25 มกราคม 2485 เป็นวันที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามกับ ‘บริเตนใหญ่’ และสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อแสดงความเป็น ‘มหามิตร’ กับญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ฝ่ายอักษะ
แต่ประกาศสงครามดังกล่าวนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงนามเพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จฯ อีกนายหนึ่งมิได้ลงนามด้วย
ซึ่งนี่จะกลายมาเป็นเหตุหนึ่งในการประกาศความเป็นโมฆะของการประกาศสงครามฉบับนี้ในภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แต่คำถามก็คือ เหตุใดนายปรีดีจึงไม่ได้ร่วมลงนามด้วย
ในหนังสือ บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียบเรียงมาจากคำฟ้องนายรอง ศยามานนท์นั้น นายปรีดีได้เคยตอบข้อสงสัยประเด็นนี้ไว้ว่า
“จําเลยปั้นเรื่องขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นข้อสันนิษฐานว่า โจทก์ได้เดินทางไปอยุธยา ซึ่งไม่มีใครทราบเหตุผล แต่ความจริงนั้นประธานผู้สําเร็จราชการฯ ก็ดี เจ้าหน้าที่สํานักงานเลขานุการส่วนพระองค์ก็ดี และนายกรัฐมนตรีนั้นเองก็ดี ก็รู้อยู่แล้วว่า ในวันปลายสัปดาห์ คือ วันเสาร์ วันอาทิตย์ตอนเย็นนั้น โจทก์ไปพักผ่อนที่อยุธยา เป็นการผลัดเปลี่ยนกันกับประธานผู้สําเร็จราชการฯ ที่ท่านไปพักผ่อนที่หัวหิน ครั้งละ ๓-๔ สัปดาห์
“ณ สถานที่ ‘คุ้มขุนแผน’ ซึ่งโจทก์พักผ่อนอยู่นั้น ก็มีโทรศัพท์ พูดติดต่อกันได้ ถ้าหากจอมพล พิบูลฯ ไม่ทําการไปโดยลําพังในปัญหาความเป็นความตายของประเทศชาติ โดยปรึกษาโจทก์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะผู้สําเร็จราชการฯ แล้ว ก็โทรศัพท์ติดต่อไปยังโจทก์ให้รีบมากรุงเทพฯ ได้ โจทก์ก็จะมากรุงเทพฯ ได้โดยทางรถยนต์ภายในเวลา ๑ ชั่วโมงเศษ
“ซึ่งต่างกับคืนวันที่ ๗-๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งจอมพล พิบูลฯ อยู่ที่ต่างจังหวัด รู้เรื่องก่อนแล้วว่า ญี่ปุ่นจะไปพบ เพื่อขอเดินทัพผ่านประเทศไทย แต่จอมพล พิบูลฯ ก็ไม่ยอมกลับมาประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่ยอมสั่งให้ทหาร ตำรวจ ผู้รักชาติไทยต่อต้านญี่ปุ่นดังที่โจทก์กล่าว ในฟ้องข้อ ๗ นั้น โจทก์มิใช่เป็นบุคคลที่ใช้อุบายหลบเลี่ยงไม่ไปประชุม แสดงความเห็นต่อปัญหาสําคัญของประเทศชาติ”
นอกจากนี้ นายปรีดียังได้ยกคำให้การของหลวงชํานาญอักษร ข้าราชการชั้นพิเศษ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (พยานคดีอาญชากรสงคราม) มาประกอบดังนี้
“เมื่อวันประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ พยานอยู่ในที่ประชุมด้วย ในที่ประชุม หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนเสนอร่างประกาศสงครามต่อที่ประชุม และนําไปอ่านทางวิทยุ เมื่อนําคําประกาศสงครามไปอ่านทางวิทยุนั้น ต้นฉบับยังไม่ได้ทํา และพยานได้เห็นต้นฉบับเมื่อจวนเลิกงานแล้ว ต้นฉบับประกาศสงครามนั้นมีชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มีผู้สําเร็จฯ เห็นแล้วสองท่าน แต่ท่านปรีดีฯ ยังไม่ได้ลงชื่อ เพราะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นพยานเข้าใจว่า ท่านปรีดีฯ ไม่ได้ลงนามในคําประกาศสงคราม ส่วนแฟ้มต้นฉบับได้หายไปเพราะถูกบอมบ์ ในราชกิจจาฯ การที่มีชื่อผู้สําเร็จฯ ครบทั้งสามท่าน รวมทั้งท่านปรีดีฯ ด้วยนั้น เพราะได้ขออนุญาตไปทางประธานผู้สําเร็จฯ และท่านอนุญาตให้ประกาศไปก่อนได้”
การที่หลวงชำนาญอักษรให้การว่า “แฟ้มต้นฉบับได้หาย ไปเพราะถูกบอมบ์” นั้น ก็หมายถึงว่า แฟ้มนั้นได้เก็บรวมกับใบลาออกของจอมพล พิบูลฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ซึ่งเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับใจไม่ลาออก ใบลาและเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งประกาศสงครามที่อยู่ในแฟ้มนั้นก็หายไป ประดุจ ‘ถูกบอมบ์’ ดังปรากฏในการสอบสวนของคณะกรรมการอาชญากรสงครามนั่นเอง
ส่วน พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งเวลานั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ได้ให้การต่อคณะกรรมการอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2488 มีข้อความเกี่ยวกับประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ดังนี้
“ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ-อเมริกานั้น ข้าฯ จําได้ว่าตรงกับวันอาทิตย์ ข้าฯ ได้พักอยู่ ณ ที่พักวังปารุสกวัน ได้มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีโดยด่วน เมื่อเวลาเที่ยงวัน ข้าฯ ก็ได้ไปประชุม เมื่อถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าประชุมกันเรื่องจะประกาศสงครามกับอังกฤษ-อเมริกาโดยกะทันหัน...
“ในการที่มีผู้วิ่งเต้นเห็นดีเห็นชอบที่จะประกาศสงครามนี้ ก็เพราะเหตุว่า ในขณะนั้นญี่ปุ่นทําสงครามกําลังได้เปรียบทางด้านยุโรป เยอรมันก็ทําการรุกไปเกือบจะถึงสตาลินกราด แล้วก็จะพุ่งมาทางคอเคซัสมาบรรจบทางอินเดีย และในขณะเดียวกันนั้นทางญี่ปุ่นก็กําลังตีพม่าเกือบจะได้แรงกูนอยู่แล้ว ทัพทั้งสองฝ่ายก็จะได้บรรจบกัน
“คําประกาศสงครามนี้ ข้าฯ ทราบว่า ในเวลานั้น คณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ก็สามคนด้วยกัน แต่ได้ลงชื่อเพียงสองคนเท่านั้น ส่วนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมิได้ลงนามในต้นฉบับคําประกาศสงคราม เพราะในวันนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ไปจังหวัดอยุธยา หาได้อยู่ในกรุงเทพฯ ไม่”
สำหรับผู้ที่สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หลายประการที่นายปรีดี พนมยงค์ ชี้แจงไว้ สามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมจาก บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์จัดพิมพ์ในวาระ 120 ปีชาตกาล 11 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานั่นเอง
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- ปรีดี พนมยงค์
- 25 มกราคม 2585
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- กษิดิศ อนันทนาธร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- บริเตนใหญ่
- สหรัฐอเมริกา
- ฝ่ายอักษะ
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
- เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
- โมฆะสงคราม
- รอง ศยามานนท์
- คุ้มขุนแผน
- หลวงชํานาญอักษร
- หลวงวิจิตรวาทการ
- อดุล อดุลเดชจรัส
- อาชญากรสงคราม
- วังปารุสกวัน
- สตาลินกราด
- เยอรมนี
- บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ