มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ซึ่งนำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิบไตยเป็นผลสำเร็จ
หนึ่งปีกับหกเดือนหลังจากนั้น กล่าวถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชได้รวบรวมกำลังทหารจากโคราช เข้ามายึดและตั้งมั่นที่กรมอากาศยานดอนเมือง เพื่อยื่นคำขาดเตรียมใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลขณะที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ทหารฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏได้เผชิญหน้าและต่อสู้กันตามบริวณทุ่งบางเขน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเส้นทางรถไฟสายเหนือและสายอีสานทุ่งบางเขนในยุคนั้นเป็นที่ราบกว้างใหญ่ชาวนาใช้เป็นที่ปลูกข้าวมาช้านานแล้วตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในที่สุดรัฐบาลได้ชัยชนะ แต่ชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกันก็ได้สูญเสียไป อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงได้ถูกจัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ ณ บริเวณอันเป็นการสู้รบในครั้งนั้น
ในปี พ.ศ. 2483 คณะรัฐมนตรีได้มติให้สร้างวัดเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และให้ใช้ชื่อวัดที่สร้งขึ้นนี้ว่า “วัดประชาธิปไตย”
ความตั้งใจและวัตถุประสงค์ในการสร้างวัดนี้ ก็คือ การทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เป็นหลักยึดเหนี่ยวของประชาชนสอดคล้องกับการบริหารประเทศของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศ ประสงค์จะให้วัดนี้เป็นที่รวมคณะสงฆ์ “มหานิกาย” และ “ธรรมยุติกนิกาย” เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในกาลต่อมา ก็มิอาจให้เป็นไปตามที่มุ่งประสงค์ไว้ พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการ 2475 ได้รับเกียรติเป็นบุคคลแรกที่เข้าอุปสมบท ณ วัดแห่งนี้
อนึ่ง จากการสู้รบระหว่างรัฐบาลฝ่ายกบฏดังได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังถือได้ว่าขออโหสิกรรมด้วยการสร้างวัด สร้างบุญแผ่ส่วนกุศลแก่ลูกหลานไทยด้วยกันที่ต้องมาจบชีวิตจากการต่อสู้ในครั้งนั้น
ในจำนวนเนื้อที่สำหรับใช้ในการก่อสร้างวัดและสิ่งปลูกสร้างสำคัญและมีความจำเป็นปรากฏว่า คุณวิไล รัตตกุล มารดาของคุณพิชัย รัตตกุล และคุณย่าของ ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ที่มีศรัทธาอย่างสูงจึงได้บริจาคที่ดินของท่านที่อยู่บริเวณใช้สร้างวัดจำนวน 42 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 9910 นอกจากนี้ยังมีผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายคน ที่ได้ร่วมบริจาคที่ดินทรัพย์สิน เงินทอง สำหรับการสร้างวัด และทางคณะรัฐมนตรีก็ได้บริจาคเงินหนึ่งแสนบาทในชั้นต้นตามค่าของเงินในสมัยนั้น
ขณะที่การก่อสร้างกำลังดำเนินการอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมานั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทูตพิเศษ อันมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นหัวหน้า เดินทางไปอินเดีย ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อติดต่อรับมอบพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อม ทั้งได้ขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ 4 กิ่ง และดินจากสังเวชยนียสถานอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานเพื่อนำมาประดิษฐาน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ตั้งนามวัดนี้จาก “วัดประชาธิปไตย” มาเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ” และในเวลาต่อมาก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร อารามหลวงชั้นเอกแห่งธรรมยุติกนิกาย
รัฐบาลได้มอบหมายให้หลวงเสรีเริงฤทธิ์และหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง และได้พระพรหมวิจิตร สถาปนิกเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นผู้ออกแบบ สร้างโดยนายช่างจากกรมรถไฟ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ที่มีผลงานด้านการก่อสร้างโยธาที่มีชื่อเสียงและได้รับความเชื่อถือมาแล้วเป็นอย่างดี ส่วนช่างจากกรมศิลปากรที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดี ก็ได้บรรจงสร้างผลงานศิลปกรรมภายใต้การดูแลกำกับจากพระพรหมวิจิตรอีกทีหนึ่ง ดังนั้น รูปแบบการก่อสร้างและตัวภูมิสถาปัตย์จึงสะท้อนแนวความคิดแห่งอุดมการณ์ของคณะราษฎรในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการทำนุบำรุงพุทธศาสนา
ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของวัด คือ พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ มีความสูง 38 เมตร ภายในมีเจดีย์เล็ก อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่กับเจดีย์องค์เล็กมีทางเดินโดยรอบ มีความกว้างสองเมตรครึ่ง และมีประตูเข้าออก 4 ด้านสำหรับให้ประชาชนเข้าไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ผนังด้านในของเจดีย์ใหญ่ได้ทำเป็นช่องไว้ 112 ช่อง สำหรับบรรจุอัฐิของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2484
อัฐิของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ส่วนใหญ่ก็ได้มีการบรรจุไว้ในช่องด้านในของเจดีย์ใหญ่ตามที่ได้กำหนดเตรียมไว้ และในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี บรรดาทายาท ญาติมิตรของผู้ก่อการฯ ได้มาร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีความพยายามจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม ที่ทำให้วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ลบเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นใครหรือผู้ใดบ้าง ก็ย่อมเป็นที่รู้อยู่แก่ใจ
พระอุโบสถได้ก่อสร้างเป็นแบบพระที่นั่งจตุรมุข มีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ด้านหน้าตรงกับพระเจดีย์ศรีมหาธาตุ บริเวณรายล้อมพระมหาเจดีย์ไปทางด้านถนนพหลโยธิน ได้มีการขุดสระน้ำขนาดย่อมและได้นำดินจากสังเวยชนียสถานและกิ่งต้นศรีมหาโพธิ์ 4 กิ่ง ปลูกไว้ใกล้บริเวณริมน้ำซึ่งในปัจจุบันจากกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ก็ได้เติบโตเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ อันทำให้ภูมิทัศน์สวยสดงดงามเป็นอย่างยิ่ง
ฌาปนกิจสถานวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมสวัสดิการกองทัพอากาศ ถือเป็นสถานที่อันเป็นสาธารณกุศล ให้บริการในค้นฌาปนกิจให้แก่บุคคลทั่วไปโดยมิได้มีการแบ่งชั้นวรรณะ ประกอบด้วยเมรุเผาศพ 2 เมรุ และศาลาสวดศพจำนวนมากที่สามารถรับการตั้งสวดศพอย่างพอเพียงสร้างความสะดวกให้แก่ญาติมิตรผู้วายชนม์เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องยอมรับนับถือจากบุคคลทั้งหลายโดยทั่วไป ทั้งนี้เท่ากับเป็นการเสริมสร้างความสำคัญให้แก่วัดพระศรีมหาธาตุอีกด้านหนึ่ง
วัดประชาธิปไตยในชื่อเดิม และวัดพระศรีมหาธาตุ อันเป็นวัดที่เป็นอนุสรณ์ของการเริ่มแรกระบอบประชาธิปไตย จะคงอยู่คู่ประเทศตลอดไป
ที่มา: จากบทความ “จากวัดประชาธิปไตย สู่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร” ที่เขียนเมื่อตุลาคม 2551 คัดมาจากที่ตีพิมพ์ในหนังสือ หวนอาลัย (บรรณาการแด่ท่านผู้มาร่วมงานฌาปนกิจศพ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, 2551), น. 589-592.