ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เมื่อโฮจิมินห์พบปรีดี พนมยงค์ กับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ช่วงกอบกู้เอกราชของชาวเวียดนาม

2
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ และโฮจิมินห์ ในการสนับสนุนการกอบกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม จนนำไปสู่การประกาศเอกราชของประเทศเวียดนาม ณ จตุรัสบาดิ่น กลางกรุงฮานอย ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งในภาคผนวกประกอบด้วยเอกสารประวัติศาสตร์เรื่องการประกาศเอกราชของชาติเวียดนามและจดหมายจากประธานโฮจิมินห์ถึงนายปรีดี พนมยงค์ 
  • เมื่อ พ.ศ. 2507 โฮจิมินห์ในฐานะประธานประเทศเวียดนาม ได้เชิญนายปรีดี พนมยงค์ และคณะให้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่านายปรีดีจะไม่ได้มีตําแหน่งใด ๆ ในการบริหารบ้านเมืองช่วงดังกล่าว แต่ทางเวียดนามก็ได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติประดุจเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งคณะของนายปรีดีประกอบด้วย นายปรีดี พนมยงค์, ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, นายศุขปรีดา พนมยงค์, นายอัมพร สุวรรณบล, นายสอิ้ง มารังกูล และนายหลินอิ๊งกวง 

 


โฮจิมินห์ กับปรีดี พนมยงค์ ค.ศ. 1961

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลงเมื่อกองทัพญี่ปุ่นแห่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ยอมจํานนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไขในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488

ขบวนการแนวร่วม “เวียตมินห์” ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติภายใต้การนําของประธานโฮจิมินห์ ได้อาศัยสถานการณ์อันเอื้ออํานวย ทําการอภิวัฒน์ยึดอํานาจการปกครอง เป็นผลสําเร็จในปลายเดือนสิงหาคม และแล้วในวันที่ 2 กันยายน 2488 ประธานโฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราชของประเทศเวียดนาม ณ จตุรัสบาดิ่น กลางกรุงฮานอย

ฝรั่งเศสซึ่งค่อย ๆ ฟื้นตัวจากความบอบช้ำในระหว่างสงคราม จึงมีความต้องการที่จะกลับเข้ามามีอํานาจในการปกครองอดีตอาณานิคมของตนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจหักหาญใช้กําลังทหารเข้าบีบบังคับอย่างฉับพลันได้ ฝรั่งเศสจึงได้ใช้วิธีการเจรจากับทางการของเวียดนาม เพื่อการต่อรองว่าจะยอมรับรองเอกราช แต่ในขณะเดียวกันก็สะสมกําลังรบเพื่อเข้าทําการบุกโจมตี และในที่สุดการเจรจาระหว่างฝรั่งเศส-เวียดนามก็ต้องล้มเหลวลง ตามแผนที่ฝรั่งเศสได้เตรียมการไว้ และก็ได้ใช้กําลังทางทหารบุกโจมตีเข้ายึดเมืองสําคัญต่างๆ อันเป็นผลให้ทางฝ่ายเวียดนามถอนกําลังกลับเข้าสู่ที่มั่นเดิมในป่าเขาอันเป็นเขตที่ได้มีการจัดตั้งไว้เพื่อกู้อิสรภาพตลอดระยะเวลาที่ขบวนการเวียตมินห์ได้จัดตั้งขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 

การต่อสู้ระหว่างนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสกับขบวนการเวียตมินห์ของโฮจิมินห์เป็นไปอย่างดุเดือด พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในความครอบครอบของฝ่ายเวียตมินห์ ส่วนฝรั่งเศสยังคงยึดครองตัวเมืองใหญ่และเมืองสําคัญของเวียดนาม อาทิ ฮานอย ไซ่ง่อน ไฮฟอง เว้ห์ และดานัง เป็นต้น

การทําสงครามเพื่อกอบกู้อิสรภาพของเวียดนาม นอกจากจะเป็นสงครามประชาชนในประเทศแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากบรรดามิตรประเทศและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ซึ่งในการนี้รัฐบาลไทยที่ได้จัดตั้งขึ้นภายหลังสงคราม ประกอบขึ้นด้วยบุคคลส่วนใหญ่ที่ได้เป็นแกนนําในขบวนการเสรีไทย อันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จึงได้ให้การสนับสนุนต่อการทําสงครามที่เป็นธรรมเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ เวียดนาม ลาว เขมร และอินโดนีเซีย เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางฝ่ายเวียดนามได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในเมืองไทย เพื่อส่งไปติดอาวุธให้กับกองทัพประชาชนเวียดนามในการทําสงครามต่อสู้กับฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ท่านนี้ คือ เกาหงลานห์ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของประธานโฮจิมินห์ ปัจจุบัน [2545] อายุ 90 ปีเศษ แต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง

'โฮจิมินห์' มีความเข้าใจอันถูกต้องว่า 'นายปรีดี พนมยงค์' มีจิตใจที่รักความเป็นธรรมและพร้อมให้การสนับสนุนต่อขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ให้หลุดพ้นจากการครอบครองของบรรดาเหล่านักล่าอาณานิคมในอดีต ท่านจึงได้มอบหมายให้ตัวแทนของท่านติดต่อผ่านสายงานของ 'ร้อยเอก พงษ์เลิศ (ล้วน) ศรีสุนันท์' นายทหารสารวัตร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพลพรรคเสรีไทยสายนิสิตนักศึกษาธรรมศาสตร์-จุฬาฯ อาสาศึก ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้ากรมสารวัตร 'พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ' (สังวรณ์ สุวรรรณชีพ) เมื่อคําร้องขอจากเวียดนามได้รายงานถึงนายปรีดีแล้ว ก็เป็นไปตามที่โฮจิมินห์มุ่งหวังและคาดการณ์ไว้ นายปรีดีได้มีคําสั่งให้ ร.อ. พงษ์เลิศรับผิดชอบจัดลําเลียงอาวุธเสรีไทยจากคลังอาวุธที่จังหวัดชลบุรีขนส่งโดยรถไฟไปที่เมืองพระตะบอง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของไทยภายหลังกรณีพิพาทอินโดจีน ฝ่ายเวียดนามเป็นผู้รับมอบไปที่พระตะบองนั่นเอง

อาวุธเสรีไทยเหล่านี้ หน่วยงาน O.S.S. (Office of Strategic Services) ของอเมริกามีภารกิจในการสนับสนุนกองกําลังใต้ดินในประเทศที่ถูกศัตรูยึดครอง O.S.S. ได้ลําเลียงอาวุธทางอากาศโดยเครื่องบิน C47 (ดาโกต้า) ทิ้งร่มชูชีพลงยังจุดนัดหมายบริเวณมาบตาพุด ซึ่งปัจจุบันคือเขตอุตสาหกรรมแห่งฝั่งชายทะเลตะวันออกนั่นเอง อาวุธอเมริกันสมัยสงคราม ประกอบด้วยปืนเล็กยาว สปริงฟิลด์ไรเฟิล, ปืนยิงเร็วคาร์บิน หรือ คาร์ไบน์, ปืนกลมือ ทอมสันและเอ็มทรี, ปืนพกยูเอสอาร์มี 11 ม.ม., ปืนบาซูก้าต่อสู้รถถัง, ปืนกลเบาบราวนิง, ลูกระเบิดมือ, เครื่องยิงระเบิด, ดินระเบิดที่เอ็นที เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาวุธประจําการของทหารราบ สามารถเคลื่อนที่ทําการรบได้ทุกรูปแบบ 

โฮจิมินห์ได้เขียนจดหมายขอบคุณมายังนายปรีดีด้วยลายมือของท่านเองเป็นภาษาฝรั่งเศส พร้อมทั้งเรียนให้ทราบว่า อาวุธที่ได้รับไปนั้นสามารถประกอบเป็นกําลังทหารได้สองกองพัน จึงขออนุญาตตั้งชื่อว่า “กองพันแห่งสยาม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติ

จาก “กองพันแห่งสยาม” นี้เอง ต่อมาได้จัดสรรกําลังใหม่เข้ารวมเป็นกองพลที่ 307, 308 เข้าทําการสู้รบในยุทธการเดียนเบียนฟูจนประสบชัยชนะอย่างงดงาม

นอกจากให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธแก่เวียดนาม ชาวเวียดนามเรือนหมื่นอพยพหนีภัยเข้ามาในไทย นายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทางจังหวัด, อําเภอทางภาคอีสานให้ความดูแลผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นตามโอกาสที่จะทําได้ อาทิ การจัดหางานให้ทํา อันได้แก่ การก่อสร้างทางสกลนคร-อุดรธานี, สกลนคร-นครพนม เป็นต้น ผู้ดูแลจัดตั้งชาวเวียดนามในด้านนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์จรั่นวันเยา จัดสรรให้คนหนุ่มเข้าร่วมขบวนการเวียดมินห์ ส่งกลับไปรบกับฝรั่งเศสในเวียดนาม ส่วนครอบครัวทางนี้ทําการผลิตสร้างฐานทางเศรษฐกิจเป็นการสนับสนุนอีกด้านหนึ่ง

สำนักแถลงข่าวเวียดนามมีสำนักงานอยู่ที่ถนนสีลม ปากตรอกตำบีซา ตรงข้ามโรงแรมนารายณ์ในปัจจุบัน หัวหน้าสำนักงานได้แก่ นายเหงียนดึ๊กกุ่ย ท่านผู้นี้อดีตเป็นปัญญาชนนักศึกษาถูกฝรั่งเศสจําคุกที่เมืองเซินลา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ได้แหกคุกออกมา และก็ได้รับการแต่งตั้งให้มารับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รับทราบภารกิจการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวเวียดนาม 

'เหงียนดึ๊กกุ่ย' หรือ เพื่อนชาวไทยเรียกท่านว่า 'องค์กุ่ย' นอกจากจะแตกฉานในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษแล้ว ต่อมาก็ได้เรียนรู้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และสามารถคบค้าสมาคมกับชาวไทยผู้มีระดับสูงในวงสังคมด้วยความสนิทสนม เช่น เล่นกีฬาแบดมินตันกับบุคคลในตระกูลสุจริตกุล, บุนนาค แห่งบริเวณบ้านแถวราชวิถี-สุโขทัยได้เป็นอย่างดี

 


วันประกาศเอกราชที่จัตุรัสบาดิ่ง 2 กันยายน ค.ศ. 1945

 

'นายจิมป์ ทอมสัน' ราชาไหมไทย อดีตเจ้าหน้าที่ O.S.S. ผู้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ก็มีความสนิทสนมชอบพอกับองค์กุ่ย และในวันที่ 19 พฤษภาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ นายจิม ทอมสัน ผู้นี้ก็ได้เป็นผู้จัดกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีในวาระวันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ โดยมีองค์กุ่ยแห่งสํานักข่าวเวียดนามเป็นตัวแทนรับมอบ  O.S.S. ได้เคยมีการติดต่อกับขบวนการเวียตมินห์ในระหว่างสงคราม เพื่อขอให้ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตก ไม่ให้ตกเป็นเชลยของทหารญี่ปุ่น จิม ทอมสัน มีความประทับใจในบทบาทการนำการต่อสู่ เขาจึงถือว่า "ไม่ว่าโฮจิมินห์จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็ตาม แต่ภารกิจในการกอบกู้เอกราชของชาติเป็นสิ่งถูกต้อง ชอบด้วยทำนองคลองธรรม"

รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เป็นจุดเปลี่ยนแห่งการดําเนินนโยบายของประเทศ เผด็จการทหารเข้ามาครองเมือง และเพื่อการครองอํานาจจึงหันไปพึ่งอเมริกา ซึ่งพอดีกับนโยบายสุดขั้วต้านคอมมิวนิสต์ของอเมริกา จึงทําให้ขบวนการกู้อิสรภาพของเพื่อนบ้านที่ได้พักพิงกับไทยต้องถูกปราบปรามจนไม่อาจทําการเคลื่อนไหวใดใดได้อย่างเสรี 

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนายปรีดี และมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ไม่ประสบความสำเร็จในการขับไล่กลุ่มเผด็จการครองเมือง ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ของนายปรีดีถูกฝ่ายปฏิปักษ์สังหารอย่างโหดเหี้ยม อันได้แก่ พ.ต. โผน อินทรทัต, พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข, นายทวี ตะเวทีกุล, ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจําลอง ดาวเรือง และอีก 2-3 ปีต่อมา นายเตียง ศิริขันธ์, นายชาญ บุนนาค และบุคคลอื่น รวมทั้งฝ่ายทหารเรือ เช่น นาวาโท พจน์ จิตรทอง  ประเทศชาติได้สูญเสียบุคคลที่ได้เคยรับใช้ชาติบ้านเมือง ผู้เป็นนักประชาธิปไตยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง

นายปรีดีจําต้องเล็ดลอดจากไทยไปพํานักลี้ภัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2492 ก่อนหน้าที่ประธานเหมาเจ๋อตุงได้ประกาศสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน นครปักกิ่ง เพียงไม่กี่วัน และคงพํานักพักอาศัยการนําการต่อสู้ของชาวเวียดนาม เขาจึงถืออยู่ในประเทศจีนเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 21 ปี

ในขณะที่ประธานโฮจิมินห์และขบวนการเวียตมินห์ได้สร้างกองทัพประชาชนเวียดนามโดยมีนายพลโวเวียนยั๊บ อดีตนักศึกษากฎหมาย เป็นผู้บัญชาการโดยการแต่งตั้งจากโฮจิมินห์ที่มีความเชื่อมั่นว่า บุคคลผู้นี้สามารถทําการรบเป็นผู้บัญชาการทหารได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รับการเรียนหรือฝึกฝนวิชาทหารมาเลย และก็เป็นความจริงเช่นนั้น 

เมื่อประเทศจีนได้รับการปลดปล่อย ชายแดนจีนทางใต้ อันได้แก่ มณฑลกวางสี, มณฑลยูนานก็เป็นแหล่งที่กองทัพประชาชนเวียดนามสามารถใช้จีนเป็นแนวหลังสนับสนุนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จีนยึดมาได้จากก๊กมินตั๋ง

ยุทธการกางบัง-ลางเซิน ตอนเหนือติดพรมแดนจีนเป็นยุทธการใหญ่ในต้นปี 2493 เวียตมินห์ได้ชัยชนะอย่างงดงาม ยึดเมืองหลายแห่งและบีบบังคับให้ฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ต้องถอยร่นมายังบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ําแดง โวเวียนยั๊บได้รับยศเป็นนายพลตรีทันที และก็ได้เสนอทฤษฎีแห่งสงครามประชาชน โดยการเปรียบเทียบ “ปลากับน้ํา” ทหาร คือ ปลา  ประชาชน คือ น้ํา เป็นสองสิ่งที่ควบคู่กันไปไม่อาจแยกออกจากกันได้

'นายพลอองรี นาวาร์' แม่ทัพใหญ่ฝรั่งเศส ได้กําหนดยุทธศาสตร์ในการปราบปรามเวียดนาม ด้วยการเลือกเอาชัยภูมิที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ ที่เมืองเดียนเบียนฟู หรือที่ไทยเคยเรียกว่า เมืองแถง เป็นฐานที่มั่นและส่งหน่วยรบออกไปกวาดล้างข้าศึก โดยไม่เคยคิดว่า เวียดนามจะสามารถเข้าปิดล้อมเดียนเบียนฟูได้ เมื่อรู้ก็สายเสียแล้ว เดียนเบียนฟูถูกเวียดนามตีแตกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2497 นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสรู้สึกหดหู่และสูญเสียเกียรติภูมิไปอย่างสิ้นเชิง ชื่อเสียงของนายพลโวเวียนยั๊บ ดังไปทั่วโลกที่สามารถเอาชนะนายพลเตอ กัสตรี จากโรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ ชื่อดังของฝรั่งเศส

การประชุมที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างฝรั่งเศสกับกลุ่มประเทศอินโดจีน อันได้แก่ เวียดนาม เขมร และลาวที่ได้เริ่มขึ้นก่อน เดียนเบียนฟูแตกก็ได้จบลงพร้อมด้วยฝ่ายเวียดนามของโฮจิมินห์ เข้าปกครองประเทศตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ 17 เป็นต้นไป ส่วนเวียดนามตอนใต้ ซึ่งตามข้อตกลงเจนีวา ระบุว่าจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อรวบรวมให้เป็นเอกภาพและก็เป็นที่ทราบกันดี อเมริกาเข้ารับช่วงดูแลอุปถัมภ์เวียดนามใต้แทนฝรั่งเศส ไม่ไล่ก็ไม่ไป จนในที่สุดเวียดนามเหนือร่วมกับแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ทําการสู้รบจนได้ชัยชนะเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2519

ในขณะที่ได้มีการลงนามยุติศึก ณ กรุงเจนีวา ในปี พ.ศ. 2497 นั้น นายปรีดีได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เหรินหมินยึเป้า และวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งภาคภาษาไทย ได้นําบทความชิ้นนี้มาออกอากาศ เพื่อประชาชนชาวไทยจะได้รับฟังกัน เนื้อหาของบทความเป็นการแสดงความยินดีในความสําเร็จ ด้วยความหวังว่าเป็นชัยชนะที่จะนําไปสู่สันติภาพแห่งภาคพื้นเอเชียอุษาอาคเนย์และทุกประเทศในภูมิภาคนี้ย่อมจะต้องสามารถเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นเอกราช เคารพซึ่งกันและกันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค

สถานทูตเวียดนามประจํากรุงปักกิ่งได้รับคําสั่งจากรัฐบาลเวียดนามและตัวประธานโฮจิมินห์ ให้ดูแลทุกข์สุขของนายปรีดี ในยามที่นายปรีดีต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองมา ซึ่งถึงแม้ว่าโฮจิมินห์จะมีภารกิจในการบริหารประเทศ ปรับปรุงให้มีความเข้มแข็งเพื่อเตรียมภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่เพื่อรวบรวมประเทศให้เป็นเอกภาพก็ตาม บุคคลทั้งสองก็ได้มีการติดต่อส่งข่าวคราวถึงกันโดยผ่านสถานเอกอัครรัฐทูตเวียดนามที่กรุงปักกิ่งอยู่เสมอมาจนกระทั่งนายปรีดีและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองกวางโจว ในกลางปี พ.ศ. 2499 สถานกงสุลใหญ่เวียดนาม ณ เมืองกวางโจวก็ทําหน้าที่ประสานงานแทนสถานเอกอัครรัฐทูตต่อไป

กลางฤดูใบไม้ผลิแห่งปี พ.ศ. 2507 'โฮจิมินห์' ในฐานะประธานประเทศเวียดนาม ได้เชิญ 'นายปรีดี พนมยงค์' และคณะให้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่า นายปรีดี จะไม่ได้มีตําแหน่งใด ๆ ในการบริหารบ้านเมือง แต่ทางเวียดนามก็ได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติประดุจเป็นผู้บริหารประเทศ  

คณะของนายปรีดีประกอบด้วย

  1. นายปรีดี พนมยงค์ 
  2. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
  3. นายศุขปรีดา พนมยงค์
  4. นายอัมพร สุวรรณบล อดีตส.ส.ร้อยเอ็ด
  5. นายสอิ้ง มารังกูล อดีต ส.ส.บุรีรัมย์
  6. นายหลินอิ๊งกวง ล่ามจีน

 


บ้านพักรับรองคณะของนายปรีดี พนมยงค์ กลางกรุงฮานอย

 

ในการเยี่ยมคารวะประธานโฮจิมินห์ ผู้นำประเทศ ณ ทําเนียบรัฐบาลเวียดนาม สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นตึกที่พัก และบริหารงานของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสปกครองเขตตังเกี๋ย (ภาคเหนือเวียดนาม) มีความใหญ่โต โอ่อ่า งดงามด้วยศิลปะการก่อสร้างแห่งสมัยอาณานิคมรุ่งเรือง โฮจิมินห์ มีที่พักเป็นเรือนไม้เล็ก ๆ ใต้ถุนโปร่งอยู่ด้านหลังทําเนียบ ซึ่งใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองอย่างเดียว ตนเองปฏิเสธที่จะพักบนตึกทําเนียบ

ทางเวียดนามได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี และคณะเจ้าภาพซึ่งนอกจากโฮจิมินห์แล้ว ยังมี ตนดี้กถัง รองประธาน เจรื่องจินห์ ประธานรัฐสภาแห่งชาติ  ฟามวันดง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  พลเอกพิเศษ โวเวียนยั๊บ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกาหงลานห์ รมต.วิเทศสัมพันธ์ และ เหงียนเกอธัค รมต.ช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ

เมื่อคณะเดินทางมาถึงบุรุษร่างเล็ก มีเคราเป็นลักษณะพิเศษในชุดเสื้อสีกากีอ่อน  มีกระเป๋าเล็กด้านบนและกระเป๋าใหญ่ด้านล่าง รวม 4 แห่ง กางเกงสีเดียวกัน มีความเรียบง่าย รู้ได้ทันทีว่าเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านผู้นี้คือ โฮจิมินห์ บุคคลอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของชาวเวียดนามทั่วประเทศ ท่านได้เข้ามาสัมผัสมือกับนายปรีดี และโอบกอดด้วยความรักใคร่เป็นมิตร ทั้งสองท่านจากสองประเทศผู้ได้มีบทบาทในการนําความถูกต้องชอบธรรมมาสู่ประเทศของตนตามสภาวะโอกาสของแต่ละประเทศ ผ่านการต่อสู้ที่เคี้ยวคดขมขึ้นมาไม่น้อย บัดนี้ท่านทั้งสองได้มาพบกันเป็นครั้งแรก

แต่ก็ได้โอบกอดรักใคร่กัน ประดุจสนิทสนมกันมานานปี ซึ่งเป็นภาพประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นโฮจิมินห์ได้เดินไปตรวจดูการจัดโต๊ะและได้เห็นทางเจ้าภาพได้จัดป้ายชื่อที่นั่งของทั้งแขกและเจ้าภาพ ท่านจึงได้สั่งให้เก็บป้ายชื่อพร้อมทั้งถือว่าเป็นกันเอง ไม่จําเป็นต้องมีพิธีรีตองทางการทูตแต่อย่างใด นายปรีดีนั่งทางซ้ายของโฮจิมินห์ และท่านผู้หญิงพูนศุขนั่งทางขวา ส่วนคนอื่นก็ขอให้นั่งตามสะดวก

บนโต๊ะอาหารมีแจกันดอกกุหลาบจัดไว้อย่างสวยงาม โฮจิมินห์ได้เลือกดอกกุหลาบที่งามที่สุด ดอกหนึ่งจากแจกันและนําไปปักบนปกเสื้อท่านผู้หญิงพูนศุข ชาวคณะทุกคนรู้สึกซาบซึ้งและปลาบปลื้มในไมตรีจิตมิตรภาพอันอบอุ่น และได้รับการต้อนรับจากญาติผู้ใหญ่ ดั่งเช่นในครอบครัวเดียวกัน

นายปรีดีได้กล่าวขอบคุณในการต้อนรับอย่างดีที่สุดของเจ้าภาพพร้อมกับแสดงความยินดีในความสําเร็จของประชาชนเวียดนามและเชื่อมั่นในภารกิจการรวบรวมประเทศของประเทศเวียดนาม จักต้องประสบความสําเร็จอย่างแน่นอน แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคอยู่

โฮจิมินห์ก็ได้กล่าวขอบคุณนายปรีดีอีกครั้ง ในการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวเวียดนามในระยะที่มีความยากลําบากอย่างแสนสาหัส ในขณะนั้น ท่านได้บอกว่าประชาชนชาวเวียดนามชั่วลูกชั่วหลานต่อๆ ไปจะไม่ลืมการสนับสนุนของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะนายปรีดี มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ และก็เป็นความจริงที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ ชาวเวียดนามยังรู้จักผลงานของนายปรีดีที่มีต่อชาวเวียดนาม และรัฐบาลเวียดนาม ในเวลาต่อมาก็ได้มอบอิสริยาภรณ์แห่งมิตรภาพให้แก่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้รับแทนตัวนายปรีดี พนมยงค์

การสนทนาส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส เพราะท่านทั้งสองสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ตอนหนึ่งของการสนทนา โฮจิมินห์ได้พูดว่า ท่านเป็นหนี้บุญคุณประชาชนชาวไทย รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ไทย โดยท่านพูดว่า ขณะที่ท่านเคลื่อนไหวในหมู่ชาวเวียดนามที่จังหวัดพิจิตรก็ดี จังหวัดนครพนมก็ดี และจังหวัดอุดรธานีก็ดี บางครั้งต้องเดินทางเท้าจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ระยะทางยาวไกลมากจําเป็นต้องค้างแรมก็ได้อาศัยวัดในชนบทเป็นที่พัก พร้อมทั้งข้าวปลาอาหารที่เป็นข้าวก้นบาตรของพระ

โฮจิมินห์ได้ถามนายปรีดีว่า ธรรมเนียมอย่างนี้ยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับคําตอบว่ายังมีอยู่ ท่านได้ยกย่องว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ท่านได้พร่ำอบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ชาวเวียดนามในเมืองไทยให้มีความเคารพ รักใคร่ สมานฉันท์ สร้างสามัคคีกับคนไทย ซึ่งก็ปรากฏแล้วว่า ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ในภาคอีสานของไทยสามารถอยู่ร่วมกับชาวไทยได้อย่างสันติสุข

มิตรภาพระหว่างโฮจิมินห์-ปรีดี พนมยงค์ ดําเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยดีจวบจนกระทั่ง ประธานโฮจิมินห์ได้วายชนม์ลง นายปรีดี ก็ได้เดินทางไปกรุงฮานอย เพื่อเข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยครั้งสุดท้าย มีประมุขและผู้บริหารจากต่างประเทศไปร่วมพิธีอย่างมากมาย เช่น สมเด็จเจ้านโรดมสีหนูแห่งกัมพูชา นายโคซิกิน นายกรัฐมนตรี สหภาพโซเวียต ฯลฯ เป็นต้น

ชาวเวียดนามได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเคารพสูงสุด ซึ่งชาวเวียดนามทุกคนได้เรียก  ท่านว่า “ลุงโฮ” ด้วยความสนิทสนม 

'โฮจิมินห์' เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ส่วนนายปรีดี เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 โฮจิมินห์จึงมีอายุมากกว่าร่วมสิบปี เส้นทางชีวิตของผู้นําทั้งสองนั้นถือได้ว่า ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนในการรับใช้ชาติบ้านเมือง ถึงจะต้องประสบกับเคราะห์กรรมความยากลําบาก แต่ก็มิได้ทําให้เกิดความท้อแท้เสียกําลังใจ 

ขณะที่นายปรีดีศึกษาวิชากฎหมายในฝรั่งเศส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และก็ได้จัดตั้งคณะราษฎรจากนักศึกษาและข้าราชการสถานทูตไทยจํานวน 7 คน เมื่อกลับมายังประเทศไทยก็ได้ร่วมกับคณะพลเรือน, ทหารบก, ทหารเรือ ทําการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสําเร็จ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ส่วนโฮจิมินห์ในขณะนั้นใช้ชื่อแฝงว่า 'เหวียนอายคว๊อก' หรือ 'นายเหวียน ผู้รักชาติ' ได้ผ่านประเทศฝรั่งเศสไปแล้วหลังจากเข้าร่วมการก่อตั้งพรรคโซเชียลลิสต์ฝรั่งเศส และก็มาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์  ทั้งโฮจิมินห์และนายปรีดีจึงไม่มีโอกาสได้พบกันด้วยวัยวุฒิที่ต่างกัน แต่นายปรีดีก็ได้พบปะกับชาวเวียดนามผู้รักชาติในฝรั่งเศสหลายคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับโฮจิมินห์  เส้นทางของโฮจิมินห์ในยุโรปทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่อมาจึงได้ผ่านไปยังกรุงมอสโค ภายหลังการอภิวัฒน์เดือนตุลาคม ผ่านประเทศจีนเข้ามาเคลื่อนไหวในสยามถูกจับกุมติดคุกติดตะรางในจีนหลายครั้งหลายหน จนในที่สุดสามารถกอบกู้อิสรภาพเอกราชของประเทศเป็นผลสําเร็จ

ส่วนเส้นทางชีวิตของนายปรีดีมีทั้งความสําเร็จและความพลาดพลั้งล้มเหลว แต่ก็ต้องถือว่ามีผลสําเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ 2 ประการ คือ การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และ การเป็นผู้นําอันแท้จริงแห่งขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ทําให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม  สมดังคําขวัญของบรรณาธิการ ปรีดีสาร ที่ว่า “ดวงประทีปประชาธิปไตย เสรีไทยกู้เอกราชชาติยืนยง”

สิ่งที่เข้ามาบรรจบเป็นจุดเดียวกันของท่านทั้งสอง ก็คือ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2533) องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศเกียรติคุณให้โฮจิมินห์เป็นบุคคลสําคัญครบรอบร้อยปีแห่งชาตกาล และในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543) องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศเกียรติคุณให้นายปรีดี พนมยงค์  เป็นบุคคลสําคัญครบรอบร้อยปีแห่งชาตกาล เช่นเดียวกัน

 

ภาคผนวก

 

คำประกาศเอกราชของประเทศเวียดนาม

 


คำประกาศเอกราชที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945

 

“สิทธิอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่ถือกำเนิดเกิดมาในโลกไม่อาจที่จะลบล้างได้ นั่นคือ สิทธิในการมีชีวิต มีเสรีภาพ และการแสวงหาความสุข คำกล่าวอันเป็นอมตะนี้ได้ปรากฏอยู่ในคำประกาศเอกราชของอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1776 ในความหมายด้านกว้างว่า มนุษย์ในโลกทุกคนเสมอภาคนับเมื่อเกิด มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะดำเนินชีวิต มีความสุข มีเสรี

ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนในการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1791 ก็ได้ระบุว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นอิสระและมีสิทธิเท่าเทียมกัน และจักต้องดำรงอิสระและสิทธิแห่งความเท่าเทียมนั้นตลอดไป นี่คือความจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้

กระนั้นก็ตาม จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้ทำลายเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในทางที่ผิดมามากกว่า 80 ปี ทำการประทุษร้ายปิตุภูมิของเราและกดขี่ประชาชนของเรา ฝรั่งเศสได้ปฏิบัติตัวในทางที่ตรงข้ามต่อคติแห่งมนุษยธรรม และความยุติธรรมตลอดมา

ในทางการเมือง ฝรั่งเศสได้พรากสิทธิเสรีแห่งประชาธิปไตยทุกประการไปจากประชาชนเรา ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายอันไร้มนุษยธรรม แบ่งเขตการปกครองเวียดนามออกเป็นเหนือ กลาง ใต้ เพื่อทำลายเอกภาพแห่งชาติเรา และขัดขวางประชาชนของเราไม่ให้สามัคคีกัน ฝรั่งเศสได้ล่ามโซ่มติมหาชนของเรา ต่อต้านเรา ปิดหู ปิดตา มิให้ประชาชนของเราได้รู้ความจริง เพื่อทำให้เราอ่อนแอ ฝรั่งเศสได้มอมเมาเราด้วยฝิ่น และแอลกอฮอล์

ในทางเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสปอกลอกกระดูกสันหลังของเรา ทำให้ประชาชนของเรายากจน และทำความพินาศให้แก่แผ่นดินของเรา ฝรั่งเศสปล้นสะดมทุ่งนา แหล่งแร่ ป่าไม้ และทรัพยากรของเรา ฝรั่งเศสผูกขาดการธนาคารและการค้าต่างประเทศ ฝรั่งเศสได้สร้างระบบภาษีอันไม่ยุติธรรมมากมาย เพื่อบั่นทอนประชาชนของเรา โดยเฉพาะชาวนาให้ยากจนถึงที่สุด ฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้ประชาชาติของเรางอกงาม และกดขี่ขูดรีดกรรมกรของเราอย่างไร้คุณธรรม

ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1940 เมื่อฟาสซิสต์ญี่ปุ่นบุกรุกอินโดจีน เพื่อสร้างฐานทัพต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้คุกเข่าลงต่อหน้าญี่ปุ่น และส่งมอบประเทศของเราให้ญี่ปุ่นโดยดุษณีภาพ

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ประชาชนของเราต้องแบกแอกทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ความทุกข์และความยากแค้นแสนสาหัสได้เพิ่มทวีขึ้นแก่ประชาชนของเรา ผลการสยบให้ญี่ปุ่นนับจากปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ พี่น้องร่วมชาติของเราตั้งแต่จังหวัดกว่างตรี ถึงเวียดนามเหนือ ได้อดตายไปมากกว่า 2 ล้านคน ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1945 ที่ญี่ปุ่นปลดอาวุธกองทหารฝรั่งเศสนั้นเล่า นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสได้พากันหนีและยอมจำนนต่อญี่ปุ่น นี่แสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสไม่เพียงแต่ไม่สามารถป้องกันเราได้เท่านั้น แต่ภายใน 5 ปีนั้น เขาได้ส่งมอบประเทศของเราให้แก่ญี่ปุ่นถึงสองครั้งอีกด้วย

ในเวลาต่อมา ก่อนหน้าวันที่ 9 มีนาคม ศกนี้ กองทัพเวียดมินห์ที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วได้เรียกร้องให้ฝรั่งเศสต่อต้านญี่ปุ่น แต่แทนที่นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสจะเห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น พวกเขากลับต่อต้านสมาชิกแห่งกองทัพเวียดมินห์หนักมือขึ้น ก่อนจะหนีจากไป ฝรั่งเศสยังได้ประหารพวกเราที่เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังไว้ในคุกเอียนบ๋ายและกาวบั่งไปเป็นจำนวนมาก

แต่กระนั้นพี่น้องร่วมชาติของเรายังได้แสดงน้ำใจต่อชาวฝรั่งเศสอย่างอดทนและมีมนุษยธรรมตลอดมา แม้ภายหลังการยึดครองของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเวียดมินห์ได้ช่วยชาวฝรั่งเศสจำนวนมากให้ข้ามพรมแดน ช่วยนักโทษให้ออกจากคุกญี่ปุ่น ตลอดจนช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวฝรั่งเศสอีกด้วย

โดยความเป็นจริงแล้ว เราสิ้นสุดการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 1940 โดยตกอยู่ในความยึดครองของญี่ปุ่น

ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตร ประชาชนของเราทั่วประเทศได้เรียกร้องอธิปไตยของชาติ และสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้น

ความจริงก็คือ เราได้ต่อสู้ช่วงชิงเอกราชของชาติมาจากญี่ปุ่น ไม่ใช่ฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสหนีไป ญี่ปุ่นยอมจำนน จักรพรรดิเบาใด๋ยอมสละราชสมบัติ ประชาชนของเราจึงทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามตรึงเรามาเกือบหนึ่งศตวรรษ เราได้นำเอกราชมาสู่ปิตุภูมิของเรา ขณะเดียวกันประชาชนของเราก็ได้ยกเลิกการปกครองแบบราชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดมาช้านานแล้ว และได้สถาปนาการปกครองระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราในฐานะรัฐบาลชั่วคราวซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนชาวเวียดนามทั้งปวง จึงขอประกาศล้มล้างสิทธิพิเศษทั้งหมดที่ฝรั่งเศสได้ตราขึ้นใช้บนแผ่นดินของเรา อันไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

ปวงชนชาวเวียดนามทุกผู้ทุกนาม ต่างมีความสำนึกร่วมกันแล้วว่า พวกเขาได้ต่อสู้เพื่อจบสิ้นความขมขื่นที่บรรดานักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ทำไว้ และบัดนี้เราได้ชัยชนะของชาติกลับคืนมาแล้ว

เราเชื่อว่าประเทศสัมพันธมิตรที่ยอมรับหลักการตัดสินใจด้วยตนเองและหลักความเสมอภาคแห่งชาติ ณ ที่ประชุมแห่งกรุงเตหะราน และซานฟรานซิสโก คงไม่ปฏิเสธที่จะรับรองเอกราชของเวียดนาม

ประชาชนผู้ซึ่งต่อสู้คัดค้านการครอบครองของฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญมากว่า 80 ปี ประชาชนผู้ซึ่งต่อสู้ขัดขวางฟาสซิสต์เคียงบ่าเคียงไหล่กับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะที่ผ่านมา จะต้องเป็นประชาชนที่มีเอกราช เสรี

ด้วยประการฉะนี้ เราในฐานะของรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม จึงขอประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีเสรี มีเอกราช ซึ่งความจริงก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนเวียดนามทั้งปวงมีความมุ่งมั่นทั้งกายและใจที่จะสละชีวิตและทรัพย์สินทั้งหลาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและเสรีภาพของตน”

 

จดหมายภาษาฝรั่งเศสที่ประธานโฮจิมินห์เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

 

เรียน ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์

กระผมขอขอบคุณอย่างสูงในการที่ ฯพณฯ ท่านได้สนับสนุนส่งมอบอาวุธให้กองกําลังกู้ชาติ อาวุธเหล่านี้สามารถประกอบให้กับทหารได้สองกองพันกระผมจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้ ขออนุญาตจากท่านเพื่อเป็นเกียรติ โดยให้นามว่า กองทัพแห่งสยาม

 

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
โฮจิมินห์

 

บรรณานุกรม

  • ศุขปรีดา พนมยงค์, "ประธานโฮจิมินห์-รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์," ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2545, น. 4-12.
  • ศุขปรีดา พนมยงค์, อภิวัฒน์สิงหาคม 1945, ใน โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 95-104.