ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง : ผลงานสำคัญของปรีดี พนมยงค์

28
เมษายน
2566
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

หลังจากได้ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สามารถเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม กับประเทศมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมต่างๆ จนสามารถนำความเสมอภาค เกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี และที่สำคัญคืออำนาจอธิปไตยทั้งในทางศาล เศรษฐกิจ การเมืองกลับคืนมาให้แก่ประเทศชาติได้เรียบร้อยแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ก็ถูกขอร้องจากผู้นำคนใหม่ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีคนที่สามของประเทศไทย ให้เข้ามาช่วยรับภาระปรับปรุงและกอบกู้ระบบการเงินและการคลังของประเทศต่อไป โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว รัฐมนตรีคลังคนใหม่ผู้นี้ก็ได้ลงมือปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญนี้ในทันที ทั้งนี้งานแรกที่นายปรีดี พนมยงค์ ลงมือดำเนินการก็คือ การสร้างหรือที่นายปรีดีเองเรียกว่า “สถาปนา” ประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้การดำเนินการ “สถาปนา” ประมวลรัษฎากรนี้กล่าวได้ว่านายปรีดีได้กระทำโดยถือเป็นงานเร่งด่วน คือนับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันที่ 20 ธันวาคม 2481 หลังจากนั้นเพียง 3 เดือนเศษๆ คือในวันที่ 31 มีนาคม 2481 หรือหากจะนับอย่างปีปฏิทินปัจจุบัน ก็คือวันที่ 31 มีนาคม 2482 รัฐบาลก็สามารถประกาศใช้ “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481” ได้ และดูเหมือนรัฐบาลเองจะได้ใช้ประเด็นในเรื่องนี้ เป็นดั่งของขวัญวันปีใหม่ที่มอบให้แก่ประชาชนชาวไทยด้วย

ทั้งนี้เพราะในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้กำหนดการใช้บังคับไว้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2482 หรือเริ่มให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป ที่สำคัญการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลให้เป็นการยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ทันทีในหลายรายการ (มาตรา 4) เช่น พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการพุทธศักราช 2468 พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ. 119 พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อยพุทธศักราช 2464 พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้พุทธศักราช 2475 ฯลฯ เป็นต้น

การยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดเก็บภาษีต่างๆ เหล่านี้ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ที่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปกครองใหม่ๆ โดยการผลักดันของนายปรีดี พนมยงค์ และกรรมการราษฎรสายคณะราษฎร ทำให้รัฐบาลใหม่ได้เคยประกาศลดค่านาลงครึ่งต่อครึ่ง หรือลงร้อยละห้าสิบไปครั้งหนึ่งแล้ว อันได้ส่งผลต่อการปลดเปลื้องภาระค่าใช้จ่ายของชาวนากระดูกสันหลังของชาติลงเป็นอันมาก มาในครั้งนี้ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการเก็บเงินค่านาไปเลยจึงมีผลเท่ากับเป็นการปลดเปลื้องภาระค่าใช้จ่าย หรือที่แท้ก็คือความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวนาครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

ในประการที่สำคัญที่สุดจากผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ก็คือการยกเลิกเงินค่าราชการหรือเงินรัชชูปการที่นายปรีดี พนมยงค์ ถือว่าเป็นภาษีอันเป็น “ซากตกค้างจาก “เงินส่วย” ซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินาต้องเสียให้เจ้าศักดินา” อันถือเป็นการปลดเปลื้องภาระการแบกรับความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนหรือราษฎรครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยทีเดียว

ส่วนที่ว่าทำไมหรือเพราะเหตุใดนายปรีดี จึงได้กล่าวถึงเงินรัชชูปการว่าเป็นภาษี “ซากตกค้างจากเงินส่วย” เรื่องนี้เพื่อการเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อความเป็นธรรมแก่ราษฎรไทยในอดีต จึงขอกล่าวถึงในรายละเอียดดังนี้ คือตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พลเมืองสามัญหรือราษฎรไทยทุกคน นับตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาล้วนมีฐานันดรเป็น “ไพร่” และต้องถูกบังคับเกณฑ์แรงงานให้ไปทำงานโยธา เช่น สร้างถนน ขุดคลอง สร้างวัดวาอาราม ฯลฯ ตลอดมา

นักประวัติศาสตร์อย่าง ขจร สุขพานิช ถึงกับระบุไว้ว่า “ฐานันดรไพร่” นั้นมีมา “ตั้งแต่ พ.ศ. 1884 หรือ 9 ปีก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี” ด้วยซ้ำ เหตุที่เชื่อเช่นนี้เพราะในกฎหมายตราสามดวงลักษณะเบ็ดเสร็จ ที่ได้ตราขึ้นใน พ.ศ. 1884 ตรงกับพระนามพระเจ้าแผ่นดินว่า “สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีศรีวิสุทธิสุริวงษ์” นั้น ได้ระบุถึงการที่จะรับรองสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับทรัพย์สิน “บ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา” ตลอดไปถึงสิทธิเกี่ยวกับ “ลูกเมียวัวควาย” ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นต้องสังกัดอยู่กับเจ้าหมู่มูลนายเสียก่อน ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวงในลักษณะรับฟ้อง

นี่คือมูลเหตุของการมีฐานันดรไพร่ขึ้นในแผ่นดินสยามหรือแผ่นดินไทย ส่วนเหตุผลที่ต้องมีก็ว่าเพื่อให้ผู้คนรวมเป็นหมู่เป็นพวก “ไม่แตกพวกออกเพ่นพ่านพเนจร ซึ่งจะยากแก่การควบคุมดูแล” และเพื่อความจำเป็นของ “แผ่นดิน” หรือ “เมืองหลวง” ในเวลาต่อมา ในการเรียกระดมกำลังผู้คนในยามฉุกเฉิน เป็นต้น และดังที่ได้กล่าวแล้วว่าในความเป็นฐานันดร “ไพร่” นั้น ทำให้ราษฎรต้องถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน หรือไม่ก็ในลักษณะของการต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของ เช่น ดีบุก หญ้าช้าง ฯลฯ เป็นต้น

อย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานปีหนึ่งถึง 6 เดือน หรือที่เรียกกันว่า “เข้าเดือนออกเดือน” มาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือในสมัยรัชกาลที่ 1 ไพร่ถูกเกณฑ์แรงงานหรือที่เรียกกันว่า “ไพร่ต้องรับราชการงานโยธา” ปีหนึ่ง 4 เดือน มาถึงรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ไพร่หลวงที่เคยถูกบังคับเกณฑ์แรงงาน หรือ “ต้องรับราชการงานโยธาปีหนึ่ง 4 เดือนก็ได้ลดเหลือเพียง 3 เดือนส่วนคำว่า “รับราชการงานโยธา” จะมีความหมายว่าอย่างไรนั้น ขจร สุขพานิช ได้กล่าวไว้ดังนี้

 

“..มีกฎหมายเกณฑ์แรงงานให้ต้องปฏิบัติเรียกว่า “รับราชการงานโยธา” ในปีหนึ่งๆ จะต้องเข้ารายงานตัว และถูกควบคุมเป็นหมู่เหล่าให้ปฏิบัติงานทำถนน ขุดคลอง สร้างสะพาน ฯลฯ ตลอดระยะเวลา 1 เดือน แล้วจึงได้รับการปลดปล่อยให้กลับบ้าน 3 เดือน พ้น 3 เดือนไปแล้วก็ต้องกลับมา “รับราชการงานโยธา” ต่อไปอีก 1 เดือน แล้วกลับบ้านไปอีก 3 เดือน เช่นนี้ปีหนึ่งๆ จึงต้องมาใช้แรงงานปฏิบัติกันให้รัฐบาล 3 เดือน จึงเป็น 3 เดือนแห่งการไร้เสรีของทุกๆ ปี เครื่องมือ เช่น มีด จอบ เสียม และอาหารพร้อมทั้งเสื้อผ้า ไพร่ต้องหามาเองรัฐบาลไม่ได้จ่ายให้ แต่ไพร่ที่ปรารถนาจะซื้อเสรีก็ย่อมทำได้ ดังกฎหมายกำหนดให้ชำระเงินแทนแรงงาน เดือนหนึ่งเป็นเงิน 6 บาท ถ้าจะซื้อเสรีทั้ง 3 เดือนก็ต้องชำระเงิน 18 บาท เสรีของไพร่ยังซื้อหากันได้เป็นเงินตามกฎหมายกำหนด และไพร่ก็หมายถึงไพร่ชายตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึง 60 ปี หญิงนั้นย่อมอยู่นอกขอบข่ายของกฎหมายนี้”

 

นี่กล่าวเฉพาะไพร่หลวงคือไพร่สังกัดวังหลวง หากไพร่สังกัดวังอื่นอันหมายถึงวังของขุนนางชั้นสูงอื่นๆ และไพร่สังกัดกรมของข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ ขจร สุขพานิช สันนิษฐานว่า ไพร่ประเภทนี้ เรียกว่าไพร่สมและไพร่กำลังเป็นลำดับ แม้ต้องมารายงานตัวปฏิบัติ “ราชการงานโยธา” เหมือนไพร่หลวง แต่กฎหมายก็กำหนดให้มาใช้แรงงานเพียง 1 เดือน หรือจะใช้เงินทดแทนก็เพียง 6 บาทเท่านั้น ต่อมาถึงวันที่ 22 มีนาคม 2439 ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีประกาศเกี่ยวกับฐานันดรไพร่ใหม่ดังนี้

 

“..บรรดาไพร่หลวงทั้งปวงแต่เดิมมา ถ้าเป็นไพร่หลวงจ่ายเดือนไม่มาเข้าเดือนประจำราชการต้องเสียเงินแทนค่าแรงประจำปีราชการปีละ 18 บาท ส่วนไพร่หลวงส่วยอันต้องเกณฑ์ส่งสิ่งของต่างๆ ใช้ราชการนั้น ถ้าไม่ได้ของส่งต้องส่งเงินราคาของแทน เป็นเงินตั้งแต่ 6 บาทขึ้นไปจนถึง 12 บาท ตามชนิดของราคาซึ่งต้องเกณฑ์สิ่งนั้น ทรงพระราชดำริว่าการที่หมู่ไพร่หลวงต่างๆ ต้องเสียเงินค่าราชการไม่เสมอกันเช่นนี้เป็นที่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่รัตนโกสินทรศก 116 ต่อไป บรรดาเลขไพร่หลวงทั้งปวงที่ต้องเสียเงินค่าราชการกว่าปีละ 6 บาทขึ้นไป ให้เก็บเงินค่าราชการแต่เพียงปีละ 6 บาท”

 

ถึง พ.ศ. 2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตรา “พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารรัตนโกสินทร์ศก 124” ขึ้นมาใช้บังคับ โดยมีการกำหนดการยกเว้นให้ “ไพร่” ที่เป็น “ชายฉกรรจ์” ที่ถูกเกณฑ์ทหารและรับราชการทหารถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียเงินค่าราชการตลอดชีวิต โดยเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้ว่าสำหรับชายฉกรรจ์ “ที่ได้รับราชการทหารเต็มตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือได้รับราชการในกองประจำการ 2 ปี ได้รับราชการในกองหนุนชั้นที่ 1 ครบ 5 ปี และได้รับราชการในกองหนุนชั้นที่ 2 ครบ 10 ปีแล้ว แต่นั้นไปทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นั้นพ้นจากที่จะต้องเสียเงินค่าราชการอย่างใดๆ จนตลอดชีวิต”

ในทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อ “ชายฉกรรจ์” ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารในกองประจำการก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินค่าราชการทันที และหากการเข้ารับราชการทหารดังกล่าว เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินค่าราชการไปตลอดชีวิต แต่สำหรับชายฉกรรจ์หรือชายไทยที่ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร ก็ยังต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือหากไม่ต้องการให้ถูกเกณฑ์แรงงาน ก็ยังต้องจ่ายเงินทดแทนหรือเงินค่าราชการอยู่ดี ซึ่งคนประเภทที่ยังต้องเสียเงินค่าราชการนี้นับได้ว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนกัน เพราะนอกจากชายฉกรรจ์ที่ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร[1] แล้ว ยังมีกรณีของชายไทยที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปที่ พ.ร.บ. นี้บัญญัติไว้ว่าไม่ต้องมีหน้าที่รับราชการทหาร (มาตรา 5) รวมอยู่ด้วย

จากการที่มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารรัตนโกสินทร์ศก 124 ขึ้นใช้ ใน พ.ศ. 2448 นี้เอง ที่ขจร สุขพานิช ได้ตีความว่านี้คือการยุบเลิก “ฐานันดรไพร่” ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พ.ศ. 1884 และเป็นการเริ่มยุคให้ราษฎรเป็นอิสระ อันเท่ากับว่าฐานันดรไพร่มีอายุครอบคลุมยืนยาวมาถึง 564 ปี

อย่างไรก็ตามการเก็บเงินราษฎรในลักษณะเงินค่าราชการ และการเกณฑ์แรงงานในกรณีที่ราษฎรไม่มีเงินจ่ายให้หลวงก็ยังมีอยู่ตลอดมา เพียงแต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในประเด็นรายละเอียดไปบ้างเท่านั้น เช่นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนการเรียกชื่อ “เงินค่าราชการ” เป็นเงิน “เงินรัช์ชูปการ” ตามพระราชบัญญัติเงินรัช์ชูปการ พุทธศักราช 2462 และ มีการให้ความหมายคำว่า “เงินรัช์ชูปการ” ว่าคือ “บรรดาเงินซึ่งบุคคลต้องถวายหลวง” (มาตรา 2)

นอกจากนี้พระราชบัญญัตินี้ ยังได้กำหนดให้เก็บเงินรัชชูปการได้ไม่เกินคนละ 6 บาทต่อปี ทั้งนี้สำหรับในแต่ละท้องที่จะกำหนดเท่าใด ให้อยู่ในอำนาจของเสนาบดีที่จะกำหนดได้ แต่ต้องไม่เกินคนละ 6 บาท (มาตรา 3) ที่สำคัญ พ.ร.บ. นี้ได้มีการกำหนดโทษผู้ที่ไม่เสียเงินรัชชูปการไว้ว่า ให้นายอำเภอมีอำนาจที่จะยึดทรัพย์สมบัติของผู้ที่ไม่เสียเงินรัชชูปการ หรือยังค้างเงินรัชชูปการขายทอดตลาดได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีสมบัติให้ยึดมาขายทอดตลาด พ.ร.บ. นี้ก็ได้ให้อำนาจนายอำเภอที่จะสั่งให้เอาตัวราษฎรผู้นั้นไปใช้งานโยธามีกำหนด 30 วันได้ (มาตรา 11)

พระราชบัญญัติเงินรัช์ชูปการ พ.ศ. 2462 ดังกล่าว ต่อมาถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเงินรัช์ชูปการ พุทธศักราช 2468 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่โดยเนื้อหาสาระแล้วก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ได้เปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขบางด้านบางประเด็นเพิ่มขึ้นเท่านั้น เช่นมีการกำหนดระยะเวลาที่ให้ประชาชนหรือราษฎรต้องเสียเงินรัชชูปการไว้อย่างชัดเจน คือตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงวันสิ้นเดือนกันยายนของทุกปี หากไปเสียภายหลังจากนั้นให้รัฐเก็บในอัตราทวีคูณ (มาตรา 4) หรือในกรณีที่ประชาชนไม่มีเงินจ่ายหรือค้างจ่ายเงินรัชชูปการ ก็กำหนดให้สามารถใช้งานโยธาได้เพียง 15 วัน (มาตรา 10) เป็นต้น

ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขการเรียกเก็บเงินจากราษฎร ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพัฒนามาดังกล่าว จนเป็นเงินภาษีรัชชูปการในที่สุด ที่นายปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นว่าเป็นลักษณะเงินภาษีที่เป็นซากตกค้างมาจาก “เงินส่วย ซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินาต้องเสียให้เจ้าศักดินา” ที่ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับประชาชนหรือราษฎรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นภาษีที่เรียกเก็บเท่าเทียมกันระหว่างประชาชนผู้ยากไร้ยากจนกับคนมั่งมี หรือแม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และแม้จะกำหนดให้เป็นอำนาจของเสนาบดี ที่จะกำหนดอัตราการเรียกเก็บแต่ละท้องที่ได้ตามที่เห็นสมควร แต่เท่าที่เป็นมาอัตราเรียกเก็บจะอยู่ระหว่าง 4-6 บาทโดยส่วนใหญ่

กรณีเงินภาษีรัชชูปการนี้ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาโดยการผลักดันของนายปรีดี พนมยงค์ และกรรมการราษฎรฝ่ายคณะราษฎร ก็ได้เคยประกาศผ่อนผันการเกณฑ์แรงงาน เนื่องจากกรณีการค้างเงินรัชชูปการมาครั้งหนึ่งแล้ว และต่อมาในสมัยของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้มีการประกาศ “พระราชกฤษฎีกาลดอัตราเงินรัชชูปการจำนวน พ.ศ 2477 พุทธศักราช 2476” ออกมาใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2476 หรือหากจะนับอย่างปีปฏิทินในปัจจุบันก็คือวันที่ 28 มีนาคม 2477 โดยกำหนดให้เก็บเงินรัชชูปการลด “ต่ำกว่าที่เก็บอยู่” 1 บาทในทุกท้องที่ ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้ดูเหมือนรัฐบาลได้มีความตั้งใจที่จะมอบให้เป็นของขวัญวันปีใหม่แก่ประชาชนด้วย เพราะกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ คือ วันที่ 1 เมษายน 2477 เป็นต้นไป

นี่คือความพยายามของรัฐบาลภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ต้องการยกภาระความไม่เป็นธรรมและความเดือดร้อนทุกข์ยากจากการต้องเสียภาษีเงินรัชชูปการไปจากบ่าของประชาชน ซึ่งในที่สุดความพยายามดังกล่าวก็สามารถประสบความสำเร็จเสร็จสมบูรณ์ในยุคสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรพุทธศักราช 2481” ขึ้นใช้ และมีผลเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งพระราชบัญญัติเงินรัช์ชูปการพุทธศักราช 2468 แล้วแทนที่ด้วยการให้บุคคลต้องเสียภาษีเงินได้ตามกำลังรายได้ของแต่ละบุคคล จึงเท่ากับเป็นการนำความถูกต้องเป็นธรรมมาให้แก่มวลราษฎรไทยโดยแท้ เพราะเมื่อได้พิจารณาโดยรายละเอียดของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ได้กำหนดไว้ว่าบุคคลจะต้องเสียภาษีรายได้ก็ต่อเมื่อมีเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วจำนวน 600 บาท ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดกรณีค่าลดหย่อนแล้ว จะเห็นว่า พ.ร.บ. นี้กำหนดให้ลดหย่อนได้มากรายการ

เช่น ในกรณีที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม พ.ร.บ. นี้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 10 สำหรับเป็นค่าชดเชยและบำรุงที่ดินรวมทั้งค่าเช่าที่ดิน (มาตรา 43) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้สามารถหักภาระการลดหย่อนได้อีก เช่น ลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ 600 บาท ภรรยาหรือสามีคนละ 300 บาท และบุตรคนละ 200 บาท (มาตรา 47) รวมแล้วที่ พ.ร.บ. นี้ให้ลดหย่อนได้เฉพาะภรรยาสามีและบุตร (สมมุติมี 2 คน) ก็เป็นจำนวนเงินถึงปีละ 1,300 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่สูงมากทีเดียว หากจะเทียบกับอัตราเงินเดือนข้าราชการในสมัยนั้นที่ “ข้าราชการพลเรือนชั้นตรีอันดับ 1 อัตราเงินเดือนเพียงเดือนละ 80 บาท” หรือเพียงปีละ 960 บาทเท่านั้น

เห็นได้ว่าสำหรับราษฎรหรือประชาชนส่วนใหญ่ผู้มีอาชีพเกษตรกรที่เคยต้องเสียเงินรัชชูปการปีละ 6 บาท บ้าง 5 บาท หรือ 4 บาท แล้วแต่แต่ละท้องที่ เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ นอกจากไม่ต้องเสียเงินรัชชูปการดังกล่าวแล้ว ในส่วนของเงินภาษีบุคคลธรรมดาประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องเสีย ด้วยมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีนั่นเอง อันเท่ากับว่ารัฐบาลได้มีส่วนช่วยในการผ่อนคลายความทุกข์ยากเดือดร้อนเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่าย ให้แก่ประชาชนหรือราษฎรส่วนใหญ่ผู้ยากไร้ยากจนได้มากมายพอควร เพราะดังกล่าวแล้วว่าเงิน 5 บาท 6 บาท สมัยเมื่อ 65-70 ปีที่แล้ว มีค่ามากพอที่จะซื้อข้าวสารได้เป็นครึ่งกระสอบหรือกระสอบทีเดียว ยิ่งโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 แล้ว เงินจำนวนนี้สามารถซื้อที่นาได้เป็นไร่ๆ ด้วยซ้ำ

นอกจากพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรพุทธศักราช 2481 จะได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลอย่างยุติธรรม คือใครมีรายได้มากจ่ายมากใครมีรายได้น้อยจ่ายน้อยแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีส่วนของการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้ารวมอยู่ด้วย นั่นก็คือในส่วนของการจัดเก็บภาษีเสริมในกรณีที่บุคคลใดมีรายได้สูงเกินกว่าปรกติ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่มาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. นี้ มีการกำหนดอัตราเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีอากรไว้ดังนี้

 

(1) เงินรายได้สุทธิ 1,200 บาทลงมาให้เสีย 1 ใน 8 ของอัตราภาษีปกติ
(2) เงินได้สุทธิเกิน 1,200 บาทถึง 2,400 บาทให้เสีย 1 ใน 4 ของอัตราปกติ
(3) จำนวนเงินได้สุทธิที่เกินกว่า 2,400 บาทจนถึง 3,600 บาท ให้เสีย 1 ใน 2 ของอัตราปกติ
(4) จำนวนเงินได้สุทธิเกินกว่า 3,600 บาทจนถึง 6,000 บาท ให้เสีย 5 ใน 8 ของอัตราปกติ
(5) จำนวนเงินได้สุทธิที่เกินกว่า 6,000 บาทให้เสียในอัตราภาษีปกติ
(6) จำนวนเงินได้สุทธิเกินกว่า 12,000 บาทขึ้นไปต้องเสียภาษีเสริมอีกอัตราหนึ่ง

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ. นี้ได้กำหนดอัตราการเสียภาษีปกติที่บุคคลต้องเสีย คือร้อยละ 8 สำหรับอัตราภาษีเสริมได้กำหนดในอัตราดังนี้ เช่น

 

(1) จำนวนเงินได้สุทธิเกินกว่า 12,000 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ต้องเสียภาษีเสริมเพิ่มอีกร้อยละ 4
(2) จำนวนเงินได้สุทธิเกินกว่า 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ร้อยละ 6 ของจำนวนที่เกิน 15,000 บาท หรือ
(3) จำนวนเงินสุทธิเกินกว่า 100,000 บาท ร้อยละ 15 ของจำนวนเงินที่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น

 

นี่คือลักษณะการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยนายปรีดี พนมยงค์

สำหรับผลของการยกเลิกระบบการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ และหันมาเก็บภาษีรายได้ทั้งจากบุคคลธรรมดา บริษัทห้างร้าน หรือทั้งหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างๆ ตลอดถึงภาษี “โกดัง” ซึ่งรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมในอัตราที่เป็นธรรมและก้าวหน้า ทำให้เกิดผลดีที่ชัดเจนนั้นก็คือรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากรายการรายได้รายจ่ายจริง ของธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างปี 2480-2487 ที่จำนวนเงินรายได้และรายจ่ายจริงช่วงปลายปี 2482 ถึงสิ้นปี 2483 (ตุลาคม 2482-ธันวาคม 2483) ซึ่งเป็นช่วงที่ผลจากการใช้ พ.ร.บ. ประมวลรัษฎากรใหม่ ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2482 น่าจะก่อผลในการจัดเก็บรายได้ภาษีอากรที่แท้จริงอยู่ในลักษณะที่ดีที่สุด หากจะเปรียบเทียบจากปี 2480 คือมีการขาดดุลเพียง 6,241,792 บาท ในขณะที่ปีก่อนหน้านั้นหรือปี 2480 ปี 2481 และปี 2482 (ครึ่งปีแรก) มียอดขาดดุลสูงมากกว่าปีละ 14 ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนกรณีของปี 2484-2487 นั้น เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติ แต่ละประเทศที่อยู่ในเป้าหมายของสงครามรวมทั้งประเทศไทยย่อมมีรายจ่ายสูงมากทั้งสิ้นจึงไม่อาจประเมินอะไรได้นัก

 

ตารางรายได้รายจ่ายจริงตั้งแต่ 2480-2487 (เสถียรภาพแห่งค่าของเงินบาท)

ปีงบประมาณ รายได้ รายจ่าย รายได้ ต่ำกว่า (-) / สูงกว่า (+) รายจ่าย
2480 109,412,310.00 125,940,867.00 -16,528,557.00
2481 118,351,337.00 132,913,013.00 -14,561,676.00
เม.ย. - ก.ย. 2482 59,611,536.00 74,198,340.00 -14,586,804.00
ต.ค. 2482 - ก.ย. 2483 146,478,068.00 161,480,147.00 -15,002,079.00
ต.ค. 2483 - ธ.ค. 2483 37,180,468.00 28,419,181.00 +8,761,287.00
2484 161,064,608.00 198,411,870.00 -37,347,262.00
2485 142,154,471.00 198,711,420.00 -56,556,949.00
2486 176,733,761.00 249,055,953.00 -72,322,192.00
2487 267,413,378.00 363,731,217.00 -96,317,839.00
(จากวิวัฒน์ไชยานุสรณ์ หน้า 197)

 

นอกจากผลงานที่สำคัญในเรื่องการตรา พ.ร.บ.ประมวลรัษฎากรขึ้นมาใช้แล้ว ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีสายตาอันยาวไกล ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ คาดการณ์ว่าการที่ประเทศไทยได้กำหนดใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ เป็นทุนสำรองเงินตราของประเทศนับมาจากอดีตรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยได้ฝากไว้กับธนาคารในประเทศอังกฤษ นายปรีดีวิเคราะห์ว่าในอนาคตเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์มีแต่จะลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนระบบทุนสำรองเงินตราใหม่ จึงสั่งการให้เอาเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ที่เป็นทุนสำรองเงินตราดังกล่าวส่วนหนึ่ง มาซื้อทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพื่อเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรองแทน ดังคำแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2482 ที่ว่า

 

“..เพื่อที่จะให้ฐานะการเงินของประเทศไทยดีขึ้นตามควร รัฐบาลจึงได้ดำริที่จะเปลี่ยนหลักทรัพย์ของรัฐบาลที่มีอยู่เป็นปอนด์สเตอร์ลิงค์บางส่วนเป็นทองคำหรือดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ในการที่รัฐบาลได้กระทำเช่นนี้ รัฐบาลไม่มีความประสงค์ที่จะลดค่าแห่งเงินตรา กล่าวคือค่าแห่งเงินตรานั้น ยังคงอยู่กับปอนด์สเตอร์ลิงค์ เว้นแต่หลักทรัพย์ในบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเพื่อความแน่นอนรัฐบาลก็จำต้องถือไว้เป็นทองคำ หรือเป็นดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และหลักทรัพย์บางส่วนก็ยังถือไว้เป็นปอนด์สเตอร์ลิงค์ตามเดิม”

 

อนึ่ง สมควรจะชี้แจงให้ทราบด้วยว่า ตามที่รัฐบาลได้เคยแถลงมาแล้วว่า ได้เอาเงินค่าขายเหรียญบาทซึ่งเป็นรายได้จำนวนสุทธิ 9,581,672.45 เหรียญอเมริกัน แล้วไปซื้อทองคำนั้นต่อจากนั้นมารัฐบาลได้เอาเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์ ซึ่งถอนได้ทันทีไปซื้อทองคำเพิ่มมาอีก 3,900,000 ปอนด์ ขณะที่ซื้อนั้น ราคาทองคำประมาณ 148 ชิลลิง 6 เพ็นนีต่อ 1 เอานซ์ รวมทองคำทั้งสิ้นได้สั่งซื้อแล้ว 795,660 เอานซ์ การซื้อซึ่งรัฐบาลได้กระทำไปนั้น นับได้ว่ากระทำไปในเวลาอันสมควร คือทองคำในเวลานี้กลับมีราคาสูงขึ้นเป็นราคาประมาณ 157 ชิลลิง 2 เพ็นนี ต่อ 1 เอานซ์ ฉะนั้นทองคำที่รัฐบาลได้สั่งซื้อมานั้นจึงมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 346,000 ปอนด์สเตอร์ลิงค์ คิดเป็นเงินตราไทยประมาณ 3,806,000 บาท อันเป็นจำนวนเงินซึ่งนับว่าประเทศไทยได้มีเพิ่มขึ้นเนื่องจากซื้อทองคำเข้ามา

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 เดือนนี้ รัฐบาลได้โทรเลขสั่งซื้อดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นราคา 2,000,000 ปอนด์ ในวันที่ซื้อนั้นได้ซื้อในอัตรา 1 ปอนด์ 4.681/8 ดอลลาร์ ได้เงินดอลลาร์ 9,362,500 ดอลลาร์ ครั้นวันรุ่งขึ้น จากได้ซื้อดอลลาร์แล้ว เงินปอนด์มีราคาเพียงปอนด์ละ 4.42 ดอลลาร์ ฉะนั้นเมื่อคำนวณค่าแห่งดอลลาร์ ซึ่งได้ซื้อไว้แล้วมาเป็นเงินปอนด์ก็จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์ที่ซื้อไว้จะกลับเป็นเงินปอนด์ได้มากขึ้นอีกประมาณ 113,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินตราไทยประมาณ 1,243,000 บาท อันเป็นส่วนที่ทำให้ประเทศไทยได้มีค่าแห่งหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก

รวมความว่า ในการที่รัฐบาลได้ซื้อทองทั้ง 2 คราวก็ดี และที่ได้รับซื้อดอลลาร์เมื่อวันที่ 24 เดือนนี้ก็ดี กระทำให้หลักทรัพย์ของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,049,000 บาท

ซึ่งสำหรับเงินจำนวน 5 ล้านบาทของปี พ.ศ. 2482 นั้น นับได้ว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพราะมีค่าประมาณถึง 3% ของเงินงบประมาณประจำปีนั้นทีเดียว หรือหากจะเปรียบเทียบกับจำนวนเงิน 3% ของเงินงบประมาณแผ่นดินในปีปัจจุบัน (2544) ประมาณ 900,000 ล้านบาท ก็จะเป็นจำนวนเงินมากถึง 27,000 ล้านบาททีเดียว

ในประเด็นเรื่องนี้นายปรีดี พนมยงค์เองก็ได้เคยบันทึกไว้ว่า

 

“..เมื่อครั้งระบบสมบูรณาฯ ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์เป็นทุนสำรองเงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษ ปรีดีฯ คาดคะเนว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้นจึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้านเอานซ์ (35 ล้านกรัม) ในราคาประมาณเอานซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้ บัดนี้ทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณเอานซ์ละ 350 เหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นต้นทุนที่ปรีดีฯ ในฐานะรัฐมนตรีคลังได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังเป็นราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น บัดนี้ทองคำดังกล่าวของชาติไทยมีค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”

 

นอกจากนี้ผลงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของนายปรีดี พนมยงค์ ที่สมควรบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย ก็คือการเจรจายกเลิกการผูกขาดการผลิตบุหรี่ของบริษัทอังกฤษ-อเมริกัน พร้อมทั้งซื้อกิจการดังกล่าวมาเป็นของประเทศไทยในราคาที่เป็นธรรม ดังบันทึกของนายปรีดี ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

 

“..ปรีดีจึงเจรจาตามความเสมอภาคด้วยความเป็นธรรม อันเป็นผลว่า ถ้าสยามทำการผูกขาดยาสูบ และต้องซื้อโรงงานทำบุหรี่ซิกาแรตแล้ว สยามก็จะชำระเพียงราคาตามความเป็นธรรม แต่ไม่ต้องให้ค่าทดแทนกำไรที่บริษัทใดๆ ควรได้ในอนาคต”

 

ดังนั้นเมื่อใช้สนธิสัญญาใหม่ฯ (เจรจาแก้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับต่างประเทศสำเร็จ-ผู้เขียน) แล้ว ปรีดีย้ายจากกระทรวงการต่างประเทศไปดำรงตำแหน่ง รมต.คลังนั้น ปรีดีจึงเจรจาซื้อโรงงานยาสูบของบริษัทบริติช-อเมริกัน โดยจ่ายเพียงราคาโรงงานเท่านั้น

ซึ่งการโอนกิจการผูกขาดจากบริษัทบริติช-อเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย กระทำได้สำเร็จก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศไทยประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้นายปรีดีเคยคาดการณ์ว่า หากกิจการผูกขาดดังกล่าวยังอยู่ในมือของบริษัทบริติช-อเมริกันแล้ว เมื่อญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2484 ก็คงจะเข้ายึดกิจการนี้ไปเป็น “ทรัพย์สินเชลย” ของญี่ปุ่น อันจะทำให้ญี่ปุ่นผลิตบุหรี่ขึ้นจำหน่ายในประเทศไทยตลอดสงครามโลกครั้งที่สองทำกำไรได้อย่างมหาศาล

 

ที่มา : นาวี รังสิวรารักษ์, รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2544), หน้า 250 - 265.

หมายเหตุ :

  • ตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย และตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ
 

[1] มาตรา 10 แห่ง พ ร บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 กำหนดไว้ว่า ในกรณีจำนวนคนในกองประจำการครบเสียแล้ว “คนเหลือนั้นให้สังกัดไว้ในกองเกินอัตรามีกำหนด 7 ปี แล้วปลดไปเป็นกองหนุนชั้น 2” ซึ่งมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. นี้ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ซึ่งอยู่ในกองเกินอัตราหรือ “คนกองเกินอัตรา” ซึ่งปลดไปเป็นกองหนุนชั้น 2 “ถ้าปีใดต้องระดมการฝึกซ้อมวิธียุทธ์ หรือ ระดมในราชการทหารอย่างใด จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้แก่ผู้ที่ต้องระดมนั้น สำหรับเสียแทนเงินค่าราชการในปีนั้น” นี่จึงเห็นได้ชัดว่าสำหรับชายฉกรรจ์ที่ไม่ “ถูกเกณฑ์ทหารโดยตรง” โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในระหว่างกองเกินอัตรา 7 ปี หรือแม้เมื่อปลดไปเป็นกองหนุนชั้น 2 แล้ว หากไม่มีการระดมในราชการทหารหรือระดมเพื่อการฝึกก็ต้องเสียเงินค่าราชการอยู่นั้นเอง