้วยผู้คิดและผู้กระทำยังมิได้เปนผู้บรรลุธรรมพิเศษใด ๆ ผลก็ย่อมมีได้ทั้งฝ่ายดีและชั่ว ชอบและผิด เปนธรรมดา เช่นรศอาหารดังว่า ฤๅข้อธัมมะบางประเภทที่คิดจะรวบรวมพิมพ์ ถึงแม้ว่าผู้ริและผู้แสดง รวมทั้งคำชี้แจงนี้จะได้กระทำตามความหวังดีและเห็นว่าดีเต็มสามารถเพียงไรก็ตาม สิ่งซึ่งเหนือความสามารถก็หากจะยังมี เหตุฉนั้นเรื่องหนังสือที่คิดจะรวมพิมพ์ขึ้นดังกล่าวนี้เมื่อสำเร็จพิมพ์ขึ้นได้ก็รู้ศึกอยู่ว่าอาจจะมีที่พลาดผิด ฤๅหากมีผู้เห็นว่าผิด และมีที่ชอบฤๅมีผู้เห็นว่าชอบได้ในบางประเภทฤาบางประการ ย่อมจะได้รับชมบ้าง ได้รับติบ้าง ซึ่งจะชัดไปซีกเดียวมิได้เปนธรรมดา จะรอดตัวก็ด้วยความโยนิโสมนสิการของท่านผู้อ่านรู้เท่าต่อธรรมดาดังว่า ใช้ปัญญาหยั่งลงถึงใจ เห็นเจตนาของผู้ริและผู้แสดงว่าได้กระทำลงด้วยความปรารถนาดี ให้อภัยยกโทษในสิ่งที่เห็นว่าผิด เลือกถือเอาแต่สิ่งที่เห็นชอบ ดี มีประโยชน์ เท่านั้น

ด้วยความเชื่อต่อท่านผู้ซึ่งจะได้พบอ่านและให้อภัยในประการเช่นกล่าวนี้  จึงคงความคิดและพยายามต่อมาโดยถือเอาความปรารถนาดีต่อสาธารณประโยชน์เปนหลัก กระทำความกราบไหว้วิงวอนอาราธนา กราบทูล กราบเรียน เรียน และแจ้งความแก่ท่านผู้ทรงคุณธรรมอันเปนที่เคารพนับถือบางท่าน  และบางสหายที่เข้าใจว่าใฝ่ใจในธรรมปฏิบัติอยู่ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ในผู้ซึ่งหวังว่าจะมีไมตรีจิตร์บันดานความคิดนี้ให้บรรลุผล  ก็ได้รับความกรุณาอารีจากท่านนั้น ๆ โดยมากโปรดเขียนคำแสดงธรรมบรรยายอันเปนที่พึงใจของท่าน ๆ ให้พอควรจะรวบรวมพิมพ์ขึ้นได้  จึงได้จัดให้ช่างพิมพ์พิมพ์ขึ้น  ให้ชื่อหนังสือนี้ว่า “ประกายเพ็ชร์” การรวมเย็บเล่มได้ปันเปน ๒ ตอน ตอนต้นเปนธรรมปริยายของฝ่ายบรรพชิต มีพระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เปนปฐม ตอนต่อเปนของฝ่ายคฤหัสถ์  มีพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เป็นปฐม ตัวอักษรคือสระแลพยัญชนะเครื่องหมายต่าง ๆ และวรรคตอนที่พิมพ์ในหนังสือนี้ทั้ง ๒ แพนก ผู้เรียงพิมพ์และผู้ตรวจอนุญาตพิมพ์ได้ตั้งใจสอบทานโดยระมัดระวัง เพื่อจะมิให้วิปลาศคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับเดิมของทุกท่านทุกฉบับ หวังว่าหากจะมีที่หลงหูหลงตาไปได้บ้างก็จะเปนส่วนอันน้อยที่สุด

ข้าพระพุทธเจ้าและข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เปนเจ้าภาพในการปลงศพมีความชื่นชมยินดีในพระกรุณาและกรุณาของท่านที่โปรดประทานและให้ธรรมบรรยายอันเปนที่พึงใจ  ได้พิมพ์ขึ้นสมปรารถนา เปนพระคุณและคุณอย่างยิ่ง

อนึ่งระหว่างเวลารวบรวมต้นฉบับเพื่อส่งช่างพิมพ์อยู่ พระเขมาภิมุขธรรม วัดพิชัยญาติการาม นามเดิม อิ่ม ผู้มีส่วนแสดงธรรมบรรยายซึ่งพิมพ์ในหนังสือนี้ภาคหนึ่งได้ถึงแก่มรณภาพลงในเวลาอันรวดเร็ว ควรเปนเหตุที่ตั้งแห่งความสังเวชประการหนึ่ง แต่อาการมรณะของท่านนั้นทราบว่าได้เปนไปโดยเรียบร้อย ไม่มีกิริยาวิปลาศหวาดหวั่นประการใด น่าเปนที่เลื่อมใสของผู้ปฏิบัติเปนอันมาก สมภูมิภาคของผู้ที่ตั้งอยู่ในความสงบระงับ ควรเห็นได้ว่าธรรมปริยายอันท่านได้แสดงไว้ดังได้พิมพ์ในหนังสือนี้หน้าที่ ๖๗ (คือต่อหน้า ๖๖) เปนธรรมที่เห็นจริงแก่ใจ และได้ถือเอาเปนวัตตปฏิบัติของท่านอยู่โดยจริงแท้ จึงเปนที่น่าเลื่อมใสยิ่งอีกประการหนึ่ง

ด้วยอำนาจความเจตนาและพยายามแห่งการรวบรวมและพิมพ์หนังสือนี้ ทั้งการกุศลใด ๆ ที่ได้บำเพ็ญแล้วมีทานเปนต้น ถ้าจะมีอานิสงษผลบังเกิดขึ้นได้ด้วยประการใด ๆ ข้าพเจ้าบุตร์หลานเหลนทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนั้น ๆ แก่ท่านขุนพิทักษ์อาวุธ (รื่น) ผู้บุรพชนที่ทำลายขันธ์ไปแล้วยังปรโลก จงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนั้น ๆ เพื่อประโยชน์และความศุขอันจะมีจะเปนไปได้ ตามวิสัยสามารถจงทุกประการ และขอสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ จงเปนผู้มีส่วนแห่งบุญกุศลนั้น

ในที่สุด ขอผู้เพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย จงอย่ามีเวร, ภัย, ไข้,ทุกข์, รักษาตน       เปนศุขสิ้นทั่วกัน เทอญ

หนังสือนี้ พิมพ์ขึ้นณปีจอนักษัตจัตวาศก พุทธศาสนายุกาลล่วงแล้ว ๒๔๖๕ พรรษา”

 

ประกายเพ็ชร์ เริ่มจากเนื้อหาในส่วนของธรรมบรรยายตอนต้นซึ่งฝ่ายบรรพชิตเป็นผู้แสดง อันประกอบด้วย

1. วิปัสสโนบาย โดย พระเจ้าวรวงษ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

2. ธรรมวิจารณา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

3. การละบาปบำเพ็ญบุญสำเร็จด้วยจิตร์ที่ผ่องใส ฤาจิตร์ที่ผ่องใสเปนเหตุของการละบาปบำเพ็ญบุญ โดย พระญาณวราภรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

4. ความพอเปนเหตุแห่งความศุข โดย พระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

5. วิจารณบรรยายในสภาวะแห่งโลกแลธรรม โดย พระพรหมมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม

6. สาวิกาภาษิต โดย พระสาสนโสภณ วัดเทพศิรินทราวาส

7. ติลักขณกถา โดย พระอุบาฬีคุณูปมาจาริย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

8. ภาวนาวิธี โดย พระธรรมเจดีย์ วัดอรุณราชวราราม

9. ชราชรธัมมกถา โดย พระธรรมปาโมกข์ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

10. สติสัมปชัญญกถา โดย พระธรรมไตรโลกาจาริย์ วัดมหาธาตุ

11. ทุลลภวัตถุ โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดบรมนิวาส

12. อภิณหปัจจเวกขณวิธี โดย พระเทพสุธี วัดสุทัศนเทพวราราม

13. อนุตตริยะ ๓  โดย พระเทพเมธี วัดสุปัฏน์ (หรือวัดสุปัฏนาราม) จังหวัดอุบลราชธานี

14. อัปปมาทธรรม โดย พระเทพกวี วัดมกุฏกษัตริยาราม

15. เอกเทศแห่งอานาปานสติ พระเทพโมลี  วัดราชาธิวาสวิหาร

16. ฆราวาสธัมมกถา โดย พระราชเวที วัดสระเกษ

17. จิตร์ที่ฝึกดีแล้วย่อมนำประโยชน์มาให้ โดย พระราชเมธี วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา

18. พุทธคุณาทิกถา โดย พระเขมาภิมุขธรรม วัดพิชัยญาติการาม

19. สุขปฏิปทา โดย พระอมรโมลี วัดบวรนิเวศวิหาร

20. ผู้ที่ไม่รู้จักความจริง ๔ อย่าง ชื่อว่าตกอยู่ในที่มือคือความหลง โดย พระนิกรมมุนี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

21. ภาวนา โดยพระศรีสมโพธิ วัดมหาธาตุ

22. ธรรมอันเปนที่พึ่งของตน โดย พระสังฆกิจคุณ วัดตรีทศเทพ

23. ผู้สงบระงับย่อมอยู่เปนศุข โดย พระครูวิบูลย์ศีลขันธ์ วัดสัมพันธวงษ์

24. แสดงเรื่องสมาธิ โดย พระสีหราช หรือเดิมคือพระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร) เจ้ากรมพระตำรวจ

พระฯ สีหราช เดิมคือพระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร)  เจ้ากรมพระตำรวจ เคยปฏิบัติราชการเมื่อคราวปราบฮ่อเมืองหนองคาย ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต จึงออกบวชอุทิศส่วนกุศลถวาย จนได้รับฉายาเรียกขานว่า ‘โนกี้’ เพราะจงรักภักดีเหมือนนายพลโนกี้ของญี่ปุ่น ผู้ฮาราคีรีตัวเองตายเมื่อจักรพรรดิมุสุฮิโตสิ้นพระชนม์ ต่อมาครองตำแหน่งพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์ ‘พระสุวรรณรัศมี’

ในส่วนของธรรมบรรยายตอนต่อซึ่งฝ่ายคฤหัสถ์เป็นผู้แสดง ประกอบด้วย

1. จิตร์ที่ไม่ไหวด้วยโลกธรรมเปนแดนแห่งความเกษม โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา

2. ผู้ปฏิบัติควรตรวจตัวเองให้รู้ภูมิฤาผลการปฏิบัติของตน โดย หม่อมเจ้าพร้อม ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี

3. ปฏิปทาคุณแห่งบริกรรมภาวนา โดย เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์

4. ปริยายธรรมทางศาสนา โดย เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

5. ไตรสิกขา โดย พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)

6. ปฏิปทาคุณแห่งสมถภาวนา  โดย พระยามหานามราช (ม.ร.ว. จำนง นพวงศ์ ณ กรุงเทพ เปรียญ)

7. เหตุแห่งวิมุติ ๒ โดยพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์)

8. การบำรุงชาติแลพระศาสนา พระมหากษัตริย์  โดย พระยาไกรโกษา (ทัต สิงหเสนี)

9. วิชชาน่าคิด โดยพระยาภักดีนฤเบศร์  (แก้ว ศาลิคุปต์ เปรียญ)

10. ละอุปาทานด้วยความเห็นชอบ โดยพระยาวิชิตณรงค์ (คืบ สุวรรณทัต)

11.อารมณ์ดีแลชั่วสงบด้วยการรู้เท่าความไม่แน่นอน โดยพระยามนธาตุราช (สุดใจ จูฑะวิภาต)

12. เรื่องธรรมิกถา โดยพระยาพฤฒาธิบดี (อ่อน โกมลวรรธนะ เปรียญ)

13. แสดงคุณพระรัตนไตร โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)

14. ความกตัญญูกตเวทีแก่มารดาบิดาเปนต้นเปนมงคล โดย พระยาประวัติสุทธิกรณ์ (เจริญ ตุลยานนท์)

15. คติธรรมต่าง ๆ โดยนายพันโท พระพินิจสารา (ทิม บุณยรัตพันธุ์)

16. อัปปมาทธรรม โดยพระพิจิตร์จำนง (แจง สังขดุล เปรียญ)

17. อานิสงษ์แห่งสมถภาวนา โดยพระสารธรรมวินิจฉัย (อัมพร จารุประกร)

18. อารมณ์คือศุขแลทุกข์เปนของเกิดดับได้ไม่ควรยึดถือ โดยพระศรีธรรมสาส์น (แทน บุนนาค)

19. สมมติบังสภาวะ โดยพระญาณวิจิตร (สิทธิ์ โลจนานนท์ เปรียญ)

20. กระทำสมาธิได้แคล่วคล่อง จะเลือกถือเอานิมิตร์ได้เมื่อจะตาย โดยพระภิรมย์ราชา (พร้อม วาจรัต)

21. อธิบายการที่จะได้มรรคผลนิพพานไม่ใช่ของทำได้ในชาติเดียว แลมีแก่นธรรมโดยย่อต่อท้าย โดยพระพิเศศสวามิภักดิ์ (ประวัติ บุณยะจันทร)

22. ศุขอื่นจากความสงบไม่มี  โดยพระวรพรตบำรุง (ฟื้น พูลสุข)

23. ฆราวาสธรรม ๔ ประการ โดยหลวงพิบูลยบรรณกิจ (หรุ่ม ราชเวที)

24. หลักประเภทธรรม โดยหลวงเทพดรุณานุศิษฎ์ (ทวี ธร๎มธัช เปรียญ)

25. สัลเลขปฏิบัติควรต้องรู้จักเรื่องของใจก่อน โดย ผู้แสดงขอร้องอย่าให้ต้องลงนาม

26. ธรรมบรรยายสังเขปว่าด้วยความจริงเปนหลัก โดยนายพันตรี หลวงโยธาธรรมนิเทศ (แจ่ม จุลละเลข)

27. สุขกถา โดยหลวงธำรงเจดีย์รัฐ (เทศ วิริยะรัต เปรียญ)

28. ปกิณกธรรม โดยธรรมเปนเครื่องเตือนใจ  มหาใจภักดิ์ ต.ม. หรือหลวงมหาใจภักดิ์ (ตรึก มานิตยกุล)

29. แก้กระทู้ธรรม ๔ บท ทมะ,สัญญมะ, วิริยะ, ขันติ  โดย ขุนศุภสินรักษา (บาง คำประสาท เปรียญ)

30. สาราทานกถา โดยขุนราชธนภิบาล (ง้วย บุณยบุตร เปรียญ)

31. ความปฏิบัติที่ได้ประสบศุข โดยขุนสักกสมบัติ (ชม ศรีนิล)

32. ผลของการไม่ประทุษฐร้ายมิตร์ โดยขุนศุภนิติปรีชา (ไลย สังวรวิตร เปรียญ)

33. ธรรมดาโลกย่อมเปนไปตามเหตุแลผล โดยหม่อมราชวงษ์เล็ก ศิริวงษ์ ณ กรุงเทพ

34. ว่าด้วยไตรสิกขา โดยขุนไภสัชพิเสษฐคุณ (สุทธิ์ โสทชิน)

35. ขันธ์ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ โดยขุนวิจารณ์พลกิจ (สาย ยุวนวนิช)

36. ตนรู้เท่าตน โดย ขุนไกร (สอน รตานนท์)

37. แก้วสารพัดนึก โดยขุนวิเศษนคร (หมอผล เย็นลำยอง)

38. ปกิณกธรรม โดยนายแหวน โฆสนันท์

39. ว่าด้วยอารมณ์กับจิตร์ โดยนายคง สุเทส เปรียญ

40. ใจที่รู้ขันธ์ รู้โทษ แลใช่โทษ โดยจางวางอยู่

41. การไม่ถือเอาอารมณ์เครื่องสำผัสแห่งจิตร์ เปนบรมศุข  โดยนายเปรม สุปิยพันธ์

42. เทียบสิ่งซึ่งเปนเองกับความคิดเห็น โดยนายทรัพย์ สินธุปุรณ์ ซึ่งอายุครบ 40 ปี ใน พ.ศ. 2465

43. ปกิณณกธรรม โดย น,ช, สิริสุทธิ (นายชม สิริสุทธิ)

44. ความอยากเปนทุกข์พ้น อยากเปนศุข สิ้นทุกข์สิ้นภัย โดยนายโชติ นฤดม เปรียญ

45. การไม่ยึดถือสังขารทั้งหลายว่าเปนของคงทนเปนความศุข โดยนายคำ ประภานนท์

46. ธรรมที่จัดว่าเปนกลาง โดยนายสำราญ พรเจริญ

47. ข้อปฏิบัติในใจ โดยนายเจิม อักษรพันธ์

48. ศึกษาธรรมดา โดยนายเทศ ตัณฑเสน

49. ความเข้าใจผิดเปนทุกข์ เข้าใจถูกพ้นทุกข์  โดยนายภู ผกามาศ

50. ควรศึกษาให้รู้เท่าจิตร์แลสังขาร ความรู้เท่าจิตร์แลสังขารจึงพ้นอคติ ๔ โดย โสรต (ซ.พิเศษสัตถา)

51. การฝึกจิตร์ให้รู้เท่าต่อสังขารเปนความศุข  โดยนางสาว อ.พ. ดิฐ (นางสาวอำไพ ดิฐ)

ใช่เพียงแค่ที่กล่าวมา ยังมีข้อเขียนธรรมบรรยายอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นผลงานของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเพิ่งส่งมาสมทบภายหลังในขณะที่กำลังดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือในโรงพิมพ์ ทางทายาทของ ขุนพิทักษ์อาวุธ จึงพิมพ์แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งเย็บแนบไว้ท้ายเล่ม แล้วให้ชื่อว่า “ภาคพิเศษแห่งประกายเพ็ชร์” พร้อมมีหมายเหตุว่า “ที่ต้องพิมพ์เปนส่วนพิเศษเพราะเจ้าของประทานมาล่าไปมาก ไม่ทันเวลารวมพิมพ์พร้อมกัน”

ข้อเขียนธรรมบรรยายชิ้นนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ได้ระบุว่าเป็นงานนิพนธ์โดย “กระดูกสันหลัง” ซึ่งเป็นนามปากกาที่เจ้าตัวนิยมใช้

มูลเหตุที่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชอบเรียกตนเองว่า “กระดูกสันหลัง” ก็เพราะเป็นนามที่ได้มาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กล่าวคือวันหนึ่งขณะที่ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ได้ตามเสด็จมาถวายงานรับใช้ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงถามสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ตอนนั้นยังครองพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์) พระราชอุปปัชชาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งพระนามประทานให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า นามนี้มีความหมายว่าอย่างไร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทูลตอบว่า เพราะเป็นบุตรคนหลังสุดของบิดามารดา จึงให้นามว่า “ปฤษฎางค์” แปลว่า “หลัง” เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ได้ฟังก็ชอบพระทัย จึงทรงเรียกล้อหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ว่า “กระดูกสันหลัง” เรื่อยมา แม้ภายหลังที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5 แล้ว จะไม่ค่อยทรงเรียกนามล้อนี้อีก แต่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็ว่ามงคลนาม และมักใช้เรียกตนเองอยู่เนือง ๆ

 

 


ภาคพิเศษแห่งประกายเพ็ชร์

 

สำหรับข้อเขียนธรรมบรรยาย “ภาคพิเศษแห่งประกายเพ็ชร์” ของ “กระดูกสันหลัง” ถือว่าหาอ่านได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบัน ผมจึงใคร่จะยกมาแสดงให้เห็นทั้งหมดดังนี้

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส x ๓

โดย “อัตตโน” ได้รับคำเชิญให้แถลงสัจ ตามสัตย์จริงเปนคำปุจฉาหาฤาว่า อัตตโน เข้าใจว่า พุทธสาสโนวาทว่ากระไร ได้ปฏิบัติตามไปบ้างอย่างไร หรือเปล่า และถ้าได้ปฏิบัติตามบ้างแล้ว ได้รับผลอย่างไรบ้าง? ปัญหา ๓ ข้อนี้กว้างมาก แม้จะบรรยายให้พอเข้าใจได้บ้าง ก็ต้องตั้งเล่มสมุด

นี่เปนความเข้าใจตามหนังสือชวนเชิญของท่านผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา  มี เจตนาที่จะได้รับแสงสว่าง จึงได้แผ่กุศลมาถึงอัตตโน ฯลฯ  อัตตโน จึงเห็นควรจะแบ่งวิสัชชนาออก ตามความเข้าใจและตอบเป็นข้อๆไปในองค์สาม แต่โดยย่อต่อไปดังนี้ (และโดยเหตุที่ได้แถลงแล้วจึง ต้องส่งช้าเกินกำหนดไปด้วย)

องค์ที่ ๑ อัตตโน (ไม่ใช่ อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ นี่เปน คำที่ใช้กันครั้งสมัยพระนารายน์มหาราชโบราณ ที่เราสมัยใหม่ใช้กันว่า ข้าพเจ้า ไม่ใช่ปลาแห้งอะไร) เข้าใจพุทธสาสในวาทว่า "ให้เราท่านรู้จักธรรมดาไว้เปนมูลที่ตั้งแห่งความคิด" อย่าคิดให้ผิดธรรมดาไป เพราะจะพาให้เข้ารก ตกหล่มหลงชมติดอกไม้ ให้องค์อุปาทานยึดมั่นยิ่งขึ้น พระบาฬีว่ากระไรก็มากมายเหลืออ้างได้ จำได้ ไอ้คิด ๆ นี้ อัตตโน เข้าใจว่ามันเปน ๒ นัยอยู่, นัย ๑ ว่ามันมีเขตร์คั่น, อีกนัย ๑ ว่ามันไม่มีที่สุด, ให้เราเลือกเอาตามชั้นของเราที่ก้าวขึ้นได้เพียงไหนแล้ว ถ้าเรายังอยู่ในคั่นต่ำแห่งบันไดไปพระนฤพานเราจะเห็นการไกลไม่ได้อยู่เองฯ อย่างไรจึงว่ามันมีเขตร์คั่น? มันมีเขตร์คั่นเพราะบรรดาที่เราคิดได้ แม้สัปดนอย่างไร มันก็ต้องอาศรัยว่า ไอ้นั่นเปนอย่างนั้น, ไอ้นี่เปนอย่างนี้, ไอ้โน่นมันจึงเปนดัง? (ตามใจลื้อ! เพราะอุปาทานมันยังครอบกระบานอยู่) คือตาม วิตกฺโก วิจาโร ถูกผิด

อีกนัย ๑ ไม่ใช่แต่ "ท่านว่า" เราเองก็ต้องรับว่า "ความคิดไม่มีที่สุด" โดยเหตุนี้ความรู้ก็ไม่มีที่สุดเหมือนกันกับสิ่งอันอื่นที่ไม่มีที่สุด  เช่นสัตว์ ("ตัวไมโกร๊ป" และสัตว์ในตัวเราเอง ซึ่งทำให้เราเปนพหูพจน์จนกำหนดมากน้อยไม่ได้) ก็ไม่มีที่สุด, โดยย่อก็ว่า โลกก็ไม่มีที่สุด ทั้งอดีตปัตยุบันแลอนาคตก็เหมือนกัน เมื่อธรรมดามันเปนอยู่อย่างนี้ เราจะมิกลายเปนยึดไม้หลักปักตมเลนไปหรือ? เราไม่ยักต้องเปน! เราหลีกไอ้ยุ่ง ๆ ที่มันไม่รู้จักจบเสียได้โดยอาศรัยว่า ธรรมดามันเปนอย่างไรก็ชั่งมันเปนไร! ไอ้ที่เรารู้ว่าอดีตของเรามันเปนอย่างไร มันก็ชั่วแต่ที่เราจำความมาได้แต่กำเนิดในชาตินี้เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าก่อนนั้นเราจะว่าเราไม่มี ก็เท่ากับจะว่าเมื่อวานนี้มันไม่มี ! ถ้าไม่มีแม้เราเองเมื่อก่อนเกิดก็ไม่มี ถ้าเช่นนั้นเรามาแต่ไหน? ยุ่งอีก !

ต่างว่ามันมี ก็เกิดปัญหาขึ้นอีกว่า  ต่อไปเราจะมีจะเปนอย่างไร จะไปข้างไหนกันอีก? ยุ่งไม่จบอีก! ถ้าว่าไม่มี ตายแล้วก็เปนอันจบ  พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องมีมรืนนี้อีก ยุ่งอีก! ไม่จบอีก !

ต่างว่า ถ้าไม่มือนาคต ถ้าเราเอามือไปจี้ไฟเข้า ก็ชั่วแต่มี

ความร้อน เมื่อเวลาซนเท่านั้นหรือ แม้จี้อยู่นาน (เช่นเราล้วงลงไปเอาทองที่ละลายคว้างอยู่ในเบ้า) มือพองมากถึงปอกไหม้ พรุ่งนี้เราจะไม่มีบาดแผล ได้รับทุกขเวทนาอีกต่อไป ถึงต้องหาหมอหายา และซ้ำไอ้ "ไมโกร๊ป" อับปรี จะมาเปนห่าลงให้เกิดพิษม์ขึ้น ถึงโลหิตก็เปนพิษม์ทั่วสรรพางค์กาย จนถึงตายได้มิใช่หรือ? ยุ่งอีก ?

โดยเหตุนี้ พระบรมสาสดาจารย์เจ้าของเราจึงทรงเทศนาไว้ว่าอะไร ๆ ก็ชั่งเถิด (พูดอย่าง       รวม ๆ) ไอ้เดี๋ยวนี้และมันมีมันสำคัญเพราะมันมีมันเปนอยู่จริง, จริงอย่างไร? จริงที่มีทุกข์ (เกิดแก่ไข้ ตาย ฯ ล ฯ ) ๑, จริงที่มีเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ๑, จริงที่มีที่ดับแห่งทุกข์ ๑ , มิทางปฏิบัติมีองค์ ๘ ให้ถึงที่ หมดทุกข์จริง ๑, โดยเหตุจริงที่มีอยู่ดังปฏิเสธไม่ได้ดังนี้และ ถ้าเรายังจะพอปฏิบัติอย่างไรให้เสื่อมทุกข์รับศุขใจได้บ้าง หรือให้หมดทุกข์ รู้สึกว่า แม้อนาคตของเรามี ก็ให้หวังได้ว่าคงจะดี ไม่ต้อง หวาดหวั่นสนเท่ห์ใจอีก

อัตตโน ไม่ต้องอธิยายในอริยสัจจ์ ๔ เพราะเปนของที่มีอยู่ริมฝีปากเราท่าน บรรดาที่รู้          สาสนาพระพุทธอยู่ด้วยกัน และต่างคนต่างก็เกณฑ์กันให้ปฏิบัติตามอยู่ จากธรรมาศน์, อาศน, บรร   ลังก์, และที่นั่งเก้าอี้อยู่ด้วยกันแล้ว จึงขอตัดบทว่าแม้ผู้ที่ทรงพระไตรปิฎก ก็ได้ชื่อว่าเปนแต่หอพระ สมุดอันใหญ่ มีพระไตรปิฎก ทั้งอรรถถาอยู่บริบูรณ์และที่ได้ท่องบ่นไว้อย่างขึ้นใจทั้งอรรถแปล ไม่ต้องเปิดสมุดด้วยซ้ำเท่านั้น แต่ถ้ามิได้ปฏิบัติตามความรู้อันคงแก่เรียน ก็เท่ากับขนมสมน้ำยา ซึ่งผู้ที่ปรุงแต่งหาได้ชิมรศไม่ ท่านเปรียบด้วยช้อนที่ตักขนมสมน้ำยา  ไม่รู้รศว่ามิโอชะอันน่าน้ำลายไหลอย่างไร เลยกลายเปนตู้หนังสือไปซ้ำ !

องค์ที่ ๒ การปฏิบัตินี้ อัตตโน ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเปนเรื่องฝึกหัดตัวโดยตรง ไม่ใช่สักแต่ว่า          เล่าเรียนให้รู้ และเปนทางทรมานกายและใจด้วยซ้ำ ใครจะอวดดีมีโวหารสามหาว สี่เรอ ว่าพระสงฆ์  โง่ หลงอดเข้า ถือผ้าสามผืน โกนหัว และถือวินัยให้ลำบากกาย เปนทางหลง, เราลัดทางไปเดินเสีย        ในทาง ๘ ไม่หลงไปตามพระพุทธเจ้า ไม่เกี่ยวเกาะแก่โลก ทรัพย์สมบัติ ลูกเมีย ก็แล้วกัน เราบริโภค        กามคุณที่เรามีอยู่ก็ได้ แต่อย่าไปเกี่ยวเกาะยึดถือมันเข้าก็แล้วกัน เพราะจิตร์รูปไม่ตั้ง ศีลรูปก็ไม่ขาด! อะไร ๆ มันก็เปนหาใจต่างหาก, สวรรค์ในรถ นรกในใจ, เลือกเอาซิ!  มันเกี่ยวกับตัวเรา    เมื่อไหร่, ส่วนรูปก็รูป ส่วนนามก็นาม, มันคนละดุ้นมิใช่หรือ? หรือจะชี้แจงอย่างไรว่า ลัดไปพระ        นิพพานได้ก็ตาม แต่ว่า ถ้าได้ลูกรักของเราคนหนึ่งมันดื้อว่ากล่าวสั่งสอนมันไม่ได้ เราก็ทรมานมัน ถึงฝากวัดที่มีอาจารย์เคร่งครัดดุดัน ดัดสันดานฝึกสอนมันจนหายดื้อจนได้ ม้าที่ดื้อเราก็ทรมาน ฝึกหัดมันจนหายดื้อหายโกง เด็กโง่เราก็ฝึกสอนให้วิชาความรู้ ให้หายโง่ มิใช่หรือ ? ถ้าการฝึกหัดสั่ง      สอนเปนการผิดแล้ว มนุษย์โลกก็เปนบ้าหมด !

ทีนี้ต่างว่าปัญหามาเกี่ยวขึ้นแก่ตัวเราเอง, เราควรจะฝึกหัดสอนใจทรมานกายของเราเองให้          หายโง่ หายดื้อ หายถือทิฏฐิมานะไหม ?

ต่างว่ามีบุรุษผู้หนึ่ง  บิดารักเสมอตัวของเขาๆ ส่งให้ไปเรียนวิชาช่างกลพลเรือนที่ตำบล “กูเปอร์สฮิล์" ที่เมืองอังกฤษ (เสียเท่าไรก็เสียไป) เด็กนั้นเรียนวิชาจบคัมภีร์ตำรับตำราแล้ว แต่ไม่เคย     ปลูกโรงนากั้นล้าวหมู เขาจะทำเปนหรือ ? ฉันใด สรรพวิชาช่างแม้แต่ได้เรียนตำหรับตำรา แต่ไม่ได้เคยทำอะไรกับมือของตัวเอง ได้แต่ชี้นิ้วเปนนาย ไอ้ช่างไม้มันจะเลื่อยไม้ตีตะปูให้ตรง ถากเหลี่อม, กลม, โค้งวงให้ดี ไม่ต้องฝึกหัดเปนลูกมือให้เขาใช้ ตั้งแต่ในการชั้นต่ำเลวก่อน มันก็ทำได้ดี หรือ ?

เราท่านทั้งหลายเองตั้งแต่เด็กเล็กมา มารดาที่เลี้ยงก็ต้องหัดให้เราพูด สอนให้เราเดิน ที่สุดจนต้องสอนให้รู้จักกิน อย่าให้กินอย่างหมู ซ้ำต้องให้รู้เลือกและประหยัดอาหารด้วย และต้องใช้ทรมานด้วยซ้ำๆ ๆ !!!

กษัตริย์โบราณต้องออกเดินป่า ทรมานร่างกาย ถ่อมเกียรติยศ ไม่ยักแห่กันขึ้นราชรถไปต้องลำยากยากไร้หาอาหารเสวยตามแต่จะได้ เที่ยวหาอาจารย์ เรียนศิลปศาสตร์ ให้รู้จักโลกรู้จักธรรม และวิชาความรู้ รู้จักบังคับข่มใจของตัวเองในเมื่อจำเป็น ของเหล่านี้อาจารย์ต้องฝึกสอนจนชำนาญทั้งสิ้นจึงจะเรียกว่าคงแก่เรียนได้  คือบรรดาความรู้ที่ได้เรียนแล้วนั้น  ต้องได้ฝึกหัดชำนิชำนาญต่อไปอีก (พระนารายณ์ได้ศรแล้วยังต้องลอง !) บางทีจนถึงฌานสมาบัติก็ได้เรียนก็มี (เช่น พระราม) ฯลฯ แม้พระพุทธองค์ก็ต้องทรงปฏิบัติดัดพระสันดานทรมานกายใจของพระองค์  จึงได้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ และภายหลังก็ได้ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งที่ลับที่แจ้ง ไม่ได้เกณฑ์ให้ใครปฏิบัติ พระองค์เปนตัวอย่างอยู่ให้เห็นผลทันตาฉนี้ คนจึงได้นิยมปฏิบัติตาม ตั้งพระพุทธสาสนาถาวรเจริญได้จนกาลบัดนี้ มิใช่หรือ?

ศุขกับทุกข์มันเปนของคู่กัน เช่นดีกับชั่ว ถ้าไม่เคยรู้จักทุกข์มีแต่ศุข ฯลฯ  จะรู้จักศุขว่ามันเปนอย่างไรไม่ได้เลย เพราะยิ่งแสนศุขมันก็ยังไม่พอ อยากรู้ อยากชิมศุขที่ยิ่งกว่าได้เคยมีต่อไปเพราะตัณหาอุปาทานมันยังมีอยู่ จนรู้ที่ตั้งแห่งศุขทุกข์ว่ามันมีอยู่ที่ไหน จึงจะรู้ได้ว่า มันหมดศุขหมดทุกข์อยู่ที่ตรงนั้น เท่านั้น

องค์ที่ ๓ บัดนี้จะพูดถึงตัวอัตตโนเอง ตามที่ได้คุ้นเคยมาแล้ว แต่เยาว์มาก็ได้เคยฝึกหัดขี่วัวขี่ม้า ได้รู้สึกว่าแต่แรกกลัวอย่างยิ่ง แต่ต่อมาก็ยิ่งขี่ขับได้จนคล่องแคล่วเข้า จนภายหลังก็ขี่แขง ขับสี่ตัวได้อย่างพอดีพอใช้ เมื่อเริ่มฝึกรู้สึกตัวว่าขี้ขลาด ภายหลังต่อไปกลายเปนกล้าจนจะเกินไป เพราะกล้าทดลอง

เมื่อก่อนบรรพชาเปนสามเณรนั้นซุกชนเกกมะเหรก ใจบาปหยาบคาย สึกออกมาแล้วกลายเปนสุภาพเรียบร้อย ถึงเลยเรียนวิปัสสนา มีศรัทธานุ่งห่มขาว นั่งเทียนบูชาบริกรรม ตามลัทธิอาจารย์วัดน้อย ที่เวลานั้นมีคนนับถือมาก สุราที่พี่เคยบวดเสีย ให้กินจนเมาก็เลิกได้

ครั้นออกไปเรียนหนังสือเมืองนอก การเสวนาวิสาสะกับนักเรียนที่ไปก่อน เขาเรียนทาง นักเลง ก็ค่อยเสื่อมสัมมาปฏิบัติไปตามเขา จนถึงชอบทางปล่อยสติ เสพสุราหน้าด้าน ทำการที่เคย กระดากได้ ไม่เห็นเปนต่ำเลว พยายายามกินเนื้อโคย่างสุกๆดิบ ๆ ที่ยังมีเลือดอยู่น่าเกลียด พยายามกินเนยเหลวเนยแข็งที่มีตัวคลานได้และเหม็น จนเห็นอร่อย แต่นั้นมาก็เลยเหลิงไปแต่ในทางโลกีย์เก๋ ๆ เก๊ ๆ จนได้ไปพบอ่านหนังสือแสดงความคิดความเห็นของท่านนักปราชญ์อันสูงสุด เล่มต้นเรียกว่า "เฟิส๎ต ปรินซิเปอล๎"  (ประธานะวิทยาศาสตร์แห่งของจริงธรรมดา) และได้ฟังผู้ที่ได้รู้พระธรรมจริงแล้วฉลาดอธิบายอย่างตรง ๆ ย่อ ๆ เปนข้อคำที่เถียงไม่ได้  แล้วได้มาดำริห์ถึงโลกกับธรรมอันเปนของคู่กัน พร้อมกันไปตามวิทยาศาสตร์ จึงค่อยกลับใจได้สติ ละพยศได้ พอเห็นโลกุตตรธรรม ราง ๆ ว่าเปนทางนักปราชญ์อย่างเลิศ ถูกต้องดีจริง เถียงไม่ได้แท้ทีเดียว จนเมื่อภายหลังได้มีโอกาศอุปสมบท ศึกษาและปฏิบัติธรรมวินัยอยู่ ๑๕ ปี เรียนแลฝึกตัวทางวิปัสสนา ตลอดถึงทางฮินดู ที่ใช้    ลัทธิอุปเท่ห์ฝึกหัด และมุ่งหมายแปลกต่างกันกับเรา จนออกข้างจะเปนทางกสิณอภิณญาณ และเชื่อถือมั่นจนเผลอ ๆ ไป เห็นไปตามนึกเชื่อถือ ไม่ใช่เห็นพระไตรลักษณ์

ทางวิปัสสนานี้ ต้องปฏิบัติให้สม่ำเสมอไม่ละเว้น จึงจะได้รับผลทวีความศุขสำราญกายละใจ          ละเลยเสียเมื่อไรเปนเสื่อมถอย ยิ่งปล่อยใจให้คิดไปในทางโลก ๆ แล้ว จะบังคับใจให้เข้ารูปรอยตามที่เคยบังคับได้ยากนัก ต้องตั้งต้นพยายามไปใหม่อีกเสมอ

ได้เคยเดินทางอานาปานสติ และรับผลมีความศุขสำราญใจยากที่จะอธิยายได้, มีตัวเบา,        เย็น, สว่าง, น้ำตาปีติใหล, ขนลุกไม่รู้ตัว และนิ่งเงียบไปคล้ายเปนลม, ไม่กระสับกระส่าย, ไม่เมื่อยชา, ไม่รู้สึกว่ามีลมหายใหท้องไม่แขมบ, แต่ไม่ใคร่ได้นานนักก็กลับรู้สึกตัวตามธรรมดา จิตร์บ้าฟุ้งส          ร้านเหนี่ยวไม่ใคร่อยู่ ต้องตั้งต้นด่าๆตัว พิจารณาเบญจขันธ์แต่ธาตุไปใหม่ จนเห็นไม่เปนคน รู้สึกว่า คิดฟุ้งสร้านเหลวไหลไป เช่นเริ่มปฏิบัติระงับลมหายใจ

ยังจำได้คิดถึงเมื่อครั้งประพฤติสันโดษ อยู่ที่เกาะเล็กคนเดียวที่ลังกา คิดเสียตายอยู่เสมอ           เพราะได้รับความศุขกายสบายอารมณ์อยู่กว่าปี พอเกาเวอร์เนอร์ไปเยี่ยมกับเจ้าหญิง พวกทายก    จัดการรับรองครึกครื้น มีการงานนักขัตฤกษ์มหรศพ สร้างพระสถูปขึ้น ก็เลยเสื่อมทางวิปัสสนาไป แล้วกลับหลงรับเชิญทายกเข้าไปปกครองวัดใหญ่ในนครโกลัมโบ รับตะกางพระสงฆ์ประชุมเลือกตั้งให้เปนนายก ทายกเลือกให้เปนผู้แทน พูดกิจการช่วยเหลือเขาต่อรัฐบาล เลยสร้างโรงเรียนเปนทาน ๒ โรง สำหรับเด็กหญิงซายที่อนาถา สร้างพระสถูป เปิดไปในทางโลกีย์อีก ด้วยแลเห็นคุณเห็นผลด้วยตาคลำได้ด้วยมือโดยเร็ว ในชั้นที่สุด พอได้ทราบข่าวทางโทรเลขว่าพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรค์คตเสียแล้ว ก็เลยโฮใหญ่ จนเปนลมไม่มีสติ นี่คืออนิจจลักษณะ !

ในคำที่สุดแห่งความจริงใจ  อัตตโน ตัวนี้เชื่อว่า ทางวิปัสสนาอาจถึงนิโรธสมาบัติหนีห่าง          ทางโลกได้กว่า ๗ วัน ได้จริง และเชื่อว่าอัตตโนจะไม่รู้จักสาบสูญ ที่รูปแตกนามดับเรียกว่าตายนั้น เปนแต่พลัดที่นาคาที่อยู่ เช่นเกิดอุปัติเหตุไฟไหม้บ้าน ต้องไปอยู่บ้านใหม่ ได้รับทุกข์ยากอย่างเอกอุ ถึงลืมอดีตเช่นคนเสียใจจนเสียจริต และคงจะรับศุขหรือทุกข์ มากน้อยตามเหตุปัจจัย ที่ยังไม่ได้ ให้ผล และที่จะชนก่อขึ้นอีกใหม่ต่อไปอีก จนไม่มีคิด จึงจะเข้าใจได้ว่า อัตตโนตัวนี้จะสูญไปได้ ไอ้คิดนี่และมันเปนอัตตาของบุคคลแเท้. ผู้ใดประสงค์จะเดินทางวิปัสสนา ต้องศึกษาพระมหาสติปัฏฐาน    สูตร์ ให้ช่ำชองเข้าใจจริง เพราะสัมมาปฏิบัติมีบริบูรณ์อยู่ในพระสูตร์นี้จนถึงนิโรธสมาบัติได้ ไม่ต้องไปขึ้นอาจารย์เปนชั้นเปนห้อง

ที่กล่าวนี้ไม่ใช่ชั่วแต่เปนความเชื่อถือของตัว ความจริงของโลกที่เราเห็นอยู่ว่ามันเปนอย่างไร ตั้งแต่รู้ความมาแต่ปฐมบุรุษ สิ่งสภาพทั้งปวงมันไม่มีเกิด ไม่มีตาย (มีแต่แก่หรือเปลี่ยนแปลง) เพราะมันเกิดตายอยู่เปนนิจไม่มีเพิ่มเติม ไม่มีลดหย่อนน้อยลง เปนแต่มันเปลี่ยนกันอยู่เปนอนิจจัง เปนนั่นเปนนี่ตามสมมุติกันเท่านั้น สรรพสิ่งสัตว์มันแลดูเหมือนเกิดมาแล้วหายไป แต่มันเปนเช่นลูกคลื่นในมหาสมุทอันเดียวก้อนเดียวกัน  ไม่มีเวลาจบลงได้ มันเปนอ้ายก้อนบ้าอะไรอัน ๑ เท่านั้น ! เพราะฉนั้น เมื่อยังมีคิดรู้เห็นสมมติไปตามมันอยู่ตราบใด มันก็มีก็เปน เกิดตายตามกันไปเปนฝูง  แพะฝูงแกะ ตามประเภทของมันเท่านั้น มันเปนวัฏฏโกโลโก อยู่เปนนิจนิรันดร์ฉะนี้ มันก็อ้ายสมมุติ  ทั้งสิ้น

อัตตโนตัวนี้ มันจะมาจากไหน อัดตโนก็ไม่ทราบ! นึกไม่ออก แต่คิดไม่ได้ว่า มันโผล่ขึ้นมาเฉย ๆ เอง

สรุปความว่า ทั้งโลกและธรรม มันรวมอยู่ในกำมือของ “เหตุปจฺจโย” จึงเกิด “อารมฺมณปจฺจโย” ฯลฯ นตฺถิ นตฺถิ ปจฺจโย ฯลฯ”  (ไม่มีเหตุก็ไม่มีผล) วนเวียนกันป้วนเปี้ยนอยู่ในวง ฯลฯ นี้เท่านั้น

สรรพสิ่งสมมุติทั้งปวงอยู่ในกฎอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมิตร์เมตตาคือ ถ้ามีเหตุก็ต้องมีผลๆ          กลับเปนปัจจัยก่อเหตุใหม่อีก ไม่รู้สิ้นสุด ไม่เร็วก็ช้า ทั้งดีทั้งชั่วหักทอนบวกลบกันไม่ได้ ! มันเปนชิ้นๆ อัน ๆ ใช้เนื้ออะลุ่มอล่วยไม่ได้อย่างเรา ๆ ทำกัน !

"เย ธมฺมา เหตุปพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต อาห เตสญฺจโย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมฺโณติ"

เหตุชาตินี้มันมีมาจากปัจจัยที่ยังมิได้รับผลมาแต่ชาติก่อน เหตุเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่มีปัจจัยมาทำให้มีเหตุขึ้นได้ คิดไม่ออก เพราะมันเปนโอมเสียงเพี้ยงถุย!  ให้อ้ายนั่นเปนอย่างนั้น  อ้ายนี่เปน     อย่างนี้, ฯลฯ เพราะมันมีเหตุทั้งสิ้น!

วิสัชนามาพอสมกับน้ำยา ด้วยประการฉะนี้ เอวํฯ ยถาฯ

ของสรรพสัตว์ ใน สสารา ได้รับอนุโมทนา ปุคฺคลสจฺจ ของอัตตโน เทอญ!

ปญฺจางคคาถา ปุคฺคลาริยสจฺจานิ

๑.ยางรับเบอร์นี่แม้  ชิ้นใด ก็ดี

ดึงให้ยืดยาวไป     แคบเข้า!

ยิ่งดึงให้กว้างไฉน   ยิ่งกลับ  สั้นเออ!

จักรวาลพจน์ชี้เจ้า    ตรึกให้รู้นัย

๒. ศุข  ยิ่งศุขกลับเร้น       เสื่อมหนี ไปเอ๊ะ!

ทุกข์  ไฉนเสือกมาเปน  ภาพเจ้า?

คู่   ควรแล้วลี้ฉะนี้       ฉะนั้นเหตุ  ไฉนฤๅ?

กัน  และกันผลเย้า       เหตุให้ก่อไป

๓. คิด  ยิ่งยิ่งคิดให้         เกิดมาร ผจญเฮ้ย!

เห็น  ยิ่งเห็นตามผลาญ  ยิ่งไผล้!

เห็น  คิดสิ่งสัตว์ปาน     เขาใช่ เราฤา

อย่า เห็นชั่วปัจจุบันให้    คิดอดีตอนาคตา ! ! !

๔. อย่า โง่สมมติให้     เห็นตาม ไปนา

อย่า  หลงหลอกตัวเอง  สติเร้น !

อย่า ลืมลักษณะสาม  หลงสั่ง เสกเพี้ยง !

อย่า  อย่าพ่อจงเว้น   พ่อนุ้ยแซะละเลง

๕. ศีล เปนทุนมูลให้    ก่อทิพ ญาณน๊ะ

สมาธิ ฝึกจิตร์คิด    เที่ยงได้

ปัญญา ธรรมดาหยิบ  แว่นโลก ส่องพ่อ

ได้ ด้วยฝึกตลอดใช้    เทศน์บได้ไตรสิกขา

 

พอว่าถึงผลงานเขียนของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่ใช้นามปากกา “กระดูกสันหลัง” แล้ว ผมยังหวนระลึกถึงบทกวีนิพนธ์อีกชิ้นหนึ่งที่เคยอ่านผ่านตามา นั่นคือ “โคลงเคลง ไตรวัชราวุธพิศม์” อันมีเนื้อความว่า

 

จบจับจาบจิบจ้วง ปากกา-อเฮม! (ก้างติดคอ!)

เล่มปฐมพอเถิดหนา   เรื่องนี้- อื๋อ?

พักผ่อนหย่อนปัญญา  ไว้เผื่อ ซ้ำโว้ย!

เล่มสองเล่ม “ติ” ซี้...อิ๊  เล่นให้ ถึงคอ

เออนี่ใคร “ติจ์”เจ้า       ให้เขียน นะเอ็ง?

อักษร์จากใครเจ้าเรียน   อวดรู้

แต่น้อยจนแก่เพียร        สังเกต  ใช่ฤา?

ดันทุลังเอาอย่างผู้          เพิดลี้ หนีครู

เกิดใหม่เรียนวิชชาได้     รอบรู้ เพียรซ้ำ

โดยล้นเกล้าฯกระหม่อม    เศกให้

ใช่โชคพาช่วยชู        เพราะเกาะ เกี่ยวเน้อ!

เช่นโลนเกาะสตรีผู้     โชคดได้  พลอยดี ! ! !

 

และในตอนท้ายยังระบุอีกว่า “โคลงข้างบนนี้ได้ไปเห็นเข้าในโลกทิพย์ก็จำเอามา”

“ภาคพิเศษแห่งประกายเพ็ชร์” นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่สำคัญอย่างยิ่ง และยังมิค่อยมีใครเอ่ยถึงเลย (ผมลองตรวจสอบดูในงานเขียนของทามารา ลูส ก็ยังไม่พบการอ้างอิงถึงข้อเขียนชิ้นนี้) เพราะเผยให้เห็นความคิดหลายด้านมากไปกว่าเป็นเพียงบทธรรมบรรยายทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเจ้าชายชาวสยามได้ย้อนเล่าประสบการณ์ต่างๆของตนเองขึ้นมาประกอบการอภิปรายหลักธรรม โดยเฉพาะประสบการณ์ตอนอยู่ในต่างประเทศ เฉกเช่นตอนหนึ่งที่ผมสนใจคือ การบอกเล่าความเพลิดเพลินไปในวัฒนธรรมการกินอยู่แบบชาวตะวันตกเมื่อครั้งที่เพิ่งไปเมืองนอกครั้งแรก ๆ ดังความว่า “ครั้นออกไปเรียนหนังสือเมืองนอก การเสวนาวิสาสะกับนักเรียนที่ไปก่อน เขาเรียนทาง นักเลง ก็ค่อยเสื่อมสัมมาปฏิบัติไปตามเขา จนถึงชอบทางปล่อยสติ เสพสุราหน้าด้าน ทำการที่เคย กระดากได้ ไม่เห็นเปนต่ำเลว พยายายามกินเนื้อโคย่างสุกๆดิบๆที่ยังมีเลือดอยู่น่าเกลียด พยายาม กินเนยเหลวเนยแข็งที่มีตัวคลานได้และเหม็น จนเห็นอร่อย แต่นั้นมาก็เลยเหลิงไปแต่ในทางโลกีย์เก๋ ๆ เก๊ ๆ…”

 


พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อครั้งผนวชเป็น พระชินวรวงศ์

 

หรือตอนที่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หวนนึกถึงความสุขของการฝึกวิปัสสนาอยู่เพียงคนเดียวบนเกาะเล็กๆกลางทะเลแห่งเมืองลังกา ซึ่งผมคิดว่าคงหมายถึงเกาะร้างดาษดื่นด้วยงูพิษที่ถูกนำมาปล่อยทิ้งและหลุมฝังศพพวกแขก และเจ้าชายพระภิกษุชาวสยามตั้งชื่อใหม่ให้ว่า "จุลลังกา"

 

อีกเรื่องราวหนึ่งของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่ผมให้ความสนอกสนใจมาเนิ่นนานหลายปี นั่นคือว่าด้วยอาการอาพาธของเจ้าชายพระภิกษุชาวสยามจากโรคริดสีดวงทวาร มองเผินๆอาจดูไม่น่ามีอะไรให้ขบคิดเท่าใด แต่ก็เพราะอาการของโรคนี้แหละ ทำให้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หรือขณะนั้นคือ พระชินวรวงศ์ เกิดความทุกข์ทรมานและปลงตกกับชีวิตจนถึงขั้นต้องเขียนพินัยกรรม เนื่องจากกำลังจะต้องเข้ารับผ่าตัดรักษาโรคนี้ที่โรงพยาบาลในนครโคลัมโบ โดยขณะทำพินัยกรรม มีนายแม๊กเคร์เคอร์ หรือต่อมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุอานันทไมตรี ลงลายเซ็นเป็นพยาน

 

 


My Will & Wishes

 

ต้นฉบับพินัยกรรมที่เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษของ พระชินวรวงศ์ คือ “My Will & Wishes” เขียนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1900 (ตรงกับ พ.ศ. 2443) แล้วได้ส่งเข้ามาถวาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

 

เนื้อความของพินัยกรรมนั้นอ่านยก แต่ก็มีใจความบางข้อเอ่ยถึงการที่ปรารถนาให้นำเรือนร่างไร้วิญญาณของตนไปให้นกแร้งนกกากิน และเมื่อเหลือแต่กระดูกก็ให้ก่อเป็นโครงร่างส่งกลับมายังประเทศสยาม เพื่อพระภิกษุหนุ่มๆแห่งมหามกุฎราชวิทยาลัยจะได้ใช้ศึกษาพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร

 

นับเป็นพินัยกรรมที่แปลกมิใช่น้อย

 

หากคุณผู้อ่านนึกสงสัยว่า ทำไม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จึงต้องหวั่นกลัวโรคริดสีดวงทวารเสียเหลือเกิน ทั้งๆที่ไม่น่าจะใช่โรคอันตรายร้ายแรงอะไรเลย คำตอบก็คือเพราะในยุคสมัย 120 กว่าปีมาแล้วนั้น โรคนี้สร้างความเจ็บปวดทรมานและอาจจะส่งผลทำให้ถึงแก่สูญสิ้นชีวิต ไม่ได้รักษาโดยง่ายเฉกเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งก็เคยปรากฏว่ามีผู้หมดลมหายใจในขณะเข้ารับการผ่าตัด

 

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ คงมิแคล้วบุคคลสำคัญในโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยิ่ง แม้อาจจะเคยถูกทำให้หลงลืมไปจากความทรงจำและความรับรู้ของประชาชนเสียบ้าง คราวนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะลองนำเสนอเรื่องราวของเจ้าชายชาวสยามผ่านหลักฐานและแง่มุมใหม่ๆ

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร ตัวสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง :

  • ทามารา ลูส. ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ: ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์. แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2565.
  • บารมีสาธก. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกเอก พระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส  23 มีนาคม 2581 พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2481
  • ประกายเพ็ชร์. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2465
  • ประวัติย่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หรือพระชินวรวงศ์ แห่งศรีลังกา. กรุงเทพฯ: เฉลิมนิจ, 2536.
  • ปฤษฎางค์, พระองค์เจ้า. ประวัติย่อนายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. พิมพ์ในการบำเพ็ญพระกุศลเสิมพระชันษาครบ 78 ฤๅย่างเข้า 79 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 เพื่อพลีญาติมิตรท่านผู้มีพระเดชพระคุณ. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 2472.
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ผจญไทยในแดนเทศ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: แซลมอน. 2560.