ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คนรุ่นหลังกับการศึกษาเรื่องท่านปรีดี

4
มิถุนายน
2563

มรณกรรมของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ณ ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดินไทยของประชาชนผู้รักชาติและผู้รักความเป็นธรรมทั้งปวง

ที่กล่าวดังนี้ เป็นเรื่องของความรู้สึกและเป็นเรื่องของการประเมินค่า

ผู้เขียนเห็นว่าย่อมจะมีคนจำนวนหนึ่งมีอารมณ์ร่วมและรู้สึกคล้อยตามเช่นนี้ ขณะเดียวกันก็อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกแตกต่างออกไป

ภายหลังจากสำนักข่าว เอ.พี. แพร่ข่าวมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโสออกไปทั่วโลก

วันรุ่งขึ้น, ถ้าเราลองติดตามความเคลื่อนไหวที่สืบเนื่องจากข่าวดังกล่าวบ้างแล้ว ก็คงเห็นภาพสะท้อนบางอย่าง เช่น ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสงสัยว่า คุณูปการที่ท่านปรีดีกระทำต่อประเทศชาติและราษฎรนั้น ไม่เป็นการเพียงพอแก่การที่แม้เพียงกระทั่งจะลดธงชาติครึ่งเสาเป็นการให้เกียรติและไว้อาลัยหรือ?

หรือว่า ชะรอยจะเข้าใจเจตนารมณ์ของท่านรัฐบุรุษดีว่า การบำเพ็ญกรณียกิจทั้งหลายนั้น ล้วนมิได้หวังผลตอบแทนเพื่อตนเองในทางใดทางหนึ่ง จึงสนองตอบอย่างรู้เท่าทันโดยไม่ทำอะไรเลย

หรือว่าอคติบางประการ ตลอดจนอวิชาที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมลทินอย่างยิ่ง ทำให้ละเลยในสิ่งที่ไม่ควรละเลย

ขาดกตัญญุตาธรรม ในผู้คนบางส่วนบนแผ่นดินที่มักกล่าวขานว่า เป็นเมืองพระพุทธศาสนา และขาดคุณธรรมพื้นฐานในยุคที่เรียกร้องสิ่งเสริมให้มีคุณธรรมพื้นฐาน

ถ้าเช่นนั้นชอบที่จะได้มีการสรุปกันถึงวิธีการเรียนรู้ในกระบวนวิชาประวัติศาสตร์, การแสวงหาสัจจะจากความเป็นจริงกันบ้าง

มิฉะนั้นแล้วการพล่ามว่า “ศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” จะเปล่าประโยชน์ ในเมื่อ “ผู้นำกรุงศรีอยุธยาบางส่วนไม่อยากให้ใครได้ดี”

ผู้เขียนเป็นคนรุ่นปัจจุบันที่เมื่ออยู่ในวัยพอรู้ความแล้ว ก็เป็นเวลาที่ท่านปรีดีจำต้องเป็นรัฐบุรุษผู้นิราศไปไม่น้อยกว่าสิบปี หลังจากนั้นต่อมาเมื่อพอจะอ่านหนังสือรู้เรื่อง ช่างบังเอิญที่อ่านหนังสือของฝ่ายตรงข้ามท่านปรีดีด้วยความซาบซึ้งค่อนข้างมาก มิหนำซ้ำชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์ชั้นมัธยมที่เรียนเวลานั้น ครูผู้สอนมักยินดีสอนโดยความข้างเดียว เช่น เมื่อกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ท่านมักถล่มคณะราษฎรว่า “พวกนี้ก็เหมือนพวกตัดร่มโพธิ์ร่มไทร แล้วปลูกตำแยขึ้นมาแทนนั่นแหละ” (เมื่อผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังพบว่าทรรศนะของอาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์บางคน ไม่ต่างไปจากครูโรงเรียนมัธยมเช่นที่กล่าวมานี้)

ยิ่งหนังสือพิมพ์ที่อ่านประจำเวลานั้นถากถางเสียดสีท่าน ยิ่งสนุก แต่พอคนเขียนหนังสือเหล่านั้นถูกฟ้องศาล ผลปรากฏว่าฝ่ายที่ชนะกลายเป็นท่านปรีดี

ความยุติธรรมจากขบวนการตุลาการทำให้ฉุกใจขึ้นมาหน่อยหนึ่ง และเมื่อเริ่มอ่านหนังสือแหวกออกไปจากแวดวงเดิม เช่น เมื่ออ่านพบเจตนาที่ดีในเค้าโครงเศรษฐกิจ, อ่านงานเขียนของศาสตราจารย์เดือน บุนนาค (ซึ่งทราบว่าเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดท่าน) อ่านงานบันทึกการว่าความคดีกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 โดยนายฟัก ณ สงขลา ทนายผู้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ กระทั่งได้อ่าน งานใต้ดินของพันเอก โยธี หรือพลเอก เนตร เขมะโยธิน ผู้เคยร่วมขบวนการเสรีไทย และหาใช่พวกฝ่ายของท่านปรีดีไม่ แต่ก็เขียนเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยความเป็นธรรมพอสมควร

หนังสือเหล่านี้มีผลในฐานะที่เป็น “ข้อมูลใหม่” ที่กระทบต่อความรับรู้อย่างสำคัญในเวลาต่อมา จำต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติใหม่ มิฉะนั้นบาปคงตกอยู่กับตัวเอง

ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เคยเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนก่อนหน้านั้น จึงมีฐานะใหม่ในใจอีกอย่างหนึ่ง

นี่มิใช่ความโน้มเอียงจากขั้วหนึ่งไปสู่สุดขั้วอีกขั้วหนึ่ง

และเท่าที่กล่าวมานี้ มิใช่เพื่ออุตริมนุสธรรมอันแสดงอย่างโอ้อวดว่า บัดนี้ดวงตาได้เห็นธรรมแล้วหนอ

แต่ประสบการณ์ของคน ๆ หนึ่ง ที่มิใช่ญาติ มิใช่ศิษย์ หรือมีแวดวงที่ใกล้ชิดพอจะเรียนรู้เรื่องราวอันเกิดขึ้นก่อนตนเกิด กว่าจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากทัศนคติดั้งเดิมก็กินเวลานาน จากแง่มุมนี้มีความเป็นไปได้เพียงใด ที่การเรียนรู้ของคนจะสามารถศึกษาได้รอบด้านมากขึ้น และระบบการศึกษานั้นควรมีหลักประกันในสิทธิเสรีภาพ เป็นการขจัดความริดรอนการแสวงหาความรู้หรือขจัดการครอบงำทางปัญญา

จริงอยู่ต่อเรื่องราวของท่านปรีดี ย่อมจะมีคนที่รู้สึกคล้าย ๆ กับผู้เขียนเมื่อวัยเยาว์ ซึ่งอาจ “ขวาง” ตั้งแต่เรื่องเล็ก ไปจนกระทั่งเกิดคลางแคลงใจในเรื่องใหญ่ ๆ เช่น รำคาญเรื่องเล็ก ๆ ในความเป็น “คุณหลวงช่างฟ้อง” ตามคำเสียดสีของบางคน หรือรู้สึกว่าพบเห็นความไม่บริบูรณ์พอในการเสนอความคิด หรือข้ออ่อนในทางการเมือง

แต่ทั้งนี้ชอบที่จะไม่ลืมว่า หลักใหญ่ ๆ ของความถูกต้อง, และคุณภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะลดให้เล็กลงมิได้ แม้จะบังเอิญรู้สึกว่าเห็นข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มิฉะนั้นย่อมพร่ามัวต่อปัญหาการจำแนกระหว่างหลักกับรอง เจตนากับผล กระทั่งกฎแห่งความจำต้องเป็นไปอีกด้วย

ท่านยังเป็นปุถุชน ไม่ควรที่ใครจักปั้นอนุสาวรีย์ผิดขนาด เช่นเดียวกับไม่บังควรทุบทิ้งถึงอนุสรณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจากคุณธรรมความสามารถของท่าน

บรรดาข้อเขียนที่ถูกท่านฟ้องศาล มีข้อความจริงและเท็จอย่างไร ถ้าไม่ใช้โอกาสที่อาศัยบารมีศาลเป็นที่พึ่ง แล้วจะให้โอกาสความบริสุทธิ์ทั้งปวงแสดงออก ณ ที่ใดเล่า

ถ้าตั้งใจติ เราจะพบข้ออ่อนข้อบกพร่อง ทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, ในเค้าโครงเศรษฐกิจ ตลอดจนในการดำเนินการทางการเมืองบางประการ

แต่ทำไมท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้จึงต้องรับแต่ผิดเพียงผู้เดียว ในเมื่อธรรมดาของการริเริ่มใดย่อมมีข้อดีข้ออ่อนทั้งนั้น เพราะการลงมือทำย่อมไม่ใช่ความคิดล้วน ๆ แต่เป็นความคิดที่ประสานกันปฏิบัติ มีเงื่อนไข มีตัวแปร มีความจำกัด และกระทั่งมีพัฒนาการ

ปัญหาสำคัญ สิ่งที่ดีทั้งหลายไม่ว่าโดยเจตนาหรือทิศทางก็ตาม เป็นสิ่งที่ต้องมีการสืบทอดและสานต่อ โดยศึกษาสรุปบทเรียนแล้วก้าวต่อไป

ส. ศิวรักษ์ ได้ประเมินค่าของท่านปรีดีที่สำคัญไว้ถึงสองประการ คือ 

  1. ถ้าไม่มีท่านจะไม่มีประชาธิปไตย
  2. ถ้าไม่มีท่านประเทศไทยจะกลายเป็นเมืองขึ้น

ข้อสรุปดังกล่าวนั้น เนื้อหาที่แท้จริงก็คือ ความเป็นวีรบุรุษของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเกิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดคล้องกับประชาชน กับเจตจำนงของมหาชนนั่นเอง ไม่ว่าจะโดยการนำในฝ่ายพลเรือน เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือในการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

จริงทีเดียว ที่ในวันก่อการ คณะราษฎรได้เขียนข้อความละเมิดต่อพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ขึ้นสู่กระแสสูงและอย่างรวมศูนย์ในขณะนั้น ทว่าเมื่อคณะราษฎรได้ชัยชนะ ซึ่งเป็นการคลี่คลายการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว ลักษณะแบบ “ไทย ๆ” ก็ได้ปรากฏขึ้นตามมาคือ ได้ประนีประนอมและเทิดธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

ท่านปรีดีเองถูกกระแสการเมืองบีบ (ขัดแย้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องญี่ปุ่นบุก โดยจะขอผ่านไทยและกูยืมเงินไทย) จึงต้องรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ

และในตำแหน่งนี้เช่นกัน ท่านได้ทำหน้าที่ดีที่สุด ได้รับความไว้วางพระทัยจากสมเด็จพระพันวัสสาฯ กระทั่งตรัสว่า “คนที่ทำบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็เป็นญาติกัน” หรือ “พ่อคุณเถอะ ฝากหลาน* ด้วยนะ พ่อมาทำบุญกับคนแก่นี่ พ่อได้กุศล”

แต่เคราะห์กรรมของแผ่นดินที่เกิดกรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต พสกนิกรจึงสูญเสียกษัตริย์ไปอีกพระองค์หนึ่ง และในเวลาต่อมา รัฐบุรุษอาวุโสก็พลอยเป็นรัฐบุรุษพเนจรไปด้วย

และทั้งที่ท่านไม่เคยตกอยู่ในฐานะจำเลยหรือถูกฟ้องศาลแต่อย่างใด

ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐบุรุษที่ถูกลืมหรือทำเสมือนให้ถูกลืมเพราะคนร่วมสมัยเดียวกับท่าน แม้กระทั่งลูกศิษย์ก็ดูจะเกรง ๆ ในอันที่จะทำให้ทางการบ้านเมืองเข้าใจไปว่ามีความสัมพันธ์กับท่าน ขณะที่คนรุ่นหลังก็จะรู้จักท่านน้อยลงไปอีก

ทว่าอีกไม่ช้าแล้ว ท่านจักสลายร่างเป็นเถ้าธุลี มีใครบ้างไหมที่จะช่วยให้ความทรงจำรำลึกถึงท่าน มีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

และเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติเยี่ยงที่นักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นปัจจุบันเคยแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เมื่อต้นปีนี้ได้ประกาศสัจจกวีว่า

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

 

พิมพ์ครั้งแรก: ไทยแลนด์ 6-12 พฤษภาคม 2526

 


*หมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9