ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

สัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์

13
พฤษภาคม
2563

“แต่ที่สำคัญที่สุดก่อนที่จอมพลป.จะถึงแก่อสัญกรรม จอมพลป.ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงนายปรีดี จดหมายนี้มีความสำคัญมาก ผมพยายามจะค้นว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน ตอนลงท้ายของจดหมาย จอมพลป.เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ว่า “พลีส อโหสิ” คืออโหสิกรรมนะครับ ซึ่งสำคัญมาก และหลังจากนั้นไม่นานจอมพลป.ก็ถึงแก่อสัญกรรม”

บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ ศุขปรีดา พนมยงค์ ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ดำเนินรายการโดย คำนูณ สิทธิสมาน และ ขุนทอง ลอเสรีวานิช

คำนูณ สิทธิสมาน: วันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค. 2546 เป็นวันปรีดี วันที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นวันปรีดี และก็จัดกิจกรรมสักการะท่านปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อกันมาตั้งแต่ปีที่ท่านอสัญกรรม เมื่อปี 2526 ถ้าท่านมีอายุถึงวันนี้วันที่ 11 พ.ค.ท่านก็มีอายุ 103 ปีเต็ม เราจะคุยกับคุณศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรชายของท่านปรีดี พนมยงค์ ครับ สวัสดีครับ วันที่ 11 พ.ค. มีกิจกรรมอะไรบ้างครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดขึ้นมาเป็นวันปรีดี ได้จัดกันมาเป็นประจำทุกปี งานตอนเช้า มีการวางพุ่มอนุสาวรีย์ที่หน้าโดม และพิธีสงฆ์ หลังจากนั้นก็มีปาฐกถา และมีการร่วมรับประทานอาหารจากลูกศิษย์ โดยเฉพาะชมรมเพื่อน ตมธก. (โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ซึ่งมี 8 รุ่นด้วยกัน และก็มีชมรมเพื่อนโดม รวมทั้งลูกศิษย์ที่เคารพนับถือก็ได้ไปร่วมกันสังสรรค์กัน ตั้งแต่เวลาเช้า

คำนูณ สิทธิสมาน: – คุณศุขปรีดา ครับ 20 ปี มาแล้ว ยังจำภาพคุณพ่อได้ไม่เสื่อมคลายนะครับ คุณศุขปรีดาในช่วง 2526 ได้อยู่…

ศุขปรีดา พนมยงค์: คือตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่ฮ่องกง พอตกบ่ายก็ได้รับโทรศัพท์จากวาณี (น้องสาว) เกี่ยวกับการถึงแก่อสัญกรรมของคุณพ่อ และผมก็ได้เดินทางจากฮ่องกงไปที่ปารีส ผมไม่ได้อยู่กับท่านตอนนั้น

คำนูณ สิทธิสมาน: แต่มีช่วงหนึ่งก็อยู่ใกล้ชิดท่าน

ศุขปรีดา พนมยงค์: ตั้งแต่ 2498 ปลายปี ก็ได้เดินทางไปอยู่กับท่านที่ปักกิ่ง ในจีน ก็ได้อยู่กับท่านเป็นระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้นผมก็เดินทางออกมาประเทศฝรั่งเศส เมื่อท่านอายุได้ 70 ปี คือปี 1970 ท่านก็ได้เดินทางจากประเทศจีนมาพำนักอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งผมมาอยู่ฝรั่งเศสก่อนแล้ว 2-3 ปีก็ได้อยู่ใกล้ชิดกับท่าน แต่การอยู่ก็แน่นอนนะครับ เราอยู่ต่างประเทศก็ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกัน แต่ก็ได้พบปะกับท่าน ผมอยู่กับท่านที่ฝรั่งเศสระยะหนึ่ง หลังจากนั้นผมก็ไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ ก็จากท่านไปอีก แต่ก็ไปๆ มาๆ ผมก็เดินทางจากลอนดอนมาปารีส เกือบทุกอาทิตย์

คำนูณ สิทธิสมาน: ตอนที่อยู่เมืองจีนคุณศุขปรีดาก็อยู่ใกล้ชิดท่าน

ศุขปรีดา พนมยงค์: ตอนที่อยู่เมืองจีนที่น่าสนใจคือว่า ประมาณปี 2498-99 ปี 2500 ตอนนั้นท่านก็ได้แต่งหนังสือเขียนหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม ซึ่งท่านก็ได้แต่งหนังสือเป็นปรัชญา และได้พิมพ์ครั้งแรกในงานสวดศพคุณยาย คือคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ (เพ็ง ณ ป้อมเพชร์) การแต่งหนังสืออันนี้ผมก็อยู่ใกล้ชิดท่าน เพราะผมหน้าที่เป็นผู้พิมพ์ ท่านก็บอกว่ามาผมก็พิมพ์ไป ก็ตรวจทาน ท่านก็ถามความเห็นต่างๆ ซึ่งอันนี้ผมรู้สึกว่าผมได้รับถ่ายทอดความรู้ ที่สำคัญก็คือเรื่องปรัชญาคืออะไรทำนองนี้และที่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองของเมืองไทยท่านก็เอาใจใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนั้นก็มีปัญหาเรื่องการขุดคอคอดกระขึ้นให้ ท่านก็ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งผมก็เป็นคนยกร่างพิมพ์อีก

คำนูณ สิทธิสมาน: ความจริงช่วงที่อยู่เมืองจีนเป็นช่วงที่การต่อสู้ทางการเมืองในไทยระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เริ่มก่อตัวขึ้นมา กำลังเริ่มต้นและก็เป็นทราบกันดีอยู่ว่ามันก็มีความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนตามสมควรนะครับ ท่านมีความลำบากใจไหมตอนนั้นอยู่ที่จีน

ศุขปรีดา พนมยงค์: คือท่านอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและก็เป็นแขกของการทางการประเทศจีน ส่วนทางประเทศจีนก็มีการแบ่ง หรือส่วนใดเป็นของส่วนใด ส่วนที่เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นส่วนของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวกัน และเราก็ไม่ได้ทราบเรื่องราวต่างๆ อย่างที่จีนย้ำเสมอว่า มันเป็นเรื่องภายในของพรรค

คำนูณ สิทธิสมาน: คือผมเคยอ่านหนังสือ มีผู้เขียนว่า คุณูปการอย่างหนึ่งของท่านปรีดี พนมยงค์ ก็คือว่าท่านไม่เคยคิดฉวยโอกาสให้การมีชื่อของท่านเพื่อเข้ามาเป็นใหญ่ ในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยในทางที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เป็นตัวของตัวเองเลย ทั้งๆ ที่ถ้าเผื่อว่าเป็นนักการเมืองประเภทฉวยโอกาส คนอื่นๆ ก็อาจจะทำได้ในสถานการณ์ช่วงนั้น เพราะท่านก็มีเกียรติภูมิสูงในภูมิภาค

ศุขปรีดา พนมยงค์: อันนี้ก็เป็นหลักการที่แน่นอนและเด็ดเดี่ยวของท่านนะ ถึงแม้จะมีการกระทบ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ให้ความเป็นธรรมนะครับ ก็ไม่ได้มาจากทางผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบของพรรคจีน ไม่ใช่ ในที่สุดเท่าที่ผมทราบทางผู้ใหญ่ของพรรคจีนก็ได้เคยกล่าวกับท่านว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เขาไม่เห็นด้วยเลย ว่าใครจะเป็นผู้อยู่ข้างล่าง จะทำอะไร ทางผู้ใหญ่ของพรรคจีนก็บอกว่า ได้มีการทำโทษ ได้โยกย้ายตำแหน่งอะไรไป

คำนูณ สิทธิสมาน: คือมีบางระดับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: ครับ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะครับ

คำนูณ สิทธิสมาน: พูดกันง่ายๆ นี่คือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้บันทึกไว้ คือว่ามีเจ้าหน้าที่ของพรรคจีนในบางระดับ ที่บอกว่าในการก่อเกิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในช่วงนั้น ถ้าเกิดมีชื่อเสียงเกียรติภูมิท่านปรีดีเข้ามาเป็นผู้นำมันก็ทำให้มีผู้คนเข้าร่วมด้วยมากขึ้น แต่พรรคไทยขณะนั้นก็จะมีลักษณะไม่เป็นตัวของตัวเอง

ศุขปรีดา พนมยงค์: อันนั้นก็เป็นกระแสในระยะนั้นครับ แต่ท่านเองท่านเด็ดเดี่ยวและท่านมองเห็นว่าความถูกต้องนั้นอยู่ที่ไหน

คำนูณ สิทธิสมาน: ก็เป็นเรื่องที่ประวัติศาสตร์ไม่มีอีกเรื่องหนึ่งคือความสัมพันธ์กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระยะท้ายของชีวิตท่าน ของท่านจอมพลป.เป็นยังไงครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: คือ อันนี้เมื่อตอนที่อยู่ในประเทศจีน ก็ได้มีในระยะหลังๆ เราก็ควรจะให้เครดิต แก่จอมพล ป. ในระยะบั้นปลายก่อนที่ท่านจะถูกรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ซึ่งท่านก็มองเห็นแล้วว่าไทยควรจะมีอิสระในการดำเนินนโยบาย รวมทั้งการติดต่อกับประเทศจีน จากจุดนี้ ในฐานะที่ท่านทั้งสอง คือจอมพล ป. และนายปรีดีก็เป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ร่วมรบกันมาร่วมเป็นร่วมตายกันมา ก็เริ่มมีความเข้าใจกันเกิดขึ้นนะครับ ก็มีการติดต่อกันขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จอมพล ป.ได้เห็นว่ามีผู้บริสุทธิ์ได้ถูกตัดสินประหารไปในเรื่องราวซึ่งเกิดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ก็ได้มีการติดต่ออยากจะให้รื้อฟื้นคดีใหม่ ก็ได้มีทนายได้เดินทางไป คือคุณลิ่วละล่อง บุนนาค คุณชิต เวชประสิทธิ์ ก็เดินทางไป

คำนูณ สิทธิสมาน: เหมือนเป็นตัวแทนของท่านจอมพลป.ไป

ศุขปรีดา พนมยงค์: ไม่เชิงครับ เป็นทนายครับ แต่ถือว่าจอมพลป.ได้ให้ความเห็นชอบ ทำนองนั้น ผมได้รับรองอยู่ ผมรับตั้งแต่ที่มาเก๊า ซึ่งเรื่องนี้อันนี้ผมคิดว่าจะบันทึกต่อไปว่าความเป็นมาเป็นยังไง

คำนูณ สิทธิสมาน: อันนี้ในช่วงปี 2498-99 ก่อนรัฐประหาร

ศุขปรีดา พนมยงค์: 2500 พอดี เดือนส.ค.ครับ ผมจำได้เลยก่อน 16 ก.ย. 2500

คำนูณ สิทธิสมาน:ก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ จะขึ้นมารับตำแหน่ง เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ครับว่าความสัมพันธ์ระหว่างท่านจอมพลป.กับ ท่านปรีดี ในช่วงนั้น โดยเฉพาะการเดินทางของทนายท่านปรีดี เป็นมูลเหตุหนึ่งที่เร่งให้การรัฐประหารเกิดขึ้น

ศุขปรีดา พนมยงค์: ก็เป็นเช่นนั้น หลังจากนั้นจอมพลป.ก็ถูกรัฐประหาร ก็ลี้ภัยไปที่ต่างๆ ในที่สุดก็อยู่โตเกียว ก็มีการติดต่อส่งสารกันอยู่ แต่ที่สำคัญที่สุดก่อนที่จอมพลป.จะถึงแก่อสัญกรรม จอมพลป.ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ถึงนายปรีดี จดหมายนี้มีความสำคัญมาก ผมพยายามจะค้นว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน ตอนลงท้ายของจดหมายจอมพลป.เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ว่า พลีส อโหสิ คืออโหสิกรรมนะครับ ซึ่งสำคัญมาก และหลังจากนั้นไม่นานจอมพลป.ก็ถึงแก่อสัญกรรม

คำนูณ สิทธิสมาน: ระยะหลังระหว่างครอบครัวพนมยงค์กับครอบครัวพิบูลสงครามได้มีการติดต่อกันบ้างไหมครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: วันที่ 24 มิ.ย. ที่วัดพระศรีมหาธาตุ เรามีการทำบุญอุทิศส่วนกุศล แก่ผู้ก่อการ เราก็ได้มีการพบปะกันกับครอบครัวของท่านจอมพลป. กับพวกผม หรืออย่างทางคุณจีรวัสส์เอง ผมก็เรียกว่าพี่ ก็ในรุ่นพวกเราแล้ว เจอกันก็เคารพนับถือกันตามศักดิ์ตามอายุต่างๆ

คำนูณ สิทธิสมาน: มีความเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตร่วมกันไหมครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: ก็มีความเข้าใจนะครับ เหตุการณ์บางเหตุการณ์ การดำเนินงานของจอมพลป. ในบางช่วงก็ประวัติศาสตร์ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ว่าเราก็ต้องคิดจอมพลป.ก็ได้สร้างคุณูปการแม้กระทั่งในบั้นปลาย ความคิดที่จะเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง สรุปผมก็ว่าจอมพลป.ก็มีความดีแก่ประเทศชาติครับ

คำนูณ สิทธิสมาน: เป็นสิ่งที่หลายคนทั่วไปในชั้นหลังอาจจะไม่ทราบความนัยนัก เพราะว่าโดยภาพที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ก็คือการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 นั้น ก็คือจอมพลป.อยู่เบื้องหลัง

ศุขปรีดา พนมยงค์: ไม่ใช่จอมพลป.อยู่เบื้องหลังครับ พรรคการเมืองพรรคหนึ่งนะครับซึ่งปัจจุบันก็ยังนับถือผู้ก่อตั้ง ก็ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลของเขา

ขุนทอง ลอเสรีวานิช: – เวลาคุณศุขปรีดาอยู่กับท่านปรีดี อยากเรียนถามว่าระหว่างพ่อกับลูกชายคุยกันเรื่องอะไรบ้าง

ศุขปรีดา พนมยงค์: คือตอนที่ผมไปประเทศจีน คือตั้งแต่รัฐประหารผมอายุ 12 พอ 8 ปีให้หลังผมไปพบท่านอายุ 20 เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกไม่ค่อยมีนะครับ เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะผู้ร่วมงาน หรือร่วมความคิด มีแนวความคิดที่มองไปในทิศทางเดียวกันทำนองนั้น

ขุนทอง ลอเสรีวานิช: – เหมือนเป็นเจ้านายกับเลขาทำนองนั้น

ศุขปรีดา พนมยงค์: ก็มองกันอย่างนั้นนะครับ บางทีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้างอันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

คำนูณ สิทธิสมาน: ท่านสอนยังไงบ้างครับ ผมรู้สึกว่าท่านปรีดีเป็นบุคคลที่สร้างคุณูปการมากมายแก่แผ่นดินไทยโดยเฉพาะการก่อตั้งเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแต่ว่าท่านก็กลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ผมเรียกว่า เป็นผู้ที่ถูกให้ร้ายป้ายสีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความเจ็บปวดของคุณศุขปรีดาขณะนั้นซึ่งอยู่ในวัยหนุ่ม สิ่งที่คุณพ่อสอนในช่วงนั้น ทำใจได้ยังไงครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: เรามองในแง่วิวัฒนาการของสังคมนะครับ มีความเชื่อถือว่าสิ่งที่ท่านได้บำเพ็ญตนอุทิศประโยชน์เพื่อบ้านเมืองเป็นสิ่งถูกต้อง การต่อสู้หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝ่ายตรงกันข้าม หรือฝ่ายที่ต้องการจะหยุดประวัติศาสตร์ให้ก้าวหน้า ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้ เราก็ได้มองต่อไปว่าในข้างหน้าจะพัฒนาไปอย่างไร และเราจะทำตัวให้เหมาะสมอย่างไร มีหลายคนถามผมนะเคียดแค้นยังไง มันไม่มีอย่างนั้น ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นครับ

คำนูณ สิทธิสมาน: เป็นเรื่องที่ผมอยากให้คุณศุขปรีดาบันทึกประวัติศาสตร์ตอนช่วงใกล้ๆ 2500 ผมรู้สึกว่าตอนนี้ไม่มีข้อเขียนไหนที่ระบุถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้นใช่ไหมครับ

ศุขปรีดา พนมยงค์: ผมก็ได้พยายาม บางตอนก็ได้ออกมาในปรีดีสารที่จะออกแจกจ่ายในวันที่ 11 นี้ ได้กล่าวตอนหนึ่งที่ท่านอยู่ในประเทศจีน สีหนุได้ขอพบท่าน เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ในเมืองไทย ผมก็ค่อยๆ เก็บรวบรวมครับ

คำนูณ สิทธิสมาน: โดยเฉพาะถ้าพบจดหมายจากท่านจอมพลป. พิบูลสงครามในช่วงท้ายก็จะเป็นประโยชน์มากครับ กราบขอบพระคุณคุณศุขปรีดาครับ ตอนนี้ขอต้อนรับอาจารย์สุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการหนังสือพิมพ์รายวัน จะมารำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเป็นบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยที่เคยเดินทางไปสัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ที่ปารีส เชิญครับอาจารย์

สุวัฒน์: ช่วงนั้นผมอยู่หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยและก็ได้ทุนไปเรียนวิชาหนังสือพิมพ์ที่เยอรมัน ปี 18 และช่วงนั้นก็ได้ผ่านการเรียน ตอนปิดภาคก็เดินทางแวบไปเยี่ยมท่านและก็ได้สัมภาษณ์ด้วย ช่วงนั้นก็ ... ไม่ใช่ 18 ซิ หลัง 14 ตุลาก็ตอนนั้นก็ไปเจอคุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ผมก็ได้สัมภาษณ์ท่านมาลงหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ผมจำได้ว่าบ้านท่านเป็นเรือน 2 ชั้นนะครับ สบายๆธรรมดา ๆ ประทับใจมาก ท่านยังเอาของขวัญที่นายกฯ เวียดนามให้กับท่าน เป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินลำสุดท้ายที่เวียดนามยิงตก และใส่ในกล่องกำมะหยี่ คุณคำนูณคิดว่ามันมีความหมายยังไง คือเวียดนามให้ของขวัญแบบนี้

คำนูณ สิทธิสมาน: คือสุดยอด เวียดนามเขาถือในบุญคุณของท่านปรีดี พนมยงค์

ขุนทอง ลอเสรีวานิช: อาจารย์ปรีดีมีบทบาทอย่างมากในช่วงที่ให้การสนับสนุนขบวนการกู้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเทศอินโดจีนนะครับ ที่ขบวนการต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

คำนูณ สิทธิสมาน: โดยนัยยะที่ผมคุยกับคุณศุุขปรีดาเมื่อครู่นี้ ผมเข้าใจว่าคุณศุขปรีดาต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการตอบ แต่ผมจะบอกว่าการที่เวียดนามถือว่าอาจารย์ปรีดีมีบุญคุณ และตอนช่วงท่านอยู่เมืองจีน ต้องยอมรับว่าเกียรติภูมิของท่านในภูมิภาคสูงมาก โดยเฉพาะกับชาวสังคมนิยมและตอนนั้นเป็นยุคก่อเกิดการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พูดง่ายๆ คือในระยะนั้น มีบางกลุ่มบางคนที่เป็นพรรคจีนกับพรรคไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคจีนบางส่วน คุณศุขปรีดาก็บอกว่า เป็นระดับล่างไม่ใช่ระดับบนและตอนหลังระดับบนก็ลงโทษไป ก็เสนอว่า ถ้าจะใช้ชื่อของท่านปรีดี ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็จะช่วยให้ได้กำลังสนังสนุนมากขึ้น แต่ท่านมองเห็นว่าการปฏิวัติประเทศใดประเทศหนึ่งก็ต้องเป็นเรื่องภายในของประเทศนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ท่านไม่ใช่นักฉวยโอกาสทางการเมือง

สุวัฒน์: คือท่านก็วางตัวหรือแม้แต่กับประเทศไทยก็ตาม ตอนที่ผมทำประชาธิปไตยอยู่นั้น ท่านก็มีบทความมีอะไรเป็นระยะๆ เขียนลายมือมาตลอด ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ความเห็นต่าง ๆ ท่านก็วางตัวอยู่ในฐานะที่ปลุกระดม ท่านอยู่ในหลักวิชา ท่านก็ชี้นำความคิดแหละ ให้หลักคิด…..