ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความเป็นอนิจจังของสังคม : หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

14
กันยายน
2565

Focus

  • สังคมต่างๆ มิได้อยู่คงที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าไปสู่ระบบใหม่ที่ยิ่งกว่าขึ้นไปตามลำดับ ด้วยความเป็นอนิจจังของสังคม
  • การเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบบเก่าที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีพระราชอำนาจสูงสุด (คือเป็นเจ้าชีวิตของสมาชิกแห่งสังคมศักดินาที่ทรงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคม คือ ที่ดิน) เป็นสังคมใหม่ในระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย
  • การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ทำให้ประเทศไทยสามารถยกเลิกความสัมพันธ์แบบไม่เสมอภาคกับประเทศ (บรม) ธนานุภาพ (ทุนนิยม) ได้ และแม้ว่าสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง โดยยังคงดำเนินไปตามระบบศักดินาผสมระบบธนานุภาพ แต่ในที่สุดระบบหลังก็ย่อมหมดไป (ดังที่ระบบทาสและระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้หมดไปแล้ว) กลายเป็นสังคมใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

บทที่ 2 หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง

2.1

สำหรับท่านผู้อ่านที่ได้เคยศึกษามนุษยชาติวิทยา หรือได้เคยศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมแห่งมนุษย์ต่างๆ มาแล้วก็ดี หรือได้เคยสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแก่มนุษยสังคมทั้งหลาย ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นี้ก็ดี ท่านก็จะเห็นได้เองว่าระบบของมนุษยสังคมใหญ่น้อยทั้งหลายในสากลโลกมิได้นิ่งคงอยู่กับที่ คือมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเก่าไปสู่ระบบที่ใหม่ยิ่งกว่าขึ้นไปตามลำดับ

ก่อนที่จะกล่าวถึงมนุษยสังคมทั้งหลาย สำหรับท่านผู้อ่านโดยทั่วไปนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาความเคลื่อนไหวของสังคมไทยที่ท่านประสบหรือสัมผัสอยู่ในระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่นี้ และที่ท่านสามารถถามผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเคยประสบมาตลอดจนหลักฐานต่างๆ ที่ท่านอาจค้นคว้าศึกษาได้อย่างใกล้ชิดกับเหตุการณ์ยิ่งกว่าการได้ยินคำบอกเล่าของสังคมอื่นที่ท่านยังมิได้เห็นหรือประสบด้วยตนเอง ท่านจะเห็นความเป็นอนิจจังของระบบสังคมได้ถนัด

2.2

ท่านย่อมทราบอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น สังคมไทยอยู่ภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบบที่เก่าแก่มาแล้วหลายศตวรรษ ระบบนั้นมีพลังมากมาย เช่น พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของสังคมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด คือ เป็นเจ้าชีวิตของสมาชิกแห่งสังคมและเป็นเจ้าแผ่นดิน หรือนัยหนึ่งเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสังคมในสมัยศักดินา คือ ที่ดิน ดั่งที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและเป็นหลักที่ถือต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า

“ที่ดินทั้งหลายในแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยาฯ เป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ ฯลฯ”

ความสัมพันธ์ในการผลิตสมัยก่อนโน้นก็คือ สมาชิกของสังคมเป็นข้าแผ่นดิน ซึ่งต้องทำงานในที่ดินและทำงานทั่วไปโดยส่งบรรณาการที่เรียกว่า “ส่วย” และ “อากรค่านา” ให้แก่ประมุขของสังคม แม้ว่าในกาลต่อมาจะตั้งศัพท์ใหม่ว่า “เงินค่าราชการ” หรือ “รัชชูปการ” แทนคำว่า “ส่วย” ก็ตาม แต่มวลราษฎรในชนบทก็มีความเข้าใจในลักษณะที่แท้จริงของเงินชนิดนี้ดี คือยังคงเรียกว่า “ส่วย” อยู่นั่นเอง โดยไม่นำพาต่อศัพท์ใหม่ เช่นมวลราษฎรในชนบทไปชำระเงินรัชชูปการก็เรียกว่าไปเสีย “ส่วย” เป็นต้น

2.3

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตจากการที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิตและเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งหลายในสังคมดังกล่าวแล้วมาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย และดั่งนั้น ปวงชนชาวไทยจึงเป็นเจ้าของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ ส่วนอาญาสิทธิ์ของเจ้าของนาซึ่งเป็นอำนาจของรัฐชนิดหนึ่งที่เจ้าของนามีอำนาจยึดทรัพย์สินตลอดจนเครื่องมือ ข้าวกิน ข้าวปลูกของลูกนา (ซึ่งยังคงมีอยู่ในสังคมอื่นๆ จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่เจ้าของนามีอำนาจยึดข้าวทุกเมล็ดและเครื่องมือทุกอย่างตลอดจนเอาลูกเมียของลูกนาไปทำงานใช้หนี้) นั้น พ.ร.บ. ว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พ.ศ. 2475 ก็ได้ประกาศใช้โดยมิชักช้าเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตระหว่างเจ้าของนากับลูกนา โดยถอนอาญาสิทธิ์ที่เจ้าของนาได้รับไว้สืบต่อกันมานั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์เก่าระหว่างเจ้ากับลูกนาให้เป็นความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าแห่งระบบธนานุภาพหรือระบบทุน ฉะนั้น ต่อจากนั้นเราจึงไม่เห็นสภาพการยึดทรัพย์ของกสิกรในสังคมไทย เหมือนดังในสังคมอื่น ซึ่งเพิ่งเลิกไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนเงินรัชชูปการและอากรค่านาอันเป็นซากของเงินส่วยก็ได้ยกเลิกไปโดยประมวลรัษฎากรซึ่งปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมที่เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482

ข้อสังเกต

การเปลี่ยนระบบปกครองของประเทศจีนเมื่อ ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ซึ่งมีท่านซุนยัดเซ็นเป็นหัวหน้านั้น แม้ว่าได้ล้มระบบจักรพรรดิราชาธิปไตยแล้วได้สถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นใน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2454) แทนก็ตาม แต่ความสัมพันธ์การผลิตตามระบบการผลิตศักดินายังคงเป็นอยู่ตามเดิม คือ เจ้าของที่ดินยังคงมีอาญาสิทธิ์ยึดข้าวทุกเมล็ดและเครื่องมือทำนาของลูกนา และเอาลูกเมียของลูกนาไปทำงานใช้หนี้ได้ อาญาสิทธิ์ของเจ้าของนาจีนดังกล่าวยังคงมีอยู่ต่อมาอีก 38 ปี จนกระทั่งประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ชัยชนะต่อพรรคกั๊วะ มิ่นตั๋ง และได้สถาปนาระบบ “สาธารณรัฐของราษฎรจีน” (People's Republic of China) ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) รัฐบาลของราษฎรจีนได้มีการปรับปรุงระบบที่ดินในชนบทของเจ้าที่ดินโดยยึดเอามาแบ่งให้ราษฎรเป็นเจ้าของแล้วจัดระบบร่วมแรงงานในการผลิตเป็นเบื้องแรกซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นระบบสหกรณ์จากระดับต่ำสู่ระดับสูงตามลำดับ และพัฒนาต่อมาเป็น “สหการ” (Commune) ส่วนที่ดินและอาคารของเอกชนในเมืองนั้นเจ้าของที่ดินยังคงเป็นเจ้าของต่อไปโดยมิได้ถูกเวนคืน ถ้ารัฐบาลต้องการใช้ที่ดินและอาคารของเอกชนในเมือง รัฐก็เจรจาขอซื้อหรือขอเช่า

ชาวจีนรวมทั้งคอมมิวนิสต์จีนจำนวนข้างมากที่สุด (ยกเว้นจำนวนน้อยไม่กี่คน) ถือว่าการเปลี่ยนระบบสังคมจีนเมื่อ ค.ศ. 1911 เป็น “เก๋อมิ่ง” เรียกเป็นศัพท์จีนว่า “ซิ้งไห้เก๋อมิ่ง” คำว่า “ซิ้งไห้” เป็นชื่อของปีตามปฏิทินจีนที่ตรงกับ ค.ศ. 1911 และคำว่า “เก๋อมิ่ง” ก็เทียบได้กับคำอังกฤษ “Revolution” (เรฟโวลูชัน) ส่วนการเปลี่ยนระบบสังคมจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น แม้ยังไม่เปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตศักดินาให้หมดสิ้นไปก็เป็น “เก๋อมิ่ง”

2.4

ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา สังคมไทยก็ได้เข้าสู่ระยะหัวต่อระหว่างระบบเก่าและระบบใหม่จนถึงปัจจุบันนี้ และจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่าใดเราก็ไม่อาจกำหนดเป็นเงื่อนเวลาได้ เพราะเงื่อนเวลาเช่นนี้ย่อมขึ้นอยู่แก่เงื่อนไข

ในระหว่างหัวต่อนี้ เราจึงเห็นได้ว่าในทางการเมืองภายในของสังคมนั้น สถาบันและระบบการเมืองที่ได้สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่คงอยู่กับที่ รัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมากมายหลายฉบับซึ่งบางฉบับก็ถอยหลังเข้าไปหาระบบเก่าหลายก้าว บางฉบับก็ก้าวหน้ายิ่งขึ้นจนถึงกับให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนหรือพฤฒสภา

2.5

ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับสังคมธนานุภาพทั้งหลายนั้น รูปธรรมก็ปรากฏว่า ประมาณ 100 ปีมานี้สังคมธนานุภาพหลายสังคมได้บังคับให้สังคมศักดินาไทยจำต้องยอมให้สังคมธนานุภาพใหญ่น้อยได้มีอภิสิทธิ์ในทางศาล ทางศุลกากร ทางเศรษฐกิจ และการเมือง ฯลฯ เหนือสังคมไทย ตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค อันเป็นผลให้สังคมไทยต้องตกเป็นสังคมที่เสมือนเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้นของสังคมธนานุภาพเหล่านั้น และเปิดการค้ากับมีการเศรษฐกิจอย่างใหม่ตามทำนองของระบบธนานุภาพแทรกขึ้นมาอีกระบบหนึ่งในสังคมศักดินาไทย แต่อนิจจังคือความไม่เที่ยงแท้ของระบบธนานุภาพนั่นเอง สังคมไทยได้บอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับสังคมธนานุภาพใหญ่น้อยต่างๆ นั้นใน พ.ศ. 2479 แล้วได้ทำสนธิสัญญาใหม่กับสังคมต่างๆ บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค

ระยะหัวต่อระหว่างระบบคล้ายอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมกับระบบใหม่ซึ่งต้องการความเป็นเอกราชสมบูรณ์ยังคงเป็นอยู่ เพราะสังคมธนานุภาพยังคงมีอยู่ สังคมธนานุภาพบางสังคมที่สูญเสียอภิสิทธิ์ไปแล้วก็พยายามได้อำนาจคืน แต่สังคมธนานุภาพใดได้ฟื้นอำนาจมาก็เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะในที่สุดอำนาจนั้นก็ต้องสลายโดยพลังของระบบใหม่ เช่น สังคมธนานุภาพญี่ปุ่น ได้มีอำนาจเหนือสังคมไทยในระหว่างมหาสงครามครั้งที่ 2 นั้นก็ต้องสลายไปตามกฎแห่งอนิจจัง

เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยคิดว่าระบบอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสในเอเชียยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ แต่บัดนี้ก็ประจักษ์ว่าระบบเช่นนั้นได้เสื่อมไปเร็วเกินความคาดหมาย เช่น อินเดีย ปากีสถาน พม่า ลังกา มลายู ได้รับความเป็นเอกราชพ้นจากระบบอาณานิคมของอังกฤษ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ได้รับความเป็นเอกราชพ้นจากระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ระบบธนานุภาพย่อมไม่จีรัง แม้จะมีอำนาจและแสนยานุภาพที่แสดงว่าเข้มแข็ง แต่เมื่อระบบธนานุภาพได้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นจนเป็นบรมธนานุภาพซึ่งเป็นขีดสูงสุดที่จะพัฒนาอีกต่อไปไม่ได้แล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและความสลายในที่สุด จักรภพโรมันในอดีตก็เป็นตัวอย่างที่ส่อให้สังคมธนานุภาพทั้งหลาย บรรดาที่มีอิทธิพลเหนือสังคมไทยเห็นกฎแห่งอนิจจังของเขาได้

2.6

ถ้าเราจะระลึกหรือค้นคว้าศึกษาถึงภายในของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีอยู่หลายศตวรรษก่อนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น เราก็จะเห็นได้ว่าภายในระบบนั้นเองได้มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้งตามวิถีดังกล่าวข้างต้น คือมีพลังเก่าและพลังใหม่ภายในระบบนั้นเอง แต่พลังใหม่ที่ก้าวหน้าของระบบย่อมได้ชัยชนะในการทำให้สังคมไทยก้าวหน้าเท่ากับที่การก้าวหน้านั้นไม่กระทบถึงตัวระบบนั้น การปรับปรุงระบบบริหารและตุลาการในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลต่อๆ มาเป็นการทำให้สังคมไทยก้าวหน้าบางประการเฉพาะที่เกี่ยวกับราษฎรสามัญทั่วไป แต่ยังคงรักษาระบบเก่าส่วนบนไว้ เช่น พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และอภิสิทธิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ต้องขึ้นศาลสำหรับราษฎรทั่วไป ฯลฯ แต่ในที่สุดระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจังโดยพลังใหม่ของสังคม ส่วนระบบธนานุภาพหรือระบบทุนนั้นยังคงมีเหลืออยู่

2.7

ถ้าเราจะพิจารณาสภาพของสังคมไทยที่เป็นอยู่เมื่อก่อน ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2449) อันเป็นสมัยที่ยังมีระบบทาส หรือท่านที่อยู่ในภาคพายัพจะพิจารณาเพียงสภาพก่อน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) อันเป็นสมัยที่ยังมีระบบทาสอยู่ในภาคพายัพก็จะเห็นได้ว่าสังคมไทยเคยผ่านระบบทาสมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง ระบบทาสของเรามีกฎหมายอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ ผู้สนใจอาจศึกษาได้ง่ายกว่าระบบทาสกรีกและโรมันจากตำรายุโรปที่ผ่านมาหลายทอด หรือจะสอบถามท่านผู้สูงอายุซึ่งจำความในสมัยนั้นได้ก็คงได้ข้อเท็จจริงที่ท่านเหล่านั้นได้ประสบ ภายในระบบทาสนั้นเองก็มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าเป็นลำดับมา เช่น มีการยกเว้นมิให้ลูกทาสต้องตกเป็นทาสตามพ่อแม่ การกำหนดเกษียณอายุทาสเพื่อให้ทาสมีอายุครบกำหนดที่บัญญัติไว้ได้มีอิสรภาพหรือความเป็นไท การบัญญัติให้ทาสมีบุคคลสมบัติแห่งการเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ฯลฯ ในที่สุดระบบทาสก็เลิกไปตามนิตินัยโดยพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124 และใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรครบถ้วนเมื่อ ร.ศ. 130

เราควรสังเกตไว้ด้วยว่า ระบบทาสในสังคมไทยนั้นได้อยู่คู่เคียงกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลาช้านาน

 

2.8

ส่วนการที่จะพิจารณาย้อนหลังขึ้นไปว่าก่อนมีระบบทาสนั้นสังคมไทยเคยอยู่ในระบบใด เราก็อาจจะพิจารณาได้จากมนุษย์ดั้งเดิมที่ยังมีเหลืออยู่ในดินแดนแห่งสังคมไทยนี้เอง เช่น พวกเงาะ ชาวน้ำ ฯลฯ ซึ่งเมื่อประมาณ 50 ปีมานี้ยังมีความเป็นอยู่ชนิดพเนจร มิได้ยึดถือที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตน และมีความเป็นอยู่ชนิดร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในสังคมน้อยๆ นั้น ซึ่งยังเป็นประเพณีตกทอดมาถึงชาวชนบทในปัจจุบันที่มีการร่วมมือกันในการทำนา เช่น การลงแขกไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ฯลฯ ชนเผ่าต่างๆ ซึ่งหลายคนเรียกเขาเหล่านั้นว่าชาวป่านั้นว่าที่แท้ชนเผ่านั้นเป็นมนุษย์เจ้าของถิ่นเดิม ความเป็นอยู่ของเขายังคงแสดงให้เห็นซากแห่งระบบปฐมสหการที่มีความเป็นอยู่ร่วมกัน

สังคมดั้งเดิมของมนุษย์ที่พัฒนาครบรูปสามัคคีธรรมก็ได้มีอยู่ ณ ตำบลแห่งหนึ่งระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับจังหวัดเลยเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนมานี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นได้เสด็จไปตรวจราชการถึงตำบลนั้น แล้วได้ทรงเขียนรายงานถึงความเป็นอยู่ร่วมกันตามระบบนี้ว่า ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างผาสุก ซึ่งพระองค์เปรียบเทียบว่าเป็นโซเชียลิสต์ สังคมไทยดึกดำบรรพ์ก็มีสภาพเป็นโซเชียลิสต์ชนิดหนึ่งตามลักษณะที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์นั้นได้ทรงพรรณนาไว้ แต่เป็นโซเชียลิสต์แห่งยุคปฐมกาล หรือระบบปฐมสหการ

ระบบสังคมนี้ไม่คงอยู่กับที่ คือมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยมีระบบใหม่ขึ้นมาแทนที่ ดังนั้นเราอาจจะพบว่าระบบปฐมสหการได้เสื่อมโทรมไปมากในชนเผ่าดั้งเดิมต่างๆ และสังคมที่เสนาบดีพระองค์นั้นตรัสชมเชยความผาสุกไว้ก็ไม่มีสภาพเหมือนแต่ก่อนแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงไปตามระบบใหม่ของสังคมไทยทั่วๆ ไป

2.9

ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดยพิจารณาจากปัจจุบันถอยไปหาปรากฏการณ์ในอดีตนั้น บัดนี้ถ้าเราจะลำดับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้เราก็จะเห็นว่าในสมัยดึกดำบรรพ์สังคมไทยเคยมีระบบสังคมชนิดต่างๆ ของมนุษย์ดั้งเดิมซึ่งพัฒนาเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ก็จัดเข้าอยู่ในประเภทที่เรียกว่าระบบปฐมสหการ (PRIMITIVE COMMUNAL SYSTEM) เมื่อระบบปฐมสหการเสื่อมลงไปก็มีระบบใหม่คือ ระบบทาส ระบบศักดินา ระบบธนานุภาพ หรือ ระบบทุน ได้เกิดแทรกขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสังคมไทยยังมีระบบทาสปะปนอยู่กับระบบศักดินา เมื่อระบบทาสสลายไปดังกล่าวแล้ว ระบบธนานุภาพก็ดำเนินคู่เคียงมากับระบบศักดินา ระบบศักดินาในส่วนที่เกี่ยวด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สลายไปโดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ระบบธนานุภาพในส่วนที่เกี่ยวแก่ระบบคล้ายอาณานิคมตามสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคได้หมดไปตามที่กล่าวมาแล้ว ระบบของสังคมไทยในปัจจุบันจึงมีบางส่วนของระบบศักดินา ผสมกับระบบธนานุภาพในส่วนที่เกี่ยวแก่ความสัมพันธ์การผลิตแบบใหม่ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง และระบบธนานุภาพในส่วนที่เกี่ยวแก่ความสัมพันธ์การผลิตระหว่างคนไทยและคนต่างด้าวที่มีอานุภาพมหาศาล หรือบรมธนานุภาพ ส่วนชื่อของสังคมไทยในปัจจุบันจะเรียกกันว่ากระไรนั้นก็สุดแท้แต่ความพอใจของผู้เรียก ซึ่งอาจเรียกตามสูตรสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือสภาวะที่เป็นจริงซึ่งเป็นสาระ

ปัจจุบันนี้ สังคมไทยจึงอยู่ในระหว่างหัวต่อระหว่างระบบต่างๆ ข้างต้นนั้น ซึ่งสลับซับซ้อน และยังเป็นหัวต่อระหว่างระบบเหล่านั้นกับระบบที่ใหม่กว่าซึ่งราษฎรเรียกร้องกันอยู่ในปัจจุบันนี้คือต้องการให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ เช่น ให้ยกเลิกสมาชิกสภาประเภทที่ 2 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ฯลฯ

สิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอนิจจัง



ที่มา : ปรีดี พนมยงค์. หลักฐานที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถค้นคว้าและประสบด้วยตนเอง ถึงการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง, ใน, ความเป็นอนิจจังของสังคม. (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 9) น.5-13.

 

บทความความเป็นอนิจจังของสังคมที่เกี่ยวข้อง :

บทก่อนหน้า

 

บทถัดไป