ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและประโยชน์ต่อประเทศ

17
ธันวาคม
2567

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอเชิญท่านถัดไป คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ไม่รู้จะถามอะไรเอาเป็นว่าช่วยกลับมากับปัจจุบัน เราอยู่กับรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่เรายังแก้ไม่ได้ เราเถียงกันเรื่อง Double majority เถียงกันเรื่องทำประชามติสองครั้งสามครั้ง จะเริ่มเดือนไหน นับ 180 วัน นับทันไม่ทัน ทำไมเราต้องสู้กันเรื่องนี้ขนาดนี้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่แล้วหมดไปแล้วเราอยู่กับรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้เหรอ

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

สวัสดีทุกท่าน ขอบคุณที่ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่เชิญผมมาร่วมงานในวันนี้เข้าใจว่ามีรอบแรกเดี๋ยวจะมีถามตอบ เมื่อสักครู่คุณนิกร จำนง ก็พาดพิงประเด็นหนึ่งมาว่าทางพรรคประชาชนว่าเราเสนอโดยไม่มีเรื่องสภาผู้แทนราษฎร (สสร.) ซึ่งความจริงมันก็เป็นข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนซึ่งก็เคยชี้แจงกับท่านนิกรไปเมื่อวาน เอาเป็นว่าผมรอชี้แจงทีเดียวดีกว่าเผื่อมีพาดพิงเพิ่มเติมจะได้ชี้แจ้งไปรอบเดียวเลย ในรอบแรกนี้อยากจะพูดถึงประเด็นที่คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ถามก็ต้องบอกว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายพอสมควร ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ผมแต่ทุกท่านบนเวทีนี้ก็จะถูกเชิญไปงานเสวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเยอะแยะไปหมด ในช่วงเวลา 8, 9, 10, 11, 12 ธันวาคม ก็พยายามคิดว่าเราจะทำยังไงให้เราพูดเนื้อหาแต่ละเวทีที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ไม่ได้ซ้ำกันเกินไป ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ พูดแตกต่างแต่ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ใช่เวทีหนึ่งพูดอย่างอีกเวทีพูดอย่าง อันนี้ไม่ใช่ แต่หมายถึงว่าพูดแตกต่างด้วยเนื้อหาให้ไม่ขัดแย้งกัน ไม่ซ้ำซ้อนกัน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์:

เป็นการหาอะไรใหม่ ๆ

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ทีนี้ก็เลยพยายามจะมานั่งคิดว่าวันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่องอะไรกันดี ผมคิดว่าตอนนี้ ข้อเสนอที่ดูเหมือนจะเป็นฉันทามติร่วมกันของทั้งรัฐบาลที่ได้ประกาศเป็นนโยบายต่อสาธารณะ และทั้งพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ที่พูดถึงเรื่องนี้มาโดยตลอดก็คือ เรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉบับของประชาชน และมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เวลาเราพูดถึงข้อเสนอเชิงนโยบายอะไรก็ตาม ผมว่ามี 2 โจทย์ใหญ่ที่เรามักจะพูดคุยกันอยู่เสมอ

โจทย์ที่หนึ่งคือโจทย์ว่า Why หรือทำไมเราถึงเสนอข้อเสนอนี้ ทำไมข้อเสนอนี้ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

โจทย์ที่สองก็ How อย่างไร พูดง่าย ๆ ว่าถ้าจะผลักดันให้สำเร็จกระบวนการต่าง ๆ เราจะต้องดำเนินการอย่างไร

ผมคิดว่าถ้าเราลองย้อนดูบทสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างน้อยภายใต้รัฐบาลชุดนี้หลังจากมีการเลือกตั้งปี 2566 มาประมาณหนึ่งปีครึ่ง ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราไปถกเถียงกันเรื่องโจทย์ How โจทย์อย่างไรค่อนข้างเยอะ จำนวนประชามติต้องกี่ครั้ง จะตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จะใช้ พรบ.ประชามติ ที่ใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น หรือว่าสองชั้น เป็นต้น ซึ่งแน่นอนเป็นบทสนทนาที่จำเป็นต้องมีการพูดคุย แต่พอเราไปพูดคุยกันตรงนั้นเยอะ ผมคิดว่าในมุมหนึ่งมันอาจจะทำให้เราอาจจะหลงลืมโจทย์ข้อแรกไปว่า ทำไมเราถึงมาพูดกันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำไมการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญถึงจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและก็ประเทศนี้ ดังนั้น ในรอบแรกนี้อยากจะพูดในเรื่องของโจทย์ทำไม แล้วถ้ามีเวลาเหลือเดี๋ยวค่อยขยับมาโจทย์เรื่องอย่างไร

พอมาเรื่องโจทย์ทำไมก็ต้องมาวัดความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันก่อนก็พยายามจินตนาการว่าจากวันที่ 10 ธันวาคม ปี 2566 ก็คือรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว มาถึง วันที่ 10 ธันวาคม 2567 ก็คือวันนี้ มันมีความคืบหน้าอะไรบ้างในมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่ามีความคืบหน้าส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพราะว่าความสำเร็จของฝ่ายการเมืองในการผลักดันวาระนี้แต่เป็นเรื่องของการเวลาที่ทำให้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สิ้นอายุไป ก็ทำให้ปัญหาที่เราเคยมีของการมี สว. มาจากการแต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกและสามารถมาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลได้ อันนี้ถือว่าสิ้นสภาพไป แต่ว่าในอีกมุมหนึ่งถ้าเราไม่นับการสิ้นอายุของบทเฉพาะกาลที่ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา ก็ต้องยอมรับยังไม่ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตราอะไรเพิ่มเติมเลย ความเป็นไปได้ในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งก็ดูมีความหวังที่ริบหรี่ลงมาเรื่อย ๆ ประชามติที่อย่างน้อยก็ต้องเกิดขึ้นสองครั้ง หากจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร นี่คือสภาวะที่เรากำลังเผชิญอยู่

 

 

สิ่งที่ผมอยากจะชวนทุกคนมาตั้งหลักร่วมกันก็คือว่า ถ้าเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีปัญหาอะไรบ้าง ถ้าสรุปให้เห็นปัญหาสั้น ๆ ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเราไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราอยู่ภายใต้สภาวะการเมืองที่ประชาชนอ่อนแอ มีความอ่อนแอในสองด้านด้วยกัน

ด้านที่หนึ่ง คืออำนาจของประชาชนจะมีความอ่อนแอ

ด้านที่สอง คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะมีความอ่อนแอ

ถ้าเรามาลงลึกเรื่องแรกก่อน เรื่องที่ของการที่อำนาจของประชาชนจะมีความอ่อนแอ เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะว่ารัฐธรรมนูฉบับ 2560 ณ ปัจจุบัน ในบรรดา 279 มาตรา ได้ไปออกแบบโครงสร้างรัฐที่ทำให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สามารถถูกบั่นทอน หรือขัดขวางโดยอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต พูดง่าย ๆ คือ มีการขยายอำนาจของหลายสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้งได้

ยกตัวอย่างเช่นอะไร ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เราจะมีอะไรบ้าง อย่างที่หนึ่งเราก็จะมีวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ยังคงมีอำนาจชี้ขาดเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พูดง่าย ๆ ว่าถึงแม้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 500 คน จากทุกพรรคทุกชุดความคิดเห็นตรงกันเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่สามารถแก้ไขเรื่องนั้นได้ในรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้เสียงเห็นชอบ 1 ใน 3 ของวุฒิสภา เป็นเรื่องปกติที่การแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องยากกว่าการแก้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พรบ.) ที่มักจะอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ว่าพอคุณไปออกแบบมาตรา 256 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ไปให้ Veto power หรืออำนาจชี้ขาดกับวุฒิสภา ที่ไม่ได้มากจากการเลือกตั้ง ก็เลยเกิดปรากฎการณ์ที่ถึงแม้ สส. ทุกคนที่มาจากการเลือกตั้งทุกพรรคเห็นตรงกันหมด ไม่มีอะไรรับประกันว่าแก้ได้ถ้า สว. 1 ใน 3 ไม่เห็นชอบด้วย

เรามีปัญหาอะไรอีก ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้ถูกแก้ไข เราจะมี สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ยังคงมีอำนาจชี้ขาดในการรับรองหรือไม่รับรองว่า ใครจะมานั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใครจะมาเป็นกรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น กกต. ปปช. แน่นอนคนอาจจะเถียงว่า คณะกรรมการสรรหาก็มีตัวแทนฝ่ายการเมืองมาจากการเลือกตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่อย่าลืมไปว่าไม่ว่าจะสรรหาใครมา เสนอชื่อใครมา ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หาก สว. ที่มาจากการเลือกกันเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่ลงมติเห็นชอบ บางคนอาจจะบอกไปอีกว่าก็ปกติตอนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 การรับรองก็เกิดขึ้นโดย สว. ไม่ใช่หรือ แต่อย่าลืม สว. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใน ขณะที่ สว. รอบนี้มาจากการเลือกกันเอง

เราจะมีอะไรอีกถ้าเกิดว่าไม่แก้รัฐธรรมนูญ เราจะมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ยังคงมีอำนาจหลักในการนิยามและก็วินิจฉัยหรือไต่สวน ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีการถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม พูดง่าย ๆ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ นิยามขึ้นมาว่ามาตรฐานจริยธรรมหมายถึงอะไร บังคับใช้กับทุกองค์กร และยังมีบทบาทหลักในการไต่สวนหรือวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ ซึ่งหากพิสูจน์ว่ามีการฝ่าฝืนกลายเป็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวอาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปตลอดชีวิต

ถ้ายังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรืออย่างน้อย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) เราจะยังมีศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจในการยุบพรรคด้วยเงื่อนไขที่มันอาจจะกว้างขวางหรือคลุมเครือกว่ามาตรฐานประชาธิปไตยสากล เรายังมี กกต. ที่สามารถสิ่งที่เรียกว่า ใบส้มได้ทำให้ผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งถูกแม้ในที่สุดจะถูกพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาก็ดี

เรายังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ยังมาครอบงำนโยบายของรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง ดังนั้น ในขาหนึ่งจะเห็นว่าถ้าเราไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อำนาจประชาชนก็จะยังคงมีความอ่อนแอ แต่อีกขาหนึ่งขาที่สอง คือ ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะยังมีความอ่อนแอเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น ไปเขียนในเรื่องสิทธิเสรีภาพในหลาย ๆ เรื่องที่จะครอบคลุมและรัดกุมน้อยกว่าในอดีตอย่างเช่น ปัจจุบันถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนก็สามารถถูกจำกัดได้ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยของรัฐซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเติมเข้าไปในมาตราที่ 25 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือฉบับ 2550 ก่อนหน้านี้ เสรีภาพในการแสดงออกสิทธิในกระบวนการยุติธรรมถึงแม้จะถูกเขียนในรัฐธรรมนูญก็จริงแต่ในเชิงปฏิบัติก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ถูกรับประกัน อย่างปี 2564-2565 ก็มีแนวคิดนึงของพรรคเพื่อไทยที่มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อพยายามจะเขียนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมให้มีความรัดกุมมากขึ้นในรัฐธรรมนูญ สิทธิของประชาชน หรือชุมชน ในการแสดงความเห็นต่อโครงการที่อาจจะกระทบต่อสุขภาพหรือสิ่งแวดล้อมในพื้นก็ถูกเขียนในลักษณะที่รัดกุมน้อยกว่าในอดีต รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

 

 

ปัจจุบันความเสมอภาคทางเพศก็ยังไม่ถูกรับประกันให้กับคนทุกคนภายใต้ความหลากหลายทางเพศ เพราะยังใช้ข้อความว่าชายและหญิงมีสิทธิเสมอกันแทนที่จะใช้คำว่าบุคคลทุกคนไม่ว่าเพศใดมีสิทธิเท่ากันหรือว่าเสมอภาค เรายังเห็นว่าสวัสดิการของประชาชนหลายเรื่องในรัฐธรรมนูญเขียนในลักษณะที่เปิดช่องโหว่ไว้ที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตอาจจะมีการลดสิทธิบางอย่างที่เราอาจจะอยากเห็นรับประกันในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของประชาชนอย่างถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลฟรี หรือแม้กระทั่งจำนวนปีของสิทธิการในการเรียนฟรี ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ล็อคไว้อยู่ที่ 12 ปี ที่ขยายเป็น 15 ปี ได้เพราะมีคำสั่ง คสช. หลังจากนั้นที่มาเกทับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เรายังมีในส่วนของคำสั่งประกาศ คสช. ที่มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญนั้นทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยอัตโนมัติ ถึงแม้จะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าจะมีการยกเลิกคำสั่งไหนก็ต้องใช้อำนาจสภาในการผ่านกฎหมาย เหมือนที่คุณยิ่งชีพก็อยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ และก็หรือว่าใช้อำนาจในฝั่งของฝ่ายบริหารในลักษณะของมติ ครม. ที่เป็นการยกเลิกประกาศคำสั่งที่อยู่ในระนาบดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ความจริงผมเองก็หลาย ๆ ท่านในที่นี้ พูดเรื่องนี้มันหลายปีมาก ทาง ilaw เองก็มีบทความเรื่องนี้หลายบทความมาก แต่ที่ผมจำเป็นต้องมาพูดอีกครั้งหนึ่ง เพราะผมกลัวว่าในวันที่สังคมเราถูกดึงไปคลุกอยู่ในบทสนทนาเรื่อง How เรื่องว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร กระบวนการจะเป็นเช่นไร ผมกลัวว่าเราจะลืมกันไปว่า เราเริ่มต้นมาพูดคุยเรื่องนี้กัน เพราะเหตุผลอะไร และทำไมต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดทำฉบับใหม่ ถึงจะทำให้อำนาจของประชาชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

พอเป็นเช่นนี้ แน่นอนบทสนทนาหนึ่งที่จะมีการพูดคุยเสมอ แล้วก็อยู่ในตัวนิด้าโพลที่เผยแพร่ออกมาด้วย ก็อาจจะเป็นบทสนทนาว่า แล้วเราควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ควรจะเป็นการแก้ไขรายมาตรา พูดง่าย ๆ คือเอาบางมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาเขียนใหม่ หรือควรจะมีการจัดทำฉบับใหม่ที่มาแทนที่ฉบับ 2560 ผมก็ต้องเรียนว่าในเชิงของจุดยืนของพรรคประชาชน หรือย้อนไปสมัยพรรคก้าวไกล เรายืนยันมาตลอดว่าจุดหมายปลายทางต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ฉบับประชาชน เพราะว่าหนึ่งคือเราก็เห็นกันเมื่อสักครู่ว่าปัญหาทั้งหมดที่ผมพูดมาไม่ได้จำกัดอยู่แค่มาตราใดมาตราหนึ่งหรือว่าหมวดใดหมวดหนึ่ง แต่มันไปพัวพันในหลากหลายส่วน ดังนั้น การที่เราจะมาแก้ปัญหาดังกล่าว มันก็จำเป็นต้องมีการยกร่างหลายมาตรา หรือว่าหลายหมวด ซึ่งวิธีการที่เรียบง่ายที่สุดก็คือ หากมันมีการจัดทำฉบับใหม่ ประการที่สอง คือเราก็อยากให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมมากที่สุดในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากเป็นการแก้ไขรายมาตราแน่นอนถึงแม้ว่าก็จะมีบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง หรือว่าการแก้ไขตามมาตราต้องมีการทำประชามติปิดท้าย แต่เราคิดว่าถ้าอยากจะให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในบทสนทนานี้อย่างกว้างขวางที่สุดก็ควรจะเป็นการจัดทำฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100%

แล้วก็เหตุผลสุดท้าย คือ ท้ายสุดแล้ว ประชาชนบางส่วนที่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ไม่ได้มีปัญหากันแค่ตัวเนื้อหา แต่ตั้งคำถามของความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเรื่องของที่มาขบวนการด้วย มีที่มาถูกเขียนด้วยวิธีคนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร แล้วก็มีประชามติปี 2559 ที่ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม ดังนั้น มันก็มีความรู้สึกว่าก็อยากจะให้เรามีกฎหมายสูงสุดของประเทศที่เป็นฉบับใหม่ที่ผ่านกระบวนการที่มันมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นของรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น อันนี้คือกล่าวโดยสรุปว่า ทำไมเราถึงต้องมาคุยกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วก็การหาทางออกเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็อันนี้เป็นรอบแรกเรื่องของ Why แต่ว่าถ้าอยากให้ขยายเรื่อง How ก็ยินดีเช่นกัน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

มีหลายประเด็น เกี่ยวกับกระบวนการที่มาที่คุณนิกรพูดถึง แต่ว่าผมอยากให้คุณพริษฐ์ช่วยพูดด้วยว่าแล้วทางเดินข้างหน้าจะเป็นไปได้อย่างไรในการแก้ไข และจะทำให้คุณฉบับใหม่

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ได้ก็ขอบคุณมาก แล้วก็ขอบคุณอีกรอบที่ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ชวนมาอยู่เวทีเดียวกับท่านนิกรก็ดี ชี้แจงอะไรท่านนิกรนี้ก็จะได้ยินเลย เพราะว่าถ้าไปชี้แจงออนไลน์ ไม่รู้ว่าบางทีไม่รู้ว่าข้อความถึงท่านนิกรหรือเปล่า ผมจะพยายามพูดถึงโจทย์ที่สอง เรื่อง How ว่าถ้าเราต้องการจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการจะเป็นเช่นไรได้ เดี๋ยวจะค่อย ๆ ชี้แจงแต่ละประเด็นที่ถูกพาดพิงเมื่อสักครู่ระหว่างทาง ถ้าเกิดว่าทางทีมสถาบันปรีดี พนมยงค์ สามารถขึ้นสไลด์ที่ส่งมาให้ได้ก็ขึ้นเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ ไม่เป็นไร ผมแชร์แบบนี้เมื่อสักครู่ในรอบแรก ผมพูดถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญโดยการบอกว่าจุดหมายปลายทางที่พรรคประชาชนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่แน่นอนกระบวนการกว่าจะไปถึงตรงนั้นมันต้องอาศัยเวลา ถึงแม้จะเร่งสปีดเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ปี 2 ปี

 

 

สิ่งที่พรรคประชาชนและอดีตพรรคก้าวไกลเสนอมาตลอดก็คือว่า การเดินไปข้างหน้า ต้องเดินผ่านเส้นทางสองเส้นทางคู่ขนานกัน เส้นทางที่หนึ่งคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกระบวนการเป็นเช่นไรเดี๋ยวจะลงรายละเอียดในสไลด์ที่ปรากฏอยู่ข้างหลัง แต่ในเมื่อเส้นทางดังกล่าวต้องอาศัยเวลา สิ่งที่เราเสนอให้เดินคู่ขนานคือการแก้ไขรายมาตรา ในประเด็นที่มันอาจจะมีความสำคัญเร่งด่วนที่ควรจะมีการแก้ไข พูดง่าย ๆ คืออย่างน้อยปี 2 ปี ที่เรามาการจัดทำฉบับใหม่ อะไรที่แก้ได้ไปก่อนก็แก้รายมาตราไปก่อน ดังนั้น อันนี้คือสองเส้นทางคู่ขนานที่เราตั้งใจจะเดิน แล้วอย่างที่บอกคือเวลา มีการพูดว่าพรรคประชาชนยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา เราไม่ได้บอกว่ายื่นเพื่อมาแทนที่การจัดทำฉบับใหม่ แต่เรายื่นคู่ขนานกับการจัดทำฉบับใหม่ ดังนั้น พอกล่าวเห็นภาพรวมแบบนี้ เราก็จะทำความเข้าใจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่พรรคประชาชนยื่นเข้าสู่สภาฯ และที่ท่านนิกรให้เกียรติพูดถึงได้ง่ายขึ้นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชน พรรคก้าวไกลยื่นเข้าไปจะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ

ประเภทที่หนึ่งก็คือ เส้นทางที่หนึ่งคือการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไปแก้มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี สสร. จัดทำฉบับใหม่ ที่ยื่นไปแล้วในตอนต้นปี 2567 แต่อย่างที่หลายท่านทราบว่าประธานสภาฯ ไม่บรรจุร่างดังกล่าว เพราะว่าไปวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนรอบหนึ่ง เดี๋ยวจะกลับมา แต่อันนี้ก็เลยเหตุผลว่าทำไมเมื่อสักครู่ท่านนิกรเลยบอกว่าเข้าไปในเว็บไซต์สภา แล้วไม่เห็นว่ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนที่เสนอ สสร. ยืนยันว่ามี แต่พอไม่บรรจุก็เลยไม่ปรากฏในเว็บไซต์ อันนี้คือประเภทที่หนึ่ง

ส่วนประเภทที่สอง คือเป็นการยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา เพื่อแก้ไขเป็นประเด็น ๆ ไป พูดง่าย ๆ คือ ลองจินตนาการดูว่าในระหว่างที่เราจะไม่มีฉบับใหม่มา มีอะไรบ้างที่เราสามารถแก้ระหว่างทางได้บ้าง ซึ่งอันนี้ทางพรรคประชาชนเรายื่นร่างเข้าไปทั้งหมด อย่างน้อยในรอบนี้ ประมาณ 10 กว่าร่าง เกือบ 20 ร่าง หลายประเด็นมาก ผมคงไม่มาอธิบายรายละเอียดทั้งหมด แต่ก็จะมีทั้งร่างแก้ไขที่เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาสิทธิเสรีภาพสิทธิชุมชน มีร่างแก้ไขที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิรูปกองทัพ มีร่างแก้ไขเดียวกันป้องกันการรัฐประหาร มีร่างแก้ไขเดียวกันยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของ คสช. เป็นต้น ในบรรดาสิบกว่าร่างนั้น ท่านนิกรก็ไปพูดถึง 2 ร่างขึ้นมา ร่างที่หนึ่งคือท่านพูดถึงร่างแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งคนละส่วนกับการแก้ 256 เพิ่มหมวด 15/1 ให้มี สสร. อันนี้คือมาจากแนวคิดที่ว่า ปัญหาที่ผมพูดเมื่อสักครู่ในรอบแรก คือ ปัจจุบันจะแก้รายมาตราเรื่องอะไรก็ตามในรัฐธรรมนูญ แก้แค่ข้อความเดียวมันมีความท้าทายเพราะถึงแม้ สส. 500 คนเห็นตรงกัน ต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เราก็เลยพยายามจะปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มันแก้ไขได้ ง่ายขึ้น หรือในมุมเราคือมันได้สมดุลมากขึ้น การปรับดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลคิดอ่านแค่พรรคเดียว ความจริงเป็นสิ่งที่ก็อยู่ในรายงานกรรมาธิการวิสามัญในสมัยสภาชุดรัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และก็มีหลายพรรคที่เสนอร่างแก้ไขที่พยายามจะปรับให้การแก้ไขนี่มันแก้ไขง่ายขึ้น จะง่ายขึ้นขนาดไหน นี่เป็นรายละเอียดที่อาจจะมีความเห็นต่างกัน ทีนี้พอจะปรับให้มันง่ายขึ้นมันก็มีสองประเด็น

ประเด็นที่หนึ่งคือ ถ้าจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาได้ถ้าได้เสียงเท่าไหร่ เราก็ไปตัดเรื่องเงื่อนไข 1 ใน 3 สว. ออก ก็คือ บอกว่าในเมื่อ สว. ยังคงอยู่ในบริบทการเมือง ณ เวลานี้ เขาก็สามารถเข้ามาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ว่าไม่ได้ไปให้เขามี Veto power ที่ว่าต้องได้สิ่ง 1 ใน 3 เท่านั้น ถึงจะผ่านไปได้

ส่วนประเด็นที่ 2 คือเราพยายามมาทบทวนว่าอะไรบ้าง ที่เป็นการแก้ไขรายมาตราที่ต้องมีการทำประชามติปิดท้าย เพราะปัจจุบันมาตรา 256 (8) มันเขียนไว้เยอะมากว่า ถ้าแก้บางเรื่องไปแตะคุณสมบัตินักการเมืองไปแตะอำนาจศาลองค์กรรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต้องทำประชามติปิดท้าย เราก็พยายามอ้างอิงรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ  หรือว่ารัฐธรรมนูญในประเทศอื่น แล้วเราก็ตกผลึกกันว่าก็จะลดเงื่อนไขที่จะต้องมีการทำประชามติตรงนี้ลง

ในมุมมองของเราคือว่า ถ้าคุณไปแก้เรื่องอะไรก็ตามที่ไปเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือว่าแก้ไขเพื่อให้มันมีการจัดทำฉบับใหม่ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐสภาตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ควรจะมีประชามติปิดท้าย นี่คือเหตุผลว่าทำไม ตัวร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่ท่านนิกรพูดถึง ถึงไม่มีเรื่อง สสร. ไม่ใช่ว่าพยายามเอาเรื่องนี้มาขยายความว่าพรรคประชาชน ไม่ได้เห็นความสำคัญของ สสร. อันนั้นยื่นไปแล้ว แต่ไม่บรรจุแล้วก็เท่าที่ผม Check ก็มีแต่พรรคผมที่พยายามผลักดันให้มันถูกบรรจุ ณ เวลานี้ เดี๋ยวจะมาว่าที่ผ่านมาก็มีความพยายามหลายส่วน

ส่วนอีกฉบับหนึ่งที่ต้องพูดถึงเหมือนกัน เพราะว่าพาดพิงมาคือเรื่องมาตรฐานจริยธรรมก็มีการบอกว่ามีการสอดแทรกลับเข้ามา อันนี้ก็ต้องมาทบทวนประวัติศาสตร์เล็กน้อยว่าความจริงพรรคประชาชนพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นพรรคก้าวไกลว่าสิ่งที่เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเรื่องมาตราฐานจริยธรรมในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าเราบอกว่านักการเมืองไม่ควรจะมีจริยธรรม แต่เราไม่เห็นด้วยกับการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีที่มาเป็นแบบนี้ ผูกขาดอำนาจในการนิยามว่าอะไรคือจริยธรรมและมีบทบาทหลักในการไต่สวนวินิจฉัย เราพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด และก็พอมาถึงจังหวะช่วงประมาณไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เราก็มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหลายฉบับ แล้วก็หนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาเรื่องการผูกขาดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเรื่องของจริยธรรม ยื่นไปแล้วมันก็เลยถูกบรรจุ เพียงแต่ว่าพอมันมีกระแสที่มันเกิดขึ้นทางเราก็กังวลว่า ถ้าเรายืนยันเดินหน้าร่างฯ ฉบับนี้ต่อเดี๋ยวร่างนี้จะถูกใช้โดยฝ่ายการเมืองอื่น เป็นข้ออ้างในการไม่พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่น ๆ เราก็เลยบอกว่าเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้ไปปัดตกร่างฯ อื่นไปด้วย หรือไม่เปิดประชุมรัฐสภามาคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเลย เรายินดีพักไว้ก่อน แต่ท่านนิกรก็ทราบดีอยู่ว่าข้อบังคับของรัฐสภา พอคุณเสนอแล้วมันถูกบรรจุ ถ้าคุณจะพักไว้ คุณก็คุยกันในวิปว่า อย่าเพิ่งให้ถึงวาระนี้ หรือถ้าคุณจะถึงขั้นถอน มันก็ต้องไปถอนในที่ประชุมรัฐสภาเลยเป็นเหตุผลว่ายังมีอยู่ไม่ได้มีความพยายามจะซ่อนเงื่อนแทรก มาตรา 256 ไม่มี สสร. เพราะว่าไม่คิดไม่สนใจ สสร. แล้ว แทรกเรื่องจริยธรรมขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่มีการแถลงข่าวไปแล้ว

ผมยืนยันว่าทุกอย่างที่พรรคทำ พรรคแถลงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาตลอด คือการแก้รายมาตรา

 

 

ทิ้งท้ายเรื่องของการจัดทำฉบับใหม่ และจะมีภาพประกอบคือ ณ ปัจจุบัน มันมี 2 Model ใช่ไหมครับคือ ประชามติสองครั้ง หรือสามครั้ง  ผมแชร์แบบนี้ก่อนว่าความแตกต่างตรงนี้มันเกิดขึ้นจากการที่แต่ละฝ่ายตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่เหมือนกัน

ทบทวนก็คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เขียนไว้ว่า ให้มีการทำประชามติหนึ่งครั้งก่อนและหนึ่งครั้งหลัง มีการพูดถึงแค่สองครั้ง แต่ว่ามันตีความต่างกันว่าก่อนหมายถึงก่อนอะไร ดังนั้น พอพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเมื่อตอนต้นปี 2567 เราตีความตรงกันว่าก่อนคือหมายถึงก่อนการจัดทำฉบับใหม่ เราก็เลยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการเพิ่มหมวด 15/1 ให้มี สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา แต่ปรากฏว่าร่างดังกล่าวประธานสภา ณ เวลานั้น ตอนต้นปี 2567 ไม่ได้บรรจุเพราะประธานรัฐสภาและคณะกรรมการที่ให้ความเห็นกับประธานรัฐสภาไปตีความอีกแบบหนึ่ง ไปตีความว่า คำว่าก่อนไม่ได้หมายถึงก่อนจัดทำฉบับใหม่ แต่หมายถึงว่าก่อนเสนอเข้ามาในวาระหนึ่งเลย ก็เลยพูดง่าย ๆ ภาษาง่าย ๆ คือว่า “ไล่ให้กระทำประชามติก่อนอีกรอบหนึ่งถึงจะยอมบรรจุร่าง” ก็เลยงอกประชามติเพิ่มใหม่จากตอนต้นจากสองครั้งก็เพิ่มขึ้นมาเป็นสามครั้ง

ถ้าถามว่าทำไม ณ เวลานี้ผมกับพรรคประชาชนถึงพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ในห้วงเวลานี้ ก็มาจากการที่เราคำนวณเวลาดูแล้วว่า ถ้าเราเดินตามแผนของรัฐบาลแผนปัจจุบันคือทำประชามติสามครั้ง โดยไม่เริ่มครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พรบ.ประชามติ เสร็จ ยังไงก็ไม่มีทางที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ เพราะอย่างที่ท่านนิกรพูดเองว่าถ้าสมมติว่ายังเห็นต่างกันเรื่อง พรบ.ประชามติ บวกไป 180 วัน ประชามติรอบแรกก็จะไม่เกิดขึ้นอาจจะปลายปี 2568 หรือว่าต้นปี 2569 พูดง่าย ๆ คือเราทำอะไรไม่ได้เลย กับการจัดประชามติจนกว่าปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569

ผมมองว่า หนึ่งคือหนทางเดียวที่จะทำให้ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะทันก็คือ การลดประชามติจากสามครั้ง เหลือสองครั้ง และผมเห็นว่าแทนที่เราจะมานั่งรอไม่ทำอะไรเลย ไม่พยายามอะไรเลย จนถึงปลายปี 2568 ต้นปี 2569 แล้วรอจัดประชามติรอบแรกในสามครั้ง ทำไมเราไม่พยายามลองอีกสักครั้งหนึ่ง เพื่อพยายามจะหาแนวร่วมในการทำให้ลดประชามติจากสามเหลือสองครั้ง ถามว่าจะทำตรงนี้ได้ยังไง มีสองกลุ่มบุคคลที่สำคัญ กลุ่มบุคคลที่หนึ่งคือเราต้องโน้มน้าวประธานสภาก่อน ให้ทบทวน เพราะว่าเดิมเขาตีความว่าสามครั้งใช่ไหม เขาไม่บรรจุร่าง ดังนั้น เราต้องโน้มน้าวให้เขาไม่เห็นตรงกับเราว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2564 ไม่ได้บอกว่าต้องทำสามครั้ง โน้มน้าวแล้ว

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ก็คือได้โน้มน้าวแล้ว

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ซึ่งเดี๋ยวจะรอดูแล้วจะรู้ผลภายในเดือนธันวาคม ซึ่งเราก็รู้ว่าถ้าไปด้วยข้อมูลชุดเดิมก็จะยาก เราก็ต้องหาข้อมูลชุดใหม่ที่ประธานสภาไม่เคยใช้ในการวินิจฉัยรอบแรกมาก่อน ก็ค้นพบสองอย่าง

อย่างแรกคือทางคณะกรรมการประธานสภาบอกว่าตอนนี้เขาวินิจฉัยของต้นปี ไม่ได้ดูความคำวินิจฉัยรายบุคคล ของตุลาการศาล 9 คน เราก็เลยไปไล่ดูแล้วก็เห็นว่า ความจริงตุลาการเสียงส่วนใหญ่เขียนชัดในคำวินิจฉัยรายบุคคลว่าสองครั้งพอ เราก็เลยยื่นอันนี้เป็นข้อมูลชุดที่หนึ่ง ข้อมูลชุดที่สองก็คือ ผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรายืนยันว่าเท่าที่เปิดเผยได้ และในการประชุมรอบนั้น ไม่มีใครแสดงความเห็นว่าต้องทำประชามติสามครั้ง เราก็เลยยื่นสองชุดข้อมูลใหม่ไปให้ประธานสภา ซึ่งกระบวนการเป็นทางการคือวันที่ 12 ธันวาคม เราจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าอีกรอบ 1 เพื่อริเริ่มให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอีกรอบ 1 แล้วก็หวังว่าประธานสภาจะทบทวนแล้วก็บรรจุด้วยข้อมูลใหม่สองชุดที่เพิ่มเติมเข้ามา ไม่มีอะไรรับประกัน แต่ผมเห็นว่าทำไปก็ไม่มีอะไรเสียหาย

ถ้าบรรจุจริง ด้านที่ 2 ถัดไปก็คือว่า มันก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 2 3 ในรัฐสภา ซึ่งาทายและเพราะว่าเสียงของ สส. อย่างเดียวไม่พอ คือประธานบรรจุแล้ว เสียง สส. โหวตให้แล้ว แต่มันต้องให้เสียง สว. 1 ใน 3 ด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปทำงานทางความคิดกับทาง สว. ต่อไปเพื่อโน้มน้าวว่า สามารถโหวตเห็นชอบให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ทีนี้มันจะเป็นความท้าทายที่ท่านนิกรเคยเจอปี 2563  อันนี้ต้องชี้แจง เพราะว่าเพื่อไม่ให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ท่านนิกรกับรัฐบาลฝ่ายก่อนเคยลองพยายามแล้วในปี 2563 ตอนนั้นยังไม่มีคำวินิจฉัย 4/2564 ออกมา

พอผ่านวาระหนึ่ง วาระสองไป ซึ่งตอนนั้นร่างกรรมาธิการเสนอเลือกตั้ง สสร. 100% อย่าลืมตรงนี้ พอเข้าสู่ก่อนจะถึงวาระสามมีท่านไพบูลย์ นิติตะวัน ใช่ไหม กับท่านสมชาย แสวงการ ยื่นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็ออกมาเป็นคำวินิจฉัย 4/2564 ที่ตกในวาระสามไม่ใช่ เพราะว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามพิจารณาวาระสาม แต่เพราะ สว. บางส่วน และ สส. บางส่วนไม่ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 เพราะไปกังวลเรื่องของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 คือเอาคำวินิจฉัยมาเป็นเหตุผลในการบอกว่ากังวลเลยไม่ลงมติ แต่ว่าเป็นข้อกังวลจริงหรือเป็นข้ออ้างอันนี้ก็แล้วแต่ประชาชนจะพิจารณา ดังนั้น เราก็ต้องพยายามคลายข้อกังวลนี้ให้กับทางสมาชิกรัฐสภาเช่นกัน

ผมทิ้งท้ายสั้น ๆ ก็คือว่าเมื่อกี้ผมพูดถึงในเชิงความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎี ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งผมทำจะสำเร็จ เพราะว่าผมไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ผมคิดว่าทำไปก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าแทนที่เราจะรอต้นปี 2569 อย่างน้อย เราพยายามทำตรงนี้ถ้าทำสำเร็จมันลดได้ ทำให้ระหว่างที่เรา 180 วัน เราพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเกี่ยวกับ สสร. สามวาระได้ แต่ท้ายสุดนี้ อันนี้ถามเป็นคำถามต่อเผื่อท่านนิกรมีคอมเมนต์ด้วย จะสำเร็จหรือไม่มันมี 3 ฝ่ายที่สำคัญ ถ้าพูดภาษาง่าย ๆ คือ สส.รัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน แล้วก็ สว. หรือถ้าพูดให้เห็นชัดขึ้นคือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐบาล พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรคือฝ่ายค้าน และพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภา คือ สว. และอาจจะมีบางส่วนในสภาผู้แทนด้วย

ดังนั้น ต้องมาวิเคราะห์กันว่าสามก้อนนี้จะพร้อมร่วมมือกันในการผลักดันในการจัดทำฉบับใหม่สำเร็จหรือไม่ ผมยืนยันว่าในซีกรัฐบาล มีคนที่อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง หนึ่งในนั้นก็คือท่านนิกรอีกท่านหนึ่งก็คือท่านพงศ์เทพ เทพกาญจนา แต่ที่ผมกังวลคือมันมีสองกลุ่มคนที่มีเพิ่มมากขึ้น ที่ปรึกษานโยบายท่านนายก มีสองกลุ่มที่ผมกังวลใจว่ามีคนมากขึ้น หนึ่งคือกลุ่มคนที่เคยเชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ ณ วันนี้เริ่มหมดแรงจูงใจในการแก้ อาจจะด้วยเงื่อนไขจากการเมืองต่าง ๆ หรืออีกกลุ่มหนึ่งที่ วันนี้อาจจะเริ่มมีแรงจูงใจมากขึ้นในการไม่แก้ เพราะรู้สึกว่าไป ๆ มา ๆ แล้ว ถ้าเกิดว่ามีพันธมิตรเยอะในรัฐสภา ผมย้ำว่าในรัฐสภาก็อาจจะรู้สึกว่าความจริงแล้วจะเสียประโยชน์หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น อันนี้เป็นสองกลุ่มที่ต้องวิเคราะห์กันดี ๆ แล้วก็ถ้าร่วมมือกัน 3 ฝ่ายได้ สส.รัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน สว. มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้การจัดทำฉบับใหม่สำเร็จทันต่อการเลือกตั้ง

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM

 

ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์