หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส นายปรีดีสอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์น[1] ออกวารสาร นิติสาส์น รายเดือน สำหรับผู้สนใจกฎหมายบ้านเมือง นอกจากนั้นได้พิมพ์หนังสือ ประชุมกฎหมายไทย เล่มที่ 1- เล่มที่ 12 อัตราค่าสั่งจองชุดละ 60 บาท ข้าพเจ้าทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟหรือพิสูจน์อักษร และทำบัญชีการสั่งจอง รวมทั้งการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งไปทางไปรษณีย์ให้ผู้สั่งจอง ปรากฏว่า หนังสือชุดนี้เป็นที่ต้องการมาก ทำให้นายปรีดีกับข้าพเจ้ามีเงินสะสมในการสร้าง “บ้านพูนศุข” ในเวลาต่อมา
โรงพิมพ์นิติสาส์นยังมีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เช้าวันที่ 24 มิถุนายน คนงานที่โรงพิมพ์วิ่งมาบอกข้าพเจ้าที่ “บ้านป้อมเพชร์” ว่า มีทหารหมู่หนึ่งให้พิมพ์ใบปลิว ให้พิมพ์หรือไม่ให้พิมพ์
ข้าพเจ้าตะลึงงันไม่รู้จะปรึกษากับใครดี นายปรีดีก็ไม่อยู่เสียด้วย ก่อนหน้านี้ 2 วัน นายปรีดีบอกข้าพเจ้าว่าจะไปเยี่ยมบิดามารดาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจริง ๆ แล้วไปเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ต้องปิดเป็นความลับ แม้แต่ข้าพเจ้าผู้เป็นภรรยาก็ยังมิได้ล่วงรู้ ข้าพเจ้าเกรงว่าจะมีปัญหากับทหารกลุ่มนั้น จึงตอบตกลงให้พิมพ์ได้
ใบปลิวที่โรงพิมพ์นิติสาส์นพิมพ์ ที่แท้เป็นคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร ซึ่งได้แจกจ่ายทั่วกรุงในบ่ายวันนั้น
โรงพิมพ์นิติสาส์นคงดำเนินกิจการต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 นายปรีดีได้มอบแท่นพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งหมดให้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ใช้สำหรับพิมพ์ตำราเรียนของนักศึกษา
ถัดจากโรงพิมพ์นิติสาส์นเป็นบ้านเจ้าสัวยู่เซ่งหลง เจ้าของโรงเลื่อยที่อยู่ใกล้กับวัดสระเกศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บนหลังคาตึกบ้านเจ้าสัว ติดตั้งเครื่องไซเรนไว้เตือนภัยเมื่อเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินเข้ามาทิ้งระเบิดเหนือน่านฟ้าพระนคร
… “ป้อมเพชร์นิคม”
บิดาข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินประมาณ 2 ไร่ แบ่งที่ดินพร้อมปลูกบ้านให้ลูก ๆ สารี อัมพา เพียงแข และนวลจันทร์ ทำเป็นบ้านเช่าราคาเดือนละ 60-80 บาท ผู้เช่ามีชาวไทย จีน ญี่ปุ่น อิตาเลียน เยอรมนี ยิว ฯลฯ
ต้นทศวรรษที่ 1930 ชาวยิวจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปลี้ภัยการคุกคามของนาซีเยอรมัน อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยาม จึงไม่เป็นการแปลกที่มีชาวยิวเช่าบ้าน “ป้อมเพชร์นิคม”
สำหรับข้าพเจ้าได้ที่ดิน 300 กว่าตารางวา ด้านหน้าติดคลองสีลม ส่วนตัวตึก “บ้านพูนศุข” นั้น สร้างจากน้ำพักน้ำแรงที่ข้าพเจ้ากับนายปรีดีได้เก็บออมมาจากการดำเนินกิจการโรงพิมพ์นิติสาส์น และข้าพเจ้าเป็นผู้คิดสร้างสะพานข้ามคลอง กลางสะพานมีส่วนเว้าเล็ก ๆ สำหรับคนเดินหลบรถยนต์ ที่ข้าพเจ้าให้สร้างสะพานเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเกือบจะถูกรถยนต์ที่คนขับรถ “บ้านป้อมเพชร์” ขับเบียดกับ ขอบสะพานมาแล้ว
ในปี พ.ศ. 2477 ข้าพเจ้ากับนายปรีดีย้ายจาก “บ้านป้อมเพชร์” มาอยู่ “บ้านพูนศุข” [ในบ้านป้อมเพชร์นิคม…บ.ก.] ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี บุตร 3 คนหลังของข้าพเจ้าเกิดที่ “บ้านพูนศุข”
ครอบครัวข้าพเจ้าอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วยความสงบสุข จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทหารญี่ปุ่นบุกดินแดนประเทศไทย ตามจุดยุทธศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันออก และเคลื่อนทัพจากพระตะบองเข้าสู่พระนคร
วันนั้น ครอบครัวข้าพเจ้ารู้สึกสลดหดหู่ใจเช่นเดียวกับราษฎรไทยทั้งปวง หนังสือพิมพ์ Washington Times Herald ได้รายงานข่าวว่า “ชาวไทยได้ทราบข่าวยอมจำนนญี่ปุ่นด้วยความตกตะลึง และพากันยืนงงงันในถนนด้วยน้ำตานอง” (“The Thailanders, shocked by news of the surrender, wept as they stood dazed in the streets.”)
ในบ่ายวันเดียวกัน เมื่อนายปรีดีกลับจากการประชุม ค.ร.ม. ถึงบ้าน มีมิตรสหายและลูกศิษย์หลายคนมาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) สงวน ตุลารักษ์ จำกัด พลางกูร วิจิตร ลุลิตานนท์ เตียง ศิริขันธ์ ถวิล อุดล ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัตน์) ทอง กันทาธรรม ฯลฯ ทุกคนแสดงความรู้สึกเจ็บใจและแค้นใจที่กองทหารญี่ปุ่นรุกรานประเทศโดยที่รัฐบาลไทยขณะนั้นยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ผู้มาประชุมในวันนั้น ได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราช อธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย ในการนี้ได้ตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งในประเทศและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย
หลังจากนั้นหลายปี “บ้านพูนศุข” ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะทหารกลุ่มหนึ่งบุกทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ทำรัฐประหารเลิกล้มรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นเหตุให้นายปรีดีลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ
ครั้นแล้ว นายปรีดีได้ลักลอบกลับประเทศ ชักชวนมิตรสหาย ร่วมก่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492
การก่อการครั้งนี้ถูกรัฐบาลคณะรัฐประหาร 2490 ปราบปรามอย่างหนัก
กลางดึกของคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นาวาตรี มนัส จารุภา ร.น. ได้นำนายปรีดีไปหลบซ่อนที่บ้านหลานสาวข้าพเจ้า (วิสวาท บุนนาค อัศวนนท์) ที่ถนนสุรวงศ์ ครั้นจะอยู่ที่นั่นนาน ก็เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจากการติดตามค้นหาของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง วันต่อมา นายปรีดีได้ย้ายมาอยู่ “บ้านพูนศุข” ซึ่งว่างจากการให้เช่า
ภายในตึก ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ไม่มีแสงสว่าง พรางเสมือนว่าไม่มีผู้อยู่อาศัย
และในที่สุด ข้าพเจ้าดำเนินการให้นายปรีดีขยับขยายไปหลบซ่อนที่บ้านสวนฉางเกลือ
ขณะนั้นประกาศนำจับนายปรีดีให้รางวัลงามติดทั่วบ้านทั่วเมือง แต่แล้วนายปรีดีก็คลาดแคล้วจากภยันตรายทั้งปวง ลี้ภัยการเมืองในต่างแดนอีกคราหนึ่ง เป็นเวลายาวนานถึง 34 ปี
ข้าพเจ้าพาลูก ๆ มาอยู่ที่ “บ้านพูนศุข” อีก 5 ปี ก่อนย้ายไปบ้านสาทร ถนนสาทรเหนือ
จากนั้น ข้าพเจ้าปล่อยให้“บ้านพูนศุข” มีคนเช่าบ้าง ไม่มีคนเช่าบ้าง จนกระทั่งนายปรีดีลี้ภัยไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส จึงได้ขาย “บ้านพูนศุข” เพื่อนำเงินไปซื้อบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส โดยได้รับการอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้แลกเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศ
สิ้นสุดตำนาน “บ้านพูนศุข” เพียงแค่นี้
ที่มา: ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “ย้อนรอยถนนสีลม,” พิมพ์ครั้งแรกใน แพรว (รายปักษ์) ปีที่ 27 ฉบับที่ 363-369 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 10 เมษายน 2549.
[1] ถัดจาก “บ้านศาลาแดง” เป็นบ้านลูก ๆ เจ้าพระยายมราช ข้ามซอยศาลาแดงมาเป็นตึกแถว 10 กว่าคูหา โรงพิมพ์นิติสาส์นเช่าอยู่ 2 คูหา