ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การเมืองแบบไหนที่ ‘กบฏบวรเดช’ ปรารถนา

11
กรกฎาคม
2565

เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในนามของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2476 กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีความพยายามรื้อฟื้นชื่อของผู้ก่อการในวันนั้น 

อาทิ การเปิดห้องประชุม “บวรเดช”- “ศรีสิทธิสงคราม” ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบก โดยผู้บัญชาการกองทัพบก เมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีการย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏอันเป็นสัญญะของการปกป้องรัฐธรรมนูญของระบอบใหม่ เพียง 1 ปี  

 

ภาพจาก Thai PBS
ภาพจาก Thai PBS

 

รวมไปถึงเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อมีบุคคลปริศนาเข้าเปลี่ยนป้าย “สะพานพิบูลสงคราม” บริเวณใกล้ๆ แยกเกียกกาย เป็นชื่อสะพาน “ดิ่น ท่าราบ” อันเป็นชื่อสามัญของ พระยาศรีสิทธิสงคราม แกนนำคนสำคัญของกบฏบวรเดช ก่อนจะถูกปรับคงชื่อไว้ดังเดิมในวันถัดมาโดยสำนักงานเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  

 

ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ ‘กบฏบวรเดช’

“คณะกู้บ้านกู้เมือง” ดูจะมีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่เงียบเชียบเรื่อยมา นับตั้งแต่พวกเขาถูกรัฐบาลคณะราษฎรปราบปรามลงในเดือนตุลาคม ปี 2476 ก่อนจะได้รับการกล่าวถึงในปลายทศวรรษ 2550 

 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

 

ในช่วงเวลาที่พวกเขาก่อการ คณะกู้บ้านกู้เมืองประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนาง ภายใต้ระบอบเดิม นำโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลคณะราษฎรให้ใช้การปกครองในรูปแบบของระบอบราชาธิปไตย โดยใช้กำลังทหารจากหัวเมืองเป็นกำลังหลัก จนกระทั่งเกิดการปะทะกันในเดือนตุลาคม 2476

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)
พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

 

ก่อนที่เหตุการณ์ครั้งนั้นจะจบลงด้วยชัยชนะของคณะราษฎร พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิต พระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา เดินทางหนีไปยังเขตแดนของอินโดจีน ส่วนหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถูกจับกุม มีผู้เกี่ยวข้องถูกจับกุม 600 คน ถูกส่งฟ้องศาลพิเศษ 346 คน ถูกตัดสินลงโทษ 250 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน

การปราบปรามที่จบลงด้วยชัยชนะครั้งนั้นของคณะราษฎร ทำให้อย่างน้อยที่สุดในเชิงรูปแบบแล้ว ประเทศไทยไม่เคยย้อนกลับไปยังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จวบจนถึงปัจจุบัน และเหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่าเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”

ในทางประวัติศาสตร์การเมือง “เหตุการณ์กบฏบวรเดช” ได้รับการพิจารณาว่าเป็นขบวนการโต้กลับการปฏิวัติ (Counter Revolution) ทั้งในนิยามแบบเคร่งครัดและจากหลักฐานของคณะผู้ก่อการเอง ซึ่งหมายถึงปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่อระบอบใหม่

เมื่อพิจารณาฐานะทางประวัติศาสตร์ระยะยาวในทัศนะของณัฐพล ใจจริง เสนอว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

ประการแรก กระทบต่อการพัฒนาทางการเมืองของสยาม กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง (Political Institution) ของสยามในช่วงแรกของระบอบใหม่ ในลักษณะที่มีผลต่อความสัมพันธ์เชิงประนีประนอมระหว่างสถาบันรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลานั้นให้ลดลงเป็นอย่างมาก

ประการที่สอง คือ ผลกระทบในวิธีการเล่าเรื่อง (Narration) ในการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์การเมืองไทย (Historiography) กล่าวคือ ความหมายของเหตุการณ์กบฏบวรเดชถูกตีความชุบชีวิตให้มีความหมายทางการเมืองอย่างต่อเนื่องตามบริบททางการเมืองของไทย จนอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์กบฏบวรเดช/ คณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นเหตุการณ์กบฏเพียงครั้งเดียว ที่มีความหมายโลดแล่นอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน[1]

คำถามต่อมา คือ การเมืองที่กลุ่มกบฏบวรเดชปรารถนาที่จะไปถึงคืออะไร แรงบันดาลใจอะไรให้พวกเขาลุกขึ้นก่อการ จากการค้นคว้าพบว่า สิ่งที่พวกเขาปรารถนามิใช่ทั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แบบที่คณะราษฎรได้สถาปนาขึ้น หรือ ต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 จนถึง สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

 

ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ

เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น สิ่งที่ควรพิจารณาเริ่มแรกคือข้อเรียกร้องของพวกเขาเอง อันสัมพันธ์กับพระราชอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปของสถาบันกษัตริย์ 

จากการวิเคราะห์ของ ณัฐพล ใจจริง พบการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ต่อระบอบใหม่ ระหว่างปี 2475 - 2476 ซึ่งสิ้นสุดลงหลังการปราบกบฏบวรเดชโดยรัฐบาลคณะราษฎร แต่พระปกเกล้าฯ ในฐานะองค์พระประมุขของชาติตามระบอบใหม่ได้ทรงพระราชทานอภัยโทษให้

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์และความมุ่งมั่นของกลุ่มผู้นำใหม่ที่ต้องการพัฒนาประเทศสยามให้มีความก้าวหน้าตามหลัก 6 ประการที่ได้ประกาศไว้ ในช่วงเวลาที่แต่ละสถาบันทางการเมืองพยายามปรับเข้าหากัน ที่สุดก็นำมาสู่การกระทบกระทั่งบานปลายไปสู่การใช้กำลังทางการทหารเอาชนะกันจนนำไปสู่การก่อกบฏบวรเดชขึ้นในปี พ.ศ. 2476

ในห้วงเวลานั้น แม้แต่ละสถาบันการเมืองจะมีเหตุผลในการดำเนินการต่อกัน จนก่อให้เกิดชัยชนะและความพ่ายแพ้ ณัฐพลเห็นว่า สุดท้ายแล้ว สถาบันทางการเมืองทั้ง รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนมีความสามารถใคร่ครวญไตร่ตรองทางเลือกที่เหลืออยู่อย่างสมเหตุสมผล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแกตนเองและประเทศชาติได้ต่อไป

ดังที่พระปกเกล้าฯ ในฐานะตัวแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เลือกความรุนแรงกระทำต่อรัฐบาลตามที่มีผู้กราบบังคมทูลอยู่หลายครั้ง และการที่พระองค์ทรงเลือกที่จะวางพระองค์ออกจากการเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่างสถาบันการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น

จนสุดท้ายพระองค์เลือกการสละราชเมื่อ 2 มีนาคม 2477 เพื่อให้ประชาชนสยามได้พิจารณาหนทางที่เหมาะสมใหม่

ท่าทีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเช่นกัน กล่าวคือ รัฐบาลได้ห้ามการกล่าวเสียดสีพระราชวงศ์เพื่อมิให้เกิดความบาดหมางที่เพิ่มขึ้น และแม้ว่ารัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้น แต่แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล คือ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้มีคำกล่าวเปิดที่ต้องการให้คนไทยได้เกิดความปรองดองเพื่อประเทศชาติ ดุจเดียวกับพระราชประสงค์ของประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ทรงได้กล่าวไปในทิศทางเดียวกัน

นี่คือฉากแรกของความพยายามในการปรับตัวของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ภายใต้ระบอบใหม่ ฉะนั้น หากเราพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มกบฏบวรเดชแล้วจะเห็นได้ว่า การปรับตัวกบฏบวรเดชที่มิได้มีลักษณะประนีประนอม จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากภายใต้ระบอบใหม่

ดังที่เราจะเห็นได้ในหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ ของฝ่ายกบฏ คือ

  1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
  2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
  4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
  6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายประเด็น จะพบว่าข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองมิได้ต้องการย้อนกลับไปยังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังข้อเรียกร้องที่ 1 คือ ให้สถาบันกษตัริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีคำขยายว่าชั่วกัลปาวสาน

อย่างไรก็ตาม พวกเขามิได้ปฏิเสธกติกาของระบอบใหม่ที่ยึดหลักการตัดสินจากเสียงข้างมากของผู้คน ในข้อ 2 ทั้งยังขอให้แยกข้าราชการออกจากการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะราษฎรสามารถบรรลุเป้าหมายก็เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างจากทั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นจุดชี้ขาด คือ ในข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมือง ข้อที่ 5 ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจแต่งตั้ง ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ถึงตรงนี้จึงนับเป็นจุดแตกหักกับระบอบใหม่ ที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

และที่สุดแล้ว ใจความหลักอันเป็นจุดต่างอย่างสำคัญของหลักการในระบอบใหม่ของคณะราษฎรและความปรารถนาของคณะกู้บ้านกู้เมือง คือ หลักการของอำนาจอธิปไตย

เช่นนี้แล้ว งานวิชาการในภายหลังจึงยอมรับกันว่า ความปรารถนาของคณะกู้บ้านกู้เมือง จึงมิใช่ระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ รูปธรรมของระบอบดังกล่าวคือ โครงสร้างสถาบันทางการเมืองเชื่อมโยงกับใครเป็นสำคัญ

เนื่องจากความฝันที่คณะกู้บ้านกู้เมืองปรารถนาใกล้ที่สุด เราอาจจะเห็นได้ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริให้ร่างขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือ ‘Outline of Preliminary Draft’ 12 มาตรา ซึ่งกำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

ในขณะที่คณะราษฎรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก มาตราที่ 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพระยากัลยาณไมตรี หรือ ‘Outline of Preliminary Draft’ 12 มาตรา

มาตรา 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 2 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนายหนึ่ง ซึ่งรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 3 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งตั้ง และถอดถอนรัฐมนตรีทั้งหลาย ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ในกิจการทั้งปวงของแต่ละกระทรวง และจะต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาล ดังที่มีพระบรมราชโองการ และรับผิดชอบในการประสานงานระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อให้บรรลุนโยบายดังกล่าว

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีแต่ละนายรับผิดชอบโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับงานในกระทรวงของตน และให้ร่วมปฏิบัติภาคกิจตามนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี

มาตรา 5 ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีทุกนาย คณะรัฐมนตรีอาจอภิปรายปัญหาสำคัญอันเป็นประโยชน์ได้เสียร่วมกันได้ แต่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการลงมติทั้งปวง

มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อขอรับพระบรมราชวินิจฉัย ในปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมนตรี 5 นาย ประกอบกันเป็น อภิรัฐมนตรีสภา ให้นายกรัฐมนตรีเป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาโดยตำแหน่ง แต่ห้ามรัฐมนตรีนายอื่นดำรงตำแหน่งสมาชิกด้วย อภิรัฐมนตรีไม่มีอำนาจทางบริหาร ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม อำนาจหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภามีเพียงถวายความคิดเห็นแด่พระมหากษัตริย์ ในปัญหาเกี่ยวด้วยนโยบายทั่วไป หรือปัญหาอื่นใดอันมิใช่รายละเอียดเกี่ยวกับงานบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเท่านั้น อภิรัฐมนตรีสภาไม่มีอำนาจเสนอแนะให้แต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งใดตลอดจนเสนอแนะรายละเอียดเกี่ยวกับการปกครอง อย่างไรก็ตาม อภิรัฐมนตรีสภามีอำนาจเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกองคมนตรีสภาตามพระราชอัธยาศัย

มาตรา 9 ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่วันเสวยราชสมบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกบุคคลหนึ่ง เป็นทายาทด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา บุคคลผู้จะเป็นรัชทายาทได้นั้น จะต้องเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี หรือเป็นบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในราชตระกูล แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในลำดับฐานะมีพระอิสริยยศสูง หรือมีอาวุโสสูง การกำหนดบุคคลใดให้เป็นรัชทายาทย่อมไม่อาจเพิกถอนได้ แต่อาจถูกทบทวนใหม่ได้ในเวลาสิ้นสุดของทุกกำหนด 5 ปี โดยพระมหากษัตริย์ด้วยคำแนะนำและยินยอมขององคมนตรีสภา หากพระมหากษัตริย์สวรรคตก่อนมีการเลือกรัชทายาท ให้องคมนตรีสภาเลือกบุคคลหนึ่งขึ้นเป็นรัชทายาททันทีหลังจากที่พระมหากษัตริย์สวรรคต ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ย่อมประกอบกันเป็นองค์ประชุมกำหนดตัวรัชทายาท

มาตรา 10 ภายใต้บังคับแห่งพระราชอำนาจสูงสุด ศาลฎีกาและศาลอื่นใดทั้งหลายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นเป็นคราวๆ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

มาตรา 11 อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์

มาตรา 12 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญนี้กระทำได้โดย พระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยคำแนะนำและยินยอมจากสามในสี่ของสมาชิกองคมนตรีสภา[2]

 


[1] ณัฐพล ใจจริง, สถาบันพระมหากษัตริย์ ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมือง ช่วงต้นระบอบใหม่ของสยาม พ.ศ. 2475-2476. วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 14, ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม 2559) หน้า 5-46

[2] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์แสวงสุทธิการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2523, หน้า 132-134