ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

7 ปี หลังการอภิวัฒน์สยาม : ข้อมูลใหม่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการจัดทำประมวลรัษฎากรสมัยคณะราษฎร

27
เมษายน
2566
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ

ปรีดี พนมยงค์, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย, น. 76.

 

คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2482
คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2482

 

การวิพากษ์คณะราษฎรทั้งจากวาทกรรม แบบเรียน และงานวิชาการนับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 - 2520 มุ่งเน้นใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การชิงสุกก่อนห่าม ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการอภิวัฒน์ ความขัดแย้งภายในทำให้คณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จ และขาดการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยใน 3 ประเด็นแรกมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และงานวิชาการที่ค้นคว้าข้อมูลอีกด้านเสนอให้เห็นผลงานของคณะราษฎรและความเดือดร้อนของประชาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ในประเด็นที่ 4 เรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎรยังไม่ค่อยมีการค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้มากนัก

ดังนั้น เนื่องด้วย พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 91 ของการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และครบวาระของการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 ฉบับแรก ในสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เขียนได้ค้นคว้าและพบว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎรชิ้นสำคัญเรื่อง ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่นโยบายเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแสดงถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลคณะราษฎรภายหลังประกาศใช้ประมวลรัษฎากรครบรอบ 1 ปีที่เวียนมาบรรจบในเดือนเมษายน พ.ศ. 2482 บทความนี้จึงขอนำเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎรเปรียบเทียบกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านสถิติและข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นชิ้นนี้ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาราว 7 ปี หลังการอภิวัฒน์สยาม

 

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 ฉบับแรกของสยาม

 

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481

 

การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 มีขึ้นครั้งแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 โดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้นได้แถลงว่า

 

“รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร การที่ได้เสนอขึ้นมานี้ก็ได้แถลงไว้โดยละเอียดในเหตุผลนั้นแล้ว

เนื่องจากรัฐบาลได้รับรองต่อสภาฯ ว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมต่อสังคมโดยเร็วและถ้าสามารถเป็นไปในสมัยประชุมนี้ก็จะนำมาเสนอ และบัดนี้ก็ได้ทำมาเสร็จแล้ว จึงได้นำมาเสนอท่านสมาชิกทั้งหลายและในการที่เสนอร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้นั้น รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะกระทำการร่วมมือกับท่านสมาชิก…”

 

นายปรีดียังชี้ว่าหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ แห่งประมวลรัษฎากรคือ เพื่อปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรและยังปลุกสำนึกให้ตระหนักถึงหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

 

“ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติขึ้นมานี้ก็เปรียบประดุจว่าข้าพเจ้าได้นำแผ่นกระดาษขาวแผ่นหนึ่งมายื่นให้ท่านทั้งหลาย เมื่อท่านเห็นว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมแล้ว การที่จะเป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร ท่านก็ควรจะเขียนลงไปในแผ่นกระดาษขาวนั้น ข้าพเจ้ายอมทั้งหมด

ขอให้ในเรื่องนี้เราได้ทำด้วยความเป็นธรรมจริง ไม่ใช่ว่าเราปล่อยปละละเลยตามใจ หาแต่พระคุณอย่างเดียว มีบางสิ่งบางอย่างจะต้องทำให้ราษฎรได้รู้สึกถึงหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ รู้สึกถึงความเสียสละ ให้รู้สึกรักประเทศชาติด้วย…”[1]

 

และได้จัดตั้งกรรมาธิการจัดทำประมวลรัษฎากรขึ้น 36 คน โดยมี 18 คน ที่มาจากการเสนอของรัฐบาล และอีก 18 คน มาจากการเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปรีดีเป็นประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งการประชุมร่างพระราชบัญญัติฯ ของกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นการประชุมลับ[2] เมื่อประชุมฯ เสร็จสิ้นลงจึงนำร่างพระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากรมาแปรญัตติและแก้ไขเพิ่มเติมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 นายปรีดีกล่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 36 คนทำงานกัน “หามรุ่ง หามค่ำ”[3] กว่าจะตรากฎหมายออกมาเป็นประมวลรัษฎากรฉบับแรก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ในชื่อว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481[4]

 

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2482แจกหนังสือข่าวโฆษณาการฉบับพิเศษ ซึ่งลงคำชี้แจงเรื่องประมวลรัษฎากรให้แก่ราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2482แจกหนังสือข่าวโฆษณาการฉบับพิเศษ ซึ่งลงคำชี้แจงเรื่องประมวลรัษฎากรให้แก่ราษฎร

 

ภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากรแล้วทางรัฐบาลคณะราษฎรได้ดำเนินงานทั้งจัดทำข้อมูลพื้นฐาน จัดทำฐานข้อมูลการประกอบธุรกิจ ด้วยการขอข้อมูลการทำงาน และรายชื่อของผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้จากหน่วยงานราชการทั้งในพระนครและต่างจังหวัด[5] และจัดทำคู่มือประมวลรัษฎากรออกจำหน่ายในราคาย่อมเยา รวมทั้งมีการเผยแพร่ผ่านการปาฐกถาและอบรมข้าราชการเกี่ยวกับประมวลรัษฎากรในจังหวัดต่างๆ[6] และสำนักงานโฆษณาการยังจัดทำการ์ตูนเกี่ยวกับการจ่ายภาษีอากรใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2482[7] โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังการประกาศใช้ประมวลรัษฎากรไว้ให้ราษฎรเข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้

 

การ์ตูนเปรียบเทียบเรื่องภาษีอากรก่อนและหลังประกาศใช้ประมวลรัษฎากร จัดทำโดยสำนักงานโฆษณาการ 11 เมษายน พ.ศ. 2482
การ์ตูนเปรียบเทียบเรื่องภาษีอากรก่อนและหลังประกาศใช้ประมวลรัษฎากร
จัดทำโดยสำนักงานโฆษณาการ 11 เมษายน พ.ศ. 2482

 

ก่อนใช้ประมวลรัษฎากร

ภายหลังใช้ประมวลรัษฎากร

กรรมกรซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท

เสียเงินรัชชูปการปีละ ๕ บาท

(มีอัตรา ๓ ๒ และ ๑ บาทในบางท้องที่)

กรรมกรซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท ไม่เสียเงินรัชชูปการ แต่เสียเงินช่วยการประถมศึกษาปีละ ๑ บาท

ชาวนามีนา ๔๐ ไร่ ราคาไร่ละ ๑ บาท มีเงินได้สุทธิหรือกำไรจากการทำนา ต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท

เสียเงินรัชชูปการปีละ ๕ บาท

เสียอากรค่านาปีละ ๘ บาท

รวม ๑๓ บาท

ชาวนามีนา ๔๐ ไร่ ราคาปานกลางไร่ละ ๖ บาท มีเงินได้สุทธิหรือกำไรจากการทำนาต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท

ไม่เสียเงินรัชชูปการ แต่เสียเงินช่วยการประถมศึกษาปีละ ๑ บาท

ไม่เสียอากรค่านา แต่เสียเงินช่วยบำรุงท้องที่ปีละ ๔ บาท

รวม ๕ บาท

ชาวสวนมีสวนทุเรียนรวง ๑ ขนัด เป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ราคารวมทั้งค่าต้นไม้บนที่ดินไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท มีเงินได้สุทธิหรือกำไรจากการทำสวนต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท

เสียเงินรัชชูปการปีละ ๕ บาท

เสียอากรสวนใหญ่ปีละ ๘ บาท

รวม ๑๓ บาท

 

 

ชาวสวนมีสวนทุเรียนรวง ๑ ขนัด เป็นเนื้อที่ ๑ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ขนาดปานกลางไม่รวมค่าต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างและที่ดินไร่ละ ๖๐๐ บาท มีเงินได้สุทธิหรือกำไรจากการทำสวนต่ำกว่าปีละ ๖๐๐ บาท

ไม่เสียเงินรัชชูปการ แต่เสียเงินช่วยการประถมศึกษา ปีละ ๑ บาท

ไม่เสียอากรสวนใหญ่แต่เสียเงินช่วยบำรุงท้องที่ ปีละ ๑ บาท ๑๓ สตางค์

รวม ๒ บาท ๑๓ สตางค์

คนชั้นกลางมีรายได้ ปีละ ๓,๐๐๐ บาท มีบ้านอยู่ ๑ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ราคารวมทั้งบ้าน ๓,๖๐๐ บาท มีรถยนต์ยี่ห้อออสติน ๗ แรงม้า ๑ คัน มีภริยาและมีบุตร ๔ คน

ภาษีอากรที่ต้องเสีย

(๑) ภาษีเงินได้ ปีละ ๒๔ บาท

(๒) ภาษีเขต ปีละ ๓๐ บาท

(๓) เงินรัชชูปการ ปีละ ๕ บาท

รวม ๕๙ บาท

คนชั้นกลางมีรายได้ ปีละ ๓,๐๐๐ บาท มีบ้านอยู่ ๑ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ราคาปานกลางของที่ดินไม่รวมบ้าน ๑,๖๐๐ บาท มีรถยนต์ยี่ห้อออสติน ๗ แรงม้า ๑ คัน มีภริยาและมีบุตร ๔ คน

เงินที่ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร

(๑) ภาษีเงินได้ ปีละ ๑๔ บาท

(๒) ภาษีเขต ปีละ ๑๕ บาท

(๓) เงินช่วยการประถมศึกษา ปีละ ๑ บาท

(๔) เงินช่วยบำรุงท้องที่เมื่อยินยอมให้หักตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๕๐ แล้วไม่ต้องเสีย

รวม ๓๐ บาท

คนมีเงินมีรายได้จากค่าเช่าในการให้เช่าโรงเรือนปีละ ๒,๔๐๐ บาท มีบ้านอยู่ ๓ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ราคารวมทั้งบ้าน ๓๐,๐๐๐ บาท มีรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดซ์เบ็นซ์เก๋ง ๑ คัน มีภริยาและบุตร ๔ คน

ภาษีอากรที่ต้องเสีย

(๑) ภาษีโรงเรือน ปีละ ๓,๐๐๐ บาท

(๒) ภาษีเงินได้ส่วนการศึกษา ไม่ต้องเสียตามกฎหมาย

(๓) ภาษีเสริม ปีละ ๖๒๐ บาท

(๔) ภาษีรถยนต์ ปีละ ๕๐ บาท

(๕) เงินรัชชูปการ ปีละ ๕ บาท

รวม ๓,๖๗๕ บาท

 

 

 

คนมีเงินมีรายได้จากค่าเช่าในการให้เช่าโรงเรือนปีละ ๒,๔๐๐ บาท มีบ้านอยู่ ๓ ไร่ อยู่ในเขตเทศบาล ราคารวมทั้งบ้าน ๓๐,๐๐๐ บาท มีรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดซ์เบ็นซ์เก๋ง ๑ คัน มีภริยาและบุตร ๔ คน

ภาษีอากรที่ต้องเสีย

(๑) ภาษีโรงเรือน ปีละ ๓,๐๐๐ บาท

(๒) ภาษีเงินได้ส่วนภาษีปกติ ไม่ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร

(๓) ภาษีเสริมคำนวณจากเงินได้ซึ่งได้หักค่าลดหย่อนค่าใช้ง่าย และค่าภาษีโรงเรือนออกแล้ว ปีละ ๑๕๐ บาท

(๔) ภาษีรถยนต์ ปีละ ๒๕ บาท

(๕) เงินช่วยการประถมศึกษา ปีละ ๑ บาท

(๖) เงินช่วยบำรุงท้องที่ เมื่อได้ยินยอมให้หักตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๕๐ แล้ว ปีละ ๑๖ บาท

รวม ๓,๑๙๒ บาท

ตารางเปรียบเทียบเรื่องภาษีอากรก่อนและหลังประกาศใช้ประมวลรัษฎากร
จัดทำโดยสำนักงานโฆษณาการ 11 เมษายน พ.ศ. 2482

 

จะเห็นได้ว่าประชาชนในระบอบใหม่ได้ประโยชน์จากการประกาศใช้ประมวลรัษฎากรฉบับแรก เพราะมีระบบภาษีอากรที่เป็นธรรมขึ้นกว่าระบอบเก่า จากนั้นรัฐบาลก็ได้รวบรวมข้อมูลผลงาน สถิติ และนโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินงานช่วง พ.ศ. 2475 - 2481 แล้วจัดพิมพ์เป็นหนังสือไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน

 

ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 : การเผยแพร่นโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจของคณะราษฎร

 

ภาพการประชุมของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 9 ​เมื่อ พ.ศ.​ 2481
ภาพการประชุมของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 9 ​เมื่อ พ.ศ.​ 2481

 

7 ปี หลังการอภิวัฒน์สยาม เมื่อ พ.ศ. 2482 มีรัฐบาลคณะราษฎรคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตย และหลัก 6 ประการ

 

ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475
วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

หลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่การประชุมก่อตั้งคณะราษฎร[8] แล้วนำมาเผยแพร่ในประกาศคณะราษฎรและยังเป็นคำปฏิญาณของสมาชิกผู้แทนราษฎรนับตั้งแต่การประชุมสภาฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยนายปรีดีเป็นผู้นำปฏิญาณและให้สมาชิกสภาฯ ปฏิญาณพร้อมกันว่า

 

“ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) ขอให้คำปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎรและจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของราษฎรไว้ให้มั่นคง

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงมาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอกัน

5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร…”

 

เมื่อพิจารณาหลักข้อ 3 เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจพบว่าในระยะ 10 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์ รัฐบาลคณะราษฎรมีการเสนอโครงการเศรษฐกิจประมาณ 10 โครงการฯ เข้าสู่การประชุมสภาฯ และบางโครงการฯ ยังแปรจากนโยบายไปเป็นการปฏิบัติในเวลาต่อมา[9]

 

ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482
ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482

 

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลคณะราษฎรจึงจัดพิมพ์หนังสือไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 ขึ้นเพื่อเผยแพร่นโยบายเศรษฐกิจสังคมเปรียบเทียบทางสถิติและข้อมูลระหว่างสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยคณะราษฎรโดยครอบคลุมหลัก 6 ประการ ทั้งด้านการรักษาเอกราช เศรษฐกิจ การศึกษา และการสาธารณสุข ในที่นี้ผู้เขียนจะเสนอหลักเศรษฐกิจข้อ “3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” เพื่อให้เห็นผลงานด้านนโยบายเศรษฐกิจในรอบ 7 ปีของรัฐบาลคณะราษฎร

 

หลัก 6 ประการในไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482
หลัก 6 ประการในไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482

 

ผลการดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจ

ด้านการพัฒนา ธุรกิจการค้า และอุตสาหกรรม

 

เครื่องจักรในโรงงานทอผ้า เขตพระนคร
เครื่องจักรในโรงงานทอผ้า เขตพระนคร

 

เครื่องจักรภายในโรงงานทำน้ำตาล จังหวัดลำปาง
เครื่องจักรภายในโรงงานทำน้ำตาล จังหวัดลำปาง

 

โรงงานทำกระดาษ จังหวัดกาญจนบุรี
โรงงานทำกระดาษ จังหวัดกาญจนบุรี

 

สถิติราคารวมสินค้าฝ้ายออกของประเทศ พ.ศ. 2474 - 2480
สถิติราคารวมสินค้าฝ้ายออกของประเทศ พ.ศ. 2474 - 2480

 

เนื้อที่ปลูกถั่วเหลือง พ.ศ. 2474 - 2480
เนื้อที่ปลูกถั่วเหลือง พ.ศ. 2474 - 2480

 

ในด้านเศรษฐกิจช่วงแรกทางรัฐบาลได้วางโครงการสร้างถนนสายต่างๆ ด้วยงบประมาณในการลงทุนเป็นจำนวนเงินหลายสิบล้านบาท ส่วนในด้านอุตสาหกรรมยังได้สร้างโรงงานทำกระดาษ โรงงานทำน้ำตาล โรงงานทอผ้า โรงงานไหม และสนับสนุนบำรุงอุตสาหกรรมพื้นเมือง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเกษตรกรรม เช่น การปลูกฝ้าย การปลูกถั่วเหลือง และการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าไม้ การชลประทาน รวมทั้งยังขยายจำนวนสหกรณ์ให้กู้ยืมเงิน การขยายขนส่งทางเครื่องบิน ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการรถไฟกับการไปรษณีย์โทรเลขให้ทันสมัย

 

นายปรีดี พนมยงค์ กระทำพิธีขุดคลองเพื่อบำรุงการทำนาเกลือ ณ ตำบลวัดใต้คลองรุ่ย จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2482
นายปรีดี พนมยงค์ กระทำพิธีขุดคลองเพื่อบำรุงการทำนาเกลือ
ณ ตำบลวัดใต้คลองรุ่ย จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2482

 

ส่วนในด้านธุรกิจการค้าทางรัฐบาลยังเข้าคุ้มครองสินค้าบางประเภท อาทิ ยาสูบและเกลือรวมถึงได้มีนโยบายให้ผู้ที่ส่งสินค้ายาสูบและเกลือออกไปจำหน่ายออกนอกประเทศได้รับรางวัลตามสมควร และได้มีการแก้ไขปัญหาเงินกู้โดยทางรัฐบาลคณะราษฎรตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้จัดการออกพระราชบัญญัติจัดการกู้เงินในประเทศอีก 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

ด้านการคลังของประเทศ

จากสถิติและตารางภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังการอภิวัฒน์แสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายทางการคลังของรัฐบาลคณะราษฎร ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการคลัง ตามรายงานเงินรายได้และรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2474 ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังปรากฏให้เห็นว่า รัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ตั้งรายได้ไว้ 94,809,713 บาท และรายจ่าย 94,346,979 บาท ซึ่งเมื่อรวบรวมตัวเลขเงินได้จริงและเงินจ่ายจริงเสร็จแล้ว ปรากฏรายได้เป็นจำนวนเพียง 78,948,232 บาท 62 สตางค์ โดยรายได้ต่ำกว่างบประมาณถึง 15,860,480 บาท 94 สตางค์

ส่วนรายจ่ายจริงเป็นจำนวน 89,082,358 บาท 06 สตางค์ และแม้รัฐบาลจะได้โอนเงินดอกเบี้ยของทุนสำรองเงินตราที่เหลือจ่ายมาช่วยชดเชยในรายจ่ายเป็นเงิน 1,600,235 บาท 28 สตางค์แล้ว ก็ยังมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ถึง 8,533,890 บาท 16 สตางค์ ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นต้องดึงเงินสะสมไว้เป็นเงินคงคลังออกมาชดใช้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2481 ปรากฏว่ารัฐบาลปัจจุบันมีรายได้ 109,425,940 บาท เพิ่มขึ้นถึง 30,477,708 บาท โดยตัวเลขเงินรายได้นี้เป็นรายได้ที่กำหนดตามงบประมาณและเงินที่เก็บได้จริงอาจจะสูงกว่านี้อีกถึง 3,000,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังภายใต้ขุนคลังคือนายปรีดี ณ ขณะนั้นระบุว่ากำลังดำเนินการตรวจสอบรายได้ที่แน่ชัด

รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้พยายามแก้ไขฐานะการคลังของประเทศให้ดีขึ้นและเปลี่ยนแปลงงานคลังเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองในสามเรื่องหลัก ได้แก่

“๑. ยกเลิกภาษีอากรบางอย่างที่ไม่เหมาะสมเพื่อเป็นการปลดเปลื้องภาระแก่ราษฎร คือ

(๑) ภาษีเงินรัชชูปการ ..... คิดเป็นเงิน ราว ..... ๖,๘๐๐,๐๐๐ บาท

(๒) อากรค่านา ............... ” ............... ๕,๔๐๐,๐๐๐ บาท

(๓) อากรสวน ............... ” ............... ๓๒๐,๐๐๐ บาท

(๔) ภาษีไร่อ้อย ............... ” ............... ๑๘,๕๐๐ บาท

(๕) ภาษีไร่ยาสูบ ............... ” ............... ๖๐,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ยังลดภาษีอากรบางอย่างลงอีกเป็นเงินราว ..... ๔๕๐,๐๐๐ บาท

รวมเงินค่าภาษีอากรที่ยกเลิกและลดไปเป็นเงินประมาณ ..... ๑๓,๐๔๔,๕๐๐ บาท

๒. กำหนดปีงบประมาณแผ่นดินเสียใหม่ ซึ่งเดิมปีงบประมาณเป็นตามปีปฏิทิน แต่วิธีนี้ไม่อำนวยความสะดวกและคุณประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินได้เพียงพอ เพราะในเวลาที่กำลังเตรียมงบประมาณนั้นควรจะเป็นระหว่างฤดูฝน เมื่อฤดูแล้งมาถึงจะได้ลงมือทำงานได้เต็มที่ตามงบประมาณที่ได้รับ ด้วยเหตุฉะนี้ รัฐบาลจึ่งได้เปลี่ยนปีงบประมาณเสียใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ไปสิ้นสุดลงในวันที่ ๓๐ กันยายนเพื่อให้เหมาะสมแก่ฤดูกาล

๓. ปรับปรุงภาษีอากรใหม่ ทั้งนี้เพราะว่า วิธีเก็บภาษีอากรของเราได้ถูกปล่อยทอดทิ้งมานานแล้ว ไม่มีการชำระสะสางยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรมแก่สังคม ไม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง รัฐบาลชุดปัจจุบันจึ่งได้ลงมือชำระสะสางและรวบรวมการเก็บภาษีอากรต่างๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สะดวกแก่การที่จะทราบและค้นหา ทั้งได้วางหลักแก้ไขให้เป็นธรรมแก่สังคมในการเก็บด้วย คือผู้มีมากเสียมาก ผู้มีน้อยเสียน้อย ผู้ใช้มากเสียมาก ฯลฯ ตามส่วนแห่งความสามารถในการเสียภาษีอากรของราษฎร และบัดนี้ก็ได้ประกาศใช้กฎหมายภาษีอากรใหม่นี้แล้วเรียกว่า “ประมวลรัษฎากร”

โดยวิธีใช้ประมวลรัษฎากรนี้ รายได้ของแผ่นดินจะค่อยเขยิบสูงขึ้นทุกที เป็นโอกาสให้รัฐบาลหาเงินมาบำรุงประเทศได้มากขึ้น”

 

รายได้ของประเทศเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481
รายได้ของประเทศเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481

 

เงินคงคลังเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481
เงินคงคลังเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481

 

จากความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจ การคลัง และภาษีอากรโดยประกาศใช้ประมวลรัษฎากรฉบับแรกของสยามและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของข้อมูลสถิติข้างต้น ชี้เห็นได้ว่ารายได้ของประเทศสยาม พ.ศ. 2481 เพิ่มขึ้นกว่า 30,000,000 บาท เป็น 109,425,940 บาท จากรายได้เดิมเมื่อ พ.ศ. 2474 คือ 78,948,232 บาท เช่นเดียวกับเงินคงคลัง พ.ศ. 2481 ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมราว 28,000,000 บาทเป็น 67,582,020 บาท จากเงินคงคลังเดิมเมื่อ พ.ศ. 2474 คือ 39,700,898 บาท

 

รายจ่ายของประเทศ พ.ศ. 2474 - 2481
รายจ่ายของประเทศ พ.ศ. 2474 - 2481

 

หนี้ของรัฐบาลเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481
หนี้ของรัฐบาลเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481

 

ทุนสำรองธนบัตรเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481
ทุนสำรองธนบัตรเปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481

 

ธนบัตรออกใช้เปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481
ธนบัตรออกใช้เปรียบเทียบ พ.ศ. 2474 และ พ.ศ. 2481

 

นอกจากรายได้ของประเทศและเงินคงคลังที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรนี้ หนี้ของรัฐบาลยังลดลงจากเดิมเมื่อ พ.ศ. 2474 ที่รัฐบาลมีหนี้ 118,638,796 บาท แต่ถึง พ.ศ. 2481 รัฐบาลมีหนี้ 73,003,499 บาท โดยหนี้ของรัฐบาลลดลงประมาณ 45,000,000 บาท แม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลในระบอบใหม่จะมีรายจ่ายของประเทศและการผลิตธนบัตรออกใช้เพิ่มขึ้น แต่หนี้กลับลดลงรวมถึงทุนสำรองธนบัตรใน พ.ศ. 2481 ยังเพิ่มขึ้นกว่ารัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึง 65,000,000 บาท จากเดิมเมื่อ พ.ศ. 2474 สยามมีทุนสำรองธนบัตร 105,629,223 บาท พอล่วงมาถึง พ.ศ. 2481 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 170,456,036 บาท

ข้อมูลใหม่ของสถิติทางเศรษฐกิจและการคลัง พ.ศ. 2474 - 2481 ในหนังสือ ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 และการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 ฉบับแรก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2482 สมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยเติมเต็มความรู้ทางวิชาการและโต้แย้งข้อวิพากษ์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจสมัยคณะราษฎรที่ขาดหายไปในช่วง 7 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์ แม้จะเป็นข้อมูลสำคัญแต่ผู้เขียนยังคาดหวังและปรารถนาว่าจะมีการศึกษาข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และค้นพบเอกสารรายงานการเศรษฐกิจที่ละเอียดในยุคนี้เพิ่มเติม บทความชิ้นนี้จึงเป็นการเปิดเผยหลักฐานชั้นต้นของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยคณะราษฎรชิ้นเล็กๆ ที่รอการค้นคว้าต่อยอดให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในทางวิชาการและการศึกษาวิธีกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในเชิงอุดมคติเพื่อประชาชนต่อไปในอนาคต

 

ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหนังสือไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 มีนาคม 2481, เล่ม 55, ตอน ง, หน้า 1-3.
  • ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติให้ใช้บัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2482, เล่ม 56 หน้า 1-4.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 942-1043.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1826-1933.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) ศธ. 15/2 กล่อง 1 เอกสารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ส่งหลักฐานที่ผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (8 เมษายน 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 5.16.12/31 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การหารือสงสัยเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร จังหวัดปราจีนบุรี (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 2.2.5/6 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดกาญจนบุรี รายงานการรับรองเจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานโฆษณาซึ่งออกไปแสดงปาฐกถา เรื่อง นโยบายของรัฐบาล และประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 2.2.5/93 กล่อง 4 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานการอบรมข้าราชการให้เข้าใจในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สร 0201.22(1-18) กล่อง 1-2. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (การเศรษฐกิจ) (พ.ศ. 2473-2492)

หนังสือภาษาไทย :

  • เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, แปลโดย ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552).
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนายน 2482 (พระนคร: โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482).
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526).
  • เอนก นาวิกมูล, สมุดภาพยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม 2482 (กรุงเทพฯ: โนรา, 2544).

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Akira, Suehiro, Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 (Chiang Mai: Silkworm Book, 1996).

บทความในหนังสือ :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, “ประมวลรัษฎากร” ใน ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 488-498.

วิทยานิพนธ์ :

  • ชวลิต วายุภักตร์, “การปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2475-2485,” (วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519).
  • สมศักดิ์ มหาทรัพย์สกุล, “การเก็บเงินรัชชูปการและผลกระทบต่อสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2444-2482,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2534).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง), วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.

[2] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13 มีนาคม 2481, เล่ม 55, ตอน ง, หน้า 1-3.

[3] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง), วันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม.

[4] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติให้ใช้บัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2482, เล่ม 56, หน้า 1-4.

[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) ศธ. 15/2 กล่อง 1 เอกสารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ส่งหลักฐานที่ผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (8 เมษายน 2482).

[6] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มท.2.2.5/6 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดกาญจนบุรี รายงานการรับรองเจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานโฆษณาซึ่งออกไปแสดงปาฐกถา เรื่อง นโยบายของรัฐบาล และประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482) และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท. 2.2.5/93 กล่อง 4 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานการอบรมข้าราชการให้เข้าใจในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)

[7] เอนก นาวิกมูล, สมุดภาพยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม 2482 (กรุงเทพฯ: โนรา, 2544), น. 68.

[8] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

[9] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, (2) สร0201.22(1-18) กล่อง 1-2. เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (การเศรษฐกิจ) (พ.ศ. 2473-2492)