ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

PRIDI Interview: ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ จากกบฏบวรเดชสู่การถูกทำให้สูญหายของ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

15
ตุลาคม
2566

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

เหตุการณ์กบฏบวรเดช ถือว่าเป็นชุดของเหตุการณ์ความขัดแย้งในช่วงแรกหลังการปฏิวัติสยาม นับตั้งแต่หลังปี 2475 จนถึงปี 2476 ถือเป็นชุดของเหตุการณ์ที่เป็นความพยายามของการโต้การปฏิวัติของกลุ่มทหารและกลุ่มชนชั้นนำในระบอบเก่าจำนวนหนึ่ง ที่ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงหรือทวนเข็มการปฏิวัติ

 

 

เราจะพบว่า การเกิดกบฏบวรเดชเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ชุดใหญ่  นับตั้งแต่ประมาณช่วงปลายปี 2475 เมื่อกลุ่มชนชั้นนำระบอบเก่าและกลุ่มคณะราษฎรบางส่วนมีการพยายามที่จะต่อต้านเค้าโครงเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีที่เรียกว่าสมุดปกเหลือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเป็นเหตุผลสำคัญที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ยึดอำนาจการด้วยการปิดประชุมสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และหลังจากนั้นก็มีการปรับคณะรัฐมนตรีด้วยการขับอาจารย์ปรีดี ออกจากครม. พร้อมๆ กันนั้นก็มีการให้อำนาจกับรัฐบาลในการปรับครม. ชุดใหม่เลย และเอาคนของตัวเองเข้าไป หลังจากนั้น ก็นำไปสู่การที่รัฐบาลมีอำนาจเต็ม ไม่สามารถที่จะตรวจสอบผ่านทางสภาได้ ถือว่าเป็นการรัฐประหารครั้งแรกหลังการปฏิวัติสยามด้วยซ้ำ โดยผ่านการออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง

ทางคณะราษฎรมีความพยายามที่จะโต้การรัฐประหารของพระยามโนปกรณ์ฯ ด้วยการยึดอำนาจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นำโดยพระยาพหลฯ หลวงศุภชลาศัย และหลวงพิบูลสงคราม ในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 เพื่อที่จะเอากลไกระบอบรัฐธรรมนูญ เอาสภากลับมาทำงานใหม่ เอารัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง และทำให้พระยามโนปกรณ์ฯ หมดอำนาจไป

โดยภายหลังทางสภาผู้แทนราษฎรก็มีการเลือกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้นก็มีการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี และเชิญอาจารย์ปรีดีกลับประเทศสยาม หลังจากที่อาจารย์ปรีดี พูดง่ายๆ คือถูกเนรเทศไปอยู่ฝรั่งเศสชั่วคราวในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ 

 

 

หลังจากที่อาจารย์ปรีดีกลับเข้ามาประเทศสยาม อาจารย์ปรีดีก็ถูกโจมตีด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งในส่วนนี้ภายหลังจากที่มีการพิจารณาอะไรต่างๆ ก็พบว่าข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ไม่เป็นความจริง และถึงแม้ว่าอาจารย์ปรีดีจะกลับมาแล้ว แต่ฝ่ายกลุ่มผู้มีอำนาจในระบอบเก่า บรรดาพวกขุนนางจำนวนหนึ่งในระบอบเก่า และอีกส่วนหนึ่งคือ กลุ่มบรรดาพวกนายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารหัวเมืองก็ออกมาเคลื่อนไหวในการที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและปลดอาจารย์ปรีดีออกจากรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏบวรเดช

กรณีกบฎบวรเดช ประกอบด้วยคนหลายๆ กลุ่มที่มีบทบาท ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังปี 2475 นับตั้งแต่กรณีของกลุ่มเจ้านายที่ถูกลดทอนอำนาจลงไป และจะมีกลุ่มนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม กษัตริย์นิยมต่างๆ บรรดาพวกทหารจำนวนหนึ่งที่บางคนคือ ทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกปลดหลังจากการปฏิวัติ 2475 และมีการปรับโครงสร้างกองทัพ พร้อมๆ กันนั้นก็จะมีกลุ่มบรรดาพวกปัญญาชนที่อาจจะเป็นอนุรักษนิยม ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เรียกว่า “กบฏบวรเดช” ถ้าเราไปดูชุดของความขัดแย้ง ก็จะเกี่ยวข้องคนหลายกลุ่มมาก มันมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกิจในการต่อต้านคณะราษฎร และการเคลื่อนไหวแต่ละกลุ่มที่อยู่ในกบฏบวรเดชจะมีข้อเรียกร้องที่แตกต่างกันด้วยซ้ำ ถ้าเกิดดูจากบันทึกของบรรดาอดีตกบฏบวรเดช ก็มีตั้งแต่การ Anti-Revolition หรือก็คือการโต้การปฏิวัติหรือไม่ก็การที่จะอธิบายว่าเขาต้องการพยายามที่จะสร้างระบอบที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่ามากกว่าสมัยคณะราษฎร หรือไม่ก็ต้องการที่จะถวายคืนพระราชอำนาจ ซึ่งอันนี้ในข้อเสนอต่างๆ ค่อนข้างจะมีความหลากหลายแต่โดยภาพรวมก็คือจะมีลักษณะ Anti-Revolution ก็คือการโต้การปฏิวัติ

ลักษณะการเคลื่อนไหวเป็นการเคลื่อนไหวของการจัดกำลังกองทัพมายึดสถานที่สำคัญเพื่อที่จะยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก ซึ่งวิธีการนี้พูดง่ายๆ คือวิธีการที่มันอยู่นอกเหนือจากระบอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐบาลควรจะเข้ามาออกไปตามระบบอย่างไร ซึ่งสุดท้ายแล้วทางรัฐบาลก็ไม่ยอม และนำไปสู่การปะทะกันระหว่างกองกำลัง 2 ฝ่าย คือฝ่ายกบฏบวรเดชกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองนั่นแหละที่ทั้งสองฝ่ายก็มีกองกำลังของตัวเองแล้วสู้กัน

ในด้านของกองกำลังของฝ่ายกบฏ จะพบว่ากองกำลังส่วนใหญ่จะมาจากบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคราช และมีสระบุรี มีนครสวรรค์ มีอยุธยา และก็มีจากปราจีนบุรี แต่บางส่วนพบว่าถูกสกัดกัน และถ้าไปดูผู้นำฝ่ายกบฏคนสำคัญคือ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามหรือว่าดิ่น ท่าราบ

พระองค์เจ้าบวรเดช ท่านมีความขัดแย้งกับรัฐบาลระบอบเก่าด้วยคือ เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลระบอบเก่าและมีปัญหากับรัชกาลที่ 7 แต่ต่อมาก็รับที่จะเป็นหัวหน้ากลุ่มที่เรียกว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ซึ่งตอนหลังก็คือติดป้ายชื่อว่าเป็นกบฏบวรเดช ในขณะที่พระยาศรีสิทธิสงครามหรือว่าดิ่น ท่าราบ ก็จะเป็นรองแม่ทัพของฝ่ายกบฏบวรเดช และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์อะไรต่างๆ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ ซึ่งในส่วนนี้พูดง่ายๆ คือถูกลดบทบาททางด้านกองทัพในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 ด้วยการโอนไปอยู่กระทรวงธรรมการ

พระยาศรีสิทธิสงครามจริงๆ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ คือเป็นกลุ่มพระยาที่อยู่ในทหารบกที่เป็นเป็นนักเรียนเยอรมัน แต่สุดท้ายแล้วท่านไม่ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรและตอนหลังก็ถูกลดบทบาทไป ก็มาเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏบวรเดช

ทั้งนี้ฝ่ายกบฏบวรเดชก็เริ่มมีการเคลื่อนกำลังพลประมาณวันที่ 11 ตุลาคมปี 2476 แต่ถามว่ารัฐบาลรู้ไหม รัฐบาลทราบการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ก็คืออย่างน้อยช่วงแรก รัฐบาลส่งหน่วยตำรวจสันติบาล คือตำรวจที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในช่วงระบอบใหม่ ถูกตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังปี 2475 และพยายามจะส่งหน่วยไปสกัดกั้นฝ่ายกบฏที่โคราช แต่สุดท้ายแล้วไปไม่ถึงก็คือมีการปะทะกันที่ปากช่องก่อน

 

 

ฝ่ายกบฏมีการระดมยิงตำรวจสันติบาลที่ปากช่อง และทำให้ตำรวจ 2 นาย ที่อยู่ในกลุ่มตำรวจสันติบาลเสียชีวิต หลังจากนั้นตำรวจกลุ่มนี้ก็ถูกจับมาเป็นเชลย อย่างไรก็ตามในการปะทะกันที่ปากช่องก็ทำให้ฝ่ายกบฏบวรเดชมีความล่าช้าในการส่งกำลังมาที่ดอนเมือง มาไม่ทันนัดทำให้รัฐบาลมีเวลาในการตั้งกองกำลังทหารในการที่จะไปสู้กับฝ่ายกบฏได้ ในส่วนรัฐบาลก็มีการมอบหมายให้หลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการกองประสมในการปราบกบฏ

ถ้าไปดูภาพถ่ายเก่า นอกเหนือจากฝ่ายกำลังทหารบก ก็จะพบว่าคนที่มีบทบาทสำคัญคือ บรรดาลูกเสือในเมืองและบรรดาพวกพลเมืองต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ในแนวหลังของฝ่ายรัฐบาลด้วย

ในภาพรวมเราจะพบว่านอกเหนือจากการสู้รบระหว่างกองกำลังสองฝ่าย ในด้านหนึ่งคณะราษฎรก็คือ มีแนวหลังที่สำคัญก็คือบรรดาพลเมืองในระบอบใหม่ที่คอยมาสนับสนุน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

อย่างที่อาจารย์เล่ามาบริบทในช่วงนั้นอะไรที่ทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าทำไม่สำเร็จ หรือเป็นเพราะพลเมืองใหม่ที่อาจารย์กล่าวด้วยไหมว่า ประชาชนก็ค่อนข้างตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลง

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ถ้ามาดูก็จะพบว่าฝ่ายคณะราษฎรมีความเหนือกว่าในแง่ของอาวุธยุทโธปกรณ์ พูดง่ายๆ ว่า อาวุธอุปกรณ์ต่างๆ ที่มันทันสมัยที่สุดในยุคนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันคณะราษฎรสู้หลังชนฝา เพราะไม่อย่างนั้นคือทุกอย่างคือจบ คณะราษฎรถูกกวาดล้างแน่นอน เพราะฉะนั้นก็สู้แบบหลังชนฝาตั้งแต่บริเวณหลักสี่ดอนเมือง ซึ่งก็จะมีการสู้รบแบบหนักมากๆ คือบริเวณแถบวัดเทวสุนทร บริเวณแถวบางเขน และบริเวณหลักสี่

ฝ่ายกบฏก็มีการสู้กันแบบใช้ยุทธวิธี เช่น การเอาหัวรถจักรมาชนฝ่ายทหารของคณะราษฎร ก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นนายทหารคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนสนิทกับหลวงพิบูลสงคราม ก็คือหลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโมล) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคณะราษฎรที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น และหลังจากนั้นในฝ่ายคณะราษฎร ก็ค่อยๆ ตีโต้ไปเรื่อยๆ แล้วฝ่ายกบฏก็ค่อยๆ ล่าถอย นับตั้งแต่ประมาณหลังวันที่ 14-15 เป็นต้นมา ฝ่ายกบฏค่อยล่าถอยจากบริเวณบางเขน และบริเวณแถบดอนเมืองก็คือค่อยๆ ล่าถอยไปเรื่อยๆ และหลังจากนั้นทางฝ่ายคณะราษฎรก็พยายามที่จะตีโต้ไปเรื่อยๆ จนไปถึงบริเวณที่มีการสู้รบกันอย่างหนักที่สุดคือ บริเวณที่สถานีหินลับ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นมีการสู้กันในลักษณะเป็นการตะลุมบอนเลยด้วยซ้ำระหว่างทหารฝั่งคณะราษฎรกับฝั่งทหารฝ่ายกบฏ

 

 

มีผู้นำคนสำคัญของฝ่ายกบฏคือ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสียชีวิตในสมรภูมิที่หินลับด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าไปดูก็จะมีการสู้กันเรื่อยๆ ในด้านหนึ่งแนวหลังของฝ่ายกบฏก็จะไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นทหารที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏบวรเดชก็เสียขวัญกันมากและก็แตกกระจัดกระจายกัน พื้นที่ต่างๆ ที่เคยยึดครองในภาคอีสาน เช่น บริเวณแถบนครราชสีมาก็คือค่อยๆ แตก ไป

ในส่วนนี้เอาจริงคือ ความสำเร็จของคณะราษฎรส่วนหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องของอาวุธและอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากเรื่องของเทคโนโลยีด้วย เพราะอย่างเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ การสื่อสารทางไกลคือ อาศัยเรื่องของโทรเลข แต่ถ้าเกิดเราไปดูในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดชสิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรใช้มากคือ วิทยุ โดยใช้ทั้งวิทยุสื่อสารและวิทยุกระจายเสียง มันมีความสำคัญในฐานะที่จะสามารถสร้างโฆษณาชวนเชื่อรัฐบาลได้อย่างมากที่ทำให้ประชาชนที่เคยสนับสนุนกบฏ หันกลับมาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและทำให้เป็นเหมือนหรือคล้ายๆ กับสงครามจิตวิทยาที่ทำให้ฝ่ายกบฏเสียขวัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะมาโฆษณาว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบกบฏ ในขณะที่ฝ่ายกบฏไม่มีความชอบธรรม พร้อมๆ กันนั้นฝ่ายรัฐบาลก็มีการแจกใบปลิวตามพื้นที่ ก็คือเอาใบปลิวไปปลิวผ่านทางเครื่องบินตามหัวเมืองต่างๆ ที่ฝ่ายกบฏยึดครอง ทำให้บรรดาพวกฝ่ายกบฏเสียขวัญจำนวนมาก

หลังจากที่ฝ่ายกบฏเริ่มแพ้ ด้านหนึ่งคือทหารฝ่ายกบฏยอมแปรพักตร์มาฝ่ายรัฐบาล พร้อมๆ กัน แล้วถ้าไปดูหลังจากที่โคราชแตก ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ไปแล้ว ฝ่ายรัฐบาลยึดโคราชได้แล้ว ทหารฝ่ายกบฏที่ล่าถอยพยายามที่จะล่าถอยไปถึงอุบลราชธานี ก็พบว่ามีความพยายามที่จะไปยึดครองขอนแก่น มหาสารคามพวกนี้

แต่สุดท้ายแล้วจะพบว่าการยึดครอง ความพยายามในการยืดครองเมืองของฝ่ายกบฏไม่สำเร็จ เพราะว่าประชาชนคนละเมืองและบรรดาพวกข้าราชการในแต่ละเมืองโดยเฉพาะในขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ พวกนี้ออกมาต่อต้าน และทำให้ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้ไปที่สุด ในสื่อหนังสือพิมพ์จะมีการรายงานข่าวเหตุการณ์กบฏบวรเดช ตั้งแต่ประมาณวันที่ 12 ตุลาคม และยาวไปจนถึงประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนด้วยซ้ำ

ซึ่งก็มีการพูดถึงบทบาทของทหารฝั่งรัฐบาลในการปราบกบฏ พร้อมๆ กันก็พูดถึงบทบาทของประชาชนพลเมืองไม่ว่าจะเป็นลูกเสือในกรุงเทพฯ ตามโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนมัธยมที่ส่งไปเป็นแนวหลังในการส่งเสบียงส่งกำลังพลอะไรต่างๆ ให้กับทหารฝ่ายรัฐบาลและก็ลูกเสือตามต่างจังหวัด เช่น จังหวัดอยุธยา ที่จะมาช่วยรัฐบาล และบทบาทของผู้หญิง ที่มีบทบาทสำคัญเลยคือ อย่างผู้หญิงคนหนึ่งยอมที่จะเดินทางจากสมุทรสาครไปโคราชมีการเล่า Story อย่างน่าสนใจมาก ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของพลเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

 

 

แต่สุดท้ายก็จะพบว่าในแนวหลังหลายที่ของฝ่ายกบฏแตกละ คือบรรดาแกนนำหัวหน้าฝ่ายกบฏหนีไปที่อินโดจีนฝรั่งเศส อย่างพระองค์เจ้าบวรเดชก็นั่งเครื่องบินหนีไป ในขณะที่บรรดาทหารจำนวนมากสุดท้ายถูกจับและก็เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในรูปแบบของศาลพิเศษ

ศาลพิเศษออกโดยสภาผู้แทนราษฎรสำหรับพิจารณาผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีกบฏบวรเดช ก็มีการพิพากษาและมีการจำคุกต่างๆ จำนวนมาก และก็จะพบว่าผลของเหตุการณ์กบฏบวรเดชส่วนหนึ่งคืออำนาจของคณะราษฎรมีความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของพลเมืองที่เข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในระบอบใหม่ แต่ที่สำคัญคือ เป็นเหมือนกับการปูทางการเมืองให้กับหลวงพิบูลสงคราม คณะราษฎรฝ่ายทหารให้มีบทบาทสูงขึ้นทางการเมือง ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

จากการปะทะกันที่โคราชจนถึงการถอยร่น ไปตามหัวเมืองภาคอีสาน ไม่ใช่ภาคอื่น ตรงจุดนี้อมีนัยอะไรหรือไม่อย่างไร

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ด้านหนึ่งก็มาตามเส้นทางรถไฟ เพราะว่าการเคลื่อนย้ายกำลังพลในกบฏบวรเดชใช้รถไฟเป็นหลัก แต่เมื่อเส้นทางแตกไปแล้ว บรรดาทหารบางคนก็เดินเท้าขี่ม้าขึ้นทางเหนือไปขอนแก่น ซึ่งเอาจริงๆ แล้วแผนการของฝ่ายกบฏบวรเดช เช่น บันทึกของนายทหารจำนวนหนึ่งของฝ่ายกบฏบวรเดช ก็มีการพูดถึงแผนสำรองคือความพยายามที่จะยึดอีสานและตั้งเป็นรัฐอิสระ แต่ก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูลว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าหลักฐานของฝ่ายกบฏด้วยกันเองก็ยังต้องมีการตรวจสอบ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

จากเหตุการณ์การปะทะจนมีผู้เสียชีวิต และมีจัดรัฐพิธี ซึ่งจัดที่สนามหลวงให้กับตำรวจหรือผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช อยากทราบว่าจากเหตุกาณ์นี้มีนัยอย่างไรบ้าง

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

มีการเสียชีวิตของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ แต่ถ้าเกิดเราไปดูในกรณีของฝ่ายรัฐบาล มีผู้เสียชีวิต 17 คน มีทหาร 15 คน ตำรวจ 2 คน และมีพลเรือน มีพระสงฆ์ที่บาดเจ็บอะไรต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งของฝ่ายกบฏตัวเลขไม่แน่นอน เพราะว่าไม่ทราบเหมือนกันว่ามากน้อยแค่ไหน หากเป็นตัวเลขทางการก็จะน้อยกว่าฝั่งของรัฐบาล

แต่นอกเหนือจากการสูญเสียของร่างกายคือ มีการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟ เส้นทางรถไฟถูกตัดขาดและเมืองจำนวนหลายๆ เมือง โดยเฉพาะพื้นที่บางเขน หลักสี่ เมือง อาคาร สถานที่ราชการ คือถูกทำลาย ตัวอย่างเช่น สถานีวิทยุหลักสี่ สถานีรถไฟหลักสี่ สถานีรถไฟบางเขน วัดเทวสุนทร  ซึ่งก็เป็นความสูญเสีย จากการสู้รบกันของ 2 ฝ่าย

หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็มีการเชิดชู 17 ทหารตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏในฐานะที่เป็นวีรชน ด้วยการจัดประกาศเกียรติคุณในฐานะวีรชนของชาติ และมอบเหรียญกล้าหาญ เหรียญทฤษฎีมาลา ขณะเดียวกันก็มีการอ่านปาฐกถาแสดงการเชิดชูเกียรติยศที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หลังจากนั้นก็มีการอัญเชิญส่งวีรชน 17 ทหารตำรวจไปบำเพ็ญกุศลที่วัดราชาธิวาส เมื่อบำเพ็ญกุศลเสร็จเรียบร้อยแล้วเดือนกุมภาพันธ์ปี 2476 ในปฏิทินใหม่เป็นปี 2477 ก็มีการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ 17 ทหารตำรวจที่ท้องสนามหลวง ด้วยการจัดสร้างเมรุสำหรับ 17 ทหารตำรวจเป็นการเฉพาะบริเวณท้องสนามหลวง และเป็นเมรุที่มีสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ตัดขาดออกจากฐานานุศักดิ์และตรงกลางเมรุมีพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งงานเผาศพ 17 ทหารตำรวจก็ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่

 

 

หลังจากเผาเสร็จศพเสร็จเรียบร้อย มีการนำอัฐิไปประดิษฐานตามกรมกองต่างๆ ต่อมาเมื่อหลวงพิบูลสงครามมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็มีการอัญเชิญอัฐิ 17 ทหารตำรวจไปไว้ในห้องทำงานของรัฐมนตรีกลาโหมด้วย หลังจากนั้นก็จะพบว่าระหว่างที่มีการทำบุญ ทางรัฐบาลก็มี Project ในการตัดถนนจากสนามเป้าไปที่ดอนเมือง เพราะว่าก่อนหน้านี้ ในช่วงการเกิดกบฏมีปัญหาการส่งกำลังระหว่างพระนครกับดอนเมือง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการตัดถนน เพราะก่อนหน้านี้ถ้าเกิดจะเดินทางก็คือต้องใช้ทางรถไฟ แต่ตอนนี้คือมีการตัดถนนตรงเลย และระหว่างเส้นทางก็จะมีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏด้วย

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

จากที่อาจารย์กล่าวถึง เมรุที่เป็นของสามัญชนโดยจัดที่ท้องสนามหลวงและลักษณะเมรุก็ความเป็นโมเดิร์น ไม่ได้มีแล้วลวดลายที่แบบสมัยก่อนนี้ ขอให้อาจารย์ขยายเพิ่มเติมว่า การที่เลือกไปจัดรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวง ซึ่งแต่ก่อนสามัญชนไม่ได้ไปใช้พื้นที่ตรงนั้น ว่ามีนัยสำคัญอย่างไร

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ในด้านหนึ่งคือ ผู้นำระบอบใหม่ คณะราษฎต้องการใช้พื้นที่มาประกาศเกียรติยศให้กับวีรชนของชาติในการเผาศพที่นั่นเลย อย่างไรก็ตามตำแหน่งที่ตั้งของเมรุระหว่างเมรุวีรชน 17 ทหารตำรวจกับเมรุของกลุ่มเจ้านายทั้งสองอยู่คนละตำแหน่ง ถึงจะใช้พื้นที่สนามหลวงก็ตามหรือถ้าไปสังเกตดูตำแหน่งของเมรุ 17 ทหารตำรวจอยู่บริเวณทิศเหนือฝั่งพิพิธภัณฑ์พิพิทธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ในขณะที่เมรุของกลุ่มเจ้านายจะอยู่บริเวณฝั่งทิศใต้ที่เป็นวัดพระแก้ว และระหว่างนี้ก็คือมีการขออนุญาตจากรัชกาลที่ 7 ผ่านทางผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย แต่โในด้านหนึ่งก็สะท้อนสถานะและการต่อรองอำนาจบางอย่างในทางพิธีกรรมอะไรต่างๆ ระหว่างราษฎรกับกลุ่มชนชั้นนำในระบอบเก่าพอสมควรจากพิธีกรรมนี้

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

เมื่อสักครู่อาจารย์เกริ่นแล้วว่า หลังจากที่รัฐบาลมีการประกาศตัดถนนเพิ่มขึ้นมาและมีการจะสร้างอนุสาวรีย์ ทำไมรัฐบาลถึงเลือกตรงนั้นและอนุสาวรีย์มีความสำคัญอย่างไร

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

คืออนุสาวรีย์เป็นผลพลอยได้จากการตัดถนนและพอดีถนนตรงเส้นนั้น ผ่านบริเวณพื้นที่หลักสี่ และพื้นที่หลักสี่เป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบแบบแตกหักระหว่างฝ่ายกบฏบวรเดชและฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่การเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของฝ่ายคณะราษฎรคือ การสูญเสียหลวงอำนวยสงครามบริเวณพื้นที่นั้นด้วย เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เห็นว่า ควรที่จะมีการตั้งอนุสาวรีย์บริเวณตรงนั้น คืออยู่บริเวณกลางถนนเลยเป็นเหมือนกับพื้นที่ขนาดใหญ่

 

 

อนุเสาวรีย์ถูกออกแบบในลักษณะเป็นศิลปกรรมแบบโมเดิร์น คล้ายกับเป็นลูกกระสุนปืนและด้านบนมีตัวพานรัฐธรรมนูญ โดยคนออกแบบคือ บุคคลที่ชื่อว่า หลวงนฤมิตรเรขการ  ซึ่งเป็นนายช่างของโรงเรียนนายร้อยทหารบกและมีผลงานในการออกแบบเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาพวกเครื่องแบบเหรียญตราต่างๆ ในยุคสมัยคณะราษฎร ซึ่งการออกแบบของหลวงนฤมิตรเรขการตัวอนุสาวรีย์ฟังก์ชันเป็นพื้นที่ในการบรรจุอัฐิ 17 ทหารตำรวจ

นอกเหนือจากเป็นอนุสรณ์สถานในการรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏ อนุเสาวรีย์หันหน้าไปทางทิศตะวันตกบริเวณด้านหน้าจะเป็นจารึกชื่อ 17 คนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดช ทางด้านทิศเหนือจะเป็นรูปของประติมากรรมรูปธรรมจักรที่แสดงถึงความสงบของพุทธศาสนา ทางด้านทิศใต้เป็นรูปของครอบครัวชาวนา ก็ถือว่าเป็นปฏิมากรรมที่สะท้อนถึงคนธรรมดาสามัญชนที่อยู่ภายใต้ระบอบใหม่ จะเป็นพ่อแม่ลูก เป็นครอบครัวชาวนา และทางทิศตะวันออกก็จะเป็นโคลงสยามานุสสติของรัชกาลที่ 6 ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามที่จะให้ประชาชนคนไทยมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ให้เกิดความขัดแย้งก่อกบฏขึ้น

ในส่วนนี้ตัวอนุสาวรีย์มีการประกอบพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมปี 2479 ซึ่งการประกอบพิธีเปิดนี้ เป็นการประกอบพิธีเปิดที่ยิ่งใหญ่มาก คือเริ่มมีการทำบุญอัฐิตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2479 แล้วหลังจากนั้นก็คืออัญเชิญอัฐิจากกระทรวงกลาโหมมาที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ และมีการประกอบพิธีเปิดโดยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 เป็นประธานในพิธี

หลังจากน้ั้นจะมีพิธีเปิดตัวอนุสาวรีย์ ซึ่งถือได้ว่า เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญแห่งแรกอยู่ในกรุงเทพฯ โดยก่อนหน้านี้มีอนุสาวรีย์ที่มีลักษณะเป็นพานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วตามต่างจังหวัดตั้งแต่ปี 2477 ซึ่งก็ถือว่าเป็น Impact หนึ่งของกบฏด้วย คือกบฏบวรเดชเอาจริงแล้ว ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีการตื่นตัวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ประชาชนคนธรรมดาที่เคยไปมีส่วนร่วมในการปราบกบฏ ก็พยายามที่จะสร้างแลนด์มาร์คมาของตัวเองที่เชื่อมโยงระบอบรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น มหาสารคามมีการสร้างอนุสาวรีย์เทิดรัฐธรรมนูญในปี 2477 ปี 2479 วันที่ 10 ธันวาคม ก็มีการสร้างอนุเสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่สุรินทร์กับที่ร้อยเอ็ด

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

หมายความว่าในบางสถานที่มีอนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญก่อนกรุงเทพฯ รบกวนอาจารย์ขยายถึงความสำคัญของอนุสาวรีย์เหล่านั้นเพิ่มเติม

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ในด้านหนึ่งมีความสำคัญต่อระบอบใหม่มากๆ ในฐานะที่เป็นอนุสรณ์สถานที่สะท้อนถึงการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดที่ว่า ทหารตำรวจยอมที่จะสละชีพเพื่อปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญจากบรรดาปฏิปักษ์ระบอบใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ก็มีการประกอบพิธีกรรม คืออนุสาวรีย์ไม่สามารถอยู่ได้ลอยๆ แต่มันจะต้องถูกหล่อเลี้ยงด้วยพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในทุกปีในช่วงสมัยคณะราษฎร ในวันที่ 14 ตุลาคม จะมีการวางพวงมาลาที่บริเวณอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่สมัยจอมพล ป. ในฐานะที่เคยมีบทบาทในการปราบกบฏ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกยิ่งทำให้พิธีกรรมต่างๆ ดูยิ่งใหญ่มากขึ้น อย่างเช่นมีการขยายพื้นที่รอบๆ อนุสาวรีย์เป็นลายคอนกรีตสำหรับเดินสวนสนาม พร้อมกันนั้นก็มีการจัดให้มีการย้ายส่วนราชการที่เรียกว่าอำเภอบางเขนจากเดิมอยู่บริเวณสี่แยกบางเขน อยู่บริเวณสถานีรถไฟบางเขน ย้ายมาอยู่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ นับตั้งแต่ตัวที่ว่าการอำเภอ สุขศาลา สถานีตำรวจภูธร และโรงเรียนประชาบาล พูดง่ายๆ คือพื้นที่เมืองใหม่ มีอนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นศูนย์กลาง และที่สำคัญเลยคือในประมาณปี 2484 ทางรัฐบาลเมื่อมีการสร้างวัดประชาธิปไตย ก็มีการสร้างบริเวณใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ปราบกบฏ

 

 

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ตรงนี้โดยเฉพาะพื้นที่บางเขน หลักสี่ ที่มีอนุสาวรีย์ปราบกบฏ กลายเป็นเหมือนกับพื้นที่ทางการเมืองของคณะราษฎรที่จะสร้างพื้นที่เมืองใหม่บริเวณแถบนี้ ซึ่งก็เน้นถึงนัยสำคัญของพื้นที่นี้ นอกเหนือจากตัวอนุสาวรีย์ที่สะท้อนถึงการรำลึกถึงวีรชน บรรดาชื่อวีรชนต่างๆ ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช ยังมีการนำเอาชื่อนามสกุลของผู้เสียชีวิต ไปตั้งเป็นชื่อสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ ไปถึงลพบุรีด้วยซ้ำ อย่างเช่น พื้นที่ในบางเขนก็จะมีสะพานใหม่ชื่อเต็มๆ ก็คือสะพานสุกรนาคเสนีย์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตด้วยการปราบกบฏบวรเดช สะพานทองจรรยา ซึ่งก็เป็นผู้เสียชีวิตในการปราบกบฏ และไปไกลที่สุดสะพานที่ใหญ่ที่สุดสะพานคอนกรีต สะพานอำนวยสงครามที่ข้ามแม่น้ำป่าสักที่สระบุรี ยาวตลอดถนนจากกรุงเทพฯ ไปถึงลพบุรี

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

สำนักงานเขตที่อาจารย์กล่าวตรงข้ามวัดพระศรี และมีตัวตึกเก่าในสมัยของคณะราษฎรก็ยังคงอยู่จนปัจจุบัน มรดกอื่นๆ ของคณะราษฎรนอกจากสะพานที่สลักชื่อของคนที่เข้าร่วมปราบกบฏบวรเดช พอจะมีสะพานอื่นอีกหรือไม่ตามกรุงเทพฯ ที่สลักเป็นชื่อสะพาน

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ในตัวเมืองก็จะมี ถนนอำนวยสงคราม สะพานเกษะโกมล ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับค่ายทหาร ในแถบบางซื่อก็จะมีชื่อสะพานสะท้อนให้เห็นถึงหลวงอำนวยสงครามในการปราบกบฏก็สะท้อนบรรยากาศยุคสมัย ขณะเดียวกันอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ถูกให้ความสำคัญในช่วงยุคสมัยคณะราษฎรมากๆ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจไปและอนุสาวรีย์ ก็ถูกรื้อถอนความหมายหรือสร้างความหมายซึ่งแต่เดิมเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงชัยชนะของคณะราษฎรเหนือฝ่ายกบฏบวรเดช

แต่เมื่อหลังจากที่คณะราษฎรหมดอำนาจ หลังการรัฐประหารปี 2490 ฝ่ายกบฏบวรเดช อดีตนักโทษการเมืองบรรดาปฏิปักษ์การปฏิวัติ ปฏิปักษ์คณะราษฎรได้กลับมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นก็จะพบว่ากลุ่มนี้พยายามที่จะรื้อความหมาย ลดทอนคุณค่า ลดทอนความสำคัญของอนุสาวรีย์ อย่างเช่นงานเขียนของหลุย คีรีวัต นักเขียนสารคดีการเมือง และเป็นบุคคลที่เข้าร่วมเหตุการณ์กบฏบวรเดช ก็มีการพูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏในลักษณะเป็นการด้อยค่าอนุสาวรีย์ อย่างเช่น มีคุณค่าน้อยกว่าอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าที่ประชาชนเรี่ยไรกันสร้าง หรือว่ามีคุณค่าน้อยกว่าอนุสาวรีย์ย่าเหล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความซื่อสัตย์ต่อรัชกาลที่ 6

 

 

อนุสรณ์สถานในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ถูกด้อยค่า ยิ่งพูดถึงในลักษณะแบบนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงนัยว่า พวกคุณกำลังพยายามที่จะลบล้างอดีต อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าหลังการรัฐประหาร 2490 อนุสาวรีย์จะค่อยๆ ถูกลดทอนความหมาย และพิธีกรรมอะไรต่างๆ ที่เคยจัดในวันที่ 14 ตุลาคมก็แทบจะไม่ได้จัดเลย แต่อย่างไรก็ตามอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก็ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเหมือนกับศูนย์กลางของพื้นที่บางเขน มีความเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญ แต่ตอนหลังก็คือมีการจัดให้เป็นเหมือนกับเป็นสวนสาธารณะของคนในพื้นที่บริเวณแถบนี้ และเมื่อมีการตั้งสุขาภิบาลที่เป็นหน่วยงานในการดูแลท้องถิ่นก็จะพบว่ามันมีการตั้งสุขาภิบาลที่เรียกว่าสุขาภิบาลอนุสาวรีย์ ซึ่งก็คืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ พร้อมๆ กันนั้นมีการไปตั้งชื่อแขวงว่า แขวงอนุสาวรีย์ ก็ยังมีปรากฏชื่อ และตราสัญลักษณ์ของสุขาภิบาลบางเขน ก็ยังใช้ตัวตราเป็นรูปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และเมื่อมีการเปลี่ยนมาเป็นสำนักงานเขตบางเขนก็ยังเป็นตราแบบนั้นอยู่ บริบทในช่วงหลังถึงจะมีการเปลี่ยนเป็นวัดพระศรี

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

จากที่อาจารย์กล่าวมา จึงดูเหมือนว่า ภายหลังรัฐประหารปี 2490 จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่มรดกของคณะราษฎรโดนเปลี่ยนชื่อหรือว่าโดนลบล้างไป?

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ความสำคัญในระดับชาติอาจจะถูกลดทอน ด้อยค่า ลดความสำคัญไป แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนที่มีความสำคัญมากๆ ที่ทำให้อนุสาวรีย์เริ่มที่จะตัดขาดกับคนในท้องถิ่นคือ เรื่องของการพัฒนาพื้นที่บางเขน และผลจากการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ต้องมีการตัดถนน ขยายถนนเพิ่มให้มีเลนมากขึ้นพร้อมๆ กันนั้น จากการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น จึงต้องมีการเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ลานโล่งขนาดใหญ่ให้เป็นวงเวียน และตอนหลังมีการสร้างเป็นอุโมงค์ลอด ซึ่งในส่วนนี้ทำให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงตัวอนุสาวรีย์ยากขึ้น และทำให้อนุสาวรีย์เริ่มถูกปล่อยทิ้งปล่อยร้าง ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างคนในท้องถิ่นกับตัวอนุสาวรีย์ ค่อยๆ หายไป

อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ หลังการรัฐประหาร ปี 2549 เมื่อมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์คณะราษฎรกับกลุ่มคนเสื้อแดงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักกิจกรรม นักวิชาการ และกลุ่มคนเสื้อแดง ก็มีการใช้พื้นที่อนุสาวรีย์ปรากบฏเป็นพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปดูการชุมนุมในปี 2553 ก็จะมีการมาบวงสรวงตรงพื้นที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏก่อนที่จะไปชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพด้านใน

ซึ่งก็สะท้อนนัยสำคัญที่มีการปลุกความหมายของตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นหลังจากที่มีการปราบเสื้อแดงในปี 2553 ที่นำไปสู่การเสียชีวิต ยิ่งทำให้คนเสื้อแแดงจำนวนหนึ่ง มีความผูกพันกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏมากขึ้นในฐานะที่มันมีผู้สูญเสียในการพิทักษ์ประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับปี 2476 ยิ่งทำให้พื้นที่ตรงนี้มีนัยทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรำลึกอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อเรียกหลากหลายมาก อย่างเช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์หลักสี่ แต่คนเสื้อแดงกลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมคืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งก็มีนัยสำคัญมาก และถ้าเราไปดูอย่างกิจกรรมที่สำคัญเลยคือ ในช่วงที่มีการเกิดม็อบ กปปส. พื้นที่ของอนุสาวรีย์ปราบกบฏก็ยังเป็นพื้นที่ในการจุดเทียน ในการที่จะเรียกร้องสันติของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส. และมีการตั้งหมู่บ้านปราบกบฏขึ้นมาของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย ในส่วนนี้ทำให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่เคยไร้พลังทางการเมืองไปนานมากแล้วนั้น กลับเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ดูเป็นอันตรายต่ออำนาจรัฐมากขึ้น โดยหลังการรัฐประหารปี 2557 จะพบว่ารัฐพยายามที่จะลดทอนความสำคัญทางการเมืองของพื้นที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

นอกจากอนุสาวรีย์ปราบกบฏแล้ว มรดกคณะราษฎรหลายๆ ชิ้น ก็ดูเหมือนจะโดนด้อยค่าหรือทำให้สาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ อยากให้อาจารย์ขยายถึงมรดกคณะราษฎรเพิ่มเติม

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

คือหลังปี 2557 หลังการรัฐประหารมีความพยายามรื้อสร้างและพยายามที่จะรื้อถอนความทรงจำบางอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรในพื้นที่สาธารณะต่างๆ นับตั้งแต่การรื้อถอนหมุดคณะราษฎรหรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ประมาณช่วงเดือนเมษายน ปี 2560 ปี ถัดมาคือเดือนธันวาคม ปี 2561 อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขนอยู่ๆ ก็หาย แต่ก่อนหน้านี้ประมาณ ปี 2559 ตัวอนุสาวรีย์ปราบกบฏมีการย้ายสถานที่ตั้งจากบริเวณกลางวงเวียนมาอยู่บริเวณริมวงเวียนเพราะว่ามันมีโปรเจคการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นคือมีการย้ายตัวอนุสาวรีย์

การย้ายอนุสาวรีย์ ในด้านหนึ่งก็ได้รับความผิดชอบไปที่กรมศิลป์ด้วย ก็คือในระหว่างหลัง ปี 2557 จะพบว่าทางกรมศิลป์มีการบันทึกให้อนุสาวรีย์ปราบกบฏเป็นโบราณสถานของชาติ คือกรมศิลป์จะเข้ามาดูแล ซึ่งการเข้ามาดูแลของกรมศิลป์มันก็มีนัยหนึ่งคือ บรรดากลุ่มการเมืองมาใช้ประโยชน์ในที่นี้ไม่ได้ ก็คือลดทอนอำนาจทางการเมือง กลายเป็นโบราณสถาน

แต่แล้วก็ตามถ้าไปดูโปรเจคการย้ายเพื่อหลบสถานะรถไฟฟ้า ก็คือมาพยายามที่จะตั้งเป็นพื้นที่ถาวรเลย แต่วันดีคืนดีในเดือนธันวาคม ปี 2561 อยู่ๆ ก็มีการย้ายแล้วหายไปซึ่งตอนนี้ก็ยังตามไม่เจอ

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

รบกวนอาจารย์กล่าวเหตุการณ์วันนั้น ซึ่งอาจารย์น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเหตุการณ์ด้วย

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

จริงๆ แล้วผมได้ร่วมเหตุการณ์ ไปสังเกตการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ย้ายจากบริเวณกลางวงเวียนมาอยู่บริเวณริมวงเวียน ซึ่งก็เตรียมกล้องถ่ายรูปไปถ่ายรูป นานๆ จะเห็นการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทยน้อยมาก ย้ายสถานที่เพราะว่าปกติจะเห็นตาม documentary หรือว่าสารคดีต่างประเทศมากกว่า แต่กรณีของเมืองไทยมีน้อยที่จะมีการถ่าย วันนั้นก็เดินทางไปตั้งแต่ประมาณ 21:00 น. จนถึงประมาณตี 2 กว่าเขาจะย้ายเสร็จ ยกใส่เครนและเคลื่อนย้ายจากกลางวงเวียนไปบริเวณริมวงเวียน

อีกครั้งหนึ่งก็มาทราบข่าวตอนเดือนธันวาคม ก็มีการทราบข่าวจากใน Facebook ผ่านสื่อหนึ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย แล้วหลังจากนั้นก็รู้ว่าน่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์ ในข่าวมีการระบุว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์จากบริเวณวงเวียนบางเขนไปยังพื้นที่ตั้งใหม่ที่อยู่ที่บึงหนองบอนตามที่ในข่าวระบุ ซึ่งก็พยายามที่จะไปเตรียมอุปกรณ์ไปเก็บภาพ เก็บคลิปในฐานะหลักฐาน ก็ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งและผู้สื่อข่าวก็ขยับไปทำข่าว แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมด 8 คน ก็ถูกตำรวจควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหา แต่ก็มีการควบคุมตัวจนกระทั่งเขาย้ายอนุสาวรีย์ออกไปจากพื้นที่ก็ปล่อยตัว

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ห้ามมีถ่ายภาพ?

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

มีการให้ลบคลิป ห้ามถ่ายรูป ซึ่งตอนนั้นบริบททางการเมืองมีการยกเลิกประกาศของ คสช. ในการห้ามชุมนุมแล้ว แต่ก็คือในเหตุการณ์นั้นมีทั้งตำรวจและทหาร คอยมาให้ลบรูปและลบภาพในมือถือลบภาพจากกล้อง และพยายามที่จะบอกนักข่าวที่ลงข่าวให้ลบข่าวให้หมดทั้งสื่อที่มีการเผยแพร่

แต่อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์นี้ในด้านหนึ่งก็มีความพยายามในการปิดข่าวเหมือนกับไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา พร้อมๆ กันนั้นก็จะมีข่าวสำนักเดียวที่มีการตามอยู่ตลอดเลยก็คือประชาไท ที่ก็ยังมีการตาม มีการพยายามที่จะใช้ช่องทางต่างๆ ในการที่จะติดตามเรื่องของอนุสาวรีย์อย่างเช่นการใช้ช่องทางทาง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารในการขอข้อมูลจากหน่วยงานศิลปากรหรือหน่วยงานสำนักงานเขตบางเขน และรวมไปถึงสน. บางเขนที่อยู่ใกล้ๆ กับพื้นที่นั้นด้วย แต่สุดท้ายแล้วยังไม่คืบหน้า

 

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

จากที่กล่าวว่า อนุสาวรีย์ถูกขึ้นให้เป็นโบราณสถานแล้วใช่ไหม อยากทราบว่าคุณสมบัติของโบราณสถานสามารถเคลื่อนย้ายได้หรืออย่างไร

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลป์ อย่างเช่นการเคลื่อนย้ายพวกนี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลป์ และต้องตั้งในลักษณะที่เปิดเผย มีความสง่างาม สถานีต้องไม่บดบังทัศนียภาพต่างๆ ปัจจุบันตัวพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ ปัจจุบันก็เป็นสนามหญ้าโล่งๆ ไม่มีอะไรเลย

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

ตอนเหตุการณ์ ปี 2559 คือมีการย้ายจากตรงกลางอนุสาวรีย์มาไว้ตรงริมอนุสาวรีย์ และในปี 2561 อนุสาวรีย์กลับหายไป ซึ่งหายไปทั้งหมดหรือว่าหายไปแค่ส่วนสำคัญของอนุสาวรีย์

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

หายไปทั้งหมดเลย ในปี 2559 มีลักษณะการย้ายคือ ย้ายในลักษณะที่เอาเครนมายกและมาตั้งอยู่บนรถเทรลเลอร์ และวางในลักษณะแนวตั้ง แต่ตอนที่สังเกตในปี 2561 คือนอนไปเลย จับนอน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

อยากสอบถามอาจารย์ว่า การหายไปของอนุสาวรีย์เองก็ดี หรือว่ามรดกคณะราษฎรชิ้นอื่นๆ ก็ดี อาจารย์คิดว่า มีนัยอย่างไรบ้างกับการที่มรดกความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรถูกทำให้สูญหายไปหรือเพื่อเป็นการลดทอนความทรงจำต่อคนรุ่นหลัง

 

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

ด้านหนึ่งก็เหมือนกับว่ารื้อถอนความทรงจำของอดีต เสมือนกับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมา อย่างเช่น เหตุการณ์กบฏบวรเดช วัตถุพยานที่สะท้อนถึงการรำลึกถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชหายไปเลย ซึ่งคือ การลบล้างอดีต แต่ถามว่ามีผลในปัจจุบันไหม อย่างน้อยก็มีแน่นอนเพราะว่า ตัววัตถุอยู่ๆ ก็หายไปถึงแม้ว่าบางคนอาจจะเชื่อว่ามันไม่หายไปหรอก เพราะว่าก็จะมีดิจิทัลฟุตปรินท์ แต่เอาจริงๆ ในปัจจุบันคนรุ่นเรายังเคยเห็นตัวอนุสาวรีย์ แต่ถ้าเกิดเป็นคนรุ่นหลังจากเราแล้วไม่มีประสบการณ์กับอนุสาวรีย์เลย อาจะไม่รู้ ไม่ทราบด้วยซ้ำว่า พื้นที่สนามหญ้าโล่งๆ บริเวณพื้นที่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟฟ้า BTS วัดพระศรี เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ปราบกบฏและพื้นที่บริเวณตรงนี้เคยเป็นพื้นที่สู้รบกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏวรเดช

ในขณะที่การหายไปของวัตถุอีกหลายๆ ชิ้น อย่างเช่น หมุดคณะราษฎร หรือว่าอนุสาวรีย์ของคณะราษฎรในพื้นที่ค่ายทหาร ก็ยังสะท้อนถึงนัยทางการเมืองของการรื้อถอนอดีต ที่ความทรงจำชุดหนึ่งไม่เป็นที่ต้องการของภาครัฐหรือไม่ ก็ไม่เป็นที่ต้องการของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องย้ายออกไปและเก็บอยู่ในที่มิดชิดหรือว่าก็อยู่ๆ ก็หายไป

ขณะที่ความทรงจำอีกชุดหนึ่งก็ไปปรากฏขึ้นมาแทนที่ ตัวอย่างอย่างเช่น ตัวหมุดคณะราษฎรหายไปกลับมามีหมุดใหม่มาแทนที่ หรือไม่ก็ตัวชื่อบุคคลที่เคยอยู่ฝ่ายกบฏบวรเดช อย่างเช่น พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม ที่อยู่ๆ ก็ไปปรากฏอยู่ในห้องรับรองของกระทรวงกลาโหม และวันดีคืนดีสะพานพิบูลสงครามอยู่ๆ ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นสะพานท่าราบ ซึ่งเป็นนามสกุลของพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งก็สะท้อนนัยของการต่อสู้ที่ยังไม่จบเกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำระหว่างคณะราษฎรกับฝ่ายปฏิปักษ์คณะราษฎรในการเมืองบนบริบทปัจจุบัน

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

สอบถามอาจารย์เกี่ยวกับเหตุการณ์กบฏบวรเดช ว่าหลังจากเหตุการณ์การก่อกบฏสิ้นสุดแล้ว มีการปล่อยตัวนักโทษของฝั่งผู้ก่อกบฏเอง หลังจากนั้นสมาชิกกบฏกลับมาเข้ากับฝั่งคณะราษฎรไหม หรือว่ายังมีความพยายามจะโต้อภิวัฒน์อยู่หรือไม่

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

กรณีของกบฏบวรเดช ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือว่าผู้ที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์กบฏบวรเดช ก็ถูกส่งเข้าพิจารณาคดีในรูปแบบของศาลพิเศษในปี พ.ศ. 2476 ศาลพิเศษก็ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร และในด้านหนึ่งก็มีการพิจารณาพิพากษาเพียงแค่ศาลเดียว และหลังจากนั้นก็จะพบว่าทำไมต้องใช้รูปแบบศาลพิเศษ เพราะถ้าเกิดใช้ระบบศาลปกติจะนำไปสู่กระบวนการที่ต้องมีศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา และใช้ระยะเวลายาวนาน ขณะเดียวกันบรรดาพวกฝ่ายกบฏก็อาจจะจ้างทนายดีๆ ทำให้สามารถที่จะรอดพ้น เกี่ยวกับกรณีได้

หลังจากที่มีการพิพากษาแล้ว จะพบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรณีกบฏบวรเดชถูกพิพากษาให้จำคุก และบางคนก็ถูกประหารชีวิต แต่สุดท้ายก็ได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตเลยก็ว่ากันไป

ในส่วนที่ถูกจำคุก สามารถที่จะทำงาน ไม่ถูกบังคับใช้แรงงานหนัก และมีสิทธิ์ในการที่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาอิสระต่างๆ ได้พอสมควร ซึ่งในส่วนนี้ก็จะพบว่าถ้ามาดูการปล่อยตัวนักโทษการเมืองก็จะปล่อยเป็นทีละรอบๆ ก็คือในช่วงก่อนปี 2481 ประมาณตั้งแต่ปี 2478-2481 จะมีการค่อยๆ ทยอยปล่อยนักโทษการเมือง โดยเฉพาะยิ่งนักโทษการเมืองกบฏบวรเดชที่ไม่ได้เป็นแกนนำ คือบรรดาข้าราชการทหารพลเรือนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าไม่เป็นแกนนำก็จะมีการจัดอบรมคล้ายๆ กับปรับทัศนคติให้รู้สึกว่ามีทัศนคติที่ดีต่อระบอบใหม่แล้วค่อยปล่อยตัว

ในขณะที่ถ้าเกิดนักโทษการเมืองที่เป็นแกนนำจะยังถูกคุมขังไว้อยู่ แต่แล้วตามจุดพลิกผันที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้นักโทษกบฏบวรเดชที่จะต้องถูกส่งตรงไปตะรุเตาก็คือเมื่อเกิดเหตุการณ์กรณีกบฏปี 2481 ซึ่งในส่วนนี้มีความเชื่อมโยงบางอย่างกับการเคลื่อนไหวของนักโทษกรณีกบฏบวรเดช คือรัฐบาลผ่านทางตำรวจสันติบาลของคุณศรีธนากร ทราบข่าวว่าจะมีความร่วมมือกันระหว่างนักโทษการเมือง 2 กลุ่ม เพราะฉะนั้นก็คือมีการย้ายนักโทษโทษบวรเดชไปอยู่ที่ตะรุเตา ทำให้ต้องไปอยู่บริเวณที่เรียกว่า นิคมสำหรับผู้ต้องโทษกักกัน แต่อย่างไรก็ตามนักโทษการเมือง ก็คือถูกแยกออกไปอยู่เป็นชุมชนอีกชุมชนหนึ่งบริเวณเกาะตะรุเตา ซึ่งในช่วงเวลานี้พูดง่ายๆ ก็คือนักโทษการเมืองกบฏบวรเดชจำนวนหนึ่งเมื่อเข้าไปอยู่ที่ตะรุเตาประมาณ 1 เดือน บางคนก็หนีออกไปได้อย่างเช่น หลุย คีรีวัต พระยาศราภัยพิพัฒ โหร แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ก็หนีไปอยู่ที่ลังกาวีลี้ภัยได้

ในด้านหนึ่งนักโทษการเมืองบวรเดชก็ยังอยู่ที่ตะรุเตา ยาวไปจนถึงประมาณช่วงใกล้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรัฐบาลเห็นว่าอยู่ใกล้กับอังกฤษ เพราะฉะนั้นก็มีการย้ายนักโทษการเมืองไปอยู่ที่เกาะเต่า ซึ่งในส่วนนี้ก็นักโทษการเมือง ก็ต้องไปเริ่มที่จะมาบุกเบิกนิคม เริ่มมีการใช้แรงงานหนัก ประกอบกับเกิดภาวะขาดแคลนอาหารช่วงสงคราม เพราะฉะนั้นก็จะพบว่านักโทษการเมืองจำนวนมากคือ จะพูดถึงความโหดร้าย ความทุกข์ทรมาน จากการที่ไปอยู่ที่เกาะเต่าอย่างมาก

แต่แล้วก็ตามถ้ามาดูการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ก็เป็นผลมาจากการประนีประนอมกันของรัฐบาลเสรีไทย จริงๆ แล้วก็เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของกระบวนการเสรีไทยและซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างอาจารย์ปรีดี ซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทยภายในประเทศกับบรรดาเสรีไทยนอกประเทศ โดยเฉพาะยิ่งเสรีไทยนอกประเทศ จะพบว่าก็คือกลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรที่ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษอะไรพวกนี้ ซึ่งในส่วนนี้เงื่อนไขสำคัญในการร่วมมือกันก็คือการต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. และที่สำคัญเลยก็คือมีการที่จะอภัยโทษ นิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญ

การปล่อยตัวนักโทษการเมืองชุดแรก ในช่วงประมาณปลายสงครามก็เกิดมาจากจอมพล ป. เริ่มมีการอภัยโทษ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งตอนนั้นเป็นนักโทษชายรังสิตถูกคุมขังอยู่ที่คุกบางขวาง ก็คือมีการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษประมาณปี 2486 ก่อน ซึ่งก็อภัยโทษเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 8 หลังจากนั้นประมาณปี 2487

เมื่อจอมพล ป.หมดจากอำนาจและ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ซึ่งเป็นเสรีไทยสวมอำนาจ เริ่มมีการอภัยโทษนักโทษการเมืองกรณีกบฏทั้งหลายตั้งแต่กบฏบวรเดช กบฎนายสิบ กบฏ ปี 2481 ซึ่งทำให้นักโทษการเมืองพวกนี้ออกจากคุกได้ แต่แล้วก็ตามพวกเขาก็คือยังไม่ได้ถูกล้างมลทิน ก็คือมีการกระทำผิดมา ทางรัฐบาลหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ รัฐบาลเสรีไทยก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยล้างมลทิน เสมือนกับว่านักโทษการเมืองไม่เคยทำกระทำผิดมาก่อน บรรดาพวกอดีตนักโทษการเมือง ก็ไม่มีมลทินในการก่อกบฎ หลังจากนั้นก็เปิดโอกาสให้บรรดาอดีตนักโทษการเมือง เข้ามามีบทบาททางด้านการเมือง และที่สำคัญเลยคือ ส่วนหนึ่งก็มาเคลื่อนไหวมาต่อต้านรัฐบาลของอาจารย์ปรีดี รัฐบาลพลเรือนของคณะราษฏร

 

ชญานิษฐ์ แสงสอาด :

การต่อต้านตรงนี้มีประเด็นสำคัญอะไรที่ทำให้เขาใช้เป็นข้อต่อต้านรัฐบาลในยุคนั้น

 

ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :

คือช่วงหลังมีการรวมกลุ่มทางการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี ซึ่งนำโดยพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ กับฝ่ายที่ต่อต้านอาจารย์ปรีดี ซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งส่วนใหญ่ในสมาชิกจำนวนหนึ่ง ก็คืออดีตนักโทษการเมือง และก็กลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎร และมีคณะราษฎรอีกปีกหนึ่งที่เข้าไปร่วมกับการตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนี้คือการต่อสู้ทางการเมืองเลย และเกิดขึ้นในบริบทหลังสงคราม

 

 

สัมภาษณ์โดย ชญานิษฐ์ แสงสอาด
วันที่ 14 กันยายน 2566
ณ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน