ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

23
ธันวาคม
2563

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กราบนมัสการสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ณ วัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2537
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กราบนมัสการสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ณ วัดพระพิเรนทร์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2537

 

วันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นมงคลลวารที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ จะมีอายุครบ 84 ปี เต็ม 7 รอบ ในโอกาสอันสำคัญนี้ ท่านผู้หญิงและบุตรหลานมีจิตศรัทธาจะบำเพ็ญบุญกิริยาตามหลักพระพุทธศาสนา รวมทั้งการบำเพ็ญธรรมทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ และได้แจ้งกุศลฉันทะที่จะพิมพ์คำปราศรัยชื่อ “Peace Through Freedom and Happiness” ที่อาตมภาพได้กล่าวในพิธีรับถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส พร้อมทั้งคำแปล โดยที่ท่านผู้หญิงเห็นว่าเหมาะและสอดคล้องกับวาระครบรอบ 50 ปีของวันสันติภาพไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2538 อาตมภาพขออนุโมทนาบุญเจตนาของท่านผู้หญิงและบุตรหลานในการบำเพ็ญธรรมทานกุศลจริยาครั้งนี้

มงคลวารคล้ายวันเกิดครบ 84 ปีนี้ นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากเป็นวาระที่มีอายุเต็มอีกรอบหนึ่งแล้ว ยังเป็นรอบใหญ่ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้ที่ได้มีอายุยาวนานล่วงกาลผ่านวัย พบเห็นสะสมประสบการณ์มามาก โดยเฉพาะประสบการณ์ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์นั้น เป็นส่วนสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งแห่งกิจการบนเมืองของประเทศไทย ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะในแง่ที่ท่านผู้หญิงได้ร่วมอยู่ ร่วมรู้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ตาม ในแง่ที่ได้คิดพูดหรือทำการใด ๆ ที่มีผลต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ตาม หรือในแง่ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเป็นไปในช่วงเวลานั้นก็ตาม

ประวัติศาสตร์ หมายถึงความรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิตและสังคมของมนุษย์ แต่ถ้าจะให้ได้ความหมายที่มีสาระยิ่งขึ้น อาจแปลว่า เรื่องราวที่ทำให้เข้าใจถึงความเป็นไปของชีวิตและสังคมของมนุษย์ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงสำหรับให้รู้ว่าอะไรได้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่เป็นสื่อหรือเป็นจุดกำหนดให้เราศึกษาสืบค้นและรู้เข้าใจโยงไปถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ตลอดจนสภาพชีวิตและสังคมในยุคสมัย หรือครั้งคราวนั้นทั้งหมดว่า ทำไมเหตุการณ์นั้นจึงเกิดขึ้น แนวความคิดหรือค่านิยมอะไรของสังคม และสภาพจิตหรือแรงจูงใจอะไรของบุคคลใด มีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้น เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมอย่างไร ในทางรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วมีผลบเนื่องให้เกิดความเป็นไปต่อไปอย่างไร ส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของผู้คนทั้งหลายอย่างไร คนที่ประสบสถานการณ์นั้นนำตนผ่านพ้นหรือไม่ผ่านพ้นมาได้อย่างไร มีคติอะไรสำหรับคนในอนาคตที่จะได้จากความรู้เรื่องในอดีตนั้น ดังนี้เป็นต้น

ถ้ามองประวัติศาสตร์ด้วยความเข้าใจความหมายอย่างนี้ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว อย่างน้อย ในกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึกมองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร รวมทั้งนำชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัวลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาอย่างมาก

มงคลวารแห่งวันคล้ายวันเกิดที่เวียนมา ถือกันว่าเป็นโอกาสอันผู้ปรารถนาดีจะตั้งจิตอำนวยพรแก่ท่านเจ้าของวันเกิด แต่สำหรับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์นั้น กล่าวได้ว่า หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านผู้หญิงได้ยืดถือปฏิบัติมา จะเป็นคติธรรมแห่งการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ที่ถือตามคำสอนของบุรพการีของท่านก็ดีหรือพุทธภาษิตว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ” ที่แปลว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมก็ดี เป็นพรที่อำนวยผลแก่ท่านผู้หญิง อันนำท่านผ่านล่วงคลื่นลมร้ายแห่งชีวิตมาได้ จนลุถึงช่วงเวลาแห่งชีวิตที่เรียบรื่นสงบสุขในบัดนี้ เป็นพรที่สัมฤทธิ์ผลเป็นจริงแล้ว ควรแก่ความปีติปลาบปลื้มใจ

ชาวพุทธย่อมตระหนักในความจริงว่า เป็นธรรมดาของชีวิตเมื่อดำเนินไป ย่อมประสบโลกธรรมทั้งหลาย คือ ความเปลี่ยนแปลงผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ ทั้งในทางร้ายและดี ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ แต่สำหรับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์นั้น โลกธรรมที่ท่านประสบ ถือได้ว่าเป็นระดับพิเศษ มีความพลิกผันรวดเร็วและรุนแรง ทั้งมีฝ่ายที่ไม่นปรารถนารุมระดมอยู่ยืดเยื้อยยาวนาน บัดนี้ ท่านผู้หญิงได้นำทั้งชีวิตของท่านเอง และพาครอบครัวร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคผ่านพ้นโลกธรรมฝ่ายร้ายมาได้ โดยยังสามารถดำรงอยู่ในธรรม ความเข้มแข็งอดทนสติปัญญาและความดีงามความสามารถที่ทำให้นำชีวิตผ่านพ้นโลกธรรมส่วนร้ายมาได้ นี้คือบทพิสูจน์แห่งชีวิตที่งดงาม ซึ่งเป็นพลังอำนาจที่จะอำนวยอานิสงส์ นำชีวิตให้บรรลุความสุขสดใสยิ่งขึ้นไป เป็นมงคลอันอุดม อนุวรรตตามพระพุทธภาษิตว่า

ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ
จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ
อโสกํ วิรชํ เขมํ
เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

“ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลายกระทบแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ไร้โศก ปราศสิ่งหมองมัว ปลอดโปร่งอยู่ได้ นี่คือมงคลอันสูงสุด”

ขออนุโมทนาธรรมทานบุญกิริยาที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมทั้งบุตรหลานได้บำเพ็ญเนื่องในมงคลวารอายุครบ 84 ปีครั้งนี้ ขอคุณพระศรีรัตนตรัยอันแสดงออกในธรรมที่ประพฤติปฏิบัติด้วยความมั่นในใจ จงอำนวยผลให้ท่านผู้หญิงและบุตรหลานญาติมิตร เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ไร้โรค ไร้โศก พรั่งพร้อมด้วยสิริสุขสวัสดิ์ ลุถึงสันติทั้งภายนอกและภายใน ร่มเย็นผ่องใส ตลอดกาลทุกเมื่อ

 

ที่มา: พระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต), “อนุโมทนา” ใน 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์ (2 มกราคม 2539), น. 3-6.