ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถาม-ตอบ ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

18
ธันวาคม
2567

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ผมจะให้คุณวรัญชัย โชคชนะ ถามแน่นอนแต่ผมขออาม่าก่อนครับ ขอพี่ด้านหลังมีกี่มือก่อน แล้วจะให้กลับมาที่คุณวรัญชัย ขอเชิญอาม่าก่อนครับ

 

 

ผู้ร่วมเสวนา :

ตั้งแต่ฟังมาได้ยินแต่ว่า รอยร้าว รอยร้าวมันมากเหลือเกิน แล้วเมื่อไหร่จะอุด ปะอย่างที่บ้านเวลาร้าวก็เอาปูนขาวมาโบกทำให้ จะได้คือผู้สูงอายุบางคนก็รอไม่ไหว ถึงเวลานั้นเขาอาจจะตาย ไม่ทันได้เห็นว่าลูกหลานจะเจริญหรือเปล่า อยากขอความรวดเร็วหน่อย ขอความกรุณาคุณนิกร จำนง ด้วย ด้วยความนับถือ จะเข้าไปช่วยทุบก็ได้ เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ดี ขอบคุณ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

เรื่องลิ่มผมถนัด แต่ผมเข้าใจ ข้างหลังก่อน เชิญ มาจากเชียงใหม่หรือเปล่า

 

 

ผู้ร่วมเสวนา :

มาจากเชียงใหม่เลย เพราะว่าดิฉันยังมีคดีไล่อดีตนายกรัฐมนตรีฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังค้างอยู่ในชั้นอัยการอยู่อันหนึ่ง ก็ลงมาทุกครั้งที่เรามีขอนิรโทษกรรมก็จะลงมาเรียกร้อง อยากจะขอให้รัฐบาลผู้มีอำนาจอยู่ตอนนี้ ถ้าหากคุณเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริง ๆ ควรจะนิรโทษกรรมให้กับประชาชน พวกเราช่วยกันต้านรัฐประหาร พวกเราช่วยกันไล่เผด็จการ แล้วทำไมไม่ปล่อยพวกเรา เราทำตามสิทธิเสรีภาพใช่ตามขั้นพื้นฐาน อันนี้เป็นขั้นพื้นฐานที่เราทำ เราไม่ได้ไปป่วน เราไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ ล้มตาย เดือดร้อนเลย เราทำตามสิทธิของเราในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เราเรียกว่า รัฐธรรมนูญก็มีบัญญัติไว้ว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเรา มีผู้บริสุทธิ์มากมายที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่เขาก็ยังโดนขังอยู่ แล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนแล้วคุณอ้างแบบนี้ั ทำไมไม่นิรโทษกรรมให้กับพวกเรา ถามแค่นี้ แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญ ในการเขียนรัฐธรรมนูญขอพูดด้วย

ดิฉันเคยอยู่ในรัฐบาลของเผด็จการที่มาจากรัฐประหารเยอะแยะ อายุก็เกิน 60 ปีแล้ว เห็นการรัฐประหารมากมาย ทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ภายใน 1 วินาทียังได้รับการนิรโทษกรรม คนที่ทำรัฐประหาร คือ กบฏมีโทษประหารชีวิต แล้วทำไมถึงได้รับการนิรโทษกรรม ถามแค่นี้ ขอบคุณมาก

การที่จะมีรัฐธรรมนูญจากประชาชนทำไมยากเย็นแสนเข็ญ แต่ทหารฉีกรัฐธรรมนูญใน 1 วินาทีทำได้ ขอบคุณ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอดูเสื้อหน่อย ขอบคุณครับ นิรโทษกรรมประชาชนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รออยู่

 

นิกร จำนง :

เรื่องรอยร้าวเมื่อสักครู่ได้คุยแล้วว่าพยายามไม่ให้เกิด ที่มีพยายามยาอยู่ทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม ผมพูดในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการศึกษานิรโทษกรรม เชื่อว่าสภาฯ เปิดครั้งนี้ นิรโทษกรรมเข้าแน่ แต่มาตรา 112 กับ 110 คงเข้าไม่ได้ ผมเชื่อว่าจะพิจารณากันประมาณนี้ แล้วผมจะเข้าเป็นกรรมมาธิการให้ด้วย คิดว่าน่าจะไปได้

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

มาตรา 112 กับ 110 เข้าแต่อาจจะถูกโหวตตก ขอเชิญพี่จีรนุช เปรมชัยพร

 

จีรนุช เปรมชัยพร :

พูดเรื่องประเด็นรอยร้าว หรือว่าประเด็นความขัดแย้ง คือ เรารู้สึกว่าสังคมไทยเรากลัวความขัดแย้ง กลัวความเห็นต่างกันมากเหลือเกิน ในขณะที่เราคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การหาฉันทามติจากความเห็นต่างและความแตกต่าง เพราะฉะนั้น คือโดยส่วนตัวมองว่า อันหนึ่งที่เราต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะมันปะผุไม่ได้ ปะผุไม่ไหว เพราะฉะนั้น ต้องขึ้นโครงบ้านใหม่ทำให้รัฐธรรมนูญอันนี้มันแข็งแรง แล้วมันโอบอุ้ม คนทุกความเห็น แล้วก็จริง ๆ หลายเรื่องเราต้องคุยกันบนหลักการประชาธิปไตย แต่ว่าเข้าใจประเด็นที่คุณนิกร เคยพูดว่า จริง ๆ สังคมไทยมันเป็นสังคม Traditional แต่ว่าเราอยู่ภายใต้ระบบอักษร แต่ว่าเราผ่านกันมาแบบ 80 90 ปี แล้ว แต่เรารู้สึกว่า เราควรจะต้องอยู่ในความเป็นประชาธิปไตยที่มันเป็นสากล อารยสากลได้แล้ว อันนี้พูดจากใจนะคะ คือ เราอายเวลาที่เราบอกว่าประเทศไทยเป็นประธิปไตย เราอาย เรารู้สึกว่ามันเหมือนเราหน้าไม่อาย เราไม่พูดเต็มปากว่าเราเป็นประชาธิปไตย คือ จะบอกว่าเราไม่ประชาธิปไตยก็พูดกันมาให้ชัด ๆ แล้วเรากำลังจะสู้เพื่อให้มีประชาธิปไตย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

ผมมีสองประเด็นสั้น ๆ เรื่องรอยร้าว ประเด็นแรก คือ เข้าใจความคิดท่านนิกร เมื่อครู่นี้ท่านนิกร ก็พูดคล้าย ๆ กันตอนรอบก่อนว่า ถ้าเราไปเสนออะไรที่ไปตัดอำนาจ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้ว สว. เข้าจะยอมหรือ ก็ต้องบอกว่าถ้าใช้หลักการนี้ไปจนสุดทาง แก้รัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำฉบับใหม่ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มันเป็นฉบับที่ให้อำนาจ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเยอะมาก ดังนั้นถ้าจะแก้เพื่อไปจัดทำฉบับใหม่ แล้วฉบับใหม่ถูกร่างโดยประชาชน ผมเชื่อว่าอำนาจ สว. ที่มาจากการเลือกกันเองถ้ายังมีอยู่จะลดลงแน่นอน ถ้าใช้หลักการนี้มันเดินหน้าต่อได้เลย ดังนั้นคำถาม ถ้าเราบริหารจัดการความเห็นที่แตกต่างอย่างไร

ประเด็นแรก คือ ในมุมมองของผมกับพรรคประชาชน ผมคิดว่าจะต่อยอดจากที่คุณจีรนุชพูด คือ การบริหารความเห็นที่แตกต่างที่ดีที่สุดอันหนึ่งคือ การที่แต่ละฝ่ายพูดอย่างตรงไปตรงมาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แล้วก็มีหลักการเหตุผลที่อาจจะมองต่างก็ได้ มาประกอบคำอธิบาย คือพอแต่ละฝ่ายเรารู้ว่าแต่ละฝ่ายคิดเห็นกันอย่างไร ตรงไหนที่เห็นตรงกันตรงไหนที่เห็นต่างกัน ผมคิดว่ามันหาทางออกได้ง่ายขึ้น ผมเลยคิดว่า ถ้าตั้งโจทย์ตั้งแต่ตอนแรกว่า อย่าไปแก้อะไรที่ไปลดอำนาจเขาเลย ไม่งั้นเขาไม่ยอม เราจะทำอะไรไม่ได้เลย อันนี้คือประเด็นที่หนึ่ง

ส่วนประเด็นที่สอง อันนี้ต้องถามความเชื่อก่อน เราเชื่อว่ารอยร้าวระหว่าง สส. กับ สว. เป็นรอยร้าวเดียวกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไหม แต่คำถามผมนะเราเชื่อว่ารอยร้าวระหว่าง สส. กับ สว. เป็นรอยร้าวเดียวกันกับระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลไหม เพราะปัจจุบันเราเห็นนโยบายของหลายส่วนที่ถูกเสนอพรรครัฐบาลหนึ่ง แล้วพรรครัฐบาลอื่นไม่เห็นชอบล่าสุดก็ พรบ.ระเบียบราชการกลาโหม เสนอด้วย สส. พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ออกมาไม่เห็นชอบ ล่าสุดพรรครวมไทยสร้างชาติออกมาไม่เห็นชอบ ล่าสุดพรรคเพื่อไทยผู้เสนอจะถอนแล้ว จะเสนอต่อที่ประชุม สส. พรรคเพื่อไทยเพื่อถอน

คำถามผมทิ้งท้ายเดียวสั้น ๆ เราเชื่อว่ารอยร้าวระหว่าง สส. กับ สว. เป็นรอยร้าวเดียวกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าเราเชื่อว่าใช่ คนที่จะมีบทบาทสำคัญมาก ในการบริหารจัดการรอยร้าวนี้ คือ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้น ถ้าท่านฝากท่านนิกร ผมเชื่อว่าท่านนิกรคนเดียวคงเอาไม่อยู่เหมือนกัน คงต้องพยายามเข้าหานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อบริหารรอยร้าวนี้ และทำให้สิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชนผลักดันได้สำเร็จ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

คุณวรัญชัยยกมือไว้ มีท่านไหนอยากจะแสดงความเห็น สนุกดีช่วย ๆ หน่อยมีอีก 2 ท่าน สองมือ ผมอยากให้คุณวรัญชัยก่อน ผมขออนุญาตอ่านความเห็นทางออนไลน์ ถ้าเอารัฐธรรมนูญสิงคโปร์มาใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย เข้าข่ายเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการไหม

ถ้าพรรคเพื่อไทยถอยกฎหมายสกัดการรัฐประหารขอให้ภาคประชาชนนี่ใคร พี่จิ๋ว ถ้าดองกฎหมายประชามติ 180 วันขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาปรับปรุงใช้แล้วหลังจากนั้นตั้ง สสร. ยกร่างใหม่ ความเห็นจากผู้พิการทางการได้ยินขอให้ร่างรัฐธรรมมนูญใหม่ ตามมาตราไหนก็ตาม มาตราไหนทั้งหมดให้ล่ามภาษามือแก่คนหูหนวกดูด้วย ให้เข้าใจตามมาตราไหนทั้งหมด เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินเข้าถึง อบต. อบจ. สส. สก. สว. ด้วยจากนายบุญเลิศ ฆนาพรวรกาญจน์ ผู้แทนคนหูหนวกประเทศไทย

ผมชื่นชมสถาบันปรีดี พนมยงค์ มากเลย ที่ทุกครั้งที่จัดงานต้องมีล่ามผู้พิการทางการได้ยิน ก็ทำให้ผมรู้สึกผิด ทุกครั้งที่พูด เรื่องที่พูดกัน ไม่รู้คนหูดีเข้าใจกันไหม แปลยากมากเลย ขอเสียงปรบมือให้กับล่ามผู้พิการทางการได้ยินด้วย ไม่รู้แปลภาษามืออย่างไร จะพูดใช่ไหม ยังไม่จบ ยกมือพี่วรัญชัย แล้วพี่ตรงกลาง ลุงแมวเชิญครับ

 

 

พันตรีพุทธินาถ พหลโยธิน (ทายาทพระยาพหลพลพยุหเสนา) :

เราควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นผมก็เห็นด้วย แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ และมีขึ้นได้ หวังว่า 10 ชาติจะมีได้ไหม ผมขอเท้าความว่า ประชาธิปไตยถูกนำมาโดยคณะราษฎร เมื่อ 2475 ในขณะที่ประเทศไทย ประชาชนหรือราษฎรทั้งหลายแหล่เป็นคนไม่มีความรู้ เรื่องระบอบประชาธิปไตยเลย จะว่าแค่หางอึ่งก็ไม่ใช่ เพราะมีความรู้แค่ศูนย์ แล้วคณะราษฎรนำชีวิตเข้าแลกเพื่อนำต้นไม้ประชาธิปไตยมาปลูกในแผ่นดินนี้ ซึ่งไม่เคยมีต้นไม้พรรณนี้เกิดขึ้นมาก่อน เกิดขึ้นมาเลยในแผ่นดินนี้ แล้วได้มอบคำว่าประชาธิปไตย ซึ่งมาจาก คำว่าประชาชนบวกอำนาจอธิปไตย เป็นประชาธิปไตยโดยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อำนาจอธิปไตย คือ ความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และ ความมีภารดรภาพ สิ่งเหล่านี้จากศูนย์คณะราษฎร ได้พยายามที่จะทำให้เกิด ความรู้แก่ราษฎรทั้งหลาย โดยได้ตั้งสถาบันการศึกษาขึ่นมาเป็นตลาดวิชาชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งบัดนี้สาบสูญไปแล้ว เหลือแต่คำว่า ธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่รู้ว่ามีความหมายอะไรแล้ว และก็จะสรุปว่า อีก 10 ชาติเราจะมีรัฐธรรมนูญถึงฉบับประชาชนที่แท้จริงได้หรือไม่ ขอบคุณมาก

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอพี่เสื้อชมพู ท่านถัดไปก่อนเชิญครับ

 

 

พล นิสิตสาขาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย :

ขอบคุณครับจากความพยายามที่จะอุดรอยร้าว สส. และ สว. นั้นกำลังขับเคลื่อนอยู่ และความพยายามที่กำลังจะผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมประชาชนกำลังขับเคลื่อนอยู่ และขอบคุณคุณลุงแมวที่เอ่ยถึงอำนาจของประชาชน ส่วนของผมก่อนหน้านี้ได้อ่านหนังสือเรื่องในนามของความมั่นคงของรัฐ เกี่ยวข้องกับอำนาจ กอ.รมน. ขอบคุณที่มีหนังสือเล่มนี้ มันมีความเป็นไปได้ที่หากมีการรักษาสมดุลอำนาจของพวกเขาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่คุกคามประชาชนมากเกินไป ผมมีความเชื่อว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนมีความเป็นไปได้ แล้วผมขอเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนรัฐธรรรมนูญฉบับประชาชนอีกคน ขอบคุณครับ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

เชิญอีกสองท่านครับ ขอบคุณครับ

 

 

ผู้ร่วมเสวนา :

ผมฟังวิทยากรแต่ละท่านจำได้ว่าท่านที่เป็นวิทยากรท่านแรก ท่านบอกว่า นายกรัฐมนตรีไม่พูดถึงเรื่องนั้นก็เข้าใจ ฉะนั้น รัฐบาลท่านมีรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เมื่อมีการถกเถียงกันกระผมขออนุญาต แนะนำฝ่ายค้าน เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่พูดเราเป็นฝ่ายค้าน ค้านมีเหตุผลอย่างไร อยากให้ฝ่ายค้านเสนอรัฐบาลด้วยว่า คนที่ถูกจำคุก ถูกจับจะแก้ปัญหาอย่างไร อยากให้ฝ่ายค้านกระตุกบ้าง

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ต่อมาคุณวรัญชัย

 

 

วรัญชัย โชคชนะ :

ทุกวันนี้ผู้จัดได้พูดตั้งสองประเด็น คือ  ยุตินิติรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผมจะพูดให้มันตรงกับประเด็นที่เขียนไว้ตั้งไว้ ข้อแรกผมจะเรียนถามวิทยากรที่เคารพที่อยู่ ณ ที่นี้ว่า ได้มี สส. พรรคเพื่อไทยคนหนึ่งต้องการอยากจะแก้กฎหมายสภากลาโหม ไม่อยากจะให้มีการตั้งนายพล และมีการนำไปสู่การยึดอำนาจ แล้วมีหัวหน้าพรรคการเมืองอยู่คนหนึ่งบอกว่า ไม่ต้องไปแก้หรอกนักการเมือง ให้ซื่อสัตย์สุจริต แล้วทหารก็จะไม่ยึดอำนาจ ที่ผ่านมายึดอำนาจก็ไม่เคยอ้างอย่างเดียว หรืออ้างหลาย ๆ อย่าง อยากจะยึดอำนาจก็ยึด ตรงนี้เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็น และจะมีการแก้ไขรัฐประหารได้หรือไม่ บางคนพูดแบบง่าย ๆ แก้ไม่ได้หรอก เพราะเดี๋ยวยึดอำนาจเดี๋ยวก็ฉีกรัฐธรรมนูญ เลยไม่ต้องแก้ เพราะถ้าท่านไม่สามารถแก้รัฐประหารวงจรอุบาทว์ได้ ท่านอย่ามาหวังเลยว่า ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นในพื้นแผ่นดินนี้

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ประมาณสัก 10 นาทีสุดท้าย อยากให้วิทยากรเลือกที่จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยแสดงความคิดเห็นทำให้สนุกขึ้นเยอะเลย ถ้าท่านไหนมีอะไรอยาก Response ต่อคำถาม หรือข้อคิดเห็นของพี่น้อง ก็เชิญครับ

 

นิกร จำนง :

ที่จริงผมเตรียมประเด็นมาเรื่องการยุตินิติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญเผด็จการ คือผมเคยปรึกษากับอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขาสู้กับเรื่อง Military regime ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ ทีนี้ประเด็นที่ได้ข้อสรุปในวันนั้น เมื่อ 40 ปี ที่แล้ว วิธีสู้กับ Military regime หรือรัฐทหาร มีทางเดียวคือพัฒนาระบบการเมืองให้ดีขึ้นเท่านั้น เพราะว่าเขาเหมือนหลังเขาแข็งเขาเป็นทหาร เราจะกดให้เขาต่ำกว่าที่เขาเป็นไม่ได้หลังจะหัก เพราะงั้นมีทางเดียวคือเรา ถ้าการเมืองเราเป็นอนุบาลอยู่ เราทำไม่ได้ เราต้องพัฒนาระบบการเมืองให้ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้นอะไรมากขึ้น พอเราสูงขึ้นไปเหนือเขา เขาก็จะมากลายเป็นแค่หน่วยงานหนึ่งในของรัฐบาลเท่านั้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะงั้นความรู้ของประชาชนก็ดี ที่ลุงเขาพูดก็ดีที่ว่า คนไทยไม่มีความรู้ ถ้าเราพัฒนาตรงนี้ให้มาก ๆ เราหยุดตรงนี้ได้แน่ ๆ นั้นประเด็นที่หนึ่ง

ประเด็นที่สอง เรื่องนิติรัฐประหาร คือ ถ้าหากว่าจูนเรื่องราวคล้าย ๆ ว่า ปกติแล้วเราฝ่ายการเมืองเราทะเลาะกันเองว่า เราต้องการเสียง ทีนี้เรื่องรัฐธรรมนูญมาจับมือกันเสีย แล้วเอาฉบับนี้มาเป็นของประชาชนให้ได้ ส่วนรายละเอียดอย่าไปลงมากนักไม่งั้นจะกลายเป็นมาตราของพรรค มาตราของความเชื่อ แล้วจะมีปัญหาได้ คือ เอาให้เป็นของประชาชนก่อน และให้แก้ได้ ค่อย ๆ แก้กันไปในอนาคต ก็แค่นั้นเองที่ต้องการก็ตอบแล้วว่าทางไปจะเป็นแบบนี้ แต่อย่าไปหวังให้ดีเลิศประเสริฐศรีจะไม่มี ให้ข้ามแดนนี้ไปได้ก่อน ให้มีฉบับของประชาชนก่อน แล้วพอให้แก้ไขไม่ยากนักก่อน แล้วเราจะค่อย ๆ โตไปได้

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณคุณนิกร อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง เชิญทุกท่านครับ

 

 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ :

อาจจะตอบประเด็นคุณวรัญชัยถามตอนแรก ที่คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ไม่เห็นด้วย กับตัวร่าง พรบ.กลาโหม ของพรรคเพื่อไทย แล้วมาพูดว่า “ถ้านักการเมือง พรรคการเมือง ทำตัวดี ๆ ทหารก็จะไม่ออกมายึดอำนาจ” ก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่มาวันนี้กลายเป็นว่า คุณอนุทินต้องมาทำบทบาทในฐานะพี่ใหญ่สั่งสอนพรรคการเมืองแกนนำ หรือก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องจริยธรรมที่จะเอาจริยธรรมออกไปจากตัวรัฐธรรมนูญ อันนี้ก็เหมือนมาสั่งสอนทำนองที่ว่า “ไม่เห็นด้วย ถ้านักการเมืองดีก็ไม่ต้องกลัวกฎหมายเหล่านี้” เป็นเรื่องที่ขำไม่ออกที่ตลกยิ่งกว่า คือ พรรคเพื่อไทยเองก็ดูเหมือนไม่มีเสียงก็คือ แบบเงียบมากไม่กล้าตอบโต้

แต่ถ้าสมมติจินตนาการว่า คำพูดสองอันนี้มาจากพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกล ดิฉันคิดว่ากระหึ่มโซเชียลมีเดีย ใครต่อใครในเพื่อไทยคงออกมาโจมตีน่าดู มาพูดแบบนี้ได้ไง มาตัวหล่อ ทำตัวเท่ มาสั่งสอนเขาได้ไงว่า ทำตัวดี ๆ ทั้งที่ควรเป็นสองพรรคที่จับมือกันในการต่อสู้กับอำนาจเดิม กฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ หรือกฎหมายรุ่นอื่น ๆ ก็จะแก้ไม่ได้ ถ้าสองพรรคนี้ไม่จับมือกัน

ดิฉันอยากจะบอกว่าตอนนี้มีความรู้สึกว่า โอกาสที่แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ภายใน 2570 ดูเหมือนห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ แต่ว่าการทำให้เป็นประชาธิปไตย โดยอาศัยความร่วมมือของสองพรรคใหญ่ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นด้วย ที่เห็นความจำเป็นของการที่จะต้องทำให้ระบบการเมืองดี ให้ประชาชนสนับสนุนได้ ไม่ได้แก้แค่รัฐธรรมนูญ ในระหว่างนี้ 180 วัน ที่จะต้องนั่งรอให้ครบก่อนกำหนด มีกฎหมายอื่นอีกที่ต้องร่วมกันผลักดันให้ทำได้ไม่ว่าจะเป็นการแก้กฎอัยการศึกให้อำนาจนั้นมาอยู่ที่รัฐบาล ต้องไม่ให้กฎอัยการศึกกลายเป็นเครื่องมือของการทำรัฐประหารอีก แก้ พรก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจนั้นถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา ไม่ใช่นึกอยากต่ออายุเมื่อไหร่ก็ต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าอยากจะต่ออายุเกิน 2 อาทิตย์เป็นต้นไป ก็จะต้องผ่านที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่ง พรบ.ความมั่นคงภายใน ก็ควรแก้ หรือแม้กระทั้งสภากลาโหมอย่าถอนดิฉันขอร้อง พรรคเพื่อไทยอย่าถอนร่าง พรบ.กลาโหม ของตัวเองออกไป

ดิฉันคิดว่า ตอนนี้มีร่างการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมอยู่สองอันก็คือ ของพรรคประชาชนกับเพื่อไทย ถกกันจับมือกันว่าจะเอาตรงไหนของสองร่างนี้ แล้วผลักดัน อันนี้สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สิ่งที่เรียกว่า Civilian control เข้มแข็งขึ้น

ขณะเดียวกันดิฉันเชื่อว่า อันนี้จะกลายเป็นพลังต่อรองทางการเมืองของฝ่ายประชาชน ของพรรคการเมือง ต่ออำนาจเก่าที่ครอบงำการเมืองอยู่ อาจจะส่งผลต่อการต่อรองอำนาจทางการเมืองในการแก้รัฐธรรมนูญด้วยก็ได้ แต่ว่าถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย ดิฉันคิดว่าเจตจำนงการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชัดเจน ดูอ่อนแอดูปวกเปียกดูกลัวตลอดเวลายอมจำนนกับอำนาจตลอดเวลา ดิฉันเราจะไม่ได้อะไรเลยหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมาสองครั้งที่ผ่านมา แล้วก็ไม่รู้จะแก้ได้เมื่อไหร่ อย่าทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองของคุณที่ได้มาจากประชาชนที่มอบให้กับคุณจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่สูญเปล่า ต้องจับมือกัน ถ้าไม่ทำแบบนี้โดยเฉพราะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยไม่ทำแบบนี้

ความเชื่อของประชาชนในขณะที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า พรรคเพื่อไทยนั้นสิ่งที่ทำทุกวันนี้ไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการผลักดันแก้ไขทางการเมือง ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางกฎหมาย ทั้งหลายแหล่ เสียงกระหึ่มว่า การกำหนดนโยบายต่าง ๆ อิงอยู่กับผลประโยชน์ของคนไม่กี่คนของคนในพรรคมันจะไม่จางหายไป แล้วยิ่งในระยะยาวคุณก็ยิ่งสูญเสียความชอบธรรม คุณจะไม่มีหลังพิง หลังพิงของคุณขณะนี้มีอันเดียวคือประชาชน

 

จีรนุช เปรมชัยพร :

อยากบอกว่า ประชาชนให้คำตอบว่า อยากได้รัฐะรรมนูญใหม่ ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลการเลือกตั้งที่ออกมาของสองพรรค ซึ่งรณรงค์ชัดเจนว่า จะทำการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างชัดเจนในแคมเปญหาเสียง ผลการเลือกตั้งคือการบอกแล้วว่า ประชาชนต้องการอะไร

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

รวมพรรคคุณนิกรเข้าไปด้วย สามเป็นอย่างน้อย

 

จีรนุช เปรมชัยพร :

รวมด้วย รวมพรรคชาติไทยพัฒนา อย่างน้อยคุณนิกร แก้แน่ ๆ ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่แน่ ๆ

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

อันนี้เขาขึ้นป้ายชัดเจนเลยสีชมพู

 

 

จีรนุช เปรมชัยพร :

คิดว่าประชาชนตอบไว้ชัดเจนว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ เราคิดว่าเจตจำนงประชาชนชัดเจนมาก เพราะฉนั้นนักการเมืองซึ่งอยู่กับกติกาการเลือกตั้ง อยู่กับเสียงสนับสนุนของประชาชน คุณไม่สามารถดูแคลน หรือหมิ่นแคลน เสียงของประชาชนได้ อันนี้ขอพูดอย่างกรณีพรรคภูมิใจไทย อันนี้พูดตรง ๆ เลยว่า คุณอยู่ในตัวแปลซึ่งเป็นตัวแปลสำคัญที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ได้ ไม่สามารถหลบตัวเองอยู่หลังการบอกว่า ฉันไม่เกี่ยวฉันไม่ใช่ ประชาชนไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง ประชาชนรู้ดี เพราะฉนั้น เราคิดว่า อันนี้ภูมิใจไทยลอยตัวไม่ได้ และภูมิใจไทยก็ประกาศชัดแถลงชัดเจนว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตอนที่เรื่องเสนอรายมาตราใช่ไหม หรือว่าตอนเสนอจริยธรรม ก็พูดออกมาชัดเจนว่า เขาจะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยมี สสร. อย่าให้สิ่งที่คุณพูดนั้นเป็นแค่เพียงเรื่องหลอกลวงประชาชนไปวัน ๆ เราคิดว่า ประชาชนไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง ประชาชนจับตาดูอยู่ และถ้าคุณเป็นนักเลือกตั้ง 2570 รู้กัน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

เวลาเราพูดถึงพรรคภูมิใจไทย เราพูดตรง ๆ แบบนี้ พรรคภูมิใจไทยและ สว. อย่างน้อยคุณอนุทิน ถ้าคุณจะทำอะไรจริง ๆ คุณก็หันไปคุยกับคนที่พายเรือให้คุณนั่งสักนิดหนึ่งว่า เอาหน่อยรัฐธรรมนูญเอาหน่อย ถ้าจะทำ ถ้าคุณพายเรือแล้วไม่หันไปคุยกันเลย คุณก็ถูกวิจารณ์บ้าง คุณพริษฐ์มีอะไรไหม อาจารย์ประภาสมีอะไรไหมครับสุดท้ายแล้วครับ

 

นิกร จำนง :

ผมฝากนิดเดียว ฝากกับคุณลุง และก็พวกเราทุกคน อย่าสูญเสียความหวัง

 

 

นิกร จำนง :

เรื่องนี้หวัง เราพยายามแต่ว่า ต้องไม่ลืมอย่างหนึ่งว่า ขณะนี้เราอยู่ในกติกาที่ไม่เป็นธรรมเรื่องรัฐธรรมนูญ อย่าฝ่ากติกา เพราะเราจะถูกเป่าฟาวล์ แล้วจะกลับมาที่เดิม หมายถึงว่า เดินไปเรื่อย ๆ แต่ว่าอย่าสูญเสียความหวัง แต่ให้ระวังกติกาด้วย เพราะว่าไม่เป็นธรรมจริง ๆ เราก็ต้องยอม เพราะว่าเป็นกติกาที่ใช้อยู่ในขณะนี้ แล้วเราค่อยไปแก้กติกากันในอนาคต ก็ฝากไว้แค่นี้

 

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

พูดสั้น ๆ คือ ผมก็ยังมีความหวังในแง่ที่เห็นเครือข่ายพี่น้องที่ผมทำงานด้วยมาก่อน ก็จัดสัมมนาเสวนาแลกเปลี่ยน รวมถึงยกระดับปัญหามาสู่ปัญหารัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า วงเหล่านี้กว้างออกไปทุกที ๆ ก็หวังว่า รัฐธรรมนูญที่ดีถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ไม่เคยเกิดขึ้นจากชนชั้นนำพูดง่าย ๆ เพราะฉนั้น การเติบโตของส่วนของสังคม ผมคิดว่าในส่วนนี้ก็คือ ในส่วนที่ผมไม่ได้เรียกร้องให้คนอื่นทำงาน แต่เรียกร้องพวกเราทำงานในส่วนของสังคม ในส่วนนี้น่าจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าผลักดันคนข้างงในตัวแสดงแบบคุณพริษฐ์ คุณนิกร ก็คิดว่าน่าจะเป็นภารกิจร่วมกันของสังคมที่จะผลักให้เกิดเครือข่ายที่จะผลักดันสร้างบริบทให้ในส่วนของภาคการเมืองต้องร่วมกันมาแก้รัฐธรรมนูญ

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ :

สองประเด็นสั้น ๆ ประเด็นแรกมีคุณลุงท่านหนึ่งแนะนำให้ฝ่ายค้านพูดบ้าง พูดข้อเสนอแนะกับรัฐบาลบ้าง ก็ต้องบอกว่า เราก็พูดอยู่ และเราก็พยายามจะทำมากกว่าพูดก็คือ การเขียนเป็นข้อเสนอเป็นร่างแก้ไขกฎหมายยื่นเข้าสู่สภาเลย ผมคุยกับเจ้าหน้าที่สภาหลายคนก็บอกว่า ไม่ค่อยเจอยุคฝ่ายค้านที่มีคนเสนอกฎหมายเยอะแบบนี้ แต่ที่เราเสนอเราไม่ได้ไร้เดียงสาทางการเมือง เรารู้ว่าเราไม่ได้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่เรารู้ถ้าเราเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าไปเป็นการดึงรัฐบาลต้องมาคุยกับเราเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แล้วก็อาจจะมีร่างของรัฐบาลเข้ามาประกบ ผมคิดว่า การเสนออะไรที่เป็นการแก้กฎหมายมันไปอีกขั้นหนึ่งมากกว่าพูดข้อเสนอ คือ มันทำให้เห็นเลยว่า ถ้าเป็นเราเราจะแก้มาตรานี้ในฉบับนี้อย่างไร ดังนั้น ก็อยากจะเชิญชวนรัฐบาลมาประกบเราเยอะ ๆ เสนอร่างมาประกบเราเยอะ ๆ เหมือนที่ท่านนิกรได้พูดว่า ถ้าปล่อยให้เป็นร่างฝ่ายค้าน อันนี้ระหว่างบรรทัด ก็จะผ่านยาก อันไหนที่ยังไม่ได้ปะรกบก็รีบมาประกบจะเขียนเหมือนกันก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน

ส่วนประเด็นที่สองคือ คำถามใหญ่มากว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร คือ ผมคิดว่า เวลาเราพูดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรก็ตาม สองสมรภูมิเกิดขึ้นคู่ขนานกัน อันที่หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงตัวบทบัญญัติในกฎหมายจริง ๆ อีกอันหนึ่งคือการทำงานเชิงความคิดกับสังคม ในมุมหนึ่งผมคิดว่า ถ้าเรามีการพูดคุยกันเรื่องเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เราอยากเห็นมากขึ้น ถึงขั้นที่ว่าสังคมตกผลึก คือยังไม่ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นมาเป็นกฎหมาย สังคมตกผลึกว่า เอาอย่างไรเรื่องสิทธิเสรีภาพ เอาอย่างไรเรื่องระบบรัฐสภา เอาอย่างไรเรื่องศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระ ทำให้การตื่นตัวเรื่องนี้สูงขึ้นตามมา และทำให้ Momentum ในสมรภูมิในสภาไปได้ง่ายขึ้น

ทิ้งท้ายนิดหนึ่งว่า เหตุผลที่พรรคประชาชนเราเสนอการแก้รายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนหนึ่งไม่ได้บอกว่า เราจะเอาร่างแก้รายมาตราของเราเป็นใหญ่ในวันที่มีการจัดทำฉบับใหม่ แต่ในมุมหนึ่งการเสนอแก้รายมาตราเป็นการชวนสังคมคุยกันว่า อันนี้เป็นปัญหา พรรคประชาชนมองว่าแก้แบบนี้ พรรคอื่นอาจจะแก้แบบอื่น ถ้าผ่านไปก็มีช่วงทดลองนำร่องว่า แก้แบบนี้แล้วดีขึ้นไหม แต่ถ้าไม่ผ่านอย่างน้อยเป็นการชวนสังคมกลับมาคิดกันใหม่ว่า กลับมาคิดกันอีกรอบหนึ่งว่า ปัญหารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเรื่องอะไรบ้าง และอะไรเป็นโจทย์สำคัญ ๆ ที่เราต้องเตรียมพูดคุยกันไว้ล้วงหน้า เพื่อที่วันที่มี สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ประชาชนจะได้มีข้อเสนอพร้อมที่เสนอเข้าไปที่ สสร. เลย

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันสร้างสีสัน ชูป้ายเพื่อพี่อานนท์ นำภาได้เลย หวังว่าเราจะได้นิรโทษกรรมกัน รวมถึงป้ายคนอื่น ๆ ขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ร่วมเสวนากันอย่างเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมัน 

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM

 

ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์