ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วัยเยาว์ของเด็กหญิงพูนศุขที่ถนนสีลม

5
มกราคม
2564

พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดาเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าในยุคสมัยนั้นลูกผู้หญิงมักไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษา แต่ลูก ๆ ของท่านมีโอกาสเข้ารับการศึกษาเท่าเทียมกันทั้งหญิงชาย ทุก ๆ เช้า ลูก ๆ ของท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะนั่งเรือจ้างจากบ้านมาขึ้นที่กรมแล้วนั่งรถประทุนต่อไปยังโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์[1]

ขณะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขมีอายุ 6 ขวบ ในปี พ.ศ. 2461 โดยเข้าเรียนชั้น Preparatory หรือชั้นเตรียมประถมด้วย ต่อมาครอบครัวท่านเจ้าคุณชัยวิชิตฯ ได้ย้ายไปพำนักที่บ้านข้างวัดสามพระยา บางขุนพรหม สุดท้ายท่านจึงปลูกบ้านขึ้นที่ถนนสีลม ชื่อบ้าน “ป้อมเพชร์” โดยที่ดินแปลงนี้คุณหญิงเพ็งรับจำนองไว้จำนวน 600 ตารางวา ในราคา 8,000 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากในสมัยนั้น เมื่อเจ้าของเดิมไม่สามารถไถ่ถอนคืนได้ บ้านป้อมเพชร์จึงถือกำเนิดขึ้น

“ข้าพเจ้าเป็นชาวสีลมเต็มตัวในช่วง พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2485 หรืออีกนัยหนึ่ง อยู่ถนนสายนี้มาตั้งแต่อายุ 11 ขวบจนถึงอายุ 30 ปี และอีกช่วงหนึ่งจาก พ.ศ. 2490 - พ.ศ. 2496”[2]

พระยาชัยวิชิตฯ ในขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ซึ่งเป็นคนแรกและคนสุดท้ายในตำแหน่งนี้ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2458 - พ.ศ. 2468) และถูกดุลยภาพในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงต้องออกจากราชการ

ครอบครัวบ้านป้อมเพชร์เป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องถึง 12 คน นอกจากนี้ยังมีพี่น้องต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนหนังสือในพระนคร เช่น ญาติคุณหญิงเพ็งมาจากสุพรรณบุรี ญาติท่านเจ้าคุณชัยวิชิตฯ มาจากอยุธยา และยังมีลูกน้องเก่าของท่านจากกรมราชทัณฑ์อีก รวมแล้วในเวลานั้นสมาชิกบ้านป้อมเพชร์จึงมีราว 30 คน

บ้านป้อมเพชร์ควบคุมการก่อสร้างโดยพระยาชัยวิชิตฯ ผู้เป็นเจ้าของบ้าน เพราะท่านสนใจเรื่องการช่าง นอกจากนี้ยังมีโรงกลึงเล็ก ๆ อยู่ในบ้านด้วย สถาปนิกผู้ออกแบบเป็นชาวอิตาเลี่ยนชื่อ Tavella อยู่ในกลุ่มนายช่างที่ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

ท่านผู้หญิงรำลึกถึงบ้านป้อมเพชร์ที่อบอุ่นด้วยผู้คนและร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ไว้ว่า

“เปิดประตูบ้านบานใหญ่ซี่กรงเหล็กเข้ามา ขวามือเป็นตึกห้องเดียวสำหรับคนเฝ้าประตู และด้านข้างมีชื่อ ‘บ้านป้อมเพชร์’ ทาด้วยสีดำตัวหนังสือใหญ่พอเป็นที่สังเกตของผู้คนผ่านไปมา ต่อจากนั้นเป็นโรงรถซึ่งชั้นบนมีห้องพักอาศัย

“ถัดไปมีเรือนไทยอยู่สองหลัง น้อง ๆ รุ่นเล็กของข้าพเจ้าอยู่กับพี่เลี้ยง  ใต้ถุนเรือนไทยเป็นโรงกลึงของบิดาข้าพเจ้า ต่อมาได้ย้ายเครื่องมือช่างไปไว้ที่โรงรถ

“ตึกหลังใหญ่ทรงยุโรปเป็นที่อยู่ของบิดามารดาข้าพเจ้าและลูกหญิงรุ่นโต ตั้งเด่นอยู่กลางบริเวณบ้าน ระเบียงตึกด้านหน้าและด้านซ้ายปูพื้นด้วยหินอ่อน หน้าตึกประดับด้วยรูปปั้นหญิงสาวชาวตะวันตก อ่อนช้อยตามสมัยนิยม … พื้นที่ด้านตะวันตกของบ้านป้อมเพชร์จรดลำรางสาธารณะ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างรั้วบ้าน ด้านหลังตึกใหญ่เป็นตึก 2 ชั้น มีดาดฟ้า แบ่งเป็นส่วนที่พี่ชายข้าพเจ้าพำนักอยู่ชั้นบน และชั้นล่างเป็นที่พักของคนในบ้าน รวมทั้งห้องครัว

“บิดาข้าพเจ้าเป็นคนรักต้นไม้ใบหญ้า จึงไม่ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ ประเภทมะขาม มะม่วง มะตูม มะกอก ที่มีอยู่เดิม ปล่อยให้ต้นไม้พวกนี้เติบโตตามธรรมชาติ แล้วปลูกต้นไม้อื่น ๆ แซมให้ร่มรื่นอีกมากมาย”[3]

ถนนสีลมในเวลานั้นสงบเงียบและค่อนข้างเปลี่ยว มีบ้านเรือนของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า คหบดี และชาวต่างประเทศอยู่บ้าง ลึกเข้าไปด้านในยังมีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำสวน ปลูกพืชผักผลไม้กันอยู่ บ้านป้อมเพชร์อยู่ฝั่งเหนือถนนสีลม เรียกว่า ‘ฝั่งคลอง’ ส่วนถนนสีลมด้านฝั่งใต้เรียกว่า ‘ฝั่งถนน’ ผู้คนในละแวกสีลมล้วนคุ้นเคยเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ช่วงแรกถนนสีลมยังไม่มีรถราง ผ่านไป 5-6 ปีจึงมีรถรางจากปลายถนนสีลมจนถึงศาลาแดง

ฝั่งถนนเริ่มด้วยบ้าน ‘ศาลาแดง’ รัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ตัวตึกสวยงามมาก เด่นด้วยสีขาวสลับแดงเชิงชายหลังคาตึกเป็นลูกไม้ปูนวิจิตรงดงาม คาดว่าสถาปนิกน่าจะเป็นชาวอิตาเลี่ยน ‘บ้านศาลาแดง’ งดงาม เช่น อาคารสมัยเรอเนสซองซ์ของอิตาลี ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าว่า ในวัยเด็กท่านเคยติดตามบิดามารดาไปที่บ้านศาลาแดงนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งเรียกเจ้าพระยายมราชว่า “คุณตาศาลาแดง”

เจ้าพระยายมราชเป็นบุตรคหบดีสามัญชนในจังหวัดสุพรรณบุรี วัยเด็กบวชเรียนเป็นสามเณร ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุ สอบได้เปรียญ 3 ประโยคเป็น “มหา” เมื่อลาสิกขาบทได้เข้ารับราชการครูโดยสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยถวายการสอนพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ตามเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์ อันมีกรมพระจันทบุรีนฤนาถ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงปราจิณกิตติบดี และกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช  ทั้งได้ติดตามไปถวายการสอนภาษาไทยเมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิรวุธเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี

เมื่อปี พ.ศ. 2430 พระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์เสด็จกลับเมืองไทยชั่วคราว  เมื่อกลับมาคราวนี้ท่านเจ้าคุณยมราชได้สมรสกับคุณตลับ บุตรสาวคนโตของพระยาไชยวิชิตสิทธิสาสตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยากับคุณหญิงนวล และได้เดินทางไปอังกฤษด้วยกันอีกเป็นเวลา 6 ปี คุณตลับ คือ พี่สาวของพระยาชัยวิชิตฯ บิดาของท่านผู้หญิงพูนศุขนั่นเอง

ในกาลต่อมาเจ้าพระยายมราช ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ในช่วง 4 มีนาคม 2477 - 28 กันยายน 2480 และ 2 สิงหาคม - 30 ธันวาคม 2480

ทุก ๆ วัน บุตรีท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นั่งรถประทุนจากบ้านป้อมเพชร์มาโรงเรียนโดยใช้เวลาเพียง 5 นาที เวลานั้นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์มีอธิการ 2 ท่าน คือ มาแมร์ Xavier และมาแมร์ Francoise การเรียนแบ่งออกเป็นแผนกภาษาอังกฤษและแผนกภาษาฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงพูนศุขเรียนแผนกภาษาอังกฤษ ครูคนแรกของท่าน คือ ครูฉลวย และมีครูนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอีกหลายท่าน ที่นักเรียนพากันเรียกว่า “แม่ดัม” ซึ่งออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า Madame

การเรียนการสอนเน้นด้านภาษา ทุกวิชาที่เรียนต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น นอกห้องเรียนนักเรียนก็ต้องสนทนากันด้วยภาษาอังกฤษ ทำให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่องแคล่วชำนิชำนาญ ส่วนภาษาไทยนั้นเรียนวันละหนึ่งชั่วโมง นอกจากนี้นักเรียนยังเรียนวิชาการฝีมือและคัดลายมือด้วยปากกา drawing ผลการกวดขันเรื่องนี้ทำให้นักเรียนลายมือสวย รวมทั้งท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย

ค่าเล่าเรียนคิดเป็นรายเดือน เดือนละ 7 บาท หากใครต้องการเรียนดนตรี เช่น เรียนเปียโนต้องเสียอีกเดือนละ 10 บาท ท่านผู้หญิงพูนศุขเลือกเรียนเปียโน โดยมีมาดามเดอชา แม่หม้ายชาวโปรตุเกสเป็นครูคนแรก ต่อมาจึงได้เรียนกับ Miss Mina Fricker และ Miss Carmen ต่อมาท่านผู้นี้ คือ Soeur Renee ที่มีลูกศิษย์มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยได้แสดงเปียโนในงานโรงเรียนสองครั้งโดยแสดงร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง หลังจากแต่งงานแล้วท่านจึงได้เรียนเปียโนกับแหม่มวิจิตร ภริยาชาวฝรั่งเศสของหลวงวิจิตรวาทการ

ท่านผู้หญิงพูนศุขยังจำเรื่องราวในวัยเรียนและโรงเรียนของท่านได้เป็นอย่างดี ท่านเล่าว่า สมัยนั้นโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์มีนักเรียนประมาณ 200 คน เมื่อก้าวเข้าสู่ประตูโรงเรียน มีถนนทอดยาวไปยังลานที่เล่น มีตึก 2 ชั้นหลังหนึ่งด้านข้างซ้ายมือมีตึกปลูกในแนวยาวอีกหลังหนึ่ง สองข้างลานมีม้านั่งเรียงรายสำหรับนักเรียนนั่งเล่น สุดลานเป็นถ้ำพระแม่มารี หลังถ้ำมีตึกแนวขวางอีกหลังหนึ่ง ท่านผู้หญิงมีความสุขกับเพื่อน ๆ ตามประสาเด็กในวัยนั้น มีทั้งกระโดดเชือก เล่นหมากเก็บ เล่นตักหอยกัน เพื่อนในวัยเด็กเหล่านั้นหลายคน คือ กัลยาณมิตรที่คบหากันมายืนยาวกว่า 80 ปี

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจากหนังสือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตผู้อภิวัฒน์ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2550), น. 23-29.


[1] ชื่อโรงเรียน “เซนต์โยเซฟคอนแวนต์” อ้างอิงตามต้นฉบับของผู้เขียน ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “เซนต์โยเซฟคอนเวนต์”

[2] ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, “ย้อนรอยถนนสีลม”, นิตยสาร แพรว ฉบับที่ 636/25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549, น. 231

[3] เรื่องเดียวกัน