ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

คุณค่าพื้นฐานของรัฐธรรมนูญช่วง 2475-2489

17
ธันวาคม
2563

รัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของรัฐ ที่สะท้อนความต้องการ ปัญหา อุปสรรค และประสบการณ์ของรัฐหากพิจารณารัฐธรรมนูญ แต่ละฉบับจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงถึงกันมีสิ่งที่พยายามรักษาไว้เพื่อส่งต่อไปยังอนาคตและมีสิ่งที่พยายามแก้ไขหรือถูกทำให้หายไปอยู่เสมอ ซึ่งเราควรศึกษารัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกดู

เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายสูงที่ใช้ในการปกครองก่อร่างสร้างความเป็นรัฐจัดสรรอำนาจโครงสร้างทางการเมือง แสดงฉันทามติของคนในสังคม และสร้างความเป็นพลเมือง ดิฉันเชื่อว่าอย่างนั้นหมายความว่าแท้ที่จริงแล้วหากเราดูรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ อย่าถูกเขาหลอกหรือเชื่อวาทกรรมบางอย่างว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย ดังนั้น ถ้าหากเราอยากจะทราบว่า รัฐธรรมนูญนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ หรือประเทศนั้นปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบใด ก็ควรจะต้องอ่านแล้วธรรมนูญอย่างที่ท่าน ดร.วรวิทย์ ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น

การก่อสร้างความเป็นรัฐนั้น ๆ ถ้าเราอ่านรัฐธรรมนูญ เราจะพบเห็นฉันทามติบางอย่างของคนในสังคมนั้น ๆ ณ ห้วงเวลานั้น ๆ ว่า เจตนารมณ์ มีความต้องการ หรือมีทัศนคติต่อรูปแบบการเมืองการปกครองอย่างไร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ ณ วันนี้ เราพูดถึงการปฏิรูป การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะเราอยากเห็นการทำรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่เอารัฐธรรมนูญจากซากของคนตายมาใช้กับคนเป็น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนในปัจจุบันเรียกร้องที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้กับของตนเองในอนาคตต่อไป

หากเราได้อ่านรัฐธรรมนูญเราก็จะเห็นร่องรอยของฉันทามติแบบนี้ ในเชิงประวัติศาสตร์เอง ทั้งสองท่านก็ได้พูดไปบ้างแล้วว่า ร่องรอยของรัฐธรรมนูญในอดีตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ความสำคัญของรัฐธรรมนูญอีกอย่างหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญได้สร้างความเป็นพลเมืองด้วย จากการจัดโครงสร้าง แบ่งแยกอำนาจ สถาบันทางการเมือง หรือก่อร่างสร้างความเป็นรัฐแล้วนั้น ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญนั้นทำให้คนมีสิทธิ เสรีภาพ ที่เท่าเทียมกันผ่านระบบการเลือกตั้งต่าง ๆ

หากเรามองย้อนกลับไปผ่านรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมฉบับแรก ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 จริง ๆ แล้ว วันที่ประกาศใช้ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ คือ วันที่ 27 มิถุนายน สำหรับดิฉันแล้วมีความหมายและมีนัยยะทางการเมือง ไม่เพียงแต่เพราะเราเป็นคนธรรมศาสตร์ แต่ใช่ค่ะ เพราะด้วยความที่เราเป็นคนธรรมศาสตร์ เราเลยรู้สึกว่า มันมีนัยยะความหมายที่อาจารย์ปรีดีตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะตั้งวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ตรงกับวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475

ดิฉันคิดว่า คุณค่าของรัฐธรรมฉบับแรกของไทย ที่หลายคนชอบเข้าใจว่าไม่ใช่ฉบับแรก แต่เวลาเราสอนหนังสือ เราก็จะบอกตลอดว่า นี่คือฉบับแรก คุณปฏิเสธไม่ได้แม้ว่าชื่อเรียกจะเป็น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรืออย่างไรก็ตาม คุณปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับแรก

คุณค่าของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แน่นอนว่า มันคือการเริ่มสถาปนาระบอบ Constitutional monarchy เป็นครั้งแรก คือ การจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ปรากฏอยู่ในคำปรารภที่สั้นและกระชับ แต่หลังจากนั้น คำปรารภของรัฐธรรมนูญไทยนั้นยาวมาก ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงเป็นคำปรารภที่สั้นและกระชับมาก และเป็นการสถาปนาหลักการที่สำคัญที่อยู่ในคำปรารภ เริ่มตั้งแต่ “โดยที่คณะราษฎรได้ร้องขอให้อยู่ใต้ธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม” เรื่อยมา และรวมถึงมาตราแรกที่ยังคงความไพเราะมาจนทุกวันนี้ คือ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ความตั้งใจที่จะใส่มาตรานี้เอาไว้มาตรา 1 คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด

แต่หลังจากนั้นเรื่อยมามันคือการประนีประนอม มาตรา 1 ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเขียนเรื่องของรูปแบบของรัฐแทน

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เป็นมาตราแรกและรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ยังคงทรงพลัง และสำหรับดิฉันมันคือการพูดถึงคุณค่าหรือการสถาปนาระบอบได้อย่างชัดแจ้งมาก ไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย และทุกคนเข้าใจตรงกัน

นอกจากนี้การสถาปนาระบอบ Constitutional monarchy แบบนี้ ยังคงถูกสอดแทรกไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญหลาย ๆ มาตราด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 6 ที่พูดถึงเกี่ยวกับตัวแทนของประชาชนที่เปิดโอกาสให้กรรมการราษฎรต้องลงนามยินยอมในการกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์ด้วย รวมถึงการเขียนเรื่องสิทธิวีโต้ (Veto) ในการยับยั้งกฎหมาย ซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยเหมือนกัน เรามักจะเข้าใจว่า สิทธิวีโต้เป็นสิทธิเด็ดขาด แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด แต่เป็นอำนาจสูงสุดของสภาอยู่ดี

ประการต่อมา คุณค่าแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างความต่อเนื่องของการปกครองในระยะเปลี่ยนผ่าน ความตั้งใจของผู้ประศาสน์การหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ แน่นอนว่า มันคือการเปลี่ยน หรือพลิกระบอบที่มันอาจจะเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับสังคมในช่วงนั้น การจะทำให้มีสภาแต่ละช่วงทั้ง 3 ช่วง ดิฉันมองว่า กระบวนการแบบนี้นั้นน่าสนใจ หมายความว่า มันไม่ได้มีการเปิดให้เลือกตั้งโดยทั่วไปตั้งแต่ในครั้งแรก แต่มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจนั้นมันราบรื่นมากที่สุด ดิฉันคิดว่า คุณค่าด้านนี้เป็นคุณค่าที่น่าสนใจมากพอสมควร เพราะในฉบับแรกก็จะเป็นสภาเดียว ฉบับที่ 2 ก็จะมีสภาเดียว และในฉบับที่ 3 ก็จะมีสองสภา แต่การเปลี่ยนผ่านที่เปิดโอกาสให้มีสามระยะเช่นนี้ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการปกครองได้ รวมถึงมีการเขียนเปิดโอกาสให้คณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีสามารถออกสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า “พระราชกำหนด” ได้ อย่าลืมว่า ในการทำงาน หากสภาทำงานไม่ได้หรือว่าปิดสมัยประชุมสภาเกิดขึ้น และมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายบางอย่าง การทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหรือการบังคับใช้กฎหมายนั้นมีความต่อเนื่อง การออกพระราชกำหนดจึงมีความสำคัญ หลังจากนั้น จึงมีหลักการเรื่องการออกพระราชกำหนดออกมาในห้วงเวลาที่สภาปิดประชุมสภาหรือสถานการณ์ที่ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนในการออกพระราชกำหนดด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ การให้อำนาจกับประชาชน ดิฉันมองว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องสิทธิในการเลือกตั้ง ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกมีถ้อยคำที่เขียนถึงการเลือกตั้งไว้ว่า นอกจากสิทธิลงในการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรว่าต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งก็เป็นอายุที่น้อยในห้วงเวลานั้น ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้ และอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันมองว่ามีความก้าวหน้ามากในตัวบทเอง คือ การพูดถึงการออกเสียงเลือกตั้ง ที่กล่าวว่า “ราษฎรไม่ว่าเพศใด ผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงลง มติเลือกผู้แทนหมู่บ้านได้” แต่คำว่า “ไม่ว่าเพศใด” นี้ มันก้าวหน้ามาก คือ ถ้าย้อนไปดูรัฐธรรมนูญหลาย ๆ ฉบับ จะใช้คำว่าชายหญิง แต่คำว่า ไม่ว่าเพศใด สำหรับดิฉัน มันไปรวมถึงการที่เพศสภาพใด ๆ ก็ตามได้รับการยอมรับเฉกเช่นเดียวกัน มันเป็นการเปิดโอกาสให้ราษฎรไม่ว่าคุณจะอยู่ในเพศใดก็ตาม เพศสภาพใดก็ตาม คุณมีสถานะเท่าเทียมกัน คือ การทำให้คนมีสถานะเท่ากันในทางคะแนนเลือกตั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

แต่อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งมีมาตราที่สั้นพอสมควร จึงไม่ได้พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ ซึ่งหลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะตกลืมไป เพราะอาจารย์ปรีดีเองก็สอนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ อำนาจอิสระ หน้าที่พลเมืองอะไรทำนองนี้เช่นกัน แต่ดิฉันกลับคิดว่า มาตรา 1 บอกไว้ชัดอยู่แล้ว หมายความว่าถึงไม่มีระบุไว้ว่า สิทธิของราษฎรนั้นมีอะไรบ้าง  กล่าวว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลายนั้นมันมีนัยยะสำคัญในตัวอยู่แล้วที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพของราษฎร จริง ๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับใช้ หรืออธิบายว่า สิทธิเสรีภาพของราษฎรนั้นนั้นมีได้อย่างกว้างขวางแค่ไหน

แต่อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นเพียงรัฐธรรมนูญในห้วงเวลาที่สั้นจนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ฉบับวันที่ 10 ธันวาคมที่เป็นวันครบรอบรัฐธรรมนูญจนทุกวันนี้ ถ้าทำสังเกตจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นคำปรารภที่ยาวมาก เป็นการเขียนอธิบายว่า เหตุใดจึงก่อร่างสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น และหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญของไทยหลายฉบับก็นิยมเขียนคำปรารภหรือความอารัมภบทไว้ยาวมาก ก็คือ เหตุผลในการทำรัฐธรรมนูญขึ้นมานั่นเอง

ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ก็ได้ยืนยันเจตนารมณ์ และหลักการเดิมไว้อย่างชัดเจน นั่นคือ Constutional monarchy อย่างไรก็ดี ในฉบับนี้ก็ยังมีคุณค่าหลายประการที่เราไม่พูดถึงไม่ได้เลย ได้แก่ ในมาตรา 1 นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปพูดถึงการสร้างความเป็นรัฐเดี่ยว และก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสยามเป็นไทย นอกจากนี้ก็ได้มีการบัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศให้มีความเรียบร้อยและประสานจบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้บางถ้อยคำที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกกลายเป็นคำที่สละสลวย แนบเนียน ประสานและสอดคล้องกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงคำว่า กษัตริย์ เป็น พระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการยกย่องอีกด้วย

คุณค่าต่อมา คือ ด้านสิทธิหน้าที่เสรีภาพของชนชาวไทย ได้บัญญัติไว้เป็นครั้งแรก แต่อย่างที่ดิฉันบอกว่า สาระสำคัญอาจไม่ใช่การบัญญัติหรือไม่หากไม่เกิดขึ้นจริง ที่น่าสนใจ คือ มีการพูดถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญด้วย ในแง่กฎหมายนั้นมาตรา 61 ได้เขียนไว้ว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นนั้น ๆ เป็นโมฆะ ในสมัยนั้นเราใช้คำว่า โมฆะ ซึ่งน่าจะเป็นคำมาจากอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นข้อความที่พูดถึงความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้อย่างสละสลวย ซึ่งในช่วงเริ่มต้น การตีความอะไรที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อมาในฉบับที่ 3 ได้เปลี่ยนมาเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญในรูปแบบฝรั่งเศสแทน

นอกจากยังมีประเด็นการพยายามทำกฎหมายเรื่องการเลือกตั้งและเพิ่มระบบตรวจสอบถ่วงดุลมากขึ้น ซึ่งในฉบับแรกไม่ได้ระบุไว้ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และยังเป็นประเด็นจนทุกวันนี้ คือ ไม่ได้สั่งห้ามให้ทหารหรือข้าราชการประจำเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อนี้จึงทำให้การเมืองไทยเปิดโอกาสให้ทหารและข้าราชการบางส่วนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองและทำให้ผลประโยชน์ขัดกันได้ ทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลนั้นเสียดุล ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก

นอกจากนี้ อำนาจเปลี่ยนแปลงสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ได้พูดไว้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ไม่มีการพูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ใช้ระยะเวลามาอย่างยาวนานพอสมควร และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นไป แต่ดิฉันคิดว่า ในห้วงเวลานั้น เนติบริกรอาจไม่มีมากมายเท่าปัจจุบัน เมื่อเปิดโอกาสให้แก้ไขรายมาตราแล้วจะแก้อย่างไร หรือให้เป็นแก้ไขทั้งฉบับ ก็เหมือนมีทางตันในตัวบทกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ดี การปลดล็อกเช่นนี้นั้นไม่เป็นปัญหาในปัจจุบันอีกต่อไป เพราะว่าเรามีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ 2534 แก้ไขเพิ่มเติมตอนปี 2538 เพื่อปลดล็อคให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เกิดขึ้น และแนวทางนี้ก็ใช้เป็นแนวทางทางเทคนิคของกฎหมายเพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อมา ดังนั้น ข้อจำกัดแบบนี้ก็อาจจะไม่เป็นประเด็นอีกต่อไป เนื่องจากนักกฎหมายของเราเก่งมากขึ้น

ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ปี 2489 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในตอนนั้นเราอาจไม่ได้พูดถึงแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม เนื่องจากพึ่งได้มีการนำมาพูดกันในแวดวงวิชาการเมื่อตอนทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ช่วงปี 2538 อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ก็ออกมาพูดถึงเป็นคนแรก ๆ แต่ดิฉันคิดว่า หากเราลองอ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2549 ดูแล้ว เราจะพบร่องรอยของแนวคิดในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยอาศัยแนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมพอสมควร เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะจัดทำ คือ ฉบับปี 2489 นั้นมีความสมดุลของระบบรัฐสภามากขึ้น และป้องกันไม่ให้มีการกระทำเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอย่างในอดีต ไม่ว่าจะเป็น การมีสองสภา ที่มีความน่าสนใจอย่างเช่นการจับสลากออก ซึ่งดิฉันคิดว่า เรื่องเหล่านี้มันน่าสนใจในกระบวนการ การที่พฤฒิสภามีการจับสลากเพื่อออก ประเด็นคือเพื่อให้วาระเหลื่อมกัน ให้การเปลี่ยนผ่านนั้นราบรื่นมากขึ้น และป้องกันไม่ให้ฐานอำนาจหรือกลุ่มอำนาจที่เข้ามาพร้อมกัน อยู่ด้วยกัน และหมดวาระไปพร้อมกันนี้กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เพื่อป้องกันเผด็จการรัฐสภา และเป็นการเปิดโอกาสให้คนใหม่เข้ามา และขณะเดียวกันก็ยังมีคนเก่าอยู่ด้วย เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง โดยวิธีการแบบนี้ใช้ในฝรั่งเศสปัจจุบัน คือ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยรูปแบบทางอ้อม ซึ่งเรามักจะชอบคิดว่า ส.ว. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่สำหรับดิฉันคิดว่า ส.ว. ไม่จำเป็นต้องมีที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ก็ได้ แต่อำนาจจะต้องแปรผันไปตามที่มา หากลองย้อนกลับไปดูจะพบว่ารัฐธรรมนูญปี 2489 นั้น ส.ว. มีอำนาจอย่างจำกัด แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม การที่มีอำนาจอย่างจำกัดเช่นนี้แปลว่า ไม่ว่าคุณจะมาโดยวิธีการทางอ้อมหรือการแต่งตั้งก็ตาม คุณก็ไม่ควรมีอำนาจมากไปกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้นเอง หมายความว่า การเลือกตั้งของ ส.ว. มันอาจไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่ากับอำนาจของ ส.ว. ที่มีมากล้นเกินกว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนี้ ฉบับ 2489 ได้พูดถึงการตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเรื่อยมา ซึ่งอาจจะยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างมากจนถึงมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญ จนรัฐธรรมนูญ 2540 รวมถึงความพยายามตราพระราชบัญญัติพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนตั้งพรรคการเมืองได้

ดังนั้น ดิฉันคิดว่า คุณค่าของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับนั้นควรค่าแก่การศึกษา แต่อย่างไรก็ดี เวลาเราศึกษารัฐธรรมนูญในเชิงประวัติศาสตร์ เราต้องไม่ลืมว่า บริบททางสังคมประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถหยิบยกโมเดลหรือเอารูปแบบของรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับใช้กับยุคปัจจุบันได้ แต่คุณค่าบางอย่างนั้นควรค่าแก่การรักษาไว้และทบทวนมัน อย่างน้อยเราจะได้รู้ถึงฉันทามติของคนที่ก่อร่างสร้างความเป็นประชาธิปไตย

 

ที่มา: เรียบเรียงจากช่วงแรกของคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “คุณค่าของพื้นฐานรัฐธรรมนูญช่วง 2475-2489 สู่บริบทรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์