ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

‘หมุดก่อเกิดรัฐธรรมนูญ’ และมรดกอื่นของราษฎร

14
เมษายน
2565

 

วันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (14 เมษายน 2560)  มีข่าวแพร่สะพัดว่า หมุด ‘ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ หรือเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘หมุดคณะราษฎร’ ได้หายไปจากจุดที่มันเคยอยู่ (จากการติดตามของสำนักข่าวประชาไทระบุมีความเป็นไปได้ที่หมุดจะหายไปในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน 2560) เป็นปริศนาจวบจนถึงวันนี้

บริเวณที่หมุดคณะราษฎรเคยฝังอยู่ คือ เบื้องหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม เยื้องกับอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่า และตรงจุดนั้นได้ถูกแทนที่ด้วย ‘หมุดหน้าใส’ ซึ่งมีข้อความประหลาด สับสน ชวนจับความได้ยาก[1] ต่อมามีเจ้าหน้าที่เข้ามากั้นรั้วรอบขอบชิดและห้ามถ่ายรูปบริเวณดังกล่าว

 

“หมุดหน้าใส” ที่ถูกนำไปแทนที่ “หมุดคณะราษฎร” ที่มา : ประชาไท
“หมุดหน้าใส” ที่ถูกนำไปแทนที่ “หมุดคณะราษฎร”
ที่มา : ประชาไท

 

การหายไปของหมุดคณะราษฎร จุดประกายให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อย่างกว้างขวางต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกัน กลับเป็นจุดเริ่มต้นลบลืมความทรงจำต่อคณะราษฎรในกรณีอื่นด้วย เพราะนอกจากจะมีการขโมยหมุดคณะราษฎร ถัดจากนั้นยังมีการรื้อหายอนุสาวรีย์ต่างๆ เปลี่ยนชื่อสิ่งปลูกสร้างหลายแห่ง รวมไปถึงการทุบทำลายมรดกของคณะราษฎร    

 

หมุดหายแต่จุดประกายการตื่นรู้

 

หมุดคณะราษฎร

 

“หมุดคณะราษฎร” เป็นหมุดทองเหลือง จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ตัวหมุดสลักข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ถูกฝังเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เคยยืนอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎร ได้เป็นผู้นำพิธีกรรมฝังหมุดด้วยตัวเอง

ความพยายามในการถอนหมุดคณะราษฎร มิได้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2560 ก่อนหน้านั้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีกระบวนการทำลายความทรงจำต่อคณะราษฎรหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน ในปี 2503 รวมถึงการถอนหมุดคณะราษฎรออกไปในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกัน[2] ก่อนที่หมุดคณะราษฎรจะกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้เมื่อเวลาผ่านมาหลายปีหลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต

อันที่จริงควรกล่าวให้ชัดว่า การรำลึกวันชาติ 24 มิถุนายน ประสบสภาวะซบเซามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2490 ที่เริ่มมีกระบวนการลบความทรงจำคณะราษฎรระลอกแรก ข้อสังเกตนี้มาจาก ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ ที่เห็นว่า สิ่งที่ระบอบสฤษดิ์ทำต่อมรดกคณะราษฎรเสมือนเป็นการยื่นใบมรณบัตรอย่างเป็นทางการให้กับการรำลึกวันชาติ 24 มิถุนายน จากหน้าประวัติศาสตร์[3]

คำถามคือ อะไรทำให้การหายไปของหมุดคณะราษฎร กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เราอาจจะทดลองตอบได้จากสองประเด็น

ประเด็นแรก อุดมการณ์คณะราษฎรได้รับการรื้อฟื้นโดยการเมืองมวลชน ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เพราะด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถูกนำมาเป็นจุดอ้างอิงในการต่อต้านรัฐประหาร โดยเฉพาะในปีกของขบวนการคนเสื้อแดงจนถึงมือของหนุ่มสาวในนาม “คณะราษฎร 2563”

มีการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การทำเสื้อรณรงค์ การทำหมุดจำลอง กุญแจ สติ๊กเกอร์ พิพิธภัณฑ์เสมือน ที่บรรจุเอาสัญลักษณ์เกี่ยวกับคณะราษฎรลงไปในเนื้อหา นอกจากนั้นยังมีการจัดเสวนา เผยแพร่บันทึกประวัติศาสตร์สามัญชนทั้งในรุ่น 2475 ไปจนถึงนักต่อสู้รุ่นก่อนหน้านั้น อย่าง กบฏ ร.ศ. 130 และที่สำคัญกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มมีการจัดงานวันชาติในวันที่ 24 มิถุนายน ตรงบริเวณใกล้กับหมุดคณะราษฎรเคยฝังอยู่

มิเพียงแค่นั้นปฏิมากรรมและอนุสาวรีย์หลายแห่งอันเป็นมรดกของคณะราษฎร ก็ได้ถูกใช้เป็นที่ชุมนุมรำลึกทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ บริเวณวงเวียนหลักสี่ อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญ ที่ขอนแก่น หรือการฝังหมุดคณะราษฎรที่ 2 บริเวณท้องสนามหลวงระหว่างการชุมนุมใหญ่ของคนหนุ่มสาวเมื่อปี 2563 เป็นต้น

ประการที่สอง การไล่ลบทำลายมรดกคณะราษฎรจากผู้มีอำนาจ การพยายามลบมรดกคณะราษฎรได้เกิดขึ้นมาก่อนที่หมุดคณะราษฎรจะหายไปในปี 2560 เพียงแต่ว่ามิได้กระทำอย่างโจ่งแจ้ง อุกอาจ เฉกเช่นที่เกิดกับหมุดคณะราษฎรและหลายกรณีถัดจากนี้

ตัวอย่างที่สำคัญคือ การรื้อสร้างอาคารศาลฎีกา ที่คณะราษฎรสร้างเพื่อรำลึกการได้มาซึ่งเอกราชทางการศาลของประเทศ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 24 มิถุนายน 2486 ก่อนจะมีการเสนอโครงการสร้างอาคารใหม่ โดยอ้างว่าอาคารเดิม “เสื่อมสภาพ”[4]

ปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ ที่กล่าวมา ช่วยให้เรามองเห็นความสนใจของสาธารณชนต่อสิ่งที่คณะราษฎรได้สร้างเอาไว้ และช่วยให้มองเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงความหมายของมรดกคณะราษฎรได้ชัดเจนขึ้น 

 

ความทรงจำต่อรัฐธรรมนูญที่ถูกลดทอน

กระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ของคณะราษฎร หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นับเป็นเรื่องที่ใหญ่และยาก เพราะนอกจากต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแล้ว การสร้างความทรงจำร่วมให้กับประชาชนเจ้าของประเทศก็นับเป็นส่วนที่จำเป็นของกระบวนการดังกล่าว หมุดคณะราษฎรที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่นี้ อีกสิ่งที่สำคัญของคณะราษฎรคือการสถาปนาระบบนิติรัฐที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

หนึ่งในวิธีการสร้างความทรงจำคือ การสร้างสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อมาแทนที่ความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบเจ้าขุนมูลนายในระบอบเก่า โดยเริ่มมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคพระยาพหลพลพยุหเสนาช่วงวันที่ 8 – 12 ธันวาคม 2476[5] ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในฐานะกติกาสูงสุดของประเทศ และเข้าใจถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

การค้นคว้าที่ให้ความรู้ในเรื่องนี้ได้ดี มาจากบทความของ ‘ศรัญญู เทพสงเคราะห์’[6] เสนอหลักฐานหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีกิจกรรมเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาสร้างความรู้ความเข้าใจต่อระบอบใหม่ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาในการปกครอง โดยมีคนจากหลากหลายสาขาอาชีพในท้องถิ่นกระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคอีสาน  เช่น การสร้างอนุสรณ์รัฐธรรมนูญบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญกลางบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด อันเป็นความร่วมมือจากคนในท้องถิ่นเอง อาทิ ข้าราชการ คหบดี พ่อค้า และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์ในฐานะ “หมุดหมาย” ของระบอบใหม่ในท้องถิ่นของพวกเขา

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบจำลอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2507 ภาพถ่ายโดย Keyes, Charles F. (Research Works Archive, University of Washington) ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบจำลอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย มกราคม พ.ศ. 2507
ภาพถ่ายโดย Keyes, Charles F. (Research Works Archive, University of Washington)
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

 

นอกจากนั้นยังมีการจัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง จัดมหรสพ จัดประกวดนางงาม ประกวดการเขียนเรียงความ การแสดงปาฐกถาเรื่องรัฐธรรมนูญโดยบุคคลสำคัญประจำจังหวัด ฯลฯ

อย่างไรก็ตามหลังการรัฐประหาร 2490 กระบวนการลบลืมความทรงจำคณะราษฎรมีส่วนอย่างสำคัญในการลดความสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงการรัฐประหารอีกหลายครั้ง ก็ทำให้อนุสาวรีย์ที่เคยเต็มไปด้วยสีสันนี้ได้ถูกละเลย โดยข้อมูลปัจจุบันพบว่า เหลืออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเพียง 6 แห่ง ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ขอนแก่น และบุรีรัมย์

ขณะที่มรดกอื่นของคณะราษฎร ก็ได้ลาจากไปก่อนหน้านั้นแล้ว อาทิ ศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงละครแห่งชาติตามความประสงค์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ถูกรื้อไปในปี 2532, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งอุทิศให้กับการปราบกบฏบวรเดช ที่เคยตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหลักสี่ ก็ถูกเคลื่อนย้ายหายไปในปี 2561, อนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งหายไปในปี 2563 ฯลฯ

 

การรื้อถอนอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ที่มา : มติชนออนไลน์
การรื้อถอนอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช
ที่มา : มติชนออนไลน์

 

ความอนาทรจากคนหนุ่มสาวต่อมรดกของคณะราษฎร

จะเห็นได้ว่าสิ่งปลูกสร้าง สัญลักษณ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ค่อยๆ ทยอยถูกรื้อหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจนพ้นไปจากความหมายเดิม และหลายกรณีหายไปอย่างโจ่งแจ้งลุกลามมากขึ้น โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการหายไปของหมุดคณะราษฎร ในปี 2560 เป็นต้นมา กรณีเหล่านี้รวมถึงสัญลักษณ์ถึงผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วย เช่น อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ได้ถูกเคลื่อนย้ายจากที่เดิมในปี 2563

บ้างก็มีการลบความทรงจำด้วยการเปลี่ยนชื่อแทน เช่น บ้านพักของจอมพล ป. ซึ่งถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดเชียงราย ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์”, ค่ายพหลโยธิน หรือ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายภูมิพล”, ค่ายพิบูลสงคราม จังหวัดลพบุรี ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายสิริกิติ์” ทั้งสองกรณีหลังเกิดขึ้นในปี 2563

ขณะเดียวกันภายใต้สมัยปัจจุบัน ได้มีการให้คุณค่ากับฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรมากขึ้น เช่น การตั้งชื่อห้องประชุม “บวรเดช” และ ห้องประชุม “ศรีสิทธิสงคราม” ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบก ชื่อของอดีต 2 ผู้นำการกบฏต่อสู้กับคณะราษฎร ในปี 2476 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการพลิกกลับความหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน ในแง่นี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมรดกคณะราษฎรในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าตลอด 90 ปี ของการ “อภิวัฒน์สยาม” ด้วยซ้ำ จึงนับเป็นหลักฐานยืนยันว่าประวัติศาสตร์หน้านี้คงยังไม่จบ

อนึ่ง ในสายลมของการเปลี่ยนแปลง อย่างแรกเราคงต้องยอมรับว่าการทำลายความทรงจำคงยังไม่สิ้นสุดในเวลาอันใกล้ แต่อีกด้านหนึ่งเราคงได้เห็นถึงความอนาทรร้อนใจต่อมรดกคณะราษฎรจากคนหนุ่มสาวปัจจุบัน ที่แสดงความหวงแหนต่อมรดกของคณะราษฎรอย่างเปิดเผย

ฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาที่การเคลื่อนไหวของเขาและเธอ จะบอกเราว่า ประวัติศาสตร์หน้านี้สำคัญเพียงใดต่ออนาคตของสังคมไทย ความเอาใจใส่เช่นนี้มิได้จำกัดที่เฉพาะการเชิดชูตัวบุคคลหรือสิ่งปลูกสร้างในยุคคณะราษฎรเท่านั้น แต่ยังห่วงใยไปถึงมรดกอื่นที่สร้างอุทิศแด่จิตวิญญาณของคณะราษฎร

 

[1] ทวีศักดิ์ เกิดโภคาและคณะ, “ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์กับ 'ธำรงศักดิ์': หมุดคณะราษฎร ‘เสี้ยน’ ที่บ่งไม่ออก (สักที),” http://prachatai.org/journal/2017/04/71126 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562).

[2] ประจวบ อัมพเศวต, พลิกแผ่นดิน: ประวัติการเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516 (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543), 478.

[3] ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วย ความทรงจำ วาทกรรม อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน

[4] ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49. (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558), 357-375.

[5] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “งานฉลองรัฐธรรมนูญ: มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 ปีที่ 38 (มกราคม 2560): 92 – 123.

[6] ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “มองสํานึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2561): 74-105.