

ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ยังมีชีวิตอยู่ ได้มีบุคคลบางคนผู้ไม่ประสงค์ดีต่อนายปรีดี พนมยงค์ อิจฉาริษยาคุณงามความดีของนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยการจะทําลายเกียรติยศชื่อเสียงของนายปรีดี พนมยงค์ และวงศ์ตระกูล จึงได้กระทําการละเมิดใส่ความหมิ่นประมาทนายปรีดี พนมยงค์ ให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังเกี่ยวกับกรณีสวรรคตขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามปกป้องและซักฟอกความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยได้ดําเนินคดียื่นฟ้องผู้กระทําการละเมิดต่อศาลสถิตย์ยุติธรรมเป็นลําดับต่อไปนี้
1. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2510 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายวิชา กันตามระ ผู้รับมอบอํานาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง หมายเลขดําที่ 1596/2510 คดีหมายเลขแดงที่ 5651/2510 โดยฟ้องบริษัทสยามรัฐ จํากัด จําเลยที่ 1 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จําเลยที่ 2 นายประจวบ ทองอุไร จําเลยที่ 3 นายประหยัด ศ.นาคะนาท จําเลยที่ 4 ข้อหาหรือฐานความผิดหมิ่นประมาททําให้เสียหายในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ผลทางคดีศาลฎีกาพิพากษายืนตามคําพิพากษาชั้นต้น ให้จําเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 แพ้คดีต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์
2. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2513 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายวิชา กันตามระ ผู้รับมอบอํานาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง หมายเลขดําที่ 7236/2513 คดีหมายเลขแดงที่ 2005/2513 ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จํากัด จําเลยที่ 1 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จําเลยที่ 2 นายสําเนียง ขันธะชวนะ จําเลยที่ 3 นายประจวบ ทองอุไร จําเลยที่ 4 นายประหยัด ศ.นาคะนาท จําเลยที่ 5 ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาท โดยใส่ความทําให้โจทก์เสียหาย
ผลทางคดี จําเลยทุกคนยอมประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ แถลงความจริงว่า นายปรีดี พนมยงค์ ไม่เคยเป็นจําเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทําความผิด เมื่อโจทก์ไม่เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษ จึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์ ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศนั้น เป็นการหลบหนีการรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริง และขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย
3. เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายวิชา กันตามระ ผู้รับมอบอํานาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง คดีแพ่งหมายเลขดําที่ 113/2514 คดีหมายเลขแดงที่ (จําไม่ได้) โดยฟ้องบริษัท ไทยเดลี่การพิมพ์ จํากัด จําเลยที่ 1 นายสาร บรรดาศักดิ์ จําเลยที่ 2 นายรุ่งโรจน์ นรเศรษฐ์วุฒิชัย จําเลยที่ 3 นายจํานง แก้วโสวัฒนะ จําเลยที่ 4 ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหมิ่นประมาท โดยใส่ความโจทก์ (นายปรีดี พนมยงค์) เสียหาย
ผลทางคดี จําเลยประกาศขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์ ว่า "จําเลยทั้งสี่ได้รู้สํานึกว่าข้อความที่จําเลยเผยแพร่ข้างต้นนั้น มิได้มีมูลความจริงแต่ประการใด จําเลยทุกคนจึงขออภัยนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โจทก์ ที่ถูกข้าพเจ้าทั้งหลายใส่ความด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดังกล่าวแล้ว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ได้กรุณาให้อภัยและถอนฟ้องคดีแล้ว"
4. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2521 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอำนาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง คดีหมายเลขดําที่ 4226/2521 คดีหมายเลขแดงที่ 14212/2522 โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายรอง ศยามานนท์ จําเลยที่ 1 บริษัทสํานักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ จํากัด จําเลยที่ 2 บริษัทโรงพิมพ์
ไทยวัฒนาพาณิชย์ จํากัด จําเลยที่ 3 ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ อันเกี่ยวเนื่องกับกรณีสวรรคตด้วย
ผลทางคดี ได้ตกลงประนีประนอมยอมความ และศาลโปรดพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว โดยจําเลยยอมขอประกาศทางหนังสือพิมพ์ดังต่อไปนี้
"ด้วยตามที่จําเลยที่ 1 เป็นผู้แต่งหนังสือประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยจําเลยที่ 2 เป็นผู้พิมพ์ และจําเลยที่ 3 เป็นผู้พิมพ์โฆษณาจําหน่ายจ่ายแจก ข้าฯ จําเลยขอประกาศความจริงให้ทราบโดยทั่วกันว่า
1. หนังสือนี้ มีข้อความคลาดเคลื่อนต่อความจริงบางตอน เพราะจําเลยอาศัยข้อมูลซึ่งจําเลยได้รับการบอกเล่ามาจากบุคคลอื่น
2. บัดนี้โจทก์ได้แสดงเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไว้ต่อศาล ซึ่งจําเลยทั้งสามได้ตรวจสอบและยอมรับว่าโจทก์เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งรับราชการมาโดยตลอดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเป็นที่ประจักษ์อันดํารงไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ตามพระบรมราชโองการอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และจําเลยจะไม่พิมพ์หนังสือที่พิพาทดังกล่าวซ้ําอีก
5. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2521 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับมอบอํานาจ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง คดีหมายเลขดําที่ 8612/2521 คดีหมายเลขแดงที่ 5810/2522 ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด หมิ่นประมาท โดยยื่นฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จําเลยที่ 1 นายบัญชา คูหาสวัสดิ์ จําเลยที่ 2 ห้างหุ้นส่วนจํากัดศึกษาสัมพันธ์ จําเลยที่ 3 ห้างหุ้นส่วนจํากัดประพันธ์สาส์น จําเลยที่ 4
ผลทางคดี จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 4 ร่วมกันจัดการโฆษณาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ฉบับละ 3 วัน ติดต่อกัน โดยประกาศว่า "ข้าพเจ้านายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จําเลยที่ 1 และห้างหุ้นส่วนจํากัดประพันธ์สาส์น จําเลยที่ 4 ขอแสดงความจริงว่า โจทก์ (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ เป็นที่ประจักษ์ ดังได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสตามประกาศพระบรมราชโองการ ณ วันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2488 นั้นแล้ว และการที่โจทก์หลบหนีออกนอกประเทศนั้น เพราะหลบหนีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกัน
6. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2526 นายปรีดี พนมยงค์ โดยนางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร ผู้รับมอบอํานาจได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง คดีหมายเลขดําที่ 4424/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 8179/2526 โดยฟ้องนายอาภา ภมรบุตร จําเลยที่ 1 นายปัญญา ธรรมวิทย์ จําเลยที่ 2 ข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด ผิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หมิ่นประมาท ไขข่าว แพร่หลายข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทําให้เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ความเจริญ และทางทํามาหาได้ของโจทก์
ผลคดี ตกลงประนีประนอมยอมความ โดยจําเลยทั้งสองยอมประกาศขอขมาในหนังสือพิมพ์มติชน ไทยรัฐ บางกอกโพสต์ 5 วันติดต่อกัน มีความดังนี้ "ข้าพเจ้าจําเลยได้ทราบความจริงแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์ มิได้เป็นหรือเคยเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเกี่ยวข้องแก่การเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่กรณีที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ไม่ได้ลี้ภัยเพราะกรณีสวรรคต หากแต่ลี้ภัยจากการรัฐประหาร เข้าไปอยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และมิได้พูดกระจายเสียงเกี่ยวแก่ประเทศไทยอย่างไร จึงขอประกาศโฆษณาขออภัยและขอขมาต่อนายปรีดี พนมยงค์ และทายาทของท่านด้วย"
ภายหลังที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ก็ยังมีมารตามผจญท่านต่อไปอีกไม่สิ้นสุด ด้วยข้อเขียนของคุณไข่มุกด์ ชูโต กล่าวหาเป็นทํานองว่าท่านปรีดีฯ เป็นผู้บงการและวางแผนปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งต่อมาท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ผู้เป็นทายาท จึงได้ยื่นฟ้องคุณไข่มุกด์ ชูโต กับพวก ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาท ใส่ความ
ผลของคดี คุณไข่มุกด์ ชูโต กับพวก ได้ยอมจำนวนต่อข้อเท็จจริง และประกาศขออภัยดังข้อความต่อไปนี้
ประกาศ
ตามที่ข้าพเจ้าได้จัดพิมพ์หนังสือ "พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลของปวงชนชาวไทย" ออกจําหน่ายและเผยแพร่ จนถูกท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ฟ้องข้าพเจ้าและพวกเป็นจําเลยตามสํานวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4594/2530 ของศาลแขวงพระนครเหนือ สํานวนคดีอาญาหมายเลขดําที่ 3440/2530 และ 7922/2530 ของศาลแขวงพระนครใต้ และสํานวนคดีแพ่ง คดีหมายเลขดําที่ 2546/2530 ของศาลแพ่งนั้น
ข้าพเจ้ากับพวกขอประกาศว่า คําว่า "ผู้บงการ หรือฝ่ายผู้บงการ" ในกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือดังกล่าวนั้น มิได้หมายถึงนายปรีดี พนมยงค์ แต่อย่างใด หากข้อความใดก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเกียรติยศของนายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวแล้ว ข้าพเจ้ากับพวกรู้สึกเสียใจและขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย และนายปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ตามที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
คุณไข่มุกด์ ชูโต จําเลยที่ 1 กับพวกรวม 6 คน
คดีจึงเป็นยุติ โดยท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้ถอนฟ้องคดีอาญาทั้งที่ศาลแขวงพระนครเหนือและศาลแขวงพระนครใต้
หมายเหตุ :
- อักขระ วิธีสะกด และการเว้นวรรคคงไว้ตามต้นฉบับ
- ตัวเน้นโดยผู้เขียน
บรรณานุกรม :
- สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, เรื่อง “ประกาศความบริสุทธิ์ของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”, ศิษย์อาจารย์, (กรุงเทพฯ : สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม, 2533), น. 8-10.