ไม่เพียงแต่ผลงานในด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น การปรับปรุงภาษีอากรเพื่อความเป็นธรรมของสังคมโดยยึดหลัก “มีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย ใช้มากเสียมาก ใช้น้อยเสียน้อย” ตามหลักการเก็บภาษีอากรของประเทศในระบอบประชาธิปไตย[1] ก็เป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของคณะราษฎร ที่ได้ลงมือทำหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ระบบภาษีของสังคมไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศสยามมีการจัดเก็บภาษีทางตรงจากประชาชนหลายอย่าง ซึ่งสร้างภาระแก่ประชาชนและเป็นต้นทุนแก่การประกอบอาชีพของประชาชน อาทิ ภาษีรัชชูปการ ซึ่งเป็นเงินช่วยราชการตามที่กำหนดโดยเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 - 60 ปี[2] (บรรลุนิติภาวะแล้ว) ที่มิได้รับราชการทหารหรือได้รับการยกเว้นเป็นรายบุคคล[3] โดยจะเก็บปีละ 4 บาท (บางภาคเสีย 6 บาท) โดยเงินค่ารัชชูปการนั้นเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ภาษีสมพัตสร (อากรค่าสวน) ซึ่งเป็นเงินที่รัฐเก็บจากจำนวนพื้นที่ที่ปลูกไม้ล้มลุกบางประเภทและจำนวนไม้ผลยืนต้นบางประเภท (เช่น ขนุน เงาะ กระท้อน และมะไฟ เป็นต้น) โดยจะเก็บเป็นรายปี
"ระบบการจัดเก็บภาษี" แต่เดิมนั้นไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษีของผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด อาทิ ภาษีรัชชูปการ นั้น จัดเก็บกับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะทุกคน ไม่ว่าจะเศรษฐีหรือยากจน ก็ต้องเสียภาษีรัชชูปการในอัตรา 4 บาทต่อปีเช่นกัน และหากบุคคลใดไม่เสียภาษีตามวันกำหนด นายอำเภอมีอำนาจที่จะยึดทรัพย์สมบัติของบุคคลนั้นเพื่อขายทอดตลาดเพื่อให้ได้เงินที่จะต้องเสียและค่าใช้จ่ายในการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดด้วย แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีทรัพย์สมบัติเพียงพอแก่การจะชำระภาษีรัชชูปการ นายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งให้เอาตัวบุคคลนั้นไปใช้งานโยธาตามที่ทางการกำหนดไว้เป็นระยะเวลา 30 วัน[4]
นอกจากภาษีรัชชูปการ หรือ ภาษีสมพัตสรแล้ว ยังมีภาษีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เก็บกับประชาชนในขณะนั้น เช่น อากรค่านา อากรสวน ภาษีไร่อ้อย และ ภาษีไร่ยาสูบ เป็นต้น ซึ่งภาษีแต่ละประเภทนั้น สร้างภาระให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก โดยจากการสำรวจของ คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) ซึ่งรัฐบาลสยามจ้างให้สำรวจเศรษฐกิจในชนบทในปี พ.ศ. 2473 พบว่า ภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมนั้นเป็นการซ้ำเติมให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวนาที่มีความยากลำบากจากการทำนาที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยังต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอีก ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาและคนในชนบทยากลำบาก[5]
การยกเลิกและปรับปรุงภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ
เมื่อคณะราษฎรได้เข้ามาบริหารประเทศไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ได้มีนโยบายที่จะปรับปรุงภาษีต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีดำริจะยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ โดยกระทรวงการคลังได้ออกแถลงการณ์เพื่อให้ประชาชนทราบในการยกเลิกภาษีบางประเภทและเสนอร่างประมวลรัษฎากรอันเป็นหลักการเก็บภาษีใหม่[6]
โดยภาษีที่รัฐบาลเสนอยกเลิกนั้น ได้แก่ ภาษีรัชชูปการ อากรค่านา อากรค่าสวน ภาษีไร่อ้อย และ ภาษีไร่ยาสูบ ซึ่งภาษีแต่ละประเภทนั้นสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเป็นจำนวนมาก (ตารางที่ 1) แต่ภาษีดังกล่าวเป็นการเก็บจากประชาชนทางตรงหลายอย่างซึ่งเป็นภาระแก่ประชาชน[7] และได้มีการปรับปรุงภาษีบางประเภทให้มีลักษณะเหมาะสมขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีแหล่งรายได้ที่มีประสิทธิภาพและไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน (ตารางที่ 2)
ประเภทภาษี | มูลค่าเงินภาษีที่จัดเก็บได้ |
---|---|
ภาษีรัชชูปการ | คิดเป็นเงิน 6,800,000 บาท |
อากรค่านา | คิดเป็นเงิน 5,400,000 บาท |
อากรสวน | คิดเป็นเงิน 320,000 บาท |
ภาษีไร่อ้อย | คิดเป็นเงิน 18,500 บาท |
ภาษีไร่ยาสูบ | คิดเป็นเงิน 60,000 บาท |
รวมภาษีอากรเป็นเงิน | 12,598,500 บาท |
ประเภทภาษี | รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงและมูลค่าเงินภาษีที่อาจจัดเก็บได้ |
---|---|
ภาษีเงินได้ | ซึ่งประมาณว่าจะได้เพิ่มราว 280,000 บาท |
ภาษีการค้า | ซึ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า “โรงค้า” จะได้เพิ่มราว 380,000 บาท |
ภาษีธนาคาร | ซึ่งได้ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเสียใหม่และมิได้คำนวณในทางเพิ่ม |
อากร | ซึ่งประมาณได้เพิ่มราว 1,850,000 บาท |
รวมภาษีอากรปรับปรุงใหม่เป็นเงิน | 2,510,000 บาท |
แม้จะยังมีเงินขาดอยู่อีกบ้างจากการยกเลิกและปรับปรุงภาษีไป รัฐบาลในขณะนั้นได้ตระหนักถึงข้อนี้ดี และได้หาวิธีการชดเชยภาษีที่เสียไป โดยรัฐบาลได้ดำเนินวิธีการหาภาษีอากรที่เก็บจากทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่เพื่อชดเชย และรัฐบาลได้ดำเนินวิธีการหาภาษีทางตรงที่เก็บใหม่ ซึ่งก็คือ “อากรมหรสพ” ซึ่งรัฐบาลจัดเก็บตามอัตราค่าเข้าดูการมหรสพจากผู้เข้าดูมหรสพนั้นๆ จะเก็บภาษีเป็นรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกราวปีละ 200,000 บาท และรัฐบาลจะได้มีการพิจารณาเพิ่มภาษีอากรประเภทค่าธรรมเนียมบางชนิดซึ่งจะได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติต่อไป[8]
หลักการของการจัดเก็บภาษีใหม่ตามประมวลรัษฎากร
หลักการใหม่ของประมวลรัษฎากรนั้น นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า
“รัฐบาลได้แถลงไว้ว่าจะปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมนั้น...รัฐบาลได้ถือหลักโดยคำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษีของราษฎรตามส่วนซึ่งราษฎรจะเสียได้ หลักในเรื่องความแน่นอน หลักความสะดวก และหลักประหยัดค่าใช้จ่าย และคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนในทางการเมืองเป็นสิ่งประกอบการพิจารณา ด้วยความรู้สึกของประชาชนนั้นมิใช่จะคำนึงถึงความรู้ของคนชั้นเดียว ได้พยายามนึกถึงความรู้สึกของคนทุกชั้น สิ่งใดที่จะคิดเก็บภาษีก็เป็นไปในทำนองซึ่งหวังว่า ผู้ซึ่งสามารถเสียภาษีได้นั้น คงจะเสียสละเพื่อความเจริญของท้องที่และของประเทศชาติ”
จากคำกล่าวของ นายดิเรก ชัยนาม จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐบาลในขณะนั้นโดยเฉพาะ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปรารถนาที่จะให้ระบบภาษีใหม่นี้มีหลักการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายภาษี (Ability to pay) ของประชาชนผู้รับภาระภาษี ซึ่งระบบภาษีก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบภาษีที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักการดังกล่าว แต่มุ่งใช้ภาษีในลักษณะของการสร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐบาล
กล่าวคือ ในอดีตการจัดเก็บภาษีหลายประเภทจึงไม่มุ่งคำนึงว่า ผู้รับภาระภาษีมีความสามารถที่จะเสียภาษีดังกล่าวหรือไม่ ดังเช่น ภาษีรัชชูปการ ที่บังคับเก็บจากชายฉกรรจ์วัย 18-60 ปี ทุกคนในพระราชอาณาจักร แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบภาษีตามประมวลรัษฎากรนั้น ภาษีเงินได้ที่ได้รับการปรับปรุงทำให้มีผู้ต้องเสียภาษีน้อยลงจากเดิม 3 ล้านคน ตามพระราชบัญญัติลักษณการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2463 มาเป็นเพียง 2 หมื่นคน จากจำนวนประชาชนทั้งสิ้น 14 ล้านคน[9]
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้วแม้จำนวนผู้เสียภาษีจะลดลง และรัฐได้รับเงินภาษีลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นธรรมในสังคมแล้ว การจัดเก็บภาษีตามระบบใหม่นั้นย่อมดีกว่าแน่นอน ในส่วนของรายได้ของรัฐบาลที่ขาดไปนั้น รัฐบาลได้ใช้วิธีสร้างภาษีประเภทใหม่และเก็บภาษีจากฐานอื่นแทน เช่น ภาษีทางอ้อม และ ภาษีมรดก เป็นต้น
ในท้ายที่สุดนี้ ผลของการริเริ่มปฏิรูประบบภาษีของคณะราษฎรในวันนั้นยังคงเป็นรากฐานสำคัญของระบบภาษีของประเทศไทยในปัจจุบัน ประมวลรัษฎากรที่ได้ร่างไว้ในครั้งนั้นยังคงใช้สืบเนื่องกันมาผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นข้อยืนยันถึง “ผลของการที่ก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย”
[1] สุพจน์ ด่านตระกูล, ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : สุขภายใจ, 2552), น. 196.
[2] พระราชบัญญัติลักษณการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2463, มาตรา 4.
[3] พระราชบัญญัติลักษณการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2463, มาตรา 5; กำหนดบุคคลเอาไว้ 5 ประเภท ไม่ต้องเสียภาษีรัชชูปการ คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร บาทหลวง และผู้สอนศาสนาอิสลาม และประเภทที่ 2 ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจภูธร ตำรวจพระนครบาลที่ประจำการ และทหารกองหนุนบางชั้นบางประเภท ประเภทที่ 3 ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัต และแพทย์ประจำตำบล ประเภทที่ 4 ได้แก่ คนพิการทุพลภาพที่ไม่สามารถจะประกอบการหาเลี้ยงชีพได้เอง และประเภทที่ 5 คนพวกอื่น ๆ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นเป็นการเฉพาะ.
[4] พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2463, มาตรา 11.
[5] คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525), น. 32.
[6] สุพจน์ ด่านตระกูล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 197-198.
[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2481, น. 950.
[8] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17/2481, น. 951.
[9] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด, 2526), น. 491-492.