ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

แด่ พล.ต.ต. พัฒน์ นีลวัฒนานนท์

30
พฤษภาคม
2563

พล.ต.ต. พัฒน์ นีลวัฒนานนท์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(5 ส.ค. 89 - 9 พ.ย. 90, 26 ก.พ. 95 - 25 ก.พ. 00)
ที่มา: สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502

 

ข้าพเจ้ารู้จักนายพลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ เมื่อครั้งยังเป็นนายร้อยตำรวจตรี เริ่มสมัครเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สอนหลายวิชา คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท, กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และกฎหมายปกครอง

นายร้อยตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ได้เคยมาหาข้าพเจ้าเพื่อถามปัญหากฎหมายต่างๆ ข้าพเจ้าได้เปิดการอบรมวิชากฎหมายแก่นักเรียนกฎหมายทั่วไปในตอนค่ำที่บ้านป้อมเพชร ถนนสีลม จังหวัดพระนคร โดยไม่คิดมูลค่าอย่างใดตอบแทน นายร้อยตำรวจตรี พัฒน์ ก็ได้มารับการอบรมด้วยเป็นบางครั้งบางคราว

คุณพัฒน์มีตำแหน่งและยศในกรมตำรวจสูงขึ้นตามลำดับ จนเป็นนายพันตำรวจโท แล้วได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ. 2490 ต่อมาได้เกิดกรณีสวรรคตพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ฝ่ายปรปักษ์ในทางการเมืองกับข้าพเจ้ารวมทั้งพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นได้ถือโอกาสใส่ความข้าพเจ้ามากมายหลายประการ และภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สมัครใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคฝ่ายค้านในสมัยนั้นได้ขอเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งรัฐบาลเต็มใจยอมรับการเปิดอภิปรายเต็มที่พร้อมทั้งให้มีการถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงเพื่อราษฎรไทยทั่วประเทศได้ยินได้ฟัง ในหัวข้ออภิปรายนั้นมีกรณีสวรรคตรวมอยู่ด้วย คุณพัฒน์ได้เป็นผู้หนึ่งในการอภิปรายที่ให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้า และผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ ซึ่งแสดงให้ข้าพเจ้าเห็นว่า คุณพัฒน์เป็นผู้แทนราษฎรที่ดีคนหนึ่งซึ่งคุ้มครองป้องกันความเป็นธรรมให้แก่ราษฎร

คุณพัฒน์ได้รับใช้ราษฎรในฐานผู้แทนราษฎรอยู่หลายปี แล้วก็ได้กลับเข้ามารับราชการในกรมตำรวจอีก จนได้เลื่อนตำแหน่งและเลื่อนยศสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงเป็นนายพลตำรวจตรี ในระหว่างนั้นคุณพัฒน์ได้หาทางฝากหนังสือเกี่ยวกับคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปให้ข้าพเจ้าหลายครั้ง

ต่อมาเมื่อประมาณ 1 ปีเศษ ข้าพเจ้าได้ปรารภมาทางนายปาล พนมยงค์ บุตรชายข้าพเจ้าซึ่งสมรสกับงามชื่น บุตรีคุณพัฒน์ ว่าข้าพเจ้าต้องการเอกสารตีพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 เพื่อนำมาประกอบในการเขียนชีวประวัติของข้าพเจ้า เมื่อคุณพัฒน์ทราบความประสงค์ของข้าพเจ้าก็ได้ส่งเอกสารตีพิมพ์หลายเรื่องเกี่ยวกับข้าพเจ้าที่คุณพัฒน์ได้เก็บสะสมไว้ บางเรื่องได้ทำเป็นปกแข็งเพื่อเก็บไว้เป็นอย่างดี ในบรรดาหนังสือและเอกสารต่างๆ ที่คุณพัฒน์ส่งมามอบให้บุตรชายข้าพเจ้านั้น มีหลายเรื่องที่คุณพัฒน์ได้เขียนหมายเหตุตามตามเหตุผลของคุณพัฒน์ซึ่งเป็นผู้ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

คุณพัฒน์ได้เขียนหมายเหตุไว้หลายปีก่อนที่นายปาล บุตรชายข้าพเจ้า เป็นลูกเขยคุณพัฒน์ อาทิ ในคำอธิบายกฎหมายบางเรื่องที่ได้ลงพิมพ์ในหนังสือบทบัณฑิตและเจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพหลวงราชกิจเกนิกร รวบรวมพิมพ์ขึ้น เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าให้หัวเรื่องว่า “เกร็ดประมวลกฎหมาย เรื่องพระเจ้านโปเลออง (นโปเลียน) กับประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ” ในตอนท้ายบทความเรื่องนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงพระเจ้านโปเลียนเมื่อก่อนสวรรคต ณ เกาะเซนตเฮเลนา ว่าพระองค์ได้รับสั่งไว้ว่า

“ชัยชำนะซึ่งข้าพเจ้าได้มีการรบ 40 ครั้งนั้น ไม่ใช่เกียรติศักดิ์อันแท้จริงของข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าการรบที่วอเตอร์ลูครั้งเดียวได้ลบล้างชัยชำนะทั้งหลายของข้าพเจ้าทั้งหมด แต่สิ่งซึ่งจะคงอยู่ชั่วดินฟ้าไม่มีอะไรมาลบล้างได้นั้นก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งของข้าพเจ้า”

คุณพัฒน์ได้เขียนหมายเหตุด้วยลายมือตนเองต่อท้ายวาทะนั้นว่า “ดุจนัยเดียวกับประมวลรัษฎากรของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ แล้วเริ่มให้มีประมวลรัษฎากรขึ้นแทน ซึ่งแม้จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสักกี่ครั้ง แต่ก็ยากที่จะรื้อรากถอนโคนโดยเด็ดขาดลงทั้งหมดได้ อาหารที่ช่วยให้ชาติมีชีวิตรอดอยู่ได้นั้น คงจะไม่มีใครโต้แย้งได้ว่าส่วนใหญ่นั้นมิใช่ประมวลรัษฎากร อื่นๆ มีอะไรอีก เวลายังไม่ล่วงเลยมานานเกินไป ผู้มีใจเป็นธรรมคงจะพอนึกย้อนหลังได้ไม่สู้ยาก”

คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของข้าพเจ้าซึ่งทายาทของคุณพัฒน์ได้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นบรรณาการแก่ท่านที่ได้มาร่วมบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานที่คุณพัฒน์ได้สิ้นชีพครบ 100 วันนั้น ก็เป็นการที่ทายาทได้ปฏิบัติตามคำสั่งที่คุณพัฒน์ได้เขียนด้วยลายมือตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งมีผลเป็นส่วนหนึ่งแห่งพินัยกรรม์ ดังปรากฏในภาพถ่ายลายมือคำสั่งนั้นของคุณพัฒน์ในหน้าปกหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีความว่า

โดยที่ได้ใช้ คำอธิบายกฎหมายปกครอง นี้เป็นหลักในการศึกษา และท่านเจ้าของ คำอธิบายกฎหมายปกครอง คนนี้เองด้วยเป็นผู้สอนให้มีความรู้ในเรื่องกฎหมายปกครองเป็นคนแรก จนสามารถเป็นผู้บรรยายกฎหมายปกครองในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อมาได้ ดังนั้นจึงอยากให้เอาคำอธิบายนี้ พร้อมด้วยวิเคราะห์ศัพท์ว่าด้วยกฎหมายปกครองของ ดร. แอล ดูปลาตร์ ในหนังสือ นิติสาส์น ปีที่ 1 เล่ม 1 หน้า 42 ถึง 49 ซึ่งได้พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดมาต่อท้ายไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้วนั้น (มี 6 หน้า) มาลงต่อท้ายไว้ในตอนท้ายของเล่มด้วย ถ้าไม่ได้พิมพ์ในโอกาสที่มีชีวิตอยู่ ก็ขอผู้อยู่ข้างหลังพิมพ์ในงานศพให้ด้วย 

พ. นีลวัฒนานนท์ 

เนื่องจาก คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของข้าพเจ้าเป็นคำสอนของข้าพเจ้าในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นจึงมีข้อความที่พ้นสมัยแล้วหลายประการที่ไม่เหมาะสมแก่สภาพสังคมภายหลัง พ.ศ. 2475 แต่ก็อาจมีหลักการสำคัญที่เป็นแนวประชาธิปไตยที่คุณพัฒน์เลื่อมใส จึงได้สั่งทายาทไว้ให้พิมพ์ครบถ้วนกระบวนความเดิม ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาด้วยการพิเคราะห์ว่าข้อความใดยังคงใช้ได้หรือไม่ได้ตามแนวทางประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของข้าพเจ้านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คือใน พ.ศ. 2474 เป็นปีที่ใกล้กับวาระที่จะทำการอภิวัฒน์ดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้สอนกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นวิชาใหม่เพิ่งใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสนั้นทำการสอนเพื่อปลุกจิตสำนึกนักศึกษาในสมัยนั้นให้สนใจในแนวทางประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของสังคม ส่วนกฎหมายเป็นแต่โครงร่างเบื้องบนของสังคมเท่านั้น

คำสอนของข้าพเจ้าได้ทราบไปถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ข้าพเจ้าได้ทำการปลุกปลั่นนักเรียนกฎหมาย พระองค์จึงได้มีรับสั่งถามท่านเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นถึงการสอนของข้าพเจ้า ท่านเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้มาสอบถามข้าพเจ้า และตักเตือนให้ระมัดระวัง 

ครั้นต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานอุทยานสโมสรเนื่องในงานเฉลิมพระชนม์พรรษาที่สนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน ข้าพเจ้าได้ยืนเพื่อเฝ้าเสด็จอยู่ในแถวของกระทรวงยุติธรรมตามตำแหน่งยศพลเรือน อำมาตย์ตรี (เทียบยศทหารพันตรี) จึงเป็นตำแหน่งเฝ้าเกือบปลายแถว เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชดำเนินมาถึงแถวกระทรวงยุติธรรม ทรงทักทายกรรมการศาลฎีกาผู้หนึ่งแล้ว ก็ได้เสด็จผ่านข้าราชการผู้อื่นโดยไม่ทรงทักทาย แล้วหยุดประทับตรงปลายแถว ทรงทักทายเลขานุการกรมร่างกฎหมาย

แล้วก็ได้ทรงทักทายข้าพเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงรู้จักตั้งแต่ครั้งพระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส ส่วนข้าพเจ้านั้นเป็นนักเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฝรั่งเศส โดยทรงเรียกชื่อเดิมข้าพเจ้าว่า “ปรีดีทำงานที่ไหน” ข้าพเจ้ากราบทูลตำแหน่งประจำของข้าพเจ้าว่า “ทำงานที่กรมร่างกฎหมาย พระพุทธเจ้าค่ะ” โดยมิได้กราบทูลถึงตำแหน่งพิเศษที่เป็นผู้สอน ณ โรงเรียนกฎหมาย พระองค์จึงรับสั่งว่า “สอนด้วยไม่ใช่หรือ” ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงทราบเรื่องสอนกฎหมายปกครองของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าค่ะ” ต่อมาอีก 6 เดือน คือในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็ได้มีการอภิวัฒน์เปลี่ยนการปกครองแผ่นดินดังกล่าวแล้ว

ข้าพเจ้ามิเพียงแต่ยินดีที่หลักกฎหมายปกครองที่ข้าพเจ้าได้สอนไว้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2474 ที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจวิชานี้ตามความปรารถนาของคุณพัฒน์เท่านั้น หากมีความยินดียิ่งที่แสดงว่าผู้ที่ทางกายเช่น คุณพัฒน์ ซึ่งแม้อยู่ห่างไกลข้าพเจ้า มิได้อยู่ร่มไม้ชายคาเดียวกับข้าพเจ้า มิได้ร่วมหรือใกล้ชิดโดยตรงกับข้าพเจ้า แต่คุณพัฒน์ใกล้ชิดข้าพเจ้า โดยซื่อสัตย์ตาม คำอธิบายกฎหมายปกครอง และวิชาที่ข้าพเจ้าเคยสอน จึงถือได้ว่าคุณพัฒน์เป็นกัลยาณมิตรคนหนึ่งที่ได้อยู่ใกล้ชิดข้าพเจ้า

กรณียกิจของคุณพัฒน์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าได้พรรณนามาแล้ว คือคุณพัฒน์ได้เริ่มตั้งแต่เยาว์วัยในการบำเพ็ญตนเป็นพลเมืองดีของชาติไทย และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีพร้อมด้วยมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานให้คุณพัฒน์เสียสละส่วนตัวเพื่อชาติและราษฎร เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นศิษย์ที่ดีของบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย เป็นมิตรที่ดี

แม้คุณพัฒน์สิ้นชีพแล้ว แต่สรีระของคุณพัฒน์ก็ยังเป็นคุณูปการแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ภายหลัง คือคุณพัฒน์ได้ทำพินัยกรรม์อุทิศนัยน์ตาให้แก่ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย และอุทิศศพให้มหาวิทยาลัยแพทย์เพื่อการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ราษฎรทั่วไปด้วย

ขอผลานิสงส์แห่งกรณียกิจ และบุญกุศลอันประเสริฐทั้งหลายที่คุณพัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ได้บำเพ็ญนั้น จงดลบันดาลให้คุณพัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพทุกประการเทอญ.



-----

ปรับปรุงจากที่นายปรีดีเขียน “คำปรารภ” ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เพื่อพิมพ์ใน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำอธิบายกฎหมายปกครอง (พิมพ์ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์, 2513), หน้า 1-6.