“ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคล ซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ขอให้นึกถึงงานอมตะของเขา บุคคลอาจแตกต่างด้วยกำเนิด ด้วยฐานะและการศึกษา แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรม ที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน”
ข้อเขียนอันเปี่ยมไปด้วยพลังและสำนึกอันแรงกล้าจากนายฉันทนา หรือ มาลัย ชูพินิจ หนึ่งในผู้ปฏิบัติการเสรีไทย ให้คำอธิบายถึงบทบาทความเสียสละของการปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยอย่างสั้นๆ
เรื่องปฏิบัติการเสรีไทยนี้ควรจะได้มีการสืบค้นเพื่อนำไปเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังและสาธารณชนได้รับทราบกันมากขึ้น ความมุ่งหมายในการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นไปเพื่อเอกราชอธิปไตยและไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามรุกราน
ปรีดี พนมยงค์เวลานั้น เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ไม่มีอำนาจทางการทหารอยู่ในมือ แต่ในฐานะแกนนำสำคัญของคณะราษฎร จึงเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองมาก
ท่านรัฐบุรุษปรีดีเวลานั้นจึงเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นที่พึ่งสำหรับพวกที่ต้องการต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น และคัดค้านการนำพาประเทศสู่สงครามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายปรีดี ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในเย็นวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งเป็นวันกำเนิดของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย หรือ ขบวนการเสรีไทย ว่า
“เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณโกวิท นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ เพื่อนที่มาพบก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเองและของราษฎรส่วนมาก ที่ได้ประสบเห็นกองทัพญี่ปุ่นที่เป็นทหารต่างด้าวเข้ามารุกรานประเทศไทย
เมื่อได้ปรึกษาหารือพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมในวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชประชาธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้นวรรณะทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนปฏิบัติต่อไป
ขบวนการเสรีไทยมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติ 2 ด้าน คือ หนึ่ง ต่อสู้ผู้รุกราน โดยพลังคนไทยผู้รักชาติและร่วมมือกับสัมพันธมิตรในสมัยนั้น สอง ปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าเจตนารมณ์ที่แท้จริงของราษฎรไทยไม่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เขียนบันทึกไว้ด้วยว่า
“รัฐบาลในขณะนั้น นอกจากยอมให้กองทัพญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทยแล้ว ยังทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นอีกด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2485 ได้ประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่ และ สหรัฐอเมริกา นายปรีดีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ มิได้ลงนามร่วมด้วย คือ ขณะนั้นครอบครัวเราอพยพไปอยุธยา นายปรีดีจะไปเยี่ยมครอบครัวทุกสัปดาห์จึงไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ
การที่ไม่ได้ลงนามกลับกลายเป็นผลดีเมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้อ้างถึงการลงนามไม่ครบองค์คณะสำเร็จราชการฯ เป็นเหตุผลที่ถือว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ”
หลังสงครามสิ้นสุด ท่านรัฐบุรุษปรีดีและคณะ ยังคงต้องเจรจากับฝ่ายพันธมิตรเพื่อไม่ให้ไทยตกอยู่ในสถานภาพของผู้แพ้สงคราม และต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากสงครามให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร
“ขบวนการเสรีไทย” จึงเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตย และสันติภาพ ในขณะเดียวกันอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ได้กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “เป็นการจำลองเรื่องราวในสมัยโบราณกาลของบรรดาประเทศแถบตะวันออก ในยุคที่คนทั้งชาติลุกฮือจับอาวุธ เพียงแต่พระเจ้าแผ่นดินมีบัญชาโดยไม่จำเป็นต้องรู้สาเหตุ นอกจากต้องปฏิบัติตามบัญชานั้น อาณาประชาชาติเหล่านี้แหละที่ปัจจุบันได้พบกับแสงสว่างจากคำสอนของพระพุทธองค์ และได้ตระหนักถึงความผิดพลาดโง่เขลาของบรรพบุรุษ พวกเขาได้ซาบซึ้งของการให้อภัย และการลืมเรื่องราวในอดีตกาล และไม่ว่าเป็นผู้ถูกรุกราน ผู้รุกราน ผู้ชนะ หรือ ผู้แพ้ ได้หันมาร่วมมือกันด้วยความรักสมานฉันท์พี่น้อง ช่วยกันทำงานเพื่อผาสุกร่วมกันของมนุษยชาติ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเหมือนคำประกาศแห่งสันติภาพ ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่า คนไทยส่วนใหญ่รักสันติ ในท่ามกลางไฟสงครามลุกลามทั่วโลกในปี พ.ศ. 2484 และตอกย้ำหลักคิดเรื่องภราดรภาพที่มองว่า มนุษย์ไม่ว่าจะชาติใด ภาษาใด ล้วนเป็นพี่เป็นน้องร่วมโลกกัน ยิ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติแล้วย่อมต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อยู่กันด้วยความเป็นธรรมและเสมอภาค สังคมก็จะเกิดสันติธรรมขึ้น ความสงบสุขย่อมบังเกิดขึ้น
อุดมการณ์แห่งสันติภาพและภราดรภาพปรากฏชัดในสุนทรพจน์ของหัวหน้าขบวนการเสรีไทย “รู้ท” หรือ “ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์” ณ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2484
16 สิงหาคม จึงถือเป็น “วันสันติภาพไทย” เป็นการเตือนพวกเราให้รำลึกถึงความสำคัญของสันติภาพ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
สุนทรพจน์ของ “รู้ท” สะท้อนถึงความเป็นตัวตน ความคิดเรื่องสงครามและสันติภาพของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หากเราศึกษาถึงสุนทรพจน์ในงานประกาศสันติภาพ และ เป็นสุนทรพจน์ที่เป็นการส่งสัญญาณถึงจุดสิ้นสุดของขบวนการเสรีไทย หลังจากได้เสร็จสิ้นภารกิจเพื่อชาติ เราก็จะเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบุรุษอาวุโสผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยได้เป็นอย่างดี
“สหายทั้งหลาย” ข้าพเจ้าเชิญท่านมาร่วมสโมสรในวันนี้ ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งราชการของข้าพเจ้าหรือของท่าน ข้าพเจ้าเชิญท่านมาในฐานะสหายที่ได้ร่วมกันรับใช้ประเทศ ข้าพเจ้าจักต้องขออภัยสหายอื่นอีกมากมาย ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถเชิญท่านมาในคราวเดียวพร้อมกันได้หมด เนื่องด้วยสถานที่คับแคบเกินกว่าจำนวน ฉะนั้น จึงร้องท่านทั้งหลายช่วยติดต่อไปยังสหายตามหมวดหมู่ต่างๆ ให้ทราบถึงคำปรารภของข้าพเจ้าในวันนี้โดยทั่วกันด้วย
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลัก เป็นคติในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล
การกระทำคราวนี้มิได้ก่อตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมือง แต่เป็นการร่วมงานกันประกอบกิจ เพื่อให้ประเทศชาติได้กลับคืนสู่สถานะก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แม้ว่าการดำเนินงานจะได้จัดให้มีองค์การบริหาร คือกองบัญชาการสำนักงานหรือสาขาใดๆ ขึ้นก็เพื่อความจำเป็นที่จะให้งานนี้ได้มีระเบียบอันนำมาซึ่งวินัยและสมรรถภาพ
สมาคมซึ่งมีสมาชิกน้อยกว่าผู้ร่วมงานคราวนี้ต้องมีกรรมการฉันใด ผู้ร่วมงานคราวนี้ซึ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งจำเป็นต้องมีองค์การบัญชาการฉันนั้น เมื่อองค์การในการรับใช้ชาติจำเป็นต้องมีขึ้นดังกล่าวแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีนามสำหรับในการนี้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทยอยู่ในต่างประเทศ ได้รับความรับรองตลอดมา ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกองค์การและผู้ร่วมงานในต่างประเทศว่า “เสรีไทย” เพราะเวลานั้นต่างประเทศเข้าใจว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ครอบครองของญี่ปุ่น
“เสรีไทย” ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ใต้ครอบครองของญี่ปุ่น ความหมายก็คือ “ไทยที่เป็นเสรีไทยทั้งหลาย” ที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นอิสระ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ต่างประเทศรับรองการกระทำของผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ หาใช่เป็นคณะหรือพรรคการเมืองไม่ ส่วนองค์การต่อต้านภายในประเทศนั้น ในชั้นเดิมไม่มีชื่อเรียกองค์การว่าอย่างไร
การชักชวนให้ร่วมงานตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ก็ชักชวนเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นให้พ้นประเทศ และเมื่อองค์การภายในและภายนอกประเทศได้ติดต่อกันแล้ว ในชั้นหลังสาส์นที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศได้มีมายังข้าพเจ้าเรียกขานองค์การที่เราร่วมงานระหว่างคนไทยทั้งภายในและภายนอกนี้ว่า Free Siamese Movement หรือ ขบวนการเสรีไทย เป็นนามสมญาที่ควรยอมรับ ข้าพเจ้าก็ถือเอานามนี้โต้ตอบกับต่างประเทศโดยใช้นามองค์การว่าองค์การขบวนเสรีไทย ซึ่งเราทั้งหลายก็จะเห็นได้ชัดอีกว่าไม่ใช่เรื่องคณะพรรคการเมือง
วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้นกล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัว ที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง และเพราะเหตุที่การกระทำคราวนี้เป็นการสนองคุณชาติ ผู้ใดจะรับราชการในตำแหน่งใดหรือไม่นั้น จึงต้องเป็นไปตามความสามารถตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนเหมือนดังคนไทยอื่นทั้งหลาย
เราพึงพอใจด้วยความระลึกและด้วยความภูมิใจว่า เราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย จริงอยู่ในระหว่างที่สะสางให้สภาพของประเทศกลับเข้าสู่ฐานะเดิม ได้มีผู้ร่วมงานคราวนี้บางคนรับตำแหน่งในราชการ แต่ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นเข้ารับหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายโดยพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติ หรือนัยหนึ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสั่ง เพื่อจัดการเรื่องที่เกี่ยวพันอยู่กับนานาประเทศให้เสร็จสิ้นไปเท่านั้น หาใช่เป็นการเอาตำแหน่งราชการมาเป็นรางวัลไม่ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง
ซึ่งแม้ผู้ไม่ได้ร่วมในองค์การนี้โดยตรง ก็ยังมีอีกประมาณ 17 ล้านคน ที่ได้กระทำโดยอิสระในการต่อต้านด้วยวิถีทางที่เขาเหล่านั้นสามารถจะทำได้ หรือเอากำลังใจช่วยขับไล่ญี่ปุ่นพ้นไปจากประเทศไทยโดยเร็วก็มี หรือแม้แต่คนไทยที่นิ่งอยู่โดยไม่ทำการขัดขวาง ผู้ต่อต้านญี่ปุ่นหรือผู้รับใช้ชาติ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้รับใช้ชาติทำการสะดวก เป็นต้น
คนไทยทั้งปวงเหล่านี้ทุกคนร่วมกันทำการกู้ชาติของตนด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่คอยขัดขวางการต่อต้านของผู้รับใช้ จะเป็นโดยทางกาย ทางวาจา หรือทางใจนั้น ก็มีบ้างเล็กน้อยเป็นธรรมดา แต่เขาเหล่านั้น ในทางพฤตินัยไม่ใช่คนไทย เพราะการ กระทำของเขาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของคนที่เป็นคนไทย เขามีสัญชาติไทยแต่เพียงโดยนิตินัย คือ เป็นคนไทยเพราะกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้ในนามของสหายทั้งหลายว่า ราษฎรทั้งปวง ประมาณ 17 ล้านคน ที่เป็นไทยทั้งโดยทางนิตินัยและพฤตินัยนั้นเอง เป็นผู้กู้ชาติไทย ฉะนั้น ผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องขอขอบคุณอย่างสูงยิ่งก่อนอื่น ก็คือคนไทยทั้งปวงนี้ ในส่วนผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ
ส่วนภายในประเทศ ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ นายพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัล พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ นายดิเรก ชัยนาม พลโท สินาด โยธารักษ์ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี
ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้ารอง และผู้ที่ประจำในกองบัญชาการ ขอบใจหัวหน้าพลพรรคและพลพรรคอื่นทั้งหลาย ซึ่งถ้าจะระบุนามในที่นี้ก็จะเป็นการยืดยาว การกระทำของท่านเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในสมุดที่ระลึกซึ่งข้าพเจ้าจะสั่งให้รวบรวมขึ้น ข้าพเจ้าขอขอบใจทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกับข้าพเจ้าในงานรับใช้ชาติคราวนี้โดยทั่วกัน
ในงานปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ ได้มีสหายของเราเสียชีวิตไปหลายคน อาทิ พระองค์เจ้าจีระศักดิ์ นายจำกัด พลางกูร นายสมพงศ์ ศัลยพงศ์ นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และพลพรรคอื่นอีกหลายคน ซึ่งหัวหน้าพลพรรคกำลังสำรวจรายนาม ขอให้สหายทุกคนซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ตั้งจิตอธิษฐานให้วิญญาณของผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วในงานนี้ จงอยู่โดยผาสุกในสัมปรายภพ
ในที่สุดนี้ ขอให้สหายทั้งหลายจงพร้อมใจกันเปล่งเสียงชโย เพื่อสดุดีคนไทยทั้งปวง โดยขอให้คนไทยทั้งปวงเสวยความสุขเกษมสำราญในสันติภาพอันถาวร และอวยพรให้ชาติไทยตั้งมั่นเป็นเอกราชอยู่ชั่วกาลปวสาน”
เป็นสุนทรพจน์ที่ชัดเจนด้วยจุดยืน อุดมการณ์อันมั่นคงเพื่อชาติและราษฎรไทย
“การที่การเมืองขัดแย้งรุนแรงในวันนี้ ย่อมสามารถแก้ไขได้ด้วยหลักสันติธรรม ภราดรภาพ และการให้อภัย”