วัยเด็กและวัยเรียน
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 หากนับเวลาถึงปัจจุบันนี้ รวมระยะเวลาได้ประมาณ 120 ปีที่ผ่านมา ณ บ้านเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางลูกจันทน์ได้ให้กำเนิดบุตรคนที่สองเป็นบุตรชาย ชื่อว่า “ปรีดี” ส่วนบิดา คือ นายเสียง เป็นผู้ได้รับมรดกจากบิดามารดาผู้ประกอบอาชีพการค้าในเรือนแพ ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี ดังที่นายปรีดีฯ ได้เล่าความหลังในอดีตว่า “ผมจำความได้เมื่ออายุประมาณ 3-4 ขวบ...ได้เห็นเคหสถานของครอบครัวที่ตกทอดมาจากปู่ย่าซึ่งแสดงว่าเป็นครอบครัวที่สมัยนั้น เรียกว่า ผู้มีอันจะกิน”
บ้านครูแสง
เมื่อเด็กชายปรีดีฯ เจริญวัยอายุประมาณ 5 ขวบ (พ.ศ. 2448) บิดาจึงส่งไปศึกษา หัดอ่านเขียนเรียนตัวอักษรไทยที่บ้านครูแสง ในละแวกบ้านนั้น ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับสูงขึ้นไปในโรงเรียนของรัฐบาล
การศึกษาในสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนประเภทที่ใช้คำในสมัยนี้ว่า “โรงเรียนอนุบาล” ผู้ที่มีความรู้ทางหนังสือไทยได้ทำหน้าที่เป็นครูอิสระรับสอนหนังสือเด็กเล็กที่บ้านของตน เพื่อหัดอ่านหัดเขียน “ก กา…” ครูรับเด็กไว้สอนที่บ้านประมาณ 5-10 คน เป็นการเตรียมความพร้อมของเด็กเล็ก ๆ ก่อนที่เด็กเหล่านี้จะเข้าเรียนที่โรงเรียนวัด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล สอนตามหลักสูตรที่รัฐบาลกำหนดไว้ตามระเบียบในสมัยนั้น
ลักษณะการเรียนหนังสือของเด็กเล็กตามบ้านครูดังกล่าวมักปรากฏทั่วไปตามชุมชนเมืองหรือตามหัวเมืองในชนบท หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ในสมัยก่อนก็เช่นกัน
นางน้อม (พนมยงค์) ตามสกุล ซึ่งเป็นน้องสาวของนายปรีดีฯ เล่าให้ฟังว่า (สัมภาษณ์ ตุลาคม พ.ศ. 2537 - ผู้เขียน) “พี่ปรีดีเรียนอยู่ที่บ้านครูแสงได้สองสามเดือน ก็ไม่ยอมเรียน … เพราะเบื่อที่เรียนซ้ำ ๆ ... พอรู้แล้วจะไปนั่งเรียนอยู่ทำไม … แต่เป็นเด็กก็ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร … แต่คุณพ่อก็ไม่ได้ขัดขืนอะไร … คุณพ่อไม่เคยตีลูกเลย…” (ญาติผู้ใหญ่ของคุณป้าน้อมเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากคุณป้าน้อมอ่อนกว่านายปรีดีฯ 10 ปี เวลานั้น คุณป้าน้อมอายุ 86 ปี เมื่อสมัยเป็นเด็ก นายปรีดีฯ มีหน้าที่ดูแลน้อง ๆ และเลี้ยงคุณป้าน้อม)
คุณป้าน้อมเล่าความหลังต่อไปว่า “พี่ปรีดีเป็นเด็กหัวดี … เรียนได้เดือนสองเดือนก็รู้แล้ว … อ่านได้แล้ว … แต่ก็เป็นเด็กที่ซนที่สุด … เป็นผู้นำในหมู่พี่น้อง … ชอบคิดชอบทำอะไรแปลก ๆ … เมื่อไม่เรียนที่นี่ คุณพ่อก็หาที่เรียนให้ใหม่ …”
บ้านหลวงปราณีประชาชน
หลังจากบิดาของนายปรีดีฯ ไปทำกิจการป่าไม้ที่พระพุทธบาท แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่อาจทนต่อการระบาดของไข้ป่าได้ จึงไปทำนาที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่นั่นมีบ้านญาติทำมาหากินอยู่
ท่าหลวงอยู่ห่างจากอำเภอท่าเรือประมาณ 5 กิโลเมตร ในสมัยนั้นต้องเดินทางโดยเรือสำปั้นแจวหัวแจวท้ายไปทางเหนือของลำน้ำแม่น้ำป่าสัก ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอท่าเรือ
ช่วงเวลาที่บิดาของนายปรีดีฯ ไปทำนาที่ท่าหลวง คุณป้าน้อมฯเล่าว่า “พี่ปรีดีไปอยู่บ้านน้าฮับ … ที่อำเภอท่าเรือ … เพื่อเรียนหนังสือ ...น้าฮับเป็นญาติทางมารดา...” ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล เด็กชายปรีดีฯ ได้เรียนหนังสือที่บ้านหลวงปราณีประชาชน เพื่อหัดอ่านหัดเขียนหนังสืออีกครั้งหนึ่งก่อนเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล
บ้านหลวงปราณีฯ อยู่บริเวณวัดกลาง ใกล้ที่ว่าการอำเภอท่าเรือ ที่บ้านนี้ในสมัยนั้นเป็นบ้านพักของนายอำเภอท่าเรือ เด็กชายปรีดีฯ เรียนหนังสือที่บ้านนี้อยู่ได้ระยะหนึ่ง เมื่ออ่านออกเขียนได้คล่องแคล่วดีแล้วจึงเข้าเรียนในโรงเรียนวัดไม้รวก
โรงเรียนวัดไม้รวก
เมื่อเด็กชายปรีดีฯ อายุได้ประมาณ 6 ขวบจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนของทางราชการ คือ โรงเรียนวัดไม้รวก ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านน้าฯ
“วัดรวก” เป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้น ๆ “วัดไม้รวก” เป็นชื่อเก่าแต่โบราณ สมัยที่ชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น เป็นป่าไม้รวก (ไม่ไผ่ชนิดหนึ่ง) และสร้างวัดไว้ประจำหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อว่า วัดไม้รวก แต่ชาวบ้านยุคหลังมาเรียกสั้นลง เมื่อจัดตั้งวัดเป็นทางการจึงใช้ชื่อเดิมว่า วัดไม้รวก มาจนถึงปัจจุบัน
วัดไม้รวกเป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ก่อนรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา วัดนี้อยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอท่าเรื่อ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักด้านเหนือ ปัจจุบันหน้าวัดหันกลับไปทางที่มีถนนตัดผ่านดังในภาพ
พระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท พระองค์ทรงแวะพำนักที่หน้าวัดนี้ ก่อนเสด็จต่อไปยังพระพุทธบาท วัดนี้จึงได้รับการทำนุบำรุงให้เจริญสวยงามที่สุดในอำเภอท่าเรือและเป็นที่ตั้งโรงเรียน มีฐานะเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2429 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนี้จึงเป็นวัดที่มีชื่อเสียง ชาวบ้านในละแวกนั้นนิยมส่งบุตรหลานมาบวชเรียน โดยมีพระภิกษุที่มีการศึกษาทำหน้าที่เป็นครูสอน
ขณะเดียวกันก็มีโรงเรียนเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ ของทางการ ที่เรียกว่า โรงเรียนวัดไม้รวก มีพระภิกษุเป็นครูสอนอีกเช่นกัน เนื่องจากสมัยนั้นหาฆราวาสที่มีความรู้ทางหนังสือมาเป็นครูสอนได้ยาก ทางราชการจึงต้องพึ่งพระภิกษุและวัดจัดเป็นสถานศึกษาในระยะแรก ๆ
โรงเรียนวัดไม้รวกหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โรงเรียนวัดรวกนี้ ในสมัยนั้นเป็น 1 ใน 5 ของโรงเรียนระดับชั้นประถมฯ ของมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) เป็นโรงเรียนรัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีอยู่ 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดกษัตราธิราช กรุงเก่า โรงเรียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน กรุงเก่า โรงเรียนวัดรวก ท่าเรือ กรุงเก่า โรงเรียนวัดศาลาปูน กรุงเก่า โรงเรียนวัดเสนาสนาราม กรุงเก่า วัดต่าง ๆ เหล่านี้ที่จัดตั้งเป็นโรงเรียนได้ เพราะมีพระภิกษุที่มีความรู้จำพรรษาอยู่ ทางราชการจึงสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียน โรงเรียนดังกล่าวทั้ง 5 นี้ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ทันสมัยแห่งแรกประจำมณฑลกรุงเก่า
โรงเรียนวัดไม้รวกในสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ยกสูงเพื่อให้พ้นน้ำเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมถึง เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ตรงบริเวณที่ตั้งดังในภาพที่ปรากฏนี้เป็นหลังใหม่ที่ได้รับบูรณะซ่อมแชมโดยใช้ไม้เดิมหลังเก่าซึ่งอสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2502
ตามคำบอกเล่าของพระปลัดและบรรดาผู้เฒ่าวัย 80 ปี (สัมภาษณ์ พ.ศ. 2537 - ผู้เขียน) ซึ่งเคยเป็นศิษย์ พระมหาฮวด เกสโร (พ.ศ. 2413-2506) มีการเล่าขานกันต่อ ๆ มาว่า “ปรีดีเคยเป็นศิษย์ของพระมหาฮวด...” เมื่อเด็กชายปรีดีฯ อายุได้ 6 ขวบ (พ.ศ. 2449)
“หลวงปู่ชอบสอนหนังสือ … หลวงปู่เป็นคนดุมาก … เป็นที่เกรงกลัวของศิษย์ … ใครเดินไม่เรียบร้อยจะถูกดุถูกตี … ใครมีมารยาทไม่ดี … จะถูกใช้ให้ไปตักน้ำใส่ตุ่ม … (น้ำในแม่น้ำป่าสักหน้าวัดฯ) หลวงปู่มีลูกศิษย์มาก … เพราะเป็นผู้มีความรู้ … มีชื่อเสียง … ชอบสอนหนังสือ … ถึงท่านจะเป็นคนดุ แต่จะให้เหตุผลก่อน … ไม่ใช่ตีเฉย ๆ … ท่านมีลูกศิษย์เป็นใหญ่เป็นโตมาก … ท่านมรณภาพไปเมื่อ พ.ศ. 2506 เมื่ออายุได้ 93 ปี …”
พระมหาฮวดฯ เป็นชาวอยุธยา สำเร็จเปรียญธรรม 3 ประโยค จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดไม้รวก และทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนวัดไม้รวกแห่งนี้เมื่อราว พ.ศ. 2440 และได้เป็นเจ้าอาวาสใน พ.ศ. 2456
โรงเรียนวัดไม้รวกมีฐานะเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอ เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นสูงสุดของ “ประโยค 1” จากโรงเรียนฯ แล้ว ครูต้องพานักเรียนมาสอบเทียบวิทยฐานะ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ) เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาของไทยมีการควบคุมมาตรฐานการศึกษาไว้อย่างเป็นทางการ ในสมัยนั้นซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนเทศบาลประจำอำเภอท่าเรือ โรงเรียนวัดไม้รวกจึงถูกยุบเลิกไป
นักเรียนที่เรียนในระดับ “ประโยค 1” สมัยนั้นเรียกว่า “นักเรียนชั้นต่ำ” ซึ่งมีทั้งหมด 6 ชั้น (เทียบเท่าระดับประถมฯ - ผู้เขียน) โดยแบ่งชั้นตามหนังสือแบบเรียน เช่น ชั้น 1 เรียนหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ครูสอนตั้งแต่ “แม่ ก กา” จนไปจบ “แม่เกย” สมัยนั้นจึงเรียกนักเรียนชั้น 1 แห่งประโยค 1 ว่า “นักเรียนมูลบท” เมื่อเรียนจบชั้น 1 แห่งประโยค 1 แล้ว มีการสอบไล่ เมื่อสอบไล่ได้แล้วจึงได้เรียนชั้น 2 ต่อไป และต้องสอบไล่ทุกชั้นจนถึงชั้น 6 แห่งประโยค 1 สำหรับชั้น 6 แห่งประโยค 1 นั้นต้องมาสอบไล่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการควบคุมมาตรฐานการศึกษาของกระทรวงธรรมการสมัยนั้น การศึกษาในสมัยนั้นมีวิชาที่ต้องศึกษาไม่มากเหมือนปัจจุบัน นักเรียนที่สอบไล่ได้ประโยค 1 แล้วสามารถทำงานเป็นเสมียนได้ หรือจะเรียนต่อไปในระดับประโยค 2 ซึ่งเรียกว่าเป็น “นักเรียนชั้นสูง”
เด็กชายปรีดีฯ สอบไล่ได้ชั้น 1 แห่งประโยค 1 ที่โรงเรียนวัดไม้รวก เมื่ออายุได้ 6 ขวบ (พ.ศ. 2449) จากนั้นเด็กชายปรีดีฯ ได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของตน อำเภอกรุงเก่าอีกครั้งหนึ่ง และได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดศาลาปูนวรวิหาร ใกล้บ้าน ขณะเดียวกันบิดาฯ ก็ได้เลิกทำนาที่ตำบลท่าหลวง เนื่องจากประสบภาวะฝนแล้งติดต่อกัน 2 ปี
ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2538), น. 13-20.
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- โรงเรียนวัดศาลาปูน
- ปรีดี พนมยงค์
- วิชัย ภู่โยธิน
- วัดพนมยงค์
- พระนครศรีอยุธยา
- เสียง พนมยงค์
- ลูกจันทน์ พนมยงค์
- น้อม พนมยงค์ ตามสกุล
- โรงเรียนวัดไม้รวก
- กรุงศรีอยุธยา
- โรงเรียนวัดกษัตราธิราช
- โรงเรียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
- โรงเรียนวัดรวก
- โรงเรียนวัดศาลาปูนวรวิหาร
- โรงเรียนวัดเสนาสนาราม
- พระมหาฮวด เกสโร
- พระครูเนกขัมมวิสุทธิคุณ
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
- โรงเรียนเทศบาล
- มูลบทบรรพกิจ