ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำหลัง 2475

15
มกราคม
2564

บริบทของสตรีในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง

ท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดีเป็นคู่ชีวิตที่ถูกพูดถึงมากในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พออาจารย์ปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศส ก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และมีชื่อเสียง

ย้อนกลับไป เมื่อเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ทำให้รูปแบบการผลิตในสยามเปลี่ยนแปลงไปมาก นำไปสู่ชนชั้นกลาง ชนชั้นกระฎุมพีในเวลานั้น ในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนแปลงความปกครอง เชื่อว่าท่านผู้หญิง ได้อ่านหนังสือสมัยใหม่ ได้รับการขัดเกลาในด้านภาษา อ่านออกเขียนได้ เรียนรู้ในเรื่องแม่บ้าน ซึ่งช่วงเวลานั้นจะมีการอบรมจริยธรรมของแม่บ้านแบบกระฎุมพีที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากตะวันตก ทำให้ได้อ่านหนังสือหรือนิตยสาร ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้มีจำนวนมากขึ้น

นอกเหนือจากการเป็นแม่บ้านให้ชนชั้นนำ ผู้หญิงบางคนก็จะเป็นนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ ผลิตสิ่งพิมพ์สำหรับผู้หญิงออกมาเอง อย่างเช่น นิตยสาร กุลสตรี สตรีศัพท์ สตรีนิพนธ์ ซึ่งมักจะให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อสู้เรื่องสิทธิสตรี การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศการเลือกคู่ครองด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้พ่อแม่คลุมถุงชน การต่อสู้เรื่องผัวเดียวเมียเดียว เพราะตอนนั้นผัวเดียวหลายเมียเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงและค่อนข้างกดขี่สตรีและสามัญชน ราษฎรหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ค่อนข้างจะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

วัฒนธรรมของกระฎุมพี ก็คือ น้อมรับเรื่องการศึกษาสมัยใหม่เข้ามา และรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงตอนนั้นทำให้สยามก้าวเข้าสู่ทุนนิยมโลก เมื่อเกิดกระฎุมพี เป็นชนชั้นใหม่ทางสังคมที่อยู่ระหว่างไพร่ ทาส และเจ้า ทำให้พวกขุนนางศักดินาทั้งหลายน้อมรับสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น มีการศึกษาสมัยใหม่ แม้แต่ระบบราชการเองก็พยายามปรับตัว ทำให้คนสามัญชนสามารถขยับสถานะทางสังคมได้ ผ่านการเข้าไปสู่การปกครองที่มีการปฏิรูปแล้ว

ในขณะนั้นเองก็มีการศึกษาสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นโดยกลุ่มมิชชันนารี ทำให้เกิดโรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ขึ้นมา เช่น โรงเรียนสตรีวังหลัง 2417 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ 2450  แต่ค่าเทอมค่อนข้างสูง เป็นการคัดบุคคลที่จะเข้าไปเรียน อย่างเช่นที่เซนต์โยเซฟฯ คิดค่าเรียนเดือนละ 7 บาท เพราะสถานที่เหล่านี้มักจะผลิตอุดมการณ์ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน 

 

 

โรงเรียนผู้หญิงสมัยใหม่ได้สลายความรู้ในสมัยเก่า ที่จากเดิม คือ ผู้หญิงไม่สามารถเข้าเรียนหรือมีการศึกษาได้เลย ถ้าบุคคลทั่วไปหรือสามัญชนอยากมีการศึกษา ก็ต้องเข้าไปอยู่ในราชสำนัก สมัครเข้าไปเป็นแรงงานให้กับชนชั้นเจ้าในการรับใช้ ซึ่งก็จะไม่ได้ความรู้เป็นกิจจลักษณะ เพราะจะขึ้นอยู่กับเจ้าว่าจะใช้สอยอะไร แต่เมื่อมีโรงเรียนสมัยใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็เริ่มมีตำราเรียน มีแบบฝึกหัดที่ทำให้เขารู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และการที่สมัครเข้าไปเรียน เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนที่จ่ายค่าเทอมเข้าไปเรียน ไม่ใช่เป็นข้ารับใช้ ทำให้มีสำนึกของความเท่าเทียมมากขึ้นกว่าการไปศึกษาอยู่ในตำหนักต่าง ๆ ของชนชั้นสูง

ผู้หญิงสมัยใหม่เหล่านี้ เมื่อเรียนจบมาแล้วมักจะเป็นนางพยาบาล เป็นคุณครู ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ในช่วงเวลานั้น และกลุ่มบุคคลเหล่านี้มักมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยด้วยตัวเอง ซื้อหนังสืออ่านเอง เพราะว่าตัวเองมีการศึกษา สามารถทำงานนอกบ้านได้ ถ้าไม่เป็นแม่บ้านชนชั้นนำก็ทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงเริ่มมีพื้นที่อิสระนอกบ้านมากขึ้น จากสมัยก่อนที่เชื่อว่าลูกสาวจะต้องมีการเก็บตัวมากกว่า การไปโรงเรียน การออกไปเจอโลก

 

 

นิตยสารในช่วงเวลานั้นมีเยอะมาก อย่างเช่น สตรีนิพนธ์ 2457, สตรีศัพท์ 2465 เหล่านี้ให้ความรู้เยอะมาก และยังต่อต้านการเมืองที่ไม่ชอบธรรมมาก ๆ เช่น ในรัฐบาลและราชสำนักมีเรื่องของผัวเดียวหลายเมีย เขาก็พยายามต่อต้าน เพราะมันเป็นการกดขี่สตรี และมีการเรียกร้องในเรื่องของความเท่าเทียม อย่างที่ท่านผู้หญิงพูนศุขกับอาจารย์ปรีดีเรียกตัวเองว่า ฉันกับเธอ

นิตยสารฉบับหนึ่งเขียนว่า “ถ้าผัวเมียจะรักกัน ก็ควรจะใช้ ‘ฉัน’ กับ ‘เธอ’ อย่าไปเรียกแดดดี้ หนูจ๋า เพราะคนรักกันสามีภรรยาควรมีความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่จะใช้เรียกอะไรที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกัน”

 

การที่ท่านผู้หญิงและอาจารย์ปรีดี ใช้เรียกแทนตัวเองกันว่า “ฉัน” กับ “เธอ” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสัญลักษณ์ของความคิดใหม่ซึ่งเกิดในสังคมไทยก่อน 2475 เป็นโรแมนติกเลิฟ และแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม เพราะกระฎุมพีสมัยใหม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม และการมีคู่ครองร่วมกัน  เมื่อพูดถึงคู่ครองคู่ชีวิต นั่นหมายถึงเป็นสามีกับภรรยาคู่กัน ไม่ใช่เหมือนสมัยชนชั้นนำราชสำนัก ที่อีกคนหนึ่งเป็นเจ้า เป็นนางสนม หรือนางใน เพราะมันเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจมาก ๆ

ในสังคมยุคนั้น ชนชั้นกลางเองไม่ได้เหมือนอย่างชนชั้นเจ้าที่จะมีบริวารมากมาย และยิ่งมีการปฏิวัติในด้านอุตสาหกรรม จึงต้องมีการแบ่งงานกันทำระหว่างผัวเมีย บรรดาสามีจะออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนภรรยารับผิดชอบงานในบ้าน เมื่อมีรายได้จากสามีเพียงผู้เดียว ผู้หญิงจึงต้องมีจริยธรรม ความประหยัด ความพอเพียง รู้จักบริหารจัดการในชีวิตเป็นอย่างไร สุขอนามัย ความรู้สมัยใหม่เป็นอย่างไร ในการที่จะบำรุงความเป็นอยู่ในครอบครัว

เราจะสังเกตได้ว่า ผู้หญิงที่เรียนโรงเรียนสตรีนี้ใหม่ ๆ มักเรียนไม่จบ แล้วไปแต่งงานกัน ท่านผู้หญิงก็เป็นหนึ่งบุคคลในนั้น เพราะผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นที่หมายปองของเหล่ากระฎุมพีด้วยกัน เพราะเธอเหล่านั้นจะเป็นผู้หญิงที่ฉลาด มีความคิดความอ่าน เหมาะกับการเป็นคู่ชีวิต เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ยาก เหมาะที่จะปรึกษาหารืออะไรได้ และมีเรื่องของจริยธรรมสมัยใหม่ที่จะไม่เหมือนภรรยาที่รับใช้เลี้ยงหมูดูหมาอยู่แต่ในครัวเรือน แต่จะสามารถออกไปในพื้นที่สาธารณะ มีมารยาทในการเข้าสังคมแบบตะวันตกสมัยใหม่ ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นที่หมายปอง

 

 

สำหรับเรื่องสำนึกของคู่ชีวิต จะมีเรื่องของเสรีภาพเสมอภาพที่จะรักกัน คณะราษฎรหลาย ๆ คนจะถ่ายรูปคู่เมื่อออกงานร่วมกัน ซึ่งจะแตกต่างจากชนชั้นนำสมัยก่อนที่จะออกมาคนเดียว ซึ่งเมื่อ civilized มากขึ้นและรับ modernize แล้ว เขาก็จะออกมาเป็นคู่มากขึ้น จะเห็นได้ว่า หลังจากการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านมาไม่กี่ปีก็จะมีการถ่ายรูปกลุ่มคณะราษฎร อาจจะแบ่งสายเป็นพลเรือน ทหารบก ทหารเรือ

นอกจากจะมีการถ่ายรูปกลุ่ม ถ่ายรูปรวม ก็ยังมีการถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็อาจจะเป็นภาระให้ท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย  มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านผู้หญิงโดนงูฉกและต้องรีบออกไปโรงพยาบาล ปรากฏว่า อาจารย์ปรีดีลืมสวมหมวก ก็ต้องรีบกลับไปเอาหมวกก่อน ในฐานะที่เป็นชนชั้นนำ ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ก็คือบุคคลที่เป็นภรรยาและอยู่เคียงข้างชนชั้นนำ ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐไปด้วยเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ

 

 

บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า ราษฎรเป็นประชาชนจริง ๆ เป็นตัวแทนของรัฐจริง ๆ การเป็นอยู่ของประชาชนจึงมีความสำคัญ เพื่อว่าให้ประชาชนมีความแข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดีในการสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจ และตัวแทนของรัฐบาลในตอนนั้น รัฐจึงให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย คุณก็ต้องทำให้มันสะอาด ซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยาแม่บ้านทั้งหลาย ท่านผู้หญิงพูนศุขเองก็เป็นคณะกรรมการในการพิจารณาให้รางวัลเคหะสถานดีเด่นด้วย

ดูแลจัดการธุรกิจโรงพิมพ์ 

เนื่องจากอาจารย์ปรีดีมีภาระหน้าที่มากมาย จึงมอบหมายให้ท่านผู้หญิงรับผิดชอบ ดูแลจัดการเรื่องโรงพิมพ์นิติสาส์น มีหน้าที่ตรวจคำผิด พิสูจน์อักษร ดูความถูกต้องความเรียบร้อยต่าง ๆ ขั้นตอนในการพิมพ์ รวมถึงบัญชีด้วย  ซึ่งลูกศิษย์ที่มีความใกล้ชิดอาจารย์ปรีดีบอกว่า ท่านผู้หญิงมีความแม่นยำมาก ๆ ในการตรวจปรู๊ฟ จะเห็นว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่สามารถเคียงคู่กับอาจารย์ปรีดีได้ในเรื่องของธุรกิจส่วนตัวด้วย

เพื่อนคู่คิด 

ในบางครั้ง บางเรื่อง ท่านผู้หญิงพูนศุขก็ไม่ได้เห็นด้วยกับอาจารย์ปรีดี แต่ท่านก็ยังเชื่อว่าเป็นภรรยา ก็จะไม่ก้าวก่ายในการตัดสินใจของสามี แม้กระทั่งวันที่อาจารย์ปรีดีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ควง อภัยวงศ์  ท่านผู้หญิงไม่เคยเห็นด้วย  เพราะมีสภาวการณ์หลาย ๆ อย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่นายปรีดีต้องตัดสินใจเอง ซึ่งในฐานะภรรยา ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เช่นเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีตั้งขบวนการประชาธิปไตย ที่ต่อต้านอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘กบฏวังหลวง’ 2492  ท่านผู้หญิงพูนศุขไม่เห็นด้วยแต่แรกแล้วที่อาจารย์ปรีดีจะตั้งขบวนการประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลในตอนนั้น

แต่เมื่อทัดทานไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร และเมื่อเหตุการณ์นี้กลายเป็น ‘กบฏวังหลวง’ ท่านผู้หญิงก็คอยช่วยอาจารย์ปรีดี หาที่พักที่หลบซ่อนให้  หลังผู้บริสุทธิ์หลายคนถูกเข่นฆ่า เพียงเพราะเป็นเพื่อนฝูงในทางการเมืองของอาจารย์ปรีดี ท่านเสียใจมาก ๆ จนจะฆ่าตัวตาย  ท่านผู้หญิงเองก็เป็นคนที่ห้าม และปลอบประโลมให้ชีวิตดำเนินต่อไป

จะเห็นได้ว่า การช่วยเหลือของภรรยาคณะราษฎร หรือแม้แต่ในขบวนการเสรีไทย มักจะถูกบันทึกและมองว่าเป็นการช่วยเหลือสามีมากกว่าที่จะช่วยเหลือทางด้านการเมือง  สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะประการหนึ่งที่แบ่งความเป็นชายในพื้นที่สาธารณะ และแบ่งผู้หญิงไปในพื้นที่ส่วนบุคคลและให้ตัดขาดออกจากการเมือง

มิตรคู่ยาก  

ท่านผู้หญิงพูนศุขอยู่เคียงข้างอาจารย์ปรีดีในยามยาก เช่น ตอนที่ถูกใส่ร้ายว่าเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ถึงแม้ว่าจะไม่มีชื่ออาจารย์ปรีดีเป็นจำเลยในคดีที่อัยการยื่นฟ้อง แต่ทางตำรวจเองก็มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้งดจ่ายบำนาญอาจารย์ปรีดี ตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้องเป็นต้นไป และเมื่อถึงรัฐประหาร 2490 ที่อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัย ก็ไม่มีเงินบำนาญไว้เลี้ยงดูครอบครัว  ท่านผู้หญิงพูนศุขที่เป็นแม่บ้าน จึงทำขนมขายในช่วงเวลานั้น

ในฐานะคู่ชีวิต 

ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยกล่าวไว้ว่า “สามีภรรยาไม่ควรก้าวก่ายการงานซึ่งกันและกัน แบ่งภาระหน้าที่ปฏิบัติทั้งในและนอกบ้านให้ชัดเจน” อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปรีดีเคยบอกว่า “การอภิวัฒน์ 2475 ภรรยาก็มีส่วนร่วมด้วย” เพราะอาจารย์ปรีดีเองคำนึงว่า หน้าที่นอกบ้านจะสำเร็จได้ ก็เพราะว่าภรรยาที่อยู่หลังบ้านมีส่วนสนับสนุนตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน แม้กระทั่งหลัง 24 มิถุนา ที่พวกผู้ชายไปอยู่รวมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม บรรดาภรรยาก็เป็นคนส่งอาหารไปให้

ข้อสังเกตอื่น ๆ

คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร  ได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้นที่ตัวเองต้องเดินทางไปประเทศจีนท่านผู้หญิงพูนศุขทราบถึงโปรแกรมการเดินทางทั้งหมดว่าจะต้องเดินทางไปที่ไหนบ้าง และให้คนมารับจากฮ่องกงไปที่จีน ท่านผู้หญิงเป็นธุระจัดการในเรื่องของธุรกรรมต่าง ๆ ในการข้ามพรมแดน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนอำนวยความสะดวกเป็นอย่างมาก

น. ประภาสถิต ผู้ที่เขียนเรื่อง เก้าปีในปักกิ่ง เคยบอกเอาไว้ว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข ถนัดติดนิสัยการทำงานใต้ดินเหมือนสามี และรู้จักการทำงานใช้สอยคน รู้ว่าบุคคลไหน มีบุคลิกอย่างไร และเหมาะกับงานแบบไหน ในช่วงเหตุการณ์ตอนนั้น ถือว่ายังคงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ลูกผีลูกคนทางการเมือง ท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนที่เก่งมาก สามารถจัดการอะไรต่าง ๆ แทนสามีได้

ในงานครบรอบ 100 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข เมื่อปี 2554 อาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เคยปาฐกถาไว้ว่า การทำงานหลังบ้านของผู้หญิง มักจะมีคนมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง อันเนื่องมาจากรูปแบบการเมืองประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง และเมื่อมีภรรยาของผู้แทนฯ พ่วงเข้ามาด้วย คนมักจะมองบทบาทเหล่านี้ว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่สำหรับประชาธิปไตย ทั้งที่เราควรจะตระหนักได้ว่า การที่ผู้ชายหรือสามีออกมาทำงานนอกบ้าน ทำงานด้านการเมืองได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพียงแต่ว่าบทบาทของภรรยามักจะมาในรูปแบบการเป็นเมียและแม่ เป็นการดูแลเรื่องส่วนบุคคลของคนเรานั้น ทำให้ไม่ถูกมอง ไม่ถูกให้ความสำคัญ

ดร. ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า การที่ผู้หญิงเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือช่วยเหลือสามี ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปฏิวัติอภิวัฒน์ 2475 เสรีไทย หรือการรัฐประหารหลาย ๆ ครั้ง ผู้หญิงเองมีบทบาทสำคัญ แต่ไม่ได้ถูกให้ความหมาย โดยมีความเชื่อว่า คนที่เป็นเมีย มีหน้าที่ช่วยเหลือสามีเท่านั้น

 

ที่มา: เรียบเรียงจากงาน PRIDI Talks ครั้งที่ 8 “บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ” เนื่องในวาระครบรอบ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2564 ซึ่งมีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ) ประกอบไปด้วย

โปรโมชั่นเดือนมกราคม ชุดหนังสือ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข จากราคาเต็ม 1,150 บาท ลดเหลือ 999 บาท (จัดส่งฟรีทั่วประเทศ)

1. เสื้อยืด “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” มูลค่า 350 บาท

2. หนังสือ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 300 บาท

3. หนังสือ “หวนอาลัยพูนศุข พนมยงค์” มูลค่า 500 บาท

สั่งซื้อได้ทาง https://shop.pridi.or.th/th