ห้วงยามที่ นายปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศนั้น พวกลูกศิษย์ใกล้ชิดและบุคคลผู้ยังระลึกถึงอย่างแน่นแฟ้น ได้พยายามติดต่อสื่อสารกับเขาผ่านการเขียนจดหมายอยู่บ่อยหน โดยเฉพาะช่วงที่นายปรีดีย้ายถิ่นพำนักของตนไปสู่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513) แล้ว ก็ย่อมเอื้ออำนวยให้การติดต่อมีความสะดวกและราบรื่นยิ่งกว่าครั้งอยู่ในเมืองจีน
พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลูกศิษย์ของนายปรีดีตั้งแต่สมัยสอนหนังสือที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม (พัฒน์เป็นหนึ่งในกลุ่มลูกศิษย์ที่ติดตามมา “กวดวิชา” ต่อยอดเพิ่มเติมที่บ้านป้อมเพชร์จนเลิกเรียนตอนมืดค่ำ)
ในบั้นปลายชีวิต พลตำรวจตรี พัฒน์ เลื่อมใสและยึดมั่นในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งนัก มุ่งเอาชีวิตทุ่มเทเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา หลีกลี้เรื่องการเมือง โดยเฉพาะการศึกษาพระอภิธรรมและแนวทางวิปัสสนา อดีตท่าน ส.ส. มักไปปฏิบัติธรรม ณ สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
ครั้นทราบข่าวว่า นายปรีดี พำนักอยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 พอวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พลตำรวจตรี พัฒน์ จึงเขียนจดหมายจากสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อยส่งทางไกลไปยัง นายปรีดี มีเนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าวิถีชีวิตของตนอันเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ความว่า
“เช่นวันเสาร์วันอาทิตย์ตามปกติก็ไปศึกษาพระอภิธรรมที่วัดพระเชตุพนและที่วัดมหาธาตุ ในตอนกลางคืนก็พยายามหาโอกาศทำจิตใจให้เข้าแนวของวิปัสสนา เพื่อเป็นช่องทางให้จิตใจคลายจากความโลภโกรธหลงตามโอกาศ โดยเหตุนี้ จึงได้หลีกเร้นจากความวุ่นวายไปจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ในบริเวณสำนักปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นผู้อุปการะ และมีอาจารย์ทั้งฝ่ายบรรพชิต เช่น อาจารย์สุนทร และฝ่ายคฤหัสถ์ เช่น อาจารย์บุญมี เมธางกูร ซึ่งเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมอยู่ด้วย เป็นผู้ไปควบคุมและอบรมในทางปฏิบัติ
เวลานี้ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัตสนใจเรื่องพระอภิธรรมจนถึงกับยอมสละสถานที่ในวัดพระเชตุพนและสละเงินจำนวนหลายแสนบาท เพื่อสร้างโรงเรียนพระอภิธรรม อาคารของโรงเรียนปลูกเป็นตึก ๓ ชั้น งบประมาณในการก่อสร้าง ๑ ล้านเศษ แบบแปลนได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณดำรงค์ ชลวิจารณ์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้จัดทำให้ และได้ทำให้เรียบร้อยแล้ว กำลังจะลงมือก่อสร้างในเร็วๆ นี้แล้ว…”
บุคคลหนึ่งแห่งสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย กระทุ่มแบน ซึ่ง พลตำรวจตรี พัฒน์ เอ่ยอ้างถึงในฐานะผู้คัดเลือกหนังสือแนวพระพุทธศาสนาฝากตนจัดส่งมาให้ นายปรีดี นั่นคือ บุญมี เมธางกูร ดังเสียงเล่าต่อไปนี้
“พูดถึงอาจารย์บุญมี เมธางกูร เคยปรารภถึงคุณงามความดีของท่านอาจารย์อยู่บ่อยครั้ง และว่าเคยรู้จักท่านอาจารย์ แม้บิดาของอาจารย์บุญมี ก็เคยรู้จักท่านอาจารย์มาด้วยเหมือนกัน หนังสือที่กระผมส่งมา บางเล่มอาจารย์บุญมี เป็นผู้เลือกให้ และเป็นผู้ยินดีแสดงออกมอบให้มาเอง เวลานี้อาจารย์บุญมี นอกจากเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมและอบรมผู้ปฏิบัติแล้ว ยังเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางอยู่ด้วย เคยกระซิบพูดกับกระผมว่า ทำอย่างไรให้มีคนดีๆ อย่างท่านอาจารย์มาช่วยให้บ้านเมืองและพระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้นสืบไปอีกบ้าง”
บุญมี เมธางกูร เป็นชาวพระนครศรีอยุธยาเฉกเช่นเดียวกับ นายปรีดี ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2451 ปีวอก (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 15 มีนาคม พ.ศ. 2452) บุตรชายคนแรกสุดของนายเกาและนางแก้ว สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิชาครูประถมศึกษา (ป.ป.) พร้อมเรียนวิชาวาดเขียนและช่างปั้นเพิ่มเติมกับ คอร์ราโด เฟโรจี ( Professor Corrado Feroci) หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ต้นทศวรรษ 2470 อายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ลาสิกขาแล้วเข้ารับราชการครูที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ต่อมาใน พ.ศ. 2482 ย้ายเข้ามาสอนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
บุญมี สมรสกับ สุรีย์ ศศะสมิต เมื่อ พ.ศ. 2484 มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน ระหว่างยึดอาชีพเป็นครูในเมืองหลวง บุญมี ได้คิดค้นส่วนผสมเพื่อผลิตแท่งชอล์กเขียนกระดานดำขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ก่อนจะเปิดร้านผลิตและจัดจำหน่ายแถวบางลำพูชื่อ “ร้านศรีอยุธยา” กิจการรุ่งโรจน์เรื่อยมา สามารถจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเมื่อปี พ.ศ. 2505 และต่อมาจดทะเบียนเป็นบริษัท นอกเหนือจากนี้ ครูบุญมี ยังก่อตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ “ฟาร์มศรีอยุธยา” ด้วย
แม้จะประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ แต่ บุญมี กลับต้องเผชิญอาการเจ็บป่วยจนสุขภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะโรคกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เริ่มตระหนักถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ
วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2494 บุญมี เข้าร่วมฟังการบรรยายเรื่องพระอภิธรรมที่จัดโดยพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และได้สนทนากับ แนบ มหานีรานนท์ พลันบังเกิดความซาบซึ้ง จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเพื่อศึกษาพระอภิธรรมอย่างจริงจัง จวบกระทั่ง บุญมี กลายเป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมฝ่ายฆราวาสผู้มีชื่อเสียงตลอดช่วงทศวรรษ 2490 และทศวรรษ 2500
ใช่เพียงบรรยายองค์ความรู้ บุญมี ได้ร่วมก่อตั้งอภิธรรมมูลนิธิขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 และต่อมายังได้ก่อตั้งสำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย กระทุ่มแบน
หลังจากเขียนจดหมายส่งถึง นายปรีดี พนมยงค์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 ล่วงเข้าวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พลตำรวจตรีพัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองตีบ อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงแก่กรรมเมื่อกลางเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
ด้าน บุญมี เมธางกูร ยังคงดำรงชีพมาตราบจนปี พ.ศ. 2530 ก็ได้อุปสมบทอีกหน ณ วัดศรีประวัติ บางกรวย จังหวัดนนทบุรี หมายใจจะถือเพศบรรพชิตจวบสิ้นลมปราณ พอปี พ.ศ. 2532 เริ่มอาพาธหนัก และตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้จะได้รับการผ่าตัด ทว่าผ่านมาราวสองปีกว่า พระอาจารย์บุญมี ก็ร่างกายทรุดลง ท้ายสุดจึงมรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534
สัมพันธภาพทางธรรมระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ กับ บุญมี เมธางกูร ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันทั่วไปเท่าไหร่นัก จดหมายของ พลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งเขียนส่งถึงนายปรีดีขณะพำนักในฝรั่งเศส จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอันเปิดเผยเรื่องราวดังได้สาธยายมาทั้งสิ้น
เอกสารอ้างอิง
- ประดิษฐ์มนูธรรม, หลวง. คำอธิบายกฎหมายปกครอง. พิมพ์ในโอกาสพิธีพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจตรีพัฒน์ นีลวัฒนานนท์. พระนคร : โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2513
- จดหมายของพลตำรวจตรี พัฒน์ นีลวัฒนานนท์ เขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 (เอกสารชั้นต้นยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่)
- สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา ๒๔๗๕ - ๒๕๐๒. พระนคร : สำนักงานเลขารัฐสภา, 2502
- อาลัยพระอาจารย์ บุญมี เมธางกูร. อภิธรรมมูลนิธิและคณะศิษย์ พิมพ์แจกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์ บุญมี เมธังกุโร (เมธางกูร) ณ เมรุวัดดุสิตาราม กรุงเทพฯ วันที่ 6 มิถุนายน 2535. กรุงเทพฯ: เทพประทานการพิมพ์, 2535