ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประมวลภาพกิจกรรม PRIDI Talks #9 รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

13
มีนาคม
2564

ในวันที่ 13 มีนาคม 2564 “สถาบันปรีดี พนมยงค์” ได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่ม “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB)” จัดกิจกรรม “PRIDI Talks #9 x CONLAB รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ WORKSHOP ร่วมคิด ร่วมร่างอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”  โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นการร่วมมือกับกลุ่ม “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า” (CONLAB) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ภาคีเครือข่ายที่ช่วยกันสนับสนุนการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นต่อรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย 

กิจกรรมเสวนาในช่วงเช้า ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และพริษฐ์ วัชรสินธุ ในหัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์’ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์อัครพงษ์ ค่ำคูณ เป็นผู้ดำเนินรายการ และกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สร้างสรรค์รัฐธรรมนูญในฝันฉบับประชาชนในช่วงบ่าย โดยกลุ่ม “รัฐธรรมนูญก้าวหน้า” (CONLAB)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ร่วมเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยสมบูรณ์” โดยตั้งข้อสังเกตว่า ภายในช่วงเวลาแปดสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลายประเทศไปไกลกว่านี้มาก เพราะเหตุใดการต่อสู้เมื่อ 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ถึงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันมีนัยยะสำคัญ และเราจะทำอย่างไรให้ขบวนการประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ โดยหยิบยกคำพูดของบุคคลสำคัญของไทย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นในระบอบประชาธิปไตยและในศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคนผมเกลียดชังเผด็จการไม่ว่าจะมีรูปแบบสีสันอย่างใดก็ตาม" และบทเรียนกรณีศึกษาการต่อสู้กับเผด็จการทหารของประเทศเมียนมา ในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

 

 

 

ด้านดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต ร่วมเสวนาในเรื่อง “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่” อันสอดคล้องกับคำพูดของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปโดยสันติวิธีหรือไม่ ให้มองที่ “ประวัติศาสตร์” และศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารที่แท้จริง มิใช่คำเล่าลือ (Hearsay) โดยดร.วรวิทย์ได้หยิบยกเอาประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก กรณีศึกษา การปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมอบบทเรียนที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของรัฐในห้วงเวลาที่เกิดการสถาปนาอำนาจของประชาชนขึ้น ซึ่งอิทธิพลของการปฏิวัติครั้งนั้นยังคงส่งผลต่อเนื่องมาต่อรัฐธรรมนูญทั่วโลก รวมถึงยังส่งผลต่อการเมือง สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ถึงปัจจุบัน

 

 

 

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้เห็นให้เห็นในแง่มุมของกระจายอำนาจ ผ่านการเสวนาเรื่อง “รัฐธรรมนูญ เครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย?” โดยกล่าวถึงประเด็นว่าอะไรคือปัญหาของการเมืองไทย และประชาธิปไตยไทย?  ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารบ่อย  การเมืองไร้เสถียรภาพ หรือความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐประหาร ซึ่งทางออกต่อปัญหาเรื้อรังของสังคม จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการสร้างสังคมให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผ่านการสร้างการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย ทั้ง 3 ด้านนี้จำเป็นต้องดำเนินไปควบคู่ซึ่งกันและกัน อันเป็นแนวความคิดหลักของปรีดี พนมยงค์ 

 

 

ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือ “เป๋า iLaw” ได้ร่วมเสวนาเรื่อง “เขียนรัฐธรรมนูญทะลุฟ้า” กล่าวถึงเหตุการณ์ในปัจจุบันว่า “วันนี้ (13 มีนาคม 2564) เราได้เดินทางมาถึงทางแยกอีกครั้ง ถ้าไปทางแยกหนึ่ง มันเป็นทางแยกที่นำไปสู่โอกาสในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่อาจมีอุปสรรคบ้าง และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่อีกทางหนึ่งที่เป็นทางย้อนกลับเดินถอยหลัง ทำลายหลักการและหาทางไปต่อลำบากจริง ๆ” 

 

 

ลำดับสุดท้าย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) ร่วมเสวนาเรื่อง “3 เสาหลักรัฐธรรมนูญ” และได้ฝากหลักคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า การร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมี 3 เสา ได้แก่ 1. “ก้าวพ้น” ออกจากวิกฤติ เพื่อสร้างการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของในอำนาจสูงสุดของรัฐ มีกติกาที่เป็นกลาง และมีกระบวนการที่เป็นกลาง  2. “ก้าวสู่” ประชาธิปไตย เพื่อยึดหลักประชาธิปไตยสากล คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน 3. “ก้าวทัน” โลกอนาคต ออกแบบรัฐให้คล่องตัวและว่องไว  เนื่องจากโลกอนาคตเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รัฐธรรมนูญต้องเป็นหลักการพื้นฐานที่รองรับความเป็นไปได้ และเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกอนาคตที่มีความท้าทาย 

 

 

 

ในช่วงท้าย มีการเสวนาร่วมเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจและตอบคำถามจากผู้รับฟังทางบ้านและผู้รับชมในห้องส่ง 

 

 

 

 

 

“ถ้าคุณบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับปากท้อง แสดงว่าทุกวันนี้เราอยู่ดีกินดีไหมครับ ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เราอยู่ดีกินดี เราไม่ควรแก้ครับ ถ้ารัฐธรรมนูญ 2560 ยังทำให้เรายากจนข้นแค้น มีปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากร ชาวบางกลอยยังไม่มีสิทธิในการอธิบายเรื่องที่อยู่ที่กินของตัวเองได้ รัฐธรรมนูญก็ควรแก้ครับ”

 

ประมวลภาพช่วงมอบของที่ระลึก

นางสาวสุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์

 

 

 

 

 

 

 

นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกแก่วิทยากรทั้ง 5 ท่าน และผู้ดำเนินรายการ 1 ท่าน

 

 

นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ มอบของที่ระลึกแก่นายเลอชาติ ธรรมธีรเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA)