ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เกิดอะไรขึ้นเมื่อญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธันวาคม 2484

20
มกราคม
2564

ก่อนมหาสงครามจะมาถึง

ในเดือนธันวาคม 2481 พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี ได้ลาออกจากตำแหน่ง และ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้เข้ารับตำแหน่งแทน

ขณะนั้นความขัดแข้งกันระหว่างประเทศมหาอำนาจในยุโรปกำลังขยายผลไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และในทวีปเอเชีย การสู้รบระหว่างญี่ปุ่นกับจีนก็ลุกลามและเรื้อรัง รัฐบาลไทยตระหนักว่า มหาสงครามจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น และมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบ เป็นแต่เพียงยังไม่มีความชัดเจนว่า สงครามจะมาถึงประเทศไทยทางใดและลักษณะใด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้ดำเนินการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพไทยเพื่อการป้องกันประเทศและเพื่อสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่จะรักษาความเป็น กลางอย่างเคร่งครัด

เมื่อสงครามได้อุบัติขึ้นในยุโรปในเดือนกันยายน 2482 รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศความเป็นกลางทันทีและได้เสนอต่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีอาณานิคมติดกับประเทศไทยให้พิจารณาทำสัญญาไม่รุกรานกับไทย และต่อมาก็ได้เสนอต่อญี่ปุ่นด้วย

ในเดือนมิถุนายน 2483 ได้มีการลงนามในสัญญาไม่รุกรานระหว่างไทยกับอังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ในเดือนเดียวกันนั้นฝรั่งเศสได้ทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมัน และภายหลังจากนั้น รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสก็ได้ขอให้สัญญาไม่รุกรานระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งได้ลงนามกันไปแล้วมีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนสัตยาบัน

เนื่องจากในขณะนั้นญี่ปุ่นได้แผ่อิทธิพลทางการเมืองและการทหารลงมาสู่อินโดจีนโดยที่ฝรั่งเศสไม่สามารถต้านทานได้ รัฐบาลไทยจึงเห็นว่าสมควรที่จะเรียกร้องให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศสเสียใหม่ให้เรียบร้อยและเป็นธรรม โดยขอให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนที่ได้เอาไปจากไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการบังคับใช้สัญญาไม่รุกรานกันระหว่าง 2 ประเทศโดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของไทย ซึ่งทำให้มีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสโดยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ได้เริ่มมีการปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-อินโดจีน และต่อมาเมื่อต้นเดือนมกราคม 2484 กองทัพไทยส่วนหน้าก็ได้รุกเข้าไปในอินโดจีน ญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาทำการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งซึ่งได้มีการ “พักรบ” เพื่อเจรจากันที่ญี่ปุ่น และในที่สุดไทยก็ได้รับดินแดนบางส่วนคืนมา

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เรียกว่า “กรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส” นี้ทำให้อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเพิ่มความระแวงรัฐบาลไทยว่ามีความเอนเอียงไปทางญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลไทยก็ยืนยันในความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดต่อไป

ญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังทหารลงมาจากประเทศจีนเข้ายึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศสตามแผนการทำสงครามที่ได้กำหนดขึ้นไว้ ซึ่งการนี้ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักว่า สงครามระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษคงจะหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ก็ยังมิได้ตัดสินใจว่า ถ้าหากเกิดสงครามขึ้นมา ซึ่งการสู้รบก็จะต้องเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว ไทยจะอยู่ฝ่ายใด ถ้าจะเข้ากับญี่ปุ่น ก็ไม่แน่ใจว่า ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่มั่นใจว่า ทางอังกฤษที่มลายูและสิงคโปร์จะสามารถสกัดการบุกของญี่ปุ่นได้มากน้อยเพียงใด ถ้าแม้นว่า ไทยจะไม่สามารถรักษาความเป็นกลางเอาไว้ได้ แล้วไทยก็ไม่ควรที่จะอยู่ข้างผู้แพ้สงคราม

ขณะที่ผู้นำรัฐบาลไทยยังอยู่ในความลังเลใจ ญี่ปุ่นก็บังคับให้รัฐบาลไทยตัดสินใจโดยฉับพลัน เมื่อทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้ทำการบุกประเทศไทยพร้อมกับการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ และอังกฤษเมื่อก่อนรุ่งของวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2484

 

ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่หาดสงขลา
ทหารญี่ปุ่นบุกขึ้นบกที่หาดสงขลา

 

ญี่ปุ่นบุกไทย

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2484 ถูกกำหนดไว้เป็นวันแรกของ “การฉลองรัฐธรรมนูญ” ในปีนั้น ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยเพิ่งจะผ่านพ้นเหตุการณ์ “กรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส” มาได้ไม่ถึงปี กองทัพไทยได้สู้รบเป็นเวลาประมาณเดือนครึ่ง และระหว่างนั้นประเทศไทยก็ตกอยู่ในบรรยากาศของ “สงคราม” ไม่มากก็น้อย

ในคืนวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2484 นั่นเอง ประเทศไทยก็ได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งยุครัตนโกสินทร์ ญี่ปุ่นได้ยื่นความจำนงของเดินทัพผ่านไทยไปโจมตีมลายูและพม่า ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งให้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่ตอนหัวค่ำของคืนวันนั้น ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะเปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพาด้วยการโจมตีที่มั่นของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาพร้อมกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง ประเทศไทยได้รับแจ้งล่วงหน้า เพราะญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยจะต้องให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น และจะไม่มีการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่ขอเดินทัพผ่านประเทศไทย

ญี่ปุ่นได้พยายามทาบทามจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาแล้วก่อนหน้านั้น โดยขอร้องมิให้ไทยต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยไทยจะเลือกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นหรือไม่ก็ได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เคยแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงความตกลงใจ จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย

โดยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้เดียวที่กฎหมายอำนาจเป็นผู้สั่งการทางทหาร ได้ออกเดินทางไปตรวจที่ตั้งทหารที่ชายแดนด้านตะวันออกตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในกลางดึกของคืนวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม จึงมีมติให้แจ้งแก่ญี่ปุ่นว่า ไทยจะยินยอมหรือต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น จะต้องรอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เสียก่อน ญี่ปุ่นซึ่งได้วางแผนปฏิบัติการไว้โดยเด็ดขาดแล้ว ได้เปิดฉาก

โจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ฮาวาย และที่มั่นอื่นๆ ของอังกฤษและสหรัฐ ตลอดจนการบุกประเทศไทยเมื่อเวลา 01.30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาในประเทศไทย

 

กองทัพญี่ปุ่นทิ้งระเบิดที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ฮาวาย
กองทัพญี่ปุ่นทิ้งระเบิดที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ฮาวาย

 

จอมพล เคาน์ท เทราอุจิ แม่ทัพใหญ่ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพที่ 25 ภายใต้นายพลยามาชิติ ยกพลขึ้นบกตามชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย และเคลื่อนกำลังผ่านไทยเข้าสู่มลายูและสิงคโปร์ ขณะที่กองทัพที่ 15 ภายใต้นายพลอิดะ เข้ายึดครองประเทศ ไทยและพม่า การบุกของกองทัพญี่ปุ่นได้รับการต่อต้านจากฝ่ายไทย อันประกอบด้วยทหาร ตำรวจและพลเรือน ตลอดจนยุวชนทหารอย่างเหนียวแน่นและดุเดือด ทุกๆ จุดที่มีการปะทะกัน ก่อให้เกิดความสูญเสียด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เดินทางกลับจากชายแดนด้านตะวันออกมาเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลาประมาณ 7.00 น. นั้น การสู้รบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกำลังดำเนินอยู่ และมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้ออยู่ทุกขณะ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา และเห็นว่าเพื่อที่จะ “ผ่อนหนักเป็นเบา” เห็นสมควรที่ไทยจะยินยอมให้

ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยไทยจะให้ความร่วมมือทางทหารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยญี่ปุ่นจะต้องเคารพในเอกราช อธิปไตยและเกียรติยศของประเทศไทย

ก่อนเที่ยงของวันที่ 8 ธันวาคม รัฐบาลจึงมีคำสั่งให้ฝ่ายไทยยุติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตีมลายูและพม่าได้ คณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งหยุดยิง ตั้งแต่เวลา 7.30 น. ของวันเดียวกัน แต่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าที่คำสั่งดังกล่าวจะไปถึงกองกำลังของไทยในจุดต่าง ๆ และในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กองบินน้อยที่ 5 ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คำสั่งหยุดยิงได้รับทราบในตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น

สำหรับการเดินทัพผ่านประเทศไทยนั้น ในทางปฏิบัติ กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ทั่วประเทศไทย แต่ทั้งนี้ญี่ปุ่นมิได้แตะต้องสถาบันทางการเมืองและกองทัพไทย เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเอกราช และอธิปไตยของประเทศ ไทยตามที่ได้ตกลงกัน

การตัดสินใจของรัฐบาลไทยดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ชอบด้วยเหตุผล เพื่อรักษาบ้านเมืองและชีวิตประชาชนมิให้ต้องสูญเสียโดยไม่จำเป็น อีกทั้งก็เป็นภาวะจำยอมเนื่องจากไทยไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต้านทานกองทัพญี่ปุ่นได้ 

สภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิเศษในตอนบ่ายของวันที่ 9 ธันวาคม 2484 ได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

 

ประชาชนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พากันออกมาแสดงความยินดีกับกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งได้แสดงความคับแค้นใจแก่คนไทยผู้รักชาติเป็นอย่างยิ่ง
ประชาชนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พากันออกมาแสดงความยินดีกับกองทัพญี่ปุ่น
ซึ่งได้แสดงความคับแค้นใจแก่คนไทยผู้รักชาติเป็นอย่างยิ่ง

 

ที่มา: ปรับแก้ลำดับการจัดวางและถ้อยคำจาก วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ขบวนการเสรีไทยกับวีรกรรมกู้ชาติ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555), น. 10-18.