ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ “ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๔๓-๒๕๒๖)” : ตอนที่ ๒

16
พฤษภาคม
2563

ตอน ๒

ปรีดีเขียน ปรีดีเล่า

สังคมไทยยุคสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเขียนอัตชีวประวัติตีพิมพ์เป็นรูปเล่มดูจะเป็นเรื่องพบไม่บ่อยนัก ในชนชั้นสูงมีชิ้นงานที่น่าสนใจเช่น พระประวัติตรัสเล่า (พ.ศ.๒๔๖๗) ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๖๔) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงตีพิมพ์หลังจากผู้ทรงพระนิพนธ์สิ้นพระชนม์ หรือการประพันธ์ชีวิตส่วนตัวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พ.ศ.๒๓๙๒-๒๔๗๗) เมื่อครั้งฉลองอายุครบ ๘๐ ปี ในด้านสามัญชน เราจะพบพระสงฆ์อย่างพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๗๕) ประพันธ์ไว้ในโอกาสฉลองวันคล้ายวันเกิด ๗๐ ปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ และ “คนขวางโลก” อย่างนายนรินทร์ ภาษิต (พ.ศ.๒๔๑๗-๒๔๙๓) ที่เขียนประวัติตนเองไว้ถึง ๓ เล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ การบันทึกเรื่องราวประวัติส่วนตัวมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะหนังสือแจกเป็นของชำร่วยงานศพที่จะพบเห็นลูกหลานนำบันทึกประวัติส่วนตัวผู้วายชนม์มาตีพิมพ์จนเป็นเรื่องปกติ หรือแม้เมื่อบุคคลยังมีชีวิตอยู่ก็มีการเขียนอัตชีวประวัติเพื่อพิมพ์แจกหรือจำหน่ายในวาระสำคัญของตน กล่าวกันเฉพาะในหมู่นักปฏิวัติดั่งกรณีการบอกเล่าชีวิตและการปฏิวัติที่ล้มเหลวของนายแพทย์ขุนทวยหาญพิทักษ์ หรือรู้จักกันดีในนามหมอเหล็ง ศรีจันทร์ (พ.ศ.๒๔๒๕-๒๕๐๒) หัวหน้าผู้ก่อการคณะ ร.ศ.๑๓๐ ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ผลักดันให้เขียน หรือสมาชิกอีกท่าน เช่น เนตร พูนวิวัฒน์ (พ.ศ.๒๔๓๔-๒๕๒๓) ที่เขียนเล่าถึงชีวิตตนเองในหนังสือชื่อ คน ๖๐ ปี เป็นต้น

สำหรับนายปรีดีแล้ว กว่าจะได้ลงมือเขียนอัตชีวประวัติก็ล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยระหว่างพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ ผลงานการตีพิมพ์บทความชิ้นแรกสุดที่ค้นพบนับแต่ปฐมวัยคือ บทบัณฑิตย์เล่ม ๔ ตอน ๘ (สิงหาคม ๒๔๖๘) ครั้งยังเป็นนักศึกษาที่ฝรั่งเศส[1]

เมื่อกลับมารับราชการก่อนอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรีดีได้ประพันธ์หนังสือสอนวิชากฎหมายและรจนาบทความไว้จำนวนไม่น้อย ทั้งยังได้เปิดกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ เพื่อเป็นสื่อในการนำเสนอ “สืบสานความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากฝรั่งเศส และต่อยอดเผยแพร่ความรู้เหล่านี้แก่ผู้สมัครแสวงหาความรู้ในสังคมไทย”[2]

ในยามอภิวัฒน์สำเร็จขณะอายุ ๓๒ นายปรีดีเข้าสู่วิถีอำนาจทางการเมือง ๑๕ ปีระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๕-๒๔๙๐ นอกเหนือจากบทบาทสำคัญในฐานะผู้เขียนประกาศคณะราษฎร จนถึงการจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ๒๗ มิ.ย. ๒๔๗๕ และฉบับถาวร ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕  จนล่วงถึงปลายปีเดียวกันนั้นเอง งานชิ้นสำคัญที่นับว่าถูกผลิตซ้ำมากสุดชิ้นหนึ่งของปรีดี พนมยงค์ ในภายภาคหน้าคือร่าง เค้าโครงการเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง)[3] ที่นำเสนอสู่สภาเมื่อ มี.ค. ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า) จนเป็นที่มาของความขัดแย้งกับระบอบเก่าอย่างรุนแรงถึงขั้นถูกเนรเทศออกจากประเทศต้นปี พ.ศ.๒๔๗๖ กระทั่งสิ้นเคราะห์กลับเข้าสู่อำนาจเดือนกันยายนปีเดียวกัน  เรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้เป็นหนังสือที่ผู้ศึกษาประวัตินายปรีดี “ต้องอ่าน” เพื่อความเข้าใจที่มาที่ไปและฐานความคิดในการอภิวัฒน์สังคมของผู้ร่าง

หลังกบฏบวรเดชหนึ่งปี เมื่อ ๑๙ ต.ค.๒๔๗๗ นายปรีดีได้เขียนคำนำจำนวน ๖ หน้าให้กับหนังสือ ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (พ.ศ.๒๔๔๗-๒๔๘๙)  คำนำนี้ให้มุมของนายปรีดีต่อปฏิวัติฝรั่งเศสได้น่าสนใจมาก ดังกล่าวว่า “...ตัวอย่างอันไม่ดีแห่งการปฏิวัตร์อย่างไม่สมบูรณ์(Revolution imparfaite) เช่นนี้ ไม่ควรนำมาใช้สำหรับประเทศสยาม เหตุฉะนั้นผู้ที่ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงมุ่งไปในทางที่จะทำให้เกิดความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรตามแนวหลัก ๖ ประการมากว่าที่จะกังวลในเรื่องแบบ ในเรื่องบุคคล...”[4] และในปีเดียวกันนี้ ปรากฏลายมือนายปรีดีในหนังสือ  เตือนใจเพื่อน  กับประโยคบาลีแปลไทยที่ถูกหยิบยกนำมาใช้ประหนึ่งอมตะวาจาเคียงคู่ตัวท่านไว้ว่า “อโถ สุจิณฺณสฺส ผลํ น นสฺสติ ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูนย์หาย”[5]

ครั้นเมื่อคณะราษฎรสามารถสถาปนาอำนาจได้มีเสถียรภาพพอควร กระนั้นช่วงต้นทศวรรษ พ.ศ.๒๔๘๐ บริบทของสังคมโลกที่สงครามในฟากยุโรปเริ่มรุนแรงรวมทั้งปัญหาชายแดนของไทยในประเด็นสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสมีการปะทะและปลุกระดมกระแสรักชาติจนมีส่วนในการผลักดันให้นายปรีดีแสดงทัศนะแนวสันติภาพผ่านการประพันธ์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง The King Of The White Elephant[6] (พระเจ้าช้างเผือก) พึงเน้นย้ำว่านวนิยายเรื่องนี้นับเป็นแนวการประพันธ์ประเภทนี้เพียงชิ้นเดียวในชีวิตของนายปรีดี ทั้งยังรับบทบาทผู้อำนวยการสร้างเป็นภาพยนตร์พร้อมนำออกฉายเมื่อวันที่ ๔ เม.ย.๒๔๘๔ ก่อนการอุบัติของสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อปลายปีเดียวกัน ณ ๘ ธ.ค.๒๔๘๔ กองทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและไม่ทันข้ามปีนายปรีดีก็ถูกโยกขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อนรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการเมื่อ ๒๕ ม.ค.๒๔๘๕ ระหว่างสงคราม นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ.๒๔๔๐-๒๕๐๗)ได้จัดตั้ง “วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย” เพื่อการ “ปติวัติภาสา พ.ส.๒๔๘๕-2487” เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดผลงานเล็กๆของนายปรีดีชิ้นหนึ่งเรียกว่า สักวากลอนสด ในงานสังสรรค์วันหนึ่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณย์ (พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๐๔)ได้ทรงพระนิพนธ์สักวาท้าทายความเป็นปฏิภาณกวีของผู้สำเร็จราชการฯ ว่า

“สักวาฉันขอเชิญผู้สำเร็จ ทั้งสองเสด็จรับสั่งอย่ายั้งเฉย
ประทานเกียรติแก่กวีอภิเปรย ท่านปรีดีเล่าก็เคยชำนาญกลอน
ประทานเกียรติให้แก่สมาคม เพื่อผสมเก็บเข้าเอาไว้สอน
ขออย่าทรงปฏิเสธคำอ้อนวอน โปรดอุปกรณ์การประพันธ์ช่วยฉันเอยฯ” พระนางเธอลักษมีลาวัณย์

ท่านผู้สำเร็จราชการฯ ตอบว่า

“สักวาถูกท้าจากฝ่ายหญิง ครั้งขืนนิ่งก็จะว่าสู้ไม่ได้
แต่ถ้าขืนเอ่ยตอบไม่ชอบใจ ขออภัยอย่าพิโรธโกรธรังแก
อันการกวีชนิดที่ได้เขียนแต่ง มีมากแห่งที่เป็นชายใช้แน่แน่
แต่ฝ่ายหญิงชนิดยิ่งกวีแท้ ส่งเสียงแหวนี่แหละท่านฉันแพ้เอยฯ”[7]

แม้รัฐบาลจะร่วมวงไพบูลย์กับประเทศญี่ปุ่นระหว่างสงคราม แต่นายปรีดีได้เริ่มปฏิบัติการลับ “เสรีไทย” ร่วมมือใต้ดินกับสัมพันธมิตรจนเมื่อสิ้นสุดสงครามสามารถนำประเทศพ้นจากฝ่ายปราชัยและประกาศสันติภาพเมื่อ ๑๖ ส.ค.๒๔๘๘ หลังสงครามยุตินายปรีดีได้รับความนิยมจากมวลชนอย่างสูง และสามารถบรรลุเป้าหมายในการร่างรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าดีที่สุดในด้านนิติบัญญัติขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ๒๔๘๙  อย่างไรก็ตามหนึ่งเดือนหลังจากนั้นเมื่อเกิดกรณีสวรรคต เหตุการณ์ต่างๆ ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางที่เลวร้ายต่อรัฐบาลพลเรือนสายนายปรีดี จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจเมื่อ ๘ พ.ย.๒๔๙๐ จากการรัฐประหาร ตัวของปรีดีเองก็มิได้บันทึกเรื่องราวส่วนตัวหรือแต่งหนังสือใดๆเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ภายหลังปลายปี พ.ศ.๒๔๙๐ ปรีดีออกจากประเทศไปยังสิงคโปร์และต่อไปยังประเทศจีนที่ยังไม่ถูกปกครองโดยคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ท่านได้พยายามกลับมาทวงคืนระบอบประชาธิปไตยในอีกเพียงปีเศษต่อมาโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเจียงไคเช็ค แต่ก็ล้มเหลวจนถูกเรียกขานว่า “กบฏวังหลวง ๒๖ ก.พ.๒๔๙๒” ทำให้ต้องลี้ภัยเป็นการถาวรในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อท่านไปปรากฏตัวในวันประกาศชัยชนะของจีนคอมมิวนิสต์นำโดย “ประธานเหมา” ในวันที่ ๑ ต.ค.๒๔๙๒ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ยามนั้นท่านมีวัย ๔๙ ปี หรือหากเราจะจดจำปีเป็นคริสตศักราชก็จะง่ายขึ้นว่า ปรีดี เกิดในปี ค.ศ.๑๙๐๐ และเริ่มลี้ภัยถาวรโดยมิได้กลับประเทศไทยอีกเลยเมื่อวันชาติจีน ค.ศ.๑๙๔๙!

นับแต่ลี้ภัยในประเทศจีนตลอดระยะเวลา ๒๑ ปี ปรีดีมีประพันธ์งานที่รับรู้ในวงกว้างชื่อว่า ความเป็นอนิจจัง ของสังคม โดยส่งต้นฉบับจากนครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของแม่ยายท่าน คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฐ์ธรรมธาดา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ งานขึ้นชื่อชิ้นนี้ได้รับการกล่าวขานจนต้องพิมพ์ซ้ำถึง ๓ ครั้งในระยะแรก พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๑  นายปาล พนมยงค์ (พ.ศ.๒๔๗๔-๒๕๒๔) บุตรชายของท่านได้กล่าวว่างานชิ้นนี้ “ได้ย่อมาจากข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเกี่ยวกับปรัชญา ชื่อ มนุษยสังคมปรัชญาเบื้องต้น ซึ่งบิดาของข้าพเจ้าได้ค้นคว้าเรียบเรียงไว้”[8] ในเวลาต่อมานายปรีดีได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์งานศพของบุตรชายคนโตผู้นี้พร้อมเขียนคำปรารภไว้ว่า “ข้าพเจ้าเริ่มเขียนไว้ตั้งแต่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน...ปาลได้แสดงความปรารถนาที่จะให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงสังคมปรัชญาให้สมบูรณ์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานเพราะข้าพเจ้าชราแล้ว...”[9] ช่วงนี้ยังมีจดหมายของนายปรีดีที่เสนอความคิดเห็นผ่านสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรื่อง แผนขุดคอคอดกระ ลงวันที่ ก.พ.๒๕๐๑[10] จากนั้นทิ้งระยะเวลายาวนานเกือบ ๑๐ ปี นายปรีดีจึงได้พิมพ์หนังสือจากอีกหนึ่งบทจาก มนุษยสังคมปรัชญาเบื้องต้น เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐ ชื่อว่า การถ่ายทอดศัพท์ต่างประเทศมาเป็นศัพท์ไทยสยาม

เมื่อนายปรีดีย้ายจากจีนในห้วงความวุ่นวายของช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๙) ข้ามมายังประเทศเสรีนิยมอย่างฝรั่งเศสเมื่อ ๕ พ.ค.๒๕๑๓ ก่อนงานฉลองวันเกิด ๗๐ ปีไม่ถึงสัปดาห์ ข่าวคราวของรัฐบุรุษอาวุโสจึงเริ่มมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมากขึ้น เพียงปีแรกบุคคลสำคัญที่บินไปพบท่านคือลูกศิษย์คนดัง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ (พ.ศ.๒๔๕๙-๒๕๔๒) หลังจากนั้นยังมีบุคคลสำคัญอีกมากเข้าพบนายปรีดี อาทิ ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งเจ้านาย เช่นพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล[11],พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ฯลฯ เผด็จการผู้ทรงอำนาจยามนั้นอย่างประภาส จารุเสถียร ถึงกับเคยเอ่ยว่า “เวลานี้ใครๆ ไปปารีสแล้ว ก็ดูเหมือนจะถือเป็นแฟชั่นที่จะต้องไปพบนายปรีดี”[12] ระยะนี้สอดคล้องกับกระแสตื่นตัวทางการเมืองของสังคมไทย โดยเฉพาะนักศึกษาที่พ้นช่วง “สายลมแสงแดด” เข้าสู่ “ฉันจึงมาหาความหมาย” จนพัฒนาไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ช่วง ๓ ปีนี้ เรื่องราวของคณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์ได้ถูกรื้อฟื้นนำมาเล่ากล่าวหลังจากซบเซาไปนานกว่าทศวรรษ[13]ในระหว่างการเถลิงอำนาจของเผด็จการสฤษดิ์และเครือข่ายอนุรักษ์นิยม กล่าวได้ว่าระยะ ๓ ปีก่อน ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖ ที่ปรีดีย้ายข้ามมาประเทศเสรีนิยมอย่างฝรั่งเศส จนถึง ๓ ปีหลังจนถึงเหตุการณ์เศร้าสลด ๖ ต.ค.๒๕๑๙ เป็นระยะเวลา ๖ ปีที่ปรากฏการตีพิมพ์ข้อคิดเห็นและเรื่องราวของนายปรีดีมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับจากลี้ภัยการเมือง บทความของปรีดีเองช่วงนี้ที่สำคัญ เช่น ปรีดี กับ ม.ธ.ก.(๒๕๑๔)[14], คำปรารภของปรีดี ใน หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (๒๕๑๕), วารสาร อ.ม.ธ. ๑๐ ธ.ค.๒๕๑๖[15], บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร (๒๕๑๕)[16] รวมทั้งคำไว้อาลัยสหายร่วมตายอย่างหลวงสังวรยุทธกิจ (สังวรณ์ สุวรรณชีพ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๕๑๕)  นายทหารเรือคนสำคัญที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บทรำลึกนี้ถือว่าสำคัญในมุมของนักประวัติศาสตร์มาก นายปรีดีได้เล่าถึงเรื่องแนวคิดก่อการและแผนการปฏิวัติหลากหลายทางเลือกที่มิเคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน[17] ในที่นี้รวมทั้ง คำนิยมของตัวนายปรีดีเอง ในหนังสือ พุทธปรัชญาประยุกต์[18] ของ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ที่เนื้อหานอกจากแสดงทัศนะเล็กๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ยังผนวกเรื่องราวช่วงเรืองอำนาจของคณะราษฎรที่ถูก “มือมืด” คอยเสี้ยมให้แตกแยกกันหรือแม้แต่เรื่องกลอุบายการทำลายคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง น่าสังเกตว่าระยะเดียวกันนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายท่านได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวครั้งเบื้องแรกประชาธิปตัย ๒๔๗๕ โดยเฉพาะประยูร ภมรมนตรี (พ.ศ.๒๔๔๑-๒๕๒๕) สหายเก่าผู้จับมือริเริ่มกับนายปรีดีครั้งทั้งคู่ยังเรียนอยู่ปารีสเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ ระหว่างนี้นายปรีดีได้เขียนอัตชีวประวัติเล่มสำคัญในภาษาฝรั่งเศสชื่อว่า Ma vie mouvementee et mes 21 ans d ‘ éxil en Chine Populaire ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ และต่อมาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษบางส่วน และได้รับการแปลเป็นภาษาไทย (ไม่สมบูรณ์ทั้งเล่ม) หลังอสัญกรรมของนายปรีดีเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ให้ชื่อว่า ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ ๒๑ ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน[19] หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อ ๖ ต.ค.๒๕๑๙ สังคมไทยก็ย้อนเข้าสู่ยุคจำกัดเสรีภาพอีกครั้งโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ในด้านของท่านผู้อาวุโสก็ยังคงมีศิษยานุศิษย์และผู้นิยมศรัทธาเข้าเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอรวมทั้งปรากฏบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจหลายชิ้นในช่วงปัจฉิมวัย กระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ก่อนการอสัญกรรมเพียง ๑ ปี เป็นเรื่องน่ายินดีว่านายปรีดีได้เขียนอัตชีวประวัติเล่มเล็กๆ ชื่อว่า ชีวประวัติย่อ ของ นายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕)[20] จากเดิมเคยดำริครั้งแต่โอกาสแต่งงานครบรอบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย.๒๕๒๑ ว่าจะทยอยพิมพ์อัตชีวประวัติขนาดยาวเป็นตอน ๆ โดยคิดชื่อหนังสือว่า ชีวิตและการงานปรีดี-พูนศุข แต่ก็มีเหตุแทรกให้เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนมิได้จัดพิมพ์เผยแพร่แต่อย่างใด[21] แน่นอนว่ายังคงมีความเร้นลับของประวัติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมากที่ได้ล่วงลับไปพร้อมกับพยานบุคคลปากสำคัญท่านนี้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

 


[1] ปรีดี พนมยงค์, การเรียนกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อ เรียบเรียงตามกฎประธานาธิบดีและกฎเสนาบดี อ้างใน  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์: ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสรับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ๖-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,๑๒๓-๑๓๓.

[2] ดู กษิดิศ อนันทนาธร, ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ “นิติสาส์น” สร้างแสงสว่างทางปัญญา, จุดเชื่อมต่อ https://thepeople.co/pridi-banomyong-and-his-printing-house/ (เข้าถึงวันที่ ๑๐ พ.ค.๒๕๖๓)

[3] ณัฐพล ใจจริง, วิวาทะเค้าโครงการเศรษฐกิจกับบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยและการเมืองของการผลิตซ้ำ, ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ, (ฟ้าเดียวกัน  ๒๕๕๖), น.๒๓๗-๒๘๖.

[4] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๗๗, (โรงพิมพ์เจตนาผล),คำนำ (๖).

[5]  เตือนใจเพื่อน ของ แจกในงานพระกฐินพระราชทาน แด่ คณะรัฐมนตรี ในการพระกฐินพระราชทาน ณ วัดปทุมคงคา พระพุทธศักราช ๒๔๗๗,(โรงพิมพ์ศรีกรุง).

[6] Pridi Banomyong, The King Of The White Elephant, First Printing 10-4-84, Printed at The University of Moral & Political Sciences Printing Press.

[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์: ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสรับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ๖-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,น.๙-๑๐.

[8] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ ๔ มิ.ย.๒๕๑๓, (โรงพิมพ์นีติเวชช์).

[9] ปรีดี พนมยงค์ ,อนุสรณ์นายปาล พนมยงค์ คำไว้อาลัย กับ ประวัติ และ สังคมปรัชญาเบื้องต้น พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕, (อมรินทร์การพิมพ์),คำปรารภ น.๑๐-๑๑.

[10] ปรีดี พนมยงค์.แผนขุดคอคอดกระ (ก.พ.๒๕๐๑),ชีวิต และ งาน ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล, พิมพ์ครั้งที่ ๒ ๒๕๑๔,(ประจักษ์การพิมพ์),น.๔๓๑-๔๕๕.

[11] ดูคำสัมภาษณ์พระองค์เจ้าภาณุฯในสยามไทม์ ในหนังสือ ศิษย์อาจารย์ (สำนักพิมพ์สันติธรรม),น.๒๔-๒๗ พิมพ์โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ไม่ระบุปีพิมพ์แต่เข้าใจว่าราวปี พ.ศ.๒๕๑๔

[12]สุพจน์ ด่านตระกูล, คุยกับท่านปรีดี ฯ (๑๐),(ประจักษ์การพิมพ์ ๒๕๑๖),น.๒.

[13] ดู สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับ “ประชาธิปไตยตายเสียแล้ว?”  ฉบับที่ ๖ ปีที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นเล่มที่ลงบทความเรื่องรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ทั้งเล่ม.

[14] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส รับอัฐิธาตุ ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ๖-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙,น.๔๓.

[15] นายปรีดี พนมยงค์ รวมปาฐกถา  บทความ และข้อสังเกต, วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ ๑๐ ธันวาคม,(เจริญวิทย์การพิมพ์ ๒๕๑๖).

[16] เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ.๒๔๗๕-๒๕๐๐, พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๑๖,(สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย), น.๓๐-๔๗.

[17] ปรีดี พนมยงค์ ระลึกถึงคุณหลวงสังวรยุทธกิจ ( สังวร สุวรรณชีพ ) ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดี ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๖, น.(๗).

[18] คำนิยมของ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, พุทธปรัชญาประยุกต์ โดย ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๑๗,(ประจักษ์การพิมพ์),น.(๓)-(๙).

[19] ปรีดี พนมยงค์ เขียน, จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ แปล.ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน,พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๒๙, (สำนักพิมพ์เทียนวรรณ).

[20] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของ นายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕),พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม ๒๕๒๖, (เคล็ดไทย).

[21] บรรณานุกรมผลงานของนายปรีดี ๑๓๕ รายการ ดู http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-bibliography/