ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

สัมภาษณ์ท่านพุทธทาสภิกขุ

7
กรกฎาคม
2563

 

ถาม: ท่านอาจารย์ปรีดี เคยมาที่สวนโมกข์หรือไม่ครับ

ตอบ: ไม่เคยมา แต่เคยพบกันคุยกันบ้างที่ทําเนียบท่าช้าง ท่านนิมนต์ไปปรึกษาเรื่องที่จะมีสวนโมกข์ที่อยุธยา ก็ไม่ได้สนทนากันนานนัก และพูดกันเรื่องว่าจะฟื้นฟูพุทธศาสนา  ท่านให้คนลงมาพาผมขึ้นไป ชื่อนายวุฒิ สุวรรณรักษ์ มาหาผมที่สวนโมกข์ บอกว่า อาจารย์ปรีดีขอนิมนต์ไปพบ แล้วก็พาผมไป ตอนนั้นรถไฟยังขลุกขลัก ไม่ค่อยสะดวก ก็ทุลักทุเลอยู่ ต้องไปพักค้างคืนที่เพชรบุรี

ถาม: คราวนั้นต้องไปพักกรุงเทพฯ หลายวันไหมครับ หรือว่าเสร็จธุระแล้วก็กลับเลย

ตอบ: ก็พักไม่กี่วัน

ถาม: ได้มีการสนทนาเรื่องอื่น ๆ ด้วยไหมครับ เช่น เรื่องการเผยแพร่พุทธศาสนา

ตอบ: เป็นเพียงความเห็นว่า ควรปรับปรุงให้ทันสมัย เช่นว่า ควรจะมีเพลงทางศาสนาของพุทธศาสนาบ้าง  ผมบอกว่าผมไม่มีหัวทางนี้  

ถาม: เคยได้ยินอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เล่าว่า ท่านอาจารย์ปรีดีเคยมีส่วนสนับสนุนการตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยด้วย

ตอบ: อ๋อ ก็ช่วยอยู่สิ ก็ช่วยอยู่ด้วย เรียกว่าช่วยมากทีเดียว เพราะว่าตอนนั้นเป็นผู้มีอำนาจนี่ (เข้าใจว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย - ผู้สัมภาษณ์) ท่านก็ดึงเอาพวกพระราชธรรมนิเทศอะไรพวกนี้มาช่วย แต่ไม่ใช่พระธรรมนิเทศทวยหาญ (อยู่ อุดมศิลป์) นะ  พระราชธรรมนิเทศนี้ก็พอจะมีความรู้อะไรบ้าง แต่ไม่ค่อยรู้ธรรมะนัก ที่จริงพุทธสมาคมนี้ตั้งขึ้นมาก็ด้วยอิทธิพลความเลื่อมใสพระโลกนาถ ตอนนั้นพระโลกนาถมาปลุกความสนใจในเมืองไทย ก็เกิดอยากจะมีบ้าง ไม่ให้น้อยหน้าที่อื่น พระราชธรรมนิเทศกับนายปรีดีนี่เครือเดียวกัน

ถาม: พระราชธรรมนิเทศนี้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นอะไรครับ

ตอบ: รู้สึกว่าจะเป็นนายกสมาคมหรืออะไรนี้มาตั้งแต่แรก ๆ เลยทีเดียว พุทธสมาคมตอนนั้นเรียกว่า “พุทธธรรมสมาคม” พระราชธรรมนิเทศนี้ทำงานอยู่กระทรวงวังหรืออย่างไร ไม่แน่ใจ

ถาม: เคยได้ยินว่าท่านผู้ใหญ่ระดับพระยา 3 คน เป็นผู้ก่อตั้งพุทธธรรมสมาคม

ตอบ: คงจะมีพระยาภรตราชสุพิชคนหนึ่งด้วย แต่พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์นี้ไม่ได้อยู่ในพุทธสมาคมด้วย แกไม่เอา เพราะแกถือตัวไม่ชอบให้ใครผูกมัดตัวหรือเอาไปเชิด นอกจากพระยาภรตราชสุพิชแล้ว อีกคนหนึ่งรู้สึกจะเป็นพ่อตาของคุณสัญญาเอง ชื่อพระยาอรรถกิจนิรุตต์ ดูจะเป็นด้วยกระมัง อย่างน้อยก็ถูกดึงชื่อมาด้วย แต่คนที่ทำงานจริง ๆ คือคุณสัญญา 

ถาม: ตอนนั้นอาจารย์สัญญามาสนิทคุ้นเคยและช่วยงานท่านอาจารย์หรือยังครับ

ตอบ: ตอนนั้นรู้จักกันดีแล้ว อาจารย์สัญญายังพาผมไปพบพระโลกนาถ พระโลกนาถมาชวนให้ไปด้วยกัน อาจารย์สัญญาก็สนับสนุน แต่ผมไม่ไป

ถาม: สมัยอาจารย์สัญญายังหนุ่ม รู้สึกจะมีความคิดอะไรใหม่ ๆ อยู่มากนะครับ 

ตอบ: สมัยหลังนี้ก็ระวังมากขึ้น กลัวมากขึ้น ผู้ที่ปูเสื่อให้พระโลกนาถเดินเหยียบไปนั้น คือ พระราชธรรมนิเทศ ทำเป็นคนแรกเลย แล้วคนอื่นๆ ดูเหมือนจะเอาอย่าง รวมทั้งคุณสัญญาด้วย ให้พระโลกนาถเหยียบเกินไปเพื่อจะได้เผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วโลก พิธีเปิดตั้งต้นที่กรุงเทพฯ แล้วไปแตกกระจัดกระจายกันที่พม่า (หัวเราะ) 

ถาม: ทำไมท่านอาจารย์ไม่ตามพระโลกนาถไปครับ

ตอบ: ผมไม่เชื่อเครดิต แกพยายามชวนผมไปด้วยตามแบบของแก แต่ผมก็ไม่เลื่อมใสเรื่องไม่กินเนื้อ (มังสวิรัติ) อยู่แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องนอกพุทธศาสนา ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เอาไปยืนยันว่าเป็นหลักสำคัญ ผมไม่ชอบ และหลักธรรมะทั้งหลายมันก็ตื้น ๆ ผมพูดว่า ผมขออยู่บ้าน เฝ้าบ้าน ถ้าใครเขามาบ้าน จะได้รับเขา ไม่เช่นนั้น จะพากันทั้งบ้านไปหมด บ้านก็จะร้าง

ถาม: แต่ท่านเจ้าคุณปัญญานันทะ [พระพรหมมังคลาจารย์ วัดชลประทานรังสฤษฎ์] ไป ไม่ทราบว่าท่านคิดอย่างไรครับ

ตอบ: ท่านก็คิดตามแบบของท่าน แต่ท่านชวนเจ้าคุณบุญชวน (เขมาภิรัติ) เจ้าคณะจังหวัดชุมพรในเวลานี้ไปด้วย เป็นคู่หูกัน อาจารย์กรุณา กุศลาลัยก็ไป บวชเณรไป ชื่ออาจารย์กรุณานี้พระโลกนาถก็ตั้งให้  มีเมตตา มุทิตา อุเบกขา ครบชุดเลย แต่สรุปแล้วงานของพระโลกนาถ ก็คือล้มละลาย

ถาม: หลังจากที่เรื่องทำสวนโมกข์ที่อยุธยาเงียบไป เพราะสถานที่ไม่เหมาะสมนั้น ท่านอาจารย์ปรีดีไม่ได้ติดต่อมาอีกเลยหรือครับ

ตอบ: ก็ไม่ได้ติดต่อ หลังจากนั้นท่านก็ต้องลี้ภัยไปเมืองจีน

ถาม: ท่านมีจดหมายไปมาถึงท่านอาจารย์บ้างไหมครับ

ตอบ: ก็ไม่มี แต่ว่าเมื่อยู่ที่ปารีสนี้ ผมก็ฝากหนังสือธรรมะไปให้ แต่ตอนอยู่เมืองจีนนี้ไม่ได้ติดต่อกัน ... [ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2] คนของอาจารย์ปรีดีชื่อ จำกัด พลางกูร เคยมาขอให้วางโครงพุทธศาสนา 

ถาม: ประมาณปี พ.ศ.เท่าไรครับ เป็นสมัยเดียวกับที่ท่านอาจารย์เป็นเผยแผ่จังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือเปล่าครับ ตอนนั้นท่านอาจารย์เขียนเค้าโครงการเผยแผ่พุทธศาสนาออกมา

ตอบ: ก่อนจะเป็นเผยแผ่จังหวัด ตามตำแหน่งผมเป็นเผยแผ่ของจังหวัด แต่เจ้าคณะภาคแต่งตั้งให้ผมเป็นเผยแผ่ของภาค 8  ภาค 8 สมัยนั้นมี 14 จังหวัด เดี๋ยวนี้รู้สึกจะแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาค 8 และภาค 9 แต่ก่อนภาค 8 กินเนื้อที่ไปถึงประจวบฯ

ถาม: ท่านอาจารย์เคยอ่านเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม ของท่านอาจารย์ปรีดีหรือไม่ครับ เป็นอย่างไรบ้าง

ตอบ: ก็เคยอ่าน แต่ชักจะลืม ๆ ไปแล้ว ก็ดี ก็ถูกต้องตามหลักของธรรมะ ถ้ามีหลักการเมืองให้ถูกต้องกับหลักอนิจจังของธรรมชาติ

ถาม: เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) [สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดญาณเวศกวัน] ท่านแสดงปาฐกถาประจำปีของอาจารย์ปรีดี เรื่อง “ลุอิสรภาพ ด้วยอนิจจัง” ว่า ถ้าเข้าใจความเป็นอนิจจังแล้ว จะลุถึงอิสระภาพ ทั้งส่วนบุคคลและสังคมอย่างไร เป็นปฐมปาฐกถา ท่านก็ได้เอ่ยถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า ท่านได้อ่านตอนเป็นเณร

ตอบ: ถ้าสมัยนั้นอาจารย์ปรีดีรู้ธรรมะมากกว่านั้นสักหน่อย ก็จะดี  นี่ยังรู้ธรรมะน้อยไป รู้แต่กฎหมาย รู้แต่เรื่องการเมือง  ท่านเรียกคนหนึ่งชื่อ มหายันต์ นามสกุลอะไรไม่รู้ เป็นเปรียญ 8 ประโยค วัดเบญจมบพิตรไปเป็นที่ปรึกษา เมื่อผมไปพบก็ได้ร่วมสนทนาด้วย มหายันต์คนนี้ ตอนนี้หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้

ถาม: ตอนที่ท่านอาจารย์ปรีดีถูกกล่าวร้ายกรณีสวรรคตนั้น ไม่ทราบว่าชาวบ้านทางปักษ์ใต้พูดกันว่าอย่างไรครับ

ตอบ: ก็ไม่มีใครพูดว่าอย่างไรจริงจัง ก็คอยฟังอยู่ว่าจะเป็นไปในรูปไหน 

ถาม: ในกรุงเทพฯ ได้ยินว่า ยังมีคนพิมพ์หนังสือใส่ไฟเรื่องนี้ขึ้นอีกเลย ทำให้มีการฟ้องร้องศาลเพื่อให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร การเป็นความอย่างนี้ก็เสียเวลามาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ ไม่อย่างนั้นก็จะเข้าใจผิดเสียหายต่อไปเรื่อย ๆ บางคนไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร

ตอบ: ประชาชนเขาก็มีสติปัญญา เขาไม่ได้เชื่อตามนั้นไป ก็ยังมียกเว้นอยู่  เจ้าคุณลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อดีตประธานศาลฎีกา) คุยเรื่องนี้ ท่านบอกว่า เรื่องนี้ ... ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์ปรีดี

ถาม: ท่านอาจารย์ปรีดีทำคุณบูชาโทษ

ตอบ: ถูกแล้ว ... แต่เรื่องมันแล้วไปแล้ว ก็ให้มันเป็นไปตามกรรม 

 

ขอขอบคุณภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ขอขอบคุณภาพจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

 

 

* สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2531

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือ วันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2531, น. 63-67.