นับแต่เช้าจวบเย็นของวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ในอาณาบริเวณวัดพนมยงค์และอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แลดูคึกคักถนัดตา เต็มไปด้วยใครต่อใครหลายคนที่ตั้งใจมาเข้าร่วมกิจกรรม PRIDI Walking Tour “เยือนถิ่นปรีดีที่อยุธยา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ อย่างคับคั่ง กิจกรรมนี้โปรยถ้อยคำเชิญชวนว่า “สัมผัสลมหนาว เคล้าเรื่องเล่า ณ กรุงเก่า ตามรอยประวัติศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์” มีคณะวิทยากรผู้สันทัดเรื่องราวเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์หลายท่านเป็นผู้บรรยาย อันได้แก่ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย, นางสาวสุดา พนมยงค์, นายสมคิด พนมยงค์, นายกษิดิศ อนันทนาธร และนายกุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ผมเองโชคดียิ่งที่ได้เข้าร่วมและคอยสังเกตการณ์กิจกรรมดังกล่าวตลอดทั้งวัน จึงใคร่ถือโอกาสเก็บรายละเอียดและบรรยากาศมาถ่ายทอดให้คุณผู้อ่านทั้งหลายลองสัมผัสผ่านตัวอักษร
เริ่มต้นที่วัดพนมยงค์ หรือ ‘วัดประจำตระกูลพนมยงค์’ ช่วงเวลาราว ๆ 09.30 น. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพร้อมเพรียงกันลงรายชื่อและรับหนังสือที่ระลึกตรงจุดรับลงทะเบียนไม่ห่างจากพระอุโบสถ ครั้นได้เวลา 10.00 น. วิทยากรสองท่าน คือ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย และนายสมคิด พนมยงค์ ก็นำขบวนเดินทอดน่องไปสู่บริเวณเจดีย์บรรจุอัฐินายเสียง พนมยงค์ บิดาของนายปรีดี
อาจารย์สมฤทธิ์เสนอข้อมูลถึงที่มาของวัดและตระกูลพนมยงค์ไว้อย่างพึงขบคิดว่า ชื่อวัดพนมยงค์น่าจะมาจาก ‘เขาพนมยงค์’ หรือ ‘เขาพนมโยง’ ที่อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรีเสียมากกว่า นายเสียงบิดาของนายปรีดีเองก็เคยไปทำป่าไม้ละแวกนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่า เขาพนมยงค์เป็นที่ตั้งวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ที่ปรากฏใน นิราศวัดเจ้าฟ้าของ สุนทรภู่ (เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ คือ พระเจ้าเสือ) ตามความเห็นของอาจารย์สมฤทธิ์ ชื่อวัดพนมยงค์จึงไม่น่าจะมาจากชื่อพระนมประยงค์ผู้สร้างวัดอย่างที่เคยร่ำลือเล่าขาน และพระนมประยงค์น่าจะไม่มีตัวตนจริง ๆ ในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ยุคกรุงศรีอยุธยา
ขณะนายสมคิด วัย 77 ปี บุตรชายนายหลุย พนมยงค์ (น้องชายนายปรีดี) สาธยายสาแหรกบรรพบุรุษตระกูลพนมยงค์ ทั้งยังบอกว่าพื้นที่เดิมของวัดพนมยงค์เคยเป็นสมรภูมิโบราณ เพราะอยู่ใกล้ ๆ กับทุ่งลุมพลีและทุ่งภูเขาทอง
ประเด็นเรื่องชื่อวัดและที่มาของตระกูลพนมยงค์ นายปรีดีก็เคยเล่าไว้ผ่านข้อเขียนสมัยเมื่อพำนักอยู่ในสาธารณรัฐราษฎรจีน และท่านผู้หญิงพูนศุขได้นำมาพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ สกุลพนมยงค์ เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2530 ความว่า
“ณ บริเวณฝั่งเหนือของคลองเมืองหลวง ห่างจากมุมกำแพงพระราชวังโบราณ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ด้านตะวันตกประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร มีวัดหนึ่งตั้งอยู่ ผู้เฒ่าได้เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า พระนมแห่งพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดนั้น พระนมนั้นมีชื่อว่า “ประยงค์” (ตรงกับชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า “ปิยงคุ”) ในสมัยโน้นชาวกรุงออกเสียงเรียกพระนมว่า “พะนม” โดยไม่มี “ร” กล้ำ และเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์เป็น “พนม” ทำนองเดียวกับใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” แทนคำว่า “ข้าพระเจ้า” และทำนองเดียวกับอีกหลายคำที่ชาวกรุงฯ ไม่ออกเสียง “ร” กล้ำ และเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์ ส่วนบุคคลที่มีชื่อหลายพยางค์นั้น ชาวกรุงฯ ก็นิยมเรียกแต่พยางค์ต้นหรือพยางค์ท้าย เช่น เรียกผู้ที่ชื่อ “ประยงค์” ว่า “ยงค์” พระนมประยงค์จึงเป็นที่รู้จักของชาวกรุงฯ ในนาม “พนมยงค์” วัดนั้นจึงมีชื่อตามชื่อของผู้สร้างวัด “พนมยงค์” และมีการเขียนชื่อวัดตามอักขรวิธีเช่นนั้นสืบทอดกันมาหลายชั่วคน (เมื่อประมาณ พ.ศ. 2466 ได้มีผู้เขียนชื่อวัดนั้นว่า “พนมยง” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกับชื่ออันเป็นประวัติของวัดนั้น)
เมื่อพระนมประยงค์หรือพนมยงค์ได้สร้างวัดนั้นสำเร็จแล้ว ได้ไปนมัสการพระพุทธบาท และพระพุทธฉายแขวงเมืองสระบุรี แล้วได้สถาปนาพระเจดีย์องค์หนึ่งเป็นพุทธบูชาบนยอดเขาหนึ่ง ซึ่งอยู่ทิศใต้ของเขาพระฉายประมาณ 10 กิโลเมตร ราษฎรจึงเรียกเขานั้นว่า เขา “พนมยงค์” (กาลล่วงเลยมาช้านานจึงมีบางคนเขียนชื่อเขานั้นว่า “พนมยงค์”)”
ถ้อยความข้างต้นย่อมเผยว่า นายปรีดีเอ่ยพาดพิงถึง ‘เขาพนมยงค์’ เช่นกัน แต่ยังอ้างการเกิดขึ้นของเนินเขาว่ามาจากพระนมประยงค์ไปสร้างพระเจดีย์ไว้ภายหลังสร้างวัดพนมยงค์ ในทัศนะของนายปรีดี การสร้างวัดชื่อพนมยงค์จึงเกิดขึ้นก่อนเขาพนมยงค์ ส่วนในทัศนะของอาจารย์สมฤทธิ์ ฟัง ๆ ดูเหมือนว่า ชื่อวัดน่าจะมีรากมาจากชื่อเขาพนมยงค์
ถัดต่อจากลานเจดีย์บรรจุอัฐินายเสียง คณะวิทยากรพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินวกย้อนมาเยี่ยมชมวิหารพระนอน อาจารย์สมฤทธิ์อธิบายว่า องค์พระนอนมีลักษณะศิลปะแบบสุโขทัย แต่น่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง เพราะเป็นยุคที่นิยมสร้างพระนอน และน่าจะได้รับการบูรณะในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ส่วนนายสมคิดเล่าเสริมว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีเคยส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปอาราธนาพุทธทาสภิกขุมาสนทนาธรรมกันที่กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน ทั้งยังปรารถนาให้พุทธทาสภิกขุมาช่วยตั้งสถานปฏิบัติธรรมแบบสวนโมกขพลารามขึ้นที่พระนครศรีอยุธยา โดยจะนิมนต์ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพนมยงค์ แต่ด้วยความผันผวนทางการเมือง ทำให้โครงการนี้มิได้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังเล่าเกร็ดครอบครัวในเรื่องนางลูกจันทน์ พนมยงค์ มารดาของนายปรีดี มีส่วนช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นได้อย่างไร นั่นก็เพราะตอนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะนั้นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี 3 ท่าน ท่านหนึ่งคือนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองท่านลงนามให้รัฐบาลประกาศสงคราม แต่นายปรีดีไม่ปรารถนาลงนาม พอดีว่า นางลูกจันทน์ล้มป่วยหนัก นายปรีดีจึงอ้างว่าต้องมาดูแลมารดาที่พระนครศรีอยุธยาจนมิได้ลงนาม ครั้นจอมพล ป. ประกาศสงครามโดยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะและต่อมาประเทศไทยเกือบจะกลายเป็นผู้แพ้สงคราม หากสามารถยกข้ออ้างได้ว่าการประกาศสงครามของไทยถือเป็นโมฆะ เพราะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงชื่อไม่ครบ 3 ท่าน ซึ่งผู้ที่มิได้ลงนาม คือ นายปรีดี
เวลาประมาณ 11.00 น. คณะวิทยากรนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมเยื้องย่างเคลื่อนย้ายจากวัดพนมยงค์ไปยังวัดศาลาปูนวรวิหาร ระหว่างทางได้แวะชมฮวงซุ้ยหรือหลุมศพของนายหลุย พนมยงค์ น้องชายนายปรีดี ซึ่งนายสมคิดเป็นผู้แจกแจงรายละเอียดในฐานะบุตรชาย ตลอดการเดินไปตามสายถนนเล็ก ๆ ห้อมล้อมด้วยชุมชนชาวบ้าน แม้แสงแดดจะสาดส่องเจิดจ้า ทว่าสายลมเย็น ๆ พลันพัดโชยมาให้สดชื่น
พอมาถึงวัดศาลาปูนอันเป็นโรงเรียนเก่าของนายปรีดี พนมยงค์ คณะวิทยากรส่งน้ำเสียงเล่าขานความเก่าแก่และสถาปัตยกรรมของวัดในฐานะพระอารามหลวงต่างจากวัดพนมยงค์ที่เป็นวัดราษฎร (แม้เดิมวัดศาลาปูนก็เคยเป็นวัดราษฎร) รวมถึงความสำคัญของถิ่นฐานย่านวัดศาลาปูน โดยอาจารย์สมฤทธิ์ นายสมคิด นายกษิดิศ อนันทนาธร และนายกุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยาร่วมให้ข้อมูลพร้อมแสดงภาพแผนที่ประกอบ รุ่มรวยทั้งเนื้อหาเกร็ดประวัติศาสตร์ เช่น เดิมวัดนี้เคยชื่อวัดโลกยสุทธา เป็นต้น และเนื้อหาเชิงโบราณคดีดังที่นายกุลพัชร์ได้เล่าถึงการขุดค้นพบโบราณวัตถุโขนเรือบริเวณวัดเชิงท่า จนนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นท่าเรือพระที่นั่งของเขตพระราชฐานชั้นใน ของวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นประจักษ์หลักฐานที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าว (ริมฝั่งคลองเมือง หรือแม่น้ำป่าสักเก่า) เป็นชุมชนสำคัญ ครั้งสมัยอยุธยาและดำรงความสำคัญต่อมาจวบจนถถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อจากนั้น คณะวิทยากรนำขบวนเข้าไปเยี่ยมชมภายในพระอุโบสถของวัดศาลาปูน ซึ่งเสาร่วมในแต่ละต้นยังคงรักษาลวดลายดั้งเดิมมาแต่โบราณ อีกทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุม ซึ่งยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้อย่างดีเยี่ยม
ทอดสองเท้าย้อนกลับมายังวัดพนมยงค์ ก่อนจะรับประทานอาหารกลางวัน คณะวิทยากรได้ชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมแวะทัศนาพระอุโบสถวัดพนมยงค์ นายกษิดิศได้นำชมที่เก็บอัฐิผู้วายชนม์ที่เป็นเครือญาติเกี่ยวข้องกับตระกูลพนมยงค์บริเวณกำแพงแก้วรายรอบ ส่วนอาจารย์สมฤทธิ์อธิบายว่าฐานพระอุโบสถมีลักษณะแบบที่เรียกว่า “ตกท้องช้าง” อันเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทั้งยังบ่งชี้ว่าแม้ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันสวยงามจะเป็นของใหม่ แต่ก็สะท้อนลูกเล่นแพรวพราวของจิตรกร
พักเที่ยงจนอิ่มหนำ ณ ศาลาการเปรียญ ด้วยอาหารมื้อกลางวันแสนเอร็ดอร่อย นั่นคือ ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกสูตรเด็ดและขนมหวานลอดช่องจากร้านคุณประนอม หน้าวัดพนมยงค์
บ่ายโมงกว่าแล้วเมื่อคณะวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทยอยก้าวย่ำบนสะพานไม้ข้ามฟากคลองเมืองจากวัดพนมยงค์มายังอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ แว่วยินเสียงเพลงไทยเดิมมาจากใต้ถุนบ้านเรือนแพจำลองของนายปรีดี พนมยงค์ ชักนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมพากันมาเมียงมองและสองหูฟังเพลิน มิหนำซ้ำยังมีการรำกลองยาว การร่ายรำท่วงท่า ‘พลายชุมพล’ ประกอบเพลงมอญดูดาว ซึ่งการบรรเลงดนตรีไทยและนาฏศิลป์ล้วนจัดแสดงโดยนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ขณะเดียวกันอาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัยค่อย ๆ สอดแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ในแต่ละชุดการแสดง
หลังจากดื่มด่ำบทเพลงไทยเดิมอย่างรื่นรมย์ คณะวิทยากรพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปเยี่ยมชมนิทรรศการชีวิตและงานของนายปรีดี พนมยงค์พร้อมเครื่องใช้ส่วนตัวบนเรือนไทยพิพิธภัณฑ์ พอเวลาล่วงบ่ายสองครึ่ง ทุกคนจึงมารวมตัวกันใต้ถุนเรือนไทย รับประทานอาหารว่าง ‘กล้วยแปลงกาย’ และฟังบรรยายต่อในหัวข้อ “คนอยุธยา นามว่า ปรีดี พนมยงค์” ผ่านความทรงจำของนางสาวสุดา พนมยงค์ บุตรีของนายปรีดี อาจารย์สมฤทธิ์ดำเนินรายการและนายกษิดิศช่วยเพิ่มเติมข้อมูล บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ น่าตื่นเต้นที่ว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางรายยังเป็นเยาวชนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย แต่กลับมีความกระตือรือร้นสนใจเรื่องราวของนายปรีดี
ห้วงยามแห่งความสนุกอันเปี่ยมล้นความรู้เคลื่อนมาถึงช่วงประมาณ 16.00 น. กิจกรรม PRIDI Walking Tour “เยือนถิ่นปรีดีที่อยุธยา” ครั้งนี้มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยระยะเวลา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปิดกิจกรรมและมอบของที่ระลึกให้คณะวิทยากร ได้แก่ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย นางสาวสุดา พนมยงค์ และนายกษิดิศ อนันทนาธร รวมถึงมอบของที่ระลึกให้ ผศ.ศุภกาณฑ์ นานรัมย์ ตัวแทนคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยาที่อนุเคราะห์ให้นักศึกษาของคณะมาร่วมจัดแสดงการบรรเลงดนตรีไทยและนาฏศิลป์
แม้กิจกรรมที่จัดขึ้น ณ วัดพนมยงค์และอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในวันวันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 จะผ่านพ้นไป หากความประทับใจไม่รู้ลืมเลือนของสถาบันปรีดี พนมยงค์ คณะวิทยากร และผู้เข้าร่วมกิจกรรมย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัด เรียกว่าได้รับทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน และมิตรภาพแน่นแฟ้น คราวหน้าถ้าสบโอกาสมีการจัดกิจกรรม PRIDI Walking Tour ทำนองนี้อีก ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดมิใช่หรือครับ !
- Walking Tour
- PRIDI Walking Tour
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์
- วัดพนมยงค์
- พระนครศรีอยุธยา
- สมฤทธิ์ ลือชัย
- สุดา พนมยงค์
- สมคิด พนมยงค์
- กษิดิศ อนันทนาธร
- กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- ศุภกาณฑ์ นานรัมย์
- เสียง พนมยงค์
- ลูกจันทน์ พนมยงค์
- เขาพนมโยง
- สุจิตต์ วงษ์เทศ
- นิราศวัดเจ้าฟ้า
- หลุย พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- สกุลพนมยงค์
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- คณะราษฎร
- อภิวัฒน์ 2475
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- 24 มิถุนายน 2475
- พุทธทาสภิกขุ
- สวนโมกขพลาราม
- วัดศาลาปูนวรวิหาร
- วัดโลกยสุทธา
- พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
- ศิลปะสุโขทัย
- ศิลปะกรุงศรีอยุธยา
- ก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกคุณประนอม
- กล้วยแปลงกาย
- ก๋วยเตี๋ยวไก่อยุธยา
- พลายชุมพล
- มอญดูดาว
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
- สำนักงานธรรมศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์