ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

[สรุปประเด็นเสวนา] ล้ม ลุก คลุกคลาน: สำรวจสามัญชน ในวังวนประชาธิปไตย

2
กรกฎาคม
2563

ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

88 ปีนับจาก พ.ศ. 2475 จนถึง 2563 สามัญชนอยู่ตรงไหนในประชาธิปไตยไทย?

คำถามข้างต้นหาคำตอบได้จากหลายแง่มุม ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งแสดงที่ทางของผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สะท้อนแนวคิดการอยู่ร่วมกัน ไปจนถึงสิ่งปลูกสร้าง

การสำรวจความเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทที่เปลี่ยนผ่านและกาลเวลาที่ผันแปร อาจทำให้เห็นภาพเล็กได้เด่นชัด ฉายภาพใหญ่ได้ชัดเจน

และคงช่วยตอบคำถามใหญ่อีกชุดหนึ่งได้ว่า “เราจะเอาอย่างไรกันต่อ?”

การปะทะของสองแนวคิดผ่านรัฐธรรมนูญ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงให้เห็นความแตกต่างของหลักการสำคัญผ่านการพิจารณารัฐธรรมนูญและกระแสแนวคิดในสองช่วงเวลา คือ ช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจตั้งแต่ 2475 – 2489 และ ทศวรรษ 2490 ภายหลังการหมดอำนาจของคณะราษฎร

ในช่วงแรก สิบห้าปีภายใต้อำนาจนำของคณะราษฎรให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครอง 2475 รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญ 2489

รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับเกิดขึ้นภายใต้สภาวะ ‘อำนาจเก่ายังไม่หายไป และอำนาจใหม่ยังไม่ตั้งมั่น’ ซึ่งอีกทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามประนีประนอมและเปิดกว้างของฝ่ายคณะราษฎรต่อระบอบเก่า แต่มีหลักการอย่างน้อยสี่ประการที่เห็นได้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับ ได้แก่

หนึ่ง อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร แตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งที่มาของความชอบธรรมไม่ได้มาจากประชาชน

สอง รัฐสภามีอำนาจเหนือสถาบันทางการเมืองอื่น ทั้งอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหารและออกกฎหมาย

สาม รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ยึดโยงกับประชาชน และสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

สี่ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวและไม่มีบทบาททางการเมืองตามหลักการ ‘king can do no wrong’ หมายความว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ทำอะไรผิดเพราะต้องมีคนลงนามสนองพระบรมราชโองการเสมอ

สมชายเห็นว่า หลักการสี่ประการข้างต้นและความหมายโดยรวมของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกเปลี่ยนแปลงและให้ความหมายใหม่ภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490

กระแสหลัง 2490 นี้ฉายภาพให้เห็นแนวคิดสำคัญสามประการที่แสดงออกผ่านการ ‘รื้อสร้าง’ ของนักกฎหมายฝ่ายกษัตริย์นิยม ได้แก่

หนึ่ง การให้ความสำคัญกับ ‘การมีผู้ปกครองที่ดี’ มากกว่าโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย

สอง การฉายภาพให้เห็นสภาพสังคมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า ‘ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข’ ไม่ได้พบเจอความทุกข์ยากลำบากเหมือนประเทศโลกตะวันตกที่ต้องลุกฮือต่อสู้กับระบอบเก่า

และสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยคือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงในสมัยกรุงสุโขทัย หาใช่ฉบับปี 2475 ไม่

สี่หลักการในรัฐธรรมนูญช่วง 2475 – 2489 และสามแนวคิดยุคหลัง 2490 แสดงให้เห็นการปะทะกันของอุดมการณ์อย่างชัดเจนในสองช่วงเวลา

สมชายทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า แนวคิดหลังคณะราษฎรนี้ยังทำงานมากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน และส่งผลต่อการปรับตัวสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทยหรือไม่

ประชาชนคงต้องเป็นผู้ร่วมกันหาคำตอบ

“จุดเริ่มต้นคือการเคารพความเป็นมนุษย์”

ด้าน ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง แสดงให้เห็นแนวคิดการสร้าง ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์’ ของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นอุปสรรคของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของปรีดีจะต้องประกอบไปด้วยสามมิติซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ นั่นคือ มิติทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นฐานรากสำคัญ มิติการเมืองว่าด้วยบ่อเกิดของอำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชน และ มิติทางวัฒนธรรมซึ่งต้องมี ‘ทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย’

ฐาปนันท์เน้นย้ำความสำคัญของมิติทางวัฒนธรรมว่า “การเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองต้องมีหลักนำที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน”

ข้อสรุปทัศนะปรีดี พนมยงค์ในมิติที่สามนี้ ฐาปนันท์เห็นว่า ‘จริยธรรมของระบอบประชาธิปไตย’ ประกอบด้วยสองประการเป็นพื้นฐานสำคัญ

หนึ่ง การเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น หากเริ่มต้นจากจุดนี้เรื่องสิทธิและเสรีภาพล้วนเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง

สอง การเคารพการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งต้องการการให้เกียรติและเห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่น

ฐาปนันท์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าหากสองประเด็นนี้ยังไม่ลงลึก ปัญหาที่ตามมาคืออุปสรรคต่อการใช้กฎหมายและกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานในประเทศไทย

2475 ถึง 2563

“จริงๆ แล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็มีฝนตกพรำๆ ก่อนย่ำรุ่งอย่างวันนี้เหมือนกัน (24 มิ.ย. 2563)”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักเขียนผู้ฟื้นความสำคัญของหนังสืองานศพสำหรับการทรรศนาประวัติศาสตร์ 2475 แบ่งช่วงเวลาความทรงจำต่อคณะราษฎรหลังอภิวัตน์สยาม 88 ปีออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ‘อภิวัฒน์ 2475’ ‘ปราชัยพ่ายหนี’ ของปรีดีและจอมพล ป.พิบูลสงคราม ‘ปรีดีนิวัต’ ในประเทศฝรั่งเศส และ ‘พิพัฒน์คณะราษฎรศึกษา’

ในสามช่วงแรก นริศแสดงเกร็ดจากการทรรศนาเอกสารทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นและชั้นรองซึ่งมีความสำคัญในการเติมเต็มประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ของ 2475

สุดท้าย นับตั้งแต่ 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ในปี 2543 จนถึง 2563 ของช่วง ‘พิพัฒน์คณะราษฎรศึกษา’ นริศตั้งข้อสังเกตต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ 2475 และคณะราษฎรของประชาชนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เขาเห็นว่าในช่วงนี้มีความพยายามศึกษาและทำความเข้าใจ 2475 โดยข้ามพ้นการบูชาตัวบุคคลเป็นการมองไปที่กลุ่มคณะมากขึ้น

นอกจากนั้น วัฒนธรรมมวลชนที่ปรากฏในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นการทำมุกตลกล้อเลียนหรือมีม (meme) เป็นการแสดงอารมณ์ขันของเยาวชนที่สะท้อนความรู้ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี

นริศปิดท้ายให้เห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 2475 ที่ไม่ใช่หน้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้วจบไป หรือไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่แทรกซึมในทุกมิติตั้งแต่ดนตรี การกีฬา อาหารการกิน ไปจนถึงสถาบันการศึกษา และการคมนาคม

“คุณไปดูเถิดใน 15-25 ปีนั้น ประเทศไทยมีวิวัฒนาการในทุกองคาพยพที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะวิถีชีวิตของสามัญชน”

ความทรงจำสามัญชน ในอนุสาวรีย์หลากชื่อ-หลายความหมาย

สามัญชนกลุ่มแรกที่มีการเผาศพกลางสนามหลวง สถานที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบอบเก่า เป็นสามัญชนกลุ่มเดียวกันกับที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกสร้างไว้เพื่อรำลึกถึง

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจต้นกำเนิดของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความหมาย จนมาถึงการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในปัจจุบัน พร้อมกับตั้งคำถามว่าแม้จะหายไปในทางกายภาพ แต่อนุสาวรีย์จะเกิดใหม่ได้อย่างไรและในรูปแบบใด

แรกเริ่ม จุดเริ่มต้นของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญคือการรำลึกถึงทหาร-ตำรวจสามัญชน 17 คนที่เสียชีวิตจากภารกิจรักษาระบอบใหม่ในการต่อสู้กับกองกำลังฝ่ายกบฏบวรเดชในปี 2476

จากจุดเริ่มต้นเช่นนี้ ศรัญญูชี้ว่าคณะราษฎรให้ความสำคัญกับอนุสาวรีย์แห่งนี้มาก ด้วยนัยยะที่แสดงชัยชนะของระบอบใหม่เหนือระบอบเก่า หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี 2479 รัฐบาลคณะราษฎรริเริ่มพิธีกรรมทำบุญ วางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตประจำทุกปีในวันที่ 14 ตุลาคม

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อการให้ความสำคัญของตัวสถานที่มาพร้อมกับการขยายลานรอบพื้นที่อนุสาวรีย์ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางวิถีชีวิตของคนในพื้นที่บางเขน

แต่ความหมายและความสำคัญของอนุสาวรีย์ถูกพลิกกลับหัวภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรหลัง 2490 เมื่อฝ่ายกษัตริย์นิยมขึ้นสู่อำนาจ ความพยายามให้ความหมายใหม่ของ 2475 ก็เกิดขึ้น และอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย พร้อมกันนั้นพิธีทำบุญวางพวงมาลาประจำปีก็ถูกยกเลิกไป

แม้การให้ความสำคัญทางการเมืองจากฝ่ายรัฐจะหายไป แต่ความสัมพันธ์ของอนุสาวรีย์ต่อวิถีชีวิตคนในพื้นที่บางเขนยังดำรงอยู่

ศรัญญูเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในทศวรรษ 2530 เมื่อถนนพหลโยธินที่ตัดผ่านตัวอนุสาวรีย์มีความจำเป็นต้องขยายเพื่อรองรับการจราจรที่แน่นหนามากขึ้น และ ‘วงเวียน’ คือภูมิทัศน์ใหม่ของพื้นที่อนุสาวรีย์

ปัจจัยด้านคมนาคมเช่นนี้ก่ออุปสรรคต่อการเข้าถึงอนุสาวรีย์ของคนในพื้นที่ ต่อมาในปี 2548 มีการสร้างอุโมงค์ทางลอดจากวัดพระศรีมหาธาตุถึงสะพานใหม่ ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงยากขึ้นอีกชั้นหนึ่งและในที่สุดจึงทำให้ขาดการดูแลรักษาสถานที่

แม้จะเผชิญกับการลดความสำคัญของอนุสาวรีย์ แต่การล้มลุกคลุกคลานสร้างความหมายใหม่ก็ยังไม่สิ้นสุด เมื่อหลังรัฐประหาร 2549 เกิดการรื้อฟื้นความหมายของอนุสาวรีย์นี้ขึ้นใหม่โดยกลุ่มคนเสื้อแดงผ่านการฟื้นพลังการต่อสู้ในนาม ‘ไพร่กับอำมาตย์’ ในช่วงการชุมนุมปี 2553

การเรียกชื่ออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงเปลี่ยนเป็น ‘อนุสาวรีย์ปราบกบฏ’

แม้หลังรัฐประหาร 2557 อนุสาวรีย์จะถูกย้ายหลายครั้ง และชะตากรรมปัจจุบันจะยังไม่อาจทราบได้ แต่ศรัญญูเปิดประเด็นไว้ผ่านการมองบริบทปัจจุบันว่า ความพยายามสร้างความหมายใหม่จะมาเป็นเงาตามตัวกับความพยายามรื้อสร้าง-รื้อถอนทางกายภาพ

ถือเป็นการ ‘เกิดใหม่’ ของอนุสาวรีย์หลังการรื้อย้าย เมื่อเกิดการรื้อถอนทางกายภาพ ก็เกิดการพยายามสร้างความหมายใหม่โดยสามัญชน

 


หมายเหตุ – เก็บความจากเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “2475: ความรู้ ความทรงจำและสถานการณ์ปัจจุบัน” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วันที่ 24 มิถุนายน 2563

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ The 101: https://www.the101.world/88-years-of-revolution/

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: