Focus
- นายปรีดี พนมยงค์ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ พ.ศ. 2481 ได้เสนอกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมืองโบราณ เนื้อที่ประมาณ 4,500 ไร่ ของรัฐสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายในกำแพงเมืองเก่า จ.อยุธยา ให้กระทรวงการคลังดูแลในลักษณะที่ราชพัสดุ
- การพัฒนาเกาะเมืองในกำแพงเมืองเก่า จ.อยุธยา เป็นตัวอย่างที่คณะราษฎรพัฒนาสถานที่รกร้างให้เป็นเมืองสมัยใหม่ มากกว่าการอนุรักษ์ไว้แบบเดิม โดยวางผังเมืองและแบ่งเกาะเมืองออกเป็นเขตการค้าและที่อยู่อาศัย เขตสถานที่ราชการ เขตสวนสาธารณะ เขตอุตสาหกรรม และเขตที่สงวนสำหรับโบราณสถาน
- โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ถูกจัดสร้างในเขตอุตสาหกรรม เมื่อ พ.ศ. 2483 เพื่อผลิตแอลกอฮอล์และสุราที่ทันสมัย ตามแนวคิดที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอ อันช่วยสร้างงานและนำความเจริญมาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
- การก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ใช้เวลา 11 ปี โดยสามารถเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2494 เนื่องจากประสบอุปสรรคหลายประการ เช่น ปัญหาสงครามโลกครั้งที่สอง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการรัฐประหาร แต่ใน พ.ศ. 2539-2540 ก็ต้องหยุดผลิตและย้ายโรงงานออกไปจากเกาะเมือง เนื่องจากรัฐบาลสมัยนั้น อนุมัติให้อนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์อยุธยาตรงพื้นที่ดังกล่าว
“ท่านทั้งหลายก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า ที่ในกำแพงเมืองโบราณอยุธยานั้นเป็นที่ซึ่งได้หวงห้ามไว้... ต่อมาทางจังหวัดอยุธยาแต่เดิมก็ไม่สามารถที่จะให้ใครเข้าไปอยู่ในนั้นได้ เพราะเหตุว่าถ้าเกี่ยวกับตามหลักของกฎหมายว่าด้วยที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและว่าด้วยที่วัดร้าง เทศบาลจะขยายเขตต์ออกไปไม่ได้ เพราะว่าไม่มีคนอยู่หรือมีอยู่ก็เป็นป่า และไม่ได้ทำประโยชน์อันใด ได้มีความคิดกันว่าจะโอนที่นี้ให้แก่เทศบาล แต่เราก็ทำไม่ได้ในทุกๆ ทาง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีอยู่ทางเดียวที่จะยกเป็นราชพัสดุ เมื่อจะทำเป็นที่ราชพัสดุแล้ว ก็จะเป็นที่ราษฎรอยู่อาศัยแล้ว ให้ราษฎรได้อยู่และ develope ที่ดินให้เจริญ และเมื่อมีรายได้ขึ้นแล้ว รายได้ของแผ่นดินก็จะมากมายขึ้น”[1]
ข้อความข้างต้นเป็นการอภิปรายของ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในคราวเสนอร่าง “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้างภายในกำแพงเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2481” ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2481 (พ.ศ. 2482 ตามปฏิทินใหม่)
สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณสมบัติภายในกำแพงเมืองเก่าอยุธยา ซึ่งเดิมรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ประกาศสงวนรักษาไว้เป็นเมืองโบราณเนื้อที่ประมาณ 4,500 ไร่ ให้ตกอยู่ในการปกครองของกระทรวงการคลังและเปิดโอกาสให้ทางราชการและราษฎรได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว[2] และอาจกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเกาะเมืองอยุธยาในสมัยคณะราษฎร ผ่านการปรับปรุงพื้นที่ป่ารกชัฏเต็มไปด้วยวัดร้างให้กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จากการอภิปรายร่างกฎหมายดังกล่าว นายปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดในการพัฒนาเกาะเมืองอยุธยาของเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยา อันเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2478 ที่ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากติดปัญหาด้านกฎหมายหวงห้ามที่ดินบริเวณในเขตกำแพงเมืองเก่า ส่งผลให้พื้นที่ตอนในเกาะเมืองกลายเป็นที่รกร้างไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการและทางเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้นการพัฒนาเกาะเมืองย่อมส่งผลกระทบต่อวัดร้างในเกาะเมือง ดังนั้นนายปรีดีจึงได้เข้าปรึกษาขอความเห็นกับเจ้าคณะมณฑลอยุธยาเป็นท่านแรก ซึ่งเจ้าคณะฯ ไม่ขัดข้องในการให้ราษฎรเข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณตอนในของเกาะเมือง เนื่องจากวัดที่อยู่ในเกาะเมืองจะได้รับการทำนุบำรุงให้ดีขึ้นหลังจากได้ร่วงโรยอย่างยาวนาน[3]
นอกจากนี้แนวคิดการพัฒนาเกาะเมืองของนายปรีดียังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้แทนราษฎรจังหวัดอยุธยา 2 คนคือ หลวงประสิทธิ์นรกรรม (เจี่ยน หงสประภาส) และ นายฟื้น สุพรรณสาร โดยทั้งสองต่างเห็นว่าการพัฒนาเกาะเมืองจะเปิดโอกาสให้ราษฎรได้เข้าไปอยู่อาศัยเพื่อ “เปิดบ้านเปิดเมืองต่อไปในภายหน้า” และทำให้เทศบาลขยายเขตเข้าไปพัฒนาบริเวณตอนในเกาะเมืองได้[4]
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบและประกาศใช้กฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และวัดร้างในกำแพงเมืองอยุธยาให้กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2481 ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาครั้งใหญ่นับตั้งแต่ทศวรรษ 2480 โดย ชาตรี ประกิตนนทการ ได้ตั้งข้อสังเกตรูปแบบการพัฒนาเกาะเมืองสมัยคณะราษฎร มิได้อนุรักษ์และพัฒนาไปในรูปแบบเมืองที่เน้นรักษาสภาพโบราณสถานและสภาพแวดล้อมแบบดั้งเดิมที่รกร้างไว้ทั้งหมด แต่เลือกที่จะรื้อฟื้นความเป็นเมืองที่มีผู้คนและความเจริญสมัยใหม่แทรกเข้าไปในพื้นที่เมืองเก่า[5]
ในการพัฒนาเกาะเมืองอยุธยา กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการที่มีนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อวางผังเมืองและแบ่งเกาะเมืองออกเป็นเขตการค้าและที่อยู่อาศัย (บริเวณตำบลหอรัตนชัย) เขตที่อยู่อาศัย (บริเวณจากคลองมะขามเรียงถึงถนนชีกุน) เขตสถานที่ราชการ (บริเวณจากถนนชีกุนถึงคลองท่อ) เขตสวนสาธารณะ (บึงพระรามและสวนข้างวิหารมงคลบพิตร) เขตอุตสาหกรรม (บริเวณจากคลองท่อฝั่งตะวันตกถึงถนนรอบกรุง) และเขตที่สงวนสำหรับโบราณสถาน[6]
สำหรับเขตอุตสาหกรรมในเกาะเมืองอยุธยานั้น นายปรีดี ได้เสนอ ‘โครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์’ สำหรับผลิตแอลกอฮอล์ไว้ใช้ภายในประเทศสยามตามนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลคณะราษฎร โดยโครงการนี้เป็นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่บริเวณตะวันตกของเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งหากโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์สร้างแล้วเสร็จจะช่วยสร้างงานให้แก่ผู้คนและนำความเจริญมาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในประเทศสยาม
เดิมนั้นแอลกอฮอล์เป็นสินค้านำเข้าของประเทศสยาม โดยแอลกอฮอล์ที่สั่งซื้อเข้านั้นมีทั้งประเภทแอลกอฮอล์ 95 % และแอลกอฮอล์จุดไฟ หรือแอลกอฮอล์อุตสาหกรรม (Methylated Spirits) ซึ่งกระทรวงเศรษฐการได้รายงานว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473-2476 มีปริมาณการนำเข้าแอลกอฮอล์ 95 % เฉลี่ยปีละ 31,281 ลิตร มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละเกือบ 6,000 บาท ส่วนแอลกอฮอล์จุดไฟมีการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 330,111.5 ลิตร มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยปีละ 50,782.25 บาท[7]
แม้ว่าสินค้านำเข้าประเภทนี้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าทั้งหมดของประเทศสยาม แต่ก็สร้างรายได้ทางภาษีศุลกากรในปริมาณมาก[8] ดังนั้นประเด็นเรื่องการผลิตแอลกอฮอล์ในประเทศสยาม จึงไม่เป็นปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลสยาม แม้ว่าภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จะพบว่ามีคนไทยหลายคนได้ยื่นเรื่องมายังรัฐบาลขอตั้งโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ อาทิ พระพิชัยเดชอุดม ขอตั้งโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์จากข้าวหรือมันเทศในปี พ.ศ. 2476 เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลกลับไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่ากิจการอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ยังมิได้มีความสำคัญและสร้างรายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสุรา[9]
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลระบอบใหม่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์มากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2480 อันเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2480 กรมวิทยาศาสตร์ได้มีรายงานว่า กองเภสัชกรรมที่เป็นหน่วยงานใหม่ของกรมวิทยาศาสตร์ต้องใช้แอลกอฮอล์เป็นสารสกัดวิตามินบีสำหรับรักษาโรคเหน็บชา และใช้แอลกอฮอล์ในการผลิตน้ำมันกระเบาสำหรับรักษาโรคเรื้อน เป็นจำนวนปีละ 3,500 ลิตร
กองเภสัชกรรมยังคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2481 กรมวิทยาศาสตร์อาจต้องใช้แอลกอฮอล์ประมาณ 8,000 – 10,000 ลิตร ซึ่งหากดำเนินงานเรียบร้อยย่อมมีการขยายกิจการและต้องการปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐยังมีความจำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ปริมาณมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งการสั่งซื้อจากห้างชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ นั้นมีราคารวมกับภาษีค่อนข้างสูง ส่งผลทำให้การผลิตวิตามินบีและน้ำมันกระเบามีต้นทุนสูง และไม่สามารถผลิตยาในราคาย่อมเยาตามความมุ่งหมายของรัฐบาลได้[10]
จากเหตุผลข้างต้นกรมวิทยาศาสตร์จึงเสนอให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์ภายในประเทศ เพื่อให้ราคาแอลกอฮอล์ถูกลง[11] อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาเรื่องนี้ของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ได้ลงมติให้กระทรวงเศรษฐการทำความตกลงกับกระทรวงการคลังในเรื่องราคาเพื่อให้ถูกลง[12] อันสะท้อนถึงท่าทีของรัฐบาลที่ยังคงไม่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ภายในประเทศ แต่ให้มุ่งเน้นมาตรการทางภาษีเพื่อให้แอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาต่ำลง
นายปรีดี พนมยงค์ กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์
เมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ในประเทศสยาม กล่าวคือ นายปรีดีได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ตั้งโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์แบบทันสมัยแห่งแรกของประเทศสยามที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติ
จุดเริ่มต้นของโครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยานั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากในปี พ.ศ. 2481 โรงงานสุราบางยี่ขันผลิตสุราได้ปริมาณไม่เพียงพอแก่การจำหน่าย เนื่องจากเครื่องกลั่นสุราของโรงงานสุราบางยี่ขันเป็นรุ่นเก่า มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนานจนทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นผู้อำนวยการโรงงานสุราบางยี่ขันจึงได้ทำเรื่องเสนอนายปรีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของบประมาณจำนวน 400,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องกลั่นสุราใหม่[13]
อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาของรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงจากโครงการจัดซื้อเครื่องกลั่นสุราของโรงงานสุราบางยี่ขัน มาเป็นการสร้างโรงงานผลิตแอลกอฮอล์และสุราที่ทันสมัยขึ้นใหม่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามแนวคิดของนายปรีดีแทน พร้อมกับปรับปรุงเครื่องจักรที่โรงงานสุราบางยี่ขันให้สามารถทำการผลิตสุราได้ควบคู่กันไปด้วย
จากนั้นรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานชุดหนึ่งเรียกว่า “กรรมการปรับปรุงสุราเมรัย” ในปี พ.ศ. 2482 มี ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการ อันนำไปสู่การวางโครงการสร้างโรงงานแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่และทันสมัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ตามโครงการยังมีแนวคิดการสร้างโรงงานสุรา โรงงานเมรัย และโรงงานทำขวดในบริเวณเดียวกับโรงงานแอลกอฮอล์อีกด้วย[14]
การก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยาและสารพัดอุปสรรค
เมื่อพิจารณาที่ตั้งของโครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ ได้กำหนดบริเวณโรงทหารเก่า ซึ่งอยู่ติดกับเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดสวนหลวงสบสวรรค์ มาเป็นสถานที่ในการก่อสร้างโรงงาน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยาสะดวกต่อการขนส่งทางน้ำ และมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่สามารถขยายกิจการโรงงานในอนาคตได้ เดิมนั้นที่ดินผืนนี้เป็นที่ตั้งของกองพันทหารช่างที่ 1 แต่ต่อมากระทรวงกลาโหมได้ย้ายหน่วยทหารนี้ไปตั้งอยู่ที่ราชบุรีภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476
ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 กระทรวงธรรมการจึงขอใช้อาคารโรงทหารเก่าที่เหลืออยู่มาตั้งเป็นสถานศึกษา 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดชายและหญิง โรงเรียนการช่างสตรี โรงเรียนเกษตรกรรม และโรงเรียนประชาบาล[15] เมื่อกระทรวงการคลังมีโครงการสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ที่โรงทหารเก่าอยุธยาในปี พ.ศ. 2482 ทางกระทรวงการคลังจึงได้รับมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในบริเวณโรงทหารเก่าให้เป็นของโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ พร้อมกันนั้นทางโรงงานได้สร้างโรงเรียน 5 แห่ง ในบริเวณเกาะเมืองเพื่อเป็นการทดแทนให้แก่โรงเรียนที่เคยตั้งอยู่ในค่ายทหารเก่า โดยการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2483 และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 200,000 บาท[16]
การก่อสร้างโรงงานแอลกอฮอล์เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2483 งานแรกของการก่อสร้างคือ การขุดคลองขนส่งขนาดกว้าง 50 เมตร ลึกเท่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าไปในบริเวณโรงทหารเก่าประมาณ 1 กิโลเมตร โดยอาศัยเรือขุดของกรมชลประทาน จากนั้นเป็นการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง บ้านพักที่ขวางแนวคลองออก ตลอดจนขุดดิน ถมที่ ถางป่า และปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมการสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์[17]
อย่างไรก็ตามในการก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา กลับไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่วางไว้ เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ เริ่มต้นจากสถานการณ์สงครามในยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2483 ได้ส่งผลให้บริษัทอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ประมูลก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ทยอยถอนตัวกันหมด รัฐบาลไทยจึงได้เจรจากับบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาของญี่ปุ่น โดยบริษัทนี้ได้ยื่นประกวดราคาครบทุกรายการ เป็นราคาทั้งสิ้น 10,000,000 เยน แต่ไม่สามารถจะตกลงกันได้เกี่ยวกับข้อปลีกย่อยในรายละเอียด ดังนั้นการประกวดราคาจึงได้ถูกระงับไป[18]
ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแรกในปลายปี พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทเฮนรี่วอห์ แอนด์ กำปะนี จำกัดแห่งปีนัง ได้เสนอขายเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์ที่กัวลาลัมเปอร์ในมาลายาของอังกฤษ ให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน ดังนั้นกรมสรรพสามิตจึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการปรับปรุงสุราเมรัย และคณะกรรมการได้แต่งตั้งให้ นาวาเอก พระประกอบกลกิจ นายอารีย์ สุพล และขุนกฤษณามระวิสิษฐ์ เดินทางไปตรวจพิจารณาเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์และได้รายงานว่าเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์นั้นมีสภาพดีและใช้การได้
สุดท้ายรัฐบาลจึงได้อนุมัติให้ซื้อเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์จากมาลายาตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมการถอดเครื่องจักรและส่วนประกอบตัวโรงงานที่กัวลาลัมเปอร์ด้วย[19] โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าซื้อเครื่องกลั่นแอลกฮอล์ 1 เครื่อง เป็นเงิน 181,257 บาท และค่าขนส่งจากมาลายามาถึงอยุธยาเป็นเงิน 16,200.46 บาท[20]
แม้ว่าเครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ของโรงงานได้ขนส่งถึงอยุธยาเรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2484 แต่โครงการโรงงานแอลกอฮอล์ได้หยุดชะงักลง อันเนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 ยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโรงงานแอลกอฮอล์อยุธยา อย่างนายปรีดี พนมยงค์ ได้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงเวลาใกล้กัน จนล่วงมาถึงกลางปี พ.ศ. 2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าแอลกอฮอล์มีความสำคัญในฐานะเป็นเชื้อเพลิงในยามสงคราม รัฐบาลจึงอนุมัติเงินลงทุนจำนวน 2,053,600 บาท สำหรับเป็นค่าก่อสร้างโรงกลั่นและเงินหมุนเวียนในการก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์[21]
การก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ได้ดำเนินการอีกครั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2486 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมให้บริษัทบางกอกด๊อก เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยอมตกลงให้บริษัทบางกอกด๊อก เลิกสัญญาการก่อสร้างโรงงานแอลกอฮอล์อยุธยา เพราะทางราชการไม่สามารถจัดหาวัสดุก่อสร้างได้ นับตั้งแต่อิฐบางบัวทอง อิฐทนไฟ ปูนซีเมนต์ และเครื่องจักรก่อสร้าง อันเป็นผลมาจากภาวะขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรงในช่วงปลายสงครามโลก ส่วนเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์ที่รัฐบาลซื้อมาแล้วนั้นยังคงเก็บไว้ในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงงานแอลกอฮอล์ตลอดช่วงสงคราม[22]
นอกจากนี้ ระหว่างช่วงสงคราม ทางกระทรวงกลาโหมยังได้ขอใช้พื้นที่โรงงานแอลกอฮอล์อยุธยา เพื่อใช้เป็นที่ตั้งชั่วคราวของกองพันทหารราบที่ 54 (ต่อมาเป็นกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 11) นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2486 แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมแบ่งพื้นที่ตอนเหนือบริเวณโรงงานแอลกอฮอล์ไว้ใช้ราชการทหาร[23] กรณีกระทรวงกลาโหมกลับมาใช้พื้นที่บางส่วนของโรงงานแอลกอฮอล์ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จนี้จะนำไปสู่ปัญหาที่ดินระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490
การรื้อฟื้นโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยาช่วงหลังสงครามโลก
โครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ที่ริเริ่มโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2480 ได้ประสบอุปสรรคนานัปการจากสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้การก่อสร้างโรงงานต้องหยุดชะงักลงในช่วงต้นปี พ.ศ. 2488 ดังนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้รื้อฟื้นโครงการโรงงานแอลกอฮอล์ใหม่อีกครั้งในปลายปี พ.ศ. 2488 แต่กลับถูกคัดค้านจากคณะกรรมการกระทรวงอุตสาหกรรมว่าไม่ควรดำเนินโครงการโรงงานแอลกอฮอล์ต่อ โดยให้เหตุผลว่าเครื่องจักรที่สั่งซื้อมาเก่าแล้ว และเก็บไว้อย่างยาวนานอาจกลั่นแอลกอฮอล์ไม่ได้ผล
แม้โครงการนี้ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน แต่การก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ยังคงได้รับการสนับสนุนจาก หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ ผู้อำนวยการโรงงานสุรา เนื่องจากหากโรงงานไม่สามารถกลั่นแอลกอฮอล์ได้สำเร็จตามเป้าหมาย โรงงานแห่งนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงมาเป็นโรงงานต้มสุราและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐได้เช่นกัน[24]
ดังนั้น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงมีคำสั่งให้ทำการสำรวจโรงงานและเครื่องจักรของโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการสานต่อโครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ของนายปรีดี พนมยงค์ แต่สุดท้ายการดำเนินการดังกล่าวกลับต้องสะดุดอีกครั้ง เนื่องจากคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
เมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ก็ได้กลับมาสะสางโครงการโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อีกครั้ง ภายใต้การควบคุมของ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างโรงงาน มี นาวาเอก พระประกอบกลกิจ เป็นประธาน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ให้แล้วเสร็จ[25] และในระหว่างการก่อสร้างนั้นได้มีการติดตั้งเครื่องต้มกลั่นสุราและสามารถผลิตสุราออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491[26]
“โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์” ได้ก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2494 นับตั้งแต่ตึกโรงกลั่นแอลกอฮอล์ โรงเก็บแอลกอฮอล์ โรงเครื่องจักรและหม้อน้ำ โรงเก็บเชื้อเพลิง ตึกวิทยาศาสตร์ โรงหมักส่า โรงไฟฟ้า โรงซ่อม ที่ทำการประปา รวมถึงบ้านพักเจ้าหน้าที่และคนงาน โดยเครื่องกลั่นแอลกอฮอล์นั้นสามารถทำการผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์วันละ 30,000 ลิตร ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ[27]
ส่งท้าย
“โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา” ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตแอลกอฮอล์ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2490 สามารถผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์เพื่อใช้ทำสุราผสมตามโรงงานสุราและโรงงานเมรัย เวชภัณฑ์ตามโรงพยาบาล วัตถุเชื้อเพลิง เครื่องสำอาง และน้ำหอมต่าง ๆ[28] โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยายังมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติ ทั้งช่วยแปรรูปสินค้าเกษตรมาเป็นแอลกอฮอล์ ลดการนำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ เพิ่มรายได้ให้แก่รัฐจากการเก็บภาษีต่างๆ ในการผลิตแอลกอฮอล์
นอกจากนี้โรงงานแห่งนี้ยังสร้างงานให้กับชาวอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงที่เข้ามาทำงานในโรงงาน และสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันสอดคล้องกับความมุ่งหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เสนอโครงการโรงงานอุตสาหกรรมกลั่นแอลกอฮอล์เพื่อนำความเจริญสมัยใหม่เข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา
ถึงแม้ว่าสิ่งปลูกสร้างของโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา จะไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลได้อนุมัติโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์อยุธยาในปี พ.ศ. 2536 จากนั้นทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงมีความเห็นร่วมกันในการย้ายโรงงานอุตสาหกรรมออกจากเกาะเมืองอยุธยาให้สอดคล้องการจัดการพื้นที่โบราณสถานในโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ดังนั้น โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์และโรงงานสุราจึงหยุดดำเนินการผลิตในปลายปี พ.ศ. 2539 และเริ่มดำเนินการรื้อถอนอาคารโรงงานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540[29] ปัจจุบันพื้นที่โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ยังคงหลงเหลือคลองขุดของโรงงานจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ตื้นเขิน โดยพื้นที่บริเวณติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้กลายเป็นที่ตั้งสำนักงานโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและสำนักศิลปากรที่ 3 ส่วนพื้นที่บริเวณอาคารโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตได้กลายสภาพเป็นที่ดินว่างเปล่า ขณะที่บริเวณโรงงานสุราอยุธยาและบ้านพักพนักงานได้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนโรงสุราและชุมชนสรรสามิต
เอกสารอ้างอิง
- กิตติ ภู่พงษ์วัฒนา. “การปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาในสมัย ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง.” ใน บุหงา วัฒนะ (บรรณาธิการ). 100 ปี ชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ : ปูชนียบุคคลของโลก. อยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2543.
- เกื้อกูล ยืนยงอนันต์. ความเปลี่ยนแปลงภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2438-2500. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 2529.
- ขจรจบ กุสุมาวลี. “การจัดการ “พื้นที่ประวัติศาสตร์” จากกรณีศึกษาบริเวณวิหารมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา.” วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานกิจการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปี 2500. ม.ป.ท., ม.ป.ป.
- ชาตรี ประกิตนนทการ. “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (5),” เข้าถึงได้จาก www.matichonweekly.com/column/article_622443 (14 มกราคม 2567).
- พัฑร์ แตงพันธ์. “การพัฒนาชุมชนเมืองกับการอนุรักษ์โบราณสถานในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล พ.ศ. 2482-2544.” ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2555.
- “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและวัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กระทรวงการคลัง พุทธศักราช 2481.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (24 เมษายน 2482), น. 399-401.
- รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 42/2483 (30 ธันวาคม 2383).
- รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 46/2485 (23 กันยายน 2485).
- รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2481 (8 มิถุนายน 2481).
- รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2481 สามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 (28 มีนาคม 2481).
- รายงานกิจการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปี 2500 (ม.ป.ป.).
- ศุภสุตา ปรีเปรมใจ. “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2483-2534.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2557.
- หจช. (2)สร.0201.18.2/13 ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ มกราคม-กันยายน 2494 (6 มกราคม – 23 กันยายน 2494).
- หจช. (2)สร0201.22.2.14/2 ผู้มีชื่อขอตั้งโรงงานทำแอลกอฮอล์ (1-31 สิงหาคม 2476).
- หจช. (2)สร0201.22.2.14/3 โครงการอุตสาหกรรมทำแอลกอฮอล์ (21 พฤษภาคม 2477 – 4 มีนาคม 2487).
- หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496).
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานประจำปีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปีพุทธศักราช 2504-2505. พระนคร: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น, 2506.
[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2481 สามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 (28 มีนาคม 2481), น. 1816-1817.
[2] “พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและวัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กระทรวงการคลัง พุทธศักราช 2481,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 (24 เมษายน 2482), น. 399-401.
[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29/2481 สามัญ สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 (28 มีนาคม 2481), น. 1817.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 1817-1818.
[5] ชาตรี ประกิตนนทการ, “ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (5),” เข้าถึงได้จาก www.matichonweekly.com/column/article_622443 (14 มกราคม 2567).
[6] ขจรจบ กุสุมาวลี, “การจัดการ “พื้นที่ประวัติศาสตร์” จากกรณีศึกษาบริเวณวิหารมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา,” (วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542), น. 24-25; กิตติ ภู่พงษ์วัฒนา, “การปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาในสมัย ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,” ใน บุหงา วัฒนะ (บรรณาธิการ), 100 ปี ชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ : ปูชนียบุคคลของโลก (อยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2543), น. 148-152.
[7] หจช. (2)สร0201.22.2.14/3 โครงการณ์อุตสาหกรรมทำแอลกอฮอล์ (21 พฤษภาคม 2477 – 4 มีนาคม 2487).
[8] เรื่องเดียวกัน.
[9] หจช. (2)สร0201.22.2.14/2 ผู้มีชื่อขอตั้งโรงงานทำแอลกอฮอล์ (1-31 สิงหาคม 2476); หจช. (2)สร0201.22.2.14/3 โครงการณ์อุตสาหกรรมทำแอลกอฮอล์ (21 พฤษภาคม 2477 – 4 มีนาคม 2487).
[10] หจช. (2)สร0201.22.2.14/3 โครงการณ์อุตสาหกรรมทำแอลกอฮอล์ (21 พฤษภาคม 2477 – 4 มีนาคม 2487).
[11] เรื่องเดียวกัน.
[12] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2481 (8 มิถุนายน 2481).
[13] หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496); “ประชาธิปไตย 19 ก.พ. 94,” ใน หจช. (2)สร.0201.18.2/13 ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ มกราคม-กันยายน 2494 (6 มกราคม – 23 กันยายน 2494).
[14] หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496).
[15] พัฑร์ แตงพันธ์, “การพัฒนาชุมชนเมืองกับการอนุรักษ์โบราณสถานในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล พ.ศ. 2482-2544,” (ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2555), น. 79.
[16] “โรงงานแอลกอฮอล์ อยุธยา,” ใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, รายงานกิจการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประจำปี 2500 (ม.ป.ท., ม.ป.ป.), น. 395; เกื้อกูล ยืนยงอนันต์, ความเปลี่ยนแปลงภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. 2438-2500 (กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา, 2529), น. 85.
[17] หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496).
[18] เรื่องเดียวกัน.
[19] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 42/2483 (30 ธันวาคม 2383).
[20] หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496).
[21] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 46/2485 (23 กันยายน 2485).
[22] หจช. (2)สร0201.22.2.14/5 โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์อยุธยา (10 ตุลาคม 2487 – 9 มกราคม 2496).
[23] เรื่องเดียวกัน.
[24] หจช. (2)สร.0201.18.2/13 ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ มกราคม-กันยายน 2494 (6 มกราคม – 23 กันยายน 2494).
[25] เรื่องเดียวกัน.
[26] “โรงงานแอลกอฮอล์ อยุธยา,” น. 396.
[27] เรื่องเดียวกัน, น. 396.
[28] เรื่องเดียวกัน, น. 397-398.
[29] พัฑร์ แตงพันธ์, “การพัฒนาชุมชนเมืองกับการอนุรักษ์โบราณสถานในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล พ.ศ. 2482-2544,” น. 213-214.
- ตั้ว ลพานุกรม
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงพิบูลสงคราม
- นาวาเอก พระประกอบกลกิจ
- อารีย์ สุพล
- ขุนกฤษณามระวิสิษฐ์
- ทองอินทร์ ภูริพัฒน์
- พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- ควง อภัยวงศ์
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- โรงงานกลั่นแอลกอฮอล์
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- กำเเพงเมืองโบราณ
- เกาะเมืองอยุธยา
- อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์
- โรงงานผลิตแอลกอฮอล์
- อุตสาหกรรมสุรา
- กองเภสัชกรรม
- กรมวิทยาศาสตร์
- โรงงานสุรา
- โรงหมักส่า