ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

สัมภาษณ์ วาณี พนมยงค์

13
พฤษภาคม
2563

บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ โดย คำนูณ สิทธิสมาน และขุนทอง ลอเสรีวานิช

เรื่อง นายปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสครบรอบวันถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546

คำนูณ – เข้าสู่สภาท่าพระอาทิตย์ในช่วงชั่วโมงสุดท้ายนะครับอย่างที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่า วันนี้วันที่ 2 พ.ค. ก็เป็นวันคล้ายวันถึงแก่อสัญกรรม ของท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ท่านจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2526 จนบัดนี้ก็ 20 ปีเต็ม

ขุนทอง – ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็อายุ 103 ปี เพราะท่านเกิดปี 2443 วันที่ 11 พ.ค. วันเกิดกับวันจากไปอยู่ในเดือนเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าทางการกำหนดหรือเปล่าว่า วันที่ 11 พ.ค. เป็นวันปรีดี อันนั้นก็ถือเอาวันเกิด

คำนูณ – ครับ เมื่อ 3 ปีก่อนท่านได้รับการจัดเป็นบุคคลสำคัญของโลกในรอบ 100 ปี โดย ยูเนสโก

วาณี – คือวันนี้วันที่ 2 พ.ค. ตรงกับที่นายปรีดี พนงยงค์ คุณพ่อของดิฉันเสียชีวิต เสียชีวิตไป 20 ปีพอดี ตามที่ปฏิบัติกันมาก็คือคุณแม่และลูกๆ จะไปทำบุญที่วัดพนมยงค์ จ.นครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริเวณใกล้กับบ้านเกิดของคุณพ่อ

คำนูณ – คุณวาณี ถือว่าเป็นบุตรที่ใกล้ชิดท่านอาจารย์เมื่ออยู่ต่างแดนมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะอาจารย์วาณี ก็ไปอยู่จีนตั้งแต่...

วาณี – ดิฉันไปอยู่จีนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 12 ปีนะคะ และต่อมาเมื่อคุณพ่อย้ายมาฝรั่งเศสดิฉันก็ได้ตามมาภายหลัง ก็ได้อยู่รวมทั้งหมดในประเทศฝรั่งเศสก็อยู่กับท่าน 12 ปี

คำนูณ – พอจะช่วยเล่าบรรยากาศให้ท่านผู้ฟังฟังได้ไหมครับถึงเหตุการณ์วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน

วาณี – ได้ค่ะ ธรรมดาท่านก็ตื่นแต่เช้านะค่ะ ตื่นขึ้นมาแล้วท่านก็จะฟังวิทยุของบีบีซีบ้าง ของฝรั่งเศสบ้างเพื่อติดตามข่าวสารสถานการณ์ต่างๆ นะค่ะ และก็อ่านหนังสือไปบ้าง ก็ใช้ชีวิตเป็นปกติทุกอย่างเลย กระทั่งท่านรับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วท่านก็เขียนจดหมายถึงธนาคารแห่งหนึ่ง เรื่องธุระส่วนตัวค่ะ ขณะที่ท่านเขียนอยู่ ก็เขียนจบไปแล้ว แต่ยังนั่งอยู่ที่โต๊ะหนังสือ และก็กำลังพลิกหนังสือตำราที่ท่านกำลังเขียนอยู่ ท่านก็รู้สึกว่า เหมือนกับมีอะไรเข้ามาบดบังในตา ท่านก็ขยี้นัยน์ตา และถอดแว่นตาออก เสร็จแล้วฟุบไป โดยที่มีคุณแม่ดิฉัน คือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ยืนอยู่ข้างโต๊ะเลยค่ะ เหตุการณ์มันรวดเร็วมาก  ตอนนั้นดิฉันไม่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้แต่อยู่ อพาร์ตเมนต์ที่อยู่ติดกัน ก็วิ่งมาดู และก็ช่วยในการ ผายปอดแบบเมาท์ทูเมาท์ที่จะช่วยให้ท่านหายใจได้ และเราก็เรียกหน่วยพยาบาลของฝรั่งเศส ซึ่งมาได้รวดเร็วมาก เขาก็มาใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ช่วยหายใจ และหน่วยฉุกเฉินหลายหน่วย คือฝรั่งเศส ทางด้านการช่วยคนไข้ฉุกเฉินทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก แต่ตอนนั้นท่านก็ได้สิ้นลมไปแล้ว

วาณี – ไปด้วยความสงบ จนกระทั่ง หมอที่เป็นหมอประจำตัวของครอบครัวตอนหลังมา หมอท่านก็บอกว่า คุณพ่อดิฉันจากไปอย่างสวยงาม ความหมายก็คืออย่างสงบนั่นเองค่ะ คือไม่มีอาการทุรนทุราย แต่เป็นที่น่าสังเกตก็คือว่า ท่านจากไปในขณะที่คุณแม่ดิฉันยืนอยู่ข้าง ๆ จริง ๆคุณแม่ดิฉันกลับมาเมืองไทยช่วงก่อนหน้านั้น และเพิ่งกลับไปได้เพียงอาทิตย์กว่า ๆ เท่านั้นเอง

คำนูณ – เหมือนท่านรอ

วาณี – เหมือนกับจะรอ และก็มีเพื่อนอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ของครอบครัวเรา คือ คุณครูฉลบชลัย พลางกูร ภรรยาม่ายของคุณจำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเสรีไทยนะค่ะ ซึ่งทุกปีเวลาปิดเทอม มักจะมาเยี่ยมคุณพ่อ ก็จะมาอยู่ในที่นั้นด้วย และหลังจากนั้นไม่นานก็ยังมีเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่ง มาดามโรส เรสคู ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันตั้งร่วม 50 ปี คือท่านจากไปท่ามกลางคุณแม่และเพื่อนที่ซื่อสัตย์และก็เพื่อนที่มีความเห็นอกเห็นใจกันมาเป็นเวลา 50-60 ปีค่ะ ก็เป็นบรรยากาศในตอนนั้นนะค่ะ

คำนูณ - วันนี้คอลัมน์ของลัดดา เอ็กซ์คลูซีฟในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการก็เขียนถึงบอกว่า ได้วางศพของท่านไว้บนที่นอนถึง 5 วันใช่ไหมครับ

วาณี – ใช่ค่ะคือท่านก็นอนหลับเหมือนคนธรรมดา ดูไม่ออกว่า เป็นคนที่สิ้นลมไปแล้วนะค่ะ พอดีเตียงนอนของคุณแม่คู่กับคุณพ่อ คุณแม่ก็นอนคู่กับคุณพ่อตลอด 5 วันที่รออยู่บนที่นอนเดิมของท่านก็เพราะว่ายังมีลูกที่ไม่ได้อยู่ในฝรั่งเศสยังไม่ได้มาครบ รอจนกว่าจะลูกที่อยู่ฮ่องกง เมืองไทย เดินทางมาครบ ถึงได้นำท่านบรรจุโลง

วาณี – คือมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาศพ เขาใช้วิธีอะไรเราไม่ทราบรักษาศพได้ดีมากคือเหมือนกับคนธรรมดาที่นอนหลับ ผิวพรรณเต่งตึง สีชมพูเรื่อๆ ไม่ได้แต่งหน้า สำหรับที่นี่เขาไม่แต่งหน้า เราก็อยากให้ท่านเป็นแบบธรรมชาติที่สุดค่ะ

วาณี – หลังจากนั้นก็ได้บรรจุเมื่อลูกมาถึงครบแล้ว ก็ได้บรรจุลงโลงและก็ ตั้งไว้ในห้องรับแขก 2 วัน คือท่านเสียชีวิตวันที่ 2 พ.ค. ใช่ไหมค่ะ วันที่ 9 ก็มีพิธีฌาปนกิจค่ะ พิธีฌาปนกิจเราจัดที่สุสานแตลาแชท ก็ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณปัญญา และก็จะมีพระอีกหลายรูปที่อยู่ในปารีสบ้าง ในอังกฤษ ในยุโรป เดินทางมาช่วยประกอบพิธีศาสนาให้ และท่านปัญญาก็ยังได้แสดงธรรมต่อหน้าแขกเหรื่อ ซึ่งนอกจากคนในครอบครัวแล้วก็จะมีตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศส และมีทางฝ่ายสถานทูตจีน เวียดนาม นักเรียนไทยในฝรั่งเศส นักเรียนไทยในยุโรป รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของการบินไทย ก็ได้มาร่วมในพิธีนี้ก็คนหลายร้อยคนซึ่งเราไม่ได้เชิญมา มาด้วยความเคารพท่าน เป็นพิธีที่รู้สึกว่าสง่างามมาก หลังจากนั้นก็ได้ทำการฌาปนกิจและอัฐิของท่านก็อยู่ในผอบ เก็บเอาไว้ที่บ้าน ที่ชานกรุงปารีสจนกระทั่ง ปี2529 จึงได้นำมาสู่แผ่นดินแม่และก็ได้นำไปลอย เพราะท่านเคยบอกว่า ท่านมาจากธรรมชาติเพราะฉะนั้นท่านไปกับธรรมชาติ สิ่งที่จะเหลือไว้ก็คือ สิ่งที่ท่านได้ทำเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ต่อราษฎรไทย เพราะฉะนั้นอะไร ที่เป็นวัตถุท่านไม่ต้องการ

จะเรียนให้ทราบว่าชุดของท่านที่ใส่ไปพร้อมกับการฌาปนกิจนะค่ะเป็นชุดที่ท่านตัดเมื่อตอนลี้ภัยที่สิงคโปร์ คือเป็นชุดที่ใส่มาเป็นเวลา 30 กว่าปีค่ะ ท่านยังคงใช้เสื้อผ้า ข้าวของที่มีอยู่เดิม และก็เป็นชุดที่ท่านใส่อยู่เป็นประจำนะค่ะ ก็คิดว่าให้ท่านใส่ชุดนั้นและก็จากไปก็แล้วกัน อันนี้เป็นที่ประทับใจของลูกเองและคนที่ได้มาเห็นว่า เสื้อผ้าท่านก็มีไม่กี่ชุดหรอก แต่ท่านก็ได้ใช้จนที่สุด จนจากโลกนี้ไป

ขุนทอง – ท่านเคยบ่นหรือแสดงอาการที่รู้สึกน้อยใจไหมครับ ที่ต้องจากบ้านไปอยู่ต่างแดน

วาณี – คุณพ่อไม่เคยแสดงความรู้สึกนี้ว่าต้องมาลี้ภัยในต่างแดนระยะยาว คือท่านเป็นคนที่รู้สึกว่ามีขันติ คือ ท่านเชื่อในกฎแห่งกรรมดีนะค่ะ ท่านเชื่อว่า ท่านทำดี เพราะฉะนั้นต่อให้อยู่ที่ไหนก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติ และมีศักดิ์ศรี เพราะท่านก็เคยอยู่ในประเทศจีนมา อยู่ในฝรั่งเศสมาหลายปี แต่ท่านไม่เคยขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ท่านได้กลับมาเมืองไทยเลย คือท่านถือว่า สักวันหนึ่ง ข้อเท็จจริงต่างๆ ก็จะปรากฏเป็นจริงขึ้นมาและท่านก็คงจะอยู่หรือจากโลกนี้ไป ท่านก็ฝากสิ่งต่างๆ ที่เป็นผลงาน ข้อคิดข้อเขียนเอาไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อไป และอีกอย่างหนึ่งคือท่านเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่ายมากค่ะ สมถะและเรียบง่าย ฉะนั้นท่านจึงไม่ได้หวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทน

คำนูณ – ทราบว่า สมัยที่ท่านอยู่ที่ฝรั่งเศส ท่านก็ได้รับเกียรติมากนะครับ ในฐานะเป็นผู้นำ ซึ่งคนฝรั่งเศสก็แวะเวียนมาหา หรือแม้คนไทย คนทั่วๆ ไป ก็แวะเวียนมาขอความรู้เสมอ

วาณี – คือการที่ท่านมาอยู่ฝรั่งเศสนะค่ะ ต้องเท้าความไปถึงตอนที่มีผู้แทนของนายเดอโกล ไปที่เมืองจีน เพราะตอนนั้นท่านยังอยู่ที่ประเทศจีนนะค่ะ เขาก็ไปชวนมาว่า ถ้าท่านอยากจะไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสก็ไม่ขัดข้อง เพราะรู้ถึงเกียรติภูมิหนหลังของท่านมาโดยตลอด และเมื่อทางจีนไม่ขัดข้อง เพราะในยุคนั้นจีนยังเป็นยุคม่านไม้ไผ่อยู่นะค่ะ ไม่เหมือนตอนนี้ใครไปใครมาได้สะดวก ทางผู้นำของจีนไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี โจว เอิน ไหล หรือแม้กระทั่งประธานเหมา เจ๋อ ตุงที่เวลาพบกับท่าน ท่าน ก็เคยพูดว่า เข้าใจความรู้สึกที่คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน และท่านเองก็เคยมีประสบการณ์ที่อยู่ในต่างแดนมาแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน แม้ว่าท่านจะอยู่กวางตุ้ง ภูมิศาสตร์นั้นจะใกล้กับประเทศไทย แต่การไปมาหาสู่ไม่สะดวก เมื่อกี้ดิฉันเล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเป็นยุคที่จีนเป็นม่านไม้ไผ่ ยังไม่เป็นเปิดประเทศ แต่ถ้าท่านไปอยู่ฝรั่งเศสทางด้านภูมิศาสตร์อาจจะไกลจากเมืองไทยแต่การติดต่อไปมาหาสู่กับญาติมิตรลูกศิษย์ลูกหา ใกล้ชิดมากกว่า อันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะค่ะ เมื่อกี้นี้ที่คนถามถึงว่านักเรียนไทยไม่เพียงแต่ในประเทศฝรั่งเศส ในอังกฤษ ภาคพื้นยุโรป หรือแม้ในสหรัฐอเมริกาก็แวะเวียนมา ขอความรู้ มาเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ หรือขอคำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนหนุ่มสาว ที่จะเรียกร้องเพื่อเสรีภาพประชาธิปไตย ตอนนั้นบ้านเราก็ยังอยู่ในช่วงที่ไม่มีเสรีภาพประชาธิปไตย

คำนูณ – คืออันหนึ่งที่ผมประทับใจนะครับ อยากให้อาจารย์ช่วยเรียนให้ผู้ฟังทราบว่า ในขณะที่คนที่เคารพนับถือท่านปรีดี อย่างผมเวลาจะเขียนถึงท่านก็จะใช้ท่านปรีดี พนมยงค์ ตลอด แต่ว่าผมสังเกตดูว่า อาจารย์วาณี หรือลูกของอาจารย์ปรีดีทุกคนเวลาเรียกคุณพ่อจะใช้คำว่านายปรีดี พนมยงค์ตลอดเวลา

วาณี – อันนี้ที่คุณสังเกต เป็นเรื่องจริงนะค่ะ เพราะคุณพ่อ จากเด็กชายเป็นนาย จากนายเป็นหลวง จนกระทั่งยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านก็กลับมาเป็นนายตามเดิมนะค่ะ และท่านก็ภูมิใจในความเป็นสามัญชนของท่าน เพราะฉะนั้นเราก็สังเกตได้ว่า ในบทความหรือจะกล่าวถึงอะไร คุณพ่อไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นดร.เลย ซึ่งต่างกับหลายท่านนะค่ะ ของคุณพ่อได้เป็นดร.อังดรัว จริง ๆ ของรัฐฝรั่งเศส คือปริญญาเอกแห่งรัฐของฝรั่งเศส

คำนูณ – เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

วาณี – ค่ะ แต่ท่านภูมิใจความเป็นสามัญชนและก็ในข้อนี้พวกเราลูกๆ ก็ถือว่า สิ่งที่น่าภูมิใจเราก็น่าจะสืบทอด คือ คนอื่นจะเรียกท่านว่าท่านด้วยความเคารพ เราก็ไม่ห้าม แต่สำหรับส่วนตัวเรานะค่ะ เราอยากจะสืบทอดตามท่านมากกว่า ว่าท่านเป็นสามัญชนที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในตัวของท่านเอง คำว่านาย เป็นการเรียก ไม่ใช่ว่าเรียกไม่สุภาพ แต่เรียกด้วยความเคารพ เพราะคำนี้มีการขยายความ มีนัยยะของมันในตัว อยู่ที่ตัวของผู้นั้นเองมากกว่า ใช่ไหมคะ

คำนูณ – เดี๋ยวนี้เป็นส.ส.สมัยหนึ่งก็เป็นท่านไปแล้ว

วาณี – ซึ่งอันนี้ผิดนะค่ะ ท่านจะเรียกได้แต่ผู้เป็นหม่อมเจ้าชายเท่านั้นเอง สมัยศักดินา จริงๆ แล้ว คุณพ่อเองก็เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะเรียกว่าท่านก็ได้เหมือนกัน แต่จุดที่ท่านภูมิใจความเป็นสามัญชน ที่ทำให้ลูกๆ ขอเรียกท่านเวลาพูดคุยกับคน เรียกอาจารย์ปรีดี คำสรรพนามก็เป็นท่านอยู่ดี

คำนูณ – อีกเรื่องหนึ่งคือ บ้านที่ฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้เป็นอะไรไปแล้วครับ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกัน

วาณี- ใช่ค่ะ บ้านที่ปารีส ปัจจุบันก็เปลี่ยนเจ้าของไปแล้วนะค่ะ เป็นชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่ที่ฝรั่งเศส เพราะว่าเรากลับมาอยู่ในไทยทุกคนแล้ว คุณแม่และลูก ๆเพราะฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาบ้านหลังนั้นไว้ จริงๆ ก็เป็นบ้านที่คุณพ่อรักมาก เพราะว่าใช้ชีวิตที่นี่อย่างสงบและสุขสบายท่ามกลางลูกหลานและลูกศิษย์ต่างเพศต่างวัยที่แวะเวียนมาเยี่ยมท่าน แต่ทุกอย่างมันเป็นกฎอนิจจังนะค่ะ เพราะท่านก็เคยพูดว่าไม่ยึดติด ในสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่บางครั้งก็รู้สึกเสียดายเหมือนกัน แต่ทำไงได้ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปนะค่ะ เจ้าของก็เปลี่ยนแปลงไป  ยกตัวอย่างนะค่ะ บ้านที่เป็นเรือนหอของคุณพ่อคุณแม่ ที่เคยอยู่บริเวณป้อมเพชร ถนนสีลม ปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นถนนไปแล้ว ใช่ไหมค่ะ และบ้านเรือนของท่านที่ตอนหลังย้ายมาอยู่กับคุณแม่ที่บริเวณที่ดินที่คุณตาคุณยายยกให้ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงบริเวณที่มีกังหันนะค่ะ คือทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมดเลย มันไม่ใช่จะอยู่คงที่ แต่ก่อนเป็นบ้านเดี๋ยวนี้เป็นถนน

คำนูณ - ทีนี้ก็มีความเป็นไปได้ใช่ครับ ในฐานะที่เรามีรัฐบุรุษอาวุโส มีท่านปรีดี พนงยงค์ที่ทำประโยชน์มหาศาลให้กับประเทศไทย ถ้าเผื่อประชาชนไทย หรือรัฐบาลไทย ผมเชื่อว่าราคาของบ้านหลังนั้นคงอยู่ในวิสัย ที่ถ้าสมมติว่าจะมีหน่วยงานใดไปซื้อคืนมาและทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งผมคิดว่าท่านไม่ใช่คนของประเทศเท่านั้น แต่เป็นคนของภูมิภาค เป็นคนของโลกด้วยคนหนึ่ง น่าจะเข้าไปศึกษาด้วย ก็มีความเป็นไปได้ใช่ไหมครับ

วาณี – ค่ะ เพียงแต่เจ้าของบ้านใหม่เขาค่อนข้างจะเก็บเนื้อเก็บตัว เขาไม่ยอมให้คนเข้าไปขอชม รู้สึกว่าเขามีชีวิตส่วนตัวของเขา

ขุนทอง – สิ่งของเครื่องใช้ของอาจารย์ปรีดี ก็ได้มอบให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ไปแล้ว

วาณี – ตอนนี้มีของใช้บางอย่างจัดแสดงอยู่ที่อนุสรณ์สถานพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานบริเวณบ้านเกิดของนายปรีดี จริงๆ แล้วท่านเกิดในเรือนแพ แต่ตอนนี้แม่น้ำก็ตื้นเขิน ก็เลยเป็นลักษณะจำลองเอาเรือนแพขึ้นมาบนบก และก็จัดนิทรรศการถาวร ที่เป็นชีวประวัติของนายปรีดี มีประวัติต่างๆ และผลงานความคิดของท่าน และก็มีเครื่องใช้ไม้สอยที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำ และตอนนี้กำลังจะจัดอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากบริเวณตึกโดม และที่อยุธยา อีกแห่งหนึ่งกำลังจะจัดคือสวนเสรีไทย ที่อยู่ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม

วาณี – ตัวอาคารเป็นของกทม.ค่ะ อันนี้ต้องขอขอบคุณดร. พิจิตต รัตตกุล และยังมีเลขาของท่านคือ คุณสมคาด สืบตระกูล เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ได้สร้างอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ขึ้นมา

วาณี- ผู้ที่เป็นฝ่ายอนุกรรมการต่างๆ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้เสร็จทันในวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันประกาศสันติภาพ คือเมื่อปี 2488 ได้มีการประกาศสันติภาพ เพื่อแสดงถึงประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้แพ้สงครามและยืนอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับญี่ปุ่นค่ะ

คำนูณ – ท่านผู้ฟังที่ฟังอยู่นะครับ จะมีชื่อถนน 16 สิงหาอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นถนนที่ผ่านตึกโดมมาที่เมื่อก่อนเป็นที่พักของอาจารย์ปรีดี ที่เรียกทำเนียบท่าช้างใช่ไหมครับครับ เดี๋ยวนี้ทำเนียบท่าช้างก็ยังอยู่

วาณี - ยังอยู่ แต่เป็น ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นะค่ะ แต่ที่เมื่อกี้ดิฉันเล่าให้ฟังก็คือว่า สวนเสรีไทยนั้น อาคารเสรีไทยอนุสรณ์ เป็นการจำลองทำเนียบท่าช้างมา เพราะว่าความสำคัญของทำเนียบท่าช้างก็ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี ด้านหนึ่งท่านก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อีกด้านหนึ่งท่านก็เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ในชื่อรหัสว่า “รูธ” นะค่ะ ท่านได้ปรึกษาสนทนากับบรรดาเสรีไทยที่บริเวณนี้ บริเวณศาลาน้ำด้วย

คำนูณ –และเป็นจุดที่ท่านลงเรือหนีภัย ใช่ไหมครับรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ด้วยใช่ไหมครับ

วาณี- ใช่ค่ะ น่าสังเกตนิดนึง มีคนถามเหมือนกันว่าทำไมบ้านที่รัฐบาลจัดให้ผู้สำเร็จราชการอยู่ที่นี่ เท่าที่คนเล่าให้ฟัง ตอนที่นายปรีดีได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็จะมีบ้านของรัฐบาลจัดให้อยู่ ให้เลือก 2 ที่ด้วยกัน นายปรีดีขอเลือกที่อยู่ติดน้ำ ด้านหนึ่งก็บอกว่าชอบบรรยากาศริมน้ำและผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา และเสร็จแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ช่วยชีวิตของท่านไว้หลายครั้งหลายคราด้วยกัน

คำนูณ – อาจารย์วาณีครับตอนนี้สุขภาพของท่านผู้หญิงเป็นยังไงบ้างครับ

วาณี – ตอนนี้ 92 แล้วนะค่ะ แต่ท่านก็ยังมีเรี่ยวแรงกำลังวังชา บางทีก็ไปงานเกี่ยวกับธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับลูกศิษย์ บางทีก็ไปงานศพ งานมงคลสมรสค่ะ ยังเขียนไดอารี่ทุกวัน และกำลังเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เป็นบันทึกความทรงจำ อะไรบางอย่างด้วยนะค่ะ คือที่ผ่านมาหนังสือเล่มร้อยเอ็ดปีปรีดี เก้าสิบปีพูนสุข ได้เล่าเรื่องสมัยก่อน ส่วนเล่มใหม่นี้ ท่านจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องเบาๆ ความรู้ในอดีตกับปัจจุบัน

คำนูณ- นอกจากนั้นที่เรามีการทำบุญตามปกตินั้น คือวันที่ 11 พ.ค.มีไหมครับ

วาณี – วันที่ 11 พ.ค. ทางธรรมศาสตร์จะเรียกว่าวันปรีดี ซึ่งจัดมาตั้งแต่คุณพ่อเสียชีวิต ในปี 2526 จัดเป็นประเพณีทุกปีเลย นอกจากวางพานพุ่มดอกไม้ บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่อนุสาวรีย์ลานปรีดีท่าพระจันทร์ก็จะมีปาฐกถาพิเศษ สำหรับปีนี้จะมีปาฐกถาพิเศษ ของดร. สมคิด รองนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต