ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โบราณสถานที่สูญหาย

15
ตุลาคม
2564

อนุสาวรีย์คอนกรีตสูงประมาณ 4 เมตร ที่ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ หายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 แม้จะตั้งอยู่หน้า สน. บางเขน แต่กลับไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่า อนุสาวรีย์หายไปได้อย่างไร ทั้งที่เพิ่งประกาศเป็นโบราณสถานลงราชกิจจานุเบกษาได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น

อนุสาวรีย์ดังกล่าว คือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” และมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์หลักสี่ หรือ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ เป็นต้น สร้างขึ้นโดยบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ 17 นาย ที่เสียชีวิตจากการปราบปรามกลุ่มคณะกู้บ้านเมืองที่นำโดย ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ ผู้ก่อกบฏขึ้นในช่วงกลางเดือน ต.ค. 2476

จากการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 สน.บางเขน ให้ข้อมูลว่า อธิบดีกรมศิลปากรมอบอำนาจให้ ‘สถาพร เที่ยงธรรม’ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือทำลายอนุสาวรีย์ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 หลังอนุสาวรีย์หายไปเกือบ 2 ปี แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบผู้ถูกแจ้งข้อหาในคดีนี้ ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับเคลื่อนย้ายก็ทยอยล่องหนไปพร้อมตัวอนุสาวรีย์

 

“กบฏบวรเดช” เหตุการสร้างอนุสาวรีย์

‘ศรัญญู เทพสงเคราะห์’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สนใจประวัติศาสตร์คณะราษฎร เล่าถึงความเป็นมาของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกการปราบกบฏบวรเดช ช่วงเดือน ต.ค. 2476 โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเก่า ที่พยายามเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐบาลในระบอบใหม่

ความขัดแย้งดังกล่าวต่อเนื่องมาจากวันที่ 1 เม.ย. 2476 ที่ ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ นายกรัฐมนตรี ออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อตอบโต้ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ที่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ หรือสมุดปกเหลือง

หลังจากนั้น  ฝ่ายคณะราษฎรนำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และ หลวงศุภชลาศัย ตอบโต้การทำรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ด้วยการทำรัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476 เพื่อล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 กลับมาใช้ใหม่ เปิดสภาผู้แทนราษฎร และสภาก็เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้กลไกรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยขับเคลื่อนไปได้

ผ่านไปไม่กี่เดือน นายทหารหัวเมือง นำโดย ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ ข้าราชการทหาร และขุนนางระบอบเก่า ร่วมมือกันเป็นกองกำลังที่ชื่อว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก มิเช่นนั้นจะใช้กำลังเข้ายึดการปกครอง แต่รัฐบาลไม่ยอมและลงความเห็นว่าต้องปราบปรามกลุ่มกบฏ

“คณะกู้บ้านเมือง” ยกกองกำลังจากหัวเมือง เช่น นครราชสีมา สระบุรี พระนครศรีอยุธยา มาล้อมกรุงเทพมหานคร มีฐานที่มั่นที่ดอนเมืองเพื่อพยายามรัฐประหาร นำไปสู่การสู้รบตั้งแต่บริเวณบางซื่อ บางเขน ดอนเมือง หลักสี่ สมรภูมิที่สำคัญคือบริเวณหลักสี่ การต่อสู้ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค. 2476 ที่กรุงเทพมหานคร ยาวไปตลอดแนวทางรถไฟ

หลังเหตุการณ์สงบ ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียทหารและตำรวจทั้งสิ้น 17 นาย หนึ่งในนั้นคือ ‘หลวงอำนวยสงคราม’ นายทหารคณะราษฎรที่สนิทสนมกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช
ภาพความเสียหายจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช

 

รัฐบาลเชิดชูทหารและตำรวจทั้ง 17 นาย ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏให้เป็นวีรชนของชาติ และยกย่องอย่างสูงโดยนำศพ 17 วีรชนไปบำเพ็ญกุศลที่วัดราชาธิวาส และเผาศพที่สนามหลวง โดยตั้งเมรุสามัญชน เป็นงานศพของสามัญชนครั้งแรกที่จัดขึ้นที่สนามหลวง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมา รัฐบาลพยายามตัดถนนสายยุทธศาสตร์ เพื่อเชื่อมสนามเป้าซึ่งเป็นเขตเมืองกับสนามบินดอนเมือง เพราะเห็นปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุงระหว่างสู้รบจากดอนเมืองไปสนามเป้าที่เคลื่อนย้ายด้วยรถไฟเพียงอย่างเดียว ระหว่างทางผ่านพื้นที่หลักสี่ จึงสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ และตั้งชื่อถนนเส้นนั้นว่า “ถนนประชาธิปัตย์” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนพหลโยธิน” ส่วนตัวอนุสาวรีย์หลังจากสร้างเสร็จแล้วทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ต.ค. 2479

 

จุดเริ่มต้นคำขวัญ “สละชีพเพื่อชาติ”

ศรัญญูชี้ว่า ความน่าสนใจของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ คือ การใช้สัญลักษณ์เป็นพานรัฐธรรมนูญปรากฏสูงเด่น ซึ่งไม่ใช่แค่เทิดทูนรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ภายในยังบรรจุอัฐิของ 17 ทหารตำรวจที่เสียชีวิต มีป้ายจารึก แต่ละด้านมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนการให้ความสำคัญของอนุสาวรีย์แห่งนี้

 

ประวัติหลวงอำนวยสงคราม หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช
ประวัติหลวงอำนวยสงคราม หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช

 

ตัวอนุสาวรีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทางฝั่งทิศเหนือมีรูปธรรมจักร ด้านทิศใต้เป็นรูปครอบครัวชาวนา เป็นประติมากรรมสมัยใหม่ที่เป็นตัวแทนสามัญชน ซึ่งเป็นจุดเด่นของอนุสาวรีย์แห่งนี้ ด้านหลังทางทิศตะวันออกเป็นโครงสยามมานุสติ ที่ประพันธ์โดยรัชกาลที่ 6 เนื้อหาเน้นเรื่องความสามัคคี

ทั้งหมดนี้ คือ การสะท้อนถึงวีรกรรมของ 17 ทหารตำรวจ ที่สละชีพเพื่อชาติ และเพื่อรักษารัฐธรรมนูญ เกิดเป็นคำถามสำคัญของกองทัพบก “สละชีพเพื่อชาติ” ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ หมายถึง การสละชีพเพื่อรักษาชาติ ซึ่งก็คือประชาชนและรัฐธรรมนูญ 

 

ต้นแบบอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญ

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ใช่แห่งแรกในประเทศไทย โดยอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกของประเทศไทยอยู่ที่ จ.มหาสารคาม สร้างเมื่อปี 2477 เพื่อรำลึกเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเช่นเดียวกัน

ทุกปีจะมีการจัดงานวางพวงมาลารำลึกในวันที่ 14 ต.ค. ยุคจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์นี้เป็นอย่างมาก โดยพยายามสร้างเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญด้วยการย้ายอำเภอบางเขน จากเดิมที่อยู่ใกล้คลองบางเขน ไปอยู่ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ พร้อมสร้างศูนย์ราชการฯ สถานีตำรวจ สุขศาลา ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน และวัดประชาธิปไตย เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า นี่คือพื้นที่สำคัญในยุคคณะราษฎร

 

แบบจำลองอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
แบบจำลองอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

 

ภายหลังคณะราษฎรหมดอำนาจลง และฝั่งกษัตริย์นิยมขึ้นมามีอำนาจแทน พื้นที่นี้จึงถูกลดความสำคัญลง พิธีกรรมที่เคยจัดทุกปีก็หายไป แม้ว่าความสำคัญในระดับชาติของอนุสาวรีย์นี้จะค่อยๆ หายไป แต่ความเชื่อมโยงกับผู้คนในระดับท้องถิ่นยังคงอยู่ เช่น ตราสัญลักษณ์ประจำสุขาภิบาลบางเขนก็ยังเป็นตราสัญลักษณ์อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์กลายเป็นสวนสาธารณะให้คนในพื้นที่ได้มาพักผ่อน

เดิมพื้นที่รอบอนุสาวรีย์เคยเป็นลานกว้างขวาง มีหอนาฬิกาใหญ่โต แต่ปัจจุบันด้วยความจำเป็นด้านการจราจรในกรุงเทพมหานครที่หนาแน่นมากขึ้น มีการขยายถนน และเปลี่ยนพื้นที่อนุสาวรีย์เป็นวงเวียนสำหรับจราจร ขุดอุโมงค์ และสร้างทางยกระดับข้ามแยก ทำให้ต้องย้ายอนุสาวรีย์ออกจากพื้นที่

 

ถูกให้ความสำคัญตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ศรัญญูกล่าวว่า ปี 2549 เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งคนเสื้อแดงพยายามจะยึดโยงและให้ความหมายใหม่กับคณะราษฎร จึงใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง นับเป็นการปลุกความหมายของอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นมาใหม่

 

กลุ่มคนเสื้อแดงจัดงานรำลึก 78 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏ
กลุ่มคนเสื้อแดงจัดงานรำลึก 78 ปี อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

 

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คือหลังรัฐประหารปี 2557 พื้นที่อนุสาวรีย์กลายเป็นพื้นที่อ่อนไหว มีการนำต้นไม้มาตั้ง ล้อมแบริเออร์ และจับกุมนักศึกษาที่มาทำความสะอาดอนุสาวรีย์

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์มองว่า ภาพทหารที่มาอยู่ใกล้อนุสาวรีย์เป็นอะไรที่ประหลาดมาก เพราะก่อนหน้านี้ พื้นที่นี้แทบไม่มีความหมายอะไรเลย ต่อมา มีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งคาบเกี่ยวกับพื้นที่อนุสาวรีย์ และด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้ต้องย้ายอนุสาวรีย์อีกครั้ง โดยผ่านความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ในเดือน พ.ย. 2559 และกลายเป็นที่ตั้งถาวร แต่ไม่นานก็เกิดการเคลื่อนย้ายหายไป

 

เคลื่อนย้ายโดยไม่ขออนุญาต

ขณะที่กรมศิลปากรให้ข้อมูล หลัง ประชาไท ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ สอบถามเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พบว่า ในรอบ 10 ปีให้หลัง มีการขออนุญาตเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ 2 ครั้ง ได้แก่ ปี 2555 โดยกรมทางหลวง และปี 2558 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการเคลื่อนย้ายเมื่อ 28 ธ.ค. 2561 ไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดขออนุญาตจากกรมศิลปากรตามกฎหมาย

 

ภาพจำลองที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในรายงานของ รฟม. เมื่อ ส.ค. 2556
ภาพจำลองที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในรายงานของ รฟม. เมื่อ ส.ค. 2556

 

‘สถาพร เที่ยงธรรม’ ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ให้สัมภาษณ์เมื่อ 21 ต.ค. 2563 ว่า ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่เกี่ยวกับการย้ายอนุสาวรีย์เมื่อปี 2559 เป็นการเคลื่อนย้ายภายใต้การขออนุญาตโดย รฟม. ต่อเนื่องมาจากปี 2558 ส่วนการเคลื่อนย้ายครั้งล่าสุดไม่มีการขออนุญาต และไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ถูกย้ายไปที่ไหน

ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เคยลงพื้นที่ตรวจสอบช่วงปลายเดือน ก.ย. 2563 และสอบถามทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณดังกล่าว ทุกคนให้ข้อมูลว่าเคยเห็นอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ แต่ไม่ทราบว่าหายไปเมื่อใด

 

กระทบการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

อย่างไรก็ตาม สถาพรชี้แจงว่า กรมศิลปากรไม่ใช่เจ้าของโบราณสถาน เนื่องจากโบราณสถานแบ่งประเภทเป็นโบราณสถานที่มีเจ้าของ กับโบราณสถานที่เป็นสาธารณสมบัติ มีหน่วยงานราชการเป็นผู้ดูแล ส่วนกรมศิลปากรเป็นเพียงผู้กำกับดูแลไม่ให้โบราณสถานถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า หากโบราณสถานถูกทำลาย กรมศิลปากรจึงจะมีอำนาจดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และตำรวจมีหน้าที่ที่จะต้องสืบหาว่าใครเป็นผู้ทำลายหรือเคลื่อนย้ายโบราณสถาน

กรณีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กรมศิลปากรแจ้งความว่ามีการเคลื่อนย้ายหรือทำลายโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ สน.บางเขน เมื่อ 2 ธ.ค. 2563

ผู้อำนวยการกองโบราณคดี ให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นโบราณสถาน ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ แต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ซึ่งหากอนุสาวรีย์ยังคงสูญหายจะกระทบต่อการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร

 

สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร
สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร

 

สถาพรย้ำว่า ไม่ว่าโบราณสถานจะขึ้นทะเบียนหรือไม่ ก็ถือว่าได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่หากขึ้นทะเบียนโบราณสถาน กฎหมายจะเปิดโอกาสให้กรมศิลปากรประกาศขอบเขตของโบราณสถาน มีแนวกันเขตเพื่อปกป้องรักษาโบราณสถาน หากไม่ได้ขึ้นทะเบียน กรมศิลปากรจะไม่มีอำนาจอนุญาตหรือสั่งห้าม กรณีที่มีการก่อสร้างต่อเติมหรือผูกโยงบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจกระทบต่อตัวโบราณสถาน และโทษสำหรับการเคลื่อนย้ายหรือทำลายโบราณที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะหนักกว่าโบราณสถานที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน

 

กทม. ไม่มีข้อมูลการเคลื่อนย้าย

ประชาไท ยังใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ สอบถามเรื่องการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่าเป็นผู้ดูแลอนุสาวรีย์ ตามมติคณะรัฐตรี เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2488 ที่ระบุว่า “การดูแลรักษาความปลอดภัย (ของอนุสาวรีย์) ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและตำรวจ ในส่วนความสะอาดและความสวยงาม ถ้าอยู่ในเขตเทศบาล ให้มอบให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาล มอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรมการจังหวัด สำหรับพิธีถ้าเป็นงานของหน่วยราชการใด ให้หน่วยราชการนั้นเป็นผู้จัดงานเอง”

ใช้เวลา 4 เดือนกว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมายให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองรวบรวมข้อมูล ตอบกลับมาเมื่อ 22 ม.ค. 2564 สรุปได้ว่า ที่ตั้งของอนุสาวรีย์อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ยังไม่ได้มอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครดูแล กรุงเทพมหานครเพียงดูแลความสะอาดตามมติ ครม. ปี 2488 เท่านั้น การเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์เมื่อปี 2561 อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ของ รฟม. กรุงเทพมหานครไม่ได้รับแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

 

แบบจำลองรูปแบบสถานีรถไฟฟ้า สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากรายงานเมื่อเดือน ส.ค. 2556 โดย รฟม.
แบบจำลองรูปแบบสถานีรถไฟฟ้า สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จากรายงานเมื่อเดือน ส.ค. 2556 โดย รฟม.

 

จับคนไปดูเคลื่อนย้าย ยึดโทรศัพท์ สั่งลบไลฟ์

แม้หน่วยงานราชการต่างไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปไหน และหายไปได้อย่างไร แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทราบข่าวว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงติดตามไปดูเหตุการณ์ในคืนวันที่ 27 ต่อเนื่องจนเข้าสู่วันที่ 28 ธ.ค. 2561

ศรัญญู เป็นคนหนึ่งที่ติดตามการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเดือน พ.ย. 2559 ที่ รฟม. ขออนุญาตย้าย โดยอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ทราบข่าวบวงสรวงและประกาศปิดถนน เลยคาดเดาว่าต้องมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ เพราะพื้นที่โดยรอบตัวอนุสาวรีย์ถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว จึงนัดแนะกับเพื่อนไปสังเกตการณ์

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เล่าว่า ตั้งแต่ 22.00-02.00 น. มีการใช้เครนยกตัวอนุสาวรีย์ ที่ตัวฐานถูกทุบทิ้งไปแล้วขึ้นรถ เพื่อย้ายไปอีกฝั่งของวงเวียนหลักสี่ หลังจากนั้นก็ปรับปรุงอนุสาวรีย์ใหม่เป็นสีทอง จากเดิมที่เป็นสีสำริดเกือบดำ

“ผมได้แวะเวียนไปเยี่ยมชม ไปถ่ายรูปอยู่บ้าง เพราะใกล้ที่ทำงาน มีช่วงหนึ่ง 24 มิ.ย. ไม่แน่ใจว่าปี 2558 หรือ 2559  ผมและเพื่อนแวะไปถ่ายรูปที่อนุสาวรีย์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาล้อมรถ ขอถ่ายบัตรประชาชน พร้อมทั้งข่มขู่ว่าห้ามโพสต์รูปในวันนี้ จากเหตุการณ์วันนั้นก็เริ่มรู้สึกถึงความอ่อนไหวของอนุสาวรีย์ จากเดิมที่ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรเลย กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ จนครั้งล่าสุดที่ไปคือ 28 ธ.ค. 2561” ศรัญญูกล่าว

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ย้ายวัตถุที่เป็นมรดกคณะราษฎรมักจะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาว ทั้งหมุดคณะราษฎรและอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ 

 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์
ศรัญญู เทพสงเคราะห์

 

ศรัญญูเล่าว่า เขาทราบข่าวในช่วงบ่ายวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ว่าจะมีการย้ายอนุสาวรีย์แห่งนี้อีกครั้ง จากเพจเฟซบุ๊กของ ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผ่นลักษณะคล้ายเมทัลชีทแผ่นใหญ่ มาล้อมบังอนุสาวรีย์ไว้ จึงเตรียมตัวไปสังเกตการณ์

เมื่อไปถึงสถานที่เวลาประมาณ 22.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมาสั่งห้ามบันทึกภาพ ศรัญญูได้พูดคุยกับทหารนอกเครื่องแบบซึ่งอ้างว่ามาจาก กอ.รมน. ต่อมาเริ่มมีนักข่าวและประชาชนเข้ามาในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พยายามห้ามถ่ายรูป บันทึกภาพทุกรูปแบบ และเชิญศรัญญูไปที่ป้อมตำรวจ ขอให้เปิดมือถือดูเพื่อจะลบรูป แต่เขาไปถึงพื้นที่ก่อนเวลาเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ จึงไม่ได้บันทึกภาพอะไรเป็นพิเศษ

“เจ้าหน้าที่ตำรวจขอถ่ายรูปบัตรประชาชนและสอบถามประวัติว่าเป็นใคร พร้อมทั้งขอเปิดดูมือถือ ในแอปพลิชั่นต่างๆ อย่างไลน์ เฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าถ้าไม่ให้ดูจะไม่ปล่อยตัว” ศรัญญูกล่าว

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์เล่าอีกว่า หลังถูกตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ เขาและกลุ่มคนประมาณ 8 คน ถูกคุมตัวไปที่ป้อมตำรวจ บริเวณวงเวียนหลักสี่ จึงไม่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายทั้งหมด แต่เห็นช่วงท้ายๆ ผ่านกล้องวงจรปิดของป้อมตำรวจ มีการแยกส่วนพานรัฐธรรมนูญด้านบนใส่รถกระบะ ส่วนตัวอนุสาวรีย์วางนอนใส่รถเครนไป คาดว่าการเคลื่อนย้ายน่าจะมีขั้นตอนคล้ายกับ รฟม. คือ สร้างแผงรอบอนุสาวรีย์แล้วใช้เครนยก แต่ครั้งนี้มีตำรวจและทหารตามไปกับรถด้วย

ศรัญญูกล่าวว่า เขาถูกควบคุมตัวไว้ถึงประมาณ 03.40 น. ของวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ในกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันมีนักศึกษาและสื่อมวลชน ส่วนนักกิจกรรมที่มาถ่ายทอดสดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ภายหลัง ถูกควบคุมตัวแยกไปโดยไม่ได้พบกัน

‘กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์’ นักกิจกรรมประชาธิปไตย เป็นอีกคนที่ทราบข่าวและไปติดตามการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ เขาเล่าว่า นั่งแท็กซี่ไปที่บางเขนพร้อมกับเพื่อนอีกคน พอไปถึงเห็นว่าไซต์ก่อสร้างกำลังดำเนินงาน มีตาข่ายสีเขียวและแผ่นคล้ายสังกะสีล้อมรอบ จึงเริ่มถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่ตรงนั้น พร้อมบรรยายเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ

 

กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์
กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์

 

กาณฑ์และเพื่อนไลฟ์ไปได้ไม่ถึง 5 นาที มีกลุ่มคนราว 10 คน เข้ามารุม ถามว่าไลฟ์อะไร เมื่อตอบว่าไลฟ์อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็มีคนคว้ามือถือของกาณฑ์ไปทันที พร้อมเรียกตำรวจอีกกลุ่มหนึ่งมาจับกุม และขอให้พวกเขาหยุดติดตามเรื่องนี้

กาณฑ์กล่าวว่า พวกเขาถูกพาขึ้นรถไปที่ สน.บางเขน และให้นั่งรอที่ สน. หลายชั่วโมง ส่วนโทรศัพท์มือถือถูกยึดไป มีคนอ้างว่าเป็นทหารสั่งให้เขาลบไลฟ์ ขณะอยู่ที่ สน.บางเขน โดยกาณฑ์ไม่ทราบว่ามีกลุ่มของศรัญญูถูกควบคุมตัวอยู่ที่ป้อมตำรวจด้วย

กาณฑ์ถูกควบคุมตัวตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ก่อนถูกปล่อยตัวราว 03.00 น. ตำรวจลงบันทึกประจำวันว่าเขามาถ่ายทอดสดที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และถูกเจ้าหน้าที่จับกุม กาณฑ์ยืนยันว่า ตำรวจนำเอกสารดังกล่าวมาให้เซ็น เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ ก่อนจะปล่อยตัวไปโดยไม่คืนโทรศัพท์ อ้างว่าจะนำไปตรวจสอบ และนัดหมายให้กาณฑ์มารับคืนในช่วงเย็น โดยห้ามทนายความเข้าร่วมกระบวนการ

กาณฑ์แสดงความเห็นว่า บางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเคลื่อนย้าย แต่เขาคิดว่าอนุสาวรีย์อาจถูกทุบทำลายไปแล้ว

 

กาณฑ์หลังได้โทรศัพท์ที่ถูกยึดคืนจาก สน.บางเขน ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กาณฑ์หลังได้โทรศัพท์ที่ถูกยึดคืนจาก สน.บางเขน ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

หายทั้งสถานที่ ไม่มีทั้งข้อมูล

นอกจากไลฟ์ที่ถูกสั่งลบของกาณฑ์แล้ว น่าสนใจว่า ข่าวของ ประชาชาติธุรกิจ ที่ระบุว่า คืนวันที่ 23 ธ.ค. 2561 กรุงเทพมหานครทำพิธีสักการะแบบเงียบๆ เพื่อจะดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ไปไว้ที่ศูนย์ก่อสร้างย่านหนองบอนอย่างถาวร โดยจะเริ่มดำเนินเคลื่อนย้ายคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่

และโพสต์ของผู้สื่อข่าว วอยซ์ทีวี ที่ระบุว่า ‘ศักดิ์ชัย บุญมา’ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ปฏิเสธว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏไม่ได้ถูกย้ายไปที่ศูนย์ก่อสร้างย่านหนองบอน ตามรายงานของประชาชาติธุรกิจ และไม่ทราบเรื่องการเคลื่อนย้ายดังกล่าว ต่างก็ถูกลบหายไปจากแพลตฟอร์มเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก แต่ยังเหลือการอ้างถึงที่ประชาไท ไอลอว์ และไทย อี-นิวส์

มากไปกว่านั้น เมื่อประชาไททำหนังสือสอบถามรายละเอียดการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ไปยัง สน.บางเขน ใช้เวลา 2 เดือนกว่าก็ได้รับคำตอบจากตำรวจผ่านทางโทรศัพท์ว่า ผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลตามที่ร้องขอ โดยไม่ระบุเหตุผล ก่อนจะยอมตอบหนังสืออย่างเป็นทางการว่าไม่มีข้อมูล หลังประชาไทยื่นหนังสือขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ สำทับไปหลังโทรศัพท์สายนั้น

 

สภาพพื้นที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เดือน ธ.ค. 2563
สภาพพื้นที่ตั้งอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เดือน ธ.ค. 2563

 

ประชาไท ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ขอให้ตรวจสอบการมีอยู่ของบันทึกประจำวันที่ศรัญญูและกาณฑ์อ้างถึงอีกครั้ง และได้ข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อ 5 เม.ย. 2564 ว่า

“สน.บางเขน ยืนยันว่า ไม่มีหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนแจ้งให้ สน.บางเขน ทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุม หรืออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่มีการควบคุมตัวนายศรัญญู เทพสงเคราะห์ และนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ แต่อย่างใด กรณีน่าเชื่อว่า สน.บางเขน ไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่ร้องเรียนอยู่ในความครอบครอง”

ส่วนความคืบหน้าคดี ประชาไท ติดต่อไปยังกองโบราณคดีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ได้รับแจ้งจาก ‘ชินณวุฒิ วิลยาลัย’ ผู้อำนวยการกองโบราณคดีคนใหม่ว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ขอเวลารวบรวมข้อมูล และนัดหมายให้ประชาไทติดต่อกลับไปอีกครั้งวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 11.00 น. แต่เมื่อพยายามติดต่อไปตามเวลานัดหมาย กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์แต่อย่างใด

 

ไม่ใช่แค่อนุสาวรีย์ แต่คืออัฐิของวีรชน และความทรงจำของชาติ

ขณะที่ศรัญญูชี้ว่า เรื่องอนุสาวรีย์หาย ไม่ใช่แค่โบราณสถานหรือวัตถุที่หายไป เพราะตัวอนุสาวรีย์ยึดโยงกับความทรงจำของสังคม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์กล่าวว่า ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์เป็นตัวแทนการพิทักษ์ระบอบใหม่และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากการยกกองกำลังที่ผิดกฎหมายมาล้มล้างรัฐบาล ขณะเดียวกันก็เกิดวีรชน ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่ยอมสละชีพเพื่อชาติรุ่นแรกขึ้นมา

ศรัญญูยังย้ำความสำคัญอีกว่า อนุสาวรีย์แห่งนี้บรรจุอัฐิของทหารตำรวจทั้ง 17 นาย เมื่ออนุสาวรีย์หาย อัฐิของปู่ย่าตายายของทายาททหารตำรวจทั้ง 17 นายก็หายไปด้วย

“มันไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของ แต่มีคุณค่าทางจิตใจ มีคุณค่าทางอุดมการณ์ และยังเชื่อมโยงทางสังคม อนุสาวรีย์ที่หายไป แม้จะสร้างอันใหม่ยังไงก็ทดแทนไม่ได้ เพราะอนุสาวรีย์อันเก่าก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง ทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม พิธีกรรม การเชื่อมโยงกับสังคม แม้แต่ตอนเปิดอนุสาวรีย์ ยังได้ผู้สำเร็จราชการมาทำพิธีเปิดให้ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ของพื้นที่บางเขน เชื่อมโยงกับคนรุ่นปู่รุ่นย่า ที่มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับอนุสาวรีย์แห่งนี้” ศรัญญูกล่าว

จากนี้คงต้องติดตามว่า สน.บางเขน จะมีศักยภาพติดตามหาอนุสาวรีย์ทั้งที่เหตุเกิดหน้า สน. และใกล้ป้อมตำรวจในวงเวียนหลักสี่ได้หรือไม่ หรือโบราณสถานของชาติจะสูญหายไปตลอดกาล?

 

ที่มา: อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ โบราณสถานที่สูญหาย โดย จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา. เผยแพร่ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2021, เว็บไซต์ประชาไท

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ