ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513

29
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอในวาระ 14 ปี มรณกรรม ศุขปรีดา พนมยงค์ ซึ่งได้เขียนถึง 21 ปี ที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้พํานักช่วงลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นเวลาที่นับว่ายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2492-2513 นายปรีดี และครอบครัวมีความรู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตมิตรภาพของราษฎรจีน และผู้นําจีน โดยจุดยืนของความถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยอย่างไม่ยอมโอนอ่อนคล้อยตามอย่างเด็ดขาด

 


นายปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในจีน

 

ท่านปรีดีฯ ได้พํานักลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ถึง ๒๕๑๓ เป็น เวลารวม ๒๑ ปี ส่วนหนึ่งในช่วงเวลานี้ ท่านก็ได้เขียนเป็นบันทึกความทรงจําไว้ เป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อว่า “ MA VIE MOVEMENTEE ET MES 21 ANS EXILES EN CHINE POPU- LAIRE ” ต่อมาก็ได้มีผู้ถอดความและแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อว่า “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ ๒๑ ปีแห่งการลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีน

ในช่วงการเดินทางลี้ภัยของท่านก่อนที่จะถึงประเทศจีนนั้น ท่านได้เดินทางโดยทางเรือสินค้าชักธงอังกฤษ จากฮ่องกง ไปขึ้นที่เมืองท่า ซิงเตา ซึ่งอยู่ในความยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนแล้ว และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจีนเกือบทั้งหมดก็ตกอยู่ในความยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนแล้ว ซึ่งก็เป็นเวลาก่อนหน้าการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนขึ้นในวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๙๒ ไม่นานนัก ในจํานวนผู้โดยสารเรือเที่ยวนั้นปรากฏว่ามีปัญญาชนชาวจีนที่อยู่ต่างประเทศและเป็นผู้ที่ได้รับเชิญให้ เข้าร่วมประชุมสภาปรึกษาการเมือง ซึ่งจะได้จัดให้มีขึ้นภายหลังการสถาปนาประเทศ หลังจากที่ได้รอนแรมมาในเรือเป็นเวลา ๔-๕ วัน ท่านและคณะผู้ติดตามก็ได้ขึ้นฝั่งที่เมืองซิงเตา ทางการประเทศจีนได้จัดส่ง ท่านหลี่ เว่ย ฮั่น ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแนวร่วม ๙ แห่งรัฐบาลกลาง มาให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติและฐานะ จากนั้นก็เดินทางโดยทางรถไฟจากซิงเตาผ่านเมืองจี้หนาน ไปถึงปักกิ่งซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน เนื่องจากสภาพของทางรถไฟถูกทําลายลงหลายตอนในช่วงสงครามกลางเมืองที่เพิ่มจะเสร็จสิ้นลง

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมาตราหนึ่งที่ได้กล่าวไว้ ในรัฐธรรมนูญซึ่งกําหนดไว้ว่า บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่มเหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรมจนไม่อาจจะพํานักอาศัยอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ และยินดีให้การต้อนรับพํานักอาศัยอยู่ในประเทศจีน ในฐานะมิตรและแขกผู้มีเกียรติด้วยความสะดวกสบายตามฐานานุรูป

ด้วยเหตุดังกล่าวจากการงานและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมที่ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมมากหลาย ท่านปรีดีฯ จึงได้รับเกียรติจากทางจีนที่ได้ให้การต้อนรับ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น ความรู้สึกในมิตรไมตรีของทางจีนนี้ ทําให้ท่านปรีดีฯ ได้อุทิศทั้งกําลังกายและใจในการฟื้นฟูมิตรภาพ ระหว่างราษฎรจีน-ไทย อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในระยะนั้นเมฆหมอกแห่งสงครามเย็นยังปกคลุมโลกอย่างหนาทึบ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เข้าทําการปกครองพื้นแผ่นดินใหญ่ไว้ได้แล้ว ความยากลําบากเกิดขึ้นเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เดินตามอเมริกาอย่างสุดตัว ทําการรณรงค์ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสุดเหวี่ยง ปิดกั้นการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศจีน แม้กระทั่งการติดต่อระหว่างเอกชนต่อเอกชนของประเทศทั้งสอง ทําให้คนไทยที่ได้ไปเยือนประเทศจีนในขณะนั้นเมื่อกลับถึงเมืองไทย ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือนิยมชมชอบคอมมิวนิสต์ ถูกจับกุมคุมขังอยู่เป็นเวลานานโดยไม่มีการนําคดีขึ้นสู่ศาลตามขบวนการยุติธรรมอันเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และเสียใจเป็นอย่างยิ่งดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในสมัยนั้น

 


นายปรีดี พนมยงค์ กับประธานเหมา เจ๋อตง

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในวันประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, 1 ตุลาคม 1949
ที่มา: หนังสือ Ma vie mouvementée et mes 21 ans d'exil en Chine Populaire)

 

ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ประธานเหมา เจอตง ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐ แห่งราษฎรจีนขึ้น ณ ทวารเทียนอันเหมิน ท่านปรีดีฯ ได้รับเชิญเป็นเกียรติเข้าร่วมในพิธีสถาปนาประเทศในวันอันเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งจากคําบอกเล่าของท่านว่าแขกชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมมีจํานวนน้อยมาก ทางด้านทูตต่างประเทศก็ดีมีทูตจากสหภาพโซเวียตเพียงประเทศเดียวและร่วมด้วยคณะศิลปินจากโซเวียตอีกเพียงไม่กี่สิบคน ซึ่งต่างกับในยุคปัจจุบันที่ทางจีนได้มีการสถาปนาสัมพันธภาพกับประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก มิตรจากต่างประเทศที่เข้าร่วมในงานฉลองวันชาติ ๑ ตุลาคม ของจีน จึงมีจํานวนมากขึ้นทุกปี

ถิ่นพํานักแห่งแรกของท่านปรีดีฯ ในเมืองปักกิ่งอยู่ที่ตรอกเสี่ยว หยาง เหมา ติดกําแพงเมือง ทางทิศเหนือลักษณะเป็นบ้านสองชั้น มีบริเวณรั้วรอบขอบชิด ทางการจีนได้จัดเจ้าหน้าที่ทหารปลดแอกมาให้การอารักขาจํานวนหนึ่งหมู่ จัดหาล่ามภาษาไทย ซึ่งก็ได้แก่ลูกคนจีนที่เกิดในเมืองไทยและเดินทางกลับไปรับใช้ประเทศบ้านเกิดเมืองบิดามารดา คนทําอาหาร คนรถ และคนทําความสะอาด พร้อมทั้งจัดยานพาหนะรถยนต์พร้อมทั้งคนขับรถเพื่อท่านจะได้ใช้สอย แต่ท่านปรีดีฯ ก็ชอบมีชีวิตอยู่อย่างสมถะ เวลาที่ท่านประสงค์ไปธุระเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นส่วนตัว เช่นการไปจ่ายของที่ตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านโปรดปราน การไปส่งจดหมาย ณ ที่ทําการไปรษณีย์ หรือการออกไปรับประทาน อาหาร ในย่าน หยาง ฟู จิ่ง ท่านจะใช้รถโดยสารประจําทาง เช่นเดียวกับชาวเมืองปักกิ่งทั้งหลาย

ในระยะระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งเข้ามาทําการปกครองประเทศใหม่ ๆ ฉะนั้นรูปแบบการบริการส่งกําลังบํารุงจึงมีลักษณะของการจัดรูปของกองทัพ อันได้แก่ การจ่ายเสื้อผ้าปีละ ๒-๓ ชุดตามความเหมาะสมและตําแหน่งหน้าที่ในการรับผิดชอบ และได้มีระเบียบการจัดและจําแนกตําแหน่งออกไป ๒๗ ขั้น โดยถือตําแหน่งขั้นที่ ๑ ได้แก่ประธานเหมาฯ และลดหลั่นกันลงไปจนถึงขั้น ๒๗ ซึ่งเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยที่สุด ซึ่งก็จะเห็นว่า จีนคอมมิวนิสต์เองก็มีการแบ่งชั้นและตําแหน่งเช่นกันเพียงแต่ว่า ระบบการแบ่งและจําแนกตําแหน่งของเขาถือว่า ระดับ ๑ เป็นระดับสูงสุด และระดับ ๒๗ เป็นระดับต่ำที่สุด สําหรับอาหารการกิน ก็มีการแบ่งออกเป็นกระทะเล็ก อันเป็นอาหารพิเศษ สําหรับเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในระดับสูง กระทะกลางสําหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับปานกลาง และกระทะใหญ่สําหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโดยทั่วไป

สําหรับท่านปรีดีกับคณะนั้น ในฐานะแขกของรัฐบาลจีน ทางการจีนก็ได้จัดเตรียมอาหารในระดับกระทะเล็ก และได้รับการจ่ายเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ของจีน ระบบงานด้านบริการนี้ต่อมาก็ได้ยกเลิกไป เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในช่วงที่ท่านได้พํานักอยู่ที่บ้านเสี่ยว หยาง เหมา ท่านก็ได้ใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมความรู้ทางทฤษฎีอันเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางสังคม และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักทฤษฎีชาวจีนในเรื่องนี้ ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทางปรัชญาสังคม เพื่อประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย บทความเหล่านี้ได้เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าต่อผู้สนใจในความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อได้ตีพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยในภายหลัง

 


นายปรีดี พนมยงค์ กับนายโจ เอินไหล

 

นอกจากนี้ ท่านยังได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ซึ่งท่านถือว่าเป็นมิตรร่วมสมัย ในเวลาที่ท่านโจวเอินไหล ศึกษา ทํางานและเคลื่อนไหวอยู่ที่เมืองลียองส์ ประเทศฝรั่งเศส ก็เป็นเวลาใกล้เคียงที่ท่านปรีดีฯ ได้ใช้ชีวิตศึกษาอยู่ที่กรุงปารีส ทําให้ท่านมีโอกาสพบปะสนทนากับกลุ่มนักศึกษา ผู้มีความรักชาติบ้านเมือง ทั้งชาวจีน อินโดนีเซีย, เวียดนาม, เขมร และลาว เป็นต้น

 


นายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวช่วงลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากซ้ายไปขวาประกอบด้วย (แถวหน้า) ปาล พูนศุข ปรีดี (แถวหลัง) วาณี สุดา ดุษฎี ศุขปรีดา

 

เมื่อคุณแม่ของผมคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข และน้องสาวของผม ๒ คนเดินทางจากฝรั่งเศส ผ่านสหภาพโซเวียตโดยทางรถไฟสายทรานไซบีเรียใช้เวลา ๗ วัน ๗ คืน จากมอสโคว์ มาถึงปักกิ่ง และพํานักอยู่กับท่านปรีดีฯ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ทางการจีนจึงได้จัดที่พักแห่งใหม่ให้ท่านกับครอบครัว อยู่ที่ถนนเป้าสื่อเจีย ไม่ไกลจากพระราชวังจงหนาไห่ อันเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ระดับผู้นําสูงสุดของประเทศ เช่นท่านประธานเหมา เจอตง นายกโจวเอินไหล เป็นต้น ลักษณะของบ้านถนนเป้าสื่อเจีย เป็นลักษณะเป็นบ้านขุนนางจีนโบราณ มีบริเวณกําแพงรอบสี่ทิศประกอบด้วยเรือน อิฐสี่หลัง ทางการจีนก็ได้จัดให้มีล่ามหนึ่งคน คนครัวหนึ่งคน คนขับรถหนึ่งคน และพนักงานบริการทั่วไปอีกหนึ่งคน

ผมเดินทางจากมอสโคว์ไปปักกิ่งทางเครื่องบินและถึงปักกิ่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เครื่องบินลงที่สนามบินเก่าขนาดเล็กของปักกิ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักนัก และก็ได้เข้าพักอยู่ที่บ้านถนนเป้าสื่อเจียกับท่าน โดยพักอยู่ร่วมกันในตึกกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็นห้องของท่านและภรรยา ห้องน้ำ ห้องน้องสาว ๒ คน ห้องกลางใช้รับแขก และห้องหนังสือซึ่งก็ได้เสริมเตียงสําหรับผมนอน ปักกิ่งหน้าหนาวอุณหภูมิจะอยู่ในราวประมาณ -๑๐ องศาเซลเซียส ตึกที่พักไม่ได้ใช้ระบบท่อไออุ่น หากแต่ใช้เตาถ่านหินเป็นเครื่องให้ความอบอุ่น ต้องมีการเติมถ่านหินทุกวันและในตอนกลางคืนก็ลดความร้อนโดยไม่ให้ถ่านหินดับ อากาศที่เย็นจัดและแห้งแล้งย่อมไม่เกื้อกูลแก่กําลังร่างกายและสุขภาพของผู้สูงอายุ และผู้ที่เติบโตมาจากประเทศในเขตร้อน ฉะนั้นท่านปรีดีฯ จึงได้ปรารภกับทางนายก โจวเอินไหล เพื่อขอให้ทางจีนช่วยอนุเคราะห์จัดสถานที่ให้ท่านได้อยู่ในเขตร้อนไม่ไกลจากเมืองไทยนัก และก็ได้รับการสนองตอบด้วยดีจากทางเจ้าภาพ ให้ท่านและครอบครัวย้ายลงมาอยู่ ณ เมืองกวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘

เมื่อผมอยู่ที่ปักกิ่งใหม่ ๆ ก็ได้สังเกตเห็นว่า สิ่งสําคัญในชีวิตประจําวันของท่าน ได้แก่ เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยชนิดกระเป๋าหิ้ว สําหรับใช้ในการพิมพ์ ข้อเขียน บทความ โดยตัวท่านเองในวิธีการแบบใช้นิ้วจิ้มพิมพ์สองนิ้ว เครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นรูปร่างเป็นเครื่องโบราณสี่เหลี่ยม ผลิตจากเมืองริก้า สาธารณรัฐเอสโทเนีย ท่านรับฟังวิทยุคลื่นสั้น เพื่อติดตามข่าวคราวของโลกเป็นประจําทุกวัน เพราะในขณะนั้นทางจีนก็ยังไม่มีวิทยุโทรทัศน์ หรือการถ่ายทอดข่าวสารผ่านดาวเทียมเช่นในขณะนี้ สถานีที่ท่านรับฟังได้แก่ BBC เวลา ๕ โมงเย็น และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่ส่งคลื่นสั้นโดยเครื่องส่ง ๕๐ กิโลวัตต์ ตอน ๒ ทุ่ม ทําให้ท่านสามารถติดตามข่าวคราวต่าง ๆ ได้อย่างทันกาล

 


นายปรีดี พนมยงค์ เยี่ยมชมคอมมูนกับนายกุหลาบ สายประดิษฐ์
ที่มา : หนังสือ ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน

 

นอกจากการศึกษาแต่งตํารา บทความ ติดตามสถานการณ์และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับมิตรสหายชาวไทยที่พํานักอยู่ในขณะนั้น และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับมิตรสหายชาวจีนผู้ให้ความช่วยเหลือดูแลท่าน ท่านปรีดีฯ มีงานอดิเรกอันเป็นที่โปรดปรานของท่านอยู่อย่างหนึ่งคือ การคิดค้นปรุงอาหารไทยโดยอาศัยวัสดุที่พอหาได้ในปักกิ่งมาดัดแปลงทําเป็นอาหารไทยและเชิญมิตรสหายชาวจีนมาร่วมรับประทานอาหารไทย ที่ท่านได้ปรุงแต่งขึ้นเป็นที่ชื่นชมในรสอาหารอันโอชาจากฝีมือของท่าน

ในบางครั้งตอนเย็นท่านได้ไปเดินเล่นและเยี่ยมเยียนศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาชานเมืองปักกิ่ง และก็ยังได้รับการเชื้อเชิญอย่างไม่เป็นทางการให้เข้าร่วมในพิธีการแต่งงานของชาวนาจีน ซึ่งท่านได้เคยเล่าให้ฟังว่าเป็นพิธีที่เรียบง่าย และประหยัดดีมาก โดยเริ่มจากเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ทําการเคารพรูปประธานเหมาฯ เคารพบิดามารดา และแขกที่มาร่วมงาน จากนั้นก็แจกทอฟฟี่คนละก้อนแก่ผู้มาร่วมงานทุกคนเป็นอันเสร็จพิธี

เป็นอันว่า ในต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านปรีดีฯ และครอบครัวได้โยกย้ายจาก กรุงปักกิ่งมายังเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นการเดินทางโดยรถไฟในระยะทางร่วม ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๒ คืน ๓ วัน จากปักกิ่งมาถึงเมืองหวู่หั่น ซึ่งพอจะเทียบได้ว่าเป็นครึ่งทางต้องข้ามลําน้ําแยงซีเกียง ที่เมืองหวู่นั่นนี้ ซึ่งในขณะนั้น สะพานข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงยังอยู่ในระยะเวลาก่อสร้าง จึงต้องมีการขนถ่ายข้ามแพขนานยนต์ ข้ามลำน้ำแยงซีเกียง ที่มีความกว้างสุดลูกหูลูกตามองเห็นฝั่งตรงข้ามแทบจะเห็นไม่ชัด เมื่อถึงเมืองกวางโจวแล้ว ในชั้นแรกเจ้าภาพได้จัดที่พักให้แก่ท่าน ณ เรือนรับรองแห่งหนึ่ง ของกรมปฏิคมแห่งมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาก็ได้ให้ท่านมาพักอยู่บ้านกงศุลอังกฤษเดิมที่บริเวณเกาะซาเมี่ยน ริมแม่น้ำจูเจียง ที่ไหลผ่านเมืองกวางโจว สําหรับเกาะซาเมี่ยนนี้เดิมเป็นเขตเช่าของอังกฤษ กล่าวกันว่าในสมัยนั้นมีป้ายปักไว้ข้อความว่า “ห้ามคนจีนและสุนัขเข้า” นอกจากนี้ทางเจ้าภาพจีนได้จัดกําลังทหารให้การอารักขาที่หน้าบ้านผลัดเวร ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

เมืองกวางโจวนี่เอง ข้อเขียนของท่านเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ท่านได้ผลิตขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณยายของผม (คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต) ซึ่งในคําปรารภ ของท่านก็ได้กล่าวถึงว่า จากการสอบถามจากลูก ๆ ว่าคุณยายท่านได้เคยพูดเรื่องอะไรเสมอ และก็ได้รับคําตอบว่า เรื่องมิคสัญญี ซึ่งจากจุดนี้เอง ท่านจึงได้เรียบเรียงเรื่องความเป็นอนิจจังของสังคม เพื่ออธิบายความเป็นมา เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะเป็นต่อไปในอนาคตในรูปแบบของพุทธปรัชญา ผสมผสานกลมกลืนเข้ากับหลักทางวิทยาศาสตร์ทางสังคม

ช่วงเวลาตอนนี้เป็นช่วงเวลาตอนหนึ่งที่ผมใกล้ชิดกับท่านมากที่สุด เพราะเป็นผู้พิมพ์ยกร่าง จากคําบอกของท่าน เมื่อส่งให้ท่านตรวจทานแก้ไขแล้ว ก็ทําการพิมพ์ขึ้นมาใหม่อีก และทุกครั้งที่ท่านจบบทตอนหนึ่งตอนใด ท่านก็ถามผมว่าผมจะมีความเห็นอย่างไรสมควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขตอนใดบ้าง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ผมได้เรียนรู้ศึกษาจากของจริงและความคิดที่เป็นประชาธิปไตยของท่านในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แม้กระทั่งของลูก ตัวผมเองขณะนั้นก็มีอายุเพียง ๒๑ ปี เรียกได้ว่าอยู่ในวัยรุ่นฉกรรจ์ขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ การที่มีโอกาสเป็นผู้ช่วยพิมพ์หนังสือ ให้ท่านทำให้ผมได้เริ่มมีความรู้ความเข้าใจแจ่มชัดขึ้นในเรื่องของสังคมมนุษยชาติ ผมยังจำได้ดีในข้อเขียน ตอนขึ้นต้นของท่านในทำนองที่ว่า “สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ย่อมเป็นอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ทุกสิ่งที่มีอาการไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่ไม่อาจเติบโตต่อไปอีก ย่อมดําเนินไปสู่ความเสื่อมสลายไปในที่สุด”

ซึ่งก็ย่อมเป็นสัจจธรรมอันมิอาจปฏิเสธได้ ปรากฏว่า หลังจากข้อเขียนเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิต แล้ว ก็ได้รับการสนใจและวิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาในด้านพุทธปรัชญา ก็ได้แสดงความเห็น เห็นด้วยในส่วนใหญ่ในข้อเขียนของท่าน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ที่คิดว่าเป็นปราชญ์ท่านหนึ่งที่ยังยึดติดแน่นกับความคิดเก่า และดําเนินการต่อเนื่องในการบิดเบนประวัติศาสตร์ ทำการต่อต้านกระแสแห่งการพัฒนาสังคม ท่านผู้นี้ก็ได้ใช้ฝีมือแห่งการขีดเขียนของท่าน ทําการโจมตีข้อเขียนเรื่องนี้ ทางหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อยู่ในสังกัดท่านผู้นั้น เมื่อท่านปรีดีฯ ได้เห็นข้อความ โจมตีข้อเขียนของท่านในหน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ท่านได้ปรารภให้ฟังว่า ท่านไม่ประหลาดใจเลย ในการกระทําของท่านผู้นั้น เพราะเป็นสิ่งตกค้างของระบบเก่า ต่อมาบทความเรื่อง “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ได้ตีพิมพ์ขึ้นอีกหลายครั้ง และเป็นที่สนใจต่อผู้ต้องการศึกษาอยู่ตลอดมา เพราะข้อความที่เขียนอันเป็นสัจจะอธิบายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกกาลสมัย

นอกจากนี้ท่านปรีดีฯ ยังได้ผลิตงานอันทรงคุณค่ายิ่งอย่างต่อเนื่องและถือได้ว่าเป็นตํารา เอกสารอ้างอิง มาตลอดทุกวันนี้ อาทิเช่น เรื่องมนุษย์สังคมปรัชญา การวิเคราะห์และการใช้ศัพท์ เอกราช สันติภาพ และความเป็นกลาง ส่วนใหญ่ผมจะเป็นผู้ช่วยทําการพิมพ์ร่างให้ท่าน ทําให้ได้มีโอกาสเพิ่มความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดจนความคิดที่ไปสู่การปฏิบัติตนรับใช้สังคมส่วนรวม

ท่านปรีดีฯ เป็นผู้ที่ให้ความสนใจในปัญหาชาวนา และเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมาพํานักอยู่ที่เมืองกวางโจว อันมีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับประเทศไทย ท่านได้ติดตามความก้าวหน้าทางด้านนี้อยู่ตลอดเวลา และได้ขอให้ทางการจีนจัดให้ท่านได้ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ ตามเวลาและโอกาสอยู่เสมอ เท่าที่ผมจําได้คือ

(๑) การคิดค้นผลิตเครื่องมือที่ใช้ในการดํานา ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่างานดำนาเป็นงานที่หนักและเหนื่อยยากที่สุดของชาวนางานหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อมีการคิดค้นผลิตวัสดุอันเป็นเครื่องทุ่นแรง ย่อมจะผ่อนคลายความยากลําบากและส่งเสริมให้เกิดผลิตผลมากขึ้น ซึ่งในชั้นต้นผลสําเร็จของงานชิ้นนี้ยังไม่ได้รับผลตามที่ควร แต่ต่อมาก็ได้ทราบว่าได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดมา

(๒) ปัญหาเรื่องการสหกรณ์ชาวนา คอมมูนประชาชน และหน่วยการผลิตทางเกษตรกรรมต่อปัญหาเรื่องนี้ ท่านปรีดีฯ ได้ศึกษาวิเคราะห์ และหาข้อสรุป ทั้งนี้เพื่อพิจารณาหาข้อดี ข้อเสีย โดยยึดมั่นว่าสิ่งใดที่ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับประเทศจีน ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเหมาะสมกับประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศไทย

(๓) เรื่องการใช้ปุ๋ย และการผลิตปุ๋ยจากวัสดุที่มีอยู่ในท้องที่ และความจําเป็นในการสั่งปุ๋ยจากต่างประเทศ เพื่อการใช้ให้พอเหมาะพอดีกับสภาพของดิน เป็นต้น การศึกษาของท่านในเรื่องนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีโอกาสที่จะได้เสนอแนะให้แก่ประเทศเรา

(๔) เรื่องการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งท่านก็ได้ให้ความสนใจติดตาม ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร และการเพิ่มจํานวนสัตว์เลี้ยงด้วยวิธีการอันทันสมัย ซึ่งในปัจจุบันถ้าท่านสามารถทราบว่า อาหารสัตว์และกิจการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยได้มีความก้าวหน้าขึ้นไป ในระดับหนึ่งแล้ว ท่านคงจะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความก้าวหน้าทางด้านนี้

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ชีวิตท่านปรีดีฯ ในประเทศจีนนั้น ท่านได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเกษตรกรรมเพราะท่านเข้าใจดีว่า ประเทศไทยเรานั้นมีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน ท่านไม่มีการท้อแท้ ผิดหวัง ในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ผ่านมาเลย ท่านถือเสมอว่าราษฎรจีนและผู้นําจีนเป็นมิตรที่ให้ที่พักพิงแก่ท่าน ในยามที่ท่านต้องมรสุมทางการเมือง ทางใดที่ท่านจะรับใช้ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีนี้ ท่านได้ปฏิบัติอยู่เสมอมา

การมาอยู่กวางโจว ซึ่งไม่มีฤดูหนาวที่รุนแรงเช่นปักกิ่ง ทําให้สุขภาพของท่านอยู่ในเกณฑ์ดี ถึงแม้งานการใช้สมองของท่านจะมีมากท่านก็ได้กําหนดเวลาพักผ่อน และระมัดระวังในเรื่องอาหาร อีกทั้งทางเจ้าของบ้านก็ได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทําการตรวจ บําบัดโรค ให้ท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทําได้

ในช่วงต้นที่ท่านอยู่ในประเทศจีนนั้น มีข่าวโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งปล่อยโดยฝีมือของอเมริกัน และทางการก๊กมินตั๋งว่า ท่านปรีดีฯ ได้ตั้งตนเป็นเจ้าขุนสิน แห่งรัฐไทยอิสระ สิบสองปันนา เตรียมผู้คนเพื่อเข้ามายึดเมืองไทย ข่าวโฆษณาชวนเชื่อนี้ ต่อมาภายหลังก็ไม่มีผู้ใดให้ความเชื่อถือ ยิ่งไปกว่านั้นผมยังกล้าที่จะยืนยันด้วยว่า แม้กระทั่งเขตสิบสองปันนานั้น ท่านปรีดีฯ ยังมิได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเลย ทั้ง ๆ ที่ชนชาติหมู่น้อยไท แห่งสิบสองปันนาเป็นเผ่าพันธุ์เชื้อชาติเดียวกับไทยเรา มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพี่น้องชาวไทย ทางภาคเหนือของประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ยินกล่าวขานกันมากก็คือ เมื่อท่านปรีดีฯ เป็นอาจารย์ ฉะนั้นท่านจึงทําการสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยของจีน ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่เป็นความจริงเลย เพราะทางการจีนในสมัยนั้น ย่อมถือว่ามีชาวจีนที่เหมาะสมในการสอนวิชาทางวิทยาศาสตร์สังคม กฎหมายและปรัชญาอยู่แล้ว ทางจีนย่อมไม่ต้องการให้ท่านเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแน่

ครั้งหนึ่งในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านและครอบครัวได้เดินทางไปเยี่ยมเมืองหนานหนิง เมืองเอกของมณฑลกวางสี ซึ่งทางจีนประกาศให้เป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติจ้วง เพราะมีชาวจ้วงอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก หรือที่บางท่านในบ้านเรา เรียกว่าไทยจ้วง ทางการจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ชาวจ้วงผู้หนึ่งมาให้ความอารักขาแก่ท่าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้นี้ได้พูดกับท่านในภาษาของชาวจ้วงว่า “มึงนั่ง” ซึ่งก็เป็นภาษาไทยในแบบยุคสมัยพ่อขุนรามคําแหง ท่านปรีดีฯ เมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ได้ถือสาอะไรกลับรู้สึกมีความยินดีที่ได้พิสูจน์ว่า ชาวจ้วงนั้นก็มีภาษา วัฒนธรรม อันเดียวกับไทย ซึ่งเราก็ถือว่าชาวจ้วงก็เป็นคนไท เผ่าพันธุ์หนึ่ง จากเมืองหนานหนิง พวกเราได้เดินทางต่อไปยังเมืองคุณหมิง เมืองเอกของมณฑลหยูนหนาน เนื่องด้วยมณฑลหยูนหนาน ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนนั้น ประกอบด้วยชนชาติหมู่น้อยอยู่เป็นจํานวนมากที่สุด จึงมีสถาบันศึกษาของชนชาติหมู่น้อย ซึ่งเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนและพบปะสนทนากับชนชาติหมู่น้อยต่าง ๆ เช่น ไท อีก้อ มูเซอร์ ไป๋ ฯลฯ และเพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบว่าชนชาติหมู่น้อยชาติใดมีความใกล้ชิดกับชนชาติไทมากที่สุด ท่านปรีดีฯ จึงซักถามพวกเขาถึงภาษาง่าย ๆ เช่น คําว่า กิน เดิน นั่ง หรือ การนับ หนึ่งถึงสิบ ถ้าภาษาของชนชาติหมู่น้อยเผ่าใดใกล้เคียงกับภาษาไทย ก็ถือว่าเผ่าพันธุ์นั้นมีความใกล้เคียงกับเผ่าไทมาก เป็นต้น

จากเมืองคุณหมิงก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองต้าหลี่ ห่างจากคุณหมิงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร ซึ่งทําให้ได้มีโอกาสศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องถิ่นกําเนิดของชนชาติไทย ซึ่งแต่เดิมนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทยบางท่าน ได้ทําการสันนิษฐานว่า เมืองต้าหลี่ หรือต้าหลี่ฟูนี้เป็นอาณาจักรของไทยที่ชาวไทยได้ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางแถบมณฑลเสฉวน แล้วถูกทางชนชาติจีนบีบให้ถอยร่นลงสู่ใต้ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าว ต่อมาเป็นที่น่ายินดีว่า ก็ไม่ได้รับการเชื่อถืออีกต่อไป ณ เมืองต้าหลี่ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไป๋ และชนชาติไป๋ก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองนี้มาเป็นเวลาช้านาน ชื่อของกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรต้าหลี่ อาทิเช่น พระเจ้าทีล่อโก๊ะ พระเจ้าโก๊ะล่อฝง นั้นก็เป็นภาษาชาวไป๋ หาได้คล้ายคลึงกับคําในภาษาไทยแต่อย่างใดไม่ ท่านปรีดีฯ ก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสสัมผัสศึกษาค้นคว้าในสัจจธรรมเรื่องนี้ด้วยตนเอง ต่อมาประวัติศาสตร์ในเรื่องถิ่นกําเนิดของชนชาติไทยที่ถูกต้องก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

ทางการจีนได้อํานวยความสะดวกให้ท่านได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีนเกือบทุกภาคยกเว้น ซินเกียง ธิเบต สิบสองปันนา เนื่องจากความยากลําบากในการเดินทางสมัยนั้น ทําให้ท่านได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนเกือบทั่วประเทศได้เข้าเยี่ยมชมสหกรณ์ การจัดระบบคอมมูนของชาวนา โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานผลิตภาพยนตร์ โรงงานผลิตเครื่องจักรกล โรงงานสร้างรถยนต์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านปรีดีฯ ได้ให้ความสนใจศึกษาติดตามถึงข้อดีข้อเสีย เพราะท่านได้นึกเสมอว่าถ้าได้มีโอกาสก็อาจจะนํามาใช้ประยุกต์ให้เข้ากับสภาพที่เหมาะสมของประเทศไทย ท่านไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในลักษณะของการคัดลอกนํามาใช้ทั้งดุ้น โดยไม่คํานึงถึงสภาพเฉพาะของประเทศ

ลักษณะประจําชาติของชาวจีน อย่างหนึ่งนั้นคือการถ่อมตน ท่านปรีดีฯ ได้เล่าว่า เมื่อท่านประธานเหมา เจอตงได้พบกับท่านปรีดีฯ เป็นครั้งแรกนั้น คําแรกที่ประธานเหมาเจอตง กล่าวก็คือ “ท่านรู้สึกยินดีที่ได้พบกับท่านปรีดีฯ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนตัวท่านเอง แต่เดิมก็มีอาชีพเพียงเป็นครูประชาบาลชั้นปฐมเท่านั้น”

การให้การต้อนรับของทางการจีนเป็นสิ่งที่ท่านปรีดีฯ ไม่อาจลืมเลือนในไมตรีจิตมิตรภาพของราษฎรจีน และผู้นําของประเทศ อาทิ ท่านประธานเหมาเจอตง ท่านนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่พวกแนวทางซ้ายจัดของจีน อันได้แก่ นายพล หลินเปียว และพวกแกงค์สี่คน ได้ทําการยุยงปลุกปั่นให้เยาวชนกุมารแดงจีนทั้งหลายทั่วประเทศลุกขึ้นออกทําการที่เรียกว่า ปฏิวัติใหญ่วัฒนธรรม ทําลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า กลั่นแกล้งกล่าวหาบุคคลจำนวนมาก แม้กระทั่งผู้นําว่าเป็นพวกปฏิกิริยา ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๕ เป็นระยะเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นอันเป็นเรื่องกิจการภายในของคนจีน และก็เป็นที่หวั่นวิตกอย่างมากว่า พวกเยาวชนกุมารแดงจีนที่ถูกยั่วยุปลุกปั่นเหล่านี้จะเข้าบุกรุกทำร้ายชาวต่างประเทศที่พํานักอาศัยอยู่ในประเทศจีน ดังเช่นท่านปรีดีฯ ด้วย แต่นับว่าเป็นเคราะห์ดี อย่างยิ่งที่ได้ทราบภายหลังว่า ท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้มีคําสั่งพิเศษและกําชับเจ้าหน้าที่จีนให้ความปกป้องดูแลท่านปรีดีฯ และครอบครัวอย่างดีที่สุด มิให้พวกกุมารแดงจีนมารบกวนต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของท่านปรีดีฯ ท่านจึงอยู่ด้วยความปลอดภัยปราศจากการรบกวนจนกระทั่งเหตุการณ์ได้สงบลง

ตลอดระยะเวลาที่ท่านปรีดีฯ พำนักอยู่ในประเทศจีน ท่านอยู่อย่างมีเกียรติ รักษาเกียรติภูมิ มีคุณธรรม รักษาผลประโยชน์ของประเทศและราษฎรไทย บนพื้นฐานหลักการที่เคารพซึ่งกันและกัน และความถูกต้องตลอดเวลา บางครั้งมีบางคนได้ใช้ความพยายามเรียกร้องให้ท่านปรีดีฯ ตกลงเห็นคล้อยตามความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง โดยอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องเงื่อนไขของทางจีน ให้ท่านปรีดีฯ เห็นด้วยและปฏิบัติตาม ซึ่งท่านปรีดีฯ เห็นว่าจะเป็นการเสียหายและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ ท่านได้ชี้แจงตอบโต้ไม่เห็นด้วยกับความคิดอันผิดพลาดไม่ถูกต้องของพวกเหล่านั้นอย่างเด็ดเดี่ยว และในที่สุดผู้นำจีน คือ ท่านประธานเหมาเจอตง และนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ชี้แจงให้ท่านปรีดีฯ ได้ทราบว่า ความคิดของเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเขาผู้นั้นเอง ซึ่งท่านมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติใหญ่ หรือชาติเล็ก ย่อมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และได้มีการตำหนิโทษพวกที่เสนอความเห็นเหล่านั้นกับท่านด้วย

มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้กู้ชาติกับญี่ปุ่นผู้รุกรานสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งปรากฏว่า มีข้อความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในหนังสือสารานุกรมฉบับภาษาจีน ที่ชื่อว่า “ความรู้ของโลก” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในระยะสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้เป็นผู้นําราษฎรไทยต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น” ซึ่งน้อง ๆ และผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านและแปลภาษาจีนได้ เห็นว่าเป็นข้อความที่ได้มาจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง จึงได้กราบเรียนให้ท่านปรีดีฯ ทราบ ท่านได้เชิญเจ้าหน้าที่ทางจีนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมาให้คําชี้แจงและอธิบายให้เข้าใจถึงบทบาทของขบวนการเสรีไทยที่ได้ทําการ ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกรานประเทศไทยมาด้วยความเสียสละเพื่อกอบกู้เอกราชของประชาชาติไทยจนบรรลุผลสําเร็จอันเป็นที่ประจักษ์แจ้งถึงความจริงนี้แล้ว ถ้าผู้ที่เขาได้ต่อสู้มาด้วยความเสียสละชีวิตเลือดเนื้อมา หรือญาติมิตรได้ทราบถึงข้อความที่ปรากฏในสารานุกรมจีนในเล่มนี้จะรู้สึกอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ท่านปรีดีฯ ก็มิได้ถือว่าฝ่ายผู้นําจีนได้รู้เห็นการกระทําเหล่านี้ หากแต่เห็นว่าเป็นการกระทํา ของคนบางคนที่ทําให้ข้อเท็จจริงผิดไป และจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีโอกาสทราบว่า ข้อความที่คลาดเคลื่อนต่อประวัติศาสตร์ในหนังสือสารานุกรมเล่มนี้ได้มีการแก้ไขให้เป็นที่ถูกต้องหรือยัง ถ้ายังมิได้มีการแก้ไขก็นับว่าเป็นที่น่าเสียใจยิ่ง

สิริรวมเวลา ๒๑ ปี ที่ท่านปรีดีฯ ได้พํานักอาศัยลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นเวลาที่นับว่ายาวนานมาก ท่านปรีดีฯ และครอบครัวของท่านมีความรู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตมิตรภาพของราษฎรจีน และผู้นําจีน เหตุการณ์ที่ผ่านมาถึงแม้จะมีสิ่งที่มากวนใจ หรือความพยายามใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องด้วยทํานองคลองธรรมเกิดขึ้นบ้าง ท่านปรีดีฯ จะถือจุดยืนของความถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยอย่างไม่ยอมโอนอ่อนคล้อยตามอย่างเด็ดขาด

 


จดหมายลายมือของนายศุขปรีดา พนมยงค์ ลงวันที่ 13 มกราคม 1967 ระบุว่าเดินทางมาถึงฝรั่งเศสวันที่ 23 ธันวาคม 1966 โดยใช้ชื่อจีนและใช้หนังสือเดินทางที่ออกให้โดยทางการฮ่องกง
ที่มา: https://hist.human.cmu.ac.th/node/243

 

ด้วยความเข้าใจอันดีจากนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ที่ได้พยายามไต่ถามทุกข์สุขของท่านปรีดีฯ อยู่เสมอตลอดมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหลได้สั่งการให้ทางการจีนออกหนังสือสําคัญที่ใช้สําหรับการเดินทางของชาวต่างประเทศ เพราะหนังสือเดินทางของท่านปรีดีฯ ได้ขาดอายุมานานหลายปีแล้ว ท่านปรีดีฯ จึงได้ออกเดินทางจากประเทศจีนไปยังกรุงปารีส ในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อให้ญาติมิตรจากประเทศไทย สามารถเดินทางมายังฝรั่งเศสเพื่อร่วมฉลองอายุครบรอบปีที่ ๗๐ ของท่าน เพราะขณะนั้นประเทศจีนยังเป็นประเทศที่ปิดอยู่ เป็นการสิ้นสุดการพำนักลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีนของท่าน

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ศุขปรีดา พนมยงค์, ชีวิตของท่านปรีดี พนมยงค์ ในประเทศจีน พ.ศ. 2492-2513 ใน วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2534 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534)