ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความหวังและความฝันในรัฐธรรมนูญ

18
ธันวาคม
2563

หากเรามองรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับแล้ว มันเป็นความยากลำบากของการออกแบบของรัฐธรรมนูญพอควรเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมือง หากเรามองรัฐธรรมนูญในการออกแบบได้อย่างไร การทำอย่างไรให้ไม่เป็นต้นตอของความขัดแย้ง และแก้ปัญหาในอดีตได้ รวมถึงต้องแก้ปัญหาทั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย จึงเป็นความยากลำบากของรัฐธรรมนูญด้วย

ซึ่งหากเรามองรัฐธรรมนูญแบบมีชีวิต เราจะเห็นรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการ ในการจัดสรรรูปแบบโครงสร้างอำนาจรัฐ หรือสมดุลอำนาจของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางการเมืองและประชาชน  ในขณะเดียวกัน หากเรามองรัฐธรรมนูญแบบที่เป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการ เราก็จะเห็นรัฐธรรมนูญนั้นขับเคลื่อน ไหลเลื่อนเต็มไปหมดอย่างที่นักประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญจะมอง

ขอฝากไว้ท้ายที่สุด คือ อย่าสร้างสังคมเกินจริงโดยไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย และทำอย่างไรให้พลังทางการเมืองที่มีอยู่หลากหลายดำรงอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ทำลายสังคมไทย เพราะสุดท้ายแล้วเราก็อยู่ในสังคมไทยร่วมกัน เรียนรู้ที่จะทะเลาะกันอย่างสันติ ไม่แปลกในความเป็นประชาธิปไตยที่จะมีการทะเลาะหรือขัดแย้งกัน แต่เราจะทะเลาะอย่างไรให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าร่วมกันได้ ประชาธิปไตยนั้นอยู่ร่วมกันได้ ประชาธิปไตยมันอยู่คู่ความขัดแย้งเสมอ เพียงแต่ว่าเราจะมองต่างมุมอย่างไร และใจกว้างแค่ไหน เราอยากเห็นสังคมไทยที่คนรุ่นเก่าใจกว้างและมองคนรุ่นใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง

อีกทั้งการเปิดพื้นที่ชุุมชนทางการเมืองที่มีอยู่หลากหลายให้มีพื้นที่ยืนหยัดอย่างเท่าเทียมกัน ผ่านกระบวนการการออกแบบและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงท้ายที่สุดแล้ว ดิฉันคิดว่า เราควรหาฉันทามติในการอยู่ในระบอบแบบนี้ร่วมกัน เพราะเราไม่เคยคุยกันจริง ๆ จัง ๆ เลยว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นคำเรียกใหม่นี้ แต่เดิมคือ ราชาธิปไตย เป็นอย่างไรในปัจจุบัน

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอฝากคำถามไว้ว่า คนในช่วงชีวิตหนึ่งมีสิทธิที่จะสร้างภาระผูกพันกับคนอีกช่วงชีวิตหนึ่งได้หรือไม่ อุดมการณ์ ความเข้าใจ โลกทัศน์ของคนรุ่นหนึ่งที่พยายามจะออกแบบกติกาสังคม มันควรจะผูกมัดกับคนรุ่นต่อ ๆ ไป หรือไม่?

ช่วงถาม-ตอบ

Q: ตามที่อาจารย์วรรณภาได้พูดว่า รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องรักษาสังคม วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แกนของรัฐธรรมนูญจะต้องรักษาสังคมที่ดีของเราไว้ หากมองในปัจจุบัน ถ้าจะมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะถือว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจะรักษาสังคม วัฒนธรรมอันดีงามของเราตั้งแต่ดั้งเดิมมาหรือไม่ ตามที่เราทราบดีว่ามีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น

A: ขอเพิ่มเติมที่ดิฉันได้กล่าวไป คือ เราอย่าไปสร้างสังคมการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมือง หมายความว่า เราไม่สามารถจินตนาการไปให้ไกลกว่าความจริงได้ สุดท้ายเราต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง และที่สำคัญ คือ เมื่อเราพูดถึงการสร้างสังคมวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทยนั้น แน่นอนว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ดิฉันขอเพิ่มเติมว่า ที่ยังเป็นปัญหากันทุกวันนี้ ก็เพราะเรายังไม่ได้คุยกันว่า  ฉันทามติของระบอบการเมืองการปกครองที่เราเป็นอยู่กันทุกวันนี้ แต่ละคน แต่ละท่านที่มีอำนาจทางการเมืองนั้น จะมีตำแหน่งแห่งที่กันอย่างไร เพื่อทำให้อำนาจทั้งหลายได้ดุลกัน ให้ทุกคนได้ยืนอยู่บนพื้นที่ชุมชนทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันและลงตัวที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถกีดกันใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากสังคมไทยได้ แต่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรภายใต้สังคมที่เติบโตกันมาแบบนี้ และทำให้ทุกกลุ่มชุมชนทางการเมือง กลุ่มอำนาจทางการเมืองนั้นอยู่ร่วมกันเรียบร้อยปกติดีที่สุด

นี่เป็นสิ่งที่คาดฝันจินตนาการไว้นะคะ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คงต้องอาศัยกระบวนการและเวลา ในการอภิวัฒน์สยามไปอีกยาวนาน ถ้าพูดแบบภาษารัฐศาสตร์ตอนนี้ คือ การช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง ที่สำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญที่สุด ซึ่งอย่างน้อยมีความสำคัญที่สุด คือ มันทำให้สิทธิพลเมือง ความรู้ ความเข้าใจทางด้านรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุขนั้นถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในทางวิชาการได้เพิ่มมากขึ้น

Q: ในฐานะที่อาจารย์สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน อยากจะถามว่า อาจารย์มีความฝันหรือมีจินตนาการรัฐธรรมนูญในฝันของอาจารย์ไหมครับว่าอยากจะให้มีรูปแบบอย่างไร มีโครงสร้างทางการเมืองอย่างไร

A: ดิฉันคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ รัฐธรรมนูญได้ทำให้กลไกทางอำนาจได้ดุล เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่อำนาจมันเสียดุลอำนาจ เหมือนที่ท่านกล่าวว่า เด็ก ๆ นั้นออกมาเพราะได้รับผลกระทบ สิ่งที่สำคัญที่สุด ดิฉันคิดว่า รัฐธรรมนูญควรจะเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่ทำให้ดุลอำนาจ ไม่ใช่แค่เฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนได้ดุลด้วย ดิฉันมักเปรียบเทียบให้นักศึกษาฟังว่า มันคล้ายกับการชักเย่อ เวลาเราดึงกัน ท้ายที่สุดแล้ว ถ้ามันมีฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะ ฝ่ายหนึ่งดึงได้เต็มที่ อีกฝั่งก็จะมีคนแพ้และล้มลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อำนาจได้ดุลทั้งสองฝ่าย มันก็จะดำรงอยู่ได้ด้วยสังคมนั้น ๆ ซึ่งคงตอบรายละเอียดไม่ได้ แต่ฝันอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจทางการเมืองหรือชุมชนทางการเมืองมันมีที่ยืนเท่ากัน  ท้ายที่สุดแล้วมันต้องอยู่ด้วยกัน ให้พลังอำนาจทั้งหลายนั้นอยู่ด้วยกันให้ได้

 

ที่มา: เรียบเรียงจากช่วงหลังของคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “คุณค่าของพื้นฐานรัฐธรรมนูญช่วง 2475-2489 สู่บริบทรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน" เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์